Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
ไทยลงทุนในลาวมากที่สุดท่ามกลางการคอร์รัปชั่น             
 

   
related stories

ลำดับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ 2528-2535

   
search resources

Economics
Investment
Laos




“การเติบโตด้านการลงทุนของลาวกำลังสูงขึ้น โดยมีนักลงทุนจากไทยเข้าไปมากที่สุด ในสาขาเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลาวมีการคอร์รัปชั่นกันมากท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคม”

ในช่วงต้นปี 2534 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น มีเหตุการณ์สำคัญหลาย เหตุการณ์ที่ได้ถูกเปิดเผยสู่การรับรู้ของสังคมมาภายนอก

พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยที่เด่นชัดที่สุดก็คือ การหลุดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการเมือง (POLITBUREAU) ของ พล.อ. สีสะหวาด แก้วบุนพัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญสูงสุดใน การบัญชาการรบและเจรจาสงบศึกบ้านร่มเกล้าไทย-ลาว จนเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกับ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยในขณะนั้น

และที่สำคัญทำให้ พล.อ. สีสะหวาด เป็นที่รู้จักและเป็นช่องทางผ่านสำหรับการเข้าไปลงทุน และทำการค้าในลาวของนักธุรกิจไทย

ซึ่งว่ากันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ. สีสะหวาดต้องหลุดออกจากตำแหน่งสำคัญทั้งทางการเมืองและทางทหาร คงเหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้เท่านั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการหลุดจากตำแหน่งของพล.อ. สีสะหวาด ไม่ถึงเดือนก็คือ มีการจับกุมการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดถึง 2 ครั้งติดต่อกัน

โดยเหตุการณ์แรกเป็นการจับกุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างตลาดสากลของคณะปกครองกำแพงนครเวียงจันทน์ถึง 30 คน

ทั้งนี้จากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนปรากฎว่า การก่อสร้างโดยบริษัทผู้รับเหมาจากเวียดนามเป็นการก่อสร้างที่ผิดแบบก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามกำหนด และมีการเก็บเงินล่วงหน้าจาก ผู้เช่าคูหาสินค้าก่อนที่จะมีการก่อสร้างรายละ 75,000 บาท โดยมีการยักยอกส่วนเงินของรัฐไปหมุนเวียนในธุรกิจส่วนตัวของกลุ่ม

ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เป็นการจับกุมคณะผู้บริหารบริษัทน้ำมันเชื้อไฟลาว จำกัด 8 คน ฐานฉ้อโกงและยักยอกเงินของรัฐตั้งแต่ปี 2529-2534 จำนวนกว่า 303 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2535 ที่ผ่านมาศาลประชาชนสูงสุดของลาวได้พิพากษาตัดสิน จำคุกบุคคลทั้ง 8 เป็นเวลาระหว่าง 10-20 ปี โดยไม่มีการอุทธรณ์

แหล่งข่าวภายในพรรคฯ ได้ให้ข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคอย่างน้อย 2 ประการกล่าวคือ

ประการแรกเป็นการปรับเปลี่ยนแนวและวิธีคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มผู้นำพรรค ที่มีความพยายามในการจัดระบบกลไกเศรษฐกิจใหม่ ให้มีความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจโลก

หรืออย่างน้อยก็เพื่อให้มีความสอดรับกับเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนภายในประเทศนั่นคือ การเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจและการค้าโดยเปิดโอกาสให้เอกชนภายในประเทศและต่างประเทศสามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นการผูกขาดและควบคุมโดยรัฐ หรือเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ส่วนบุคคลของกลุ่มผู้นำพรรคบางกลุ่ม เหมือนอย่างที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งการ จับกุมกลุ่มผู้คอร์รัปชั่นทั้ง 2 เหตุการณ์นั้นนับได้ว่าเป็นคดีที่ผู้นำพรรคมีความต้องการที่จะให้เป็นแบบอย่าง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างภาพพจน์ใหม่ให้แก่ผู้นำและพรรคในสายตาของประชาชนอีกด้วย

โดยจะเห็นได้จากการที่พรรคและรัฐยอมให้มีการเปิดเผยการจับกุมและตัดสินคดีดังกล่าวผ่านการกระจายเสียงของสถานีวิทยุแห่งชาติและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับภายในประเทศ

ในประการที่สอง เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองภายในพรรค และภายในประเทศครั้งสำคัญ โดยภายในพรรคนอกจากจะเป็นการต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มภาคเหนือกับกลุ่มภาคใต้แล้วยังเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิอำนาจทางการเมืองระหว่างสายอำนาจภายในพรรคอีกด้วย

(ดูรายละเอียดในแผนภูมิ)

ซึ่งกรณีการหลุดจากตำแหน่งของพล.อ.สีสะหวาด ซึ่งเป็นผู้นำสายซำเหนือที่มาจากกลุ่มภาคเหนือนั้นนับได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

เพราะการที่พล.อ.สีสะหวาด หลุดจากการเป็นประธานคณะเสนาธิการสูงสุดของกองทัพและการหลุดจากการเป็นกรรมการกรมการเมืองนั้น ถือว่าเป็นการสูญเสียทั้งอำนาจทางทหารและทางการเมืองไปในเวลาเดียวกัน

พร้อมกันนั้นยังต้องสูญเสียอำนาจในการบริหารการปกครองกำแพงนครเวียงจันทน์ไปให้กับ อุดม ขัดติยะ หนึ่งในกรรมการกรมการเมืองที่มาจากสายเชียงขวางซึ่งเป็นกลุ่มภาคเหนือเช่นเดียวกัน

และกรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่ 30 คนฐานคอร์รัปชั่นนั้นก็คือ การล้างสายอำนาจของ พล.อ. สีสะหวาด ให้พ้นไปจากการบริหาร ในเขตกำแพงนครเวียงจันทร์นั่นเอง

ความสำคัญในข้อนี้ก็คือ เป็นการประลองกำลังอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มและสายอำนาจทางการเมือง ระหว่างกลุ่มและสายอำนาจทางการเมืองภายในพรรคในสมัชชา ฯ 5

การประชุมใหญ่สมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ 5 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2534 ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีมติหลายประการที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในพรรคฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการยกเลิกตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะเลขาธิการพรรคและคณะกรรมการกลางพรรค ทั้งนี้โดยมีการจัดตั้งตำแหน่งประธานพรรคและคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรค ขึ้นมาแทน

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลทำให้อำนาจทางการเมืองได้รวมศูนย์เข้ามาอยู่ในความรับ ผิดชอบของประธานพรรคและประธานประเทศ (มีวาระครั้งละ 5 ปี) คือ ไกสอน พรหมวิหานมากยิ่งขึ้น

โดยอำนาจดังกล่าวได้ปรากฏอย่างชัดเจน ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ. 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของลาวนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองดังความในมาตรา 53 ความว่า ประธานประเทศมีสิทธิและอำนาจหน้าที่ดังนี้ :

1. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ผ่านการรับรองของสภาแห่งชาติแล้ว
2.
3. ออกรัฐดำรัส และ รัฐบัญญัติตามคำเสนอของคณะประจำสภาแห่งชาติ
4.
5. แต่งตั้งหรือ ปลดนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แล้วเสนอให้สภาแห่งชาติพิจารณา รับรอง
6.
7. แต่งตั้งโยกย้าย หรือปลดเจ้าแขวง เจ้าครองกำแพงนคร ตามคำเสนอของนายกรัฐมนตรี
8.
9. อนุมัติการเลื่อนชั้นหรือลดชั้นนายทหารระดับนายพล ในกองกำลังป้องกันชาติและรักษาความสงบเรียบร้อย ตามการเสนอของนายก รัฐมนตรี
10.
11. เป็นแม่ทัพกำลังประกอบอาวุธประชาชน
12.
13. เป็นประธานในการ ประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น
14.
15. อนุมัติการประดับเหรียญ คำแห่งชาติ เหรียญเกียรติคุณ เหรียญชัยและนามยศสูงสุดแห่งรัฐ
16.
17. อนุมัติการให้อภัยโทษ
18.
19. อนุมัติการระดมพลและภาวะฉุกเฉิน
20.
21. ประกาศให้สัตยาบันหรือลบล้างสนธิสัญญา สัญญาทุกฉบับที่ได้ลงนามกับต่างประเทศ
22.
23. แต่งตั้งผู้แทนประเทศผู้มีอำนาจเต็มเพื่อไปประจำในต่างประเทศหรือเรียกกลับประเทศ และรับรองผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของต่างประเทศที่ประจำอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
24.
25. ปฏิบัติสิทธิและหน้าที่อื่น ๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
26.
“จะเห็นได้ว่า ท่านผู้นำประเทศท่านมีอำนาจอย่างครบถ้วนทั้งในทางการบริหารการนิติบัญญัติและการตุลาการ นอกจากนั้นท่านยังมีอำนาจการชี้นำพรรคและรัฐอย่างบริบูรณ์รวมทั้งยังมีอภิสิทธิ์ในการให้สัตยาบัน และบอกลบล้างสนธิสัญญาหรือ สัญญากับต่างประเทศได้อีกด้วย

สำหรับเหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทางผู้นำพรรคได้ให้เหตุผลว่า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารประเทศเพื่อให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านการเมืองการปกครอง แล้วก็คงจะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการรวบอำนาจและในทุกวันนี้ภายในวงข้าราชการด้วยกันเวลาเขากล่าวถึงท่านผู้นำประเทศเขาจะเรียกว่า “ฮ่องเต้” แหล่งข่าวภายในกระทรวงเศรษฐกิจแผนการการเงิน กล่าว

บุนเตียม พิดสะหมัย รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัวพันเศรษฐกิจกับต่างประเทศกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และวิทยาการสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก

ประกอบกับบรรยากาศในเวทีการเมืองโลก ก็ได้เปลี่ยนจากการเผชิญหน้ามาสู่การร่วมมือกันในขณะที่ความต้องการของมนุษย์ก็ไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์มีทุนอย่างมหาศาล ที่สามารถผลักดันออกมาในรูปของวิทยาการสมัยใหม่ ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก

ซึ่งการที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน โดยปราศรัยจากการยอมรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้และการเปิดกว้างทางด้านวิทยาการสำหรับประชาชนแล้วย่อมไม่มีทางที่จะพัฒนาความก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ได้เลย

ฉะนั้นถ้าหากลาว ไม่รู้จักนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ แล้วการพัฒนาประเทศคงไม่มีทางเป็นไปได้สภาวะในปัจจุบันนี้ ลาวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดประเทศ

“เป็นเวลานับ 100 ปีที่ลาวไม่มีโอกาสพัฒนาประเทศด้วยตนเอง เพราะต้องตกเป็นอาณานิคมและตกอยู่ในสภาพของสงครามตลอดเวลาเราไม่มีโอกาสลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสเราก็ต้องค้นหาความถูกต้องและความเหมาะสมกับสภาพภายในประเทศของเรา อันไหนถูกต้องเราก็ส่งเสริมต่อ ส่วนอันไหนผิดเราก็หยุด

การพัฒนาประเทศในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราใช้ระบบการชี้นำของรัฐ แต่มาถึงปัจจุบันเราก็พบว่ามันล่าช้าและด้อยพัฒนาในทุก ๆ ด้าน จึงนำไปสู่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเดิมไปสู่ กลไกเศรษฐกิจใหม่ ( NEW ECONO MICMECHANISM) อันเป็นการเปิดประตูประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ

ถึงแม้ว่าพรรค และ รัฐของพวกเราจะยังคงเน้นความสำคัญในด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่ความจำเป็นพื้นฐานที่แท้จริงก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ บุนเตียม กล่าว

นโยบายกลไกเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลลาวได้เริ่มมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อปลายปี 2529 เป็นต้นมาโดยมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนเข้าไปบริหารเกือบทุกภาค แต่ยังคงสงวนไว้เฉพาะในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ

เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร ปุ๋ย ฯลฯ มีการปล่อยให้ระดับราคาสินค้าเคลื่อนไหวโดยเสรีตามอัตราตลาด เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ซีเมนต์ เครื่องจักรและยานยนต์

ตั้งแต่ปี 2531 มีการปรับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราให้อยู่ในระดับเดียวกับอัตราตลาดแล้ว ยกเลิกระบบแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

มีการปรับปรุงอัตราภาษีขาเข้าลดลงจากร้อยละ 0-200 เหลือร้อยละ 0-70 สำหรับโครงการ ลงทุนต่าง ๆ จะมีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 อัตราภาษีนำเข้าขั้นสูงจะใช้กับสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น

และที่สำคัญคือ มีการประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2531 โดยให้การส่งเสริมเป็นพิเศษในการลงทุนด้านกสิกรรมป่าไม้ อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในลาวเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก หรือทดแทนการนำเข้า มีเทคนิคในการผลิตที่ทันสมัยและเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในลาว (ดูรายละเอียดในลำดับเหตุการณ์)

จากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL MONETARY FUND- IMF) ได้รายงานถึงผลจากการนำใช้นโยบายการปฏิรูปกลไกเศรษฐกิจใหม่ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว ซึ่งติดลบมาโดยตลอดจนถึงปี 2531 เริ่มมีการเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปีระหว่างปี 2532-2534

เงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 75 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 10 ในปี 2534 รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 184 ดอลลาร์ในปี 2528 เป็น 200 ดอลลาร์ในปี 2535

และจากการประเมิน ตามโครงการ STRUCTURAL ADJUSTMENT FACILITY (SAF) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงินที่ IMF ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลลาวคาดว่าในปี 2535 การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวจะอยู่ในอัตราร้อยละ 6.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 6-7

สำหรับรายได้ประชากรนั้น รัฐบาลลาวตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องทำให้ประชาชนลาวมีรายได้ต่อหัวต่อปีเป็น 250 ดอลลาร์ ภายในปี 2543

บุนชาน วิสุดทิวง รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในลาว กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลลาวได้ประกาศใช้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อปี 2531 เป็นต้นมา ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน (6 เดือนแรกของปี 2535) รัฐบาลลาวได้อนุญาตให้มีการลงทุน จากต่างประเทศจำนวน 225 รายคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 392 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เป็นการลงทุนในรูปของการร่วมทุน (Joint Venture) มากที่สุดจำนวนถึง 109 โครงการมีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รองลงมาถือการลงทุนโดยทุนต่างประเทศ (Wholly Foreign-Owned) และการลงทุนในรูปของสัญญา (Business by Contract) จำนวน 100 โครงการ มูลค่า 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 16 โครงการ มูลค่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในธุรกิจขนาดกลาง (2.5-25 ล้านบาท) ถึง 176 โครงการ และการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก (น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท) มี48 โครงการ

ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่มีเพียง 1 โครงการ คือสัมปทานเหมือแร่ ซึ่งดำเนินโดย บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนท์ จำกัด

หากพิจารณาการลงทุนของต่างประเทศในลาวเป็นรายประเทศแล้ว บุนชาน กล่าวว่า จากจำนวนโครงการการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด 17 ประเทศ ปรากฎว่าเป็นการลงทุนจากประเทศไทยมากที่สุด คือ 91 โครงการคิดเป็น 40% ของจำนวนโครงการทั้งหมด มีมูลค่าถึง 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 34% ของมูลค่า การลงทุนทั้งหมดรองลงมาคือการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา 14 โครงการ มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ ไต้หวัน 16 โครงการมูลค่า 19.3 ล้านดอลลาร์ จีน 13 โครงการมูลค่า 16.4 ล้านดอลลาร์ รัสเซีย 11 โครงการ มูลค่า 16.3 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย 12 โครงการมูลค่า 14.9 ล้านดอลลาร์ ฝรั่งเศส 19 โครงการ มูลค่า 14.4 ล้านดอลลาร์ ฮ่องกง 12 โครงการมูลค่า 13.8 ล้านดอลลาร์ อังกฤษ 6 โครงการ มูลค่า 11.9 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ โดยธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือ การโรงแรม และการท่องเที่ยว มีมูลค่าการลงทุน 106.5 ล้านดอลลาร์

รองลงมาคือการขนส่ง การเหมืองแร่-ปิโตรเลี่ยม หัตถกรรม เกษตรกรรม สิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูป และการนำเข้า-ส่งออก ตามลำดับ

วีละจิด พีละพันเดด เลขาธิการสภาการค้าและอุตสาหกรรมลาว กล่าวว่า เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2535 มีการลงทุนจากต่างประเทศถึง 48 ราย มูลค่า 66.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2534 ถึง 25% โดยในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนจากประเทศไทย 9.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17.5% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และเป็นการลงทุนในธุรกิจสิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น คือ 15 รายซึ่งเมื่อรวมแล้วมีการลงทุนในธุรกิจสิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูป จากประเทศไทยถึง 26 ราย จากจำนวนทั้งหมด 40 รายทั่วประเทศ

“การที่นักธุรกิจไทยนิยมการลงทุนในธุรกิจนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากลาวได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าโดยไม่จำกัดจำนวนจากประชาคมยุโรป และอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอร์มัน อิตาลี สเปน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไทย ต้องประสบกับปัญหาการถูกจำกัดโควต้าการส่ง สิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้าไปในประเทศเหล่านี้” วีละจิด กล่าวและว่า

สถิติการส่งออกสิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูปของลาวในปี 2534 มีมูลค่า 15.1 ล้านดอลลาร์และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2535 ปรากฎว่ามีมูลค่าการส่งออกถึง 12.5 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาปรากฎว่ากลุ่มประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ลาวดังกล่าว ได้มีการจำกัดโควต้าการนำเข้าสิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากลาว

โดยเฉพาะแคนาดานั้น ถึงกับมีคำสั่งงดการนำเข้าสิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากลาว สำหรับเหตุผลของการจำกัดโควต้าและการงดการนำเข้าดังกล่าวแหล่งข่าวภายในวงการธุรกิจนำเข้า-ส่งออก กล่าวว่า เพราะปรากฏว่า มีผู้ประกอบการในลาวเป็นจำนวนมากที่ได้รับโควต้าจาก ต่างประเทศ ไม่ได้ใช้สิทธิ์ในการส่งออกที่แท้จริง โดยได้มีการนำโควต้าที่ได้รับไปขายต่อให้กับต่างประเทศ

“การที่มีการขายโควต้าสิ่งทอให้กับต่างประเทศเช่นนี้ ก็เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วปริมาณการผลิตที่เป็นจริงนั้นต่ำมาก โรงงานส่วนใหญ่ตั้งจักรเย็บไว้เฉย ๆ เพราะไม่มีคนงาน อย่างในเวียงจันทน์นี่มีอยู่ 26 โรงงานแต่ละโรงงานต้องการงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แต่ทั้งกำแพงนครเวียงจันทน์มีคนงานไม่ถึง 50,000 คน อย่างนี้แล้ว จะเอากำลังการผลิตมาจากไหน ฉะนั้นการที่กลุ่มนักธุรกิจจะสามารถกระทำ หรือดำเนินการเช่นนี้ได ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำการตรวจสอบว่ามีการส่งออกจริง หรือส่งออกเพียงตัวเลข” แหล่งข่าวในธุรกิจนำเข้า-ส่งออกกล่าว

จากการเปิดเผยของสำนักข่าวสารแห่งประเทศลาว เกี่ยวกับสภาพการลงทุนในลาวในรอบปี 2534 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในธุรกิจจำนวน 136 โครงการที่ต้องล้มเลิกหรือล้มละลายไปแล้วมีถึง 27 โครงการ คิดเป็น 20% และที่กำลังอยู่ในสภาพจะไปไม่รอด 41 โครงการคิดเป็น 30% ส่วนอีก 68 โครงการนั้นสามารถดำเนินการไปได้แต่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก

หนังสือพิมพ์ประชาชน “วันอาทิตย์” ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรายงานว่าการอนุมัติให้สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกยูคาลิปตัส และ ข้าวโพดแก่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ จำนวน 18,000 ไร่ ที่เมือบาเจียงเจริญสุข แขวงจำปาสัก นั้นปรากฏ ว่าที่สัมปทานของ ซี.พี. กับที่สัมปทานของบริษัท ดัฟฟี่จำกัด กลับเป็นบริเวณเดียวกัน ซึ่งบริษัท ดัฟฟี่ จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุมัติสัมปทานก่อน ซี.พี.

“ผมเข้าไปบุกเบิกตลาดสินค้าในลาว ตั้งแต่ปี 2529 โดยเริ่มจากการสั่งผ้าเข้าไปขายและต่อมาได้สั่งรถจักรยานยนต์เข้าไปขาย ผมทำตลาดตั้งแต่ขายไม่ได้เลย จนมาเริ่มขายได้ในปีถัดมาและมาขายดีในปีหลัง ๆ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์เป็นที่นิยมของคนลาวมากแต่กว่าจะทำได้อย่างนี้ ผมต้องใช้เวลา ถึง 5 ปี ซึ่งเป็นการทำตลาดโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลลาวแต่อย่างใด แต่เมื่อต้นปี 2534 ผมต้องเลิกกิจการในลาว เพราะผู้ใหญ่ในลาวบีบให้ต้องเลิก พร้อมกันนั้นก็ได้ให้การสนับสนุนนักธุรกิจ ที่มีความใกล้ชิด และเข้าถึงอำนาจเข้ามาทำต่อจากธุรกิจที่ผมทำอยู่” ธานินทร์ พันธ์ประภากิจ กรรมการ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด M.A.T. ซึ่งทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในกลุ่มประเทศอินโดจีน กล่าว

บุนเตรียม พิสะหมัย กล่าวว่าการคอร์รัปชั่นในวงราชการของลาวนั้น นับได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ประกอบกับลาว ยังขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและมีความรู้ความเข้าใจในด้านเศรษฐกิจอีกมาก ทำให้สามารถพัฒนาไปได้ช้า

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากลาวพึ่งเริ่มต้นให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบของทุนนิยม ได้ไม่นาน ฉะนั้น จึงยังมีปัญหาช่องว่างทางกฎหมายมากพอสมควร

ลาวยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุงอีกมาก รัฐบาลต้องการขยายการพัฒนาเศรษฐกิจให้มากและกว้างขวางเป็นที่สุด แต่ก็ยังติดที่ปัญหาภายในหลายประการ ในขณะที่ลาวต้องการเปิดเสรีในทุก ๆ ด้าน แต่ลาวก็ยังต้องการรักษาความเป็นเอกราชในทุก ๆ ด้าน ลาวต้องการขายทรัพยากร แต่ลาวก็ยังต้องการรักษาธรรมชาตินี่คือปัญหาที่ยากมากในทางปฏิบัติ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us