|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2535
|
|
ชื่อโฮ กวงปิง บุตรชายคนโตของนายห้าง โฮ ริทวา สร้างอาณาจักรไทยวาไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางนักในหมู่สื่อมวลชนไทย แม้ว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะเข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทย เป็นเวลานานถึง 47 ปีแล้วก็ตาม
KP ซึ่งเป็นชื่อเรียกของโฮ กวงปิงในหมู่พนักงานไทยวากล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า “ไทยวากำลังเตรียมงานฉลองครบ 50 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย”
ฐานสำคัญของกลุ่มไทยวานั้นอยู่ที่ประเทศไทยแน่นอนหากพิจารณาจากสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนสาธรใต้ ซึ่งในปี 2537 จะมีอาคารไทยวาพลาซ่าสูง 61 ชั้นเกิดขึ้นอีกหลังหนึ่ง หรือกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทที่อ่าวบางเทาเกาะภูเก็ตซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมไปทั้งที่ดินอีกหลายแปลงทั่วประเทศที่ซื้อหาไว้เพื่อการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจำนวนกว่า 8,000 ไร่
ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการจดทะเบียนบริษัทถึง 2 แห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ บริษัท ไทยวา จำกัด และบริษัท ไทยวาฟู้ดโปรดักส์ จำกัด
ส่วนบริษัท ที่กำลังอยู่ระหว่างการอนุมัติจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คือบริษัท ไทยวาทรัพย์พัฒนา จำกัด
เช่นนี้แล้วคงต้องกล่าวว่าไทยวาเป็นกลุ่มบริษัทที่มีรากฐานอยู่ในไทย เป็น THAI BASED!!
ธุรกิจดั้งเดิมของกลุ่มไทยวาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค จนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาไทยวาได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและการท่องเที่ยว มูลค่าการลงทุนในธุรกิจใหม่นี้สูงถึง 7,800 ล้านบาท (เฉพาะในประเทศไทย)
นอกจากนี้ไทยวายังมีโครงการลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ศรีลังกา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ด้วย กล่าวได้ว่ากิจการที่กลุ่มไทยวาให้ความสนใจลงทุนเป็นเม็ดเงินมากที่สุดในเวลานี้คืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ โรงแรม รีสอร์ทและอาคารสำนักงานให้เช่า
ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น กลุ่มไทยวาก็ไม่ได้ทอดทิ้ง เวลานี้กำลังเจรจา ลู่ทางการลงทุนกิจการแป้งมันสำปะหลังในเวียดนามและจีน
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมที่แม้จะเพิ่งเริ่มต้นไม่นานนักแต่ก็ดูประสบความสำเร็จโดยเฉพาะ โครงการรีสอร์ท (LAGUNA BEACH RESORT) ที่ภูเก็ตซึ่งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENTAL AWARD)จากสมาคมโรงแรมนานาชาติ( INTERNATIONAL HOTEL ASSO-CIATION)
รางวัลจากสมาคมโรงแรมฯ แห่งนี้ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมากในเชิงธุรกิจเพราะสมาคม ฯ เป็นสมาคมโรงแรมแห่งเดียวในโลกซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 3,000 ราย จาก 145 ประเทศ
เคพีกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก รู้สึกเป็นเกียรติไม่ใช่เฉพาะแต่บริษัทเรา เท่านั้น แต่สำหรับการท่องเที่ยวโดยรวมของไทยด้วยเพราะไทยมีภาพพจน์ที่ไม่ดีในแง่ท่องเที่ยวหลายอย่างเช่น เอดส์ มลภาวะ สภาพแบบพัทยา ป่าตอง การได้รับรางวัลครั้งนี้จะทำให้เราช่วยกันเปลี่ยนภาพพจน์ที่ไม่ดีเหล่านี้ได้”
IHA เป็นสมาคมที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่เอเยนซี่ท่องเที่ยว แต่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักใน หมู่สาธารณชน เคพี ให้ความเห็นว่า “การที่จะช่วยเปลี่ยนภาพพจน์ได้นั้นก็โดยการที่เอเยนซี่ท่องเที่ยวคอยแนะนำแก่ลูกค้าว่าประเทศไทยไม่ได้มีแต่พัทยา เอดส์ โสเภณีเท่านั้น แต่มีโรงแรมที่พักที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ด้วย”
ลากูน่า บีช รีสอร์ทตั้งอยู่บริเวณหาดบางเทา เกาะภูเก็ต แรกเริ่มนั้นเคพีไม่ได้ตั้งใจซื้อที่ดินจำนวน 1,800 ไร่ ผืนนี้เพื่อการพัฒนาแม้แต่น้อย เขาตั้งใจซื้อที่ดินเพียง 2-3ไร่เพื่อปลูกบ้านพักผ่อน ที่เกาะนี้ต่างหาก
แต่หลังจากเดินสำรวจที่ดินอยู่สักพัก เขาได้เห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดไอเดียขึ้นมานั่นคือ ลากูนหรือทะเลสาบน้ำเค็มขนาดใหญ่ถึง 6 แห่งในบริเวณอ่าว ซึ่งในที่สุดเขาได้รังสรรค์จินตภาพนั้น ออกมาเป็นรีสอร์ทที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง
หลังจากซื้อที่ดินแล้วกลุ่มไทยวาต้องทำการพัฒนาฟื้นฟูที่ดินอย่างขนานใหญ่เพราะสภาพผิวดินขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เนื้อดินเต็มไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในการทำเหมืองและเป็นดินเค็ม เคพีกล่าวว่า “ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวขึ้นในที่ดินผืนนั้น”
ความเสื่อมโทรมของที่ดินหาดบางเทามีมากขนาดที่ว่าทีมสำรวจการพัฒนาการท่องเที่ยวของ UNITED NATION DEVELOPMENT PROGRAM ลงความเห็นว่าหาดนี้ไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีรายงานการสำรวจที่คล้ายคลึงกันในช่วงปี พ.ศ. 2520
เคพีเล่าว่า “หาดบางเทาเป็นผืนดินที่ถูกตัดออกจากแผนพัฒนาของ UNDP และการท่องเที่ยวฯ เป็นที่ดินที่ถูก WRITTEN OFF เพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว”
แต่กลุ่มผู้บริหารของไทยวาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะพลิกฟื้นผืนดินที่ถูกทิ้งร้างนี้ให้กลับคืนชีวิต อีกครั้งหนึ่งโดยใช้เวลานานถึง 7 ปี ใช้เงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 15-20 ล้านบาทต่อปีมีการนำเครื่องจักรมาใช้พลิกหน้าดิน นำดินที่มีความสมบูรณ์กว่ามาโปรย นำต้นไม้ที่สามารถปรับตัวกับดินเค็มในพื้นที่นี้มาปลูก หลังจากนั้นจึงสร้างรีสอร์ทขึ้นพร้อมกับใช้มาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่นระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ การถ่ายเทสิ่งปฏิกูล ระบบน้ำประปาเพื่อการบริโภคอุปโภค
การพยายามฟื้นฟูสภาพดินให้กลับมีชีวิตและมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งจนสามารถพัฒนาเป็นรีสอร์ทที่งดงาม มีสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับสถาพแวดล้อมวัฒนธรรมไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลากูน่า บีช รีสอร์ทของกลุ่มไทยวาได้รับรางวัลในครั้งนี้
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งที่กลุ่มนี้ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ถึงตัวเองมาก่อนคือมีการจัด สวัสดิการอย่างดีสำหรับพนักงานของรีสอร์ท
เคพีให้เหตุผลว่า “เมื่อคนพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น โดยเฉพาะคนตะวันตกมักจะคิดแต่เรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ ลำน้ำ สัตว์ป่าแต่การอนุรักษ์ในความหมายของผมนั้น ผมให้ความสำคัญกับเรื่องคน (HUMAN ENVIRONMENT) ด้วย”
คนเป็นปัญหาที่สำคัญในเวลานี้ เพราะได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในเรื่องวิถีชีวิตของคนที่เป็นแขกเข้าพักในรีสอร์ทของไทยวากับบรรดาคนงานพื้นเมืองที่เป็นผู้สร้างรีสอร์ทเหล่านั้นปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นมากมายในประเทศโลกที่ 3 โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่การก่อสร้างกำลังรุ่งเรืองขนาดหนัก
แขกที่มาพักในโรงแรมระดับ 5 ดาวจ่ายค่าห้องพักคืนหนึ่งเท่ากับอัตราค่าจ้างของคนงานก่อสร้าง 1 เดือน
เคพีถือว่านี่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง เขาพยายามลดระดับความขัดแย้งลงด้วยการอำนวยความสะดวกและสวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงานเช่นมีการตั้งโรงเรียนในลักษณะที่เป็น DAY CARE CENTER สำหรับลูก ๆ ของคนงานก่อสร้างทุกคน มีอาหารให้ 3 มื้อ มีครูที่ได้มาตรฐานรถรับส่ง และยังขยาย ไปถึงลูกหลานชาวบ้านที่อยู่บริเวณรีสอร์ทด้วย
นอกจากนี้ เคพีจะเอาเงินที่ได้จากรางวัลจำนวน 5,000 เหรียญมาสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นคลินิคแพทย์สำหรับชุมชนเพราะในบริเวณนั้นไม่มีโรงพยาบาล
ไทยวาไม่ได้ทำสวัสดิการเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาให้พนักงานของบริษัทเท่านั้น นักธุรกิจกลุ่มนี้มีงานช่วยเหลือสังคมอย่างเงียบ ๆ เป็นเวลานานกว่า 20 ปีที่ยโสธร โดยมีการอุปถัมภ์อาคารเรียน เครื่องมือการศึกษาให้กับโรงเรียนที่นั่นรวมทั้งการสนับสนุนงานหัตถกรรมของชาวบ้านด้วย
เพราะการทำธุรกิจกับงานอนุรักษ์หรือการช่วยเหลือสังคมไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในความเห็นของเคพี เขากล่าวว่า “ผมสามารถหาเงินได้พร้อมไปกับการทำงานอนุรักษ์”
นี่เป็นความเห็นของอดีตผู้สื่อข่าว “หัวก้าวหน้า” ที่รากฐานของครอบครัวนำพาให้กลายเป็นประธานกลุ่มบริษัทที่มียอดรายรับหลายพันล้านบาทในเวลานี้ !
|
|
|
|
|