|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2537
|
 |
“ที่นี่เป็นเหมือนเครื่องมือป้องกันไม่ให้นักเต้นบนเวทีหุ้นต้องบอบช้ำจากการเพลิดเพลินไปตามจังหวะกระทิงหรือเชื่องตามจังหวะหมี” แหล่งข่าวในบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งเปรียบถึงสถานะของ “เอสเอเอ”
“เอสเอเอ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาไทยว่า สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (สมาคม ฯ) นั้น ได้กลายเป็นโรงเรียนสอนให้คนรู้จักเล่นหุ้นอย่างมีหลักวิชามากขึ้นดังที่บุรินทร์ กันตะบุตร กรรมการ ผู้อำนวยการให้ภาพกว้างว่า “เราเป็นโรงเรียนผลิตคนป้อนตลาดทุน” ทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ โบรกเกอร์ หรือแม้แต่นักลงทุนส่วนบุคคล
เริ่มตั้งแต่หลักสูตร CFA ( CHARTERED FINANCIAL ANALYST) ของสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็น หลักสูตรที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานสูงสุดแห่งวิชาชีพและจรรยาบรรณในธุรกิจการเงินและการลงทุน ช่วย ทำให้คนเรียนพัฒนาเทคนิคและทวีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การเงินได้อย่างทรงประสิทธิภาพ
“ถ้าดูทั่วโลก ซีเอฟเอ ถือว่าดีที่สุดในโลก เหมือนปริญญาโทหรือเทียบเท่าเอ็มบีเอ สาขาวิเคราะห์การเงิน จะแยกออกเป็น 7 แขนง เช่น บัญชีก็เรียนเพื่อมาวิเคราะห์ดูว่าผลตอบแทน แนวโน้มบริษัทนี้เป็นอย่างไร ถือเป็นแนววิเคราะห์ที่ลงลึกเฉพาะเรื่อง โดยมีวิทยากรซีเอฟเอจากต่างประเทศมาเป็นคนอบรม” บุรินทร์กล่าวถึงหลักสูตรสากลที่ใช้ภาษาอังกฤษและใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี ถ้าไม่ผ่านก็ต้องสอบใหม่จนกว่า
จะผ่าน ซึ่งน่าจะมีที่จบได้เป็นรุ่นแรกในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตร CISA (CHARTERERD INVESTMENT AND SECURITIES ANALYST) เป็นหลักสูตรเดียวและใช้ตำราเดียวกับซีเอฟเอ แต่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องและเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทยโดยเฉพาะด้วยการใช้หลักสูตรภาษาไทย เพื่อให้คนที่ขาดความชำนาญภาษาอังกฤษได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ เพิ่มพูนความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น
“ซีซ่าจึงเป็นหลักสูตรที่เข้ากับตลาดทุนไทยได้ดีกว่า เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่นหรืออีกหลายประเทศจะเปลี่ยนมาใช้ซีซ่ากันมาก เพราะซีซ่าคือหลักสูตรซีเอฟเอ เหมือนกันถึง 85 % เพียงแต่ตัดส่วนที่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้นทิ้งไปประมาณ 15%” บุรินทร์เปรียบเทียบหลักสูตรทั้งสอง และส่วนใหญ่ทางองค์กรจะเป็นคนส่งเข้าคอร์ส
แต่ที่เป็นหลักสูตรยอดฮิตสำหรับตลาดทุนไทยขณะนี้คือ มินิซีซ่า เพราะสั้น เร็ว ถูกกว่าหลักสูตร ทั้งสอง ทำให้สนองตอบความต้องการของตลาดทุนที่โตวันโตคืนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้
ต่างกับซีเอฟเอที่ต้องเสียค่าอบรมถึงคอร์สละ 144,350 บาท ขณะที่ซีซ่าตกคอร์สละ 75,600 บาท และใช้เวลานาน
แต่มินิซีซ่า เรียกว่ารวดเร็วทันใจใช้การได้ทันที สอดคล้องกับยุคไฮเทคของสังคมคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง..!
“อาจารย์มารวย (ผดุงสิทธิ์) เป็นคนริเริ่มหลักสูตรนี้ในปี 2535 ถือเป็นหลักสูตรที่คนนิยมมากที่สุด” บุรินทร์เล่าถึงที่มาของหลักสูตรที่แพร่หลายทั่วไปในวงการตลาดทุน ซึ่งเปิดรับสมัครไปแล้ว 10 รุ่น จำนวนร่วม 800 คน และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 11
มินิซีซ่า ใช้เวลาเรียนน้อยมาก คือ ทุกวันเสาร์จำนวน 10 วัน “แต่ได้มาตรฐานและถือว่าถ้าเพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ลงทุนอย่างน้อย 10% ก็คุ้มแล้ว เพราะจะเป็นความรู้ติดตัวที่ไม่มีวันสิ้นสุด” บุรินทร์ชี้ถึงสาเหตุที่ผู้คนยอมลงทุนเงิน 19,099.50 บาทกับวิชาที่คิดว่าตัวเองจะได้ไป ขนาดที่นักเล่นหุ้น บางคนอุตส่าห์บินจากเชียงใหม่ทุกเสาร์เพื่อมาเรียนคอร์สนี้โดยเฉพาะ
เพราะมินิซีซ่าเป็นหลักสูตรพื้นฐานการวิเคราะห์ การเงิน หลักทรัพย์โดยจะเริ่มฉายภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจไทย โครงสร้างตลาดทุนไทยการดูงบดุล ตลอดไปถึงการวิเคราะห์หุ้นทั้งในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค ซึ่งจะต้องดูประกอบกัน และถือว่าเป็นการอบรมที่เน้นพื้นฐานการปฎิบัติเป็นหลัก
“เหมือนกับการปฐมนิเทศน์ทุกพื้นที่ของการวิเคราะห์หุ้นแต่ไม่ลึก จุดประสงค์ คือให้เขามีความรู้ มีแนวคิด พออ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้เรื่อง เช่นที่บอกว่าจีดีพีดีมาก มีทั้งที่พูดถึง 7.7% หรือ 8.2% นั้นมีความสำคัญยังไงต่อหุ้น หรือการที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น 3 บาท 5 บาทมีความหมายและมีผลยังไงต่อคอร์สของแต่ละ อุตสาหกรรม” บุรินทร์ยกตัวอย่างถึงหลักสูตร
โดยเฉพาะ ตั้งแต่รุ่นที่ 8 ซึ่งเริ่มเปิดสอนในเดือนมกราคม ที่ผ่านมานี้ ได้จัดให้เล่นเกมส์เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้นจริงโดยจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 4 คน สมมุติให้แต่ละกลุ่มมีเงินทุนกลุ่มละ 10 ล้านบาท มีกติกาให้กระจายไปลงทุนในแต่ละธุรกิจในลักษณะคล้ายกับทำตัวเหมือนกองทุน ซึ่งต้องมีกลุ่มลงทุนมากหน่อย ไม่ใช่เล่นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อจบหลักสูตรใครที่ทำกำไรได้สูงก็จะได้คะแนนมากที่สุด
นอกเหนือจากเดิมที่กำหนดหลักสูตรแค่ 2 แบบ คือแบบแรก ใครที่เข้าเรียนครบ 80% ของชั่วโมง ก็ถือว่าจบ อีกแบบหนึ่งคือ ให้ยกตัวอย่างหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นกรณีศึกษารายงานวิเคราะห์ในตอนท้ายหลัก-สูตรว่ามีเหตุผลอย่างไรในการเลือกซื้อหุ้นตัวนั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะสมัครใจเลือกแบบไหน โดยจะมีประกาศนียบัตรรับรองที่ต่างกัน
ตอนนี้ เรียกว่า มินิซีซ่าเป็นที่นิยมเกินกว่าที่บุรินทร์คาดไว้..!
จากปี 2536 ที่จัดไป 5 รุ่น ๆ ละประมาณ 80 คน จบไป 396 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2535 ถึง 77% ที่มีเพียง 224 คน
โดยสัดส่วนคนที่เรียนจะมาจากกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สูงถึงประมาณ 68% รองลงมาเป็น นักลงทุนส่วนตัวกว่า 13% ตามด้วยพนักงานแบงก์ในระดับ 6% เศษ เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์และผู้สื่อข่าวอยู่ที่ 4% กว่าและ 3% กว่าตามลำดับ
“การที่โบรกเกอร์ส่งคนเข้าไปเรียนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่าหนึ่งปีเพื่อเสริมความรู้ให้แน่นหนาและแนะนำลูกค้าได้มากขึ้น” แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าว “อย่างตะวันออกฟายแน้นซ์บางครั้งส่งเข้าเรียนถึงคอร์สละเป็น 10 คนขึ้นไป”
ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในวงการหลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า “ปกติของเราจะมีอบรมความรู้พื้นฐานเหล่านี้แก่พนักงานใหม่อยู่แล้ว แต่การที่เราส่งเข้าเรียน ทำให้เราได้คอนเนกชั่นและสังคมที่กว้างขึ้น”
ส่งผลให้สมาคม ฯไม่เป็นแต่เพียงโรงเรียนสอนคนเล่นหุ้นให้เป็นเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมใหม่ของเหล่าโบรกเกอร์ไปด้วย..!
|
|
 |
|
|