|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2535
|
|
ความบริสุทธิ์ของกระบี่เสมือนหนึ่งเป็นแม่เหล็กชั้นเยี่ยมดึงดูดนักลงทุนการท่องเที่ยวให้แห่กันมา เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับจังหวัดใกล้เคียงกัน คือ ภูเก็ต
ด้วยเป้าหมายชัดเจนต้องการให้กระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต่อไป การสร้างสนามบินจึงเกิดขึ้น รวมถึงการขยายถนนเชื่อมระหว่างภูเก็ตกับกระบี่ จาก 2 เลนเป็น 4 เลน ที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์
บวกด้วยความปั่นป่วนทางการเมืองได้ผ่อนคลายลงทำให้ทิศทางการท่องเที่ยวส่อเค้าความ สดใสขึ้น หลังจากเกิดสภาวะจำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลงจากเป้าหมายที่ทางการท่องเที่ยววางไว้
ความพรั่งพร้อมหลายประการรวมกัน ทำให้โครงการสร้างโรงแรมและรีสอร์ท ระดับ 5 ดาว ที่เคยชลอตัวเริ่มขยับตัวลงมือดำเนินการ
โครงการที่เห็นเป็นรูปร่างมากที่สุดในขณะนี้ คือดุสิตรายาวดี รีสอร์ท บริเวณแหลมนาง แม้ว่าปัญหาเรื่องที่ดินยังไม่กระจ่างนัก แต่ก็ได้ลงมือก่อสร้างไปบ้างแล้ว
ติดตามมาด้วยโครงการเก่าและเป็นเจ้าแรกที่พยายามสร้างโรงแรมระดับหรู 300 ห้อง ที่อ่าวไผ่ปล้อง เป็นโครงการที่สร้างความฮือฮามากในขณะนั้น เพราะจะมีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ที่กั้นกลางระหว่างอ่าวและถนนใหญ่ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้ไม่ต้องลุยน้ำหรือปีนเขามายังอ่าว
แต่เนื่องจากแบบก่อสร้างที่ต้องระเบิดภูเขา ไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำให้เจ้าของความคิดคือ หมอไชยยุทธ กรรณสูต ในนามบริษัท สยามลอดจ์ ต้องระงับโครงการไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี การหยุดชั่วคราวของโครงการ มิได้หมายความว่าจะยกเลิกโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นโครงการนี้อาจฟื้นขึ้นได้ เมื่อมีการแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อให้ผ่านการพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
รายล่าสุดของกระบี่ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดเมื่อปีที่แล้ว และมาเป็นรูปเป็นร่างในปีนี้ เป็นโครงการระดับยักษ์ ลงทุนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงแรมและศูนย์สรรพ-สินค้า ที่เขาขนาบน้ำ อำเภอเมืองกระบี่
หัวเรือใหญ่คือ พิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล เจ้าของตำแหน่ง “ประธานหอการค้า” ถึง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานหอการค้ากระบี่ ประธานหอการค้าเขต 16 (กระบี่ พังงา ภูเก็ต) และประธานหอการค้าภาคใต้
นอกจากนี้แล้ว เขาเพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่หมาด ๆ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
พิเชษฐในฐานะประธานบริษัท อันดามันอินเตอร์โฮลดิ้ง ได้ระดมทุนจากทั้งบริษัทคนไทย คือบริษัท ยงไทยเคมี และบริษัท ซิลเวอร์ ยอร์ค ดิเวลอปเมนท์ ของนักลงทุนฮ่องกง รวมเป็น 3 บริษัท โดยบริษัทอันดามันอินเตอร์โฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 40 เปอร์เซ็นต์
เฟสแรกจะเป็นโรงแรมกระบี่มารีนไทม ริมทะเล ขนาด 235 ห้อง
เมื่อเสร็จเฟสแรกแล้วจะต่อด้วยเฟสที่สอง เป็นรีสอร์ทขนาด 200 ห้อง รวมทั้งจะสร้าง ท่าเรือและลานจอดเฮลิคอปเตอร์
และเฟสสุดท้าย คือศูนย์สรรพสินค้า
โครงการของพิเชษฐ ไม่เชิงว่าจะปราศจากปัญหาทีเดียว นอกจากต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ยังมีเรื่องต้องตีความตามกฎหมายว่า บริเวณที่ตั้งจะต้องบังคับใช้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดภาคใต้ ซึ่งกระบี่เป็นหนึ่งจังหวัดในภาคใต้ที่ระบุไว้
ถ้าตีความแล้วต้องทำตามประกาศ ก็ต้องมาพิจารณาอีกทีว่า แบบการก่อสร้างโรงแรมตามโครงการที่วางแผนไว้ ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตการก่อสร้างไปเมื่อไร
ถ้าหากยื่นภายหลังวันที่ 16 เมษายน 2535 อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงการให้ถูกต้องตามข้อกำหนดความสูงของอาคารให้สูงสุดไม่เกิน 12 เมตร และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันไม่เกิน 2,000 ตารางเมตรในบริเวณพื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลเข้าไปแผ่นดินเป็นระยะ 200-300 เมตรขึ้นไป ตลอดแนวชายฝั่งทะเล
ส่วนบริเวณพื้นที่จากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปแผ่นดินระยะ 50 เมตร จะห้ามการก่อสร้าง ทุกชนิด เว้นแต่อาคารที่อยู่อาศัย ความสูงไม่เกิน 6 เมตร มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร เขื่อน ทาง หรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพงที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร และท่าเทียบเรือ และอาคารของทางราชการ
จากประกาศข้างต้นโรงแรมและรีสอร์ทระดับ 200 กว่าห้องของพิเชษฐ รวมทั้งศูนย์สรรพสินค้า คงต้องอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเป็นระยะ 300 เมตรขึ้นไป จึงจะสามารถสร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตร และมีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร
อย่างไรก็ดี โครงการนี้ได้ลงมือตอกเสาเข็มแล้ว และคาดว่าเฟสแรกจะเสร็จรวมปลายปี 2536
นับได้ว่ากระบี่กำลังเข้าสู่ยุคการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความงามของธรรมชาติเป็นมรดก
และเมื่อมีการสร้างจนล้นเกินงาม ก็อาจจะกลายเป็นยุคดิ้นรนให้พ้นความเสื่อมโทรม ดังเช่นที่หลายจังหวัดเผชิญอยู่เช่นกัน
|
|
|
|
|