|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2537
|
|
โครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเชียใช้เงินลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ในการติดตั้งชุมสายและเดินสายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เม็ดเงินนี้กระจายลงไปเป็นทอด ๆ ไปสู่ซัพพลายเออร์ ผู้รับจ้างวางโครงข่ายทั่วกรุงเทพและผู้จัดหาอุปกรณ์มาป้อนให้กับโครงการหลายสิบราย
เทเล-ไดนามิค เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการนี้ เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการทั้งหมด แม้จะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับกิจการเล็ก ๆ ที่มีอายุไม่มากไม่น้อยแค่ 15 ปีเท่านั้น
“ก่อนที่จะมีโครงการ 2 ล้านเลขหมาย เรามียอดขายปีละ 60-70 ล้านบาท พอเกิดโครงการนี้ขึ้นมายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นปีละราว ๆ 210 ล้านบาท” พรรธระพี ชินะโชติ กรรมการผู้จัดการบริษัท เทเล-
ไดนามิคกล่าว
ธุรกิจของเทเล-ไดนามิค คือการขายอุปกรณ์สำหรับการวางสายโทรศัพท์ในส่วนที่เรียกกันว่า OUTSIDE PLANT หรืออุปกรณ์นอกชุมสายทุกชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในการวางสายจากชุมสายย่อยไป ยังบ้านเรือนของผู้ใช้ เช่นหัวต่อ ตู้พักสัญญาณ ราวกันฟ้า ยกเว้นสายเคเบิ้ลอย่างเดียวก่อนหน้านี้ลูกค้าก็คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่พอเกิดโครงการ 2 ล้านเลขหมายขึ้นมา ยอดขายที่เพิ่มขึ้นพรวดเดียวถึงปีละ 150 ล้านบาทเป็นการขายให้กับผู้รับเหมาช่วงการวางโครงข่าย อย่างเช่น ฟูรูกาวา สุมิโรโมและฮิตาชิ เป็นต้น ซึ่งรับงานมาจากบริษัทซีเมนส์อีกต่อหนึ่ง
ซีเมนส์เป็นหนึ่งใน 3 ซัพพลายเออร์หลักของโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายที่รับงานวางโครงข่ายโทรศัพท์ในย่านทิศตะวันออกของกรุงเทพไปจนถึงสมุทรปราการจำนวน 1 ล้านเลขหมายจากเทเลคอมเอเชีย ซัพพลายเออร์อีก 2 รายคือ เอที แอนด์ ทีและเอ็นอีซี
“เราเป็นบริษัทเดียวที่มีอุปกรณ์ตอนนอกที่จำเป็นต้องใช้ครบทุกชนิดกว่า 300 อย่าง” พรรธระพีพูดถึงจุดเด่นของเทเล-ไดนามิคที่เขาบอกว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งในกิจการประเภทเดียวกันที่มีอยู่ 10 กว่ารายในตอนนี้
ธรรมชาติของธุรกิจที่เทเล-ไดนามิคทำอยู่ก็คือ ซื้อมาขายไป เป็นตัวกลางสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ผู้รับเหมาต้องการเป็นกิจการพื้น ๆ ในธุรกิจไฮเทคที่ กำลังขยายตัวอย่างสูงสุด พรรธระพีจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเซ้าท์ โอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานด้านตลาดให้กับสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปของไทยเพรสิเด็นท์ ฟู้ดส์ อยู่พักหนึ่ง แล้วก็ลาออกไปขายเครื่องคิดเลข จนกระทั่งมาถึงบริษัทซัมมิท ซึ่งเป็นผู้ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้กับองค์การโทรศัพท์ ในสมัยที่ทศท.ยังวางสายโทรศัพท์เอง
ที่ซัมมิทนี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาในวงการหลังจากที่รู้จัก คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ ทศท. ในระดับหนึ่ง ด้วยความที่ต้องติดต่อขายอุปกรณ์ 3 ปีต่อมา ในปี 2521 พรรธระพีก็ตั้งบริษัท เทเล-ไดนามิคของตัวเองขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 3 แสนบาท จากวันนั้นถึงวันนี้ เทเล-ไดนามิคยึดมั่นในแนวทางของการเป็นสื่อกลางแห่งโลกการสื่อสารในฐานะผู้จัดหาฮาร์ดแวร์ให้กับการวางสายโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และแม้ว่าอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมจะเจิดจรัสแค่ไหนก็ตาม พรรธระพียืนยันว่า จะไม่ขยายธุรกิจให้ใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าเราจะใหญ่กว่านี้ ก็ต้องเจอกับคู่แข่งระดับ อินเตอร์แน่ จึงตัดสินใจอยู่แค่นี้”
แต่ใช่ว่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ เขาเลือกเอาวิธีขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่น ๆ เป็นการขยายฐานธุรกิจ การตั้งบริษัทแบงคอก เอ็กซ์ฮิบิชั่น เซอร์วิสเซส หรือบีอีเอส ( BESBANGKOK EXHIBITION SERVICES ) ขึ้นมาเมื่อปี 2532
จากบทบาทผู้จัดหาฮาร์ดแวร์ ในโลกการสื่อสารผ่านสายโทรศัพท์มาสู่ตัวกลางในวิถีการสื่อสารโดยตรงแบบตัวต่อตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น บีอีเอสคือบริษัทจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ซื้อมาพบกับผู้ขาย ซึ่งจัดอยู่ในชั้นแนวหน้าเช่นเดียวกับรีด เทรดเด้กซ์ เท็มส์และเซ็มส์ โดยมีหุ้นส่วนสำคัญคือ กลุ่มมอนต์โกเมอรี่แห่งอังกฤษ ซึ่งมีเครือข่ายการตลาดของธุรกิจจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าทั่วโลก ร่วมถือหุ้นอยู่ 49%
จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าของพรรธระพีเกิดจากการชักชวนของเพื่อนชาวสิงคโปร์ที่ทำกิจการด้านนี้อยู่แล้ว และเสนอให้เขาดึงเอางานแสดงทางด้านการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ ของผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเคยจัดที่สิงคโปร์ แต่มีผู้ร่วมงานน้อยลงทุกปี มาจัดที่เมืองไทยแทนเพราะเห็นว่ามีธุรกิจการแปรรูปอาหารอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมากเขาจึงตั้งบีอีเอสขึ้นมา และประสบความสำเร็จกับงานนี้จนขยายไปรับงานแสดงสินค้าด้านอื่น ๆ หลายงานเช่น นิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการโรงแรม นิทรรศการและการประชุมเรื่องน้ำมันและแก๊สและ ELENEX THAILAND 94 ซึ่งเป็นนิทรรศการนานาชาติเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยมีหน่วยงานด้านไฟฟ้าจากประเทศกลุ่มอินโดจีนเข้าร่วมด้วย
รายได้จากการขายพื้นที่จัดนิทรรศการของบีอีเอสอยู่ในระดับปีละ 70-80 ล้านบาทโดยประมาณ
เครือข่ายอาณาจักรธุรกิจของพรรธระพีภายใต้ชื่อ “เทเลไดนามิค โฮลดิ้ง” ไม่ได้มีเพียงเทเลไดนามิคและบีอีเอส เท่านั้นยังมีกิจการผลิตสวิทช์สร้างพลังงานให้กับอุปกรณ์สื่อสารส่งออกไปขายในสหรัฐ ฯ และยุโรปในชื่อบริษัท โกแฮม ซึ่งเขาถือหุ้นอยู่ทั้งหมด บริษัทสปอร์ต สปอต เป็นตัวแทนจำหน่ายรองเท้ากีฬา “นิวบาล้านซ์” นอกจากนี้ยังมีกิจการร่วมทุนในสิงคโปร์คือ เทเล-ไดนามิค (สิงคโปร์) ที่เขาถือหุ้นอยู่ 70% เป็นผู้ติดตั้งตู้โทรศัพท์ทั้งหมดในสถานีรถไฟใต้ดินสิงคโปร์และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินชางกี รวมทั้งการทำธุรกิจโทรคมนาคมในบรูไน อินโดนีเซียด้วย
กิจการร่วมทุนอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยคือ อัลคาเทล เคเบิล ไทยแลนด์ที่ถือหุ้นอยู่ 13% โดยมีบริษัทอัลคาเทล อิตัลไทยและสินเอเชียร่วมถือหุ้นใหญ่ เป็นกิจการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการโทรคมนาคมในแถบอาเซี่ยน
ทั้งหมดนี้ พรรธระพีใช้เวลา 15 ปีในการสร้างขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากกิจการขายฮาร์ดแวร์การ วางเครือข่ายโทรศัพท์เป็นฐานในการสะสมทุนและสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ
|
|
|
|
|