แม้เอ็มเว็บจะได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจ ดอทคอม
ไม่กี่รายที่ยังคงยืนหยัดอยู่บนเวทีธุรกิจดอทคอม แต่พวกเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
พวกเขาต้องเผชิญกับ ความยากลำบากกว่าเดิมมาก
สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นบทสะท้อนความเฟื่องฟูของธุรกิจดอทคอม ด้วยการตกแต่งอย่างดีจากอินทีเรียดีไซน์ชั้นเยี่ยม
อุปกรณ์สำนักงานบางชิ้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้คอนเซ็ปต์ที่เน้นความทันสมัยของธุรกิจ
แม้ช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปี ไม่ได้ทำให้สภาพภายนอกของสำนักงานเปลี่ยนไปมากนัก
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ บรรยากาศของธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
บริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย เป็นบริษัทลูกของ MIH กิจการหลักคือ บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก
และอินเทอร์เน็ตที่มีฐานธุรกิจในแอฟริกาใต้ จดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค และ
Euronext Am-sterdam Stock เริ่มขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่
และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของพวกเขา ความคาดหมายของพวกเขาคือ การเติบโต
ไปพร้อมๆ กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อยึดกุม ตลาดส่วนใหญ่ของผู้ใช้เหล่านี้
เอ็มเว็บใช้ความได้เปรียบในเรื่องของเงินทุน เริ่มต้นด้วยการซื้อเว็บไซต์
sanook.com ซึ่งเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น จากนั้นก็กว้านซื้อเว็บไซต์อีกหลาย
เว็บ แต่ก้าวที่ถือว่ามีผลต่อยุทธศาสตร์ทาง ธุรกิจ ก็คือ การซื้อเคเอสซี
ผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ที่ถือเป็นก้าวที่สองของธุรกิจ
เป้าหมายของพวกเขา คือ การเป็น อย่างที่ "เอโอแอล" เคยประสบความสำเร็จ
มาแล้ว นั่นก็คือ การเป็นทั้งถนนเพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต และเป็นผู้สร้างเนื้อหาที่ครอบ
คลุมความต้องการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
แต่แล้วภาวะตกต่ำของธุรกิจดอทคอมทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจดอทคอมหลายแห่งรวมทั้งในไทย
ต้องได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เว็บไซต์หลายแห่งต้อง ปิดตัวลง ในขณะที่หลายแห่งต้องปรับลดค่าใช้จ่าย
ลดจำนวนพนักงาน
เอ็มเว็บก็เช่นกัน แม้พวกเขายังคงยืนหยัดอยู่ในธุรกิจ แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป
ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนของธุรกิจ ด้วยการปรับการลดพนักงาน ลดพื้นที่เช่าสำนักงาน
และจ้างพนักงานชั่วคราวแทนพนักงานประจำ
ปัจจุบันเอ็มเว็บมีเว็บไซต์ sanook. com และ mweb.co.th เป็น 2 เว็บไซต์หลักที่มีจุดขายแตกต่างกันไป
mweb เป็นเว็บไซต์ที่ให้เนื้อหาล้วนๆ ในขณะที่ sanook.com จะเป็น search
engine จตุภูมิ สุทธิสาร รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย
จำกัด บอกว่า ในแต่ละเดือน เว็บไซต์ทั้ง 2 จะมีผู้เข้าชม 60 ล้านเพจวิว (page
view) สร้างรายได้จากโฆษณา และรายได้จากบริการทางอ้อม เป้าหมายต่อไปก็คือ
การ เปลี่ยนผู้เข้าชมให้เป็นลูกค้าเคเอสซี
"การมีเว็บไซต์ ทำให้เกิดกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะใช้บริการเคเอสซี เพราะเขาใช้บริการของเอ็มเว็บจนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว"
จตุภูมิบอก "เมื่อเขาดูข้อมูลในเว็บไซต์ของเรา เขาก็ต้องเป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตอยู่ดี"
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใน อินโดจีน อย่างเวียดนาม พม่า แล้ว ตลาดในไทยยังคงมีโอกาสสำหรับพวกเขา
"ตลาดพวกนั้นแย่กว่าเมืองไทยมาก" เครก ไวท์ ประธานบริหารเอ็มเว็บ ประเทศไทย
และ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเคเอสซี คอม เมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด บอกกับ
"ผู้จัดการ"
ปัจจุบันเครก ไวท์ ต้องข้ามฟากจากบริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย เข้ามาดูแล
เคเอสซี คอมเมอร์เชียล ซึ่งเป็นธุรกิจธงนำ ของเอ็มเว็บ ที่จะต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น
การเปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดชั่วโมง ด้วยอัตราเดือนละ 299 บาท
แถมพ่วงด้วยฟรีอีเมล พื้นที่เก็บข้อมูล และ โฮมเพจ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือเป้าหมายสำคัญของการรุกของเอ็มเว็บต่อจากนี้
สำหรับเครก ไวท์ และทีมงานแล้ว นี่คือก้าวแรกของเอ็มเว็บในการเดินไปสู่โมเดลธุรกิจของเอโอแอล
ซึ่งเป็นการประยุกต์ระหว่างธุรกิจไอเอสพี และการสร้างเนื้อหา มาใช้ประโยชน์ในการบุกเบิกธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
"ไม่ว่าใครจะใช้โมเดลนี้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสเปน เยอรมนี อิตาลี" เครก
ไวท์ บอก "แต่ต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสมของแต่ละ ประเทศ"
ในแง่มุมของสมเกียรติ เฉลิมอิสระชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอ็มเว็บ
ประเทศไทย จำกัด เชื่อว่าบริการนี้เปรียบเสมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นก
3 ตัว คือ การเปลี่ยนจากสมาชิกที่เคยใช้บริการข้อมูลฟรีๆ ให้เปลี่ยนมาเป็นสมาชิกที่ต้องเสียค่าบริการ
ขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็น การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับเคเอสซี การแย่งชิงลูกค้าจากไอเอสพีรายอื่นๆ
สมเกียรติเป็นหนึ่งในพนักงานยุคแรกๆ ของเอ็มเว็บ ประเทศไทย เริ่มต้นทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่บริษัทอาร์เธอร์
แอนเดอร์เซ่น (Arthur Andersen) 5 ปี ย้ายไปทำงานอยู่บริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตยา
5 ปี จากนั้นมาทำงานอยู่กับพิซซ่าฮัท และ ไปอยู่บริษัทผู้ผลิตยา ก่อนจะมาเริ่มต้นเรียนรู้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตกับเอ็มเว็บ
เริ่มมาตั้งแต่ดูทางการเงิน กฎหมาย จนกระทั่งมาดูแลด้านอินเตอร์แอคทีฟ มีหน้าที่ดูแลและบริหารเว็บไซต์ทั้ง
12 เว็บ ก่อนจะมารับตำแหน่ง CEO ของเอ็มเว็บ ประเทศไทย
"เราใช้บริการนี้เป็นธงนำ" สมเกียรติบอก "สิ่งที่เราต้องการ คือทำให้ผู้ใช้
บริการมองเห็นว่าสินค้าของเรา แตกต่างจากคนอื่น ไม่ใช่แค่การซื้อโครงสร้างพื้นฐาน"
เป้าหมายของพวกเขา คือ การก้าว นำหน้าก่อนคู่แข่งในตลาด สิ่งที่เราทำไปเมื่อต้นปีเวลานี้ก็ยังไม่มีใครทำเหมือนกับเรา
ขณะเดียวกัน เครกยืนยันว่า ไทยถูกจัดให้เป็นอันดับ 2 ของประเทศที่เอ็มเว็บ
ให้ความสำคัญ ถัดจากตลาดในจีน ที่เป็นอันดับแรก และการได้รับอนุมัติเงินลงทุนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
เป้าหมายถัดจากนี้ของเอ็มเว็บ และเคเอสซี ก็คือ การทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายขึ้น
และตอบสนองความต้องการที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคลมากขึ้น
"เอ็มเว็บจะทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น และเมื่อเปิดหน้าจอ จะมีสิ่งที่ตัวเองอยากรับรู้
เช่น ถ้าเล่นหุ้น ต้องการดูหุ้น นี่เป็นแค่ตัวอย่าง ต่อไปรูปร่างหน้าตาของเว็บ
หรือเบลาเซอร์ อาจจะไม่ต้องเหมือนกันก็ได้"
ผลจากการขยายตัวของลูกค้าองค์กรที่เพิ่มขึ้นจาก 600 ราย เป็น 700 รายภายใน
6 เดือน และลูกค้าส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอีก 40% ที่สามารถสร้างลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น
5,000 ราย และรายได้จากอินเทอร์ เน็ต โซลูชั่น ที่เติบโต 100% ในช่วง 6 เดือน
"ทั้งหมดนี้ คือเหตุผลที่ทำไมเราจึง ต้องเอาบริษัทที่กำลังเติบโตไปขาย"
เครก ไวท์บอก "มันไม่มีความจำเป็นเลย"
สิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไป ก็คือการรอคอยผลตอบแทนจากการลงทุน ที่ยังคงต้องใช้เวลาไปอีกพักใหญ่