Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
เปิดขุมทรัพย์ที่ดินสนง.ทรัพย์สินฯ             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

   
related stories

เปิดแดนสนธยาสนง.ทรัพย์สินฯ

   
search resources

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
Real Estate




ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สิน ฯ มีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,060,000 ตารางวา หรือ 2,650 ไร่ โดยที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู่บริเวณหลังวัดพระยาไกร บางรักนอกนั้น เป็นที่ดินประมาณ 10 ไร่ขึ้นไปในย่านธุรกิจการค้าเป็นส่วนใหญ่

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ดินมหาศาล ก่อให้เกิดการพัฒนาโฉมหน้าเมืองอย่างรวดเร็ว จิรายุได้นำเอาแนวความคิดของการจัดการบริหารเกี่ยวกับที่ดินผืนใหญ่ให้เกิดขึ้นในลักษณะพิเศษโดยนำที่ดินที่มีศักยภาพการพัฒนาสูงมาจัดทำเป็น “โครงการพิเศษ” ไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ อาทิเช่น

หนึ่ง โครงการวังเพชรบูรณ์ หรือ “เวิร์ลเทรด เซนเตอร์” บนทำเลทองย่านธุรกิจการค้าริมถนนราชประสงค์พื้นที่ทั้งหมด 67ไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 เป็นโรงแรมและคอมเพล็กซ์

สอง โครงการราชวิถี-ซอยรางน้ำ บนเนื้อที่ผืนใหญ่ประมาณ 21 ไร่ใกล้ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

สาม โครงการตลาดมิ่งเมืองหรือ “โครงการโอลด์สยามพลาซ่า” บริเวณเนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้ว

สี่ โครงการอาคารซิกโก้ (สินอุตสาหกรรม) ซึ่งเชื่อมต่อกับอาคารสินธร บนถนนวิทยุ โดยมีคู่แข่งฝาแฝดคือโครงการ “เสริมมิตรทาวเวอร์” ที่ซอยอโศก เพราะทั้งสองโครงการนี้ สนง.ทรัพย์สินถือหุ้นโดยอาคารซิกโก้ สนง.ทรัพย์สินร่วมถือหุ้นกับบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำในนามบริษัทสยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนโครงการ “เสริมมิตรทาวเวอร์” สนง.ทรัพย์สิน ฯ เข้าร่วมกับธนาคารมิตซุย นครธน ไทยพาณิชย์ จุลดิศ ฮาซามา คอร์ปอเรชั่นและวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ทำในนามบริษัท ไทยเรียลตี้คอมเพล็กซ์ ปัจจุบันโครงการเสริมมิตรทาวเวอร์ได้ขายต่อให้ “กลุ่มไทยซัมมิทโอโตพาร์ทของพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ” ไปแล้วแต่ด้วยความที่ทั้งสองโครงการมีคอนเซปท์เหมือนกันตรงที่เน้นขายอาคารไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยบริหารระบบอำนวยความสะดวก ทำให้การแข่งขันระหว่างสองโครงการนี้ต้องแข่งขันกันเอง

ห้า โครงการสามยอด บริเวณถนนอุณากรรณ มีพื้นที่จำนวน 10 ไร่โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่จิรายุภาคภูมิใจกับการนำเอาวิธีการปันผลประโยชน์ที่ดิน “LAND SHARING” ที่ให้เอกชนนำมาใช้แก้ปัญหาข้อขัดแย้งกับชุมชนแออัดได้สำเร็จโดย หจก.ตุลารัตน์ได้รับสิทธิเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มูลค่า 500 ล้านบนเนื้อที่ 6 ไร่ และที่ดินอีก 3 ไร่กว่าก่อสร้างแฟลตสูง 12 ชั้น สำหรับผู้เช่าเดิม

หก โครงการเทพประทาน ที่คลองเตย ซึ่งตระกูลกาญจนพาสน์ได้รับสิทธิสัมปทานและวางแผนพัฒนาเป็นโครงการเอกซ์เชนจ์สแควร์ ศูนย์กลางการเงินบนเนื้อที่ 53 ไร่

เจ็ด โครงการบึงพระราม 9 หรือโครงการบึงพลับพลา อยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหงเนื้อที่ 300 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ มีการวางผังแม่บทที่จะพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ปานกลาง แต่เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นที่ต่ำ รองรับน้ำเสียจากคลองลาดพร้าวและคลองพลับพลา ทำให้ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้เนื้อที่ถึง 14.4 ไร่และป้องกันน้ำท่วม 30.8 ไร่ อย่างไรพื้นที่ที่เหลือได้มีการวางแผนทำเป็นโรงพยาบาล 21.3 ไร่ โรงเรียน 7 ไร่ สวนสาธารณะ 46.7 ไร่ สโมสร 5 ไร่ และที่อยู่อาศัย 92.5 ไร่

แปด โครงการบ่อนไก่ ซึ่งสนง.ทรัพย์สิน ฯ สร้างอยู่ระหว่างรอทางด่วนพิเศษและโครงการรถไฟฟ้ากำหนดแนวเขตให้ชัดเจน ส่วนตึกแถวที่สร้างตั้งแต่ปี 2526 ก็จะหมดสัญญาในอีก 12 ปีข้างหน้านี้

เก้า โครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนสองแห่งได้แก่ คลองไผ่สิงโตและตรอกปลาเค็ม ซึ่งดังระบือในคราวที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเวิร์ลแบงก์

เพราะทางการต้องการจะย้ายชุมชนแออัดแห่งนี้ด้วยการนำทีมนักกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง ศ.เสน่ห์ จามริก ครูประทีป อึ้งทรงธรรมและเจ้าหน้าที่โครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนเข้าไปทำความเข้าใจและจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และได้มีการกันพื้นที่ 4 ไร่เพื่อสร้างแฟลต 20 ชั้นรองรับคนในชุมชนนี้

สิบ โครงการสามเสน หลังวังสุโขทัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพร้อมกับบริเวณตลาดบางซื่อริมถนนพระรามที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดสดที่มีน้ำท่วมตลอดปีทางสนง.ทรัพย์สินได้วางแผนที่จะรื้อและสร้างใหม่หลังจากที่ผู้เช่าเดิมคือกทม.ได้หมดสัญญาเช่าไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ

สิบเอ็ด โครงการตลาดเจริญผล บนเนื้อที่ 16 ไร่ ติดกับถนนเจริญผลตัดใหม่กับถนนพระรามที่ 1 โดยมีตลาดกลางไข่อยู่ตรงกลางบริเวณได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างออฟฟิศคอนโดมิเนียม เนื่องจากทำเลอยู่ย่านศูนย์ธุรกิจ

สิบสอง โครงการพัฒนาที่จอดรถบริเวณบางกอกบาซาร์ จำนวน 20 ไร่ หรือมีมูลค่าที่ดินสูงสุดถึง 2,000 ล้านบาทเดิมบริษัทสหพัฒนากรุงเทพเช่าเป็นผู้เช่าทำเป็นอาคารพาณิชย์ 210 คูหา และมีอาคาร ยูนิเวสท์ซึ่งแยกสัญญาเช่าออกจากกัน ปัจจุบันคือศูนย์การค้าโรบินสันราชดำริและสัญญาเช่าได้หมดอายุลงในต้นปีหน้า คาดว่าจะมีการต่อสัญญาให้อีก 3 ปี เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ในนามของ “บริษัท ธนันดร” ซึ่งสนง.ทรัพย์สินเป็นเจ้าของ

สิบสาม โครงการที่สีลม เยื้องถนนมเหสักข์ ซึ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้ถูกเวนคืนไปสร้างทางด่วนพิเศษขั้นที่สองบางโคล่-แจ้งวัฒนะ ทำให้เหลือที่ดินเพียง 3 ไร่เศษ เดิมผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวได้รวมตัวกัน เพื่อเสนอทำโครงการสำนักงานพร้อมที่อยู่อาศัย แต่ผลตอบแทนที่เสนอต่อ สนง.ทรัพย์สินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์พัฒนาที่ดินมาก่อน จึงไม่ได้โครงการนี้

ขณะที่บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) ได้เสนอการใช้ประโยชน์ที่ดินคุ้มค่าต่อราคาที่ดินรวมทั้งรูปแบบอาคารสำนักงานที่มีการออกแบบป้องกันเสียงภายในอาคารเนื่องจากอยู่ใกล้ทางด่วนทางสนง.ทรัพย์สิน ฯ จึงได้ตกลงในหลักการให้ บริษัทคริสเตียนี ฯ ทำแต่ยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ

คอนเซปท์การพัฒนาที่ดินผืนใหญ่แต่ละแปลงของสนง.ทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่จะกลายเป็นชุมชนแออัด 94 แห่งไปแล้ว ทำให้การดำเนินงานพัฒนาประโยชน์ที่ดินคุณภาพเหล่านี้อยู่ในลักษณะก้ำกึ่งกันระหว่างธุรกิจกับสาธารณประโยชน์

บางครั้งการตัดสินใจที่ยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ได้ก่อให้เกิดผลบวกอย่างไม่คาดคิด กลุ่มผู้เช่าซึ่งต่อสู้อย่างหนักที่จะไม่ให้สนง.ทรัพย์สินเข้าไปรื้อถอนตึกที่เขาอาศัยอยู่ทิ้งโดยถ่วงเวลาทรัพย์สินไว้หลายปี ในขณะที่ค่าวัสดุก่อสร้างและต้นทุนถีบตัวสูงขึ้น โดยหวังจะให้สนง.ทรัพย์สินเปลี่ยนแผนการใหม่ แต่กลุ่มผู้เช่าเหล่านี้ได้ช่วยสนง.ทรัพย์สินโดยไม่ตั้งใจให้ก้าวถึงจุดที่ที่ดินมีราคาแพงขึ้นมหาศาลและผลักดันให้เกิดโครงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าในจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจบูม ตัวอย่างเช่น

โครงการเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ เป็นโครงการพิเศษโครงการแรกที่สนง.ทรัพย์สินได้เปิดทางให้ตระกูล “เตชะไพบูลย์” ได้ทำโครงการนี้อย่างปลอดเงื่อนไขบังคับ เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุว่ารายละเอียดโครงการไว้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่กำหนดลักษณะไว้ตอนแรก เช่น ศูนย์การค้าที่เคยบอกว่าจะสร้าง 9 ชั้น แต่สิ่งที่ปรากฎในปัจจุบันเมื่อสร้างเสร็จแล้วคือตึกสูงแค่ 7 ชั้น หรืออาคารบางหลังก็หายไปจากที่ตกลงกันครั้งแรก มีการย้ายตำแหน่งอาคารสำนักงานและโรงแรมเป็นต้น ทำให้สนง.ทรัพย์สิน ฯ ไม่สามารถเข้าไปควบคุมอะไรได้มากนัก

“หลายคนคิดว่าสำนักงานทรัพย์สิน ฯ จะได้กำไรจากโครงการเวิร์ลเทรดนี้อย่างมหาศาล เพราะรายได้ที่รับจากผู้ลงทุนเท่ากับราคาซื้อขายที่ดินทีเดียว ซึ่งในปี 2531 สำนักงานทรัพย์สินจะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีถึง 126 ล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้มันจะเป็นไปได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ ? เพราะฉะนั้นต้องจับตาดูว่าวังเพชรบูรณ์จะพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ? มันเป็นการลงทุนที่เสี่ยงสำหรับเขาพอสมควรแต่เราเองก็ปล่อยให้เขาทำโครงการตามสบายมากด้วย” อารักษ์ สุนทรส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สนง.ทรัพย์สิน ฯ เล่าให้ฟัง

โ ครงการยิ่งใหญ่ต่อมาที่วัดใจของผู้บริหาร สนง.ทรัพย์สินก็คือโครงการราชวิถี-ซอยรางน้ำ บนเนื้อที่ 20 ไร่ 80 ตารางวา มูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ซึ่งสนง.ทรัพย์สิน ฯ ได้ยกประโยชน์ ให้เป็นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครไป แทนที่จะขึ้นเป็นคอมเพล็กซ์ธุรกิจมูลค่าหมื่นล้าน

ตำนานของที่ดินผืนงามนี้เดิมสนง.ทรัพย์สินมอบหมายให้ กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้ดูแลโดยคิดค่าเช่าราคาถูกแต่ต่อมาเมื่อการเคหะแห่งชาติเกิดขึ้นในปี 2516 การเคหะ ฯ จึงกลายเป็นผู้รับช่วงต่อจากกรมประชาสงเคราะห์

ในปี 2522 สมัยที่ พ.อ. อร่าม รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติได้มีดำริจะปรับปรุงชุมชนแห่งนี้ภายใต้ชื่อ “โครงการราชวิถี-รางน้ำ” โดยจะสร้างแฟลต 10 อาคาร สูง 9 ชั้นแต่ไม่สัมฤทธิผล

ต่อมา ในยุคของผู้ว่าการเคหะ พล.ท. ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ได้มีการเจรจาอย่างจริงจังกับสนง.ทรัพย์สิน ฯ ที่จะขอซื้อที่ดินแบบซื้อขาดในราคา 80 ล้านบาทแต่พอถึงวันกำหนดชำระเงินทางการเคหะ ฯ ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ทัน

ตั้งแต่นั้นมาราคาที่ดินผืนทองนี้ก็พุ่งทะยานถึง 160 ล้านบาททางการเคหะฯ ก็ไม่สามารถซื้อได้อีก ผ่านมาถึงยุคผู้ว่าเคหะฯ สุเชษฐ์ สิทธิชัยเกษม และยุคผู้ว่า ฯ รตนา จันทรเทียร ราคาที่ดินก็ทะยานขึ้น 240 ล้านบาท จากราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดินในต้นปี 2530 ราคากลางได้กำหนดไว้ตารางวาละ 60,000 บาท ขณะที่ราคาตลาดที่ซื้อขายกันจริง ๆ ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 100,000 บาท ปัจจุบันราคาตลาดแพงชนิดจับไม่ติดถึงตารางวาละ 200,000 บาท

ในที่สุดหลังจากหมดสัญญาเช่าปี 2533 ท่ามกลางความเสียดายของทุกฝ่ายโดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นผู้เช่าเดิม สนง.ทรัพย์สิน ฯ ก็ได้ตัดสินใจคืนประโยชน์กลับสู่สังคมด้วยการยกเนื้อที่ 20 ไร่เศษนี้ให้ทางกรุงเทพมหานครสมัยผู้ว่ากทม. จำลอง ศรีเมือง สร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ต่ำให้ดีขึ้น โดยไม่คิดหาประโยชน์ทางธุรกิจใด ๆ ทั้งสิ้น

“สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ได้ให้กทม. เช่าเนื้อที่ทั้งหมดเป็นเวลา 30 ปีโดยคิดค่าเช่าทั้งสิ้น 300 ล้านบาท ที่ดินผืนนี้ทางการเคหะ ฯ เคยเสนอซื้อในราคา 80 ล้านบาท ซึ่งทางสนง.ทรัพย์สิน ฯ เคยคิดจะขายให้แต่มีเอกชนหลายรายให้ความสนใจที่ดินผืนงามนี้และเสนอราคาถึง 240-360 ล้านบาท ก็มีและในปัจจุบันมีผู้เสนอราคาให้สูงถึง 4 เท่าของราคาที่กทม.ขอเช่าหรือตกราว 1,200 ล้านบาท” เงินนับพันล้านบาทที่อารักษ์เล่าให้ฟังนี้เป็นมูลค่ามหาศาลที่สนง.ทรัพย์สิน ฯ ตัดใจยกให้เป็นที่สวนสาธารณะไปเสียแล้ว

แต่ขณะนี้ปัญหาขับไล่ที่กำลังเป็นเรื่องเรื้องรังที่ทำให้เรื่องยุ่งยากใจเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เมื่อทางการเคหะแห่งชาติได้บอกเลิกกับผู้เช่าเดิมจำนวน 279 ราย และได้ขออำนาจศาลบังคับแต่ผู้เช่าเดิมส่วนใหญ่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ แถมบางรายยังหารายได้พิเศษจากการใช้พื้นที่ว่างเก็บค่าบริการจอดรถ

ปัญหานี้ทำให้ กทม.ปวดหัวและไม่สามารถดำเนินการที่จะสร้างสวนสาธารณะบนผืนทองตรงนี้ได้ เพราะการเคหะกับผู้เช่าเดิมยังไม่มีทีท่าจริงจังที่จะแก้ปัญหานี้ให้ตกไป จึงเป็นหน้าที่ของทาง กทม.และสนง.ทรัพย์สิน ฯ ที่จะต้องจ่ายเงินค่าขนย้ายให้กับผู้เช่าเดิมแทนโดยผู้ที่มีสัญญาถูกต้อง ตามกฎหมายจะได้รับเงินชดเชย 70,000 บาท และที่ไม่มีสัญญาโดยตรงได้เงิน 25,000 บาท

คอนเซปท์การพัฒนาที่ดินในโครงการพิเศษอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือโครงการพัฒนาตลาดมิ่งเมือง หรือ “โอลด์สยามพลาซ่า” ซึ่งมีบริษัทสยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการโครงการนี้ให้อัตราผลตอบแทนต่ำมากสำหรับสำนักงานทรัพย์สิน ฯ เนื่องจากวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งปีหนึ่งกวาดเงินตราเข้าประเทศเกือบแสนล้านบาท

“การที่เรากำหนดอัตราค่าเช่าเอาไว้ต่ำมาก ก็เพื่อไม่ต้องการให้ผู้ลงทุนต้องเสี่ยงมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ผู้เช่าได้รับผลตอบแทนสูงสุดเพียงฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้กำหนดวิธีการแบ่งปันรายได้ให้สำนักงานทรัพย์สินในอัตรา 17. 5% ของยอดขายในแต่ละปีด้วย” อารักษ์ สุนทรส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจซึ่งดูแลโครงการพิเศษเล่าให้ฟัง

การปรับปรุงพื้นที่ 14 ไร่บริเวณตลาดมิ่งเมืองที่ล้อมรอบด้วยถนนพาหุรัด ถนนตรีเพชร และถนนเจริญกรุง ที่ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่อันทรุดโทรม ที่อยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ผู้บริหาร สนง.ทรัพย์สิน ฯ เกิดแนวคิด ที่จะปลุกวิญญานอนุรักษ์การค้าและศิลปวัฒนธรรมแบบไทยไว้ขาย นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ฉะนั้นคอนเซปท์การออกแบบของโอลด์สยามพลาซ่าจึงคงเอกลักษณ์ไทยในเชิงสถาปัตยกรรมอาคารสูง 5 ชั้นแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งลวดลายปูนปั้น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย อัญมณี อาหารไทย ร้านยาดอง พื้นที่ร้านค้า 1-3 จำนวน 360 หน่วย ส่วนชั้น 4 และ 5 เป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 120 หน่วย

นอกจากนั้นโครงการที่สำคัญอีกแห่งใกล้เคียงกันก็คือโครงการปรับปรุงโรงหนังศาลาเฉลิมกรุงที่จะกลายเป็นโรงโขนแห่งแรกในประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของ บริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ ซึ่งมี มานิต รัตนสุวรรณ เป็นผู้ลงทุนร่วมกับ บริษัท สหศนีมา บริษัทลูกเก่าแก่ของสนง.ทรัพย์สิน ฯ

แต่กว่าโครงการโอลด์สยามพลาซ่า จะสามารถก่อสร้างได้ ก็ได้รับการต่อต้านเป็นแรมปีจากผู้เช่าพื้นที่เดิมและผู้เช่าช่วงซึ่งมีจำนวน 40% ของจำนวนทั้งหมด 117 ราย จากจำนวน 137 ห้องผู้เช่าเดิมเหล่านี้เสียค่าเช่าในอัตราเดือนละ 250 บาท ขณะที่ผู้เช่าช่วงปล่อยให้คนอื่นเช่าถึงเดือนละ 10,000 บาท แต่ในที่สุดผู้เช่า ทั้งหมดก็ยอมรับเงื่อนไขพิเศษที่ให้ผู้เช่าเหล่านี้สามารถใช้สิทธิซื้อพื้นที่ในโครงการโอลด์สยาม-พลาซ่าได้ในราคาถูกกว่าคนภายนอกถึง 25-38% ของราคาเฉลี่ย 2.4, 1.6 และ1.4 ล้านบาทสำหรับพื้นที่ร้านค้าชั้น 1,2 และ 3 ตามลำดับและได้เงินค่าขนย้ายที่ถือค่าเช่า เดือนสุดท้ายเป็นเกณฑ์คูณด้วยจำนวน 40 ปีหรือประมาณ รายละ120,000 บาท

“โครงการพันปี” อีกแห่งหนึ่งที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปี 2510 ก็คือ “โครงการเทพประทาน” ที่คลองเตย ซึ่งมีเนื้อที่ 53 ไร่เดิมที่ดินตรงนี้ถูกไฟไหม้ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มาขอเช่าที่บริเวณนี้ต่อ เพื่อจะสร้างตึกแถวแต่ปรากฎว่าทาง กทม.ได้เอาที่ดินแปลงนี้ให้ทางบริษัทสหกรุงเทพพัฒนาของตระกูล “กาญจนพาสน์” เช่าต่ออีกทอดหนึ่งในระยะเวลา 30 ปี และเมื่อหมดสัญญาบริษัท ฯ ได้ขอเช่าต่ออีก 30 ปีเพื่อจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุนชื่อ “โครงการ EXCHANGE SQUARE”

แต่เดิมโครงการนี้ก็ต้องผจญกับปัญหาการชุมนุมต่อต้านของชาวบ้าน ที่ไม่ยอมย้ายออกไปเป็นเรื่องยืดเยื้อจนกระทั่งถึงสมัยนายก ฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีการยุติปัญหานี้ได้โดยวิธีการทำ “LAND SHARING” แบ่งพื้นที่ 15 ไร่ให้บริษัท ฯ สร้างเป็นแฟลต 8 ชั้น 4 อาคารให้ผู้เช่าเดิมอาศัยจำนวน 832 ยูนิตและสร้างตึกแถวร้านค้าอีก 54 ห้อง

ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 35 ไร่บริษัท สหกรุงเทพพัฒนา ได้วางแผนพัฒนาเป็น “โครงการ EXCHANGE SQUARE” และอาคารสำนักงานตลาดหลักทรัพย์ ฯ แห่งใหม่อีกด้วย

ประโยชน์ที่สนง.ทรัพย์สิน ฯได้รับพอสมควรจากโครงการนี้คือค่าหน้าดินที่บริษัทสหพัฒนากรุงเทพจ่ายให้นอกจากนี้ก็มีค่าเช่าที่เก็บจากชาวบ้านที่อาศัยในแฟลต 832 ห้อง โดยคิดอัตราห้องละ 1,000 บาทต่อเดือนโดยแบ่งเป็นค่าเช่า 760 บาทและค่าดูแลชุมชน 240 บาท อันเป็นอัตราที่ถูกมากเมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างที่ตกประมาณ 6,000 บาทต่อตารางเมตรหรือห้องละ 360,000 บาท (60 ต.ร.ม.)

“โครงการนี้สำนักงานทรัพย์สิน ฯ ได้ผลประโยชน์มาบ้างเล็กน้อย แต่เราก็ได้ความสำเร็จตรง ที่ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนย้ายไปอยู่ที่อื่น” อารักษ์ สุนทรส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

ที่ดินที่ต่อเนื่องจากโครงการเทพประทานก็คือ โครงการคลองเตยไผ่สิงโตและตรอกปลาเค็ม แค่ชื่อก็ฟังดูขำขัน แต่ที่สนง.ทรัพย์สิน ฯ หัวเราะไม่ออก ก็เมื่อคราวประชุมเวิร์ลแบงก์ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ โดยฝั่งตรงข้าม เป็นชุมชนแออัดคลองไผ่สิงโต อันก่อให้เกิดภาพพจน์เสื่อมเสียในสายตารัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพจึงคิดดำริจะย้ายแต่ก็ต้องเจอกับม็อบคนจนเมืองทำให้นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ต้องสั่งระงับแผนกวาดล้างชุมชนเป็นเพียงการปรับปรุงให้ชุมชนสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าเดิมเท่านั้น

แต่ความชาญฉลาดของจิรายุ ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการนำเอาบรรดานักกิจกรรมเพื่อสังคมมารวมตัวกันภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุมชน” ซึ่งศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน สนธิญาน หนูแก้ว ซึ่งเป็นอดีตนักกิจกรรม หัวก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและวงการธุรกิจค้าน้ำตาลได้มาเป็นผู้บริหารโครงการนี้ด้วยเสริมด้วยครูประทีป (อึ้งทรงธรรม) ฮาตะ ประธานมูลนิธิดวงประทีป ร่วมกันสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนคลองไผ่สิงโตและสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อชุมชนของตนเอง ด้วยการให้พวกเขารวมตัวกันในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์

ในที่สุดบริเวณที่ดินที่คลองไผ่สิงโตนี้ได้มีการนำเอามาให้เอกชนเช่าโดยมีแผนจะพัฒนาเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสนง.ทรัพย์สินก็ได้รับเงินค่าหน้าดิน 200 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ถูกนำไปใช้สร้างแฟลตสูง 20 ชั้นให้กับชาวบ้านในชุมชนคลองไผ่สิงโตและตรอกปลาเค็มจำนวน 250 ครอบครัวได้อาศัย

“เพราะฉะนั้น โครงการนี้เท่ากับว่าสำนักงานทรัพย์สิน ฯ แทบไม่ได้อะไรเลย แถมยังต้องเสียดอกเบี้ยอีกต่างหาก” อารักษ์เล่าให้ฟัง

ในส่วนที่ดินต่างจังหวัดของสำนักงานทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความดูแลของ มนตรี มงคลสวัสดิ์ ลูกหม้อเก่าของสนง.ทรัพย์สิน ฯ ที่ประสบความสำเร็จจากการบริหารบริษัทเทเวศประกันภัยและเป็น หัวหน้าฝ่ายธุรกิจที่ดูแล 4 หน่วยงานคือ กองธุรกิจที่ดิน กองธุรกิจอาคาร กองธุรกิจภูมิภาคซึ่งดูแลพื้นที่ใน 13 จังหวัดได้แก่ นครปฐม อยุธยา ฉะเชิงเทรา สงขลา เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลำปาง ชลบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตรและอ่างทอง และกองธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งทำรายได้หลัก

“การจัดการด้านธุรกิจภูมิภาคต้องดูสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติชุมชนสังคม ทุกอย่างต้องพัฒนาให้สอดคล้องกันโดยเฉพาะต่างจังหวัดก็มีสภาพสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันเช่น จังหวัดนครสวรรค์เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมภาคเหนือกับภาคกลาง นครปฐมก็ใกล้ปริมณฑล ความเจริญก็แผ่ออกไป อยุธยาก็มีโรงงานอุตสาหกรรม แปดริ้วก็เป็นเมืองผ่านเราต้องดูสภาพแวดล้อมรวม ๆ ทั้งนโยบายของรัฐบาลด้วยว่าออกมาอย่างไรจึงจะกำหนดแนวทางจัดประโยชน์” หัวหน้ามนตรีกล่าว

การจัดการธุรกิจภูมิภาคของสนง.ทรัพย์สิน ฯ เป็นการหาประโยชน์ตอบแทนบนที่ดินด้วยการ ให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัยหรือทำกินด้านเกษตรกรรมและธุรกิจซึ่งประกอบด้วย อาคารบ้านเรือน โรงแผงลอยรายเดือน หาบเร่รายวัน ที่ดินรายเดือนและรายปี ที่นาค่าธรรมเนียม

“ผมมีหลักอันหนึ่งคือหากจะทำโครงการให้หรูก็ต้องเพื่อคนรวยไม่ใช่ทำในย่านคนจน ประการที่สองก็คือต้องพิจารณาตลาดเดิมในทำเลว่าเป็นอย่างไร หากจะพัฒนาขึ้นคนท้องถิ่นจะรับได้หรือไม่อย่างตลาดสงขลาสมัยก่อนเราไปสร้างตลาดสองชั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ” มนตรีเล่าให้ฟัง

กรณีบริษัทศรีมหาราชา ซึ่งสำนักงานทรัพย์สิน ฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กิจการนี้ขาดทุนสะสมมานานและได้มีการล้างหนี้สินด้วยการนำเอาที่ดินใจกลางเมืองชลบุรีขายให้แก่เสี่ยฮวด “พิพัฒน์ โรจวนิชชากร” เพื่อพัฒนาเป็นโครงการศรีราชาคอมเพล็กซ์โดยมีแบงก์ศรีนครเป็นแหล่งเงินทุนให้ แต่ต่อมาเสี่ยฮวดได้ถูกฆาตกรรม เป็นเรื่องราวอื้อฉาวใหญ่โต โครงการนี้ต้องหยุดชะงักและบริษัทในเครือของแบงก์ศรีนครก็ได้เข้าจัดการดำเนินการต่อโดยเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น “ศรีราชานคร” แต่ประสบปัญหาการต่อต้านจากผู้เช่าเดิมที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ทำให้เรื่องยังคงยืดเยื้อต่อไป

บทบาทของการลงทุนพัฒนาที่ดินในต่างจังหวัดของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ส่วนใหญ่จะยังขึ้นอยู่กับทิศทางการขยายตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมาก ๆ ทำให้ส่วนใหญ่การใช้ประโยชน์ยังเป็นไปในเชิงเกษตรกรรมมากกว่าทำให้ผลตอบแทนที่สนง.ทรัพย์สิน ฯ ได้รับอยู่ในอัตราต่ำอยู่

อย่างไรก็ตามเรื่องราวการพัฒนาที่ดินของสนง.ทรัพย์สิน ฯไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ปัญหาคนจนเมืองที่กระจายอยู่ตามชุมชนแออัด 94 แห่งในบริเวณที่ดินของสนง.ทรัพย์สิน ฯ ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการพัฒนาปรับปรุงที่ดินของสนง.ทรัพย์สิน ฯ ไปเสียแล้ว

แต่ด้วยนโยบายที่จิรายุไว้แนวทางการอยู่ร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากผู้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้นำส่วนหนึ่งไปสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมืองเหล่านี้นี่คือการพัฒนาที่ดินภายใต้คอนเซปท์ใหม่ของสนง.ทรัพย์สิน ฯ ในทศวรรษนี้ !!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us