|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2537
|
|
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับการล้มเหลวของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา บิล คลินตันและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โมริฮิโร โฮโซกาวา ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการค้าทวิภาคี อันเป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกามีการขาดดุลกับญี่ปุ่นถึงกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐและเป็นการขาดดุลติดต่อกันนับเป็นทศวรรษแล้ว
ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดสองชาตินี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตรรกทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็หลีกเลี่ยงได้ยาก
ในส่วนของประธานาธิบดีคลินตันนั้น การเรียกร้องที่จะให้ประเทศญี่ปุ่นเปิดประตูการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถขยายธุรกิจที่ได้เปรียบในเชิงการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันภัย ธุรกิจโทรคมนาคม เครื่องมือการแพทย์ และอื่น ๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมที่คลินตันได้ทำไว้ตอนหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีการดำเนินนโยบาย ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น การประนีประนอมหรือการอ่อนข้อต่อญี่ปุ่น ก็ย่อมหมายถึงการเสียคะแนน และความนิยมตลอดจนคำมั่นที่มีต่อประชาชน
ในส่วนของผู้นำญี่ปุ่นนั้น อาจกล่าวได้ว่าการเป็นรัฐบาลผสมถึง 7 พรรคนั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของรัฐบาล ตลอดจนความเปราะบางของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโฮโซกาวา
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นี้ได้ฟันฝ่าอุปสรรคสำคัญ ๆ 2 ประการมาได้อย่างหวุดหวิด กล่าวคือ การยินยอมที่จะเปิดประตูการค้าพืชผลเกษตรเพื่อเปิดทางให้การเจรจาแกตต์รอบอุรุกวัยประสบความสำเร็จ ถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมสำคัญสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเสี่ยงต่อความอยู่รอดไม่น้อย ดังในกรณีของรัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งถึงกับต้องลาออก
นอกจากนั้นความสำเร็จในการดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมือง ภายหลังจากการเจรจากับ ฝ่ายค้านในนาทีสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของโฮโซกาวานั้น ถือเป็นการฟันฝ่าอุปสรรคที่สำคัญ
ความสำเร็จทั้งในเรื่องการประนีประนอมในกรอบของแกตต์ก็ดี หรือในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองก็ดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนและคะแนนนิยมส่วนตัวที่ประชาชนญี่ปุ่นมีต่อโฮโซกาวา อาจกล่าวได้ในอีกนัยหนึ่งก็คือ เสถียรภาพของรัฐบาลโฮโซกาวาเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัว ของคะแนนนิยมที่ประชาชนญี่ปุ่นมีต่อตัวผู้นำรัฐบาล และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประนีประนอมทั้งสองประการสำเร็จและสามารถรักษาความต่อเนื่องของรัฐบาล แม้จะมีความเปราะบางจากจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลสูงถึง 7 พรรคก็ตาม
เงื่อนไขดังกล่าวย่อมหมายความว่า การรักษาคะแนนนิยมส่วนตัวของโฮโซกาวาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง สำหรับการรักษาความอยู่รอดของรัฐบาลการยินยอมต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในการเปิดประตูการค้าเพิ่มเติมจากที่เคยประนีประนอมในกรอบของแกตต์ ย่อมหมายถึงผลกกระทบต่อความนิยมของประชาชนที่มีต่อผู้นำญี่ปุ่น และส่งผลในรูปของบูมเมอแรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้ว
สหภาพการณ์หรือตรรกทางการเมืองดังกล่าวจึงนำไปสู่การไม่อาจหาข้อยุติหรือการประนีประนอมระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น และนำไปสู่ความล้มเหลวในการประชุมสุดยอดที่ผ่านมาเพื่อหาทาง คลี่คลายปัญหาการค้า อันเกิดจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบจากความล้มเหลวดังกล่าวนั้นในประการแรกก็คือ เป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็น
ในอดีตอาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นมักจะต้องยินยอมประนีประนอมให้แก่สหรัฐอเมริกา ผิดกับสหภาพยุโรปที่เริ่มแสดงแนวโน้มในการที่จะแสดงกำลังภายในในการต่อรองต่าง ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 การปฏิเสธของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้อาจถือเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ อันเป็นสัญลักษณ์ของความปีกกล้าขาแข็งของญี่ปุ่นและเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่านับวันผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นนั้นจะแตกต่างกับสหรัฐอเมริกา
ในอดีตผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น มักจะถูกบดบังด้วยผลประโยชน์แห่งชาติในด้านความมั่นคง ในกรอบของโลกยุคสงครามเย็น น้ำหนักของความมั่นคงย่อมอยู่เหนือเศรษฐกิจและ ในกรอบดังกล่าวนี้เอง การประนีประนอมของญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับความมั่นคงภายใต้การปกป้องของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
อย่างไรก็ตามในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงภายหลังสงครามเย็น ภยันตรายในด้านภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงโดดเด่นขึ้นมาและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งสอง
มีการประเมินกันว่าความล้มเหลวดังกล่าวจะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ภายหลังการล้มเหลวของการเจรจาดังกล่าว ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาได้มีท่าทีที่จะใช้แรงบีบคั้นต่อญี่ปุ่น ความจริงสหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินการได้หลายทาง ประการแรก อาจใช้กลยุทธ์บีบค่าเงินเยนให้แข็งตัวเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในด้านการส่งออก อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวมีอันทรุดลงไปอีก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกด้วย ทั้งยังอาจนำไปสู่การพังทลายของรัฐบาลโฮโซกาวา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้นำสหรัฐ ฯ คงไม่ประสงค์ที่จะเห็น
หนทางอื่น ๆ ที่ผู้นำสหรัฐ ฯ อาจใช้ได้นั้นประกอบด้วยการดำเนินตามมาตรา 301 ตลอดจนการขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (ANTI-DUMPING) หรืองัดเอากฎหมายต่อต้านการผูกขาด (ANTI-TRYST) มาเล่นงานธุรกิจญี่ปุ่นได้
อย่างไรก็ตาม อาจจะคาดเดาไว้ว่าผู้นำสหรัฐอเมริกา คงจะใช้มาตรการบีบคั้นที่คำนึงถึงเป้าหมายสองประการ กล่าวคือในทางหนึ่งจำต้องแสดงถึงท่าทีเอาจริงเพื่อรักษาหน้าและการรักษาคำพูด ของประธานาธิบดีคลินตัน แต่ในอีกทางหนึ่งก็คือพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการรุนแรงจนส่งผลกระทบ ต่อเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้โฮโซกาวา ผู้นำของญี่ปุ่นเองนั้นเมื่อได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อรักษาคะแนนนิยมในทางสาธารณะจากการประชุมสุดยอดแล้ว แรงบีบคั้นและผลกระทบทางธุรกิจต่อการดำเนินมาตรการของสหรัฐอเมริกา คงจะเป็นข้ออ้างเพื่อการประนีประนอมในภายหลังได้
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นคงไม่เกิด เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นการทวนกระแสเจตนารมณ์ของแกตต์รอบอุรุกวัยที่เพิ่งตกลงลุล่วงไปได้ไม่นาน ในทางตรงข้ามระยะที่เรียกว่า “COOLING- OFF PERIOD” ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายครุ่นคิดเพื่อนำไปสู่การหาทางคลี่คลาย และลดการเผชิญหน้า อันอาจจะนำไปสู่การประนีประนอมในที่สุด
อาจกล่าวได้ว่าการล้มเหลว ในการประชุมสุดยอดของผู้นำสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่นที่ผ่านมานี้คือจุดเริ่มต้นของการแสดงออกของโลกยุคหลายขั้วอำนาจ และเป็นการปิดม่านของโลกภายใต้การครอบงำของขั้วใดขั้วหนึ่งโดยเฉพาะ ?
|
|
|
|
|