ชื่อของอนันต์ กาญจนพาสน์ เป็นที่รู้จักของคนไทย
เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนมานี้เอง ด้วยการเข้ามาสร้าง
อภิมหาอาณาจักรด้านที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานี
ท่ามกลางข่าวลือที่กระหน่ำซ้ำเติมตลอดเวลาว่า คงไปไม่รอด และสักวันหนึ่งอาจจะถึงวันจบที่น่าหวาดเสียว
"ผมยังมั่นใจอย่างมากว่า วันนี้เมืองทองธานีกำลังเดินไปตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน" อนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทบางกอกแลนด์
จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นกับ "ผู้จัดการ" เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม
2545 ที่ผ่านมา
ตัวเลขงบการเงินสิ้นสุด 31 มีนาคม 2544 ระบุไว้ว่าบริษัทบางกอกแลนด์ฯ ทำรายได้ถึง
6.995 ล้านบาท แต่ยังมีตัวเลขขาดทุนอยู่อีกประมาณ 1,041 ล้านบาท
แม้อนันต์ กาญจนพาสน์ ยังไม่เห็นเม็ดเงินกำไร และยังมีหนี้สินหมุนเวียนอยู่ถึง
4 หมื่นกว่าล้านในบริษัทบางกอกแลนด์ แต่เหตุผลสำคัญที่” "ผู้จัดการ" ต้องเขียนถึงเขาอีกครั้ง
เพราะยอมรับในความเป็นนักสู้ของเขา ซึ่งหลายคนได้ปรามาสไว้ว่า คงรักษาโครงการเมืองทองธานีไว้ไม่ได้
และคงถึงจุดจบอย่างน่าหวาดเสียวตั้งแต่วิกฤติรอบที่แล้วเป็นแน่
แต่แล้วข่าวคราวของโครงการในเมืองทองธานี ก็ยังเกิดขึ้นต่อมาอีกเรื่อยๆ
โดยเฉพาะงานใหญ่ระดับชาติต่างๆ ที่ไปจัดกิจกรรมในอิมแพ็ค (Impact) Exhibition
Center และ Convention ที่กำลังเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมคนกรุงเทพฯ
เม็ดเงินก้อนใหญ่จากการจัดงานแต่ละครั้งกลายเป็นรายได้สำคัญที่เข้ามาหมุน
เวียนหล่อเลี้ยงโครงการ แม้จะเทียบไม่ได้เลยกับก้อนหนี้ จำนวนมหาศาลที่บริษัทมีอยู่
ทุกครั้งที่มีงานใหญ่ในอิมแพ็ค ก็เปรียบเสมือนกับบริษัทได้เชิญคนมาดูโครงการต่างๆ
ในเมืองทองธานีด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความเคลื่อนไหวทางด้านการซื้อขายที่พัก
อาศัย เช่น ป๊อปปูล่าคอนโด จะถูกขาย หรือถูกเช่า ได้ในช่วงเวลานั้น และมันก็คือเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ภาพของเมืองใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก
และทำให้เมืองทองธานีห่างไกลจากคำว่า "เมืองร้าง" ขึ้นไปทุกทีๆ
เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนาม
บันทึกข้อตกลงระหว่างบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) กับบริษัทบางกอกแอร์พอร์ต
อินดัสตรี จำกัด บริษัทในเครือบางกอกแลนด์ ก็คือ การที่ SMC ได้เข้าไปรับซื้อสินเชื่อยูนิตที่เหลือประมาณ
5,000 ยูนิตของโครงการป๊อปปูล่าคอนโดมิเนียม ในเมืองทองธานี รวมมูลค่า 3
พันล้านบาท
ข่าวคราวล่าสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน ก็คือโครงการนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา
รายละเอียด และร่างสัญญาของเงื่อนไขต่างๆ โดยมีบริษัทกฎหมายธรรมนิติเข้ามาเป็น
ผู้ดำเนินการ
ป๊อบปูล่าคอนโดมิเนียมมีทั้งหมด 24 อาคาร รวม 2.7 หมื่นยูนิต อาคารดังกล่าว
ประกอบด้วย อาคารครูเมืองทอง 14 อาคาร อาคารเมืองทองธานีเพื่อข้าราชการ จำนวน
9 อาคาร อาคารไพลินสแควร์ จำนวน 4 อาคาร ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา อนันต์ใช้ทุกกลยุทธ์ขายโครงนี้ไปแล้วประมาณ
2 หมื่นยูนิต และเหลือขาย เพียงประมาณ 5,000 ยูนิตเท่านั้น
หากทุกอย่างไม่ผิดพลาด แคมเปญ ขายโครงการที่อยู่อาศัยในป๊อปปูล่าคอนโด
ล็อตสุดท้ายในเงื่อนไขพิเศษสุดจากการสนับสนุนโดยโครงการ SMC ก็จะออกมาในเร็วๆ
นี้
และนั่นหมายถึงว่า บางกอกแลนด์ จะมีกระแสเงินสดเข้ามาสูบฉีดโครงการอื่นๆ
ที่ยังคงค้างคาอีกครั้ง ในขณะเดียว กัน การที่คนเข้ามาซื้อโครงการเพิ่มขึ้น
จำนวนเงินบริหารส่วนกลางที่สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น จะสร้างความสมบูรณ์
ให้โครงการนี้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
และนี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อนันต์ กาญจนพาสน์ มั่นใจที่จะประกาศโครงการ
ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเมืองทองธานีอีกครั้งหนึ่งในรอบใหม่ของธุรกิจเรียลเอสเตทนี้
ความสามารถในการขายโครงการที่อยู่อาศัยล็อตใหญ่ๆ ให้กับหน่วยงานราชการ
รวมทั้งความสามารถดึงหน่วยงานราชการต่างๆ ให้มาสร้างกิจกรรมในโครงการอิมแพ็คเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ที่ทำให้เมืองทองธานีสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2530 ยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ปีทองของเศรษฐกิจไทยได้เริ่มต้นขึ้น ธุรกิจเรียลเอสเตทไทยกำลังประสบความเฟื่องฟูอีกครั้ง
บางกอกแลนด์ เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินโครงการหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวทางด้านพัฒนาที่ดินสูงสุด
อนันต์ กาญจนพาสน์ หรือ "อึ้ง จง เปา" ลูกชายคนโตของ "อึ้ง จื้อ เม้ง"
มงคล กาญจนพาสน์ กลับจากการทำธุรกิจในฮ่องกงคืนสู่แผ่นดินเกิดของพ่อเมื่อประมาณ
15 ปีก่อน เพื่อก่อสร้างอภิมหาโครงการขนาดยักษ์ บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเนื้อที่โครงการประมาณ
4,000 ไร่โดยวาดฝันให้เป็น "กรุงเทพฯ แห่งอนาคต" โครงการเมืองใหม่สมบูรณ์แบบเพื่อรองรับประชาชนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า
1 แสนคน
เมืองใหญ่แห่งนี้ปูพรมตอกเสาเข็ม ด้วยโครงการคอนโดมิเนียมอุตสาหกรรมเป็นโครงการแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม
ปี 2533 โดยเจาะกลุ่มตลาดโรงงานอุตสาหกรรมขนาด เล็กที่ไร้มลภาวะ ถัดมาหลังจากนั้นเพียง
1 เดือนในวันที่ 4 มิถุนายน หลังวันเกิดของเสี่ย อนันต์เพียง 2 วัน โครงการเลควิวคอนโดมิเนียม
ห้องชุดราคาแพงสูง 24 ชั้น สมบูรณ์แบบด้วยการขุดฝังระบบสาธารณูปโภคไว้ใต้ดินทั้งหมด
ก็ออกมาโลดแล่นเผยโฉมใน สื่อโฆษณาต่างๆ ให้ตื่นตะลึงกันอีกครั้ง เพราะมีทั้งหมดเกือบ
100 ตึก ยังไม่พอวันที่ 16 สิงหาคม 2533 วิลล่าออฟฟิศ สูง 5 ชั้นในฝั่งตรงข้ามกับเลควิวก็เกิดขึ้นตามมาติดๆ
เปิดฉากปี 2534 ในเดือนมกราคม เมืองทองธานีเริ่มเปิดตัวโครงการสำหรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง
ในโครงการป๊อปปูล่าคอนโด ที่เป็นตึกสูง 10 ชั้น จำนวน 27 ตึก ประมาณ 2.7
หมื่นยูนิต ประกอบไปด้วยโครงการครูเมืองทองธานี ที่เกิดจากการร่วมมือกับคุรุสภา
และโครงการเมืองทองธานีเพื่อข้าราชการ
ปี 2536 จำนวนแท่งตึกสวยงามที่ผุดโผล่ในโครงการเมืองทองธานีประมาณ 150
ตึก กว่า 30,000 ยูนิต ถูกก่อสร้างจนแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ แต่น่าใจหายที่หลายตึก
ยังคงร้างรา ยอดขาย ยอดโอน ไม่รวดเร็วอย่างที่เขาฝันเอาไว้เลย
ช่วงนั้นอนันต์เปลี่ยนแผนการรุกครั้งใหม่ โดยหวังที่จะไปกวาดยอดขายในโครงการอื่นๆ
นอกเมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ เข้ามาช่วยบ้าง เช่น โครงการเมืองทองบางนา โครงการเมืองทองธานี
ศรีนครินทร์ รวมทั้งแผนการกระตุ้นยอดขายในแคมเปญต่างๆ จึงกระหน่ำออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเช่น
กลยุทธ์ไร้ดอกเบี้ยในเมืองทองทาวน์เฮาส์
ในขณะเดียวกัน ภาวะวิกฤติทางการเงินที่เริ่มคืบคลานเข้ามา ทำให้โครงการเมือง
ทองธานี ล่อแหลมและอันตรายที่สุด
ในช่วงที่กลับมาเมืองทองธานีใหม่ๆ อนันต์เคยบอกกับคนใกล้ชิดว่า การค้าขายกับราชการไม่ใช่เป้าหมายของเขา
เพราะมันมีขั้นตอนมากมายที่ทำให้เกิดความล่าช้าน่าเบื่อ
แต่...เขาก็ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของโครงการในอนาคตแห่งนี้ จะฝาก ความหวังไว้กับลูกค้ารายย่อยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
และเงินงบประมาณที่แน่นอนของหน่วยงานราชการกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากๆ
ปี 2534 จับมือกับองค์การคุรุสภาขายที่พักอาศัยราคาถูกให้กับข้าราชการครูในโครงการครูเมืองทอง
และเมืองทองธานีเพื่อข้าราชการ ซึ่งเกมการขายเรื่องนี้ สร้างความผวาให้กับผู้ประกอบการในระดับราคาเดียวกันอย่างมากในยุคนั้น
โครงการราคาถูกเพื่อข้าราชการก็ถูกก๊อบปี้ไปใช้กับโครงการคอนโดราคาถูกอื่นๆ
ทั่วเมืองไทย
จากกลุ่มข้าราชการ อนันต์เริ่มเข้าทางสายทหาร เมื่อปลายปี 2539 พล.อ. ยุทธศักดิ์
ศศิประภา ปลัดกระทรวงกลาโหม นายทหารคนสนิทของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น ได้ตกลงซื้ออาคารนิวดอนเมือง ในโครงการเมืองทองธานี
มูลค่า 1,300 ล้านบาท เพื่อเป็นที่ทำ การแห่งใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
วันที่ 4 มีนาคม 2540 คณะรัฐ มนตรีอนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
เซ็นสัญญาซื้ออาคารที่พักในเมืองทองอีก 2 อาคารคือ ป๊อบปูล่า และเลควิว คอนโดมิเนียม
เพื่อเป็นที่พักอาศัยของนายทหารชั้นสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวนอีก 1,515
ล้านบาท
การเซ็นสัญญาซื้อขายสองตึกนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการหาซื้อที่ดินเพื่อ
สร้างที่ทำการแห่งใหม่ของรัฐสภา และที่ดิน 60 ไร่ มูลค่า 540 ล้านบาท ของบริษัทบางกอกแลนด์ก็มีกระแสว่ามาแรงมากว่าจะได้รับเลือก
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นที่ที่ไม่เหมาะสม และในที่สุดก็ได้ล้มเลิกไป
เช่นเดียวกับการเสนอ ขายบางอาคารให้กับรัฐสภา
สิ่งที่เกิดขึ้น ประกอบกับข่าวที่ว่า อนันต์หอบหิ้วนาฬิกา CYMA ราคาหลายล้านบาทไปมอบให้กองทัพบกเพื่อแจกจ่ายให้นายทหารชั้นผู้น้อย
ต่อมาได้รับโล่เกียรติคุณ ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่าอนันต์ใช้ความไม่ชอบมาพากล
เข้าคลุกวงใน เพื่อดึงเม็ดเงินงบประมาณ ของรัฐบาลลงมาเพื่อช่วยเหลือโครงการของตนเอง
จะว่าไปแล้ว "กลยุทธ์การบริจาค" เป็นวิถีทางหนึ่งที่เขาถนัด และนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มจับงานพัฒนาที่ดินในเมืองไทยใหม่ๆ
เช่น การบริจาคที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อสร้างโครงการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บริจาคที่ดินเพื่อสร้างสำนักงานที่ดินนนทบุรี บริจาคที่ดินเพื่อการสร้างโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์
เพื่อบริการลูกค้าในเมืองทองธานี รวมทั้งยกที่ดินให้การไฟฟ้าอีกหลายจุดเพื่อสร้างสถานีย่อย
ยอมจ่ายค่าก่อสร้างทางขึ้นลงของทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางไทร ในโครงการเมืองทองธานีประมาณ
200 ล้านบาท
ทุกครั้งที่มีการบริจาค รัฐบาล ประชาชน ได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับตัวโครงการเองก็สามารถเก็บเกี่ยวผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา
แต่สำหรับวิธีการอื่นๆ นั้น
อนันต์ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ผมไม่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างคอนเนกชั่นกับบรรดาข้าราชการ เพราะตลอดเวลาที่ทำธุรกิจในฮ่องกง
ไม่เคยติดต่อกับหน่วยงานราชการ และผมไม่ชอบ เพราะ ผมเข้าผู้ใหญ่ไม่เป็น ไม่เคยคิดจะเข้าหลังบ้านด้วย
แต่ที่ผมขายของได้เป็นเพราะผมมีของดีเสนอขาย และเป็นที่ต้องการต่างหาก"
เขาบอกว่า คนเราเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ดวงต้องดี และโชคต้องช่วยด้วย และมันช่างบังเอิญจริงๆ
ที่ในช่วงนั้นกระทรวงกลาโหมบางหน่วยงานต้องย้ายจากสถานที่เดิมบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์
บางกอกแลนด์คว้าจังหวะนี้ มีการเสนอขายที่พักอาศัยสำหรับทหารชั้นสัญญาบัตร
1 ล็อก คือเลควิว ที่พักอาศัยสำหรับข้าราชการชั้นประทวน 1 อาคาร ทันที เป็นการเสนอขายในสมัยพลเอกชวลิต
ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็มีการตกแต่งอาคารจนแล้วเสร็จ มีการส่งมอบอาคารกันในสมัยชวน
หลีกภัย เป็นนายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
"การขายที่อยู่อาศัยล็อตนี้ เริ่มจากทางฝ่ายขายของบางกอกแลนด์ทำหนังสือถึงผู้ดูแลสวัสดิการข้าราชการเสนอขาย
แต่เรื่องเงียบไป ก็เลยคิดกันว่าต้องไปหาคนที่ใหญ่กว่านั้น" สุณิธิ เปล่งศรีงาม
ผู้อำนวย การฝ่ายการตลาด เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
"ต้องเข้าพบพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลยหาทางไปพบท่าน
เรามีของเสนอขาย ใครๆ ก็บอกว่าท่านใหญ่จะตายจะไปพบท่านง่ายๆ ได้อย่างไร
แต่คุณอนันต์ก็เป็นพ่อค้าใหญ่ โครงการเมืองทองธานีก็ไม่ใช่เล็กๆ ใครๆ ก็รู้จัก
เราเลยเปิดหนังสือหน้าเหลืองดูซิว่า บก.สส. เบอร์อะไร แล้วโทรถึงหน้าห้องฝากเรื่องว่า
คุณอนันต์มีเรื่องเรียนเสนอขายสินค้าตัวนี้ เขาก็โทรกลับมา นัดวันกัน วันที่เจอกันเราก็ตื่นเต้นนะ
บิ๊กหมงเองก็พูดว่า เคยเห็นคุณอนันต์แต่ทางโทรทัศน์ เขาถามว่ามีอะไรหรือครับ
คุณอนันต์ก็บอกว่า ผม มีที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีคนอยู่ จะเอาโครงการนี้เสนอขายเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
บิ๊กหมงบอกว่า เออ! คุณมีบ้าน ไม่มีคนอยู่ ผมก็มีคนที่ไม่มีบ้านอยู่ แล้วรายละเอียดเป็นอย่างไรล่ะ
พี่ก็บอกว่าเราได้ทำจดหมายถึงท่านเจ้ากรมสวัสดิการทหาร แต่ได้เงียบหายไปเลยลองมาติดตาม
ท่านก็บอกว่าลองเสนอเข้ามาดูจะพิจารณา หลังจากนั้นท่านก็ขอไปดูโครงการ ก็มีการตั้งกรรมการทำรายละเอียด
เรื่องมันก็ลงไปอยู่ที่สวัสดิการเหมือนเดิม สวัสดิการก็ทำหน้าที่เหมือนสวัสดิการทั่วไป
มีหลักเกณฑ์ต้องทำตามขั้นตอน"
หลังจากนั้นอนันต์ก็เริ่มมั่นใจในกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้มากขึ้น ความเป็นนักขายในสายเลือดและวิญญาณ
ทำให้เขาตัดสินใจเดินเคาะประตูของทุกกระทรวง เพื่อเสนอขายโครงการที่พักอาศัยในโครงการเมืองทองธานี
เขาจำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะตัวเลขดอกเบี้ยทวีสูงเพิ่มขึ้นทุกๆ
วัน จากเสี่ยใหญ่ อารมณ์ดี หน้าตายิ้มแย้ม มีลูกเล่นลูกฮาแพรวพราว กลายเป็นคนเคร่งเครียด
หน้าตาขุ่นขึ้ง อยู่พักใหญ่เช่นกัน
โชคช่วยอนันต์ กาญจนพาสน์ อีกครั้งที่สามารถสร้างสนามกีฬาใหญ่ในเมืองทองธานีเพื่อรองรับกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
ครั้งที่ 13 ในเมืองไทย ได้เป็นผลสำเร็จทันส่งมอบให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย
เมื่อเดือนตุลาคม 2541 ท่ามกลางปัญหาของบริษัทที่ขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก
ณ วันนั้นผู้คนทั้งประเทศที่ดูถ่าย ทอดสดรู้จักโครงการ "เมืองทองธานี"
ทันที เครดิตของอนันต์เองก็กลับคืนมาเต็มๆ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนในวงการได้อีกครั้ง
สนามกีฬาหลักในครั้งนั้นคือ ราชมังคลากีฬาสถาน สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ในเมืองทองธานี
ทำไม ต้องเป็นเมืองทองธานี ซึ่งเป็นสนามของเอกชน อนันต์ถูกจับตามองอีกครั้ง
ในคราวนั้น สินธุ พูนศิริวงศ์ ประธานบริษัทสินธุ พูนศิริวงศ์ คอนซัลแตนท์
บริษัทวิศวกร ที่ปรึกษาของบริษัทบางกอกแลนด์ เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า
"มีผู้ใหญ่ของรัฐบาลท่านหนึ่งมาปรึกษาผมว่าสนามกีฬานั้น ถ้าเราได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนก็ดี
เพราะงบประมาณของรัฐบาลกำลังแย่ ผมก็ได้นำเรื่องนี้มาปรึกษาคุณอนันต์ คุณอนันต์ก็เลยไปปรึกษาคุณพ่อ
เมื่อทางคุณมงคลบอกว่าให้ช่วยก็เลยตกลง" (จากเรื่อง จบเกมกีฬาสู่เกมธุรกิจ
จะบริหารศูนย์กีฬามูลค่า 12,000 ล้านได้อย่างไร โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล "ผู้จัดการ"
ธันวาคม 2541)
เป็นโครงการเพื่อชาติ ที่ตนเองก็ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ คัตเอาต์ขนาดยักษ์
โดดเด่นด้วยโฆษณาถ้อยคำที่ว่า "เมืองทองธานีเมืองแห่งเอเชี่ยนเกมส์" ที่ถูกติดตั้งไปทั่วกรุงเทพฯ
ได้ช่วยกระตุ้นยอดขายให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง
เขาหวังว่าโครงการนี้ จะเป็นเช่นเดียวกับสนามกีฬาหัวหมาก ที่ได้ปลุกทุ่งร้างบางกะปิให้คึกคักขึ้นมาได้ในอดีต
และภายหลังการแข่งขันกีฬาเสร็จสิ้น สปอร์ตคอมเพล็กซ์แห่งนี้ถูกวางแผนกำหนดให้แปรเปลี่ยนเป็นศูนย์แสดงสินค้า
ทำหน้าที่หาเม็ดเงินมาสูบฉีดเลี้ยงส่วนของโครงการที่อยู่อาศัยต่อไป
วันสุดท้าย ก่อนจบการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ อนันต์ได้กล่าวกับคนใกล้ชิด
ที่ลานขายเบียร์คาร์ลสเบอร์กหน้าฮอลล์ในอิมแพค ว่า
"ผมไม่อยากให้การแข่งขันเลิกเลย จบแล้วไม่รู้จะเริ่มยังไง" น้ำเสียงที่แสดงถึง
ความท้อแท้เหนื่อยหน่ายครั้งนั้นทำให้คนฟังถึงกับชะงัก และเข้าใจได้ทันทีว่าจริงๆ
แล้ว อนันต์กำลังไม่สบายใจอย่างมากๆ
การสร้างศูนย์กีฬาใหญ่ยักษ์ 70,000 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาท
ว่ายากแล้ว แต่การบริหารอาคารขนาด ใหญ่ที่มีพื้นที่มากนั้นกลับยากกว่า ในช่วงนั้นอนันต์ต้องทำงานอย่างหนักและมีความ
อดทนเป็นอย่างมาก สายสัมพันธ์เก่าๆ กับหน่วยงานราชการถูกดึงมาใช้อย่างเต็มที่
หน่วยงานราชการสำคัญหลายแห่ง อนันต์เดินเคาะประตูเพื่อของาน เริ่มจากกระทรวงเกษตร
ไปกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไล่ไปถึงกรมส่งเสริมการส่งออก สภาหอการค้าไทย
ทำให้มีงานต่างๆ ค่อยทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์
อุตสาหกรรมทั่วไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม งานมหกรรมรถยนต์ปี 2000 งาน 90 ปี
กระทรวงคมนาคม พร้อมๆ กับเพิ่มความพร้อมในเรื่องสถานที่ทางด้านเอ็นเตอร์
เทนเมนต์ หรือศูนย์ที่จัดงานด้านบันเทิง ทำให้มีลูกค้าของงานคอนเสิร์ตระดับโลก
และคอนเสิร์ตระดับชาติ มาจัดแสดงที่นี่หลายงาน รวมทั้งการแสดงมายากลของโลก
การแสดงกายกรรมต่างๆ จากประเทศ จีน และงานดิสนีย์แลนด์ออนไอซ์
งานบีโอไอ เป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองทองธานี เพียงแต่งานนี้โชคไม่ได้ช่วย
แต่เป็นเพราะโกวิท ภักดีภูมิ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นมานานกับอนันต์เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เช่นเดียวกับสถาพร กวิตานนท์ เลยถือโอกาสเชิญสถาพรให้แวะมาดูสถานที่จัดงาน
เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมจากศูนย์กีฬาธรรมศาสตร์ เป็นตัวเต็งอยู่ในขณะนั้นด้วย
ในที่สุด สถาพรเลือกเมืองทองธานี โดยให้เหตุผลว่าความพร้อมของภาคเอกชนในเรื่องสถานที่และการประสานงาน
ทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่า
วันนี้ เรียกได้ว่าอนันต์ได้เคาะประตูหางานให้กับอิมแพ็คครบแล้วทุกกระทรวง
และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้เพื่อให้ทีมงานและลูกชาย พอลล์ กาญจนพาสน์
ที่ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทอิมแพ็ค เอซิบิชั่น
แมเนจเม้นท์ จำกัด สามารถเดินหน้าเก็บเกี่ยวงานใหม่ในแต่ละปีเข้ามาได้ด้วยตัวเอง
ส่วนเขากำลังเตรียม งานใหญ่อีกครั้ง
นอกจากการเตรียมแผนการขายป๊อปปูล่า ล็อตสุดท้าย เขายังเตรียมแผนการที่จะปรับปรุง
และขยายอิมแพ็คให้สมบูรณ์แบบเพิ่มมากขึ้น คำวิจารณ์ที่ว่า "ศูนย์ประชุมไบเทค
บางนา นั้นสุกแล้ว แต่อิมแพ็คในเมืองทองธานี ยังดิบอยู่" ทำให้อนันต์มุมานะอย่างมากที่จะพัฒนาศูนย์แห่งนี้อย่างเต็มที่
เช่น การทุ่มงบประมาณจำนวนมากในเรื่องการซื้อต้นไม้ใหญ่มาปลูกเพื่อสร้างความร่มรื่นให้เกิดขึ้น
การปรับปรุงห้องน้ำใหม่ การวางแผนเพิ่มพื้นที่ที่จอดรถเพิ่มพื้นที่ในศูนย์
ร่วมมือกับประเทศเยอรมนีจัดงานเทรดโชว์ ต่างๆ และในอนาคตยังวางแผนสร้างโรงแรมอีกด้วย
นอกจากนั้นยังได้มีแนวความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ของโครงการเลควิวในเมืองทอง
เป็นเมืองสำหรับการพักผ่อนของคนชราจากประเทศญี่ปุ่น
"ขณะนี้บางกอกแลนด์กำลังทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเสนอรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสนใจ เขาจะเสนอรัฐบาลญี่ปุ่น
ถ้าเขาร่วมมือกัน ก็ทำโดยมาใช้ที่เรา เราไม่ได้กู้เงิน ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเจรจา
ทางเขากำลังดูเรื่องการเงิน ดูเรื่องการตลาด กลุ่มเป้าหมายของเราก็เช่น ในแต่ละปีบริษัทโตโยต้าปลดเกษียณ
มีกี่คน ธนาคารญี่ปุ่นมีกี่คน ก็ดูกันอยู่ ถ้าสำเร็จงานของเราก็คือการสร้าง
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้รองรับคนกลุ่มนี้"
อนันต์ยังยืนยันอีกว่า ขณะนี้ยังมีองค์การใหญ่ระดับชาติ อีก 2-3 หน่วยงาน
ติดต่อเข้ามาซื้อโครงการที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานี
ปัจจุบันรายได้หลักในเมืองทองธานีจะมี 3 ส่วนคือ ในโครงการบางกอกแลนด์ที่ยังมีทั้งขายและให้เช่า
เช่น เลควิวคอนโด คอนโดอุตสาหกรรมสูง 10 ชั้น ในราคาขายตารางเมตรละประมาณ
2.3 หมื่นบาทต่อตารางเมตรบางตึก ป๊อปปูล่าคอนโด ราคาเริ่มต้นที่ 2.6 แสนบาท
พื้นที่ 28-40 ตร.ม. รายได้จากอิมแพ็ค ซึ่งจัด งาน ทั้งในส่วนของ Exhibition
Center และ Convention Center บริษัทที่ดูแลในเรื่องนิติบุคคลอาคารชุด และยังมีบริษัท
บางกอกแลนด์เอเยนซี่ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องของคอมเมอร์เชียลทั้งหลาย
ถึงแม้จะคาดการณ์ไม่ได้ว่า เม็ดเงินกำไรในบางกอกแลนด์จะโชว์ให้เห็นเมื่อไร
และเมืองทองธานี ก็คงอีกนานกว่าจะถึงวันปิดฉากจบโครงการ หากทุกอย่าง ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
อนันต์จะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้นความเป็นนักสู้ของเขา จึงน่าติดตามอย่างมากๆ