Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
เปิดแดนสนธยาสนง.ทรัพย์สินฯ             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

   
related stories

เปิดขุมทรัพย์ที่ดินสนง.ทรัพย์สินฯ

   
search resources

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
Political and Government




นโยบายการลงทุนใหม่ ๆ และการปรับโครงสร้างการบริหารเริ่มเกิดขึ้นในสำนักงานทรัพย์สินฯ หลังจากจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่จิรายุบริหารรายได้มหาศาลของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพิ่มพูนถึง 5 เท่าตัว เบื้องหลังการเติบโตนี้ มาจากการปรับปรุงระบบการบริหารสินทรัพย์ใหม่หมด พร้อม ๆ กับสร้างความสมดุลทางด้านรายได้

หลังจากพ้นพงหนามทางการเมืองครั้งสุดท้ายสมัยเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรม จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2530

ตลอดระยะเวลา 5 ปีเต็ม จิรายุได้พยายามปัดกวาดองค์กรที่สั่งสมวัฒนธรรมเก่าแก่อายุ 54 ปีนี้ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารองค์กรและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น

ล่าสุดในกลางปีนี้ จิรายุได้เปิดแถลงข่าวถึงการปรับโครงสร้างการบริหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขององค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยา !

แต่จุดเริ่มต้นนี้มีความหมายมาก ทั้งนี้เพราะเป็นความเคลื่อนไหวของสถาบันการลงทุนที่ทรงอิทธิพลและเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงเวลา 5 ปี ภารกิจที่สำคัญที่สุดของจิรายุก็คือการพัฒนาระบบบริหารอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องถือว่าสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีระบบบริหารที่ล้าหลังมาก ๆ มีการกระจายงานมากเกินไปหลายกองหลายแผนกทำให้เรื่องค้างปีไม่มีระบบข้อมูล ที่ดีในการตรวจสอบ

“ผมอยู่สำนักงานทรัพย์สิน ฯ มาสองปีผมยังไม่ทราบว่าตอนนี้ที่ดินและอาคารของเรามีอยู่เท่าไร?” จิรายุเล่าให้ฟังถึงการกุมสภาพข้อมูลแท้จริงไม่ได้ในช่วง 2 ปีแรก

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จิรายุพบก็คือ ระบบการจัดเก็บผลตอบแทนในรูปค่าเช่าต่ำกว่าตลาด

มาก ๆ หรือที่เรียกว่า “อัตรากรุณา” อันเป็นแนวความคิดเก่าที่ทำให้เกิดการหาประโยชน์ในการนำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงในราคาตลาดทำให้เกิดระบบหักหัวคิวและรายได้ที่ควรจะได้รั่วไหล

จิรายุในฐานะ “นาย” คนใหม่ย่อมเข้าใจปัญหานี้ดี เขาจึงพยายามสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับจรรยาบรรณและวางรากฐานระบบข้อมูลเพื่อกุมสภาพการบริหารให้ได้


ในปี 2532 ได้มีการว่าจ้างบริษัทประเมินที่ดินวิเคราะห์เปรียบเทียบมูลค่าที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในราคาประเมินกับอัตราค่าเช่าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เก็บปรากฏว่าอัตราผลตอบแทนไม่ถึง 1%

จากปัญหาประสิทธิภาพด้านรายได้ต่ำเกินควร จิรายุ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงมีนโยบายปรับราคาค่าเช่าขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 ที่ขึ้นมาอีกตารางวาละ 50 สตางค์ จากอัตราเดิมในปี 2533 ซึ่งคิดอัตราค่าเช่าที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นไม้ที่ไม่มีถนนคิดตารางวาละ 1 บาท ที่มีถนนเข้ากว้าง 3 เมตร ตารางวาละ 1.50 บาท ที่มีถนนเข้าถึงกว้าง 8 เมตรจะคิดตารางวาละ 2 บาท และในย่านใจกลางเมืองตารางวาละ 3-10 บาท ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บค่าเช่าให้ ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ได้ ทำให้ตัดขั้นตอนและโอกาสการหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานฯ ได้

ในช่วงจิรายุนี้เองได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดการพัฒนาที่ดิน จากเดิมที่สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ต้อง ลงทุนเองทั้งออกแบบ ก่อสร้างและเก็บค่าเช่า

ดังเช่นกรณีอาคารสาธร ซึ่งเป็นที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์ ฯ สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ได้ค่าเช่าต่อเดือนเพียงสองล้านบาทหรือปีละ 24 ล้านบาท ขณะที่ลงทุนสร้างเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทในปี 2523 ทำให้ระยะเวลาการคืนทุนต้องใช้เวลาถึง 15 ปี ขณะที่อาคารสำนักงานให้เช่าบนทำเลทองตรงถนนวิทยุนั้นทำกำไรมหาศาล

จิรายุได้เปลี่ยนแผนให้บริษัท สยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามาบริหารอาคารสินธรแทน โดยมีแผนปรับปรุงที่ดินเดิมอาคารสินธร 9 ไร่ และที่ดินใกล้เคียงอีก 5 ไร่ พัฒนาเป็นออฟฟิศคอนโดมิเนียมชื่อ “โครงการซิกโก้” โดยมอบหมายให้ บงล. สินอุตสาหกรรม เป็นผู้เข้าจัดประโยชน์และร่วมกันดำเนินการ

นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ได้พยายามไม่ให้หน่วยราชการ เช่นการเคหะแห่งชาติ หรือ กรุงเทพมหานคร ผู้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ในราคาราชการซึ่งอัตราถูกกว่าเอกชนเช่าครึ่งหนึ่งนำเอาที่ดินไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ดังนั้นเมื่อที่ดินแปลงใหญ่ ๆ หมดสัญญาเช่าทางสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ก็ได้นำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแนวความคิดใหม่เป็น “โครงการพิเศษ” โดยเปิดให้เอกชนประมูลและนำไปพัฒนาที่ดินเช่น โครงการเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ โครงการโอลด์สยามพลาซ่า เป็นต้น ทำเป็นรูปธุรกิจเต็มรูปแบบและคาดหมายผลตอบแทนระยะยาวเชิงธุรกิจ

แต่แนวทางนี้มีแรงต้านและขัดแย้งโดยตรงกับระบบการเก็บค่าเช่าแบบเดิมและกลุ่มผลประโยชน์เก่าในองค์กรในช่วงปี 2532 นั้นปรากฏเป็นข่าวใบปลิวเถื่อนโจมตีจิรายุเป็นระยะ ๆ โดยพยามชี้ให้เห็นว่า ผู้อำนวยการคนใหม่พัฒนาที่ดินเชิงธุรกิจมาก ๆ ในโครงการพิเศษทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ระหว่างปี 2532 เป็นปีที่จิรายุต้องเผชิญกับมรสุมข่าวและม็อบจัดตั้งจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ ทำให้จิรายุต้องหยุดพัก “โครงการพิเศษ” ไว้ชั่วคราวหันมาสร้างภาพพจน์สำนักงานทรัพย์สินใหม่

มีการมอบที่ดินที่ดีที่สุดบริเวณซอยรางน้ำ-ราชวิถีให้ทางกทม.ทำเป็นสวนสาธารณะ นอกจากนี้หันมาเน้นการพัฒนาชุมชนมากขึ้น เช่น พัฒนาชุมชนคลองไผ่สิงโต โดยสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาชื่อ “โครงการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุมชน” ซึ่งมีหัวหน้าโครงการคือ สนธิญาณ หนูแก้ว อดีตหัวหน้าข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และเคยทำงานที่สำนักงานกลางน้ำตาล (สจน.ซึ่งยุบไปแล้ว) อันเป็นหน่วยศึกษาข้อมูลระบบ 70:30 ป้อนให้กับจิรายุสมัยเป็นรมช.อุตสาหกรรม

ต่อมาแนวความคิดการพัฒนาชุมชนก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาผู้เช่ารายย่อยในลักษณะ LAND SHARING โดยจัดสรรผลประโยชน์บนที่ดินให้เป็นธรรมต่อผู้เช่ารายย่อยด้วยการสร้างแฟลตที่อาศัย ในบริเวณที่แบ่งปันจากที่ดินผืนใหญ่

จิรายุเคยเล่าให้ฟังว่า กรณีชุมชนสามยอดเป็นกรณีแรกที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาถูกทาง ในการใช้ลักษณะ LAND SHARING แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด (สลัม) ที่กระจายไปทั่วบริเวณที่ดินสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ถึง 94 แห่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่รอการพัฒนาอีกนับหลายพันไร่

จิรายุได้ชี้ว่า สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม ในกรุงเทพ

“ใน 5 ปีที่ผมทำงานกับสำนักงานทรัพย์สินมา ก็เพิ่งมีวันนี้ที่ได้พัฒนาองค์กรมา นี่เป็นครั้งแรกที่สำนักงานทรัพย์สินแถลงข่าว ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับเราแต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ อาจจะถือว่าปกติ เราดีใจที่ได้พิสูจน์ว่าเรามีความคล่องตัวที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าเป็นหน่วยราชการเต็มตัวป่านนี้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพียงแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว”

จิรายุแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและมีลักษณะที่เปิดกว้างขึ้นของหน่วยงานนี้ หลังจากที่ปิดตัวเองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมานานหลายสิบปี

หน่วยงานนี้มีลักษณะพิเศษของ ความเป็น “ข้าราชบริพาร” มากกว่าคำว่า “ข้าราชการ” มีอิสระในการบริหารและอัตราเงินเดือนไม่ต้องอิงกับใคร เนื่องจากตั้งขึ้นมาเพื่อสนองพระบรมราชโองการในสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ฯ

มีกฎหมายเฉพาะรองรับคือ พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) ประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2491 หน่วยงานนี้จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์อันเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันคณะกรรมการทรัพย์สิน ฯ ประกอบด้วย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง และกรรมการท่านอื่นที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 8 ท่าน ได้แก่ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, สุธี สิงห์เสน่ห์, ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์, สมหมาย ฮุนตระกูล, บุญมา วงษ์สวรรค์, พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ (อดีต ผอ.ทรัพย์สิน ฯ ), ร.อ.ท.ศุลี มหาสันทนะ และจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารใหม่ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ครั้งล่าสุดนี้ จิรายุต้อง ใช้เวลาถึง 5 ปีจึงจะทำได้ หลังจากที่มีการศึกษาระบบงานองค์กรพิเศษนี้จากผู้เชี่ยวชาญมานาน

“ผมมองหาระบบหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ถือว่าดีที่สุดมาปรับใช้กับที่นี่ ก็เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โครงสร้างที่นำมาใช้ก็คือ การตั้งสำนักผู้อำนวยการเหมือนสำนักผู้ว่าธนาคาร ฯ ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ”
จิรายุเล่าให้ฟังถึง เบื้องหลังที่มาของโครงสร้างหลังจากการปรับปรุง

นอกจากการประยุกต์องค์กรจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว จิรายุยังผสมผสานระบบโครงสร้างการบริหารของธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาเป็นแบบอย่างอีกส่วนหนึ่งของการปรับปรุงอีกด้วย เช่นในกองโครงการพิเศษ ได้มีการจัดแบ่งสายงานออกชัดเจนตามลำดับ เช่นโครงการพิเศษ 1 โครงการพิเศษ 2 เป็นต้น

ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นทั้งงานประจำและงานพิเศษทำให้จิรายุต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและบุคลากรภายในองค์กรให้ทันรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้

โดยเน้นการกระจายอำนาจและการตัดสินใจให้กับ “หัวหน้าฝ่าย” ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับงานใหญ่น้อยที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่จิรายุ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ 2 ท่านคือ ม.ร.ว. ยงสวาสดิ์ กฤดากร และพลตรีประถม บุรณศิริ

ส่วนระดับหัวหน้าฝ่ายซึ่งเป็นระดับใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนจากผู้ช่วยผู้อำนวยการนี้มี 5 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ ที่เป็นลูกหม้อเก่าของทรัพย์สิน ฯ (ดูตารางโครงสร้างการบริหาร) เช่น มนตรี มงคลสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ดูแลกองธุรกิจที่ดิน กองธุรกิจอาคาร กองธุรกิจภูมิภาคและกองธุรกิจหลักทรัพย์ หน้าที่หลักของฝ่ายนี้คือการจัดเก็บผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ในรูปของค่าเช่าที่ดินและอาคาร ตลอดจนการวิเคราะห์การลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย

อารักษ์ สุนทรส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดูแลกองงานปรับปรุงและกองงานโครงการพิเศษ ซึ่ง ดูแลจัดหาผลประโยชน์ที่ดินที่มีศักยภาพการลงทุนสูงเช่นโครงการขนาดใหญ่และดูแลชุมชนแออัดที่อยู่บนที่ดินทรัพย์สิน ฯ ด้วย

สุรเดช มหารมณ์ หัวหน้าฝ่ายเทคนิค ดูแลงานกองช่าง กองรังวัด กองวัสดุ ควบคุมงานโยธา รังวัดและสถาปนิก

สุรเดช กฤตสัมพันธ์ หัวหน้าฝ่ายการเงินซึ่งเป็นลูกหม้อเก่ารุ่นเดียวกับมนตรี ก็ยังคงทำหน้าที่ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ดูแลด้านกองคลังและกองบัญชีของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ

ทองทา สินาคโยธารักษ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนเป็นแม่บ้านที่คอยดูแลกองกลาง กองการพนักงาน กองกฎหมายและสนับสนุนฝ่ายอื่น ๆ

การแบ่งสายงานและการกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบสู่ระดับฝ่ายทำให้สำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีภาพต่อภายนอกที่ชัดเจนขึ้นและมีความคล่องตัวด้านการบริหารที่สามารถปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดมากขึ้นแต่ก่อน

ฝ่ายที่คนข้างนอกสนใจมาก ก็คือฝ่ายธุรกิจ ซึ่งทำงานปกติประจำวันด้านที่ดินอาคารติดต่อกับ ผู้เช่าจำนวนมาก “เราจำเป็นต้องตอบสนองให้บริการด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทันสมัยเหมือนกับงานบริการ ลูกค้าเมื่อ 5-10 ปีก่อนอาจจะคาดหวังการบริการระดับหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เขาติดต่อ กับธุรกิจที่ทันสมัยเขาก็คาดหวังว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ จะให้บริการใกล้เคียงกัน เราก็ตั้งความหวังคง จะให้บริการอย่างนั้น” ผู้อำนวยการทรัพย์สิน ฯ จิรายุเล่าให้ฟังถึงที่มาของการกระจายอำนาจระดับฝ่าย

นอกจากนี้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ต่อไปจะมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นฝ่ายที่ต้องทำหน้าที่พัฒนาและดูแลผลประโยชน์โครงการพิเศษ

เช่นโครงการเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ โครงการคลองไผ่สิงโต เป็นงานที่ต้องพูดจากับผู้ลงทุนขนาดใหญ่และผู้เช่าเดิมจำนวนมากว่าจะพอใจกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร” งานนี้ต้องมีการวางแผนพัฒนาพื้นที่มากไม่ใช่เรื่องรูทีน ดังนั้นเราคิดว่าคงจะมีโครงการพวกนี้เกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องมีหน่วยงานพัฒนาธุรกิจนี้ขึ้นมารองรับ” จิรายุกล่าว

ด้วยเหตุที่งานของฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจมีลักษณะพลวัตรสูงเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงคนที่เข้ามาบริหารจึงต้องเป็นคนที่ปรับตัวได้รวดเร็ว

ก่อนที่มนตรีจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ เขาเคยเป็นหัวหน้ากองตรวจสอบบัญชีภายในของทรัพย์สิน ฯ ที่ก้าวหน้าเร็วขณะมีอายุเพียง 30 กว่าปีและเติบโตขึ้นมาจากสายบริหารธุรกิจการเงินการลงทุนซึ่งให้ข้อมูลเชิงธุรกิจที่หล่อหลอมแนวความคิดความเข้าใจการทำธุรกิจสมัยใหม่เป็นคนที่ผู้ใหญ่ใช้คล่องและทำงานได้ผลน่าพอใจ มีมนุษยสัมพันธ์ดี ปัจจุบันมีลูกน้องที่เขาสร้างขึ้นมาแล้วได้เป็นหัวหน้ากองคุมงานหลักสองคนคือ อมรรัตน์ โล่ห์สุวรรณ หัวหน้ากองธุรกิจหลักทรัพย์ และวีระศักดิ์ โตกุนะ ซึ่งเดิมทั้งคู่อยู่กองวิเคราะห์

“ผมอยู่กับสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ประมาณ 27-28 ปีแล้วทำงานที่ไหน ผมถือคติอย่างหนึ่งว่า ผมไม่ใช่นักขุดที่ทำงานแบบเอาความดีบนความไม่ดีของคนอื่น แต่ผมจะเดินไปข้างหน้าและกระจาย งานให้เสร็จเร็ว ลูกน้องสามารถตัดสินใจได้เลย ผมไม่ใช่ระบบราชการ” มนตรีกล่าวถึงหลักการทำงานของเขา

มนตรีมีประสบการณ์ทำงานในอดีตที่เคยเป็นทั้งนายสนามมวยราชดำเนิน สมัย รองผอ. เฉลิม เชี่ยวสกุล เป็นประธานสนามมวย ฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทเทเวศ์ประกันภัยซึ่งเขาได้นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ

นอกจากนี้มนตรียังมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทที่ทรัพย์สินฯ เข้าไปถือหุ้นอีกมากเช่นกรรมการแบงก์นครธน บงล. ธนสยาม โรงแรมปาร์คนายเลิศ โรงแรมไฮแอทเอราวัณและล่าสุดกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

อารักษ์เป็นนักเรียนนอกที่เข้ามาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สิน ฯ หลังมนตรีถึง 10 ปี โดยทำอยู่ในคณะกรรมการปรับปรุง ฯในฐานะเลขาคณะกรรมการ ฯ เป็นคนเก็บตัวเงียบ ๆ บทบาทในระยะหลังของเขาเพิ่มมากขึ้นจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ครั้งนี้ ภารกิจใหญ่ที่อารักษ์ได้รับมอบหมายให้ดูแลนอกจากโครงการพิเศษแล้วยังต้องสร้าง GIS (GEOGRAPHIC INFORMATION SYSTEM) เกี่ยวกับระบบข้อมูลที่ดินและผู้เช่าทั้งหมดเพื่อการวางแผนในการบริหารอสังหาริมทรัพย์

ด้วยเหตุที่โครงสร้างของสำนักงานทรัพย์สินกำลังมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกธุรกิจสมัยใหม่กล่าวกันว่าระดับฝ่ายที่เป็นมือซ้ายและมือขวาของจิรายุคือ ฝ่ายธุรกิจและฝ่ายพัฒนาธุรกิจซึ่งมีมนตรีและอารักษ์เป็นหัวหน้าฝ่ายนั่นเอง

ขณะที่แผนปรับประสิทธิภาพคนในโครงสร้างใหม่ได้กระทำแล้วในช่วงเวลา 5 ปีที่จิรายุเป็น ผู้อำนวยการทรัพย์สิน ฯยังได้เน้นประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้เป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งเนื่องจากเงินทูลเกล้าถวาย ฯ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 10% ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 30-50% ต่อปี และเพื่อเสริม งบประมาณของสำนักพระราชวังด้วยที่ต้องใช้ไปในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ

ความจริงโครงสร้างรายได้ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯได้แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือ

หนึ่ง เงินปันผลจากการถือหุ้นในกิจการไม่ต่ำกว่า 90 บริษัท โดยมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เป็นสองกิจการหลักที่ให้ผลตอบแทนสูง รายได้จากเงินปันผลทั้งหมดโดยเฉลี่ยประมาณ 80% ของรายได้รวม

สอง ค่าเช่าที่ดินและอาคารปีละ 10 ล้านและผลตอบแทนค่าหน้าดินจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเช่นโครงการเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ของบริษัทวังเพชรบูรณ์ซึ่งได้จ่ายค่าหน้าดิน 300 ล้านหลังจากได้รับสิทธิจัดประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น

สาม รายได้จากดอกเบี้ย จิรายุได้ให้แนวทางการบริหารการเงินโดยนำเงินคงคลังซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนที่เคยฝากบัญชีกระแสรายวันไปซื้อตั๋วลงทุน (พันธบัตร หุ้นกู้ และตราสารหนี้ระยะปานกลางและยาวของสถาบันการเงิน) ที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มพูนขึ้นในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งเดิม สนง. ทรัพย์สินจะได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20-50 ล้านต่อปี แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยที่ได้รับสูงถึงปีละ 200-300 ล้านบาท

“แต่ก่อนรายได้ของทรัพย์สินมีตัวเลขโตปีละ 10-20% แต่หลังจากที่ “นาย” มาก็บริหารปรับปรุงค่าเช่า และขยายการลงทุนทำให้รายได้เพิ่มสูงถึง 100%” ณรงค์ กฤตสัมพันธ์ หัวหน้าฝ่ายบัญชีเล่าให้ฟังผลงานของจิรายุ

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ตั้งแต่ปี 2489 สนง.ทรัพย์สิน ฯ มีรายได้ 5.5 ล้านบาทจากการเก็บเงิน ค่าเช่าอาคารและที่ดินเป็นหลักผ่านพ้นมาถึงปี 2529 ก่อนที่จิรายุจะเข้ามาบริหารรายได้ตกประมาณ 500 ล้านบาท

ในปี 2530 ที่จิรายุรับตำแหน่งผู้อำนวยการ ฯ เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟูสุดขีดในอัตราเติบโต ถึงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี การบริหารอสังหาริมทรัพย์แนวใหม่ของจิรายุได้ทำให้รายได้ของสำนักงาน ทรัพย์สิน ฯ ได้ขึ้นมาเป็น 600 ล้านบาท

ปีล่าสุด 2534 เงินรายได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้นสูงถึง 1,409.5 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากค่าเช่าอาคารและที่ดินตกประมาณ 270 กว่าล้านบาท (รวมรายได้ที่เอกชนเข้ามาดำเนินการในโครงการพิเศษ)

แนวโน้มแหล่งที่มาของการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วจากพึ่งพิงค่าเช่าที่ดินและอาคารเป็นหลักมาเป็นรายได้จากแหล่งการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารหนี้

เงินรายได้ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ จะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เวลาจ่ายเพื่อการลงทุนถูกบันทึกว่าเป็นรายจ่ายตามงบประมาณ ทั้ง ๆ ที่โดยสภาพ “การจ่ายเพื่อการลงทุน” ถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะได้หลักทรัพย์มาตอบแทน

แต่เมื่อขายหลักทรัพย์ออกไป รายได้ที่เกิดขึ้นก็จะเข้ามาในเงินกองทุนซึ่งก็คือเงินคงคลัง และเงินนี้จะเปลี่ยนสภาพไปลงทุนใหม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรรมการของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลั่นกรองในที่ประชุมซึ่งจะทำแทบทุกเดือน

ช่วงที่จิรายุเป็นผู้อำนวยการ สุธี สิงห์เสน่ห์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินฯ ครั้งนั้นได้เข้ามาช่วยจัดระบบการเงินการคลังใหม่

โดยตั้งระบบบริหารบัญชีใหม่เป็นสองบัญชีคือบัญชีกองทุนและบัญชีผลประโยชน์ เมื่อเวลาซื้อหุ้นก็ลงในบัญชีกองทุน นอกจากนี้ยังใช้ระบบงบประมาณการลงทุนปีต่อปีเหมือนงบราชการ ถ้างบที่ตั้งไว้ใช้ไม่หมดก็จะถูกตัด ยกเว้นโครงการที่ผูกพันที่เริ่มดำเนินการให้เห็นแล้ว

การจัดระบบบริหารบัญชีใหม่ทำให้จิรายุมองเห็นภาพทิศทางขององค์กรชัดเจนขึ้น และขณะเดียวกันก็ล่วงรู้ถึงสถานะที่สมดุลของการบริหารรายได้ในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

“รายได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละปีไม่มากอย่างที่คนอื่นคิด เพราะอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งที่แล้วเพิ่มทุน 800 ล้านบาท ผมจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายขณะที่โครงการขยายและปรับปรุง พระที่นั่งจักรี ผมต้องตั้งงบประมาณไว้ถึง 600 ล้าน โธ่...ผมต้องหาเงินตัวเป็นเกลียว” จิรายุซึ่งเป็น ผู้อำนวยการทรัพย์สิน ฯ และรองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง กล่าวกับ “ผู้จัดการ”

การเพิ่มทุนของกิจการที่สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ถือหุ้นอยู่นั้น ทำให้จิรายุต้องคิดตลอดเวลาใน การที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการประเภทเกรด A หรือ “บลูชิพ” ที่ให้ผลตอบแทนสูงเช่นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บงล. ธนสยาม (ดูตารางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ที่ สนง.ทรัพย์สินถือหุ้น)

“เมื่อก่อนมีกิจการใหญ่ไม่กี่แห่ง ที่เราต้องคิดแห่งเดียวคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เดี๋ยวนี้ บงล. ธนสยามก็ต้องเพิ่มทุนอีกแล้ว ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ เพราะเขาไม่ได้เพิ่มทุนในราคาพาร์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทยางสยามก็เพิ่มไม่ใช่น้อยวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เขาให้จ่ายเงินส่วนเพิ่มทุนเราจ่ายวันสุดท้ายเพื่อประหยัดดอกเบี้ย” จิรายุกล่าวยกตัวอย่าง

โชคดีที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่มีการเพิ่มทุน เนื่องจากนโยบายที่เอากำไรมาขยายกิจการแทน ถ้าปูนซิเมนต์ไทยเพิ่มทุน คงเป็นเรื่องใหญ่ที่จิรายุต้องคิดหนักมากว่าจะ FUNDING เงินลงทุนจากแหล่งไหนมา?

เนื่องจากความสามารถในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจในบริษัทที่สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ถือหุ้นกว่าครึ่ง ลดลงไปทำให้สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ไม่สามารถแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น มากเท่าที่ควร

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ กลับขยายตัวไปมากภายใต้การบริหารทุนแบบใหม่และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งขยายศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยมากจนกลายเป็นกลไกตัวสำคัญของการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวสูงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ในระยะ 5 ปีที่จิรายุบริหาร แนวการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินยังคงดำเนินอยู่ใน 3 ลักษณะคือ

ลักษณะที่หนึ่ง REINVEST โดยการลงทุนกลับเข้าไปในกิจการที่ ACTIVE อยู่ 26 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะการเพิ่มทุนในกิจการประเภทเกรด A หรือบลูชิพ ที่แต่ละครั้งสนง.ทรัพย์สิน ฯ ต้องรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้น เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ บงล.ธนสยาม

“เราต้องใช้เงินที่มีอยู่ในการ REINVEST ในกิจการที่เรามีอยู่คงจะมีกิจการเกิดใหม่น้อยแห่ง นอกจากโครงการที่เราได้รับการร้องขอจากรัฐบาล เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งเป็น INFRASTRUCTURE ด้านการเงินที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ที่เอกชนไม่อยากจะมาลงทุนเพราะผลตอบแทนไม่สูง ในกรณีอย่างนี้ เขามักนึกถึงสำนักงานทรัพย์สินฯ คือไม่ต้องการกำไรสูงและช่วยเป็นสะพานให้กับเอกชนทางคณะกรรมการทรัพย์สิน ฯ ก็ยินดีให้ความร่วมมือ” จิรายุเล่าให้ฟัง

ลักษณะที่สอง เมื่อมีเอกชนชวนเข้าร่วมลงทุนก็จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ไม่ทำร้ายหรือแข่งขัน กับเอกชน เช่น ประเภทกิจการที่มีฐานะกึ่ง “รัฐ-เอกชน”

อย่างในปี 2530 เข้าร่วมทุนในโครงการสร้างทางด่วนพิเศษขั้นที่สองของบริษัททางด่วนกรุงเทพ

ในปี2531 สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค ในโครงการสร้างสถานีขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัท ไทยคอนเทนเนอร์ซิสเต็มซี่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัท มิตซุยแห่งญี่ปุ่น

“ผมมองเห็นว่าเป็นประโยชน์ในอนาคตช่วงแก้ปัญหาจราจรเพราะระบบที่มิตซุยนำมาเป็นระบบขนส่งทันสมัยมาก ทำให้ต้นทุนลดลง อันนี้เป็นลักษณะกิจการที่เราสนใจหรือก็เป็นโครงการที่มีความจำเป็นในอนาคตเช่น โครงการเทเลคอมมิวนิเกชั่น แต่เป็นเรื่องที่คิดไว้ยังไม่ได้เข้าไปลงทุน แต่สำหรับกิจการที่เราไม่สนใจเลยคือโรงแรมเพราะเอกชนลงทุนไปมากแล้ว” จิรายุยกตัวอย่างธุรกิจที่สำนักงาน ฯ ร่วมลงทุนโดยมีบรรทัดฐานการตัดสินใจลงทุนที่ไม่แข่งหรือทำร้ายเอกชน

ในปี 2534 สำนักงานทรัพย์สิน ฯ เข้าร่วมกับบริษัท ท่อน้ำมันไทย ซึ่งเดิมเป็นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (บีเอเอสเอฟ) ที่ผูกขาดการเติมน้ำมันให้ทุกสายการบิน แต่เนื่องจากน้ำมันเครื่องบินจะต้องใช้รถบรรทุก ไม่ต่ำกว่า 500 คันขนส่งมาทางรถไฟจากช่องนนทรีต่อไปถึงดอนเมือง ทำให้ปัญหาจราจรติดขัดจึงได้มีการศึกษาโครงการท่อน้ำมันนี้ขึ้นมา

“การเข้าไปร่วมในลักษณะนี้ทำให้รัฐบาลสบายใจในการดูแลไม่ให้เอกชนค้ากำไรเกินควร เราจึงทำหน้าที่เป็นสะพานที่ดีโดยเข้าถือหุ้นน้อยและเป็นกรรมการแสดงความเห็นกรณีไม่เห็นสมควรทำกำไรมากเกินไป หรือรัฐบาลควบคุมเกินไปจนไม่มีกำไรเชิงธุรกิจ เราก็จะชี้แจงให้รัฐรับทราบ” ผู้อำนวยการทรัพย์สิน ฯ กล่าวยกตัวอย่างโครงการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม

ลักษณะที่สาม กิจการประเภทบุกเบิกใหม่ ซึ่งมีทั้งภาคเกษตรกรรม เช่นบริษัทนุวัติ ซึ่งร่วมกับกลุ่มมิตซุยของญี่ปุ่นและธนาคารเอเชียซึ่งมี ยศ เอื้อชูเกียรติ เพื่อนสนิทเป็นกรรมการบริหารอยู่ได้เข้าพัฒนาดอยตุง จ.เชียงใหม่ ปลูกพืชเชิงพาณิชย์เช่น กาแฟอาราบิก้า ลูกเกาลัด

“เหตุที่เราเลือกกลุ่มมิตซุยของญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมโครงการด้วยกัน เป็นเพราะว่าทางนั้นเสนอตัวเข้ามาขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าเขาสามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ถึง 3 เรื่อง คือด้านเทคโนโลยีทันสมัย เรื่องตลาดที่สามารถส่งขายญี่ปุ่นได้ และเรื่องดอกเบี้ยในอัตราต่ำ” จิรายุกล่าวถึงเหตุผลการร่วมทุนกับ มิตซุย

นอกจากนี้อีกโครงการหนึ่งคือ บริษัทสวนวังน้ำลี้ซึ่ง กฤษณะ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตผู้บริหารบริษัทผาแดงอินดัสทรี ได้ปลูกมะม่วงและลิ้นจี่บนเนื้อที่ 80 ไร่ที่จังหวัดลำพูน ต่อเนื่องจากโครงการราชดำริทางสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ก็ได้สนับสนุนด้วย

แม้นว่าเหตุผลของการเข้าลงทุนจะมีขอบเขตที่ไม่มุ่งหวังจะก่อให้เกิดการแข่งขันกับเอกชนในลักษณะเผชิญหน้า กระนั้นก็ตามบรรทัดฐานของการตัดสินใจเลือกลงทุนโครงการหนึ่งใดนั้นก็จะต้องมีเหตุผลทางธุรกิจที่ยอมรับได้ รองรับ ในแต่ละโครงการ จิรายุได้กล่าวถึง RETURN OF INVESTMENT ที่ตั้งไว้ว่าไม่ควรจะต่ำกว่า “ROI ผมคิดว่าถ้าต่ำกว่า 12% ก็ไม่ไหวขณะที่เอกชนคงจะทำกำไรได้สูงกว่านี้มากอย่าลืมว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับ 12% นั้นเราต้องไปจ่ายดอกเบี้ย ต่าง ๆ อีก” ผู้อำนวยการทรัพย์สิน ฯ กล่าว ทิศทางการบริหารสินทรัพย์ที่เน้นความสมดุลระหว่างประโยชน์ของสังคมท่ามกลางประสิทธิภาพหลังจากการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร และการเปิดกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ของสังคมของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของหน่วยงานนี้ในอนาคตแล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us