มูลนิธิธรรมนาถเข้าไปช่วยชาวบ้านแม่สอยในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ด้วยวิธีการที่ไม่มี อยู่ในตำราเล่มใด ท่ามกลางความไม่เชื่อถือของคนทั่วไปแม้แต่ชาวบ้านที่ร่วมกันสร้างป่า มาถึงวันนี้ป่าเขียวเริ่มขึ้นแทนที่ตอไม้ไหม้เป็นตะโก คือข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด
บนเขาสูงที่ระดับเหนือน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป บริเวณด้านใต้ของเทือกเขาอินทนนท์เป็นเขตที่ชาวบ้านตำบลแม่สอยเรียกว่า “ขุนน้ำ” ให้น้ำแก่ลำห้วยแม่สอย แม่ป๊อก และแม่ทิม น้ำจากลำห้วยทั้งสามมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำสอย จากนั้นจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง เลี้ยงชาวบ้านแม่สอยและชาวไทยสองฝั่งของแม่ปิงเรื่อยลงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
“ขุนน้ำ” ของชาวเหนือก็คือป่าต้นน้ำนั่นเอง
เป็นความจริงที่น่าประหลาดใจมิใช่น้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยขึ้นไปดูให้เห็นกับตาว่า “ขุนน้ำ” ที่พวกเขารู้ว่าเป็นแหล่งน้ำที่ใช้อยู่ทุกวัน มีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร
มีเพียงชาวบ้านเท่านั้น บุคคลที่คลุกคลีกับป่าดูแลรักษาป่า มีความรู้เรื่องป่ามากมายอีกหลายต่อหลายคน ก็มีสภาพที่ไม่ต่างจากชาวบ้าน
ความจริงที่ไม่น่าเชื่ออีกเรื่อง คือ ถ้าป่าต้นน้ำถูกทำลาย จะมีวิธีการปลูกป่าทดแทนป่าต้นน้ำเดิมได้อย่างไร ยังไม่มีนักวิชาการไทยหรือต่างประเทศที่เคยหรือได้ทำการทดลองจนมีตำราหรือทฤษฎีการปลูกป่าต้นน้ำสำเร็จ
จนกระทั่ง เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งร่วมมือร่วมใจกันสร้างป่าต้นน้ำกลับคืนมา จนถึง ณ วันนี้ เรียกได้ว่าสำเร็จไปแล้ว 80%
จุดเริ่มต้นเกิดจากแม่น้ำลำธาร ที่เลี้ยงชาวแม่สอย ค่อย ๆ เหือดแห้งไปตามสภาพของป่าต้นน้ำแม่สอยที่ถูกทำลายไป เช่นเดียวกับยอดเขาสูงของภาคเหนือ ปี 2526 พบว่าต้นน้ำแม่ป็อกถูกทำลาย 90% ป่า ต้นน้ำแม่ทิมหายไป 80% เหลือเพียงป่าต้นน้ำแม่สอยที่ถูกทำลายน้อยสุดประมาณ 40% ทำให้ยังมีน้ำมากอยู่
แหล่งน้ำแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของชาวแม่สอย ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเกิดตื่นตัวในการฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายให้กลับสมบูรณ์ขึ้น ที่พึ่งของชาวบ้านในการฟื้นฟูป่าคนแรกคือ พระพงษ์ศักดิ์ เตชธมโม ก่อนที่ท่านจะเป็นเจ้าอาวาสวัดผาลาด บนดอยสุเทพ-ปุยในขณะนั้นเคยเดินธุดงค์ทั่วภูเขาสูงของภาคเหนือตลอดจนแวะเวียนไปมาที่แม่สอยสม่ำเสมอ และพักปฏิบัติธรรมบริเวณถ้ำตุ๊ปู่ ครั้งแรกเมื่อปี 2511ได้สังเกตเห็นป่าต้นน้ำถูกทำลายและหดหายไปอย่างรวดเร็ว
ในตอนแรกชาวบ้านมิได้ให้ความสนใจพระพงษ์ศักดิ์เท่าไรนัก โดยคิดว่าเหมือนพระรูปอื่น ๆ ที่ตั้งใจมาหาคัมภีร์โบราณล้ำค่า ซึ่งเชื่อกันว่าฝังอยู่ใต้ถ้ำตุ๊ปู่
จนกระทั่งพระพงษ์ศักดิ์เริ่มแสดงความห่วงใยป่า เมื่อพบว่าป่าไม้บริเวณหน้าถ้ำซึ่งเคยเป็นป่าทึบ กำลังถูกชาวบ้านตัดไม้โค่นป่าเพื่อทำไร่ ท่านจึงขอที่ดินบริเวณนั้นประมาณ 30 ไร่จากชาวบ้านเพื่อเป็นการหยุดการทำลายป่า และได้จ่าย “ค่าคมมีด คมมุ้ย (ขวาน)” ตามวัฒนธรรมของชาวเหนือที่ถือว่าถ้าต้องการที่ดินที่มีคนถางทำไร่แล้ว ก็ต้องเสียค่าแรงให้เจ้าของเดิม
นับจากนั้นพระพงษ์ศักดิ์เริ่มเทศนาเรื่องคุณค่าของป่าที่มีต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และได้พาชาวบ้านเดินย้อนสำรวจน้ำในลำห้วยไปจนถึงป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจแหล่งกำเนิดของน้ำ
นับได้ว่าเป็นครั้งแรก ที่ชาวบ้านเห็น “ขุนน้ำ” ที่เลี้ยงดูคนแม่สอยมาชั่วหลายอายุคน
“พระอาจารย์บอกว่า เรามาช่วยกันสร้างต้นน้ำกัน เราจะช่วยกันปลูกป่าตรงนี้ จะสร้างให้เขียวเลย ทั่วทั้งข้างบนและข้างล่างให้ถึงตรงบันไดบ้านเลย พวกเรายังหัวเราะกัน และไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงขึ้นได้” มินทร์ กันธาใจ ย้อนอดีตเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่ทำให้มาวันนี้ชาวบ้านต้องกลืนเสียงหัวเราะของตัวเอง เมื่อป่าต้นน้ำจากที่เคยโล่งเตียนเป็นเขาหัวโล้น และผืนดินด้านล่างเสื่อมโทรมไร้ค่าจนชาวบ้านเปรียบเปรยว่า “เอาสุนัขไปปล่อยก็ไม่อยู่” ได้กลายเป็นที่ดินอุดมขึ้นจนเป็นที่หมายปองของทั้งชาวบ้าน นักธุรกิจรีสอร์ต และธุรกิจสนามกอล์ฟ
กุมภาพันธ์ 2529 ชาวบ้านราว 100 คนขึ้นไปสำรวจป่าต้นน้ำแม่สอย ซึ่งมีป่าต้นน้ำเหลืออีก 60% เมื่อสามปีที่แล้วปรากฏว่า ชาวเขาเผ่าม้งถางและเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้นเป็นบริเวณกว้างถึง 3,000 ไร่
ชาวเขาเผ่าม้ง หรือแม้ว เริ่มเข้ามาทำไร่เลื่อนลอยและสร้างกระท่อมไร่บริเวณต้นน้ำแม่ทิมก่อนเมื่อปี 2518 เรียกว่า “บ้านม้งป่ากล้วย” อพยพครั้งแรกมาเพียง 5 ครอบครัว ประมาณ 30 คน ต่อมาเพิ่ม ขึ้นเป็น 105 ครอบครัว มีประชากร 533 คน ในปี 2532 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง กรมป่าไม้สำรวจพบว่ามีการปลูกกะหล่ำปลีถึง 10,000 ไร่กระจายอยู่บนป่าต้นน้ำ ล่าสุดปีที่ผ่านมาชาวม้งป่ากล้วยได้เพิ่มเป็น 724 คน มีทั้งหมด 129 ครัวเรือน ย่อมหมายถึงว่าป่าต้นน้ำต้องหายไปเพื่อเป็นที่ทำกินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ชาวม้งเผาป่าเพื่อปลูกฝิ่นในระยะแรก ต่อมาหันมาปลูกกะหล่ำปลีและมันฝรั่งมากขึ้น ตามแนวนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลให้ชาวเขาปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาวแทนการปลูกพืชเสพติด
ในขณะที่บนต้นน้ำมีการเผาป่าระดับต่ำจาก 500 เมตรลงมาถึงพื้นราบ ก็มีการลักลอบตัดไม้เถื่อนนอกจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังโค่นป่าชั้นล่างตั้งแต่ระดับใกล้หมู่บ้านเรื่อยไปถึงความสูงประมาณ 300 เมตรเพื่อนำไปทำฟืนส่งโรงบ่มใบยาสูบ ตลอดจนตัดไม้แก่คดงอไม่แข็งแรงและไม้อ่อนขนาดเล็กก็ไม่เว้น เพื่อเอามาเผาเป็นถ่านขายเป็นล่ำเป็นสัน ในตอนนั้นแทบทุกบ้านจะมีเตาเผาถ่านไม่ต่ำกว่า 3 เตา
“เวลามองยืนดูไกล ๆ เราจะเห็นควันของถ่านลอยขึ้นเป็นสายยาว พวกเราทุกคนมองด้วยความรู้สึกปลื้ม เห็นว่าสวยดี ยิ่งบ้านไหนควันขึ้นมากยิ่งสวย เราจะแข่งขันกัน” ชาวบ้านแม่สอยเล่าถึงช่วงเวลาที่ยังมีไม้ให้ตัดทำฟืน
ไม่เพียงแต่ชาวม้งเท่านั้นที่เผาป่า ชาวบ้านก็มีส่วนร่วมด้วย จะต่างก็ตรงที่ชาวบ้านเผาป่าข้างล่างด้วยการจุดไฟเผาใบไม้แห้งจนบางครั้งลุกลามเกิดไฟป่า เพียงเพื่อเวลาเดินเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ จะได้ไม่ส่งเสียงกรอบแกรบทำให้สัตว์ป่าและไก่ป่าตื่น หรือเพียงต้องการให้ต้นผักหวานแตกยอดก็จุดไฟเผา
ทำให้ป่าแม่สอยชั้นล่างที่เคยอุดมสมบูรณ์และหนาทึบ เริ่มเหี้ยนเตียนแปรสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม
ชาวบ้านตื่นตัวจะรักษาป่าแล้ว แต่จะสำเร็จได้ต้องมีความร่วมมือจากชาวม้งด้วย
เริ่มแรกชาวบ้านทำจดหมายร้องเรียนถึงอำเภอขอให้ช่วยหยุดการทำลายป่าของชาวม้ง และปักป้าย “วนอุทยานศาสนา” บริเวณป่าต้นน้ำ โดยหวังว่าจะหยุดยั้งชาวม้งได้ ปรากฏว่าป้ายถูกทำลาย ป่ายังถูกเผา ชาวบ้านจึงร้องเรียนอีกครั้ง ผลยังเป็นเช่นเดิม
กำนันจึงเรียกประชุมชาวบ้านหาวิธีการรักษาป่าต้นน้ำ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในระยะยาว ชาวม้งควรย้ายที่ทำกินออกจากต้นน้ำ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรใช้ลวดหนามกันเขตบริเวณป่าต้นน้ำแม่สอยเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันมิให้ใครบุกรุกทำลายป่า
ข้อตกลงของชาวบ้าน ทางอำเภอไม่เห็นควรที่ชาวบ้านจะขึ้นไปล้อมรั้ว และพยายามพูดโน้มน้าวให้หยุดยั้ง แต่ไม่ได้ผล
ชาวบ้านแม่สอยประมาณ 500 คน ตัดสินใจเดินจากเชิงเขาขึ้นไปยังเขตต้นน้ำ เพื่อล้อมรั้วลวดหนามเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร สูงประมาณสองเมตร ซ้อนกันสิบเส้น เพื่อประกาศแนวเขตห้ามตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำแม่สอย โดยเปิดทางเข้า-ออกไว้ 4 ประตูเพื่อให้ชาวม้งเก็บพืชผลที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป ชาวบ้านใช้เวลาพักแรมอยู่บนเขตป่าต้นน้ำราว 4 วัน 3 คืน การล้อมรั้วจึงเรียบร้อย
ชาวบ้านรู้ว่าถ้าชาวม้งต้องการเผาไฟถางป่าเพียงแค่เอาคีมตัดรั้วลวดหนามก็ขาดแล้ว แต่ชาวบ้านถือว่ารั้วลวดหนามเป็นสัญญลักษณ์แสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ว่า ไม่ควรมีผู้ใดเข้าไปบุกรุกเขตต้นน้ำ
ค่าใช้จ่ายในการล้อมรั้วทั้งหมดราวสี่แสนบาทได้มาจากพระพงษ์ศักดิ์ ซึ่งท่านได้รับบริจาคมาจากลูกศิษย์คนหนึ่งคือ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ซึ่งต่อมาได้เข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างเต็มตัวร่วมกับชาวบ้านและพระพงษ์ศักดิ์
หลังจากชาวบ้านล้อมรั้วเสร็จไม่ถึงเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นคือ ชัยยา พูน- ศิริวงศ์ มีประชุมวันที่ 21 มีนาคม 2529 ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด หัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเชียงใหม่ หน่วย กอ.รมน. และพระพงษ์ศักดิ์
ผลของการประชุมขอให้การล้อมรั้วหยุดเพียงเท่านี้ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ และขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องกับชาวเขาดูแลไม่ให้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการที่ชาวบ้านขอให้ย้ายชาวเขาลงพื้นราบคงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีที่ทำกินพอเพียง
ในขณะนั้นวิธีการล้อมรั้วลวดหนามเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกเขาป่าต้นน้ำ ยังไม่ค่อยเป็นที่เชื่อถือนักว่าจะช่วยให้ป่ากลับคืนมาได้อย่างไร ซ้ำร้ายกว่านั้นยังกลายเป็นชนวนทำให้พระพงษ์ศักดิ์กลายเป็น ผู้ก่อกวนความสงบในสายตาราชการ ส่วน ม.ร.ว.สมานสนิท ได้รับคำเตือนว่ากำลังถูกพระหลอกเอาเงิน
สำหรับชาวบ้านที่ขึ้นไปล้อมรั้วยังคงเชื่อมั่นในเจตนาดีของพระพงษ์ศักดิ์ และเกิดการรวมตัวของชาวบ้าน 5 หมู่บ้านในตำบลแม่สอย ได้แก่ บ้านแม่สอย บ้านวังน้ำหยาด บ้านหนองคัน บ้านห้วยห้า และบ้านสบสอย ตั้ง “ชมรมเหมืองฝายเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและพัฒนาตำบลแม่สอย”
ทางพระพงษ์ศักดิ์ ม.ร.ว. สมานสนิท และลูกศิษย์อีก 5 คนได้ตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อสานงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิธรรม-พัฒนา” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิธรรมนาถ” ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย วันที่ 19 มิถุนายน 2530 มีพระพงษ์ศักดิ์เป็นประธานมูลนิธิและม.ร.ว.สมานสนิทเป็นเหรัญญิก
ชมรมเหมืองฝาย ฯ จึงเสมือนหนึ่งเป็นกลุ่มพลังชาวบ้าน ที่ร่วมมือกับเอกชนคนนอกท้องถิ่นคือมูลนิธิธรรมนาถ ซึ่งช่วยเหลือด้านวิชาการและเงินทุนในการสร้างป่าต้นน้ำรวมทั้งฟื้นฟูที่ทำกินของชาวบ้าน
“สิ่งที่เราทำที่แม่สอยประกอบด้วยสามส่วนที่สำคัญ คือให้การศึกษาให้ทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับป่าเมื่อมีความเข้าใจป่าแล้วจะเห็นว่าป่าต้นน้ำมีความสำคัญมากสำหรับชีวิต เมื่อลุ่มน้ำนี้ตายไป เราต้องสร้างต้นน้ำขึ้นใหม่ สิ่งที่สร้างต้นน้ำคือต้นไม้ การปลูกป่าโดยใช้ต้นไม้ชนิดถูกต้องกับป่านั้น จึงเป็นงานส่วนที่สอง สุดท้ายระหว่างที่เรากำลังสร้างต้นน้ำถ้าชาวบ้านไม่มีจะกิน เขาจะขึ้นไปปลูกป่า รักษาป่า ป้องกันไฟป่าไม่ได้เลย เราจึงสร้างที่ทำกินให้เขาด้วย” ม.ร.ว. สมานสนิทอธิบายหัวใจของงานมูลนิธิที่ร่วมมือกับชาวบ้าน เพื่อฟื้นฟูวงจรชีวิตและธรรมชาติให้กลับคืนมา
การปลูกป่าตลอดจนการสร้างที่ทำกินให้ชาวบ้านจะต้องได้รับอนุมัติและอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
5 กรกฎาคม 2530 ผู้อำนวยการกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เดินทางมาตรวจงานศูนย์ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 พร้อมทั้งตรวจพื้นที่ตำบลแม่สอย และได้มีความเห็นให้ศูนย์ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 ทำโครงการหมู่บ้านป่าไม้ บริเวณพื้นที่ส่วนล่างของลำห้วยแม่สอย ส่วนที่อยู่ติดกับเขตหมู่บ้านวังน้ำหยาดประมาณ 2,000ไร่ ตามที่ชมรมเหมืองฝาย ฯ ทำหนังสือร้องขอมาที่กรมป่าไม้เพราะราษฎรจำนวนมากยังยากจน และขาดแคลนที่ทำกิน ทางราชการให้ชื่อว่า “โครงการหมู่บ้านป่าไม้ป่าจอมทอง 2”
โดยทั่วไปเอกชนที่สนับสนุนการอนุรักษ์ป่ามักจะช่วยเหลือในรูปของการให้เงิน หรือบริจาคกล้าไม้ โดยให้กรมป่าไม้นำไปจัดสรรจัดการเองแต่สำหรับการทำงานของมูลนิธิธรรมนาถมีความต่างที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ มูลนิธิฯ มิใช่จะให้เฉพาะเงินในการอนุรักษ์ป่าเท่านั้น แต่ยังลงมือปลูกป่าเองด้วย และสอง มูลนิธิ ฯ ช่วยทั้งเรื่องการเงินและทำการฟื้นฟูที่ทำกินให้ชาวบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรมักจะไม่มีเอกชนสนับสนุนเพราะไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ
“ปกติแล้วเอกชนที่ส่งเสริมปลูกป่า จะไม่ได้พูดถึงที่ดินทำกินราษฎร แต่ทางมูลนิธิธรรมนาถสนับสนุนงบประมาณทำสาธารณูปโภคด้วย ถ้ามูลนิธิไม่ให้เงินช่วย ทางกรมป่าไม้ก็คงไม่มีปัญญาทำส่วนนี้ได้” ปรีชา อร่ามพงษ์พันธ์ เจ้าหน้าที่กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ อธิบายเรื่องการทำงานของมูลนิธิในฐานะที่เคยเป็นหัวหน้าศูนย์ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 ซึ่งดูแลโครงการหมู่บ้านป่าไม้ตำบลแม่สอย
ทางมูลนิธิธรรมนาถให้เงินสนับสนุน1,000,000 บาทกับกรมป่าไม้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคในโครงการหมู่บ้านป่าไม้ป่าจอมทอง 2 และ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าต้องการร่วมงานอนุรักษ์ป่ากับกรมป่าไม้ด้วย นอกจากนี้แล้วยังเชิญหัวหน้าโครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ป่าจอมทอง 2 เป็นคณะกรรมการของมูลนิธิด้วย เพื่อร่วมคิดและรับรู้การทำงานของมูลนิธิ
งานปรับพื้นที่เสื่อมโทรมเพื่อจัดเป็นที่ทำกินของราษฎร จึงเป็นงานที่ทำควบคู่กับการสร้างป่าต้นน้ำลำธาร โดยทางมูลนิธิใช้เงินไปนับตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปี 2536 ทั้งหมดราว 22 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินพัฒนาพื้นที่ทำกินประมาณ 14 ล้านบาท และการปลูกป่าต้นน้ำและป่าลุ่มน้ำตอนบนและป่าไม้ใช้สอยประมาณ 8 ล้านบาท
ดูตัวเลขค่าใช้จ่ายของการปลูกป่าแล้ว เป็นจำนวนที่น้อยมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ กับการปลูกและรักษาป่าต้นน้ำประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร และป้องกันไฟป่าได้ 8,000 ไร่
จากการสำรวจของพระพงษ์ศักดิ์ ท่านมีความเห็นว่า หัวใจของการรักษาป่าต้นน้ำแม่สอยที่เป็นป่าชั้นบนประมาณ 2,000 ไร่ บริเวณต้องปลูกใหม่มีเพียง 500 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าที่สามารถฟื้นตัวได้เพราะมีสภาพที่หญ้าคายังไม่ขึ้น หากทิ้งไว้โดยไม่ถูกเผาซ้ำเติมใน 5-10 ปี ความสมบูรณ์จะกลับคืนมา
ส่วนป่าชั้นล่างที่อยู่ในระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500-1,000 เมตร ได้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมนั้น ต้องทิ้งไว้ให้ฟื้นตัวได้เอง เพียงแต่อย่างให้ใครทำลายเพิ่มเติมและป้องกันไฟป่าเท่านั้น
“การเผาป่าทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารไนโตรเจนเกือบหมด ความร้อนจะทำลายจุลินทรีย์และแบคทีเรียต่าง ๆ นับล้าน ๆ ตัวที่อยู่ในดิน เท่ากับว่าเราทำลายสิ่งที่สร้างดินและสร้างอาหารในดิน เท่ากับว่าเราทำลายสิ่งที่สร้างดินและสร้างอาหารในดิน ทำให้หญ้าคาเข้ามาแทนที่ต้นไม้เล็ก ๆ และลูกไม้ที่ตายลงเพราะถูกไฟเผา ดินแห้งกัดกร่อน เก็บกักน้ำไม่ได้รวมทั้งยังเป็นการไล่สัตว์ ออกจากพื้นที่อีกด้วย” ม.ร.ว.สมานสนิทอธิบายถึงโทษของการเผาป่า
ด้วยเหตุนี้การล้อมรั้ว จึงไม่พอเพียงในการป้องกันไฟป่า ยังต้องทำทางเป็นแนวป้องกันไฟป่าโดยจะถางเป็นทางโล่งไว้ระหว่างรั้วและแนวป่าทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของรั้วด้านละไม่ควรต่ำกว่า 10 เมตร ถ้าเป็นบริเวณที่มีหญ้าและใบไม้มากต้องถางทางใหญ่ขึ้นถึง 20 เมตร เพื่อป้องกันมิให้ไฟป่าลุกลามกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
“ตอนแรกที่เริ่มทำแนวกันไฟ ชาวบ้านบางคนบอกว่าเงินเยอะนักเหรอ ถึงเอาเงินมาทำเล่นอย่างนี้ แต่ชาวบ้านก็มาช่วยทำแนวกันไฟ มิใช่เพราะพิศวาสป่าหรือเชื่อคำสอนของพระอาจารย์ แต่เพราะอาจารย์ให้ค่าแรงเมตรละบาท พวกผมกับเพื่อน ๆ จะถางเป็นทางกว้างสามเมตร ยาวหนึ่งเมตรก็ได้เงินหนึ่งบาท วันหนึ่งก็ได้ร้อยกว่าบาท ก็ดีใจกัน” มินทร์ เล่าให้ฟังถึงช่วงแรกที่ตัวเขาเองและชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการรักษาป่าของมูลนิธิ จนกระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่งมินทร์ทำงานให้มูลนิธิเต็มตัวในตำแหน่งผู้จัดการ
การถางแนวกันไฟป้องกันไฟป่ารอบพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4,000 ไร่และป่าชั้นล่างบริเวณถ้ำตุ๊ปู่ 4,000 ไร่ จะต้องทำกันทุกปีในช่วงหน้าแล้ง จนชาวบ้านถือว่าเป็นประเพณีประจำปีว่า ในรอบหนึ่งปี ทุกวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกของการล้อมรั้ว ชาวบ้านจะขึ้นไปถางแนวกันไฟ และจะมีการจัดเวรยามคอยผลัดกันขึ้นไปดูแลป้องกันไฟป่าในช่วงหน้าแล้งตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้แล้ว มีการต่อท่อน้ำขนาด 3 นิ้ว จากผาผึ้งมายังพื้นที่ตอนล่างหน้าถ้ำตุ๊ปู่ เป็นระยะทางประมาณ 6,000 เมตร เพื่อใช้ดับไฟป่าและรดน้ำต้นไม้ในฤดูแล้ง ตลอดจนวางท่อน้ำตามแนวทางกันไฟและสร้างแท้งค์น้ำ 26 แท้งค์ บนป่าระดับ 1,400 เมตร
“หลังจากที่เราป้องกันไม่ให้มีไฟป่าได้แล้วประมาณหนึ่งปี เราเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำที่เคยถูกไฟไหม้ ดิฉันสังเกต เห็นพืชตระกูลถั่วขึ้นก่อนส่วนบริเวณชายป่าต้นน้ำ พบว่ามีต้นเหมือน-Helicia ขึ้น ดิฉันก็คิดว่าถ้าจะสร้างป่าเดิมกลับมา เราก็ควรเลียนแบบธรรมชาติ เมื่อพืชที่เกิดขึ้นใหม่เป็นพวกถั่วและต้นเหมือต ซึ่งเป็นจำพวกต้นไม้บุกเบิก ดิฉันจึงเก็บและเพาะเมล็ดของต้นไม้ประเภทนี้ ส่วนพระอาจารย์ท่านเก็บเมล็ดของต้นไม้ตระกูลก่อ ท่านให้เหตุผลว่าเป็นไม้ดังเดิมตั้งแต่สมัยที่ป่าไม้ถูกทำลายจึงควรปลูกไม้ตระกูลก่อ ซึ่งเป็นพวก Climax forest” ม.ร.ว.สมานสนิท เล่าถึงการค้นหาวิธีการปลูกป่าทดแทนป่าต้นน้ำที่หายไป โดยขณะนั้นทั้งพระพงษ์ศักดิ์ และม.ร.ว.สมานสนิทต่างก็ไม่รู้ว่าวิธีของใครจะได้ผลถูกต้อง
บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นป่าต้นน้ำถูกทำลายลงจะเห็นหญ้าคาเกิดขึ้นแทนที่เป็นทุ่งกว้างครอบคลุมพื้นที่เมื่อเราเข้าไปใกล้ ๆ ต้นหญ้าคา จะสังเกตเห็นพืชตระกูลถั่ว (Legumes) ขึ้นเป็นชนิดแรกทั้งที่เนื้อดินเลวมากแต่ต้นถั่วขึ้นได้เพราะรากมีปุ่มแบคทีเรีย ซึ่งสามารถดูดไนโตรเจนจากอากาศเอามาสร้าง
ไนเตรดด้วยตัวเองหนำซ้ำเมื่อต้นถั่วตายลงซากของมันจะเป็นตัวสร้างไนเตรดให้กับดิน
ส่วนไม้จำพวกบุกเบิก หรือ Pioneers จะเติบโตขึ้นแถว ๆ ชายป่าต้นน้ำหลังจากไฟป่าที่มีสภาพดินเหลวได้เพราะมีความทนทาน และรากมีแบคทีเรียเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว สมกับชื่อที่ว่าบุกเบิก
สำหรับไม้จำพวก Climax forest ได้แก่ไม้ตระกูลก่อ จำปีป่า จำปาป่า ต้องหาเมล็ดมาเพาะพันธุ์แล้วนำไปปลูก
หลังจากทำการทดลองปลูกต้นเหมือตและต้นก่อได้ประมาณหนึ่งปี ปรากฎว่าไม้จำพวกบุกเบิกไม่ค่อยได้ผลดีเท่าไรในการสร้าป่าต้นน้ำ ส่วนไม้ตระกูลก่อให้ผลดีที่สุด เพราะจะให้รากยาวเท่ากับความสูงของต้นกล้า เช่นต้นกล้าสูง 3 นิ้ว รากก็ยาว 3 นิ้ว และมีรากแขนงแผ่ออกมาโดยรอบ ช่วยอุ้มซับน้ำได้มาก
สำหรับจำปีป่าและจำปาป่า ซึ่งเป็นไม้ดั้งเดิมบนต้นน้ำเช่นเดียวกับไม้ตระกูลก่อ จากการทดลองพบว่า มีความยุ่งยากในการปลูกมากกว่าต้นตระกูลก่อ คือต้องคอยระวังไม่ให้ถูกลมและแดด จึงต้องปลูกไม้ให้ร่มเงาบังแดดช่วงต้นจนกว่าต้นจะแข็งแรง ส่วนต้นตระกูลก่อแข็งแรงกว่ามาก เพียงรักษาให้มีวัชพืชหรือหญ้าคาขึ้นคลุมดินให้ร่มเงาก็พอ
“ดังนั้นถ้าเราจะฟื้นฟูป่า ก็ต้องปลูกถั่วเสียก่อนเป็นชนิดแรก เพราะเป็นตัวสร้างไนเตรดให้ดินตามด้วยต้นเหมือตเพราะสู้ดินเลวได้และเป็นตัวบุกเบิกตามด้วยต้นก่อซึ่งเป็นไม้อยู่ระดับความสูง 1,000 เมตร ขึ้นไป เราต้องเก็บเมล็ดมาจากดอยอินทนนท์เพราะเป็นพื้นที่แถบเดียวกันของป่าต้นน้ำแม่สอย” ม.ร.ว.สมานสนิทสรุปผลการทดลองที่ยาวนานเกือบ 4 ปีนับจากจุดเริ่มแรกที่สร้างรั้วรอบป่าต้นน้ำและแนวกั้นไฟเสร็จ
ต้นไม้อีกจำพวกที่สำคัญให้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติดั่งเดิมกลับคืนมา คือต้นไม้จำพวกที่เป็นอาหารสัตว์ หรือ Food Tree ซึ่งต้นไม้เหล่านี้โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์จะเป็นผู้กระจายพันธุ์ แต่เมื่อไม่มีสัตว์ป่าแล้ว จึงต้องนำเมล็ดมาปลูกเอง เพื่อเรียกให้สัตว์กลับคืนมาอีกครั้ง
นับจากได้ข้อสรุปการทดลองแล้ว มูลนิธิและชาวบ้านได้ช่วยกันหาเมล็ดเพื่อเพาะพันธุ์ต้นกล้า ต้นไม้ตระกูลก่อเป็นต้นที่เพาะยากที่สุด นอกจากต้องหาแหล่งที่ยังมีต้นหลงเหลืออยู่แล้ว ยังต้องนำมาปลูกภายในหนึ่งอาทิตย์ ต้นจะขึ้นได้ดี 90% หากทิ้งช่วงนานถึงสองอาทิตย์จะปลูกไม่ค่อยขึ้น
จากปี 2533-2536 ปลูกต้นก่อไปได้ทั้งหมด 860 ไร่ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 900,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสามเท่า เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการปลูกต้นไม้ชนิดอื่น ๆ รวมกันได้แก่ ต้นสนสองใบ ต้นขี้เหล็ก มะม่วงหิมพานต์ ต้นสักทอง ยูคาลิปตัส สะเดา และกระถิน
อย่างไรก็ดีการสำรวจและวิจัยพืชพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับป่าในระดับความสูงต่าง ๆ ยังคงทำอยู่ต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในระยะต้นก่อนที่การทดลองเพาะเมล็ดต้นก่อจะได้ผล ชาวบ้านปลูกต้นสักทองบริเวณถ้ำตุ๊ปู่ 1,200 ต้น ต่อมาปี 2530 ปลูกต้นสนสองใบที่บริเวณต้นน้ำแม่ป๊อก 10,000 ต้นในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ปีถัดมาปลูกต้นสนบริเวณต้นน้ำแม่ทิมอีก 20,000 ต้น
ที่ผ่านมาในการปลูกป่าของกรมป่าไม้ นอกเหนือจากการปลูกสวนป่าเศรษฐกิจประเภทต้นยูคาลิปตัสและไม้สักแก้วแล้ว มักจะนิยมปลูกต้นสนสองใบ หรือ ต้นสนสามใบ เป็นทิวแถวเรียงเป็นแนวระยะห่างของต้นเท่ากัน เพราะต้นสนสามารถเติบโตขึ้นได้ แม้สภาพดินจะไม่สมบูรณ์เท่าไร อีกทั้งช่วยยึดดินและมีความทนทานต่อไฟป่า อีกทั้งไม่ต้องดูแลรักษามาก
อย่างไรก็ดี ต้นสนไม่สามารถสร้างป่าต้นน้ำให้กลับมาได้
ในช่วงสองปีแรกของการปลูกป่า แม้ว่าบางครั้งจะมีการไม่ลงรอยกันระหว่างชาวเขาและชาวบ้าน แต่ก็ไม่มีครั้งใดรุนแรงเท่าปี 2532 เพราะต้นสนที่ปลูกไว้บนต้นน้ำแม่ป๊อก ถูกไฟไหม้เสียหาย 95% ทั้ง ๆ ที่มีการทำแนวกันไฟแล้วและมีเวรยามขึ้นไปตรวจเป็นระยะ ๆ
“เป็นโชคร้ายของเมืองไทยที่เป็นประเทศเดียวที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ถ้าชาวเขาเหล่านี้อยู่ที่พม่า ลาว หรือเวียดนาม ก็จะไม่มีปัญหา เนื่องจากที่นั่นมีภูเขาสูงเป็นจำนวนมาก เมืองไทยอยู่ค่อนมาทางใต้จึงทำให้มีภูเขาสูงเกิน 1,000 เมตรไม่กี่แห่ง ในขณะที่ประเทศอื่นมีภูเขาสูงระดับ 2,000 เมตรอยู่มากมาย แต่เมืองไทยเท่าที่รู้ ตอนนี้มีภูเขาสูงระดับนี้เพียงสามแห่ง คือที่เขาช้าง เชียงดาวและดอยอินทนนท์ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ป่าต้นน้ำของเราจึงอยู่ที่ระดับความสูงเพียง 1,000 เมตร ประกอบกับระดับความสูงขนาดนี้เหมาะแก่การปลูกฝิ่นและข้าว เพราะถ้าปลูกสูงกว่าระดับ 1,000 เมตร ฝิ่นขึ้นแต่ข้าวไม่ขึ้น ถ้าปลูกที่ระดับต่ำกว่านั้นปลูกข้าวได้แต่ปลูกฝิ่นไม่ได้
ระดับความสูง 1,000 เมตรจึงเป็นระดับเดียวที่ชาวเขาสามารถปลูกได้ทั้งสองอย่าง และเป็นระดับเดียวกับป่าต้นน้ำของเรา เมื่อป่าต้นน้ำถูกตัด เราก็ไม่มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำทั้งสี่สาย ปิง วัง ยม น่าน ทำให้เกิดเดือดร้อนไม่มีน้ำกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่ไม่ควรมีมนุษย์อาศัยอยู่บนต้นน้ำ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครบอกว่า ป่าต้นน้ำถูกทำลายโดยสัมปทานไม้นั่นไม่ใช่ อย่างไม้สักจะขึ้นดีที่ความสูงไม่เกิน 600 เมตร พวกไม้เนื้อแข็ง ไม้มะค่า ประดู่จะอยู่ต่ำประมาณ 300 เมตร ฉะนั้นป่าต้นน้ำของเรามีแต่ต้นไม้ที่ไม่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ทำลายป่าต้นน้ำคือไฟป่า” ม.ร.ว.สมานสนิท ชี้ให้เห็นต้นต่อของปัญหาต้นน้ำลำธารของไทย ซึ่งเป็นลูกโซ่ถึงภาวะการขาดแคลนน้ำในปัจจุบัน
การโยกย้ายชาวเขาที่อยู่ป่าต้นน้ำให้ลงมาอยู่พื้นราบเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป เป็นแนวความคิดพื้นฐานของมูลนิธิธรรมนาถมาตั้งแต่ต้น ที่พยายามชี้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างป่าได้ตระหนัก แต่ความพยายามดูเหมือนจะไร้ผล จนมาเกิดเหตุการณ์ชาวม้งเผาป่าต้นน้ำแม่ป๊อกเกือบ 200 ไร่ ทำให้กระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นอีกครั้งและส่งผลให้มีการนำเรื่องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 ผลการประชุมมีมติให้อพยพชาวเขาในเชียงใหม่ลงมาพื้นราบ
แต่จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ มติของคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเลย และ คงเป็นฝันที่เป็นจริงยาก
“ผมคิดว่าปัญหาเรื่องนี้เราต้องประนีประนอมเราคงย้ายชาวเขาลงพื้นที่ราบไม่ได้เพราะคงไม่มีที่พอสำหรับการรองรับคนกว่าห้าแสนคน สิ่งที่เราทำตอนนี้คือพยายามย้ายคนออกจากลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้อยู่ต่ำลงมาบริเวณหุบเขา ซึ่งทางราชการจะพัฒนาพื้นที่ทำกินระบบสาธารณูปโภคให้” ม.ร.ว.แซม แจ่มจรัส รัชนี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินที่สูง เชียงใหม่ พูดถึงแนวนโยบายการโยกย้ายชุมชนบนที่สูงปัจจุบัน
หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่สูงอาทิ กรมประชาสงเคราะห์ชาวเขา กรมพัฒนา ที่ดินที่สูง รวมทั้งโครงการหลวง พยายามหาทางออกให้คนอยู่กับป่าได้ โดยใช้วิธีการเกษตรเชิงอนุรักษ์ ซึ่งในขณะนี้มีการทดลองอยู่ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานระหว่างแถบไม้พุ่มบำรุงดิน (Alley cropping ) และระบบการปลูกพืชสลับระหว่างแถบหญ้า (Grass strip cropping) ซึ่งทั้งสอง วิธีจะช่วยลดการสูญเสียดินและน้ำ เพื่อให้ใช้ที่ดินที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้โดยหลักการการจัดที่ทำกินให้ชุมชนพื้นที่สูง พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ป่าต้นน้ำโดยจะถอยร่นต่ำลงมาใช้พื้นที่ราบในหุบเขาและจะมีการกำหนดพื้นที่ Transitional Zone เป็นเขตต่อระหว่างพื้นที่เกษตรและป่าไม้ที่เชื่อมต่อกับป่าต้นน้ำก็ตาม แต่พื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป
นอกจากนี้วิธีการนี้ก็มิได้ช่วยให้ป่าต้นน้ำกลับคืนมาได้ เพราะไม่มีการปลูกป่าทดแทนป่าต้นน้ำที่สูญเสียไปรวมทั้งไม่มีมาตรการหรือหลักประกันใด ๆ ว่า ชุมชนที่สูงครึ่งล้านคนรวมทั้งชาวพื้นราบบางกลุ่มจะไม่บุกรุกป่าต้นน้ำอีกต่อไป
“ที่พูดกันว่า ป่าไม้ถูกทำลายแล้วทำให้ฝนไม่ตกไม่เป็นความจริง เพราะฝนที่ตกทุกวันนี้มาจากมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย เป็นมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย ฉะนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน” ม.ร.ว.แซม-แจ่มจรัส แย้งทฤษฎีที่ว่าการทำลายป่าทำให้ฝนแล้ง
“ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือคนบนที่สูงก็ตามไม่ควรอาศัยอยู่บนบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร เราควรหาวิธีแก้ไขเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้เมืองไทยแล้งมากจนเรียกได้ว่าวิกฤตแล้ว” รองศาสตราจารย์ สุรีย์ ภูมิภมร ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรมของไม้และเรื่องไม้เอนกประสงค์ และเป็นผู้แทน FAO ของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความคิดเห็น
“คนบอกว่าเดี๋ยวนี้น้ำในเขื่อนเหลือน้อยเหลือเกินเพราะอะไร ก็เพราะป่าต้นน้ำถูกตัดไปมากมาย เราไม่มีแม่น้ำที่จะไหลไปลงเขื่อน แม่น้ำเกิดจากดิน อินทรีย์ที่สามารถอุ้มน้ำ ใบไม้ที่ร่วงลงมาทับถมกันจนกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เวลาฝนตกลงมาน้ำจะค่อย ๆ ซึมลงดินเพราะมีใบไม้คอยรองรับ ดินอินทรีย์หรือฮิวมัสจึงเป็นเหมือนฟองน้ำชิ้นเบ้อเร่อ ยิ่งมีฟองน้ำชิ้นใหญ่มาก ๆ ก็ยิ่งสามารถอุ้มน้ำได้มาก เมื่อมันไม่สามารถอุ้มน้ำได้แล้ว น้ำจะค่อย ๆ ซึมออกมาทีละนิด ๆ กลายเป็นลำธารเล็ก ๆ ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำ” ม.ร.ว.สมานสนิท อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของต้นน้ำที่นับวันจะน้อยลง
“ขุนน้ำ” ของชาวบ้านกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาชาวบ้านร้อยกว่าครอบครัวจาก 274 รายของโครงการจัดที่ดินทำกินแปลงที่ 1 เริ่มกันรั้วพื้นที่ทำกินของตน ในบริเวณที่ระบบชลประทานไปถึง
ถึงแม้ว่ามาถึง ณ วันนี้ เอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของราษฎร ยังมีปัญหาติดขัดยืดเยื้อมานานสองปีแล้ว และมีทีท่าว่าคงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน เพราะหน้าที่การออกหนังสือถูกเปลี่ยนมือจากกรมป่าไม้เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก.ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้อำนาจเข้ามาจัดการออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
แต่ชาวบ้านยังยึดมั่นจับมือร่วมกันปลูกป่าและรักษาป่า สำหรับมูลนิธิธรรมนาถ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวกับอุปสรรคที่เรียงหน้ามาตั้งแต่เริ่มโครงการก็ยังคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยปลูกป่าต้นน้ำร่วมกับชาวบ้าน
“ถ้าไม่มีกำลังของชาวบ้านปลูกป่าดูแลรักษาป่าต่อไป แรงงานและเงินที่ลงไปตลอด 7 ปี ก็เท่ากับไร้ความหมาย ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สร้างมาเพื่อให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองก็อาจจะกลายเป็นประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจบนแผ่นดินผืนนี้” ม.ร.ว.สมานสนิท พูดด้วยความห่วงใย
ป่าต้นน้ำของแม่สอยจะสมบูรณ์เต็มที่ได้ จะต้องรอให้ต้นก่อ ต้นจำปีป่า ต้นจำปาป่า ต้นเหมือต หลายหมื่นต้นลงรากยึดดินเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่มีใบไม้ร่วงหล่นหนาทึบทับถมนานพอที่กลายเป็นฮิวมัสซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี ถ้าหากว่าไม่ถูกไฟป่าเผาผลาญวอดวายหมดเสียก่อน
เพราะเท่ากับว่าชาวบ้านและมูลนิธิธรรมนาถจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
|