"ชีวิตนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นบัญชาจากสวรรค์ อีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงลิขิตของตัวเอง"
คีรี กาญจนพาสน์แม้จะเติบโตบนกองเงินกองทองที่พ่อของเขา "มงคล กาญจนพาสน์" ได้สั่งสมสินทรัพย์ที่ดินและกิจการมูลค่ามหาศาลในเมืองไทยและฮ่องกงไว้แล้วก็ตาม แต่เขาก็ต้องการทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า และน่าตื่นเต้นกว่า
คีรียังตระหนักอีกด้วยว่า ถ้าหากเขาต้องการเป็นที่รู้จักของใคร ๆ มากกว่าแค่ลูกชายองมหาเศรษฐีอย่างมงคล กาญจนพาสน์แล้วละก็ เขาควรจะออกไปสร้างความสำเร็จและเป้าหมายด้วยตนเอง งานนี้คีรีควักหัวใจออกมาพิสูจน์ !!
ด้วยความเป็นลูกชายคนที่เจ็ดของมงคลกับศิริวรรณ กาญจนพาสน์ ซึ่งมีบุตรธิดาทั้งสิ้น 11 คน คีรีเป็นลูกชายที่สนิทกับพ่อมากที่สุด ตั้งแต่อายุ 13 ปี คีรีก็ต้องจากเมืองไทยไปเรียนต่อจนกระทั่งจบ ไฮสกูลที่ รร. พุ่ยจิง เกาลูน
ช่วงเวลานั้นธุรกิจค้านาฬิกาของครอบครัวกำลังขยายตัวสูงมากทั้งในไทยและฮ่องกงปี 2506 บริษัทสเตลักช์ก็เกิดขึ้น อนันต์ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตมีอายุห่างจากคีรี 10 ปีก็เพิ่งจบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์และเข้าช่วยดูแลกิจการบริษัทและโรงงานทำสายนาฬิกาสเตลักช์ที่ฮ่องกง
ส่วนคีรีด้วยความเกกมะเหรกเกเรของเขาในช่วงวัยรุ่นจึงเรียนจบแค่ไฮสกูล และเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 19 พ่อของเขาได้ตัดสินใจให้คีรีไปทำงานในโกดังเจียฮกเจียง และเป็น MESSENGER BOY ด้วย โดยคาดเอาว่าการฝึกฝนให้ทำงานหนักเหมือนกุลีอาจเป็นการดีสำหรับเขา คีรีได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนความรุนแรงก้าวร้าวของเขาให้กลายเป็นความดิ้นรนพยายาม ขณะที่เหล่าพี่น้องต่างได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ
มันเป็นหลักฐานที่แสดงเห็นชัดแล้วว่า คีรีมีแนวโน้มของความกล้าและทำให้คนอื่นรู้จักตัวเองด้วยวิธีรุนแรงแต่ความแตกต่างสำหรับตอนนี้ เขาเปลี่ยนมาใช้หัวสมองมากกว่ากำปั้น
เป็นเรื่องโชคดีสำหรับคีรี ที่กระโจนเข้ามาคลุกคลีในวงการธุรกิจการค้าของฮ่องกงตั้งแต่เยาว์วัย แม้จะถูกบังคับด้วยการเริ่มต้นเรียนรู้การทำงานหนักเหมือนกุลีก็ตามแต่พ่อของเขาก็สอนเขามากมาย เขาได้เรียนรู้ความยากซับซ้อนในธุรกิจ เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนที่กระตือรือร้นและเคลื่อนไหว นอกจากนี้คีรียังเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจและประสิทธิภาพของการทำงาน คีรีกับพ่อมีความสัมพันธ์ตามแบบแผนธุรกิจมาก
"ท่านเป็นคนสุขุม มองการณ์ไกลมากและไม่ถือตัวเราจะคุยกันแบบนักธุรกิจทุกคนมีสิทธิ์จะให้เหตุผลซึ่งต้องฟัง ผมก็ใช้ลักษณะนี้ในที่ทำงานของผม เวลานี้ท่านก็ใช้เวลาส่วนมากตีกอล์ฟส่วนนโยบายธุรกิจต่าง ๆ เราก็ปรึกษากัน" คีรีเล่าให้ฟังถึงพ่อผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังอยู่เงียบ ๆ
27 ปีที่คีรีทำงานอย่างหนักและเติบใหญ่ มีครอบครัวน่ารักกับเมียและลูกสองคนอยู่ในดินแดนมังกร ชื่อเสียงของเขาในภาคภาษาจีนว่า "หว่อง จง ซัน" เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่าชื่อของพ่อเขาเสียอีก ตั้งแต่สมัยเขาเริ่มทำทีมฟุตบอล คีรีเป็นแชร์แมนของทีมฟุตบอลไซโก้ ที่เคยมาเล่นกับทีมชาติไทยเป็นการกุศลจนเก็บเงินรายได้นับสิบล้านบาทให้แก่ตำรวจชายแดน
คีรีไม่ได้มองทีมฟุตบอลในเชิงการค้าที่มีแบบแผนตายตัว แต่เขามองมันเป็นความสนุกสนานที่เขาจะหาจากมันได้ คีรีชอบกีฬาฟุตบอล แล่นเรือยอร์ชที่เขามีอยู่หลายลำที่ฮ่องกงและยังชอบกีฬาดำน้ำอีกด้วย แต่การตีกอล์ฟกลับเป็นกีฬาที่คีรีไม่นิยม ทั้ง ๆ ที่เป็นกีฬาโปรดของพ่อยิ่งนัก !!
แม้คีรีจะเลิกเป็นแชร์แมนทีมฟุตบอลมา 3-4 ปีแต่อดีตนักฟุตบอลเหล่านี้ก็ยังทำงานให้กับคีรี เช่นเป็นผู้จัดการในภัตตาคาร "TIN TIN SEAFOOD RESTUARANT" ที่มีดาราหนังฮ่องกงชื่อดังอย่างอลัน ทัม ซึ่งเป็นอดีตนักฟุตบอลก็เข้ามาถือหุ้นด้วย
"จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไร เรียกว่าโลว์โปร์ไฟล์มาตลอด ไม่ใช่ว่าหยิ่งหรือไม่พบคน ที่ฮ่องกงคนจะรู้จักผมมากกว่า ส่วนคุณพ่อจะเก่งเงียบ ๆ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก" คีรีที่เพิ่งเปิดตัวเป็นข่าวต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้นในไทยเล่าให้ฟัง
คีรีไม่ใคร่พอใจในการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างหรูหรานักในวัยหนุ่มเขามองหาอะไรที่จะสร้างอะไรเป็นหลักเป็นฐานเป็นบางสิ่งบางอย่างที่คุ้มค่า กับความพยายาม และสิ่งที่ดึงดูดใจเขาก็คือ ความท้าทายของการสร้างธุรกิจร้านอาหารภัตตาคารที่มีขนาดใหญ่สามารถจุลูกค้าได้ถึง 930-1,200 คนและมีสาขาจำนวนมาก ๆ ดังเช่น "TIN TIN SEAFOOD HARBOUR" และ " TIN TIN HOT POT RESTAURANTS" ซึ่งมีแหล่งซัพพลายอาหารทะเลสด ๆ จากฟาร์มของตัวเองชื่อ "SAI KUNG"
คนบางคนมีความรู้เรื่องตลาดโดยสัญชาติญานและคีรีก็เป็นคนหนึ่งในนี้ด้วย เขามีธุรกิจที่ น่าสนุกสนานและทำรายได้ให้อย่างงามในแต่ละปี นั่นคือธุรกิจการค้าและการตลาดผลิตภัณฑ์ "พูม่า" เสื้อผ้าแฟชั่นกีฬาชื่อดังระดับโลก ที่ประสบความสำเร็จเพราะการออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ยอดเยี่ยม ของฮ่องกงอย่างมิกกี้ ลี
ถ้าสินค้าที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก แต่ไม่มีใครรู้จักมันก็คงไม่มีค่าอะไรในโลกนี้ ดังนั้นวิธีที่จะดึงดูดความสนใจและสร้างความตื่นเต้นวิธีหนึ่งก็คือ การจ้างนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ฝีมือดีและจ่ายเงินเดือนพวกเขาสูง ๆ คีรี จ้างเอเยนซี่อย่างเดอะบอลล์พาร์ทเนอร์ชิพทำหนังโฆษณา "พูม่า" ด้วยคอนเซปท์ "LIVE THE PUMA LIFE" ที่ชนะการประกวดโฆษณายอดเยี่ยมทุกปี
โฆษณาแต่ละชิ้นของพูม่าเร้าความรู้สึกของคนได้อย่างถึงใจ เช่นหนังโฆษณารองเท้าพูม่าชิ้นหนึ่งซึ่งเปิดฉากด้วยภาพรองเท้าคู่หนึ่งวางอยู่ และมีสายไฟฟ้าสองเส้นมาจับ จากนั้นฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงปร้าง เกิดเป็นไฟวับ ๆ รองเท้าขยับลมหายใจขึ้นลงวูบ ๆ หนังจบอย่างสวยงาม
ไม่ต้องสงสัยว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พูม่าได้พุ่งทะยานไปไม่ต่ำกว่า 235 ล้านเหรียญฮ่องกงและตลาดส่งออกในมาเก๊า ประเทศไทย ไต้หวันและสิงคโปร์ได้เติบโตเพิ่มสูงขึ้น 70% นับว่าเป็นอนาคตอันสดใสในตลาดภูมิภาคนี้
ความสำเร็จในเชิงธุรกิจที่ฮ่องกงอันเกิดจากความฝันและการทำงานหนักมากของคีรีได้ปรากฎอยู่ในความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของบริษัท "วาเคไทย" ซึ่งมีความหมายถึง "OVERSEA THAI FOUNDATION" ที่ตระกูลกาญจนพาสน์หรือรู้จักกันในนาม WONGFAMILY ในฮ่องกงได้สั่งสมรากฐานธุรกิจไว้ (ดูตารางอาณาจักรธุรกิจของคีรีที่ฮ่องกงประกอบ)
คีรีไม่เคยให้ความสำคัญกับการค้ารายเดียวหรือเป้าหมายเพียงเป้าเดียว เพราะอะไร ๆ ก็สามารถเกิดผิดพลาดขึ้นได้เสมอแม้จะมีแผนการที่รอบคอบหรือดูมั่นคงมีหลักประกันมากเพียงใดก็ตามในตอนแรก ดังนั้นบริษัทจึงมีการแตกตัวเองจากแกนหลักด้านธุรกิจการค้าไปสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กิจการโรงแรมระดับสามดาวชื่อเอเซียโฮเต็ลในแฮปปี้วัลเล่ย์และการบริหารโครงการต่าง ๆ ทั้งในฮ่องกงและกรุงเทพ
ในฮ่องกง อสังหาริมทรัพย์ที่กาญจนพาสน์เป็นเจ้าของอยู่นั้นมีจำนวนเนื้อที่ 222,893 ตารางฟุต ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของ POYIP BUILDING ซึ่งเป็นโกดังและโรงงานเนื้อที่ 116,40. ตารางฟุต ส่วนที่เหลือกระจายไปถือครองในรูปทั้งตึกบ้าง หรือบางครั้งก็ซื้อเนื้อที่ทั้ง 1-2 ชั้นก็มี อาทิเช่น MAI KWAI MANSION ที่อยู่ย่านการค้าจะมีเนื้อที่ 55,405 ตารางฟุต และ PO WING BUILDING ที่เกาลูนก็มีเนื้อที่ 32,659 ตารางฟุต และ NINLEE COMMERCIAL BUILDING เนื้อที่ 16,776 ตารางฟุต ฯลฯ
ส่วนในเมืองไทย กาญจนพาสน์นับว่าเป็นตระกูลที่ถือครองที่ดินผืนใหญ่มากที่สุดตระกูลหนึ่ง คิดเป็นจำนวนมากถึง 31,662,482 ตารางฟุต โดยเฉพาะที่ดินในโครงการ "ธนาซิตี้" แถบบริเวณทิศตะวันออกของกรุงเทพ ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 14 มีเนื้อที่ 1,500 ไร่หรือ 30 ล้านตารางฟุต
"ตอนที่มาบริษัท วาเคไทย (ไทยแลนด์) ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำงานที่บริษัท ธนายง เพราะว่าที่ธุรกิจที่ฮ่องกงก็ยุ่งมาก ผมคิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนด้านการทำงาน" คีรีเล่าให้ฟังถึงการเข้า มาบริหารบริษัท ธนายง ซึ่งถือหุ้น 40% โดยบริษัท โปกิ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท วาเคไทย
ปี 2531 นอกจากจะเป็นปีที่ธุรกิจพัฒนาที่ดินในไทยบูมมากที่สุดแล้ว ยังเป็นปีที่ทำให้กลุ่มตระกูล "กาญจนพาสน์" ได้หวนกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจการค้าที่ซบเซาลง จากผลของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในฮ่องกงปี 2540
ปีนี้เป็นปีที่ "คีรี กาญจนพาสน์" ผู้จากเมืองไทยไปเสียนานเพื่อบริหารกิจการสำคัญของครอบครัวที่ฮ่องกง ได้กลับคืนมาตุภูมิ แต่การกลับมาเพื่อพักผ่อนครั้งนี้ สิ่งที่คีรีได้รับไม่ได้เป็นเพียงแต่การพักผ่อนอย่างเดียว
กีฬาดำน้ำและเล่นเรือเร็วที่โปรดปรานนี้ได้พาคีรีไปสู่ขุมทรัพย์กลางทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศไทยคือที่เกาะกระดาด ที่จังหวัดตราด
เหตุผลดึงดูดใจคีรีมากที่สุดก็คือ เกาะนี้เป็นเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีโฉนดที่เป็นเอกสารสิทธิครอบครองเกาะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในทำเลจุดยุทธศาสตร์การเมืองใกล้เขตแดนไทยกับเขมรมาก ทำให้รัชสมัยรัชกาลที่ห้าต้องมีการออกโฉนดแสดงเป็นหลักฐานต่อรัฐบาลฝรั่งเศสที่ขณะนั้นครอบครองดินแดนเขมรอยู่
เนื้อที่บนเกาะจำนวน 1,200 ไร่ มีโฉนดอยู่ 4 ใบที่ถือโดยเจ้าของเพียงคนเดียว คือชุมพล รังควร หรือ "พี่ติ่ง" ที่คีรีรู้จักสนิทสนมอย่างดี หลังจากขายเกาะกระดาดให้แก่คีรีด้วยราคา 50 ล้านบาท ชุมพลก็ไปซื้อเกาะใหม่แถบนั้นอีก เนื่องจากเป็นผู้ที่รักชีวิตทะเลมาก ๆ
แม้ในความคิดอันป่าเถื่อนที่สุดของคีรีเอง ก็คาดว่าคงไม่เคยคิดมาก่อนว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของเกาะเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยฝูงกวางและปลาชุม
สองปีก่อนคีรีได้ประกาศความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเนรมิตเกาะกระดาดแห่งนี้ภายใต้ชื่อ "กระดาด ไอส์แลนด์ รีสอร์ท" สถานที่พักตากอากาศชายทะเลชั้นสูงที่สมบูรณ์แบบ และเพียบพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น สนามบินบนเกาะ ศูนย์สุขภาพ คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 300 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 1,050 ล้านบาท โครงการนี้ได้สร้างความฮือฮาให้คนฮ่องกงกระหายอยากจะมาชมเกาะนี้มาก เมื่อดารานักแสดงยอดนิยมอย่าง อลัน ทัม และแอนนิต้า มุย ได้จับจองและถือหุ้นไว้บางส่วน
"ผมเคยคิดจะทำอย่างนั้น แต่พอมาถึงกรุงเทพแล้วคิดว่าต้องใช้เวลามากเหลือเกินในการทำธุรกิจหลายชั่วโมง ที่ตรงนั้นมันยังไม่คุ้ม" ความไม่รีบร้อนปรากฏในคำตอบของคีรี ที่ต้องการความแน่ใจเสียก่อนจะทุ่มเทเงินลงทุนนับพันล้าน และเวลาอีกหลายปีสำหรับความโปร่งใสในโครงการนี้
หลังจากการซื้อเกาะกระดาดได้ไม่นานนัก โครงการขนาดยักษ์ภายใต้การนำของคีรีก็เกิดขึ้น 17 มกราคม 2533 มีการแถลงข่าวเปิดตัวขายโครงการ "ธนาซิตี้" ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านและเปิดตัวทายาท เจ้าสัวมงคล ผู้มีบทบาทสำคัญอีกคนคือ "คีรี กาญจนพาสน์" อย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมกับแนะนำทีมงานผู้บริหาร เช่น แอนดี้ ฮวง และสุธรรม ศิริทิพย์สาคร สองขุนพลคู่ใจที่มีประสบการณ์บริหารด้านนี้ร่วมกับคีรีที่ฮ่องกงมาก่อน
งานนี้นักข่าวให้ความสนใจกับคีรี กาญจนพาสน์ มากเสียกว่า ธนาซิตี้เสียอีก ?!
การตกเป็นข่าวของคีรี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้า แต่คีรีก็ไม่สนใจที่จะให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะคีรีบอกว่าเขาไม่ค่อยชอบพูดถึงเรื่องส่วนตัว อารยา ภู่พานิช หรือ "อ้อม" ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายบริหารของวาเคไทย ที่ทำหน้าที่เสมือนเลขาจะต้องบอกปฏิเสธคำขอประมาณ 20 ครั้งต่อสัปดาห์จากหนังสือพิมพ์ธุรกิจทุกเล่ม และเมื่อคีรีให้สัมภาษณ์สักครั้ง เขามักจะให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ภายในเวลา 30 นาที
ถ้าหากคีรีไม่จำกัดเวลาตัวเองอย่างนี้แล้วละก็ เขาคงใช้เวลาตลอดชีวิตในการคุยกับนักข่าวเป็นแน่แท้
คีรีได้ไขกุญแจสู่ประตูความสำเร็จของธนาซิตี้ ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยคอนเซปท์ที่กล้าเล่นกับความใฝ่ฝันของคนกรุงเทพที่อยากมีในสิ่งที่ขาด คือพื้นที่สีเขียวมาก ๆ ที่ทำให้ทัศนียภาพร่มรื่น พร้อมกับดีไซน์บ้านที่ทันสมัยน่าอยู่ และสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่สนามกอล์ฟ คลับเฮ้าส์ ศูนย์การค้าและโรงแรมบนเนื้อที่ 1,500 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มงคลซื้อไว้นานร่วม 20 ปี โดยไม่มีภาระผูกพันการเงินใด ๆ กับแบงก์
ในโครงการ ธนาซิตี้นี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คีรีพลาดไปคือการต้องลดความสูงของเพรสทีจคอนโด มิเนียม 12 ทาวเวอร์ที่จะสร้างสูง 27 ชั้น 6 อาคารและสูง 22 ชั้น 6 อาคารให้เหลือเพียง 16 ชั้นเท่านั้นเอง เนื่องจากอาคารอยู่ในรัศมีทำการบิน ตามพระราชบัญญัติเขตความปลอดภัยทางอากาศของกรมการบินพาณิชย์ ในการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า
แต่การพลาดบางครั้งก็ส่งผลดี คีรีได้ลงทุนเพิ่มอีก 61 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารขึ้นใหม่อีก 2 อาคารพร้อมสระว่ายน้ำและสนามเทนนิส รองรับลูกค้าที่ซื้อส่วนที่เกินชั้น 16 ขึ้นไปและขายได้เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้ารายใหม่
ในความเป็นนักธุรกิจ คีรีไม่เหมือนคนอื่นอีกจุดหนึ่งคือ การแสวงหาสินค้าที่เขาเชื่อว่ามันแตกต่างและดีกว่าคนอื่นมาขาย ถึงแม้มันจะขายได้ยาก เขาก็จะพยายามขายมันต่อไป
ยกตัวอย่างเช่นโครงการบ้านฮาบิแทท 344 ยูนิต ที่ขายคอนเซปท์ของบ้าน 100 ตารางวาจากเดิมที่ทำบ้านหนึ่งไร่ขาย แต่ครั้งนี้เน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สูงสุด กะทัดรัดและภายในบ้านเล่นระดับ ไม่มีหลังคาที่จะทำให้เปลืองเนื้อที่ แต่มีความเขียวขจีของสนามอยู่หลังบ้านเกือบ 50 ตารางวา ที่สามารถแลเห็นได้จากภายในบ้านที่โปร่งใสด้วยบานกระจกหน้าต่างมาก ๆ
บ้านฮาบิแทท หลังหนึ่งอยู่ระหว่าง 5.7-6.2 ล้าน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ครอบครัว YUPPIES คนรุ่นใหม่ช่วงอายุระหว่าง 30-40 ปี ที่มีฐานะเศรษฐกิจและสังคมสูง
แต่กำลังซื้อในตลาดตั้งแต่ต้นปีนี้มา มีสภาพซบเซา ยอดขายไม่น่าพอใจ มีการปรับกลยุทธ์การส่งเสริมการขายใหม่ ด้วยการลดเงินดาวน์ ครั้งแรกลงจาก 10% เหลือ 5% รวมทั้งยืดระยะเวลาเป็น 25 เดือน
"ปัจจุบันเราขายที่ดินก่อน แต่ว่ามีออพชั่นว่า เมื่อครบหนึ่งปี ลูกค้าต้องมาเลือกบ้านแบบใดแบบหนึ่ง เพราะในหนึ่งปี ผมจะสร้างบ้านทั้งหมดให้เห็นเป็นของจริง แต่ถ้าไม่เลือกเราก็ต้องเอาที่ดินคืน" สุธรรม ศิริทิพย์สาคร ผู้บริหารบริษัท วาเคไทย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนายงทำหน้าที่บริหารโครงการต่าง ๆ เล่าให้ฟัง
ที่ดินราคาปัจจุบันตรงที่ธนาซิตี้ ซื้อขายกันด้วยราคาตารางวาละ 3.2 หมื่นบาท ขณะที่ปีที่แล้วราคาตกตารางวาละ 2 หมื่นบาท ซึ่งทำให้คนที่ซื้อบ้านพักอาศัยระดับสูงขนาด 1 ไร่ได้กำไรไปแล้ว
สำหรับคีรีแล้ว ธนาซิตี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่กรุงเทพ "ธนาซิตี้เชียงราย" คือความฝันใหม่ของเขาที่จะเนรมิตเนื้อที่ประมาณ 2 พันไร่ ให้เป็นรีสอร์ทพักตากอากาศ โดยเชื่อมโยงให้สิทธิแก่สมาชิก ธนาซิตี้ที่กรุงเทพ นอกจากนี้ยังสร้างบ้านพักที่อาศัยขายแก่ผู้ต้องการมีบ้านที่สองที่นี่ และโครงการโรงแรมที่คาดว่าจะดำเนินการปี 2535 ซึ่งเป็นที่สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ มูลค่าก่อสร้าง 837 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่ตำบลริมกกและตำบลบ้านดู่จะสร้างเสร็จ
งานไม่เคยหยุด และคีรีก็พยายามเรียนรู้จากอดีต วางแผนสำหรับอนาคต โดยการทำนายจากปัจจุบัน ความสนุกและเหน็ดเหนื่อยอยู่ตรงนี้ คีรีเป็นคนมองการณ์ไกล ขณะที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดให้ใกล้ไว้ก่อน เพราะกลัวตัดสินใจ กลัวปัญหา และกลัวจะพ่ายแพ้ ตรงนี้เองที่ทำให้คนที่ได้รับประโยชน์ คือคีรี กาญจนพาสน์
หนึ่งในแผนการการเงินสำคัญของคีรีคือ โครงการบริษัท ธนายง ขอยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากที่เพิ่มทุนบริษัทเป็น 1,100 ล้านบาท และเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนกว่าที่ธนายงจะได้รับอนุมัติให้ทำการซื้อขายหุ้น TYONG จำนวน 9 ล้านหุ้น แก่ประชาชนทั่วไปได้ตั้งแต่ 1 มีนาคมปีนี้ ในมูลค่าหุ้นละ 133 บาท
คีรีตั้งเป้าหมายของธนายงไว้ว่า "แน่นอนบริษัทนี้ต้องเติบโต ผมต้องขยายตัว ในอนาคตเราอาจจะลงไปในด้าน HEAVY INDUSTRY แต่ตอนนี้ธนายงเป็น PURELY PROPERTY DEVELOPMENT และผมพิสูจน์ว่าผมทำได้ เพราะบริษัท วาเคไทย (โฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงได้เติบโตเป็น 9 เท่าในเวลาสองปี ไม่ใช่การปั่นหุ้น แต่เป็นเพราะกิจการและสินทรัพย์เพิ่มขึ้น"
ในปี 2532 วาเคไทย (โฮลดิ้ง) ที่ฮ่องกง ภายใต้การบริหารของคีรีมีสินทรัพย์รวม 510.5 ล้านเหรียญฮ่องกง มีรายได้ 350.3 ล้านเหรียญ จากเดิมที่มีรายได้เพียง 143.3 ล้านเหรียญและกำไร 52.2 ล้านเหรียญในสองปีที่แล้ว และเป็นที่คาดว่ากำไรในปีนี้จะได้ 132 ล้านเหรียญ เนื่องจากโครงการพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ของบริษัทธนายงในไทย
ก่อนหน้าที่ธนายงจะเข้าตลาดหุ้นได้แนวความคิดของการออกหุ้นวอร์แรนท์ เพื่อที่จะให้ ผู้ถือหุ้นเก่าของวาเคไทยที่ฮ่องกงได้ซื้อหุ้นธนายง ครึ่งราคาจากหุ้นละ 42 เหรียญฮ่องกง เหลือเพียง 21 เหรียญ แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้ เนื่องจากการปฏิเสธของตลาดหุ้นฮ่องกงที่เห็นว่าธนายงขณะนั้น ยังไม่ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จึงห้ามซื้อขายหุ้นวอร์แรนท์ในตลาด เรื่องจึงเป็นอันระงับ และจ่ายเป็นเงินปันผลหุ้นละ 35 เซนต์แทน
ในเรื่องการเงิน คีรีเชื่อในการจ่ายเงินในสิ่งที่ต้องจ่าย แต่ถ้าสิ่งใดไม่ควรเสียแล้วไม่จำเป็นต้องเสีย เขาจะมีความระมัดระวังอย่างมาก คีรีได้เรียนรู้จากพ่อว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่า เพราะว่าเงินร้อยบาทอาจจะเพิ่มเป็นหมื่นเป็นแสนได้
ยกตัวอย่างการยอมจ่ายเงินให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 200 ล้านในมูลค่า 398 ล้านบาท ที่บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาชนะประมูลการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ บนเนื้อที่ 3 ไร่ งานนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้ตึกมาในราคาเพียง 198 ล้านบาทเท่านั้น
คีรีมีแนวคิดที่ฉลาด เขาตระหนักดีว่า ทำเลที่ดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จ แต่ถ้าหากจะโปรโมทให้โครงการ THE EXCHANGE SQUARE ยิ่งใหญ่สมใจนึกแล้ว จำเป็นจะต้องมีแม่เหล็กอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นตัวดึงดูดสำคัญด้วย
มันเป็น BUSINESS DICISION ที่คีรีคิดว่าคุ้มค่าจริง ๆ เพราะคอนเซปท์ของ THE EXCHANGE SQUARE มูลค่าหมื่นล้านนี้ จะต้องเป็นธุรกิจการเงินและการค้าที่ยิ่งใหญ่มีประกอบด้วยออฟฟิศคอนโด มิเนียม 3 แสนตารางเมตร โรงแรมระดับห้าดาวและสามดาวครึ่งอีก 1,500 ห้อง อาคารพาณิชย์อีก 1 แสนตารางเมตร และที่จอดรถ 8,000 คัน
"การบริจาคครั้งนี้แล้วได้สำนักงานใหญ่ของตลาดฯ มาอยู่ในทำเลนี้ ผมคิดว่าจะดีสำหรับโครงการ THE EXCHANGE SQUARE ที่ตั้งอยู่เนื้อที่ 52 ไร่ เวลานี้มีหลายแบงก์และไฟแนนซ์ในไทยหลายแห่งสนใจ ผมอยากจะเห็นโครงการนี้เป็นศูนย์การเงินการลงทุน" นี่คือความฝันอันยิ่งใหญ่ของคีรี!!
ทำเลที่ตั้งของสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นี้เป็นทำเลทองใจกลางเมือง บริเวณชุมชนเทพประทาน ถนนพระรามสี่ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งทางบริษัท สหกรุงเทพพัฒนาของตระกูลกาญจนพาสน์ ได้เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินทั้งสิ้น 60 ไร่ โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี และต่อสัญญาได้อีกสองครั้ง ๆ ละ 10 ปี รวม 50 ปี
ขณะที่คีรีทำงานและทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อีกฟากหนึ่งของเมืองกรุงเทพ อนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้พี่ก็กำลังสร้างโครงการยักษ์ "เมืองทองธานี" บนเนื้อที่ 4 พันไร่ บริเวณถนน แจ้งวัฒนะเช่นกัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดูประหนึ่งปีนเกลียวและแข่งขันกันทำความดีให้เข้าตากรรมการผู้เป็นพ่อ
"คีรีเป็นคนเก่ง ฉลาด และกล้าหาญ เพียงแต่ว่าเราทั้งคู่มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน และขอย้ำว่าความแตกต่างไม่ใช่เรื่องไม่ดี จะเห็นว่าโครงการธนาซิตี้ก็เดินหน้าไปได้ ส่วนเมืองทองธานีก็เดินต่อไปได้ด้วยดี จะไม่มีใครเป็นหัวหอกใครอย่างเด็ดขาด" อนันต์ย้ำถึงจุดหมายหลักหนึ่งเดียวที่ทั้งคู่มีอยู่ก็คือ ทำเพื่อตระกูล กาญจนพาสน์ ภายใต้การกำกับของพ่อ
สำหรับคีรี เรื่องส่วนตัวเช่นนี้เขาเงียบ เมื่อถูกถามมาก ๆ เขาจะตอบสั้น ๆ ว่า "ผมไม่เคยเข้าไป ยุ่งกับเขาเลย เราแบ่งอำนาจความรับผิดชอบกันแล้ว"
เป็นที่ปรากฏเด่นชัดแล้วว่า สิ่งที่คีรีคิดเกี่ยวกับเรื่องที่อนันต์กำลังทำอยู่นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยสำหรับเขาก็ได้ !!
ในบรรดาพี่น้อง 10 คนของคีรี สาครเป็นพี่ชายที่ห่างจากคีรีเพียงปีเดียว สาครเป็นคนเงียบ ๆ ทำอะไรตามสบาย ๆ และสมถะมาก ในแต่ละวันเขาจะขังตัวเองเงียบ ๆ ในออฟฟิศ ดูสัญญาลูกค้า เซ็นเช็ค สั่งงานนิด ๆ หน่อย ๆ ทุกวันนี้เขายังโสดเช่นเดียวกับชัยสิทธิ์ พี่ชายที่ดูแลกิจการศูนย์การค้าเมโทร แต่สาครช่วยอนันต์ดูแลบ้านจัดสรรในบางกอกแลนด์
ชีวิตของเขาเป็นเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับคีรีราวฟ้ากับดิน !!
ชีวิตเป็นเรื่องเปราะบางมาก และความสำเร็จก็เปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ ยิ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตมันเปราะบางมากขึ้นอีก ความน่าตื่นเต้นที่แท้จริงก้าวต่อไปอย่างระมัดระวัง นี่คือสิ่งที่คีรี กาญจนพาสน์ ตระหนักดีในการสร้างปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในอาณาจักรธุรกิจมูลค่านับหมื่น ๆ ล้าน ที่พลาดไม่ได้แม้แต่ ก้าวเดียว !!
|