|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2537
|
|
ณรงค์ชัย อัครเศรณีเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักคิด นักพูดและนักบริหารในระดับดีตั้งแต่ยังอยู่ธรรมศาสตร์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ(มหาชน)ในวันนี้
ความเห็นของดร.ด้านเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ บ่อยครั้งที่ได้รับการยอมรับว่าน่าสนใจ
ล่าสุด ณรงค์ชัยเสนอแนวคิดเรื่อง “คลื่นเศรษฐกิจ” ขึ้นมา โดยเขาอธิบายว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของต่างประเทศที่ส่งผลกระทบในรูปแบบของ “คลื่นเศรษฐกิจ” 2 ลูก
ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกลุ่มจีเอฟ อธิบายถึงคลื่นลูกแรกว่า เป็นผลจาก “สงครามเวียดนาม” และอิทธิพลที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอินโดจีนในช่วงปี 2505-2518
“ผลจากคลื่นนี้ก็คือสหรัฐอเมริกาทุ่มเททรัพย์สินเงินทอง ผู้คน อาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในการทำสงครามครั้งนี้ ในช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวปีละเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ภาคที่มีผลกระทบมากที่สุดคือภาคอีสานและภาคตะวันออก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่นท่าเรือและสนามบินบางแห่งยังใช้ได้ถึงปัจจุบัน” ณรงค์ชัยอธิบาย
แน่นอน รูปธรรมที่ยังเหลือจากผลการพัฒนาในคลื่นที่หนึ่งก็คือ สนามบินทหารที่อู่ตะเภา สนามบินที่อุดรธานีและถนนสายมิตรภาพที่เริ่มจากกรุงเทพไปยังภาคอีสานยังไม่นับถึงสถานบันเทิงบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่อีกจำนวนมากที่ยังหลงเหลืออยู่
คลื่นทางเศรษฐกิจลูกที่สองที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในความเห็นของณรงค์ชัย ก็คือ การไหลทะลักเข้ามาของทุนต่างชาติ ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2530-2534 ที่ดูเหมือนว่า ผลกระทบของการเกิดขึ้นเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวยังมีผลต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
ประธานกลุ่มจีเอฟกล่าวถึงคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สองว่ามีแบ่งชัดเป็น 2 รูปแบบคือการลงทุนโดยตรงและการลงทุนทางอ้อมผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การไหลทะลักเข้ามาของทุนจากต่างประเทศในระหว่างปี 2530-2534 ที่ลงทุนโดยตรงคือจากญี่ปุ่นและไต้หวัน และที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาจากอังกฤษและยุโรป ช่วงเวลานี้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.7%” ดร.ณรงค์ชัยกล่าวถึงผลที่เกิดจากคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สองในไทย ที่ส่งผลโดยตรงในทางบวกกับคนที่เป็นเจ้าของที่ดินในกทม.และในปริมณฑล รวมทั้งกับคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
รูปธรรมในช่วงดังกล่าวก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มจาก 207.2 จุดในตอนเริ่มช่วยคลื่นเป็น 711.36 เมื่อคลื่นพัดผ่าน พร้อมทั้งเงินเดือนระดับจัดการและระดับบริหารเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 เท่า แต่ส่งผลเสียที่เห็นชัดก็คือ การกระจายรายได้เลวลง ผลดีตกกับคนไม่กี่กลุ่ม
และปี 2537 นี้ ณรงค์ชัยให้ความเห็นว่า คลื่นเศรษฐกิจลูกที่สามมาถึงแล้ว!!
“ความเห็นของผมคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สามที่มากระทบไทย จะเกิดขึ้นจากบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง คือจากประเทศเวียดนาม ลาว เขมร พม่าและมณฑลยูนนาน” เขากล่าวถึงคลื่นที่กำลังมา ที่มีการมองเห็นแล้วว่า 4 ประเทศทางเหนือของไทย มีการรวมตัวรับด้วยการเกิด “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ”
ในสายตาของเขา เขมรและเวียดนาม คือพื้นที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง !!!
ที่มาของคลื่นดังกล่าวนั้นณรงค์ชัยอธิบายว่า มาจากการที่ประเทศเหล่านี้เริ่มปลอดจากสงคราม จึงเริ่มหันมาสร้างบ้านสร้างเมือง และส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมีเงินจากต่างประเทศไหลมาบูรณะถนน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม
ตัวอย่างของการพัฒนาจากนานาชาติ อย่างเช่นลาวได้รับเงินช่วยเหลือจากออสเตรเลียสร้างสะพานแม่น้ำโขงมูลค่า 500 ล้านบาท (ซึ่งจะเปิดเป็นทางการวันที่ 8 เมษายนนี้) เวียดนามได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติมาพัฒนาประเทศหนึ่งหมื่นล้านบาท เขมรก็ได้รับการช่วยเหลือจากสหประชาชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดูจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง
ปัญหาที่น่าสนใจก็คือประเทศไทย ซึ่งควรจะได้รับประโยชน์จากการบูรณะและฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าว โดยเฉพาะในเขมรและเวียดนามมากที่สุด สามารถที่จะทำได้หรือไม่?
ดูจะเป็นเรื่องท้าทายภาครัฐมาก เพราะขนาดประเทศอยู่ไกลอย่างสหรัฐอเมริกา ยังสนใจถึงขั้นยกเลิกเอ็มบาโก้เพื่อให้กลุ่มทุนสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามได้
ในฐานะนักธุรกิจเอกชนวันนี้ณรงค์ชัย จึงเริ่มมองเห็นศักยภาพรองรับ “คลื่นที่สาม” ดังกล่าวแล้ว โดยการลงทุนของบงล. จีเอฟ
กล่าวคือโครงการลงทุนของบริษัท ทุ่งสงครามอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) ซึ่งจีเอฟถือหุ้นอยู่ 10% แต่ได้รับการยินยอมให้เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารได้เริ่มลงทุน ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดหนองคายและสกลนคร พัฒนาโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัส ไผ่ตง ในพื้นที่เสื่อมโทรม โดยส่งเสริมเกษตรกร 70,000 ครอบครัว ปลูกพืชทั้งสองชนิดปีละ 500,000 ตัน เพื่อป้อนโรงงานเยื่อและกระดาษ ซึ่งบริษัท H.A.SIMONS จากแคนาดากำลังศึกษาอยู่ โดยจะเริ่มโครงการในปีหน้า
ยังไม่รวมถึงโครงการที่บริษัท ได้ติดต่อเช่าที่ดินในประเทศลาวประมาณ 200,000 ไร่เพื่อปลูก ยูคาลิปตัสป้อนโรงงานในอนาคต ซึ่งมีการติดต่อทางการแขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ตรงข้ามจังหวัดหนองคายแล้ว
แผนต่าง ๆ นี้ ณรงค์ชัย ยอมรับว่า เป็นเสมือน “ความฝัน” ในการพัฒนาที่ตั้ง ในทำเลเดียวกันกับโครงการของบริษัท เกษตรอุตสาหกรรมอีสาน(มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นและโรงงานผลิตโคนมของบริษัทชัยเดรี่ ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตน้ำนมดิบป้อนโรงงานต่าง ๆ หลายแห่ง
และเป็นความฝันที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ ในเครือจีเอฟ ตรงนั้นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ในประเทศที่มีผลจากการพัฒนาข้างต้น
แผนต่าง ๆ เหล่านี้แหละที่จะพิสูจน์ว่า “คลื่นเศรษฐกิจลูกที่สาม” ของเขาถูกหรือผิด !!!
|
|
|
|
|