|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2535
|
|
มาตรการเพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์การเงินภูมิภาคได้ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ที่เริ่มด้วยการผ่อนคลายด้านปริวรรตเงินตรา การขยายขอบข่ายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน และการพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้เป็นตลาดรอง ปัจจุบันไทยใกล้จะบรรลุเป้าหมายด้วยการจัดตั้ง BIBF และเขตเศรษฐกิจเงินบาท
ฺแนวนโยบายในการพัฒนาตลาดการเงินของไทยให้เป็นศูนย์การเงินของภูมิภาคนั้น มีกำหนดไว้ อย่างเด่นชัดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศ-ไทยก็ได้ออกแนวนโยบายในการพัฒนาตลาดการเงินโดยมีระยะเวลา 3 ปี
เนื้อหาสำคัญประกอบด้วย 4 ส่วนคือการลดกฎเกณฑ์และขั้นตอนเพื่อให้ตลาดการเงินมีความเสรียิ่งขึ้น การพัฒนาระบบการควบคุมและตรวจสอบสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล การพัฒนา ตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อระดมเงินออมและการพัฒนาระบบการชำระเงิน
แนวนโยบายของธนาคารชาติได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยถือเป็นองค์ประกอบและกลไกสู่เป้าหมายการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์การเงินของภูมิภาค
กลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์การเงินของภูมิภาคนั้นประกอบด้วย ขั้นตอนมากมายหลายขั้นตอนด้วยกันซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้คือ
ขั้นตอนแรกเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนย้ายการเงินโดยเสรีในส่วนนี้หมายถึงการดำเนินนโยบายผ่อนคลายด้านปริวรรต เงินตราซึ่งได้เริ่มทำนับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ที่ได้มีการประกาศยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศตลอดจนการผ่อนคลายในเรื่องการเงินเข้าออกระหว่างประเทศการผ่อนคลายด้านปริวรรตเงินตรานั้นได้ดำเนินการขั้นต่อมาในปี 2534 และ 2535
นอกจากนั้นยังได้มีการปลดปล่อยในด้านดอกเบี้ยด้วยการยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากประจำยาวเกินหนึ่งปีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2532 หลังจากนั้นก็ได้ค่อย ๆ ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยประเภทอื่นทั้งเงินฝากและเงินกู้จนในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยก็เป็นไปตามกลไกอุปทานและอุปสงค์
ขั้นตอนที่สองคือการขยายขอบข่ายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงินไทย เพื่อรองรับการแข่งขันจากสถาบันการเงินต่างประเทศในอนาคต
ในแนวนโยบายดังกล่าวธนาคารพาณิชย์จึงได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอื่น ๆ เช่นการเป็น ผู้ประกันการจำหน่ายและซื้อขายตราสารระยะสั้น ที่ออกโดยธุรกิจและตราสารระยะยาวที่ออกโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนสามารถประกอบธุรกิจด้านการบริหารเงินทุนหรือวาณิชธนกิจ ในส่วนของบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์นั้น ก็จะสามารถประกอบธุรกิจด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศซึ่งเดิมมีได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
ขั้นตอนที่สามคือการพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้เป็นตลาดรองที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากลเพื่อให้เป็นแหล่งซื้อขายตราสาร ทั้งในด้านตราสารหนี้และตราสารทุนที่มีสภาพคล่อง มีประสิทธิภาพและยุติธรรมและเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญทั้งภายในประเทศและของภูมิภาค
ขั้นตอนทั้งสามนั้นความจริงยังเกี่ยวข้องกับการปรับตัวบทกฎหมายและกฎระเบียบทางด้านการเงิน โดยเฉพาะการออกกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ที่ผ่านมาซึ่ง นับเป็นการปฏิรูปตลาดการเงินครั้งสำคัญ
ขั้นตอนทั้งสามถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์การเงินของภูมิภาค
เนื้อหาของการเป็นศูนย์การเงินดังกล่าวจะวิเคราะห์ได้จากองค์ประกอบ 2 ส่วนที่ได้ประกาศไปแล้ว ส่วนแรกคือการจัดตั้งตลาดที่เรียกว่า “OFFSHORE MARKET” หรือที่เรียกกันเต็มรูปแบบว่า “BANGKOK INTERNATIONAL BANKING FACILITIES” หรือเรียกชื่อย่อว่า “BIBF” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเป็นหลักการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2535
สาระสำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในด้านการรับฝากเงินและกู้เงินในรูปเงินตราต่างประเทศจากบุคคลที่อยู่นอกประเทศให้แก่บุคคลนอกประเทศด้วยกันหรือบุคคลภายในประเทศ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจด้านอื่น ๆ อาทิการซื้อขายปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่มิใช่เงินบาท การค้ำประกันอาวัลเงินตราต่างประเทศและบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ การเปิดและรับซื้อลดหรือเรียกเก็บเงินหรือการยืนยันเลตเตอร์ออฟเครดิต การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินการออกตราสารหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศและอื่น ๆ
องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งของการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์การเงินของภูมิภาค ก็คือการจัดตั้ง เขตเศรษฐกิจเงินบาทโดยในช่วงแรกนั้นมุ่งเป้าให้ไทยเป็น “FUNDING CENTER”
ระยะแรก แนวนโยบายหรือกลยุทธ์ของไทยก็คือพยายามส่งเสริมการค้าและการลงทุนของไทย ในประเทศอินโดจีน ด้วยการอนุญาตให้มีการนำเงินออกไปได้มากขึ้น โดยหากเป็นการลงทุนก็สามารถ นำออกไปได้ครั้งละ 250,000 บาท ไปยังประเทศอินโดจีน
นโยบายอีกประการหนึ่ง ก็คือการส่งเสริมให้มีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เป็นเงินบาทและการส่งเสริมสถาบันการเงินไทยไปตั้งยังประเทศอินโดจีนทั้งสาม
การพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์การเงินของภูมิภาคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลจากปัจจัยและความจำเป็นหลายประการคือ
ประการแรก ไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนการคลี่คลายของสถานการณ์ทางการเมืองในโลกและภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนที่จะเอื้ออำนวยต่อการขยายบทบาททั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคได้ในอนาคต
ประการที่สอง ธุรกิจไทยกำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันของธุรกิจโลกภายใต้ “โลกานุวัตร” นอกจากนั้นการเชื่อมโยงของจีนและอินโดจีนกับระบบเศรษฐกิจโลก มีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนความได้เปรียบเสียเปรียบทางเศรษฐกิจสถานการดังกล่าวทำให้ธุรกิจไทยต้องมีความจำเป็นในการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เพื่อรักษาส่วนแบ่งในด้านการตลาด ตลอดจนการหาช่องทางและโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นในต่างประเทศ
ดังจะเห็นได้ว่า ตัวเลขการนำเงินออกสุทธิของไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ปี 1987 ที่พุ่งขึ้นกว่าสี่พันล้านบาท เทียบกับระดับประมาณ 27 ล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้
การลงทุนส่วนใหญ่ในระยะแรกจะเป็นด้านการไปเปิดสถาบันการเงินในต่างประเทศ และนับ ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมาก็ขยายไปด้านอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารและสิ่งทอ
ประเทศไทยที่ไปลงทุนมากก็คือสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของแต่ละแห่งประชาคมยุโรป มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 10
การลงทุนของไทยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้นเป็นลักษณะของการเปลี่ยนกลยุทธ์จากการส่งออกที่กำลังเผชิญมรสุมของการกีดกันทางการค้า มาเป็นการร่วมทุนเพื่อรักษาตลาดที่เคยส่งออกนั่นเอง
ในกรณีของฮ่องกงก็คือ การเป็นสะพานเชื่อมไปลงทุนในจีน และในกรณีของอินโดจีน ซึ่งเห็นได้ชัดขึ้นจากปริมาณการนำเงินออกไปลงทุนที่ขยายตัวนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นไป นั้นก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อหาแหล่งการผลิตต้นทุนต่ำ เพื่อเตรียมรับการแข่งขันจากประเทศอื่น
การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์การเงินในภูมิภาคจึงเป็นกลยุทธ์ที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตในด้านการเงินให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเอื้ออำนวยต่อการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจไปยังต่างประเทศและพยายามหาทางอุดช่องว่าง (SAVING GAP) ในด้านเงินออมที่ไทยยังมีปัญหาอยู่คิดเป็นร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดังกล่าวนั้น ยังต้องขึ้นกับปัจจัยอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ในด้านการพัฒนาระบบภาษีให้จูงใจ ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งของบุคลากร ในสถาบันการเงินซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นพิเศษ นอกจากนั้นการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะผลักดันการทำให้ไทยสามารถดำเนินเขตเศรษฐกิจเงินบาทอย่างได้ผล
|
|
|
|
|