Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
ดุสิตรายาวดี เดินหน้าไปเรื่อย ๆ ระวังจะหกล้ม             
โดย นฤมล อภินิเวศ
 

   
related stories

พิเชษฐ ! เอาอีกแล้วที่กระบี่

   
search resources

โรงแรมดุสิตรายาวดี
Hotels & Lodgings
พรีเมียร์ รีสอร์ท




แผนสร้าง “ดุสิตรายาวดี” ให้เป็นโรงแรม 5 ดาวที่เข้าขั้นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับ BLUE FLAG ของยุโรป อาจเป็นได้เพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อที่สวนทางกับความจริง หากเจ้าของโครงการ คือบริษัท พรีเมียร์ รีสอร์ทกระบี่ และกลุ่มดุสิตธานีในฐานะผู้บริหาร ไม่ลบภาพชวนฉงน 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องแนวเขตโรงแรมที่อาจทับที่ดินอุทยานแห่งชาติ และการใช้ช่องโหว่กฎหมายหลีกเลี่ยงการตรวจ-สอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

โรงแรมดุสิตรายาวดี รีสอร์ท แนะนำตัวเป็นทางการครั้งแรกที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ลงมือวางฐานโครงสร้างโรงแรมไปแล้วราว 5 เดือนก่อนหน้านั้น ณ บริเวณที่ตั้งบ้านแหลมพระนาง ตำบลอ่าวพระนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

โรงแรมแห่งนี้ลงทุนโดยบริษัทพรีเมียร์ รีสอร์ท กระบี่ มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท และด้วยความที่บริษัทพรีเมียร์ฯ ไม่มีประสบการณ์ทำโรงแรมมาก่อนจึงว่าจ้างให้เครือดุสิตธานีเข้าบริหาร

กล้า กิจการ ผู้จัดการภาคใต้ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานี พูดเปิดตัวโรงแรมด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า

“เป็นความฝันของผมที่จะสร้างบ้านพักในชนบทและดุสิตรายาวดีจะเป็นบ้านพักในฝัน”

โรงแรมในฝันหรือบ้านพักในฝันของกล้า กิจการ จะมีทั้งหมด 75 หลัง บนเนื้อที่ 53 ไร่เศษ ลักษณะของบ้านพักจะสูง 2 ชั้น เป็นอาคารทรงกลมอยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าว มีทั้ง 4 แบบ ด้วยกัน ได้แก่ รายาวดีวิลล่า พระนางวิลล่าสวีท แฟมิลีพาวิลเลียน และพาวิลเลียน

รวมทั้งมีความสะดวกตามมาตรฐาน 5 ดาว คือมีเครื่องปรับอากาศทุกอาคาร มีห้องจัดเลี้ยงจัดประชุม มีสระว่ายน้ำพร้อมระบบน้ำวน สถานที่ออกกำลังกาย สนามเทนนิส สนามสควอท ซาวน่า และกีฬาทางน้ำ

นอกเหนือจากเป็นบ้านพักในฝันแล้ว เจ้าของโครงการคือบริษัทพรีเมียร์รีสอร์ทกระบี่ บริษัท ในเครือกลุ่มพรีเมียร์ และกลุ่มดุสิตธานีในฐานะผู้บริหารยังมีความตั้งใจสร้างดุสิตรายาวดีให้ได้ประทับตรา ว่าเป็น “โรงแรมธงน้ำเงิน” หรือ ‘BLUE FLAG” ตามมาตรฐานของผู้ริเริ่มคือมูลนิธิในยุโรปชื่อ ECONOMIC COMMUNITY’S FOUNDATION FOR ENVIRONMENTAL EDUCATION

โรงแรมธงน้ำเงินก็คือ โรงแรมที่มีโครงสร้างและระบบที่ผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในสถานที่แห่งนั้นได้อย่างกลมกลืนและมีคุณภาพสูง โดยไม่ได้ทำลายการดำรงอยู่ของระบบนิเวศน์แต่อย่างใด

“ผมคิดว่ากระบี่น่าจะเป็นที่สงวนให้เป็น WORLD CLASS RESORT ซึ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสิ่งที่ต้องการ คือ BLUE FLAG หรืออีกนัยหนึ่งเป็น THE MOST LUXURY RESORT ที่จะตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและรักษาธรรมชาติให้มากที่สุด” กล้าให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการ” เรื่องการพัฒนากระบี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ แทนที่ภูเก็ตที่ถึงจุดอิ่มตัว

การรณรงค์ให้โรงแรมเข้าขั้น BLUE FLAG มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะของ “นักต่อสู้สีเขียว” ที่ร้องแรกแหกกระเฌอแล้วมักถูกมองข้ามเสมอเท่านั้น

แต่ครั้งนี้สมาคมการท่องเที่ยวของเยอรมันขานรับเป็นนโยบายว่า ถ้าโรงแรมใดไม่ตรงตามข้อกำหนดของ BLUE FLAG โรงแรมนั้นจะถูกตัดชื่ออก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายธรรมชาติขึ้นอีกดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เช่นรีสอร์ททางแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นโยบายเรื่องนี้มีผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเหตุว่าสมาคมฯ มีสมาชิกที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนใหญ่มากที่ครอบคลุมเส้นการเดินทางทุกมุมโลกทีเดียว

ฉะนั้น ข้อเรียกร้องทั้ง 27 ข้อที่ BLUE FLAG เสนอขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วในเรื่องคุณภาพสภาพแวดล้อมรอบ ๆ และบริเวณโรงแรม ชายหาด คุณภาพน้ำ การกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูล ฯลฯ จึงมีอิทธิพลต่อด้านการตลาดของโรงแรม

โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศแถบยุโรป จะพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจที่พักที่โรงแรมใด ฉะนั้นการวางเป้าหมายตลาดของดุสิตรายาวดีอยู่ที่นักท่องเที่ยวยุโรปและเอเชีย ทำให้ความพยายามไปถึง BLUE FLAG มีความหมายต่อจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่จะมาใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยข้อกำหนดของ BLUE FLAG และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในสภาพแวดล้อมเป็นพิเศษ ดุสิตรายาวดีจึงให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทำสำรวจพรรณพืชและสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตติดกับโรงแรม

นอกจากนี้แล้วจะติดตั้งระบบกำจัดของเสียที่สมบูรณ์แบบ น้ำเสียจะได้รับการบำบัดและนำกลับไปใช้รดน้ำสวนของโรงแรม

และด้วยข้อจำกัดของภูมิประเทศของบริเวณที่ตั้งโรงแรมมีลักษณะเป็นหัวแหลม ที่มีภูเขากั้นจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้การเดินทางไปมาต้องอาศัยทางน้ำเท่านั้น การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงมีความยุ่งยากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องขยะ

ทางดุสิตรายวดี จะแก้ปัญหาด้วยการขนใส่เรือไปทิ้งที่สำนักงานบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกว่าอ่าวน้ำเมา เพื่อส่งต่อไปที่โรงกำจัดขยะของจังหวัดอีกทีหนึ่ง

การต้องใช้เส้นทางน้ำ ทำให้ทางบริษัทพรีเมียร์ฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของดุสิตรายาวดี สั่งต่อเรือท้องแบนคล้ายคลึงกับเรือยกพลขึ้นบกของทหารที่สามารถล่องในน่านน้ำตื้นได้ และมีลักษณะเป็นทางลาดที่หัวเรือ เพื่อขนถ่ายผู้โดยสารและสัมภาระขึ้นหาดได้ โดยไม่ต้องสร้างท่าเทียบเรือและไม่ต้องเจาะร่องน้ำซึ่งจะเป็นการทำลายสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติใต้น้ำ

ในขั้นทดลองเริ่มแรกทางบริษัทสั่งต่อเรือขนาดจุผู้โดยสาร 12 คน จำนวน 3 ลำ สำหรับเส้นทางท่องทะเลระหว่างภูเก็ต-กระบี่ และเรือขนาดใหญ่จุผู้โดยสาร 30 คน จำนวน 2 ลำ เพื่อให้ลำหนึ่งสำหรับแขกโรงแรมและพนักงานที่จะเข้าออกระหว่างโรงแรมกับตัวเมืองกระบี่ ส่วนอีกลำเพื่อขนสัมภาระ อาทิ อาหาร เสื้อผ้า น้ำมัน แก๊สหุงต้ม ขยะ เป็นต้น

ความห่วงใยธรรมชาติมิใช่จำกัดเฉพาะบริเวณของโรงแรมเท่านั้น จะมีการขอความร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงตลอดจนคนท้องถิ่นที่สัญจรไปมาด้วยในเรื่องการรักษาความสะอาด และจะแนะนำแก่เจ้าของเรือหางยาวที่วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวในขณะนี้ ให้เปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นเพื่อลดเสียงดังของท่อไอเสียเรือ เพื่อมิให้เกิดมลพิษทางเสียงเป็นการรบกวนแขกที่มาเที่ยว รวมทั้งสัตว์ต่าง ๆ เช่น นกในบริเวณนั้นด้วย

นอกจาการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางดุสิตรายาวดียังต้องลงทุนปั่นไฟใช้เองด้วยการปล่อยควันและเสียงผ่านน้ำเพื่อตัดปัญหาเสียงรบกวน ต้องขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ต้องติดตั้งโทรศัพท์และโทรทัศน์ด้วยสัญญาณผ่านดาวเทียม

นับได้ว่าดุสิตรายาวดี พยายามอย่างยิ่งยวดในการจะได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมระดับหรู 5 ดาว พร้อมด้วยธงสีน้ำเงิน เป็นตรารับประกันความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การลงทุนทั้งหมดของพรีเมียร์และจากประสบการณ์ 23 ปี ของกลุ่มดุสิตธานี ที่บริหารโรงแรมมาทั้งหมด 10 โรงแรมในเมืองไทย และดุสิตรายาวดีจะเป็นอันดับที่ 11 หรือ อันดับที่ 4 ของภาคใต้ ทำให้ทางกลุ่มดุสิตธานีมีความเชื่อมั่นว่าจะคุ้มทุนได้ภายใน 6 ปีเป็นอย่างช้า

การทำโครงการดุสิตรายาวดีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเพื่อหวังผลทั้งในเรื่องภาพพจน์และธุรกิจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่รักธรรมชาติ เป็นการบุกเบิกธุรกิจโรงแรมที่เข้ายุคสมัยของการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น บริษัท พรีเมียร์ฯ และกลุ่มดุสิตธานีต้องตอบคำถามเรื่องที่ดินโรงแรมก่อนว่ามีความถูกต้องชัดเจนเพียงไร

ปัญหาที่มักพบเสมอในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาในช่วงจังหวะเดียวกับการโปรโมตการท่องเที่ยวและการบูมสุดขีดของที่ดินเมืองไทย มักจะมีการอ้างการครอบครอง ตลอดจนมีเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของหนาตาขึ้นเรื่อย ในบริเวณที่ริมทะเลที่ดินเชิงเขา ที่ดินในป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ แต่กลับมีหลักฐานแผ่นกระดาษของทางราชการรับรองกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง

ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายที่ดินครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2497 จุดประสงค์เพื่อวางระเบียบแบบแผนการได้มาซึ่งที่ดินของบุคคลให้ถูกต้องคือที่ดินในส่วนของพระมหากษัตริย์ให้ขึ้นกับพระคลังข้างที่ ส่วนของราชการก็ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ

สำหรับที่ดินของราษฎรถือครองและทำประโยชน์ ก็ต้องมาแสดงต่อสำนักงานที่ดินอำเภอ เพื่อจะได้ออกหลักฐานการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน 2497

เอกสารลำดับแรกที่สำคัญเพื่อแสดงการครอบครองก็คือ หลักฐานการแจ้งการครอบครอง เรียกว่า ส.ค. 1 ซึ่งจะได้มาโดยการแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ ตามมาตรา 5 เขียนไว้ว่า

ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (คือก่อนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครอง ที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

การมี ส.ค. 1 ยังไม่ถือว่าเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเพราะไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้เพียงแต่เป็นคำแจ้งความของราษฎรเท่านั้น แต่มีความสำคัญในการใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นให้ได้โฉนดและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามแบบฟอร์ม น.ส. 3 หรือ น.ส. 3ก แล้วแต่กรณีในภายหลัง

ในปัจจุบันนี้ไม่มีการแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค. 1 อีกแล้ว เพราะถูกยกเลิกในปี 2515 แต่หลักเกณฑ์ตามมาตรา 5 เรื่องการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อน 1 ธันวาคม 2497 ยังคงใช้บังคับอยู่

ซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องการ ส.ค. 1 คิดวิธีการแยบยลต่าง ๆ อาทิ การเอา ส.ค. 1 จากท้องที่หนึ่งมาใช้อีกท้องที่หนึ่ง ใช้วิธีแจ้งความว่า ส.ค. 1 สูญหายเพื่อใช้ใบแจ้งความเป็นหลักฐาน ทั้งที่ความจริงไม่เคยมี ส.ค. 1 เลยตั้งแต่ต้น การเพิ่มจำนวนพื้นที่ ส.ค. 1 ที่มีอยู่เดิมให้มีจำนวนมากขึ้น เช่น จาก 10 ไร่ ก็เติมเลขศูนย์เป็น 100 ไร่ก็มี

กรณีของดุสิตรายาวดีในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก็ค่อนข้างคาบเกี่ยวระหว่างความชอบและ มิชอบด้วยกฎหมาย

ภาสกร โตษยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทพรีเมียร์ฯ ยืนยันหลายครั้งทั้งในวันเปิดตัวดุสิตรายาวดี และสำทับกับ “ผู้จัดการ” บ่อยครั้งว่าเอกสารสิทธิ์ได้มาอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ส.ค. 1 ปี 2498 และต่อมาได้รับการเปลี่ยนเป็น น.ส. 3 และ น.ส. 3 ก ตามลำดับอย่างถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และกรมที่ดิน

บริษัท พรีเมียร์ฯ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 ก โดยการซื้อจากบริษัทสินพระนาง มีทั้งหมด 3 ฉบับรวมเป็นเนื้อที่ 56-0-73 ไร่ ดังนี้

น.ส. 3 ก ทะเบียนเลขที่ 876 เลขที่ดิน 44 เนื้อที่ 28-1-70 ไร่ เป็นแปลงใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 แปลง ที่ดินทางทิศเหนือติดกับเลขที่ดิน 2 ทิศตะวันออกจะเลียบชายทะเลด้านอ่าวน้ำเมา ส่วนทางทิศตะวันตกจะติดชายทะเลของหาดไร่เล ทิศใต้ติดกับเลขที่ดิน 47


น.ส. 3 ก ทะเบียนเลขที่ 905 เลขที่ดิน 47 เนื้อที่ 22-0-76 ไร่ เป็นแปลงต่อเนื่องจากเลขที่ดิน 44 ทิศตะวันออกจะเลียบชายทะเล ทางอ่าวน้ำเมาเล็กน้อยตรงช่วงที่ติดกับภูเขา และกินอาณาเขตต่อเนื่องยาวเลียบภูเขาเรื่อยมาจนเกือบถึงบริเวณถ้ำพระนาง ทิศตะวันตกเป็นภูเขาที่กั้นกลางระหว่างหาดไร่เลและหาดพระนาง ทิศใต้ติดกับเลขที่ดิน 56

น.ส. 3 ก ทะเบียนเลขที่ 1077 เลขที่ดิน 56 เนื้อที่ 5-2-27 ไร่ เป็นแปลงต่อเนื่องจากเลขที่ดิน 47 ที่กินบริเวณมาชิดใกล้ถ้ำพระนาง และติดชายทะเลทางด้านหาดพระนาง

“แปลงตอนล่างสุด น.ส. 3 ก เลขที่ 1077 ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์มาโดยมาตรา 59 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นเดียวกับแปลง 905 ที่ต่อเนื่องติดกัน ส่วนแปลงบนสุด 867 เป็นแปลงเดียวที่โดยมาตรา 58” ภาสกรเล่าความเป็นมาของการได้เอกสารสิทธิ์

การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา 58 คือการออกโดยการสำรวจทั้งตำบล ซึ่งรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดจังหวัดที่จะทำการเดินสำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์

หลังจากมีประกาศจากรัฐมนตรีแล้ว ผู้ว่าราชการของจังหวัดนั้นก็จะรับนโยบายมาลงภาคปฏิบัติ คือกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจ

เมื่อถึงวันนัดผู้ครอบครองต้องไปชี้แนวเขตที่ดิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบบฟอร์ม น.ส. 3ก

ส่วนมาตรา 59 คือได้มาโดยการออกเป็นเฉพาะราย คือเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ตกสำรวจจากมาตรา 58 ให้มีโอกาสยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์ ได้อีกครั้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบท้องที่นั้น ซึ่งมีอำนาจพิจารณาเห็นสมควร

วิธีการก็คือถ้าผู้ยื่นประสงค์จะได้โฉนด ต้องไปขอต่อสำนักงานงานที่ดินจังหวัด แต่ทางจังหวัดจะออกโฉนดให้เฉพาะบริเวณที่ดินที่มีระวางแผนที่แล้วเท่านั้น หรือถ้าต้องการหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบบฟอร์ม น.ส. 3 ให้ยื่นคำขอต่อนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ

ตามปกติพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะขอหลักฐานเอกสาร ที่สามารถแสดงได้ว่ามีการครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับตามมาตรา 5 และได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์ที่ดินในเขตป่าไม้ พ.ศ. 2524

อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์ไม่มีหลักฐานเอกสารดังกล่าว เพราะไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 ก็ยังมีสิทธิ์ขอยื่นเรื่องตามมาตรา 59 ทวิ โดยแสดงหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์แทน เช่นปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ไม้ยืนต้น ทำสวน ทำไร่ ที่บ่งชี้ได้ว่าอยู่มานานก่อนการใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา แต่ทั้งนี้ต้องเป็นดินไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ ต้องได้ รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด

และจากมาตรา 59 ทวิ นี้เองที่ทำให้เกิด “มะพร้าววิเศษ” ขึ้นในชั่วข้ามคืนเดียว ด้วยการใช้รถ แม็คโครขุดมะพร้าวอายุ 30-40 ปี จากที่หนึ่งมาปลูกลงบนที่ดินที่อ้างการครอบครอง เป็นวิธีที่อยู่ใน ความนิยมสูงมาก และมักทำกันตอนดึกสงัด ขนขึ้นรถบรรทุกและใช้ผ้าเต็นท์คลุมอำพราง

จากมาตราสำคัญ 2 มาตรา ก็คงจะพอเห็นช่องทางให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินได้ชัดขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องด้วย

เพราะฉะนั้น แม้ว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงของดุสิตรายาวดีจะเป็นแปลงที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน แต่กลับปรากฏว่า มีเพียงแปลงเดียวที่ออกโดยการเดินสำรวจตามมาตรา 58 ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติตามกฎหมาย เพราะมีมาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ที่ประกาศใช้โดยคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 พ.ศ. 2515 เป็น บทรองรับกรณีเกิดการตกสำรวจขึ้น

ปัญหาที่ดินของดุสิตรายาวดีได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ควรจะจบที่ตรงนี้ เพราะทางที่ดินอำเภอได้ออกน.ส. 3 ก ให้เรียบร้อยแล้ว และทางบริษัท พรีเมียร์ฯ ก็ได้โชว์สำเนาเอกสารทั้ง 3 ฉบับต่อ “ผู้จัดการ” ด้วย

แต่กรณีนี้ไม่สามารถจบง่าย ๆ อย่างใจต้องการ เพราะบนที่ดิน 56 ไร่เศษ ของบริษัท พรีเมียร์ฯ ต้องอยู่ในเขตตำบลอ่าวนาง ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจา- นุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 160

“พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2526

โดยมีข้อยกเว้นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวต้องไม่ใช่ที่ดินที่มีการจับจองก่อนการประกาศ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 ตามมาตรา 6 วรรค 2 ที่ระบุว่า

“ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง”

ด้วยเหตุนี้ในการรับรองออกเอกสารสิทธิ์บนที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงต้องมีบุคคลที่ 4 คือ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาเซ็นรับรองด้วย

นอกเหนือจากกรณีปกติที่มีบุคคล 3 ฝ่าย คือนายอำเภอหรือปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมายจาก นายอำเภอ บุคคลที่ 2 คือที่ดินอำเภอในกรณีเป็น น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก หรือที่ดินจังหวัดในกรณีเป็นโฉนด และสุดท้ายคือป่าไม้อำเภอ

ความกำกวมเรื่องที่ดินบริเวณที่ตั้งโรงแรมว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ หรือเพียงใกล้ชิดติดกับอุทยานฯ จึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปอดีต เพื่อช่วยสะท้อนภาพที่ดินตรงนั้นว่าเคยมีสภาพอย่างไร ก่อนมาตกอยู่ในมือของบริษัท พรีเมียร์ฯ

ตามสารบัญจดทะเบียนของ น.ส. 3 ก เลขที่ 867 บันทึกว่า นายมานพ หง้าฝา ขายให้บริษัท สินพระนาง เมื่อ 1 ธันวาคม 2530

น.ส. 3 ก เลขที่ 905 นายโกบ หง้าฝา ขายให้บริษัทสินพระนาง เมื่อ 3 สิงหาคม 2531

และ น.ส. 3 ก เลขที่ 1077 มีชื่อของบริษัทสินพระนาง เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ระบุไว้ด้านหน้าของเอกสาร เพราะฉะนั้นในสารบัญจดทะเบียนจึงมีบันทึกเฉพาะว่า บริษัทสินพระนางขายให้กับบริษัท พรีเมียร์ฯ เมื่อ 12 มีนาคม 2534

แสดงว่าบริษัทสินพระนางได้สิทธิมาจากการซื้อจากตระกูลหง้าฝา 2 แปลง ส่วนแปลงที่ 1077 ยังเป็นปัญหาติดค้างว่าได้มาอย่างไร

ตระกูลหง้าฝาเป็นคนท้องถิ่นที่คนกระบี่จะคุ้นชื่อนี้ดี เพราะมีลูกหลานสืบสายมาหลายรุ่นแล้ว นับตั้งแต่รุ่นแรกและเป็นตระกูลเดียวที่นั่งเรือข้ามทะเลมาที่อ่าวไร่เล และลงมือปลูกต้นมะพร้าวไว้บนบริเวณที่ดินตรงกลางของอ่าว

แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันตัวเลขจริงได้ว่าสวนมะพร้าวของหง้าฝากินเนื้อที่เท่าไร ได้แต่ประมาณการว่า 10 ไร่

ส่วนบริเวณที่ไม่ได้ปลูกต้นมะพร้าว จากอ่าวพระนางจนจรดอ่าวไร่เล มีสภาพเป็นป่าสนและ บางส่วนเป็นป่าทึบ จนกระทั่งเมื่อ “หม่อม” มาจึงมีต้นมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น

“หม่อม” ตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นก็คือ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรืออีก นัยหนึ่งเจ้าของบริษัทสินพระนาง ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อ 19 ตุลาคม 2530

อย่างไรก็ดี คำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่อาจจะฟังแล้วเลือนลอยไม่มีน้ำหนัก เพราะเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านเลยมากว่า 40 ปี แต่ถ้าเป็นเอกสารทางราชการคงจะช่วยถ่วงน้ำหนักขึ้นได้บ้าง

จากบันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2530 เขียนที่ข้างเขาถ้ำนาง (หรือถ้ำพระนาง) มีข้อความว่า

เจ้าหน้าที่ได้ทำการออกตรวจปราบปรามการกระทำผิด พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 และ พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 และได้ออกตรวจปราบปรามมาจนถึงข้างเขาถ้ำพระนาง ได้ตรวจสอบพบการก่อสร้างบังกาโลต้อนรับนักท่องเที่ยว 10 หลัง และร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม 1 หลังอยู่ข้างเขา

จากการสอบถามผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการชื่อนายนุกูล อัศดี ชี้แจงว่า บริเวณที่ดินที่ดำเนินการอยู่นี้เป็นของนายวีรพันธุ์ ไตรสุวรรณ เป็นที่ดินน.ส. 3 เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และได้ดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวประมาณ 1 เดือนมาแล้ว

เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งแก่นายนุกูล ว่าที่ดินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ฯ และขอให้นายนุกูล บอกเจ้าของที่ดินทราบและนำหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วัน

นอกจากนี้แล้วทางเจ้าหน้าที่ยังกำชับให้นายนุกูล ช่วยควบคุมอย่าให้มีการก่อสร้างบังกาโล หรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด เพิ่มเติมอีก จนกว่าจะได้ตรวจสอบหลักฐานที่ถูกต้อง

จากบันทึกข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าบริเวณแหลมพระนาง เกิดมีปัญหาเขตที่ดินขึ้นเมื่อหลายปี 2530 หลังจากที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแล้วถึง 4 ปี โดยที่ขณะนี้ มีบ้านพักเพียง 10 หลังและร้านอาหาร 1 หลัง และเพิ่งทำกิจการมาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น

ต่อมา มาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้นมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยของ มังกร กองสุวรรณ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 ความว่า

ด้วยอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ฯ ได้รับหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากนายวีรพันธ์ ไตรสุวรรณ และจาก ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน โดยที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาอ่าวน้ำเมาและป่าเขาอ่าวนาง” บริเวณหน้าถ้ำพระนาง

ทางอุทยานฯ จึงขอให้ทางอำเภอเมืองกระบี่โปรดส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่งเอกสารและเรื่องราวในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลง ให้กับทางอุทยานฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สวยงามของจังหวัดกระบี่

เวลาล่วงเลยไป 2 เดือน ความคืบหน้าของการตรวจสอบเอกสารยังอยู่นิ่งเช่นเดิม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการโยกย้ายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ ไปประจำอยู่ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เมือพฤษภาคม 2531 ทำให้การประสานงานระหว่างที่ดินอำเภอและกองอุทยานฯ ต้องสะดุดลง

เรื่องเงียบสนิทไป 2 ปีเศษ ปัญหาเดิมจึงโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยทางบริษัทสินพระนางมีหนังสือ ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2533 ถึงอุทยานฯ ขอให้ออกหนังสือรับรองว่าเอกสารสิทธิ์ทำกินของบริษัททั้ง 3 แปลง ที่อ่าวพระนางได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะบริษัทได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีการลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า กรมป่าไม้กำลังตรวจสอบ ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้รับจำนองตั้งข้อ สังเกตและกำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมมากกว่ารายอื่น

หนังสือของบริษัทสินพระนางฉบับนี้ มีข้อน่าสังเกต 2 เรื่อง คือ หนึ่ง-จำนวนที่ดินได้เพิ่มขึ้นจาก 2 แปลง เป็น 3 แปลง ได้อย่างไร เพราะปลายปี 2530 เอกสาร น.ส. 3 จำนวน 2 แปลง ที่ทางอุทยานฯ ขอให้ตรวจสอบยังคาราคาซังว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข้อที่สอง คือเรื่องข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทางบริษัทอ้างถึง เป็นข่าวจากกรมป่าไม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2532 เปิดเผยรายชื่อเอกชน 7 รายที่เข้าไปสร้างสถานที่พักอาศัย ร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ฯ

มีชื่อของม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน 3 ฉบับ คือ น.ส. 3 ก เล่ม 8(1) ออกวันที่ 8 ตุลาคม 2524 เนื้อที่ 8-1-70 ไร่ และ ส.ค. 1 เลขที่ 617 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2498 เนื้อที่ 35 ไร่ ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้แจ้งให้กรมที่ดินตรวจสอบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532

น.ส. 3 ก ที่ตรงกับบริษัท พรีเมียร์ฯ มีอยู่แปลงเดียว คือ น.ส. 3 ก เลขที่ 867 ที่ออกโดยการเดินสำรวจทั้งตำบลตามมาตรา 58 ของประมวลกฎหมายที่ดิน

เพราะฉะนั้นมีข้อน่าสังเกตุว่าแปลง 905 และแปลง 1077 ซึ่งเป็นแปลงต่อเนื่องกับแปลง 867 ได้ น.ส. 3 ก โดยการออกเฉพาะรายตามมาตรา 59

คำถามคือ ใช้หลักฐานอะไรพิสูจน์ โดยเฉพาะเมื่อทั้ง 2 แปลงได้ น.ส. 3 ก ภายหลังจากแปลง 867 คือ แปลง 905 ออกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2531 และแปลง 1077 ออกเมื่อ 12 มีนาคม 2534

ย้อนกลับไปที่จดหมายของบริษัทสินพระนาง ทางกองอุทยานฯ ทำหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2533 (หรือหลังจากได้หนังสือจากบริษัท 1 เดือน) ตอบบริษัทกลับไปว่า ทางกรมป่าไม้มีหนังสือลงวันที่ 17 เมษายน 2532 (ซึ่งเป็นวันตรงกับที่ทางกรมป่าไม้ให้ข่าว) ขอให้กรมที่ดินตรวจสอบรายละเอียดเอกสารสิทธิ์อยู่ แต่ทางกรมที่ดินยังไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้กรมป่าไม้ทราบแต่อย่างใด

ทางอุทยานฯ จึงไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้เองว่า เอกสารสิทธิ์ของบริษัททั้ง 3 แปลงได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากหนังสือตอบของกองอุทยานฯ ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินตั้งแต่ปลายปี 2530 มาจนถึง กันยายน 2533 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะขาดหลักฐานจากกรมที่ดิน

และทั้งที่ปัญหาที่ดินยังไม่กระจ่าง บริษัท พรีเมียร์ฯ ก็ยินดีซื้อจากบริษัทสินพระนาง โดยแบ่งซื้อเป็น 2 งวด ครั้งแรก แปลง 867 และ 905 เมื่อ 24 ธันวาคม 2533 และแปลง 1077 วันที่ 12 มีนาคม 2534

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นจึงโยงมาสู่การหาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสินพระนางกับบริษัทพรีเมียร์ฯ ว่าเป็นเช่นไร ไฉนจึงกล้าซื้อที่ดินกันขณะที่ปัญหายังไม่กระจ่าง

บริษัท พรีเมียรรีสอร์ท กระบี่ จดทะเบียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2533 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท มีบริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ ถือหุ้นใหญ่ 59.99 เปอร์เซ็นต์ เป็นของ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ส่วนที่เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยในผู้ถือหุ้น 5 คน ซึ่งมีภาสกร โตษยานนท์ ถือ 5 หุ้นร่วมอยู่ด้วย

บริษัทสินพระนาง จดทะเบียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2530 ด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท มี ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ถือหุ้นใหญ่ 69.40 เปอร์เซ็นต์ นางอังศุธร นวรัตน ณ อยุธยา ถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ .60 เปอร์เซ็นต์ กระจายอยู่ในผู้ถือ 6 คน เฉลี่ยคนละ 10 หุ้น

“หม่อมชัยนิมิตร จริง ๆ แล้ว ในอดีตเก่าโบราณมาเลย แกเป็นคนแรกที่นำถังพีพีของญี่ปุ่นมาใช้ ในการบำบัดน้ำเสีย แล้วก็มาอยู่บริษัท พรีเมียร์ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คนในระดับผู้บริหารของบริษัทคนหนึ่งเหมือนกัน” กล้าและภาสกร เล่าถึงสายสัมพันธ์ระหว่าง ม.ล. ชัยนิมิตรกับพรีเมียร์กรุ๊ป

ม.ล. ชัยนิมิตร มีโอกาสเข้ามาในกลุ่มบริษัท พรีเมียร์ เมื่อคราวที่สุวิทย์และเสรี โอสถานุเคราะห์ ตั้งบริษัท พรีเมียร์ซัพพลาย เมื่อปลายปี 2517 (พอถึงปี 2533 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพร์ซ์) เพื่อทำธุรกิจเช่าซื้อให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจอเนอรัลไฟแนนซ์ หรือจีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทที่สุวิทย์ ก่อตั้งขึ้น

หลังจากเกิดพรีเมียร์ซัพพลายประมาณ 3 ปี สุวิทย์และเสรีเริ่มขยายธุรกิจในด้านก่อสร้าง โดยตั้งบริษัทพรีเมียร์โพรดักส์ ขายถังแซทส์ และถังน้ำพีพี มี ม.ล. ชัยนิมิตรเป็นกรรมการผู้จัดการ

นอกเหนือจากการเป็นผู้บริหารในกลุ่มพรีเมียร์แล้ว ม.ล. ชัยนิมิตรใช้ความรู้สถาปัตย์ร่วมกับสถาปนิกจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งบริษัทสำนักงานโฟร์เอสขึ้น เป็นบริษัทรับปรึกษางานด้านนี้

บทบาทของบริษัทโฟร์เอสมีการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ เมื่อบริษัทโฟร์เอช ในฐานะที่ปรึกษาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ท.ท.ท. ในการวางแผนหลักพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2524 ได้เสนอโครงการกระเช้าลอยฟ้าดอยสุเทพ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนน- ศรีวิชัย ช่วงบ้านห้วยแก้วถึงวัดพระธาตุ

4 ปี ต่อมานับจากร่วมวางแผนหลักแล้ว บริษัทโฟร์เอส ได้เสนอผลการศึกษาต่อ ท.ท.ท. เพื่อขออนุญาตดำเนินโครงการกระเช้าลอยฟ้า ท.ท.ท. มีมติอนุมัติ

แต่การอนุมัติของทางราชการ สวนทางกับความคิดของชาวเชียงใหม่ที่ต้องการรักษาทัศนียภาพ และป่าทึบบริเวณแถบนั้นไว้ ชาวเชียงใหม่ที่ต้องการรักษาทัศนียภาพและป่าทึบบริเวณแถบนั้นไว้ ชาวเชียงใหม่ 3 หมื่นเศษจึงร่วมลงนามคัดค้านภายใต้นาม “ชมรมเพื่อเชียงใหม่”

การรณรงค์ครั้งนั้นกินเวลายาวนานถึง 2 ปี ทางราชการจึงยอมหยุดโครงการไว้ก่อน มิใช่ถึงขั้นสั่งระงับโครงการ

ช่วงระยะขมึงเกลียวของการคัดค้านของชาวเชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2530 เป็นช่วงใกล้เคียงกับที่ ม.ล.ชัยนิมิตรลงใต้มากระบี่ ทำบังกะโลลักษณะเป็นกระต๊อบต้อนรับนักท่องเที่ยว ชื่อว่า พระนางเพลส หรือ PHRA NANG PLACE บริเวณอ่าวพระนาง ภายใต้บริษัทสินพระนาง

ในฤดูการท่องเที่ยวของกระบี่จาก พฤศจิกายน ถึงมีนาคม กระท่องของพระนางเพลสจะเต็มด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติ ชายหาดของอ่าวพระนางจะมีฝรั่งนอนอาบแดดแน่นเกลื่อนหาดทราย คนไทยที่อยู่ในบริเวณ ถ้าไม่ใช่พนักงานของพระนางเพลส ก็มักจะเป็นคนขับเรือหางยาววิ่งรับส่งคนข้ามทะเล

นอกจากกระท่อมที่พระนางเพลส ปลูกสร้างแล้ว ยังมีการเทปูนผสมหินกรวดยกพื้นสูงทำเคาเตอร์บาร์เบียร์ตรงใต้เพิงถ้ำพระนาง รวมทั้งยกทางเดินด้วยไม้สูงขึ้นตลอดแนวเขาจากถ้ำพระนางเลียบหน้าผามา ถึงหาดน้ำเมา สำหรับแขกที่มาพักไม่ต้องเดินย่ำดินทราย พร้อมทั้งติดป้ายห้ามบุคคลภายนอกเดินผ่าน

การสร้างทางเดินเฉพาะขึ้นเช่นนี้ สร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้านที่เคยไปมาระหว่างสองหาด เพราะ เหตุว่าก่อนหน้าจะเกิดพระนางเพลส ชาวบ้านจะจอดเรือที่หาดน้ำเมาในหน้าฤดูมรสุม แล้วเดินทะลุมาที่ หาดพระนาง พอหมดฤดูฝนคลื่นลมไม่แรงจึงสามารถนำเรืออ้อมแหลมมาจอดที่หาดพระนางได้ตามปกติ

พระนางเพลสมีอายุเพียง 3 ปี เศษ ก็ปิดกิจการตามมติของการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทสินพระนาง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยเหตุผลของประธานหรือ ม.ล. ชัยนิมิตร ว่าเนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่มีปัญหาในด้านบุคลากร ทำให้ประสบปัญหาในการบริหารงานเป็นอย่างมาก จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาเลิกบริษัท

บริษัทสินพระนางปิดลงอย่างสมบูรณ์ ด้วยการโอนขายที่ดินให้กับบริษัท พรีเมียร์ฯ เรียบร้อยครบทั้ง 3 ฉบับ ก่อนหน้า 3 เดือนที่การเลิกบริษัทจะมีผลทางกฎหมายเมื่อ 2 เมษายน 2534

และเป็นการปิดที่อาจจะเรียกได้ว่าไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า จากโรงแรมระดับท้องถิ่นสู่โรงแรมระดับท้องถิ่นสู่โรงแรมระดับอินเตอร์ โดยที่ ม.ล. ชัยนิมิตร ยังคงถือหุ้นอยู่ แม้จะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ 40 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมด ก็เป็นตัวเลขจำนวนไม่น้อยเลย

การทำโรงแรมในสถานที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติงดงามของภูเขาหินปูน และหน้าผาสูงชันมีต้นไม้ ปกคลุมขึ้นตามซอกหิน มีหาดทรายละเอียดปะปนด้วยเปลือกหอยชิ้นเล็ก ๆ มีประการังสวยงามใต้น้ำ ถือได้ ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันแห่งใหม่ของนักลงทุนอย่างพรีเมียร์และดุสิตธานีได้ดีทีเดียว

แต่แรงกดดันจากการหมิ่นเหม่ของข้อกฎหมายอนุรักษ์ธรรมชาติกับผลทางธุรกิจ อาจเป็นคลื่นที่ซัดดุสิตรายาวดีให้เซได้

ดุสิตรายาวดี ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 14 มกราคม 2535

หลังจากนั้น 3 เดือน คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการก่อสร้างโรงแรมของจังหวัดกระบี่ ออกตรวจสอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง พบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบแปลนแผนผังที่ยื่นต่อจังหวัด

แผนผังที่ทางจังหวัดรับรู้ จะมีการก่อสร้างจำนวน 79 ห้อง โดยแบ่งเป็นห้องพักมาตรฐาน 69 หน่วย ห้องพักแบบครอบครัว 4 หน่วย ห้องพักพิเศษ 4 หน่วย และห้องชุด 2 หน่วย

แต่แผนผังที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างมีจำนวนมากกว่าที่ได้รับอนุญาต 21 หน่วย โดยแบ่งเป็นห้องพักมาตรฐาน 86 หน่วย ห้องพักแบบครอบครัว 4 หน่วย ห้องพักพิเศษ 8 หน่วย และห้องชุด 2 หน่วย รวมเป็น 100 หน่วย

และได้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากห้องพักมาตรฐานแล้ว 83 หน่วย เกินจากที่ขออนุญาตไว้ 14 หน่วย

บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นบริษัทผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือพรีเมียร์กรุ๊ป

“โครงการนี้เราเริ่มตั้งแต่ 200 ห้อง ทำการสำรวจมาเรื่อย ๆ ว่า 200 ห้องจะเป็นรีสอร์ทแบบไหน ความเป็นส่วนตัวจะมีมากน้อยอย่างไร ก็ไล่ลงมาเรื่อย ๆ ประกอบกับโจทย์ที่เจ้าของให้มา จะไม่ยอมตัดต้นไม้แม้แต่หนึ่งต้น และมีสัญญากันว่า เมื่อทางดุสิตไปบริหารก็ห้ามตัดต้นไม้เช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบาย GREEN YEAR ของดุสิต จึงลงตัวที่ 75 ห้อง กล้าให้เหตุผลว่าทำไมจึงสร้างบ้านพักเพียง 75 หลัง ทั้งที่มีที่ดินถึง 53 ไร่ และยังยืนยันกับ “ผู้จัดการ” ว่าจะไม่มีการสร้างห้องพักเพิ่มขึ้นอีก ถึงแม้ว่าจะเกิดกรณีห้องพักไม่พอบริการ

จะเห็นได้ว่า แม้แต่จำนวนของบ้านพักก็มีความสับสนว่า มีจำนวนทั้งหมดเท่าไร เพราะในวันแถลงข่าวเปิดตัวดุสิตรายาวดี และคำตอบของกล้า กิจการกับ “ผู้จัดการ” ได้ให้ตัวเลขจำนวนเดียวกันว่า 75 หลัง

ในขณะเดียวกันทางกรมโยธาธิการจังหวัดกระบี่ได้รับเรื่องคำขอนุญาตจากดุสิตรายาวดีจำนวน 79 หน่วยหรือหลัง มากกว่าจำนวนที่กล้าบอกไว้ 4 หน่วย

และตัวเลขทั้ง 2 จำนวนก็แตกต่างจากแผนผังที่ใช้ก่อสร้างโรงแรมอย่างสิ้นเชิง

ความแตกต่างของจำนวนห้องพัก 79 หน่วย และ 100 หน่วย อยู่ที่ตรงไหน

กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ต้อง มีรายงานเกี่ยวกับการศึกษาและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในระยะเตรียมงานและต้องเสนอรายงานนั้นต่อสำนักงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการ

ตามบัญชีท้ายประกาศข้างต้น ข้อ 4 ระบุว่าโรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ฝั่งทะเล และทะเลสาบหรือชายหาดหรือที่อยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป

เพราะฉะนั้นการยื่นของอนุญาตก่อสร้างโรงแรม 79 ห้อง โดยขาดไปเพียงห้องเดียว ก็มีผลให้ไม่ต้องผ่านขบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

“ไม่ใช่ปัญหาความยุ่งยาก แต่ขั้นตอนการตรวจสอบทำให้กินเวลานาน และบางครั้งเจอกฎของสิ่งแวดล้อมบางเรื่องที่นึกไม่ถึง คือไม่ใช่ว่าเอกชนไม่อยากผ่านสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายมีช่องโหว่ให้เขา บอกเขาว่า 80 ห้องไม่ต้องผ่าน เขาก็สร้างไม่เกิน 80 ห้อง และส่วนมากเขาจะทำ 80 ห้อง แล้วค่อยมาทำการศึกษาเพื่อเพิ่มโครงการภายหลัง แล้วแต่วิธีของนักธุรกิจแต่ละคน แต่ถ้าคุณจ้างมืออาชีพบริหาร อย่างเช่นดุสิต จะถามเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อนเลย” กล้าให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดกิจการที่ต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

หลังจากการตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการฯ มีรายงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

“ถึงแม้ว่าผมเป็นคนวางศิลาฤกษ์โรงแรมดุสิต แต่ก็สั่งห้ามยุติการสร้างให้เท่ากับ 79 ห้องตามที่ขอมาเท่านั้น และผมได้กำชับคณะกรรมการให้มีการตรวจตราตลอดเวลา” ประโยชน์ สุดจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ก่อนจะเกษียณอายุราชการ เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี

ฉะนั้น การตรวจตราต่อจากนั้นไป ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่คนใหม่ว่าจะเข้มงวดหรือปล่อยปละละเลยเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

การตรวจบริเวณพื้นที่ก่อสร้างครั้งนั้น ยังพบเรื่องอื่นอีกนอกเหนือจากการสร้างห้องพักผิดแบบแปลน คือได้มีการนำเอาลวดหนามแบบสปริงมาล้อมออกนอกเขตรั้วไม้ไผ่เดิมที่เคยเป็นแนวรั้วของ พระนางเพลส ตลอดจนบริเวณทางเดินหาดทรายซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

ปัญหาแนวเขตที่ดินจึงโผล่ขึ้นมาอีกเสมือนเป็นเงาติดตามดุสิตรายาวดี

ทางคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการก่อสร้างโรงแรมได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน 2535 แจ้งผลการตรวจสอบต่อนายทะเบียนโรงแรมจังหวัดกระบี่ และมีหนังสือถึงอุทยานแห่งชาติด้วย

ทางหัวหน้าอุทยานฯ สุวัฒน์ ทัศนสุวรรณ ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงเพราะเป็นบริเวณในเขตอุทยานฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 8 มิถุนายน 2535 แจ้งต่อผู้จัดการโรงแรมดุสิตฯ ว่า ขอความร่วมมือมายัง โรงแรมให้ดำเนินการรื้อถอนลวดหนามในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตอุทยานฯ โดยให้ปิดกั้นล้อมรั้วเฉพาะ ในบริเวณที่ดินซึ่งโรงแรมมีกรรมสิทธิ์ถือครองตามกฎหมายเท่านั้น

และในวันเดียวกับที่ทำหนังสือ เจ้าหน้าที่ของกองอุทยาน 2 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ ที่ดิน และทำบันทึกในวันรุ่งขึ้นว่า ในการตรวจสอบ นส. 3 ก ทั้ง 3 แปลง โดยเจ้าหน้าที่ที่ดินของอำเภอเมืองกระบี่ เป็นการตรวจสอบโดยประมาณ มิได้มีการรังวัด ส่องมุม เพียงแต่ใช้เทปวัดระยะ ลากไปตามแนวเขต นส. 3 ก ซึ่งอาจมีการคลาดเคลื่อน และอาจเป็นผลเสียหายต่อทางราชการ จึงเห็นควรแจ้งอำเภอเมืองกระบี่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบที่ดินดังกล่าวใหม่ให้ละเอียดแน่นอนอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนทางด้านโรงแรมเมื่อได้รับหนังสือจากทางอุทยานฯ แล้วตอบกลับว่าลวดหนามดังกล่าวเป็นรั้ว ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง บริษัทจะกระทำการโยกย้ายตามคำสั่งต่อไป เมื่อกรรมการวินิจฉัยแนวเขตถูกต้องแล้ว

ในขณะเดียวกันทางบริษัท พรีเมียร์ฯ มีหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2535 ถึงนายอำเภอเมืองกระบี่ ขอรังวัดตรวจสอบพื้นที่ตามหลักฐาน นส. 3 ก เลขที่ 905 เนื่องจากมีปัญหาการขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่ดินเพราะมีผู้ฟ้องร้องว่าได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ ดังนั้นทางบริษัทต้องการให้มีการรัง วัดตรวจสอบเนื้อที่ เพื่อทราบแนวเขตที่ดินที่แน่นอน จึงขออนุญาตจากท่านนายอำเภอเมืองกระบี่ขออนุมัติ ลัดคิวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้ให้การก่อสร้างได้ดำเนินการต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนบริษัท

เป็นที่น่าสังเกตว่าทางบริษัท พรีเมียร์ขอให้รังวัดที่ดินแปลง 905 แปลงเดียว ซึ่งเป็นแปลงชิดติด กับแนวเขาที่ทอดยาวถึงถ้ำพระนาง

ส่วนแปลง 1077 (เป็นแปลงที่มีชื่อบริษัทสินพระนางเป็นผู้ครอบครอง) มีปัญหาเรื่องลวดหนาม เช่นกันเพราะเป็นแปลงที่เลียบชายหาดของหาดพระนาง เพราะอะไรไม่มีการขอตรวจสอบใหม่

หนังสือของบริษัท พรีเมียร์ฯ ลงวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน มาถึงเจ้าหน้าที่อำเภอวันจันทร์ที่ 25 เจ้าหน้าที่เขียนข้อความสั้น ๆ ด้านซ้ายของหนังสือฉบับนี้ว่าเรียนนายอำเภอ ควรรังวัดให้ได้ นายอำเภอเซ็นชื่ออนุญาตด้านขวาของหนังสือ ลงวันอังคารที่ 26 มิถุนายน

หลังจากนายอำเภอเซ็นกำกับอนุมัติแล้ว ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะออกไปรังวัดทันทีเลย เพราะมีบันทึกข้อความถึงนายอำเภอ ลงวันที่ 26 มิถุนายน ว่าข้าพเจ้าได้ออกไปทำการรังวัดตรวจสอบตามหลักฐาน น.ส. 3 ก เลขที่ 9025 แล้ว ปรากฎว่าอาณาเขตในที่ดินถูกต้องตามหลักฐานดังกล่าว ในที่ดินมีรั้วลวดหนามโดยรอบ ไม่ได้รุกล้ำที่ภูเขา และที่หาดทรายชายทะเลแต่อย่างใด

ความรวดเร็วเช่นนี้ทำให้คาดเดาได้ว่า คงจะรังวัดตรวจสอบโดยประมาณตามที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เคยทำบันทึกไว้เมื่อ 9 มิถุนายน 2535 และเคยขอให้ทางที่ดินอำเภอทำการตรวจสอบใหม่อีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฎว่าทางที่ดินอำเภอได้ทำการตรวจสอบอีกครั้งตามที่ทางอุทยานฯ ขอ

“โรงแรมเป็นผู้ขอให้ตรวจสอบเขตใหม่ทั้งหมด เพื่อต้องการความแน่นอนว่าที่ดินตรงนี้ถูกต้องตามเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ผมเองก็ไม่แน่ใจเพราะคาบเกี่ยวเหลือเกิน การออกน.ส. 3 ตอนนั้นอาจจะบกพร่องผิดพลาดก็ได้” ไมตรี บุญยัง นายอำเภอเมืองกระบี่กล่าวกับ “ผู้จัดการ” เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพร้อมทั้งบอกระยะเวลาการตรวจสอบว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะเสร็จเพราะต้องนัดหลายหน่วยงานทั้งกำนัน เจ้าของที่ดิน และอุทยานฯ

“ที่ดินแปลงน.ส. 3 ก เลขที่ 905 ในสมัยนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ คือมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ ทำบันทึกเมื่อมีนาคม 2529 ว่าที่ดินแปลงนี้เอกสารมาถูกต้อง และครอบครองมาตั้งแต่ 2480” ภาสกร อ้างอิงถึงคำรับรองของหัวหน้าอุทยานฯ ต่อที่ดิน นส. 3 ก เลขที่ 905 ส่วนอีก 2 แปลงเขาตอบรวม ๆ ว่าได้รับรองเช่นเดียวกัน

“เมื่อประมาณปี 2529 ผมได้ออกไปตรวจพื้นที่ตามปกติ เจ้าของที่ดินบริเวณอ่าวพระนางเอา ส.ค. 1 มาให้ดูซึ่งมีสภาพเก่ามาก ผมตรวจดูแล้วตามเอกสาร ก็เห็นว่าน่าจะถูกต้อง สามารถดำเนินการ ได้ตามมาตรา 6 วรรค 2 และผมได้ทำบันทึกส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ที่ดินฉบับหนึ่งด้วย” มาโนช ฟื้นความจำกับ “ผู้จัดการ” แต่น่าเสียดายที่เขาจำรายละเอียดไม่ได้ว่า ส.ค. 1 เลขที่เทาไร จำนวนกี่ไร่ และเป็นของใคร

อย่างไรก็ดี ทางบริษัท พรีเมียร์ฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมโดยใช้แผนที่รูปถ่ายทางอากาศจังหวัดกระบี่ ปี 2516 ขีดเส้นวงกลมรอบบ้านแหลมนางเขาอ่าวแหลมนางและแหลมนาง ว่าเป็นพื้นที่ที่แผนที่รูปถ่ายทางอากาศให้สัญลักษณ์ว่าเป็นสวนหรือไร่และสวนพืชป่า

แต่เนื่องจากแผนที่ที่ภาสกรนำมาแสดงเป็นแผนที่ฉบับสำเนา จึงเป็นภาพขาวดำทำให้ลำบาก ในการแยกแยะสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือตรงพื้นที่บริเวณหาดน้ำเมา ขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นสัญลักษณ์ของสวนหรือไร่และสวนพืชป่า ส่วนบริเวณทางทิศตะวันออกของหาดน้ำเมาเลียบเขาถ้ำพระนาง มาทิศใต้พบกับชายหาดพระนาง แล้วอ้อมข้ามภูเขามาพื้นที่ชายหาดไร่เล ทางทิศตะวันตก ไม่ชัดเจนว่าใช้สัญลักษณ์อะไร

การขอดูแผนที่รูปถ่ายทางอากาศตลอดจนการขอซื้อไว้ครอบครอง จะอนุญาตเฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น ฉะนั้น “ผู้จัดการ” จึงไม่สามารถค้นไปไกลกว่าที่ทางบริษัท พรีเมียร์ฯ แสดงให้ดู

คงได้แต่เพียงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าต้องการพิสูจน์ว่าบริเวณที่ตรงนั้นมีการครอบครองก่อนธันวาคม 2497 หรือไม่นั้น ควรจะต้องใช้แผนที่ที่ถ่ายในปี 2510 เพราะเป็นรูปถ่ายที่ย้อนอดีตไกลที่สุด มีชื่อเรียกว่าโครงการ VAT 61 มาเปรียบเทียบกับแผนที่ ปี 2516 ที่เรียกว่า โครงการ NS 3 เพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดมากกว่าเอกสารสิทธิ์ที่บริษัทพรีเมียร์ฯ ถืออยู่ขณะนี้

เท่าที่ประมวลมาทั้งจากคำบอกเล่าบุคคลและเอกสารต่าง ๆ ก็พอส่อเค้าให้เห็นว่าต้องมีเงื่อนงำบางประการเกี่ยวกับความเป็นมาของที่ดินทั้ง 3 แปลง

จึงควรสะสางการได้มาที่ดินทั้ง 3 แปลงให้เกิดความชัดเจนขึ้นในเร็ววันที่สุด เพราะขณะนี้การก่อสร้างโรงแรมยังเดินหน้าอยู่ควบคู่กับการออกตลาดหาลูกค้าทั้งในประเทศแถบยุโรป และเอเชีย

ตลอดจนได้กำหนดวันเปิดบริการทดสอบก่อนหรือ SOFT OPENING ประมาณ 40 หลัง ในเดือนมกราคมปีหน้า และเปิดบริการจริง หรือ GRAND OPENING ในเดือนเมษายน

ฉะนั้น การปล่อยให้ปัญหาที่ดินยืดเยื้อต่อไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพพจน์เจ้าของโครงการที่ประกาศพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของหลักประกันที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ ให้แก่โครงการนี้

รวมถึงตัวจังหวัดกระบี่เองด้วย ที่มีพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ เกือบครึ่ง ต่อครึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด ซึ่งเป็นเสน่ห์เย้ายวนต่อนักลงทุนด้านการท่องเที่ยวยิ่งนัก เพราะ ยังเต็มเปี่ยมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับที่ภูเก็ตเคยมีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

นอกจากนั้นแล้ว ถ้าดุสิตรายาวดีสามารถเปิดบริการได้บนความลึกลับเรื่องแนวเขตที่ดิน เชื่อแน่ว่าย่อมมีโครงการอื่นเลียนแบบตามกันเป็นพรวน

ผลสุดท้ายก็คือ กระบี่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง เช่นเดียวกับที่หลายจังหวัดของเมืองไทยกำลังประสบอยู่อย่างแน่นอน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us