Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2534
คลังยึดอำนาจ หลักเกณฑ์รับหุ้นใหม่ !!             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

กระทรวงการคลัง
Stock Exchange




หลักเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณารับหลักทรัพย์ประกาศใช้แล้วในเดือนเมษายน สิ่งที่เปลี่ยน แปลงชัดเจน คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการเซ็นอนุญาตรับหุ้น ใหม่ และการพิจารณากระจายหุ้นโบรกเกอร์หลายรายให้ความเห็นว่าหลักเกณฑ์ใหม่มีความเจ่มชัดและคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน แต่ในอีกทางหนึ่งตีความได้ว่า นี่เป็นก้าวที่กระทรวงการคลังได้เข้ามามีบทบาทยึดอำนาจการรับหุ้นใหม่ไว้โดยสมบูรณ์แล้ว !!

นับแต่นี้ไปนักลงทุนจะไม่มีปัญหาเรื่องการจอซื้อหุ้นโดยไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ว่าหุ้นตัวนั้นจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อใด จะเป็น 6 เดือนหรืออีก 9 เดือนกันแน่ เพราะหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่แล้ว หุ้นทุกตัวจะต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน จึงจะไปกระจายให้สาธารณชนได้ และหลังจากนั้นก็กลับไปให้รัฐมนตรีคลังอนุมัติอีกครั้ง ก็เป็นอันรับจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เลย

มันเป็นมาตรการใหม่ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองนักลงทุนได้อย่างดี

และแน่นอนว่าเป็นมาตราการที่รวบอำนาจสูงสุดไว้ในมือรัฐมนตรีคลังแต่เพียงผู้เดียว !

ข้อความซึ่งตราไว้ใน พรบ. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ว่าการอนุมัติหลักทรัพย์ใหม่สามารถทำได้ "โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" นั้น ในทางปฏิบัติจริงแล้วมีความขลังเสียยิ่งกว่า !

เงินจำนวนมหาศาลซึ่งเจ้าของบริษัทที่ยื่นขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายรายต้องทำตก ๆหล่น ๆ แถวกระทรวงการคลัง ก็ยังคงต้องมีการตกหล่นกันต่อไป

คำกล่าวประเภทที่ว่า "รัฐมนตรีไม่ได้เงิน ไม่อนุมัติ" ยังมีล่องลอยอยู่ทั่วไปในวงการค้าหลักทรัพย์

กระนั้น เสียงวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีมายัง "ผู้จัดการ" คือ "ถ้าจะให้คุ้มครองกันอย่างดี และ แก้ปัญหาการพิจารณาล่าช้าตรงจุด กระทรวงการคลังต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกระบวนการนี้เลยโดย เด็ดขาด !!"

ความคิดที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่เกิดขึ้นนานหลายปีแล้ว แต่กว่าที่จะคลอดออกมาได้ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย แม้เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วย

แหล่งข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่าเรื่องการปรับหลักเกณฑ์นี้เริ่มมีการพูดจากันมากขึ้นในสมัยที่มีนิพัทธ พุกกะณะสุต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เข้ามาเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ แทนที่ดร. อรัญ ธรรมโน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร

จังหวะนั้นเป็นช่วงที่มีข่าวการกระทบกระทั่งระหว่างคนของกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดเวลา ความขัดแย้งสูงสุดเกิดเมื่อมีข่าวออกมาว่า ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เอ่ยปากขอลาออกจากตำแหน่งก่อนวาระที่ได้รับการต่ออายุจนถึงเดือนธันวาคมศกนี้

ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในครั้งนั้นจบลงแบบไทย ๆ คือต่างเลิกรากันไป ต่างฝ่ายต่างออกมาให้สัมภาษณ์ราวกับไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกันมาก่อน ทั้งกล่าวเน้นด้วยว่าสามารถร่วมงานกันได้อย่างดี ไม่มีปัญหา

นั่นเป็นเพียงฉากแรกของการยื้ออำนาจระหว่างกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งฉากต่อ ๆ มากำลังเรียงแถวดาหน้าเข้ามาแล้ว

นิพัทธ์ พุกกะณะสุต เปิดฉากต่อ ๆ มาว่า กระทรวงการคลังควรจะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องการ รับหลักทรัพย์ใหม่ เช่นน่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านเข้าร่วมพิจารณาการรับ หลักทรัพย์ใหม่

ครั้งนั้นมีเสียงคัดค้านกันมาก ที่สุดวีระยุค พันธุ์เพชร ผู้อำนวยการกองนโยบายตลาดทุน กระทรวงการคลังได้ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าจะมีการให้ผู้เชี่ยวชาญเฉาพะด้านเข้ามาร่วมพิจารณารับ หลักทรัพย์เป็นกรณี ๆ ไปว่าไม่เป็นความจริง

วีระยุคกล่าวว่า "คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีบุคคลที่มาจากหลายฝ่ายที่มีประสบการณ์ในการพิจารณารับหลักทรัพย์และมีเงื่อนไขในการพิจารณาที่รัดกุม ไม่จำเป็นต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณาความสามารถของคณะกรรมการฯ ก็ทำได้แล้ว"

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้น บรรดานักลงทุนต่างประเทศ เรียกร้องให้กระทรวงการคลังประกาศนโยบายรับหุ้นใหม่และระยะเวลาการพิจารณาออกมาให้แจ่มชัด รวมทั้งอธิบายเรื่องขั้นตอนและปัญหาในการรับหุ้นใหม่ด้วย

ครั้นเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีนิพัทธ เป็นประธานในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่ได้

แหล่งข่าวในวงการหลักทรัพย์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "ประเด็นที่มีการพูดคุยกันแต่ไม่สามารถ หาข้อสรุปได้ คือการให้ใช้เวลาเร็วขึ้นกว่าเดิมในการพิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่ เน้นกิจการที่มีคุณภาพ ปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน และการอนุมัติหุ้นใหม่เข้ามาจดทะเบียนจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย"

นอกจากนี้มีการนำรายละเอียดที่คณะอนุกรมการฯ ชุดก่อนทำการศึกษาไว้มาพิจารณาด้วย โดย มีการเสนอว่าควรจะปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับมูลค่าทุนจดทะเบียน การเปิดเผยข้อมูลฐานะทางการเงินของบริษัท และการกระจายหุ้นสู่ประชาชน

สุขุม สิงคาลวณิช นายกสมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ หรือสมาคมโบรกเกอร์ให้ความเห็นว่า "ทุนจดทะเบียนที่กำหนดไว้เดิมนั้นใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งในเวลานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละไม่กี่ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดก็มีไม่สูงเท่าในปัจจุบัน ดังนั้น ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว"

ในเรื่องการกระจายหุ้นสู่ประชาชนนั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ต่างมีความเห็นพ้องกันแล้วว่าควรจะได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อนจึงจะมีการกระจายหุ้นได้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมอีก 2-3 ครั้งถัดมา ในที่สุดจึงสามารถหาข้อยุติและได้มีการประชุมชี้แจงโบรกเกอร์รอบแรกไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีผลในทางปฏิบัติทันที หมายความว่าอันเดอร์ไรเตอร์ที่ยื่นเอกสารขอนำหลักทรัพย์ใหม่เข้าจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มารับเอกสารคืนเพื่อไปแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ใหม่แล้ว จึงค่อยยื่นเข้ามาพิจารณาใหม่

ก่อนหน้าที่หลักเกณฑ์ใหม่ในการรับหลักทรัพย์จะคลอดออกมาใช้นั้น สมาคมโบรกเกอร์สมัย ที่มีนายกชื่อวิโรจน์ นวลแขได้เคยตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำ "ข้อเสนอแนวทางการพิจารณาหลักทรัพย์" เมื่อเดือนกันยายน 2532

คณะทำงานประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับบริหารจากบริษัทโบรกเกอร์สำคัญ ๆ จากกระทรวงการคลังธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น วีระยุค พันธุ์เพชร, ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, สุทธิชัย จิตรวาณิช, รศ. พิเศษ เสตเสถียร, ธรรมนูญ ดวงมณี, วิโรจน์ นวลแข, ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์, โยธิน อารี, สุขุม สิงคาลวณิช, ปิ่น จักกะพาก เป็นต้น

เนื่องจากคณะทำงานฯ มองว่าปัญหาสำคัญในเวลานั้นคือเรื่องระบบงานซ้ำซ้อน ลำดับขั้นตอนก่อให้เกิดความสับสนและมีความไม่แน่นอน สร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนอย่างมากในกรณีที่มีการจำหน่ายหลักทรัพย์หลังจากที่ได้รับอนุมัติ จากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แต่ต่อมาไม่ได้ รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง

ปัญหาเรื่องระบบงานซ้ำซ้อน ลำดับขั้นตอนก่อให้เกิดความสับสนนั้น ในเวลาต่อมาได้มีการ แก้ไขบ้างแล้ว กล่าวคือตัดขั้นตอนการยื่นคำขอพิจารณาเบื้องต้นออกทั้งหมด ให้มีแต่การยื่นคำขอพิจารณาจริงเท่านั้น

ในส่วนของการกระจายหุ้น คณะทำงานฯ มีข้อเสนอว่าหากผ่านขั้นตอนนับจากคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการฯ และกระทรวงการคลังแล้วปรากฏว่าอนุมัติ แต่ยังมีการกระจายไม่ตรงตามกำหนด ก็ให้ ทำการอนุมัติโดยมีเงื่อนไขกระทรวงการคลัง

จากนั้น บริษัทที่ยื่นขอเข้าจดทะเบียนต้องทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์แล้วค่อยนำหลักทรัพย์ เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากจัดจำหน่ายเสร็จสิ้นตามเงื่อนไขเรียบร้อยแล้ว

ว่าไปแล้วข้อเสนอนี้ไม่ได้ต่างจากแนวปฏิบัติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้อยู่เท่าใด

กล่าวง่าย ๆ คือตลาดหลักทรัพย์ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ในการอนุมัติรับหลักทรัพย์ใหม่

ขณะที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาสรุปผลเสนอกระทรวงการคลังนั้น เท่ากับว่าคณะกรรมการฯ ตัดสินแล้วว่าจะรับหลักทรัพย์นั้น ๆ เข้าทำการซื้อขายในตลาดฯ ได้ในอนาคต

พร้อมกับที่ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ส่งเรื่อง ให้บริษัทที่ยื่นคำขอฯ ไปกระจายผู้ถือหุ้นให้ครบตามกำหนด (ในกรณีที่บริษัทนั้นยังกระจายผู้ถือหุ้น ไม่ครบ ซึ่งบริษัทส่วนมากไม่มีการกระจายผู้ถือหุ้นเพราะไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนมาก่อน)

ขั้นตอนนี้ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด เพราะเมื่อมีการกระจายผู้ถือหุ้นไปแล้ว แต่กระทรวงการคลังยังไม่ยอมอนุมัติหรืออนุมัติล่าช้าก็ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์

ยิ่งในยุดที่ตลาดหุ้นนอกตลาดรุ่งเรือง มีนักลงทุนจำนวนมากจมเงินไปกับรายการข่าวลือ ข่าว ปั่นของการจองซื้อหุ้น แต่มาในระยะหลัง ๆ ตลาดหุ้นนอกตลาดซบเซาลง กระนั้นปัญหานี้ก็ยังไม่ได้ รับการแก้ไขอยู่ดี

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของคณะทำงานฯ มีข้อควรสังเกตตรงที่คณะทำงานฯ ได้เสนอเพิ่มบทบาทกระทรวงการคลังตรงที่ว่า หากกระจายหุ้นไม่เรียบร้อยตามระเบียบกระทรวงการคลังก็ไม่อนุมัติให้จดทะเบียนซื้อขายหุ้นนั้น ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรืออาจจะอนุมัติอย่างมีเงื่อนไข แล้วแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แจ้งบริษัทฯ นำไปดำเนินการให้เรียบร้อย แล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงค่อยอนุมัติให้เข้ามาจดทะเบียนได้

ข้อเสนอประการนี้ต่างจากเดิมตรงที่ว่า เมื่อบริษัทที่ยื่นขอฯ ดำเนินการกระจายหุ้นแล้ว แจ้งต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ๆ ก็แจ้งไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงฯ พิจารณาอนุมัติ แล้วส่งเรื่องให้ตลาดฯ ได้เลย

นั่นหมายความว่าคณะทำงานฯ ก็มีแนวโน้มที่จะให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในเรื่องการกระจายหุ้น ตั้งแต่กันยายน 2532 แล้ว

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เห็นด้วยในแนวทางนี้แต่อย่างใด ระเบียบปฏิบัติที่ฝ่ายบริษัทจดทะเบียนใช้ยังคงเป็นแบบเดิมมาจนกระทั่งเมษายน 2534 จึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

แหล่งข่าวในวงการหลักทรัพย์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่าจริง ๆ แล้วผู้ที่ค้านไม่ให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ๆ ในการพิจารณารับหลักทรัพย์ก็คือดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง

มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่ายว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องการให้กระทรวงการคลังเข้ามายุ่งเกี่ยววุ่นวายในเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการดึงอำนาจการพิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่ไปรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว หลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา

ขณะที่ดร. มารวย คัดค้านการให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพิจารณารับหลักทรัพย์ แต่กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนอื่น ๆ ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันที่จะให้มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่ในทางใดทางหนึ่ง เช่น นิพัทธ, วิโรจน์ และศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย การผลักดันเรื่องนี้จึงไม่ยากเกินกว่าจะทำได้

ช่วงที่ปัญหากฎเกณฑ์ใหม่ในการรับหลักทรัพย์กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากนั้น เป็นจังหวะ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ฯ มีการเปลี่ยนชุดกรรมการหลายคน โดยเฉพาะวิโรจน์และโยธิน อารี ซึ่งถือเป็นคนเก่าแก่และมีประสบการณ์อย่างมากในการพิจารณารับหุ้นใหม่ ไม่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ในชุดนี้

แหล่งข่าววงในเล่ากับ "ผู้จัดการ" ว่า "มันเป็นความต้องการของอาจารย์มารวยที่จะเอา 2 คนนี้ออกไป เพราะเป็นพวกที่พูดมาก ชอบซักไซ้ไล่เรียง"

โยธินดูเหมือนจะเสียใจมาก เพราะคาดไม่ถึงว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ส่วนวิโรจน์นั้นยัง มีตำแหน่งในคณะกรรมการหลักทรัพย์ฯไว้ได้ ซึ่งถือว่ายังไม่หลุดจากวงโคจรเหมือนโยธินที่ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไป

ทั้งวิโรจน์และโยธินถือได้ว่าเป็นคนเก่าแก่ที่รู้ระเบียบรู้ทางหนีทีไล่ของบรรดาบริษัทที่ขอยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างดี คนทั้งสองรับใช้วงการตลาดหลักทรัพย์มานานนับสิบปี ว่ากันว่าบริษัทไหนข้อมูลไม่แน่นพอ ตัวเลขไม่น่าเชื่อถือ การรายงานเกี่ยวกับผู้บริหารไม่ละเอียดพอ เป็นต้องถูกสองคนนี้ซักแหลก

วิโรจน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมก็สบาย ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวตรงนี้แล้ว ก็ไปว่ากันต่อในกรรมการชุดใหญ่ก็แล้วกัน"

ส่วนอนุกรรมการชุดใหม่ที่เข้ามานั้น มีคนหน้าเก่า 3 คน นอกนั้นเปลี่ยนใหม่หมด

แหล่งข่าววงในเล่าว่า "รายชื่ออนุกรรมการชุดใหม่เป็นคนหน้าใหม่ ๆ ทั้งนั้น ไม่ค่อยคล่องเรื่องหลักเกณฑ์การรับหุ้นใหม่ การประชุมครั้งแรก ๆ มีปัญหาติดขัดมากและต้องใช้เวลานาน"

จรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารชาติรับผิดชอบงานด้านสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ แต่โดยส่วนมากน่าจะดูแลในแง่นโยบายมากกว่าที่จะมาซักไซ้ไล่เรียงในเรื่องคุณสมบัติของหลักทรัพย์ใหม่ นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาพอสมควรสำหรับการศึกษาในด้านนี้

อโณทัย เตชะมนตรีกุล รองผู้จัดการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเยื่อกระดาษสยาม ทั้งสองคนนี้นับเป็นคนใหม่ล่าสุดในอนุฯ ชุดนี้ แม้สองบริษัทจะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งสองรู้กฎเกณฑ์คุณสมบัติหลักทรัพย์ใหม่ดี

ส่วนสุขุม, ดร. ชัยยุทธ ปิลันธ์โอวาท และสิริฉัตร อรรถเวทย์วรวุฒิมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายใหญ่ โดยเฉพาะมีส่วนของบงล. ที่อยู่ในเครือแบงก์กรุงเทพ 2 แห่งคือ ดร. ชัยยุทธเป็นกรรมการผู้อำนวยการอยู่ที่บงล. ร่วมเสริมกิจ และสิริฉัตรเป็นรองผู้อำนวยการที่บงล. สินเอเชีย

อนุกรรมการฯ ชุดใหม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณารับหลักทรัพย์

ว่าไปแล้วมันเป็นหมากหนึ่งที่กระทรวงการคลังรุกคืบตลาดหลักทรัพย์อย่างได้ผล คือเปลี่ยน อนุฯ ชุดใหม่พร้อมกับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ในเวลาใกล้เคียงกัน

ล่าสุด ดร. มารวย มีดำริที่จะเพิ่มคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่อีกชุดหนึ่ง เพื่อ ทำการพิจารณาหลักทรัพย์ได้รวดเร็วขึ้น โดยอนุฯ ชุดนี้คงมีศาสตราจารย์สังเวียนเป็นประธานฯ และมีกรรมการตลาดฯ คนอื่น ๆ เข้ามาร่วมเช่นเดียวกับชุดแรก

แต่เรื่องนี้ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดตลาดก่อน

วิโรจน์กล่าวถึงความจำเป็นในการที่จะต้องปรับกฎเกณฑ์การพิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่ว่า "มันเป็นเรื่องปกติที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะต้องมีการตึงเครียดหรือลดหย่อนผ่อนปรนกับหลักเกณฑ์สลับกันไปตามจังหวะเวลา ในกรณีของตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น หลังจากที่มีการลดหย่อนก็ปรากฏว่ามีหุ้นใหม่เข้ามามาก จนถึงตอนนี้ควรจะหันมาเข้มงวดเรื่องคุณภาพมากขึ้นแล้ว"

"บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเป็นกิจการขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องในการซื้อขาย มีการกระจายหุ้นสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง" วิโรจน์กล่าว

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนอย่างมาก ๆ สำหรับบริษัทที่ต้องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขาย เช่นมีทุนจดทะเบียนระหว่าง 10 ล้านบาทถึงไม่เกิน 20 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 50 รายถึงไม่เกิน 300 ราย มีการกระจายหุ้น 10-30% เป็นต้น

ประเด็นนี้ศิริวัฒน์ วรเวทย์วุฒิคุณ ประธานบริษัทอิควิตี้ จำกัด และเป็นนักลงทุนผู้หนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ไทย ให้ความเห็นว่า "ผมดูแล้วทุนจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ใหม่ก็ยังรู้สึกจะน้อยไปหน่อย ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไทยพัฒนาจนมีมูลค่าตลาดโดยรวม (MARKET CAPITAL) ถึง 9 แสนล้านบาท การเอาบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำเข้ามาจะไม่เป็นการดีสำหรับตลาดที่พัฒนาเติบใหญ่ เพราะจะเกิดสภาพคล่องต่ำ และพวกนักลงทุนต่างประเทศก็จะดูที่ปัจจัยตัวนี้มาก หากหลักทรัพย์มีสภาพคล่องต่ำเพราะทุนน้อย เขาก็จะไม่สนใจ ผมคิดว่าตัวนี้น่าจะมีการขยายและเพื่อเป็นการป้องกันการเอาหุ้นทุนน้อยเข้ามาปั่นราคาให้สูง ๆ ในตลาดด้วย"

แต่ศิริวัฒน์ไม่ได้กล่าวชัดเจนว่าตัวเลขทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยควรจะเป็นเท่าไร

ทั้งนี้การกำหนดทุนจดทะเบียนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาระดมเงินจากประชาชนโดยผ่านกลไกของตลาดฯ และเพื่อการริเริ่มพัฒนาตลาดทุนในประเทศด้วย

ครั้นปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนามากขึ้นแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการกลั่นกรองและลดความร้อนแรงของตลาดในด้านการเก็งกำไรลงบ้าง ด้วยเหตุนี้มาตรการเฟ้นเอาเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เข้าตลาดจึงเกิดขึ้น

จุดมุ่งหมายของตลาดเปลี่ยนจากการส่งเสริมให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเด็นนี้เป็นปัญหาต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมาก

ปัญหาใหญ่ ๆ คือเรื่องการกระจายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม การย่นระยะเวลาในการพิจารณารับหลักทรัพย์การปั่นราคาหุ้นนอกตลาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้สร้างความเดือนร้อนให้นักลงทุนจำนวนมาก และไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนได้

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หลายครั้งที่นักลงทุน จำเป็นต้องฝากความหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ไว้กับกฎหมาย SEC (ร่างกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ราวแก้วสารพัดนึก

ศิริวัฒน์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมคิดว่าหลักเกณฑ์ใหม่มองโดยรวมแล้วให้ ประโยชน์แก่นักลงทุนในแง่ที่ว่ามีความยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะ เรื่องการกระจายหุ้น ก็เป็นการ กระจายอย่างจริง ๆ ไม่ใช่เอาชื่อญาติหรือใครมาจอง และยังให้สิทธิว่าหากตลาดฯ ตรวจสอบพบการกระจายไม่ถูกต้อง อาจยกเลิกการจัดสรรนั้นได้ นี่ก็เป็นการทำให้นักลงทุนสบายใจมากขึ้น"

ส่วนวิโรจน์ยังเห็นว่า "กฎเกณฑ์ใหม่ให้การคุ้มครองรวม ๆ แต่ตัวปัญหาหลักถือว่ายังไม่ได้ แก้เลย คือทำขั้นตอนให้สั้นที่สุด ช่วงของการนำหุ้นออกขายกับช่วงอนุมัติเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ห่างกันถึง 45 วันอย่างในเมืองไทย ผมคิดว่าประเด็นสำคัญอันหนึ่งอยู่ที่ประสิทธิภาพของการทำงานด้วย"

วิธีแก้ไขที่จะทำให้กระบวนการสั้นลงได้นั้น วิโรจน์เสนอว่า "ทำได้โดยยกอำนาจรัฐมนตรีออกไปเสียให้สิ้นสุดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นพอ หมายความว่าอำนาจสุดท้ายของรัฐมนตรีนี่ไม่ควรจะใช้ เพราะมันเป็นการพิจารณาตัดสินรวมหมู่มาตลอด (COLLECTIVE DECISION) พอมาถึงสุดท้ายกลับกลายเป็นคน ๆ เดียวที่จะให้หรือไม่ให้ อันนี้ควรจะยกออกไป ให้รัฐมนตรีเป็นคนแรกเลย จากนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นคนสุดท้าย"

ข้อเสนอของวิโรจน์ไม่น่าจะสบอารมณ์แต่ละฝ่าย เขาเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาด ขณะเดียวกันกลับเสนอให้ยกเอาอำนาจสุดท้ายที่อยู่ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกไป เพราะเป็นส่วนที่ทำให้ขั้นตอนการรับหลักทรัพย์ยืดเยื้อยาวนานเกินจำเป็น

แต่ข้อเสนอของวิโรจน์ไม่มีโอกาสแจ้งเกิดแล้ว เพราะได้มีการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ซึ่งภาพรวม ๆ ในแง่ของการคุ้มครองนักลงทุนค่อนข้างจะดี แต่สำหรับเจ้าหน้าที่อันเดอไรต์ ส่วนมากยังมีความรู้สึกก้ำกึ่ง ด้านหนึ่งเห็นด้วยว่าให้การคุ้มครองนักลงทุนดี อีกด้านหนึ่งคืองาน ของพวกเขาต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะในกระบวนการสำคัญที่เรียกว่า ระบบสปอนเซอร์ (SPONSOR) นั้น ตลาดฯ ผลักภาระให้อันเดอไรเตอร์รับผิดชอบเป็นจำนวนมาก

สังเวียน อินทรวิชัย ประธานอนุกรรมการรับหลักทรัพย์ใหม่กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ว่า "เราได้เอาระบบที่ปรึกษาซึ่งมีที่ใช้ในอังกฤษและฮ่องกง เรียกว่าระบบสปอนเซอร์มาใช้ ให้อันเดอไรเตอร์เป็นที่ปรึกษาการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และต่อไปนี้บริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องผ่านสปอนเซอร์ทุกราย"

สปอนเซอร์เป็นผู้ทำหน้าที่ขอแบบฟอร์มจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำข้อมูลของบริษัทฯ และเป็นผู้ติดต่อกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดเวลาที่ดำเนินเรื่องให้บริษัทฯ ทั้งนี้ตลาดฯ จะไม่ติดต่อกับบริษัทฯ โดยตรงโดยเด็ดขาด

สังเวียนเน้นว่าสปอนเซอร์จะต้องทำหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพ จะอ้างว่าไม่รู้ข้อมูลโน่นนี่ไม่ได้เป็นอันขาด ต้องเตรียมเอกสาร ยื่นคำขอและคอยตอบคำถามต่าง ๆ ที่อาจจะมีขึ้นได้ระหว่างยื่นขอเข้าจดทะเบียน นอกจากนี้สปอนเซอร์ยังต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้ผู้บริหารของบริษัทฯ ได้เข้าใจความรับผิดชอบอันพึงมีของบริษัทที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วด้วย

บริษัทที่จะทำหน้าที่เป็นสปอนเซอร์ได้คือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เท่านั้น โดยไม่จำกัดต้องเป็นโบรกเกอร์

สปอนเซอร์ซึ่งก็คืออันเดอไรเตอร์ ยังจะต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องในเอกสารต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ยื่นเข้ามาให้พิจารณาด้วย เช่น การซักถามข้อมูลทางการเงินออกจากงบการเงินให้ได้มากที่สุด ต้องศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการของบริษัทนั้น ๆ ด้วย (QUALITY OF MANAGEMENT) ซึ่งสังเวียนเน้นว่า "แม้จะเป็นเรื่องที่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาตัดสิน แต่อันเดอไรเตอร์ก็จำเป็นต้องทำตรงจุดนี้ด้วย"

อันเดอไรเตอร์จะต้องพิจารณาขั้นหนึ่งก่อนว่าเห็นสมควรให้บริษัทที่ได้ทำการศึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงจะยื่นเสนอเข้ามา ถ้าเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมก็ต้องยอมถอนออกไป

สังเวียนกล่าวว่า "หน้าที่เหล่านี้เป็นภาระที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอผลักมาให้พวกอันเดอไรเตอร์"

นั่นหมายความว่าอันเดอไรเตอร์ที่ทำหน้าที่สปอนเซอร์ต่อไปจะมีความสำคัญอย่างมาก ๆ ในระบบนี้

บริษัทที่ต้องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องว่าจ้างอันเดอไรต์ทำหน้าที่ สปอนเซอร์ให้ ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองเหมือนสมัยที่บริษัท นิวอิมพีเรียล โฮเต็ล ทำอันเดอไรต์ ตัวเองได้อีกต่อไป!

อำนาจต่อรองเรื่องการกำหนดราคาขายอาจหวนกลับมาอยู่ในมืออันเดอไรต์อีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของขั้นตอน หลังจากยื่นเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริษัทจดทะเบียนจะใช้เวลา 4-5 วัน ในการศึกษารายละเอียด แล้วจะเดินทางไปเยี่ยมชมบริษัท/โรงงาน กลับมาเขียนรายงานเพิ่มเติมจากที่อันเดอไรเตอร์ ยื่นเอกสารมา และใช้เวลาอีก 1 อาทิตย์ในการตรวจสอบ ซึ่งระหว่างนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการติดต่อกับอันเดอไรเตอร์ตลอดเวลา

กระบวนการนี้ใช้เวลา 30 วัน หากแก้ไขข้อมูลได้ หากทำไม่ได้จะยุติการพิจารณา แล้วส่งเรื่องกลับให้อันเดอไรเตอร์ทำข้อมูลใหม่

หลังจากนั้นเรื่องจะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณา โดยจะมีการเชิญผู้บริหารบริษัทและอันเดอไรเตอร์เข้าชี้แจงตอบคำถาม ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 5 วัน

ต่อมาเป็นขั้นตอนสำคัญคือการผ่านการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งใช้เวลานานถึง 10 วัน และเป็นเพียง PRE-APPROVAL เท่านั้น หากผ่านก็ให้นำหุ้นไปเสนอขายได้ หากไม่ผ่านก็อาจต้องไปเริ่มขั้นตอนใหม่ซึ่งสังเวียนไม่ได้กล่าวชัดเจน

ขั้นตอนการนำเสนอขายหุ้นตามหลักเกณฑ์ใหม่ มีความรัดกุมมากขึ้น กล่าวคืออันเดอไรเตอร์ต้องทำการเสนอ (PRESENTATION) ข้อมูลรายละเอียดของบริษัทต่อบรรดานักวิเคราะห์ทางการเงินของบริษัทโบรกเกอร์ทั้งหมดรวม 40 แห่ง โดยให้ใช้สถานที่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นศูนย์ในการชี้แจง และยังต้องทำหนังสือชี้ชวนแจกให้ผู้ลงทุนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนกระจายหุ้น

เมื่อเรียบร้อยก็ส่งเรื่องกลับไปที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงการคลัง ซึ่งสังเวียนกล่าวว่า "ไม่น่ามีปัญหา เป็นเรื่อง FORMALITY เท่านั้น เพราะกระทรวงฯ ได้ทำการอนุมัติ ไปเรียบร้อยแล้ว"

เบ็ดเสร็จรวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 50 วันทำการหรือ 2 เดือน

ว่าไปแล้วไม่ต่างจากเดิมนัก และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะย่นให้เหลือ 2 อาทิตย์ที่โรจน์เสนอ !!

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการวาณิชธนกิจ บงล. นวธนกิจกล่าวแสดงความคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "กฎใหม่ที่ออกมาจะไม่เหมาะแก่สปอนเซอร์บางราย แต่สปอนเซอร์ใหม่นั้น ก็อาจจะเหนื่อย เพราะกฎใหม่ต้องการคนที่มีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทักษะในการพูดการเสนอข้อมูล มีไหวพริบในการตอบปัญหาเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ซักถามในตอนทำ PRESENTATION"

ดร. นิเวศน์ ให้ความเห็นด้วยว่า "นอกจากการศึกษาข้อมูลการทำธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FEASIBILITY STUDY) ของบริษัท ศึกษาภาวการณ์แข่งขัน/ภาวะตลาดของธุรกิจนั้น ๆ อีกด้วย ซึ่งนี่เป็นการเพิ่มภาระอย่างมาก ๆ "

โดยทั่วไปคนที่ทำงานอันเดอไรต์จะมีความสามารถในการทำ FEASIBILITY STUDY น้อยกว่าคนที่ทำงานวิจัย แต่ในกรณีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีกิจการธนาคารเป็นผู้สนับสนุนอยู่ก็อาจหาข้อมูลการตลาดและงานวิจัยสนับสนุนได้จากส่วนวิจัยของธนาคาร ซึ่งนี่เป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ๆ สำหรับ บงล. เหล่านี้

ว่าไปแล้วบริษัทที่ทำงานอันเดอไรต์ ในทุกวันนี้ก็มีอยู่ไม่เกินครึ่งของจำนวนโบรกเกอร์ทั้งหมด และเป็นโบรกเกอร์รายใหญ่ ๆ ที่มีธนาคารหนุนหลังทั้งสิ้น ส่วนโบรกเกอร์รายย่อย ๆ นั้น ก็มักจะทำอันเดอไรต์บริษัทในเครือหรือบริษัทแม่ หรือบริษัทที่ผู้บริหารมีส่วนเกี่ยวเนื่องด้วย

ผลกระทบต่อโบรกเกอร์รายเล็กที่อยากจะโตในธุรกิจอันเดอไรต์ ซึ่งมีอนาคตสดใสก็คือ ต้องเพิ่มบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเข้ามาอีก เพื่อที่จะแข่งขันได้ในตลาดอันเดอไรต์

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดอันเดอไรต์ เมื่อปี 2533 คาดว่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่รุ่งเรืองเติบโตเร็วเสียยิ่งกว่าตลาดใด ๆ

บริษัทที่เป็นแชมป์แกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกัน การจำหน่ายหลักทรัพย์ในปี 2533 คือ บงล. ทิสโก้ ด้วยสถิติอันเดอไรต์หุ้นใหม่ 8 บริษัทและหุ้นเพิ่มทุน 1 บริษัท

บงล. ภัทรธนกิจติดอันดับรองลงมา คือทำอันเดอไรต์หุ้นใหม่ 6 บริษัท และหุ้นเพิ่มทุน 2 บริษัท

บล. เอกธำรงเป็นอันดับสาม ทำอันเดอไรต์หุ้นใหม่ 5 บริษัท และหุ้นเพิ่มทุน 3 บริษัท

สำหรับปี 2534 บงล. ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) ซึ่งมีนโยบายรุกตลาดอันเดอไรต์ในปีนี้คว้าแชมป์สำหรับไตรมาสแรกโดยทำอันเดอไรต์ 3 บริษัท คืออิเล็กโทรนิคอุตสาหกรรม, ไทยฮีทเอ็กซเช้นจ์ และสว่างเอ็กซปอร์ต ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บงล. ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมคิดว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้มงวดเรื่องหลักเกณฑ์การรับหุ้นใหม่มากขึ้นนั้น เรา ยิ่งชอบ และผมอยากจะบอกด้วยว่าต้องบังคับกันให้เป็นตามกฎเกณฑ์ให้ได้จริง ๆ อย่าเป็นเหมือนที่ ผ่าน ๆ มา"

ประเด็นนี้เป็นที่วิจารณ์กันมากพอสมควร ดร. นิเวศน์เองก็ให้ความเห็นว่า "เท่าที่ผมดู ยังไม่เห็นบทลงโทษอะไรสักอย่าง ผมไม่แน่ใจว่าหากมีคนไม่ทำระบบสปอนเซอร์แล้ว ตลาดจะจัดการอย่างไร"

สำหรับสุรพันธ์ สุรกิตติดำรง รองประธานกรรมการวาณิชธนกิจ บงล. นครหลวง เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "ผมคิดว่าหลักเกณฑ์ใหม่ดูดีกว่าของเดิม เพราะของเดิมนั้นโดยส่วนมากกำหนดแล้วไม่ค่อยมีคนปฏิบัติตาม"

สุรพันธ์ ซึ่งเพิ่งย้ายมาจาก บงล. ศรีมิตร เพื่อมารับงานด้านอันเดอไรต์ของนครหลวง โดยตรง ให้ความเห็นอีกว่า "ส่วนของงานที่เพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ใหม่คือเรื่องการทำ PRESENTATION ซึ่งแต่เดิมจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ไม่ได้มีการบังคับ และหากทำก็ไม่ต้องลึกซึ้งมากเท่าไหร่ แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้บังคับและต้องมีความลึกซึ้งพอสมควร ในส่วนของงานวิเคราะห์ตลาดคู่แข่งนั้น ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาเพราะเราทำกันอยู่แล้ว"

ส่วน 2 บริษัทที่บงล. นครหลวง ดำเนินการยื่นคำขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนให้นั้น สุรพันธ์เปิดเผยว่า "ไม่มีปัญหาเราได้ไปเอาเอกสารของทั้งสองบริษัทกลับมาปรับปรุงใหม่แล้ว ซึ่งไม่ลำบากอะไรเพียงแต่แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล/ตัวเลขทั้งหลายให้ทันสมัยขึ้น เช่น ประมาณการที่ทำไว้เดิมต้องเอามาดูและเขียนใหม่ เพราะต้องพิจารณาผลกระทบของตลาดในด้านต่าง ๆ ด้วย และต้องดูความครบถ้วนของข้อมูลตามหลักเกณฑ์ใหม่ แต่ในส่วนของการเพิ่มทุนนั้นไม่ติดปัญหานี้"

บริษัทอีก 40 กว่ารายที่อยู่ระหว่างการยื่นขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงนี้ต้องดึงเรื่องกลับมาปรับแต่งข้อมูลใหม่ทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วต้องเพิ่มเติมข้อมูลตามหลักเกณฑ์ใหม่ มี 14 รายที่ต้องแก้ไขเรื่องการกระจายหุ้น

เมื่อภาระของอันเดอไรเตอร์มีมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะต้องมีการปรับตัวเลขค่าธรรมเนียม สูงขึ้นตามไปด้วย

โดยปกติแล้วค่าธรรมเนียมจะคำนวณจากจำนวนเงินที่ทำอันเดอรไรต์ ซึ่งอยู่ระหว่าง 3%-3.5% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ทำอันเดอไรต์ หรือในบางรายก็คิดเป็นจำนวนเงินกันออกมาเลย ดร. นิเวศน์กล่าวว่า "แนวโน้มน่าจะคิดค่าธรรมเนียมที่แน่นอนส่วนหนึ่งเป็น FIX FEE แล้วค่อยคิดเปอร์เซนต์ จากมูลค่าหุ้นที่บริษัทนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งหนึ่งเป็น SUCCESS FEE"

กล่าวโดยรวมแล้ว การปรับหลักเกณฑ์การรับหุ้นใหม่ แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาในการพิจารณารับหุ้น ที่ยังใช้เวลานานอย่างมาก ๆ ไม่ได้ แต่ก็ช่วยให้ภาพโดยรวมของการทำอันเดอไรต์ ดูดีขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนของขั้นตอน การคุ้มครองนักลงทุนในเรื่องการกระจายหุ้น ความรัดกุมในการเปิดเผยข้อมูลระบบสปอนเซอร์ที่ช่วยกลั่นกรอง บริษัทที่มีคุณภาพเข้าตลาดฯ ขั้นหนึ่ง ก่อนมาสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ฯลฯ

เหล่านี้เป็นแง่มุมที่ดี และผลกระทบสำคัญคือการยกระดับคุณภาพในตลาดอันเดอไรต์ ในแง่ของบุคลากรที่จำเป็นต้องได้คนมีฝีมือความสามารถรอบด้าน และกระบวนการกลั่นกรองคัดเลือก

แต่นี้ไป ค่าตัวอันเดอไรเตอร์ย่อมสูงขึ้นตามคุณสมบัติที่เพิ่มมากขึ้น ค่าธรรมเนียมการทำอันเดอไรต์ก็สูงขึ้นด้วย

บริษัทอันเดอไรต์จะมีบทบาทและอำนาจต่อรองอย่างมาก ๆ ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

และแง่มุมสุดท้ายคือ กระทรวงการคลังได้ยึดอำนาจการรับหลักทรัพย์ใหม่ไปเรียบโร้ยแล้ว !   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us