บรรดามืออาชีพที่เข้าร่วมงานกับทีเอ ในช่วง 4-5 ปีมานี้ อธึก อัศวานันท์ ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทีเอในหลายครั้ง
เขาไม่เพียงเป็นแกนนำในการเจรจา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 61,790 ล้านบาท
แต่ยังเป็นผู้เจรจากู้ยืมเงินให้กับทีเอ ออเร้นจ์ รวมทั้งการเจรจาในการแปลงสัญญาสัมปทานกับหน่วยงานรัฐต้นสังกัด
และต้องออกเวทีสัมมนาเพื่อสะท้อนแนวคิดในฟากของเอกชน
เป็นภารกิจที่เกิดขึ้นมาภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์
กติกาใหม่ๆ ของกิจการด้านสื่อสารโทรคมนาคม
ก่อนหน้าจะมารับตำแหน่งรองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมายให้กับบริษัทเทเลคอมเอเซีย
คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ อธึกทำงานเป็นนักกฎหมายของสำนักงานกฎหมาย Baker &
McKenzie
"ผมเป็นทนายคนที่ 3 เริ่มมาตั้งแต่ แรก อยู่ที่นั่นมา 20 ปี เป็นคนก่อตั้งแผนก
Banking and Finance ให้กับเบเคอร์ฯ"
อธึกไม่เพียงร่วมบุกเบิกมากับสำนักงานกฎหมายข้ามชาติ แต่ 20 ปีใน Baker
& McKenzie ยังเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะประสบการณ์สำคัญที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้และความแม่น
ยำทางกฎหมายบวกกับความรู้ทางธุรกิจ จากการที่เขาได้เข้าไปมีส่วนในโครงการสำคัญๆ
ระดับชาติมาแล้วนับร้อยโครงการ
"ผมทำมาตั้งแต่สมัยคุณบุญชู โรจนเสถียร ในยุคตึกดำ โครงการรามาทาวเวอร์
สุธี นพคุณ ทำเงินกู้มาตั้งแต่แลก หุ้น วิธีการแลกหุ้นข้ามประเทศ ตั้งแต่สยาม
เครดิต ของคุณพร สิทธิอำนวย ตอนหลังถูกแบงก์ยึด และเปลี่ยนชื่อมาเป็นสยาม
พาณิชย์ลีสซิ่ง" อธึกยกตัวอย่าง
สถาบันการเงินแห่งแรก ที่ทำเป็นเรื่องเป็นราว ก็คือ การเปิดสาขาแรกของ
ดอยช์แบงก์ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นยูโรเปียน เอเชียนแบงก์ จากนั้นสถาบันการเงินข้ามชาติ
และในประเทศอีกหลายแห่งก็ได้กลาย เป็นลูกความของเขา ทำให้เขาเป็นผู้บุกเบิก
แผนกที่ดูแลลูกค้าสถาบันการเงินให้กับ Baker & McKenzie รวมทั้งแผนกกฎหมาย
เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมา ใน Baker & McKenzie เป็นที่ปรึกษาในการนำบริษัท
เข้าตลาดหลักทรัพย์
ผลจากการบุกเบิกเข้าไปยังสถาบันการเงิน ก็ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้เรื่องราวทางธุรกิจสำคัญๆ
ขนาดใหญ่ระดับประเทศมาแล้ว มากมายหลายโครงการ
ไทยออยล์ เป็นอีกแห่งที่อธึกเป็นตัวแทนทางกฎหมาย ที่ทำสัญญาเงินกู้เกือบทุกโครงการของไทยออยล์
ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินสร้างโรงกลั่น มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ต้องให้รัฐบาลไทยเป็น
ผู้ค้ำประกันเงินกู้ ทำมาตั้งแต่ยุคของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน เป็นผู้บริหาร
ทำเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นกรรมการในบริษัท ไทยออยล์
หรือแม้แต่กรณีการซื้อบริษัทบับเบิลบี เจ้าของธุรกิจปลาทูน่ากระป๋อง ที่ใหญ่เป็นอันดับ
2 ในสหรัฐอเมริกา ของบริษัทยูนิคอร์ด ที่อธึกก็เป็นหัวหน้าทีมทนายความมือดีกว่า
60 คน ที่ถูกระดมมา จากประเทศต่างๆ เพื่อทำสัญญาเงินกู้ในการซื้อกิจการครั้งนั้น
"หากคำนวณเป็นจำนวนเงินแล้ว เคยมีคนบอกว่าผมทำเยอะที่สุด เพราะทำให้เกือบทุกแบงก์
ปิโตรเคมีเกือบทั้งโครงการ โอเลฟินเป็นคนทำท่อน้ำมันขนส่ง" อธึกเล่า
คดีความที่มีมูลค่าสูงสุดที่เขาทำ มา สมัยที่ทำงานอยู่กับ Baker &
McKenzie ก็คือ โครงการทำแก๊สเหลวของรัฐบาลในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ที่มีสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากโครงการสำเร็จจะกลายเป็นโครงการที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
สำหรับคดีความที่ยากที่สุด และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากที่สุด ก็คือ
โครงการทางด่วนขั้นที่สองของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
"ครั้งแรก เลห์แมน บราเดอร์ส เขา คิดจะสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่สอง จึงส่งตัวแทนมาคุยกับผม
เพราะตอนนั้นผมเป็นทนายความของทางแบงก์ต่างชาติ ที่เขาต้องการกู้เงินอยู่
ก็เลยได้รับรู้โครงการมาตั้งแต่ต้น" อธึกเล่า
ด้วยวิธีการอันสลับซับซ้อนของเลห์แมน บราเดอร์ส ที่เริ่มตั้งแต่การเสนอขอทำโครงการให้การทางพิเศษฯ
ในลักษณะของสัมปทานแบบ BTO จากนั้นชวนผู้รับเหมาให้มาลงทุน พอสร้างเสร็จก็ขายโครงการ
และเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น ทำให้อธึกได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นในฐานะของตัวแทนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้กู้จนมาถึงผู้ให้กู้
หลังจาก กูมาไกกูมิ ประมูลโครงการได้ เขาต้องเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับบริษัทผู้รับเหมาจากญี่ปุ่นแห่งนี้
เจรจาหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินมาก
เขาจึงเปลี่ยนจากฝั่งของผู้กู้มาอยู่ฝั่งของธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ เพื่อมาดูสัญญาการกู้เงิน
แต่แล้วเขาก็ต้องย้ายกลับมาเป็นทนายความให้กับกูมาไกกูมิอีกครั้ง เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจากับการทางพิเศษฯ
หาข้อยุติในการพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ กับกูมาไกกูมิ และเรื่องไม่จบแค่นั้น
เพราะเขาต้องเจรจาหาผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาซื้อหุ้นแทนกูมาไกกูมิ
"ตอนนั้นมีปัญหามาก เพราะกลาย เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทางญี่ปุ่นเขาหาว่าทางฝั่งไทยแกล้งเขา
ทางแบงก์ก็ไม่อยากเสียเงิน ผมเลยต้องย้ายมาอยู่ทางฝั่งกูมาไกกูมิอีกครั้ง"
อธึกเล่า
ในฐานะของที่ปรึกษาทางกฎหมาย นอกจากต้องวิ่งเจรจาหาคนมาซื้อหุ้นจาก กูมาไกกูมิ
อธึกยังต้องวิ่งกู้เงินเข้ามาอัดฉีด เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการที่มีผู้ถือหุ้นมากมาย
ทั้งนักธุรกิจและนักการเมือง
ขณะเดียวกัน เขาต้องทำหน้าที่เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับผู้รับเหมาก่อสร้างจำนวน
60 กว่าราย และสถาบันการเงินข้ามชาติ 32 ราย และของไทย 19 ราย
งานทั้งหมดนี้เขามีเวลาเพียงแค่ 100 วันเท่านั้น คือ ต้องทำเสร็จก่อนที่สัญญาสัมปทานของกูมาไกกูมิกับการทางพิเศษฯ
จะหมดลง ประสบการณ์ในครั้งนั้นจึงอยู่ในความทรงจำที่อธึกไม่มีวันลืม
ประสบการณ์ในฐานะของนักกฎหมายให้กับสถาบันการเงินและธุรกิจ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ที่เป็นการผสมผสาน
ระหว่างด้านกฎหมายกับเรื่องราวทางธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงการเป็น "นักเจรจาต่อรอง"
ในหลายโครงการ
แต่โครงการที่ถือเป็นจุดเปลี่ยน แปลงชีวิตการทำงานของเขา ก็คือ การเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับกลุ่มซีพี
ซึ่งเริ่มขึ้นมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงที่กลุ่มซีพีได้สัมปทานโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน
3 ล้านเลขหมายมาใหม่ๆ
"พอดีนอนป่วยอยู่กับบ้าน มีคนโทรไปเรียก บอกจะขอหารือด้วย ผมจำได้ ไปที่โรงแรมดุสิตธานี
ไปพบกับประธานธนินท์ ท่านมาพร้อมกับซินแสอีก 3 คน เพราะเพิ่งประมูล 3 ล้านเลขหมายได้มา
ท่านบอกต้องการคนช่วยเรื่องการทำสัญญา ตอนนั้นผมไม่รู้ว่า ซีพีคืออะไร โทรศัพท์จะหาเงินได้ยังไง"
อธึกย้อนอดีต
จากจุดเริ่มในครั้งนั้น ก็ทำให้อธึก เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะตัวแทนทาง กฎหมายโครงการนี้เรื่อยมา
ไม่ว่าจะเป็นถูก รื้อสัมปทานจากโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย เหลือ 2 ล้านเลขหมายเฉพาะในกรุงเทพฯ
รวมทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาใช้ในโครงการ
"มาช่วงหลังๆ ผมใช้เวลาทำงาน 90% หมดไปกับทีเอ ออกจากบ้านก็ต้องมาที่ทีเอก่อนจะไปที่เบเคอร์ฯ
เสียอีก" อธึก บอกถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานมาสังกัดอยู่กับกลุ่มซีพี
โดยเริ่มจากการเป็นหัวหน้านักกฎหมายกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จนกระทั่งมาเป็นรองประธาน
และหัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกฎหมาย
หลังจากย้ายเข้ามาไม่นาน ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และผลจากพิษสงจากค่าเงินบาทลอยตัว
ทำให้ทีเอต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนั้นไปเต็มๆ งานหินของอธึกงานแรก
จึงต้องเริ่มด้วยการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ทั้ง 45 รายทั้งในและต่างประเทศของทีเอ
ด้วยมูลหนี้ทั้งสิ้น 61,790 ล้านบาท
ทีเอต้องใช้เวลา 2 ปีเต็ม ในการเจรจา และผลสำเร็จจากการประนอมหนี้ในครั้งนั้น
ไม่เพียงแต่จะทำให้ทีเอกลับมาตั้งต้นธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดกิจกรรมทางธุรกิจไป
1 ปีเต็ม ยังเท่า กับเป็นการบุกเบิกทางให้กับศุภชัย เจียรวนนท์ ในการก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้กรรมการ
ผู้จัดการใหญ่อย่างสมบูรณ์
ประสบการณ์ของการเป็นที่ปรึกษาในอดีตของอธึกมีส่วนอย่างมากต่อการแก้ปัญหาในครั้งนี้
"ผมทำอยู่กับฝ่ายเจ้าหนี้ มา 20 กว่าปี เป็นทนายให้กับแบงก์มาตลอด ดังนั้นจะเข้าใจความรู้สึกของเจ้าหนี้
ดี หลักเกณฑ์แรกเลยคือ ความจริงใจ ถ้าลูกหนี้วิ่งไปหาเขาตลอดเวลา พร้อมที่จะให้ข้อมูลเขา
เจ้าหนี้ก็สบายใจ เพราะถ้าเขาเชื่อคุณ การเจรจาก็จะราบรื่น" อธึกบอกถึงเบื้องหลัง
นอกเหนือจากการรีบเปิดเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อให้ปัญหาจบโดยเร็ว ยึดหลักความจริงใจ
ไม่ปิดบังข้อมูลให้เจ้าหนี้ตรวจ สอบได้ รายละเอียด หลักการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้
ที่เป็นเรื่องบางอย่าง เช่น การที่ต้องใช้ตัวแทนเจรจากับเจ้าหนี้แทนเจ้าของกิจการ
ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในอดีต
"เป็นหลักการของผม ที่ทำงานมา 20 กว่าปี ผมไม่เคยให้เบอร์ 1 ออกโรงเลย
ดีลนี้ผมก็ไม่ให้ เพราะการเจรจาอะไรก็ตาม หากให้เบอร์ 1 ออกโรง โอกาสพังสูงมาก
เพราะเขาเกิดโมโห แล้วพูดว่าไม่ แล้วต่อไปจะกลับมาโอเค มันไม่มีทาง เขาเสียหน้า
เราจะต้องเก็บเบอร์ 1 เอาไว้ข้างหลัง"
ผลจากการประนอมหนี้ของทีเอ ที่อธึกรับหน้าที่เป็น "นักเจรจา" ในครั้งนั้น
ส่งผลให้หนี้สินของทีเอ ได้ปรับลดลง 6,740 ล้านบาท และเจ้าหนี้ยอมยืดเวลาชำระหนี้
ออกไปอีก 2 ปี ทีเอยังได้เงินเพิ่มทุน 150 ล้านเหรียญ จากเจ้าหนี้ มีหลักประกัน
รายใหญ่สุด คือ Kreditanstalt for Wiedereaufbau หรือ kfw เข้ามาอัดฉีด เพื่อนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ให้กับเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน
และยอมที่จะขายหุ้นคืนในเวลาที่กำหนดไว้ด้วย
ผลงานต่อมาของอธึก คือการเข้า ไปช่วยทีเอ ออเร้นจ์ ในการเจรจาเพื่อกู้เงิน
20,000 กว่าล้านบาท จากสถาบันการเงิน 4 ราย และซัปพลายเออร์ผู้ผลิตอุปกรณ์
2 ราย คือ อัลคาเทล และโมโตโรล่า เพื่อนำมาใช้ในกิจการ
โจทย์ยากของการกู้ยืมในครั้งนั้นอยู่ที่ภาวะตกต่ำของธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลก
แต่โอกาสทางธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ในไทยที่ยังเติบโตไปได้อีกมาก บวกกับความแข็งแกร่งของเครือข่ายของซีพีและประสบการณ์ของออเร้นจ์
ทำให้การกู้เงินไม่เป็นอุปสรรค
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญจึงไปอยู่ที่เวลาที่มีอยู่จำกัด เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในช่วงเริ่มต้นจำนวนมาก
การเจรจาจึง ต้องทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
"ตอนประนอมหนี้ ผมจับพวกแบงก์ ไปขังอยู่ที่เดียวกัน และเจรจาจนเสร็จ พอมากู้เงินให้กับออเร้นจ์
ผมใช้แบบเดียวกัน คือ ให้ธนาคารกับซัปพลายเออร์ไปประชุม ที่เชียงราย" อธึกเล่า
"แต่ตอนแรกไม่เสร็จ เพราะธนาคารไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์ไป เคาะตัวเลขไม่ได้
พอหนสอง ไปที่ภูเก็ต คราวนี้เราเตรียมคอมพิวเตอร์ไปด้วย"
ในที่สุด การเจรจาก็บรรลุผล การเซ็นสัญญาเริ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 4-5
วัน
"เราเอาเงินมาก่อน รายละเอียดมา คุยกันทีหลัง นี่คือ ลักษณะการกู้เงินแบบนี้
เพราะเรามองว่า ธุรกิจนี้จะไปได้อีกมาก" อธึกบอกถึงสาเหตุที่การกู้ยืมเงินเป็นการกู้ระยะสั้นเพียงแค่
2 ปี
งานสำคัญถัดมาก็คือ การแปลงสัญญาสัมปทาน และการมีกฎหมายใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโทร
คมนาคม ในฐานะที่มีสัมปทาน 2 โครงการคือ โทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย และสัมปทานโทรศัพท์มือถือ
"เราเตรียมตัวในเรื่องนี้ 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่บอกว่าจะมีการแปรสัมปทาน และเราก็ได้บทเรียนจากนักข่าวมาเยอะ
ดังนั้นเราจะไม่เปิดข้อมูลทั้งหมด เราจะเปิดแบบเป็นภาค 1 ภาค 2 ภาค 3" อธึกเล่า
ร่างสัญญาโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย เปรียบเป็นไพ่ตายที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองในเบื้องต้น
ที่อธึกเชื่อมั่นว่าจะครอบคลุม "จุดอ่อน" ได้ทั้งหมด เช่น การแปรรูปขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) กำหนด ไว้ว่า หาก ทศท. แปรสภาพเป็นเอกชน สัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับทีเอ
จะต้องโอน ไปที่กระทรวงคมนาคมทันที
"ตอนที่ร่างสัญญา เราก็คาดเดาไว้ว่า ทศท. จะต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
พอดีผมไปคุยกับเพื่อนที่เมืองนอก เขาบอก พวกคุณจะทำโทรศัพท์ได้อย่างไร เพราะเวลานั้นรัฐวิสาหกิจอย่าง
ทศท. กลายเป็นเอกชนไปเกือบหมดแล้ว ผมตกใจ ไปศึกษาดู ก็พบว่าจริง แต่ยังแปรรูปกันไม่
มาก ต่อมาก็มากขึ้น"
นอกจากนี้ ข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ที่ระบุไว้ว่า
หาก ทศท. มีการปรับเปลี่ยนอัตราราคาค่าบริการแข่งขันกับเอกชนไม่ได้ ผลก็คือ
ทศท. จะไม่สามารถใช้อัตราค่าบริการแข่งขันกับเอกชน
"สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเข้าใจธุรกิจ ถ้าเราสามารถให้กฎหมายและธุรกิจไปด้วยกันได้
บางเรื่องเราปล่อยไปได้เลย ไม่ต้องไปเถียงเลย สัญญานั้นมันครอบคลุมจุดอ่อนได้หมดแล้ว"
ผลจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายโทรคมนาคม การเปิดเสรี แปรสัญญาสัมปทาน บทบาทของการเป็นนักกฎหมาย
และนักเจรจาต่อรองของอธึก ก็จะยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับธุรกิจโทรคมนาคม