Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
มังกร เกรียงวัฒนา ไฟแนนเซอร์มือหนึ่งค่าย TPI             
 


   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
มังกร เกรียงวัฒนา
Loan




ดีล เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก JAPANESE EXIM BANK ในวงเงิน 8,000 ล้านเยน ดูเหมือนจะ เป็นดีลที่มังกร เกรียงวัฒนา เจ้าหน้าที่บริหารระดับ SEVP ที่ดูแลด้านการเงินของบริษัทอุตสาหกรรม ปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (TPI) ภาคภูมิใจอย่างมากในบรรดาเงินกู้ที่ไฟแนนเซอร์มือหนึ่งรายนี้เคยทำมา

มังกร ใช้เวลาติดต่อดีลนี้ยาวนานถึง 2 ปี กว่าที่จะได้รับอนุมัติ และ TPI เป็นเอกชนรายแรกที่ เอ็กซิมแบงก์ญี่ปุ่นให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน

เขาเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ” ว่า “เงินกู้ก้อนนี้มีความแปลกอยู่ 3 ประการคือระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ยาวนานถึง 17 ปี ทั้งที่โดยทั่วไปจะอยู่ในเกณฑ์ 10-12 ปี เท่านั้น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำคือ 3.28% เป็นอัตราคงที่ตอนที่ผมเริ่มเจรจาอัตราในท้องตลาดตามกฎเกณฑ์ของ OECD ควรจะอยู่ 6.7% เราก็ได้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และประการสุดท้ายเป็นสิ่งที่แปลกแต่คนมักจะมองไม่เห็นคือระยะเวลาปลอดหนี้ 16 ปี ซึ่งปกติการกู้ EXPORT CREIT นี่จะมีระยะเวลาปลอดหนี้แค่ 2-3 ปี ของเรานี่ต้องถือเป็นระยะเวลาปลอดหนี้ที่ยาวนานเป็นพิเศษ”

รายละเอียดในการกู้ดังกล่าวต้องถือเป็นเงื่อนไขที่ “พิเศษ” ชนิดหาผู้กู้รายใดที่จะได้เงื่อนไขที่ดีมาก ๆ อย่างนี้ไม่ได้

“แม้แต่ EGAT ที่ไปเซ็นสัญญาเมื่อครั้งหลังสุดก็ยังไม่ได้ TERM อย่างเราในขณะที่เขาเป็นรัฐวิสาหกิจ” มังกรเล่ากับ “ผู้จัดการ”

เงินกู้ที่คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,600 ล้านบาท ก้อนนี้ TPI ต้องการนำมาใช้ในโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าแบบ CO GENERATION ที่จังหวัดระยองเพื่อผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำป้อนให้โรงงานปูนของบริษัท

มังกรเล่าถึงความเป็นมาของดีลนี้ว่า “ดีลนี้ต้องยกความดีความชอบให้คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ด้วย ตอนนั้นเราใช้เวลานานหลายปีในการสืบหาแหล่งเงินกู้ ที่ถูกอย่างนี้หลายประเทศทีเดียว จนเราไปเจอที่ออสเตรีย ซึ่งให้ระยะเวลาเงินกู้นานกว่าญี่ปุ่นคือ 22 ปีครึ่ง ซึ่ง TPI ก็กู้ไปแล้ว ในการสร้างโรงปูนโรงแรก ตอนนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นไม่กล้าให้เนื่องจากกลัวโดนโจมตรีเพราะเขามีการเกินดุลจากการส่งสินค้า”

การให้เงินกู้ระยะต่ำถือเป็นการสนับสนุนการส่งออกโดยทางอ้อม เอ็กซิมแบงก์จะมีเงินกู้ที่เรียกว่า EXPORT CREDIT โดยจะมีการเจรจากันระหว่างประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น สหรัฐ เยอรมัน อังกฤษ เพื่อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำหรับโครงการสินเชื่อภายใต้ EXPORT CREDIT ว่า ควรเป็นเท่าไหร่ มีเงื่อนไขอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้มีการแข่งขันด้านนี้มากเกินไป

ในกรณีที่เป็นซอฟท์โลน หรือ GRANT มักจะให้กับรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจแต่สำหรับ TPI ถือเป็นกรณีพิเศษ

มังกรให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุผลที่เอ็กซิมแบงก์ญี่ปุ่นให้เงินกู้แก่ TPI ว่า “ผมคิดว่ามันมีเหตุผล อยู่ 3 ข้อ คือโรงไฟฟ้าที่เราทำเป็นการสนองนโยบายรัฐ ข้อสองผลตอบแทนของโครงการประเภทนี้โดยทั่วไปจะต่ำกว่าผลตอบแทนของโครงการพาณิชย์อื่น ๆ และสุดท้าย TPI เคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากออส-เตรีย ผมก็เอาเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ ให้ทางญี่ปุ่นช่วยพิจารณาให้เราหน่อย”

การที่ TPI เคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากออสเตรีย เป็นจุดที่เป็นช่องว่างในเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ มังกรอธิบายว่า “ผมใช้วิธี MATCHING คือญี่ปุ่นกลัว การถูกโจมตีจากประเทศคู่ค้าอื่น เขาก็สามารถอาศัยช่องว่างที่เราเคยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก ออสเตรียมาเป็นข้ออ้างได้ว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มให้ คือไม่ได้ริเริ่มการตัดราคา เพียงแต่เขาเป็นผู้เสนอตาม ซึ่งการ MAT CHINGนี้ผมคิดว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจให้เงินกู้แก่เรา”

มังกรดูแลด้านการเงินให้กับกลุ่มทีพีไอมานานนับสิบปี ตัวบริษัท ทีพีไอ นั้นเริ่มกู้เงินครั้งแรก ก็กู้มาจากต่างประเทศ นับจนถึงปัจจุบันทีพีไอเป็นผู้กู้เอกชนรายใหญ่ที่สุดในโลกของ GERMAN EXIM BANK โดยกู้ติดต่อกันมาในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ หลายรายการคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท ราย-การเงินกู้เหล่านี้ล้วนเป็น EXPORT CREDIT ทั้งสิ้น ไม่ใช่ซอฟท์โลน

มังกรมีประสบการณ์กู้เงินต่างประเทศให้กลุ่มทีพีไอมาอย่างโชกโชน เขามองว่าปัจจุบันนี้การไปติดต่อกู้เงินระยะยาว โดยทั่วไปยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เขาให้เหตุผลว่า “เงินกู้ต่างประเทศกว่าครึ่งที่ภาคเอกชนไทยกู้มานั้น มาจากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น เมื่อธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นหดตัว มันก็ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น”

ทีพีไอ มีนโยบายในการกู้เงินว่า เงินกู้ระยะยาวจะกู้จากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนเงินทุนระยะยาวส่วนเงินกู้ระยะสั้นนั้นจะกู้จากภายในประเทศ เพราะธนาคารต่างประเทศส่วนมากจะอ่อนไหวกว่าธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ

การกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาก็เพื่อลดต้นทุนเพราะดอกเบี้ยต่างประเทศถูกกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการกระจายแหล่งเงินกู้ออกไปให้ทั่ว ๆ ไม่กระจุกอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เช่นปัจจุบันมีกฎ BIS เข้ามา ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะมีปัญหามาก BIS กำหนดอัตราสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 8% ขณะที่ตลาดหุ้นในโตเกียวตกมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นมีปัญหามาก ในการรักษาระดับสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุน ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นก็จะลดสินทรัพย์ลง ผู้กู้จากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นก็พลอยได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย

สำหรับทีพีไอนั้นไม่มีปัญหาเหล่านี้ TPI มีวิธีหาเงินหลายรูปแบบทั้งในตลาดเงินกู้ซึ่งมีทั้งส่วนธนาคารพาณิชย์และ EXIM BANK ตลาดทุน ซึ่ง TPI เป็นลูกค้าที่คุ้นหน้าคุ้นตาของแบงเกอร์ในยุโรป โดยเฉพาะที่สวิสและตลาดลูกผสมระหว่าง DEBT กับ CAPITAL

TPI ก้าวเข้าสู่ตลาดเงินกู้ต่างประเทศในส่วนที่เป็นตลาดทุนครั้งแรกเมื่อปี 2533 ด้วยการออกพันธบัตรอายุ 7 ปี ในประเทศสวิส มูลค่า 50 ล้านสวิสฟรังก์ และมีการจดทะเบียนซื้อขายที่ตลาดหุ้น ซูริคด้วย

ต่อมาในปี 2534 ก็มีการออก EXCHANGEABLE BOND มูลค่า 25 ล้านสวิสฟรังก์ การออก BOND ครั้งนี้มังกรอ้างว่า “ชื่อของเรา (TPI) เป็นที่รู้จักของสถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศสวิส ฉะนั้นเราก็ต้องรักษาชื่อของเราเอาไว้”

“TPI เป็นเอกชนไทยรายแรกที่ไปออกพันธบัตรในต่างประเทศ คือสวิสได้สำเร็จ มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ไม่ง่ายแต่ก็ใช้เวลาไม่นานเท่ากับโรงปั่นไฟ”

มังกรเล่าว่าเขาไม่ได้ใช้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเลย “ในการไปสวิสนั้นผมได้คุยกับธนาคารในสวิส คือธนาคารที่เป็นสปอนเซอร์พาเราเข้าไปคือ DG BANK SWITZERLAND เป็นธนาคารเกษตรและสหกรณ์ในเยอรมนีและมีสาขาที่สวิสด้วย เราก็ใช้สาขาที่สวิสเป็นสปอนเซอร์”

จริง ๆ แล้ว TPI เข้าไปในตลาดสวิสนานแล้ว โดยเข้าไปในส่วนของตลาดเงินกู้ เพิ่งจะมาเมื่อปี 2533 ที่เริ่มเข้าไปในตลาดทุน ส่วนที่เยอรมนีก็ต้องถือว่า TPI เป็นลูกค้าเก่าแก่ทีเดียว

มังกรเปิดเผยด้วยว่า “ธนาคารพาณิชย์ในโลกที่เป็นของเอกชนที่ได้ TRIPPLE A จากทั้ง 2 สถาบันคือ STANDARE & POOR และ MOODY เหลืออยู่ 3 แบงก์ เป็นแบงก์ยุโรปทั้งหมด และทั้ง 3 แห่งนี้ก็ปล่อยกู้ให้กับ TPI ซึ่ง แสดงว่าเครดิตเราดี”

อย่างไรก็ดี แม้ว่า TPI จะมีสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่มังกรก็ถือว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ยังเป็นแหล่งเงินที่สำคัญการกู้เงินจากต่างประเทศก็ยังต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์ในประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน โดยเฉพาะรายการกู้เงินระยะยาวที่ธนาคารพาณิชย์ผู้ค้ำประกันต้องคิดนานหน่อย

แหล่งระดมเงินอีกด้านหนึ่ง คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่ม TPI มีบริษัท TPI Polene เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย ซึ่งตอนที่นำเข้าจดทะเบียนนั้นก็มีการนำหุ้นส่วนหนึ่งไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยมีโนมูระของญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการจำหน่ายในต่างประเทศ

TPI Polene กำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนอีก 48.33 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 60 บาท เป็นเงิน 2,900 ล้านบาท และจะมีการกู้เข้ามาอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อที่จะนำมาขยายโรงปูนโรงที่ 2 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท

ในส่วนเงิน 4,000 ล้านบาทนี้จะมาจาก GERMAN EXIM BANK 3,000 ล้านบาทที่เหลือกู้จากธนาคารในประเทศ

มังกรเปิดเผยไว้ว่า “อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของ TPI Polene ประมาณ 1:1 มีวงเงินกู้ทั้งหมดประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ตัวบริษัท TPI จะเยอะกว่ามีหลายหมื่นล้านบาท”

มือกระบี่การเงินของ TPI คนนี้มีหลักการที่ยึดถือไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้คือการทำด้วยความตรงไปตรงมา “เราไม่มีการตกแต่งตัวเลขให้ดูสวยเกินกว่าความเป็นจริงสมัยก่อน ผมจะทำอะไรที่มีโครงสร้างแปลกออกไปนี่ผมต้องคุยกับแบงก์ชาติก่อนเสมอ ผมมีการขออนุญาตพิเศษ ๆ เยอะ เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้น

การขออนุญาตพิเศษ ๆ ที่ว่านั้น ได้แก่ การขอจดทะเบียนตั้งบริษัท ทีพีไอเคย์แมน ที่เกาะเคย์แมน ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทมีพัฒนาการด้านการเงินที่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างดังกล่าว หรืออย่างการออก BOND ในสวิส เป็นต้น

“มีธนาคารบางแห่งในต่างประเทศบอกให้เราไปจดทะเบียนที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์เพื่อทำซิกแซก แต่เราไม่เอา เราอุตส่าห์สร้างชื่อเสียงไว้กับแบงก์ชาติแล้ว เรื่องซิกแซกอย่างนี้ เราไม่ทำ กับแบงก์ต่างประเทศก็เหมือกัน หากเขาจับได้นี่มันไม่มีผลดีหรอก”

นักการเงินผู้คร่ำหวอดในการจัดหาและบริหารเงินกู้ต่างประเทศของกลุ่ม TPI ให้ความเห็น ทิ้งท้าย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us