"บริหารกลยุทธ์รับยุโรป 1992" เรียบเรียงจากหนังสือ "PRACTICAL MANAGEMENT FOR 1992" ซึ่งจัดทำโดย "โคมาร์ค โรว์แลนด์" บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ในบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม มีเนื้อหาในเชิงการบริหารทุกแขนง ที่เกี่ยวข้องกับเตรียมรับสถานการณ์ของบริษัทต่าง ๆ สำหรับภาวะตลาดร่วมยุโรป 1992 ซึ่ง "ผู้จัดการรายเดือน" จะนำเสนอเป็นตอน ๆ
ภูมิหลังตลาดร่วมยุโรป
เที่ยงคืนของ 31 ธันวาคม 1992 กำแพงการค้าภายในยุโรปที่มีอยู่จะมลายหายไป ประชาคมยุโรปจะได้รับประโยชน์อย่างเอกอุจากการเคลื่อนไหวของประชาชนสินค้า บริการ และเงินทุนโดยเสรีตลาดร่วมยุโรปนี้จะประกอบด้วยผู้บริโภค 323 ล้านคน มากกว่าประชากรในสหรัฐฯ 80 ล้านคน และมากกว่าประชากรญี่ปุ่นเกือบ 3 เท่า ตลาดร่วมยุโรปจะสามารถสร้างงานใหม่ระหว่าง 2-5 ล้านตำแหน่ง มียอดเงินออมราว 135,000-175,000 ล้านปอนด์ต่อปี และที่สำคัญที่สุดคือการช่วยกระตุ้นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปอย่างสม่ำเสมอและตลอดไป
การริเริ่มในแง่นี้เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับยุโรป ปัจจุบันประชาคมยุโรป ถูกซอยย่อยออกเป็นตลาด ขนาดเล็กที่เสียเปรียบในเชิงแข่งขันและได้รับการปกป้องอย่างหนักถึง 12 ตลาดด้วยกัน ทำให้การค้าต้องประสบอุปสรรคจากกฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป หรือจากมาตรฐานที่แตกต่างกัน รวมทั้งโครงสร้างภาษี ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่ก่อให้เกิดความล่าช้าและลัทธิกีดกันการค้าโดยไม่จำเป็น และทั้งหมดนี้ล้วนก่อให้เกิดรายจ่ายมหาศาลผิดปกติทั้งสิ้น การผลิตสินค้าภาคการผลิตในรูปแบบ หรือรุ่นที่แตกต่างกันสำหรับประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป (อีซี) แต่ละชาติ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเสียค่าใช้จ่าย ในส่วนของโรงงานประกอบและการจ้างสตาฟฟ์ด้านเทคนิคพิเศษถึงปีละ 30,000 ล้านปอนด์
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของการขนส่งก็สูงลิ่วเช่นกัน อาจคิดเป็น 7% ของจีดีพีของกลุ่มอีวีด้วยซ้ำ และในปัจจุบันรถยนต์ต่าง ๆ ก็ต้องเสียเวลาเข้าคิวรอผ่านจุดตรวจตามพรมแดนถึง 30% ของเวลาในการเดินทางทั้งหมด แม้แต่การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสกุลก็ยังแพงมาก โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกอย่างน้อย 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สมมติว่าถ้า คุณพกเงิน 1,000 ปอนด์จากจุดเริ่มต้น แล้วเดินทางไปให้ครบ 12 ประเทศอีซี เมื่อถึงพรมแดนแต่ละประเทศ ก็นำเงินที่พกไปด้วยนั้นแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นด้วย เมื่อเดินทางกลับมา ณ จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง เงิน 1,000 ปอนด์นั้น จะมีมูลค่าเหลือเพียง 550 ปอนด์
อุปสรรคทั้งหมดนี้จะหายไปหรือมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง หากพ้นจากปี 1992 ไปแล้ว และถ้าสามารถบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างตลาดร่วมที่แท้จริงขึ้นมาได้
รายละเอียดของจุดประสงค์
จุดประสงค์ของการสร้างตลาดร่วมยุโรปขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากจุดกำเนิดของประชากรยุโรปนั่นเอง 1957 ปีที่กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (ประกอบด้วยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ร่วมลงนามในสนธิสัญญา TREATY OF ROME โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดภาษีศุลกากร และโควตาระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันให้หมดไปภายใน 12 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสมาชิกเพิ่มจาก 6 ชาติ เป็น 12 ชาติ โดยมีอังกฤษ เดนมาร์ก และไอร์แลนด์ เพิ่มเข้าไปก่อน แล้วตามด้วยกรีซ สเปน และโปรตุเกส ในภายหลัง จุดมุ่งหมายของการทำการค้าเสรีระหว่างกัน ก็มีอุปสรรคในเรื่องขั้นตอนความล่าช้าของระบบ กรุงบรัสเซลส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "ยูโรแครต" ที่ถูกพะเน้าพะนอจนเกินเหตุ นับตั้งแต่นโยบายเกษตรที่ไม่ถูกต้องด้วยเหตุและผลหรือการประชุมสุดยอดที่มักสิ้นสุดด้วยความขัดแย้งในกลุ่มอีซี ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณ หรือการยึดมั่นถือมั่นในผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก
หลังจากนั้น ก็มีผู้พยายามกระตุ้นให้ยุโรปรวมตัวเป็นเอกภาพมากขึ้น อาทิ แผนของ FOUQUET ที่ให้มีนโยบายต่างประเทศร่วมกัน หรือของ WERNER ที่ต้องการให้ร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน และข้อเสนอของ LEOTINDERMAN สำหรับการรวมตัวแบบสหภาพยุโรป (EUROPEAN UNION) แต่ก็ล้มเหลวทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อจาคส์ เดอลอร์อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานของกรรมาธิการยุโรป ในปี 1985...
เดอลอร์มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิรูปยุโรป จึงมีข้อเสนอเบื้องแรกสำหรับตลาดร่วมยุโรปแบบเสรี ซึ่งได้รับการเห็นพ้องด้วยดีจากสภารัฐมนตรีอีซี พวกเขายังเผยแพร่แนวความคิดนี้ให้แพร่หลายไปยังบรรดานักอุตสาหกรรมคนสำคัญ ๆ ของทวีปยุโรป ผู้ซึ่งพออกพอใจกับผลประโยชน์ของการสร้างกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และโซเวียต จากนั้น "ลอร์ ค็อกฟิลด์" อดีตประธานบริษัทเวชภัณฑ์ ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษคือ บูตส์ ผู้ซึ่งเป็นนักเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี และเป็น กรรมาธิการของตลาดภายในด้วย ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แปลแนวความคิดเหล่านั้นออกมาสู่การปฏิบัติ
ค็อกฟิลด์รวบรวม "สมุดปกขาว" ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และถูกนำไปอภิปรายถกเถียง รวมทั้งได้รับความเห็นชอบในการประชุมสุดยอดอีซีเดือนมิถุนายน 1985 นั่นเอง สมุดปกขาวเล่มนี้ให้รายละเอียดแห่งจุดประสงค์ของตลาดร่วม และมีอีก 300 มาตรการที่ต้องได้รับการร่างและผ่านการยอมรับ เพื่อให้สอดคล้องและทันตามกำหนดเส้นตายของเดอลอร์ คือวันที่ 31 ธันวาคม 1992 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาการทำงาน 4 ปีของกรรมาธิการอีซีชุดปัจจุบัน
จุดประสงค์ของตลาดร่วมยุโรประกอบด้วย
- การหลอมตลาดของชาติสมาชิก 12 ประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวที่มีประชากร 320 ล้านคน
- เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดร่วมนี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่มีการเติบโตและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
- เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดร่วมมีความยืดหยุ่น เพื่อว่าทรัพยากรทั้งในแง่บุคลากรและวัตถุดิบ เงินทุนและการลงทุน มีการไหลเข้าไปในตลาดร่วมเพื่อประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ
สำหรับร่างทั้ง 300 มาตรการ (ปัจจุบันลดเหลือ 279 มาตรการ จากการยกเลิกมาตรการที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างหนักออกไป) จะได้รับการจัดหมวดหมู่ภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกำแพงการค้าทั้งในเชิงเทคนิค ภาษีและกายภาพ
กล่าวโดยคร่าว ๆ แล้วการกำจัดอุปสรรคเชิงกายภาพ มักเกี่ยวข้องกับอุปสรรคแห่งการเคลื่อนไหวของผู้คน (เช่น การควบคุมการเข้าเมือง การตรวจสอบหนังสือเดินทาง) และอุปสรรคทางการค้า (เช่น ระเบียบที่ไม่จำเป็น ค่าธรรมเนียมการจัดการ)
สำหรับทั้ง 94 มาตรการในส่วนนี้มีตั้งแต่การอำนวย ความสะดวกในกระบวนการผ่าน เข้า ออกประเทศกลุ่มอีซีด้วยกัน ตลอดไปจนถึงการลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าที่ไม่มีความสำคัญเชิงพาณิชย์และนำเข้าในปริมาณน้อย, ข้อเสนอให้ขยายกระบวนการข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ ด้านมาตรฐานและเทคนิค, การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตสำหรับสัตว์มีชีวิต และการระงับการออกใบรับรองพืช
ส่วนการกำจัดอุปสรรคในเชิงเทคนิคนั้น มีข้อเสนอ 83 มาตรการซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สินค้าประเภทอาหารถนอม เวชภัณฑ์ด้านสัตวบาล เครื่องขุดไฮดรอริก ปุ๋ย สินค้าเพื่อการก่อสร้าง และสินค้าด้านสาธารณูปโภค อาทิ น้ำ พลังงาน การขนส่ง บริการ โทรคมนาคม
สำหรับมาตรการด้านแรงงานและมืออาชีพ ซึ่งมี 14 มาตรการนั้น เกี่ยวกับการยอมรับร่วมกันด้านประกาศนียบัตรการศึกษา และสิทธิการพักอาศัยสำหรับผู้มีสัญชาติกลุ่มอีซี ด้านบริการซึ่งประกอบด้วย 38 มาตรการ ครอบคลุมตั้งแต่ค่าโดยสารสำหรับบริการทางอากาศตามตารางบิน ตลอดไปจนถึงระเบียบว่าด้วยอินไซเดอร์เทรดดิ้ง หรือการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงในและสัญญาด้านประกันภัยต่าง ๆ
ในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มี 3 มาตรการนั้น เสนอให้มีการเปิดเสรี ขณะที่ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่มี 22 มาตรการนั้น มีขอบข่ายตั้งแต่การปกป้องทางกฎหมายเกี่ยวกับแผลงวงจรขนาดเล็ก ตลอดไปจนถึงระบบร่วม เกี่ยวกับการเก็บภาษีสินทรัพย์ที่เกิดจากการผนวก หรือแบ่งแยกกิจการ
ในท้ายที่สุดคือหมวดว่าด้วยการขจัดอุปสรรคด้านภาษี ซึ่งมีรายละเอียดของข้อเสนอ 25 มาตรการด้วยกัน นับตั้งแต่ภาษีการบริโภคในสินค้าบุหรี่ โครงการภาษีพิเศษสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดไปจนถึงภาษีสรรพสามิตในสินค้าไวน์ และระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ความคืบหน้าและถอยหลังที่เกิดขึ้น
กรรมาธิการอีซี ก็คือหน่วยงานราชการของอีซีนั่นเอง มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ และแบ่งออกเป็น 23 หน่วยงาน แต่ละหน่วยรับผิดชอบเรื่องเฉพาะด้าน เป็นองค์กรขนาดเล็กที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป โดยมีข้าราชการประจำเพียง 12,000 คน มีหน้าที่รับผิดชอบแต่เพียง ผู้เดียว ในการเสนอข้อริเริ่มใหม่ ๆ ด้านกฎหมายและนโยบาย ซึ่งต่อมาจะถูกนำเข้าไปอภิปรายถกเถียงโดยรัฐสภา ยุโรป ซึ่งมีการเลือกตั้งตัวแทนทั่วทั้งกลุ่มอีซีทุก 5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าข้อเสนอเหล่านั้นได้รับการยอมรับอย่างเป็นประชาธิปไตย หลังจากกระบวนการนี้แล้ว จึงนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมสภารัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกทั้ง 12 ชาติ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบ จากนั้น จึงมีผลบังคับใช้
ในส่วนของความตั้งใจทางการเมืองที่จะสร้างตลาดร่วมขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง โดยในปี 1986 บรรดาผู้นำของทั้ง 12 ชาติสมาชิกต่างเห็นชอบให้มีการสร้างตลาดร่วมเป็นเรื่องเร่งด่วน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 1987 กฎหมายตลาดร่วมยุโรป (SINGLE EUROPEAN ACT) ก็มีผลบังคับใช้ เพื่อช่วยเร่งกระบวนการตัดสินใจใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ผลคือสภารัฐมนตรีสามารถอนุมัติข้อเสนอส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับตลาดร่วมได้ด้วยการลงมติเสียงส่วนใหญ่ ในท้ายที่สุดรัฐสภาของประเทศสมาชิกทั้ง 12 ชาติก็ ให้สัตยาบัน รับกฎหมายตลาดร่วมยุโรป เป็นการผูกมัดตัวเองเข้ากับโครงการและกำหนดเส้นตายในเดือนธันวาคม 1992
ในช่วงปี 1988 ถึงไตรมาสแรกของปี 1989 จึงมีทั้งความคืบหน้าและการเดินถอยหลังโดยตลอด อาทิ การควบคุมด้านศุลกากรกลายเป็นประเด็นหลักแห่งปัญหาโดยแท้จริง เพราะแต่ละประเทศต่างก็มี วิธีการระบุหรือตรวจสอบเอกสาร การเข้าเมือง ปืน หรือผู้ลี้ภัยแตกต่างกันไป แม้ว่า พวกเขาจะมีแนวทางเกี่ยวกับยาเสพติด และผู้ก่อการร้ายเหมือนกันก็ตาม จะมียกเว้นก็เฉพาะประเทศ กลุ่มเบเนลักซ์เท่านั้น ที่มีระเบียบปฏิบัติเหมือนกัน
ถ้าฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีทำตามตัวอย่างของประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ คืออนุญาตให้พลเมืองของตนเข้าประเทศได้โดยเสรี โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบใด ๆ แต่ปัญหาก็ต้องอยู่ที่อังกฤษซึ่งไม่มีวันยอดเด็ดขาด โดยเฉพาะเกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์โดยเสรี
เป็นธรรมดาที่แต่ละชาติสมาชิกจะมีมุมมองเกี่ยวกับนโยบายภาษีแตกต่างกันไป เฉพาะอัตราภาษีสรรพสามิตในกลุ่มอีซีด้วยกัน ก็มีความเหลื่อมล้ำราว 1,500% สำหรับสก็อตวิสกี้เพียงขวดเดียว และ 100% สำหรับบุหรี่ ในเรื่องเกี่ยวกับภาษามูลค่าเพิ่มก็มีนโยบายไม่สอดคล้องกัน โดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันเมื่อมีการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาบางอย่างออกไป ก็ได้รับการเห็นพ้องด้วยน้อยมาก
อังกฤษสมัยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนกรานปฏิเสธอย่างหนักแน่นในมาตรการใด ๆ ก็ตามที่อาจทำให้ต้องสูญเสียความเป็นอิสระของประเทศตนแม้เพียงเล็กน้อยให้กับบรัสเซลส์ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการควบคุมงบประมาณ ตลอดไปจนถึงการก่อตั้งธนาคารกลางยุโรป หรือแม้แต่นโยบายเงินสกุลเดียวของยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังมีความคืบหน้าที่เห็นเด่นชัดในระดับหนึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ตลาดร่วมเป็นจริงขึ้นมา ราวฤดูใบไม้ผลิของปี 1989 กรรมาธิการอีซี ก็สามารถออกร่างระเบียบร่วมได้ 90% ของทั้งหมด 279 มาตรการขึ้นมาได้ ขณะที่สภารัฐมนตรีก็อนุมัติร่างดังกล่าวไปแล้ว 1 ใน 3 นอกจานี้อีซี ยังได้ให้คำแนะนำแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนคำแนะนำด้านบริการของแบงก์บริษัทประกัน และการเงินก็อยู่ในระหว่างกระบวนการก้าวสู่การเปิดเสรี ไม่ว่าจะเป็นในแง่การให้กู้หรือการประกอบธุรกิจทั่วยุโรป
สำหรับการขนส่งเดินเรือทะเลนั้น ในช่วงต้นปี 1988 อีซียังต้องมีแบบฟอร์มด้านศุลกากรที่ใช้กันและมีความแตกต่างกันถึง 70 ประเภท ทำให้ต้องมีด่านตรวจสอบเอกสารมากถึง 35 ด่าน แต่เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 1990 ทุกชาติสมาชิกอีซีต่างหันมาใช้เอกสารชุดเดียวกัน ซึ่งมีทั้งหมด 2 หน้า และเมื่อถึงปี 1992 จะมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้นอีก โดยใช้เอกสารที่ติดต่อกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านงานเอกสาร และอาจสามารถประหยัดต้นทุนการส่งออกสินค้าได้ถึง 10%
การเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง
รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกอีซี ต่างเอาจริงเอาจังกับการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงปี 1992 มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถแข่งขันในตลาดร่วมได้ จึงมีทั้งบริษัทระดับชาติและข้ามชาติตอบสนองต่อแรงกระตุ้นในระดับที่แตกต่างกันไป
ฝรั่งเศสนั้นได้ชื่อว่าเป็นหัวหอกอย่างเด่นชัดในกลุ่มอีซีในแง่ของการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยในปี 1987 รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งองค์กรอิสระคือสภาการแข่งขันซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำ 16 คน และมีลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการค้าแห่งชาติของสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงความสามารถในเชิงแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อประสานความช่ำชองของภาครัฐบาลและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อวางตำแหน่งในการเจรจาต่อรองของ ฝรั่งเศสสำหรับกลุ่มอีซีด้วยกัน และเจ้าหน้าที่ยังมีพันธะที่จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปี 1992 ให้กระจายไปทั่วประเทศด้วย
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้หัวหน้าหน่วยงานทั้งหมดต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดในบรัสเซลส์ให้ทัน ขณะเดียวกับที่อแลง มาเดอ แลงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จัดการประชุมบนโต๊ะอาหารเช้า โดยมีผู้บริหารเข้าร่วมคราวละ 200 คน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดออกไป
ตุลาคม 1987 เขายังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรับปี 1992 โดยมีผู้บริหารระดับอาวุโส 4,000 คนเข้าร่วม และปีถัดมาก็มีการจัดประชุมในลักษณ์เดียวกันอีกในหลายแห่ง
ความพยายามในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไปนี้ ยังออกมาในรูปของการทุ่มงบ 7.5 ล้าน ฟรังก์ฝรั่งเศส สำหรับการประชาสัมพันธ์และโฆษณา
สำคัญที่สุดคือในเดือนพฤศจิกายน 1987 ฐานข้อมูลหนา 2,000 หน้า เกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยปี 1992 ก็มีให้บริการแล้วในระบบวิดีโอเท็กซ์ "มินิเทล" ของฝรั่งเศส ฐานข้อมูลนี้นอกจากจะแจกแจงให้เห็นถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละแขนงแล้ว ยังให้สถานที่อยู่สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมด้วย
ผลของการรณรงค์อย่างจริงจัง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศสได้รับข้อมูลการบรรยายสรุป เกี่ยวกับตลาดร่วมเป็นอย่างดี ทำให้มีบริษัทฝรั่งเศสกว่า 70% สนับสนุนปี 1992 เต็มที่ มีบริษัทอีกมากมายเช่น บีเอสเอ็น หรือซีจีอี ดำเนินนโยบายเตรียมรับมือด้วยการซื้อกิจการเป็นการใหญ่ มีการก่อตั้งบริษัท "อัลทาเทล" ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมชั้นนำของยุโรปที่มีกิจการในเครือทั่วอีซี ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 1987 ขณะที่ซีจีอีก็เข้าซื้อหุ้นของไอทีที่บริษัทด้านโทรคมนาคม เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่จะได้รับประโยชน์จากตลาดร่วมมากที่สุด
ในทางตรงข้ามเยอรมนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศในกลุ่มอีซีที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก กลับได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกที่มีปฏิกิริยาตอบสนองช้าที่สุดประเทศหนึ่ง ภาครัฐบาลเข้าร่วมการประชุมครั้งใหญ่ ที่จัดขึ้นเพียง 2 ครั้งคือ ดุสเซลดอร์ฟ และบอนน์ แต่ไม่มีการรณรงค์โฆษณาทางโทรทัศน์อย่างจริงจัง ยิ่งกว่านั้นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกลับมาจาก "ดอยช์อินดัสตรี้ แอนด์ แฮนเดลสแต็ค" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่หอการค้า และสมาพันธ์อุตสาหกรรมรวม ตัวกัน ปฏิกิริยาตอบสนองทั้งหมดที่ออกมาดูเหมือนจะมีแค่ "อุตสาหกรรมเยอรมนีเตรียมพร้อมแล้ว 1992 ไม่ใช่สิ่งท้าทายแปลกใหม่เลย"
คำกล่าวนี้อาจจะจริงสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บาส์ฟ เฮิกซ์ และโฟล์กสวาเกน แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางอาจพบว่าตัวเองอยู่ในฐานะต้องปกป้องตัวเองให้ดีในยุดของการแข่งขันเสรีอย่างนี้ นักอุตสาหกรรมเยอรมนีมักเป็นพวกอนุรักษ์นิยมอย่างแรง พวกเขาชอบที่จะใช้วิธีส่งออกโดยตรง มากกว่าจะออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศหรือซื้อกิจการบริษัทต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเยอรมนีโดยทั่วไปต่างต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งมาตรฐานอีซีด้วยกันทั้งนั้น โดยตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคซึ่งเป็นผู้บริหารทั้งสิ้น 45 ชุด จากคณะกรรมการที่มีอยู่ทั้งหมด 80 ชุด ซึ่งต้องรับผิดชอบเรื่องตลาดร่วมโดยตรง
อุตสาหกรรมเป็นตัวนำร่อง
อิตาลีเป็นประเทศสมาชิกอีกชาติหนึ่ง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมออกมาเป็นหัวหอกแทนที่ จะปล่อยให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย เพื่อเตรียมรับมือกับปี 1992 เพราะรัฐบาลเองต้องหมกมุ่นกับการกำจัดข้อขัดแย้งเชิงเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกิดขึ้น จนไม่มีเวลาพอที่จะส่งเสริมนโยบายตลาด ร่วมยุโรป แต่ภาคอุตสาหกรรมของอิตาลี ซึ่งถูกบีบให้ปรับตัวสู่ความเป็นสากลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กลับมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี จากตัวเลขการซื้อหรือผนวกกิจการครั้งสำคัญ ๆ ในกลุ่มอีซี 68 รายในช่วงปี 1986 และ 1987 นั้นปรากฏว่าเป็นบริษัทอิตาเลียนถึง 28 ราย
คาร์โล เดอ เบเนเด็ตตี้ แห่งโอลีเวตตี้ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลก เป็นผู้สะท้อนถึงแนวโน้มนี้เป็นอย่างดี ด้วยการลงสนามช่วงชิงการซื้อกิจการ SOCIETE GENERALE ของเบลเยียม หรือเจ้าพ่อสื่อมวลชนแห่งแดนมักกะโรนีคือ ซิลวิโอ เบอร์ลัสโคนี ก็เพิ่งซื้อกิจการสตูดิโอสร้างภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดของสเปนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และปัจจุบันเขาถือหุ้นใน TVCINQ สถานีโทรทัศน์เอกชนของฝรั่งเศสจำนวนมากพอสมควร
ราอูล การ์ดินี แห่งบริษัท เฟอร์รุซซี่ ผู้ผลิตน้ำตาล หมายเลขหนึ่งของอิตาลี ก็ประสบความสำเร็จในการเข้าควบคุมกิจการ BEGHIN-SAY ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของฝรั่งเศส และเมื่อปี 1987 ก็ควักกระเป๋า 630 ล้านดอลลาร์ ซื้อธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ในยุโรปของบริษัท ซีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการแปรรูปอาหารของสหรัฐฯ
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ก็ได้ชื่อว่า มีบทบาทน้อยมากในการส่งเสริมยุโรป 1992 ไม่มีโครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในแง่ของโฆษณาทางทีวีหรือหนังสือพิมพ์เพียงแต่ช่วยวีเอ็นโอ ซึ่งเป็นองค์กรของนายจ้างตั้งศูนย์ข้อมูลแบบฮอทไลน์ขึ้นในปี 1987 และเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นโดยภาคอุตสาหกรรมดัทช์ รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือระดับหนึ่งในการศึกษา เฉพาะด้านที่ทำโดยสมาพันธ์ อุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ
บริษัทดัตช์ ส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยการส่งออก และกลุ่มประเทศเบเนลักช์ก็ให้ประสบการณ์ ของการทำงานในตลาดร่วมไว้มาก สิ่งที่ทำให้พวกเขาวิตกกังวลจึงไม่ใช่การตะหนักถึงปี 1992 แต่อยู่ ที่ว่าข้อเสนอที่ร่างขึ้น จะมีความหมายต่ออุตสาหกรรมหลากแขนงอย่างไรบ้าง
สเปนนั้นมีความแตกต่างออกไป รัฐบาลไม่เคยมีโครงการรณรงค์พิเศษใด ๆ หรือแม้แต่การโฆษณาพิเศษทางทีวีหรือหนังสือพิมพ์ อุตสาหกรรมสเปนเองก็มีประสบการณ์ด้านการส่งออกน้อยมาก อุตสาหกรรมส่งออกมักประกอบด้วยกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก และไม่ได้เน้นด้านการวิจัยแต่อย่างใด แต่บริษัทเหล่านี้ก็มีความกล้าหาญระดับหนึ่งในการผนวกกิจการกัน โดยเฉพาะกับหุ้นส่วนต่างชาติขนาดใหญ่
ปกติแล้วสเปนเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอีซี นอกจากนี้ปัจจุบันยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีทำเลดีสำหรับการตั้งฐานธุรกิจ ซึ่งจะเป็นศูนย์ให้สามารถค้าขายในตลาดร่วมได้
สำหรับกรรมาธิการอีซีแล้ว แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าบริษัทในอีซีจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากปี 1992 โดยยุโรปกำลังพยายามตั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา บริษัทเหล่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการลงทุนและการวิจัยพัฒนา นอกจากนี้พวกเขายังจะได้รับสิทธิพิเศษในการประมูลงานสาธารณะด้วย แต่ข้อจำกัดการนำเข้าอาจยังจำเป็นอยู่สำหรับบริเวณพรมแดนต่าง ๆ ในอีซี
มาถึงตรงนี้สหรัฐฯ เริ่มไม่สบายใจต่อแนวความคิดยุโรป 1992 ขึ้นมาแล้ว รัฐบาลอเมริกัน ถึงกับขอร้องอีซีเกี่ยวกับการตั้งมาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อสินค้าสหรัฐฯ และยังมีกฎหมายให้สามารถปิดตลาดสหรัฐฯ ไม่ต้อนรับบริษัทที่มาจากประเทศซึ่งมีนโยบายกีดกันเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่บริษัทอเมริกันบางแห่ง ก็ก้าวล้ำหน้าไปก่อนที่จะเกิดนโยบายตลาดร่วมขึ้นด้วยซ้ำ
มีหลายบริษัทรีบเข้าไปตั้งสำนักงานสาขาในอีซีแล้ว อาทิ ฟอร์ด และสก็อตเปเปอร์ปักหลักที่ สเปน โดยสก็อตเปเปอร์ตั้งสาขาเมื่อปี 1965 หรือแม้แต่ "ยักษ์สีฟ้า" อย่างไอบีเอ็มหรือเอทีแอนด์ที ก็เข้าไปมีหุ้นส่วนในเนเธอร์แลนด์ (กับฟิลิปส์) และในอิตาลี (กับโอลิเวตตี้) แต่ก็มีอีกมากมายเหมือนกันที่เข้าตลาดโดยรอจังหวะที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อถึงระดับหนึ่งก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ตรวจสอบบัญชีคนหนึ่งในบรัสเซลส์เล่าว่า เพียง 30 วัน ในเดือนมีนาคม 1989 เขาต้องรับ ผิดชอบตอบคำถามของบริษัทอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ถึง 10 ราย ที่ต่างก็ต้องการจะเข้าไปเปิดสำนักงานในอีซี
ญี่ปุ่นเองก็ให้ความสนใจส่งเสริมปี 1992 มาก บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพากันเข้าไปตั้งสาขาในประเทศอีซีอย่างน้อย 2 หรือ 3 ประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานในการป้อนสินค้าแก่ตลาดอีซีทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เอ็นอีซี อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ของยุโรปอยู่ที่ดุสเซลดอร์ฟ ก็เข้าไปตั้งโรงงานประกอบแห่งแรกของยุโรป ที่เมืองบัลลิเวอร์, ไอร์แลนด์ เมื่อปี 1974 โรงงานแห่งที่สองอยู่ที่ลิฟวิสโตน, สก็อตแลนด์ เมื่อปี 1981 เป็นการลงทุนครั้งสำคัญมูลค่า 135 ล้านปอนด์
เพราะเหตุที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองของนักธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ทำให้อังกฤษกลายเป็นทำเลการปักหลักการลงทุนของญี่ปุ่นไปโดยธรรมชาติ นับจากปี 1992 เป็นต้นไป นิสสันคาดว่าจะผลิตรถได้ปีละ 200,000 คัน จากโรงงานแห่งใหม่ในเมืองไทน์และแวร์ ส่วนฮอนด้า ก็ร่วมทุนกับโรเวอร์กรุ๊ป ขณะที่ฟูจิตสุ โตชิบา โตโยต้า มิตซูบิชิ ต่างก็ปักหลักมั่นคงเป็นอย่างดีและพร้อมจะฉกฉวยผลประโยชน์จากตลาดร่วมทุกเมื่อ
การรู้แต่ไม่กระตือรือร้น
อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการตอบสนองต่อปี 1992 ช้ามาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝรั่งเศส แต่ก็ยังมีการใช้ความพยายามมากพอสมควร ในการเผยแพร่ข้อมูลให้ตระหนักถึงตลาดร่วม กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษเริ่มโครงการรณรงค์ครั้งใหญ่ในกลางเดือนเมษายน 1988 ทั้งในรูปของการโฆษณาทางทีวี คู่มือแจกแจงรายละเอียด บัญชีรายชื่อที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกบริษัท ฐาน ข้อมูลที่เกี่ยวกับความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ในบรัสเซลส์และการจัดประชุมระดับท้องถิ่นใน ทั่วประเทศ
เมื่อผ่านไปปีเต็ม ๆ อังกฤษเสียค่าใช้จ่ายในโครงการรณรงค์ไป 12 ล้านปอนด์ เฉพาะโฆษณาทีวีใช้งบถึง 8.5 ล้านปอนด์ ระหว่างกลางเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 1988 โฆษณานี้ถูกนำออกอากาศ 50 ครั้ง ระหว่างกรกฎาคม และสิงหาคม วันละ 6 ครั้ง ระหว่าง 31 ตุลาคมถึง 6 พฤศจิกายน คืนละ 2 ครั้ง ปรากฏว่าปฏิกิริยาตอบสนองน่าพอใจระดับหนึ่ง มีผู้สนใจ 2 แสนรายสอบถามไปยังกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม
ทางด้านสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษเอง ก็เริ่มโครงการ "INITIATIVE 1992" ซึ่งประกอบด้วยการสรุปข้อมูลรายละเอียดในหัวข้อสำคัญ ๆ 10 เรื่อง สำหรับบรรดาผู้บริหารในการ จัดสัมมนาระดับท้องถิ่น 13 ครั้ง ในช่วงปี 1989 โดยมีจุดมุ่งหมายให้ถึงมือบริษัท 1,000 แห่ง ซึ่ง เป็นแหล่งป้อนสินค้าส่งออกรายสำคัญทั้งสิ้น
มองจากภาพภายนอกในตอนนี้แล้ว อังกฤษ ซึ่งมีจีดีพีคิดเป็น 10% ของจีดีพีรวมในอีซี น่าจะได้ประโยชน์มหาศาลจากตลาดที่มีการแข่งขันเสรีอย่างนี้ แต่สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษวิตกว่าบริษัทสมาชิก 12,000 แห่งในเวลานี้ ซึ่งมียอดขายต่อปี 10 ล้านปอนด์ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวรับปี 1992 น้อยมาก
จากการสุ่มตัวอย่างสำรวจเมือเดือนมกราคม 1989 ได้ผลออกมาว่า บริษัทอังกฤษร่วม 10,000 แห่งต่างอยู่ในสภาพเหมือน "เดินละเมอ" สู่ปี 1992 และทำนายต่อไปว่า "มีธุรกิจมากมายต้องถูกเขี่ยออกจากวงโคจรแน่นอน ยกเว้นพวกเขาจะเริ่มเตรียมตัวเสียแต่บัดนี้"
ผลสำรวจครั้งนี้ยังบ่งบอกว่า
80% ยังไม่เคยทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนสำหรับตลาดร่วมยุโรป
90% ไม่เคยทำวิจัยการตลาดบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
93% ไม่เคยคิดจะให้โอกาสพนักงานได้ฝึกอบรมภาษา
95% ไม่เคยมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นของกลุ่มอีวี
และมีเพียง 1% เท่านั้นที่มีแผนจะตั้งโรงงานบนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องบ่งชี้บางอย่างว่า อังกฤษ เตรียมรับมือกับความท้าทายปี 1992 อยู่เหมือนกัน มีบริษัทอีกไม่น้อยที่ให้คำแนะนำแก่พนักงาน เกี่ยวกับโอกาสและให้พวกเขาได้ฝึกภาษาอื่นรวมทั้งการทบทวนสินค้า ปรับยุทธวิธีตลาด การวิจัยพัฒนา การจัดจำหน่ายไม่ว่าธรรมชาติของตลาดร่วม ณ วันที่ 1 มกราคม 1993 จะเป็นอย่างไร แต่มันต้องมีลักษณะเปิดมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ มีการซอยย่อยน้อยลง มีขั้นตอนน้อยลง และมีการแข่งขันที่เข้มข้นเป็นสิ่งตอบแทน บริษัทในยุโรปทุกแห่งจะต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี
|