Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2535
“ตรัง” ยุคที่มี ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี             
 


   
search resources

Political and Government
ชวน หลีกภัย




“ตรังวันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็น” คนเก่าแก่ในจังหวัดตรังคนหนึ่งกล่าวกับ “ผู้จัดการ” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

คำกล่าวดังกล่าว มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดตรัง-จังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ที่มี ชายฝั่งค่อนข้างยาวเหยียดติดทะเลอันดามัน มีความสวยงามในตัวของตัวเอง ตามรูปแบบของเมืองชายฝั่งและเป็นเมืองที่กล่าวกันว่า มีฝูงปลาพะยูนฝูงสุดท้ายของโลกอยู่

เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดตรังนั้น การอรรถาธิบายที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือการที่ ส.ส. คนหนึ่งของจังหวัดตรังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย ส.ส. คนนั้นชื่อ ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ !!!

จะว่าไปแล้ว ในชีวิตการเมืองที่เป็น ส.ส. ของจังหวัดนี้มากว่า 23 ปี ชวน หลีกภัย ทำประโยชน์ ที่เป็น “รูปธรรม” ให้กับจังหวัดน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเป็น “นามธรรม” ที่ชวนได้รับการยกย่อง ในฐานะที่เป็นสุภาพบุรุษนักการเมืองที่สะอาดคนหนึ่ง

คนตรังหลายคน มักจะกล่าวด้วยความน้อยใจใน ส.ส. คนนี้ของเขาว่าไม่เคยสร้างอะไรให้กับจังหวัดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน หรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ เหมือนที่ ส.ส. หลายจังหวัดทำความเจริญให้กับบ้านเกิดของตน

คำกล่าวหนึ่งก็คือ สมัยที่ชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลับไม่ยอมที่จะบรรจุแผนการพัฒนาท่าเรือกันตัง ให้มีการพัฒนาขึ้นเป็นท่าเรือหลัก ขณะที่ภาคเอกชนในจังหวัดเพียรพยายามอย่างมาก ที่จะผลักดันการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว ให้มีการยกระดับขึ้นเป็นท่าเรือใหญ่ รองรับการใช้งาน ในแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ในระหว่างที่รอการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดกระบี่ อันเป็นพื้นที่หลักของโครงการ

รัฐมนตรีคนที่รับผิดชอบกระทรวงคมนาคมคนต่อมาคือ สมัคร สุนทรเวช ก็พยายามที่จะสานงานพัฒนาท่าเรือดังกล่าวต่อพร้อมทั้งจีบนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกันตังในขณะนั้นคือ เสริฐแสง ณ นคร ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชากรไทย แต่เสริฐแสง ยังพิสมัยตำแหน่งนายกเทศมนตรี และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนเองเคยเป็น ส.ส. มา 2 สมัย จึงปฏิเสธที่จะลงสมัครในนามพรรคประชากรไทย ที่ยังเป็นชื่อใหม่และโนเนมพอสมควรในจังหวัดตรัง

แผนพัฒนาท่าเรือกันตังจึงเงียบไประยะหนึ่ง จนกระทั่งเอกชนอย่างหอการค้าจังหวัดเพียรพยายามที่จะให้มีการสานต่อการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว

สุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรังกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า เหตุผลที่หอการค้า พยายามที่จะผลักดันท่าเรือกันตังให้เป็นท่าเรือนานาชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะให้ท่าเรือกันตังเป็น ท่าเรือหลักในโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพราะแผนงานของสภาพัฒน์นั้นคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่การเสนอเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้ท่าเรือดังกล่าวได้รับการยกระดับขึ้นมาเท่านั้น รวมทั้ง จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาคใต้ ในระหว่างที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดกระบี่เสร็จซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปี

สำหรับท่าเรือกันตังนั้น เป็นท่าเรือที่สำคัญมากในอดีตในเรื่องการนำเข้าและการส่งออกของ ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และนับถึงวันนี้ท่าเรือดังกล่าวนี้ แม้จะยังเป็นท่าเรือส่งออกสำคัญเพียงท่าเรือเดียวของภาคใต้ฝั่งตะวันตก แต่ได้ลดความสำคัญลงไปมาก อันเนื่องมาจากการส่งออกด้านทะเลลด บทบาทลงมา

อย่างไรก็ตาม การที่ ส.ส. ที่ชื่อชวน หลีกภัย ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สำหรับคนจังหวัดตรังนั้น ก็ย่อมที่จะอดฝันถึงอนาคตอันสวยหรูไม่ได้ เพราะเชื่อว่า จังหวัดจะต้อง ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่ง จังหวัดสงขลามีการพัฒนาในยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

มิหนำซ้ำ การมองอนาคตเศรษฐกิจของจังหวัดในขณะนี้ก็เริ่มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดของ ภาคเอกชนและราชการอย่างเช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์เปิดเส้นทางบินตรงตรัง-กรุงเทพ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ด้วยเครื่องขนาด 37 ที่นั่ง หรือการมีห้องค้าหลักทรัพย์ที่จะเป็นเป็นแห่งแรกคือ บงล. วอลล์- สตรีท กระทั่งบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ก็เตรียมตั้งสาขาเพื่อรองรับ การลงทุน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนในตรังเอง ก็มองเห็นอนาคตของตรังว่าจะต้องสดใส จึงมีการเตรียมการขยายการลงทุนมากกว่าเดิม เช่น โครงการโรงแรมของ พิทักษ์ รังสีธรรม ที่เคยมีข่าวว่าจะชะลอตัว ก็มี การเร่งงานเร็วขึ้น กระทั่งตัวสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัด ก็เตรียมสร้างโรงแรมใหม่ด้วย หรือกระทั่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ของตรังคือสิริบรรณสรรพสินค้าของตระกูล “พิตรปรีชา” ก็มีการขยายการลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สุรินทร์ ก็เช่นเดียวกับคนตรังอีกจำนวนมาก ที่ไม่มั่นใจท่าทีของนายกรัฐมนตรี คนบ้านเดียวกับเขา ชวน หลีกภัย ว่าจะสร้างตรังให้เป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ได้ดีแค่ไหน เพราะที่ผ่าน ๆ มา ชวนเองยังไม่มี “ผลงาน” ที่เป็นชิ้นเป็นอันมาก นอกเหนือจากที่ตรังเคยได้ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด สมัยที่ชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ได้วิทยาลัยพยาบาลสมัยที่เขานั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือวิทยาลัยพลศึกษาขณะเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่งานด้านเศรษฐกิจยังแทบจะไม่มีเลย

ขณะเดียวกัน ความที่เมืองตรัง นับเป็นเมืองท่องเที่ยวใหม่เมืองหนึ่งที่มีอนาคตสวยหรู คนจังหวัดตรัง ย่อมอดไม่ได้ที่จะ “ฝันหวาน” ว่าอนาคตด้านการท่องเที่ยวของตรัง จะสดใสอย่างแน่นอนเพราะความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวมีมากนั่นเอง

แต่ฝันของคนตรัง คนในจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในวันนี้ จะเป็นจริงหรือไม่คนชื่อ “ชวน หลีกภัย” ส.ส. ตรังที่นั่งเก้าอี้บริหารประเทศตำแหน่งสูงสุด จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด ว่าฝัน ของชาวตรังจะเป็นจริงหรือไม่ ?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us