|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2535
|
|
สงครามเศรษฐกิจระหว่างปูนซิเมนต์ไทย กับปิโตรเคมิกัลไทย (TPI) เป็นข่าวคราวที่หลายคน สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ที่จู่ ๆ หันหน้ามาชนกันยังกะเป็นศัตรูกันมานานนับศตวรรษ
จะว่าไปแล้ว ความจริงทั้งสองยักษ์ เพิ่งเป็น “ศัตรู” ทางธุรกิจกันไม่นานนี้เอง โดยเริ่มจากธุรกิจเม็ดพลาสติกแท้ ๆ !!!
กล่าวคือ สำหรับวงการเม็ดพลาสติกไทยนั้น TPI คือเจ้าของวงการอุตสาหกรรมนี้มานาน โดยเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวของประเทศ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง เพื่อทำหน้าที่ผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดในประเทศแบบผูกขาด (MONOPOLY) มาหลายปี
จะกำไรมากหรือกำไรน้อยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเมื่อคราวที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ EASTERN SEABOARD ขึ้นมานั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศคือ ก๊าซธรรมชาติ มาผลิตวัตถุดิบหลายอย่าง และหนึ่งในโปรดักส์หลักของโครงการนี้ ก็คือเม็ดพลาสติกชนิดต่าง ๆ นั่นเอง
“ความใหญ่” ของปูนซิเมนต์ไทย ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนในอุตสาหกรรม ทำให้เครือซิเมนต์-ไทย ได้รับการทาบทามจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของปิโตรเคมีแห่งชาติ มาร่วมทุนด้วยในบริษัทเพื่อผลิตวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตเม็ดพลาสติก
แต่ในเมื่อร่วมลงทุนในปิโตรเคมีแห่งชาติ ถึง 15.9% อันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดรองจากปตท. แล้ว ความคิดของปูนซิเมนต์ไทย ที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว จึงไม่ได้หยุดแค่นั้นการเตรียมทำ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง (DOWNSTREAM) ของปูนซิเมนต์ไทย จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยการตั้งบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน (TPE) ขึ้นมาดำเนินงานเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภท PE
คนที่ปูนซิเมนต์ไทย ส่งมารับผิดชอบโปรเจ็คใหม่นี้คือ อภิพร ภาษวัธน์ อดีตวิศวกรควบคุม โรงงานโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ที่เริ่มงานกับปูนซิเมนต์ไทย มาตั้งแต่ปี 2519 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะมาดูงานปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทยนั้น อภิพร มีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย
จะว่าไปแล้ว แม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการปิโตรเคมีหรือเม็ดพลาสติก แต่สำหรับวงการพลาสติกแล้ว ปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้เป็น “คนหน้าใหม่” เลยทีเดียว เพราะในอดีต ปูนใหญ่เคยมีประสบการณ์การร่วมทุนกับดาวเคมีกัล ของสหรัฐอเมริกา ตั้งบริษัทแปซิฟิคพลาสติก(ประเทศไทย) อยู่แล้วเพียงแต่เป็นงานในเรื่องการใช้เม็ดพลาสติก ไม่ใช่ผลิตอย่างที่ TPE ดำเนินการ
คนในวงการพลาสติกกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ถึงวิวัฒนาการพลาสติกในประเทศไทยว่ากำลังจะ เริ่มยุคที่ 3 ในปีหน้า
กล่าวคือ ยุคแรกของวงการพลาสติกไทย เริ่มเมื่อก่อนปี 2527 คือยุคที่มีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นยุคที่ผู้นำเข้าหรือผู้แปรรูปเม็ดพลาสติกไทยเจอปัญหามาก เพราะไทยเป็นผู้นำเข้ารายเล็กมาก จึงไม่มีการต่อรองกับผู้ส่งออกมากนัก
ยุคต่อมาของวงการพลาสติกไทย คือนับตั้งแต่ปี 2528 ที่รัฐบาลพลเอกเปรม เริ่มวางแผนงานโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด อันเป็นระยะของการตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในไทยบางประเภท ซึ่งใน ยุคนี้เองที่เป็นยุคที่ปูนซิเมนต์ไทย เริ่มเข้ามาอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมนี้
ยุคที่สามของธุรกิจพลาสติกไทยนั้น จะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และจะเป็นยุคพิสูจน์ฝีมือ คนชื่ออภิพร ภาษวัธน์ เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เพราะยุคที่สามของวงการพลาสติกไทยนั้นถือว่าจะเป็นยุคที่การผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ และจะต้องมีการส่งออกไปยังประเทศผู้ใช้เป็นวัตถุดิบ ขณะเดียวกัน เป็นยุคที่ประเทศไทยจะต้องมีการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งเดิมที่เคยส่งมาไทยอย่างประเทศเกาหลี หรือประเทศผู้ผลิตรายใหม่ ๆ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่โครงการปิโตรเคมีของทั้งสอง เริ่มมีการผลิตเช่นเดียวกับไทย และเป็นประเทศที่ต้นทุนวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ต่ำกว่าไทยด้วย
ที่หนักที่สุดก็คือ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องมีการส่งออกแล้วการเผชิญหน้ากับเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เริ่มต้นเป็นปีแรก ดูจะท้าท้ายความสามารถของอภิพรมาก กล่าวคือ เมื่อนั้นจะเป็นการเริ่มต้นของการลดภาษีเม็ดพลาสติก อันเป็นหนึ่งในสินค้าในระบบภาษีของ AFTA
จะว่าไปแล้ว AFTA นี้เป็นเรื่องที่ TPE เสียเปรียบรายอื่น ๆ มากไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในต่างประเทศ หรือในประเทศอย่าง TPI เพราะเพิ่งเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้แค่ปีสองปี ขณะที่คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานในสิงค-โปร์หรือในประเทศอย่าง TPI ต่างก็มีประสบการณ์ธุรกิจนี้มานานนับ 10 ปี จึงสามารถที่จะปรับตัวได้ทันกับการประกาศเรื่อง AFTA ของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน
คำกล่าวสั้น ๆ ของอภิพรเกี่ยวกับการเกิด AFTA ที่ว่า “เราพร้อมที่จะรับมือกับการประกาศ AFTA” ของเขานั้นดูจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารของปูนใหญ่มากทีเดียวทั้ง ๆ ที่เป็นธุรกิจใหม่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน อภิพร กล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกในสายตาของผู้บริหารว่า เป็นอุตสาห-กรรมเบสิกที่จะเป็นอุตสาหกรรมหลัก (ของเครือ) ในอนาคต และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูงตามเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้ง เครือซิเมนต์ไทย ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้ด้วยการลงทุนถึง 7 บริษัทด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 2,700 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ที่จะต้องลงทุนนับหมื่นล้านบาทในอนาคตนั้น เป็นเครื่องชี้ว่าทิศทางของเครือซิเมนต์ไทยในทางปิโตรเคมี น่าจะเป็นที่ต้องจับตามอง
และชื่อของอภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการ TPEในฐานะผู้ดูเรื่องนี้คนแรกของปูนซิเมนต์ไทย ก็น่าสนใจและควรจับตาไม่น้อยเช่นกัน
|
|
|
|
|