|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2535
|
 |
เดือนพฤศจิกายน คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ เดินทางเงียบ ๆ เข้าเกาะฮ่องกง ไปยังชั้น 31 อาคารแปซิฟิกเพลส เพื่อเปิดบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทิสโก้ขึ้นที่นั่น
นั่นเป็นการออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกของธุรกิจค้าหลักทรัพย์ไทย โดยมีทิสโก้เป็นผู้บุกเบิก เหมือนเมื่อสมัยเกือบ 20 ปี ก่อนที่ทิสโก้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเงินทุนวาณิชธนกิจขึ้นเป็นรายแรกของเมืองไทย
บริษัททิสโต้ ซีเคียวริตี้ (ฮ่องกง) เป็นบริษัทเครือข่ายของทิสโก้ที่กรุงเทพ ซึ่งถือหุ้น 100% บริษัทแห่งนี้ เกิดจากบริษัททิสโก้ที่กรุงเทพ เข้าซื้อกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ฮ่องกง จากบริษัท บี.ที. โบรคเกอร์เรจแอนด์ซิเคียวริตี้ บริษัทเครือของแบงก์เกอร์ทรัสต์นิวยอร์ค เป็นจำนวนเงินประมาณ 5 ล้านดอลล่าร์ฮ่องกง เมื่อหลายเดือนก่อน
แบงก์เกอร์ทรัสต์เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทุนรายใหญ่ของทิสโก้มานาน เมื่อ 2 ปีก่อน ได้หยุดดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงเพราะขาดทุนมาก จากผลกระทบของเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2533
ห้วงเวลานั้นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์อเมริกันหลายบริษัทที่ฮ่องกง เช่นเมอริลรินซ์ ก็เจอปัญหาขาดทุนมากเช่นกัน และทางเมอริลรินซ์วที่นิวยอร์ค ก็สั่งให้ทางฮ่องกงหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวเหมือนกับของแบงก์เกอร์ทรัสต์
“เราได้ทำเรื่องไปที่แบงก์ชาติว่าสนใจจะซื้อบีที. โบรคเกอร์เรจที่ฮ่องกงมาเกือบปีแล้ว ซึ่งทางแบงก์ชาติก็เห็นชอบด้วย” ปลิว มังกรกนก ผู้บริหารระดับสูงของทิสโก้บอกกับ “ผู้จัดการ”
ตลาดหุ้นฮ่องกงมีเสน่ห์เย้ายวนบริษัทหลักทรัพย์ที่กรุงเทพมานานแล้ว หนึ่ง-ขนาดของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงสูงกว่าตลาดหุ้นที่กรุงเทพถึงประมาณ 3 เท่า และ มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันสูงกว่าที่กรุงเทพด้วย สอง-ค่าธรรมเนียมการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละประเภทมีความยืดหยุ่นตามสภาพการแข่งขันของตลาดสูง มีตั้งแต่ประมาณ 0.3% ไปจนถึง 1.0% และ สาม-ตลาดฮ่องกงเป็นศูนย์รวมการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบันและส่วนบุคคลจากทุกมุมโลกที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนมายังภูมิภาคแห่งนี้
“ที่สำคัญกว่านั้น เมื่อมองไปที่ตลาดจีนผืนแผ่นดินใหญ่ คุณรู้ใช่ไหมว่าตลาดที่มีประชากรนับพันล้านคนแห่งนี้กำลังเป็นตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดของโลกปีละกว่า 10% และ คุณรู้ใช่ไหมว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นของฮ่องกงคือผู้ลงทุนรายใหญ่ของจีนทางภาคใต้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและตลาดหุ้นเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังถึงตรรกะของความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงกับอนาคตของการเติบโตที่เมืองจีน
พวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์ทั่วโลกรู้กันมานานถึงบทบาทของฮ่องกงในฐานะเป็นประตูทางการค้าและการระดมทุนเพื่อการผลิตที่กำลังเติบโตของจีนในปัจจุบันจีนกำลังต้องการทุนจำนวนมหาศาลเพื่อขยายการผลิต แต่จีนก็ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการถูกประเมินด้านความเสี่ยงสูงจากพวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์
“ตลาดหุ้นที่เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นดูน่าสนใจดี แต่เราคิดว่าในเวลานี้คุณลงสินทรัพย์ของคุณที่ ฮ่องกงจะปลอดภัยกว่า” ถ้อยคำเช่นนี้มักจะได้ยินบ่อย ๆ จากพวกเมอร์ช้านแบงก์เกอร์เมื่อเขาถูกนิตยสารด้านการลงทุนในยุโรปถามถึงสถานการณ์ที่เมืองจีน
ตลาดหุ้น เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น แม้ทางการจีนจะอนุญาติให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้น “B” ได้แต่ประมาณอุปทานหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นทั้งสองและระบบการให้บริการ SETTLEMENT ยังไม่สะดวกจึงเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนอยู่มาก
การที่ทิสโก้ไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ฮ่องกงในระยะยาวก็อยู่ภายใต้ตรรกะเดียวกันการเป็นบริษัทหลักทรัพย์หน้าใหม่สำหรับตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างฮ่องกง และเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการออกไปทำธุรกิจที่มีความผันผวนในต่างแดนมันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าทิสโก้จะประสบผลสำเร็จในการตัดสินใจลงทุนที่ฮ่องกง
“ตอนที่เราทำเรื่องขออนุมัติซื้อบีที.ฯต่อแบงก์ชาติก็ประมาณการว่าน่าจะคุ้มทุนภายในไม่เกิน 3 ปี” แหล่งข่าวในทิสโก้บอกกับ “ผู้จัดการ”
ทิสโก้ยอมรับว่า มันไม่ง่ายต่อการทำธุรกิจหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง สิ่งสำคัญคือภายในช่วง 3 ปีแรกทิสโก้ซิเคียวริตี้มองเห็นช่องทาง (NICHE) ที่เป็นโอกาสของตนเองตรงไหน “เราจ้างวิลสัน แลม คนเก่าของบีที.ฯ ฮ่องกงเป็นผู้จัดการทั่วไปและส่งประพันธ์ เอื้อวงศ์ประวิทย์จากทิสโก้กรุงเทพไปเป็นเซลล์ประจำที่นั่น” ปลิว มังกรกนก เล่าให้ฟังถึงคนรุ่นแรกที่จะบุกเบิกธุรกิจให้ทิสโก้ที่ฮ่องกง
ปลิวชี้ให้เห็นถึงรากฐานของเหตุผลสำคัญของการลงทุนเปิดสาขาที่ฮ่องกงว่า ทิสโก้ไม่ต้องการฝากอนาคตการเติบโตอย่างมั่นคงในธุรกิจหลักทรัพย์ไว้กับอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์รายหนึ่งรายใดที่จะส่งผ่านออเดอร์มาให้ที่กรุงเทพ “มันเสี่ยงเกินไป เมื่อวันหนึ่งเขาไม่ผ่านมาให้เรา”
ทิสโก้ซิเคียวริตี้มีใบอนุญาตินายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย มูลค่าถูกตีราคาไว้ประมาณ 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกง “มันผูกติดมาตอนที่ซื้อบีที.ฯ” คนของทิสโก้เล่าให้ฟังถึงโครงสร้างของราคา 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงตอนที่ซื้อบีที.ฯ
เป้าหมายในปีที่ 3 ของทิสโก้ที่ฮ่องกงคือ สามารถเข้าไปทำธุรกิจเสมือนหนึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นที่นั่น คือเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์และทำธุรกิจอันเดอร์ไรเตอร์หลักทรัพย์ที่ออกในฮ่องกง พร้อมทั้งปล่อยสินเชื่อให้กับนักลงทุนเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นช่วง 2 ปีแรก ทิสโก้มองเห็นโอกาสของการเติบโตตลาดหุ้นกรุงเทพ “ความได้เปรียบของเราคือ เราเชื่อว่าตลาดหุ้นที่กรุงเทพน่าจะมีปริมาณการเข้ามาลงทุนซื้อขายแต่ละวันไปได้ดีกว่าที่ฮ่องกงในฐานะที่ทิสโก้เป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นกรุงเทพเครือข่ายของเราที่ฮ่องกงจะเก็บ ลูกค้าที่เป็นพวกผู้จัดการลงทุนที่นั่น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเตอร์เนชั่นแนล โบรคเกอร์อีกต่อไป” คนของทิสโก้พูดถึงกลยุทธ์การเจาะตลาดฮ่องกง ในช่วงโอกาสตลาดหุ้นกรุงเทพกำลังเติบโต
เป้าหมายกลุ่มผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกงของทิสโก้ ส่วนใหญ่จะเน้นจากสหรัฐและยุโรป ตามปกติ พวกผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกง (ส่วนใหญ่จะใช้บริษัทซิเคียวริตี้ของตนที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์) เวลาจะซื้อขายหุ้นที่กรุงเทพ มักกระทำโดยผ่านโบรคเกอร์ ซึ่งจะคิดค่านายหน้าครึ่งหนึ่งจาก โบรคเกอร์ที่กรุงเทพ เช่นแบริ่งสิงคโปร์ซื้อขายหุ้นโดยผ่านศรีมิตรเป็นต้น
เหตุที่ผู้จัดการลงทุนที่ฮ่องกงมักใช้เครือข่ายอินเตอร์เนชั่นแนลโบรคเกอร์ของตนที่สิงคโปร์ เข้าซื้อขายหุ้นที่กรุงเทพเพราะว่าไทยกับฮ่องกงมีปัญหาเรื่องการเสียภาษีซ้ำซ้อนกันอยู่
การลงทุนของผู้จัดการลงทุนจะอาศัยข้อมูลและข่าวสารประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือนจากสำนักงานวิจัยประจำกรุงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัทหลักทรัพย์ยุโรป
ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มนักลงทุนจากฮ่องกงทั้งในรูปส่วนบุคคลและสถาบัน เป็นกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกรุงเทพมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักลงทุนจากชาติอื่น นักลงทุน กลุ่มนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ของโบรคเกอร์นวธนกิจ
|
|
 |
|
|