|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2537
|
|
หนึ่งปีที่ผ่านมาของธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยภายหลังการเริ่ม เปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า ดูเหมือนว่า จะยังมองไม่เห็นผลกระทบมากนัก ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เชื่อกันมาตั้งแต่ตอนแรก ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเกิดอาฟต้ามากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียแล้ว ไทยเสียเปรียบในการผลิตแทบจะ ทุก ๆ ด้าน
เชื่อกันว่าการที่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับปาล์มของไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบก็เนื่องจากกลุ่มทุนในธุรกิจนี้สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน
“ตอนแรกนี้เมื่อเทียบเรากับมาเลเซีย ดูเหมือนจะไม่ต่างกันมากนัก” สุภิสิทธิ์ ช่อเรืองศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) บอกกับ “ผู้จัดการ” ถึงธุรกิจปาล์มของไทยในวันนี้ ก่อนที่จะเสริมรายละเอียดต่อ
รายละเอียดที่เห็นชัดในธุรกิจปาล์มระหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องปาล์มที่ใกล้เคียงกันในวันนี้ก็คือ ผลผลิตน้ำมันจากปาล์ม ซึ่งหลาย ๆ โรงงานของไทย โดยนับเฉพาะ โรงงานที่ได้มาตรฐาน สามารถที่จะผลิตน้ำมันได้ในสัดส่วนประมาณ 20-21% ของน้ำหนักปาล์มขณะที่มาเลเซีย อยู่ในระดับประมาณ 19-22%
นี่คือความสำเร็จของอุตสาหกรรมปาล์มของไทย ที่สามารถ “สร้าง” สายพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตดีขึ้นมาเองได้ หลังจากมีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศมาทดดลองหลาย ๆ พันธุ์จากหลาย ๆ ประเทศ
แต่ธุรกิจปาล์มของไทยยังด้อยกว่ามาเลเซียในเรื่องของทุน ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีบริษัทที่ทำธุรกิจปาล์ม 2 บริษัท กระจายหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนจากประชาชนเข้าเสริมเงินทุนจากเจ้าของเดิม คือสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและเอบิโก้
“อุตสาหกรรมปาล์มของมาเลเซีย เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ระดับชาติเช่นเดียวกับยางพาราพวกนี้ มีเงินลงทุนมาก มีการดำเนินธุรกิจแบบอินเตอร์ หากทุนไทยไม่หนาพอก็ยากที่จะต่อสู้ในตลาดโลกได้” คนรู้เรื่องปาล์มคนหนึ่งอธิบายให้ฟัง
ดังนั้น เมื่อคิดที่จะใหญ่ก็ต้องเตรียมระดมทุนเข้าสู้
ล่าสุด ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ก็เลยตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินทุนมาขยายงานในยุคที่อุตสาหกรรมปาล์ม เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกฎหมายอาฟต้า และโลกที่กำลังไร้พรมแดน
เมื่อโลกไร้พรมแดนในยุคการค้าเสรี ผู้ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด !!!
นั่นคือเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น
ถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการรองผู้จัดการ กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า การระดมทุนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์ม จากปีละ 30 ตันผลปาล์มสดต่อชั่วโมง เป็นปีละ 45 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ จะเริ่มได้ในประมาณกลางปี หลังจากที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว
“การลงทุนครั้งนี้จะใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่น เยอรมนีหรือออสเตรเลีย” ถกลกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ถึงเงินลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป ที่ขายในราคาหุ้นละ 55 บาทจากราคาพาร์ 10 บาทจำนวน 4.5 ล้านหุ้น จากการเพิ่มทุนของบริษัทจาก 165 ล้านบาทเป็น 210 ล้านบาท
ว่าไปแล้ว กลุ่มทุนที่ดำเนินการในชุมพรอุตสาหกรรมปาล์ม(มหาชน) ไม่ได้เป็นนักธุรกิจใหม่ แต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขาเพิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมปาล์ม หลังจากที่เดิมและในวันนี้ พวกเขาอยู่ในธุรกิจ น้ำตาลมาโดยตลอด
โดยบริษัทในเครือของกลุ่มนี้ก็คือ รุ่งเรืองปาล์มออยล์ปะทิวการเพาะปลูกและพรีซิสชั่นแมคแค-นิคอล ซึ่งเป็นบริษัทที่ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์ม (มหาชน) ถือหุ้น ขณะที่ตระกูลผู้ก่อตั้ง คือตระกูล “ถวิลเติมทรัพย์” ยังคงทำธุรกิจน้ำตาลอยู่คือ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลหนองใหญ่ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช หรือเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาที่ดินด้วยการจับมือกับชาญ โสภณพนิช ตั้งบริษัท บำรุงราษฎร์เอ็ม.ซี. เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมที่ซอยนานา และยังมีโครงการอีกแห่งที่ซอยประสานมิตร
ที่สำคัญที่พวกเขาเชื่อในเรื่องการขยายการลงทุนก็คือพวกเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ
ทั้งนี้เพราะ ในเครือข่ายของพวกเขา คือปะทิวการเพาะปลูก และรุ่งเรืองปาล์มออยล์ เป็นบริษัท ผู้ผลิตปาล์มที่มีที่ดินเป็นของตนเอง กล่าวคือ ปะทิวการเพาะปลูก มีที่ดินถือครองที่เป็นสวนปาล์มอยู่ประมาณ 10,000 ไร่ ขณะที่รุ่งเรืองปาล์มออยล์ มีที่ดินเป็นสวนปาล์มของตนเองอีกประมาณ 12,000 ไร่ อันเป็นเครื่องค้ำประกันอย่างดีว่าพวกเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องผลปาล์มดิบที่เป็นวัตถุดิบเข้าโรงงาน
อีกประการก็คือ พวกเขาสามารถที่จะพัฒนาพันธุ์ที่จะให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มได้ด้วย
การที่ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (มหาชน) ขยายการลงทุนถึง 50% นั้น ถกลให้การอธิบายว่า เนื่องจากในปัจจุบันการบริโภคน้ำมันพืชของไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ กล่าวคือยังอยู่ในระดับ 7-8 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ระดับ 30 กิโลกรัมเท่ากับญี่ปุ่น “หรือแม้แต่มาเลเซียก็ยังมีอัตราการบริโภคอยู่ในระดับคนละ 20 กิโลกรัมต่อปี”
เป็นตัวเลขที่ทำให้กลุ่มทุนนี้ตัดสินใจยอมแปรสภาพเป็นมหาชน
และนี่คือทางออกที่ดีทางหนึ่งของธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มของไทยในยุคอาฟต้าเริ่มมีผลบังคับ
|
|
|
|
|