พนัส สิมะเสถียรนำศิรินทร์จากการปิโตรเลียมมาอยู่ที่กรุงไทย เป็นภาระกิจที่หนักที่สุดของ ศิรินทร์ เพราะเขาต้องเผชิญกับวัฒนธรรมองค์กรที่ล้าหลังมานาน ขณะที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าเขาจะสามารถนำแบงก์ไปสู่การเป็นผู้นำตลาดการเงินสนองนโยบายการบริหารเงินของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความสามารถ ในการทำกำไรที่อยู่ในระดับธนาคารชั้นนำ
ผลประกอบการจากรายงานของธนาคาร ณ สิ้นปี 2533 ปรากฎว่ามียอดกำไรสุทธิหลังจากตัดค่าสำรองหนี้สงสัยจะสูญและภาษีออกไปแล้ว มีจำนวน 1,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจำนวน 510 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 99% ในขณะที่สินทรัพย์มียอดจำนวน 262,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 45,084 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% ยอดเงินฝากจำนวน 221,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,293 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนยอดเงินให้สินเชื่อจำนวน 209,489 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64,053 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 35%
จากยอดกำไรสุทธิดังกล่าวมาจากรายได้ของธนาคารทั้งปีทั้งสิ้น 27,874 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจำนวน 25,562 ล้านบาท และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอีกจำนวน 2,012 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายมียอดรวมกันทั้งปีทั้งสิ้น 24,856 ล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 20,055 ล้านบาท และรายจ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอีกจำนวน 4,801 ล้านบาท เป็นกำไรก่อนหักรายการพิเศษจำนวน 3,018 ล้านบาท เมื่อหักค่าสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,058 ล้านบาท ค่าภาษีอากร 935 ล้านบาท จึงเหลือกำไรสุทธิ 1,025 ล้านบาท
เมื่อผลประกอบการของแบงก์กำลังดีวันดีคืนขึ้นเช่นนี้แล้ว ยังมีความจำเป็นอะไรที่คณะกรรมการกรุงไทยจะต้องดึงเอาคนนอกอย่าง ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ จากรองผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนเธียรชัย ศรีวิจิตร แทนที่จะดึงคนภายในเข้ามาเป็น
"ถ้าดูเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานประจำงวดจริง ๆ แล้ว ก็ถือว่าธนาคารได้เริ่มที่จะพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับระบบจะเห็นว่าต้องปรับปรุงอีกมาก แหล่งข่าวในวงการธนาคารคนหนึ่งให้ข้อสังเกต
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการเติบโตของธนาคารทั้งระบบ ธนาคารกรุงไทยซึ่งมีขนาดสินทรัพย์อยู่ในอันดับสาม (อันดับสินทรัพย์ ณ 31 ธันวาคม 2533) รองจากแบงก์กรุงเทพ ซึ่งมีทรัพย์สินจำนวน 520,601 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมียอดสินทรัพย์รวมเพียง 266,137 ล้านบาท มากกว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นเท่าตัว แต่ทางด้านกำไรปรากฏว่ายังห่างไกลกันมาก
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2533 เช่นกัน ธนาคารกรุงเทพมีกำไร 4,689 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 3,119 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 2,162 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,762 ล้านบาท หรือแม้แต่ธนาคารนครธน ซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์เพียง 15,000 ล้านบาท ยังมีกำไรถึง 151 ล้านบาท
เมื่อเทียบกำไรต่อเงินกองทุนแล้วยังถือว่าสามารถทำกำไรได้มากกว่าธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีความสามารถทำกำไรได้เพียง 8% เท่านั้น ขณะที่กสิกรไทยทำได้ถึง 19% กรุงศรี 18.4% และนครธน 13.4%
ตัวเลขที่ปรากฎออกมาแสดงถึงความสามารถในการบริหารเงินกองทุนของผู้บริหารกรุงไทยว่าอยู่ในระดับไหน และพอจะแข่งขันกับธนาคารอื่น ๆ เขาได้เพียงใดนั้น ระยะยาวแล้วยังเป็นเรื่องน่าห่วง
"ที่สำคัญคือบทบาทของธนาคารกรุงไทยในในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐในการที่จะเป็นผู้นำในตลาดการเงินและเป็นเครื่องมือของรัฐในการเข้าไปสนองนโยบายในการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาระบบการเงินของประเทศ ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีหรือถ้ามีตามที่ได้รับมอบหมายก็ทำอะไรยังไม่เป็น" แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้กุมบทบาทในการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ และก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงไทย โดยผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความไม่พอใจในบทบาทของธนาคารกรุงไทยที่ผ่านมา
"ถ้าจะพูดถึงการบริหารของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยด้วยความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าดีขึ้นกว่าสมัยที่คุณเธียรชัย ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหม่ ๆ แต่ดูเหมือนว่ามันจะดีขึ้นแบบเชื่องช้าเหลือเกิน ผมว่าโชคช่วยมากกว่า อย่างกรณีการแก้ไขปัญหาหนี้ 3 รายใหญ่ก็เป็นช่วงที่ราคาที่ดินมันบูม จึงทำให้ได้เงินคืนมาบ้างบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็มีแต่แผน อย่างกรณีคุณสว่างกับเสธ. พล ก็มีแค่แผน ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยก็เติบโตไปตามภาวะของตลาด
ว่ากันที่จริงมันควรจะทำได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะจะเห็นว่ารายได้จากดอกเบี้ยซึ่งเป็นพวกค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ ทั้งนี้มีเพียง 2,000 กว่าล้านบาทในจำนวนนั้นเป็นเงินที่ได้จากการปริวรรต เสีย 1,000 กว่าล้านบาทคุณต้องเข้าใจว่ารายได้จากปริวรรตของกรุงไทยนี้มาจากผู้แลกเปลี่ยนเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่มาจากความสามารถในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือจากธุรกิจพวกนำเข้าส่งออก หรือค่าธรรมเนียมจากพวกธุรกิจวานิชธนกิจอย่างแบงก์อื่น ๆ ที่เขาทำกันอย่างโครมครามในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา" แหล่งข่าวในกรุงไทยเองให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
จากรายงานการเร่งรัดติดตามหนี้ที่มีปัญหาของธนาคารได้มีการตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2531 เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่า อย่างน้อยต้องให้ได้คืนปีละ 3,000 ล้านบาท สำหรับเจ้าหนี้ 3 รายใหญ่ สุระ, สว่าง, เสธ.พล ซึ่งมีหนี้รวมกันประมาณ 12,000 ล้าน และรายย่อยอีกปีละ 700 ล้าน ซึ่งมีประมาณ 7,000 ล้านบาท
จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานแน่ชัดของธนาคารว่าสามารถเร่งรัดหนี้ดังกล่าวได้จำนวนเท่าใดนอกจากรายงานขายทอดตลาดหลักทรัพย์ค้ำประกันลูกหนี้รายสุระที่หมู่บ้านรัชดาวิลล่า 750 ล้านบาท
นอกนั้นก็มีแค่เพียงข่าวขู่ว่าจะฟ้อง กระทั่งมีการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อลงโฆษณาคำขู่ จะ ฟ้องลูกหนี้รายสุระ จันทร์ศรีชวาลา เป็นที่ครึกโครมเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แล้วก็เงียบหายไป
แหล่งข่าวระดับสูงในกรุงไทยบอกกับผู้จัดการว่า ตัวเลขหนี้ค้างชำระได้รับคืนจากลูกหนี้รายใหญ่สุทธิประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท สำหรับรายย่อยคงยังไม่อาจเรียกคืนได้ เพียงแค่ลูกหนี้ยอมมา ทำสัญญารับสภาพหนี้ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเรียกเก็บได้สม่ำเสมอหรือไม่ประมาณ 700 ล้านบาท เท่านั้นเอง
"รายงานจากฝ่ายตรวจสอบเท่าที่ผมทราบ เรียกคืนทั้งจากขายทอดตลาด และลูกหนี้กลับมาเดินบัญชีใหม่ ขณะนี้ ประมาณ 2,000 ล้านบาท เท่านั้นเอง" แหล่งข่าวระดับสูงบอกกับ "ผู้จัดการ"
เรื่องแก้ปัญหาหนี้สินค้างชำระนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นนโยบายเร่งด่วนจากแบงก์ ชาติ และกระทรวงการคลังที่มอบให้ผู้บริหารกรุงไทยจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ นับแต่ตามใจ ขำภโต พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเธียรชัย ศรีวิจิตร ขึ้นมานั่งเก้าอี้แทนและเป็นปัญหา
เริ่มแรกที่สุด สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้นได้ส่ง เริงชัย มะระ-กานนท์ จากแบงก์ชาติมานั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะแต่ปรากฎว่าเริงชัยไม่สามารถจะอยู่ทำหน้าที่ได้อย่างราบรื่น เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ในการแก้ไขปัญหาตามแนวนโยบายของเขาอย่างจริงจัง เมื่อสมหมายพ้นจาก รมว. คลัง ก็ยิ่งทำให้เขาทำงานลำบากมากขึ้น จนต้องกลับไปแบงก์ชาติตามเดิมอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ปัญหาอยู่ที่ตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในแบงก์ซึ่งอาจทำให้เขาเองมีบทบาทน้อยลง
แต่จนบัดนี้ ดร. ปัญญา ตันติยวรงค์ ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพิเศษ (เร่งรัดหนี้สิน) และก็ได้ดึงเอา อรรณพ พิทักษ์อรรณพ จากผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารมหานคร เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสายพิเศษ จนวันนี้ทั้งสองได้ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ตามที่คาดหมายแล้ว ผลของการเร่งรัดหนี้สินก็ดำเนินอย่างเชื่องช้า
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติติดตามดูอยู่อย่างใกล้ชิด เขาย่อมทราบดีและก็หาทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา พอได้จังหวะคุณอมเรศ ศิลาอ่อน กรรมการคนหนึ่งออกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เลยรีบตั้งศิรินทร์เข้ามาเป็นกรรมการแทน และก็ตั้งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการขึ้นมาในเวลาไล่เรี่ยกัน ความประสงค์ก็น่าจะเป็นว่า ดร. ปัญญา จะขยับขึ้นไปเป็นกรรมการผู้จัดการตามที่คาดกันไว้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าผลงานที่ผ่านมาขอพูดว่าสอบไม่ผ่านก็แล้วกัน" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเรื่องนี้เปิดเผย "ผู้จัดการ" ถึงสถานะของดร. ปัญญา
แนวทางการแก้ไขหนี้ที่ผิดพลาดที่ผ่านมานั้นมีการกล่าวกันว่า ตามสไตล์ของอรรณพ พิทักษ์อรรณพ ที่ถนัดใช้วิธีการนิติศาสตร์มากกว่าวิธีการทางธุรกิจ
อรรณพ จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยเป็นทนายความประจำสำนักงานชมพู อรรถจินดา 3 ปี ก่อนที่จะเข้าทำงานอยู่ฝ่ายกฎหมายของธนาคารกสิกรไทย ไต่เต้าขึ้นมาตามสายงานกฎหมาย ตรวจสอบ ควบคุม สินเชื่อและเร่งรัดหนี้สิน มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่าย จึงได้ลาออกมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ ของกลุ่มโอสถานุเคราะห์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อรรณพไม่ค่อยถนัดจึงอยู่ได้ไม่นาน สุนทร อรุณานนท์ชัย ดึงไปช่วยงานในการสะสางหนี้ที่ธนาคารมหานครสมัยที่สุนทรเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่
เมื่อสุนทรมีเรื่องต้องออกจากมหานครไป มาโนช กาญจนฉายา ทำหน้าที่รักษาการแทนสุนทร เขาจึงตัดสินใจเข้ามาทำงานในธนาคารกรุงไทยตามคำชวนของดร. ปัญญา ตันติยวรงค์
ปัจจุบัน อรรณพ พิทักษ์อรรณพ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ดูแลสายงานด้านกฎหมายและควบคุมสินเชื่อตามที่เขาถนัด ส่วนงานเร่งรัดหนี้สินนั้น เป็นงานพิเศษที่อรรณพได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลจากดร. ปัญญาอย่างใกล้ชิดที่สุด
"เขาเป็นคนค่อนข้างแข็ง ไม่ยอมใครง่าย ๆ มีความเชื่อมั่นตัวเองสูงออกไปทางจะเอาใจตัวเองมากไปหน่อย" คนเก่าคนแก่ในธนาคารกสิกรไทยพูดถึงบุคลิกอรรณพให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ซึ่งสอดคล้องกับที่อรรณพแสดงความคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ" เมื่อสมัยเข้ามารับตำแหน่ง ใหม่ ๆ ในกรุงไทยนับว่าเป็นงานด้านกฎหมาย ควบคุมสินเชื่อและการเร่งรัดหนี้สิน เป็นงานที่เขาถนัด โดยเฉพาะงานพิเศษด้านการเร่งรัดหนี้สินที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำในแบงก์กรุงไทย นับว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก จึงได้ตัดสินใจเข้ามารับงานนี้ และก็เชื่อมั่นว่าจะทำได้ดี ธนาคารได้เปรียบอยู่แล้วในการดำเนินการกับลูกหนี้
ส่วน ดร. ปัญญา นั้น ภาพพจน์ในตัวของเขาดูจะค่อนไปทางอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากกว่าที่จะเป็นนักธุรกิจหรือนายธนาคาร รักชีวิตการสอนหนังสือมากกว่าเป็นนักธุรกิจ ซึ่งวัดความสำเร็จกันที่ตัวเงิน
เขารับงานที่ธนาคารกรุงไทยก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้รับใช้ประเทศชาติ เพราะธนาคารกรุง-ไทยเป็นของรัฐบาล จึงนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตอย่างยิ่ง
"ท่านเป็นที่ปรึกษาที่ดี คิดอะไร ทำอะไรก็เป็นระบบ อธิบายและวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ เป็นหลักเป็นเกณฑ์น่าเชื่อถือ ท่านเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องการอบรมพนักงาน ท่านทำได้ดีในเรื่องนี้" คนที่เคยทำงานกับดร. ปัญญา ที่บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตพูดให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ซึ่งก็ไม่น่าจะเกินจริง เพราะในอีกด้านหนึ่งของบทบาท ดร. ปัญญา ในธนาคารกรุงไทยเกี่ยวกับการฝึกอบรมพนักงานจัดว่าใช้ได้พอสมควร
ดร. ปัญญา เป็นคนทำแผนและประสานกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดหลักสูตร MINI MBA เพื่อให้ฝึกอบรมพนักงานธนาคารกรุงไทยเป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่าย รองผู้จัดการฝ่าย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย หัวหน้าส่วนและผู้จัดการสาขาต่างๆ ก็ผ่านหลักสูตรนี้มาแล้วเกือบ ทุกคน
นอกจากนี้ ดร. ปัญญา ยังจัดให้มีโครงการบรรยายพิเศษเป็นประจำทุกเดือน โดยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามาเป็นวิทยากร เช่น เรื่องการสร้างมนุษยสัมพันธ์ การสร้างบุคลิกภาพ กระทั่งเรื่องมารยาท ในการรับโทรศัพท์ ซึ่งก็มีพนักงานให้ความสนใจเข้าฟังในแต่ละครั้งไม่น้อยทีเดียว
นั่นเป็นบทบาทที่ค่อนข้างออกมาดีในด้านการพัฒนาบุคคล แต่ในด้านความสามารถในเชิงบริหารแล้ว ยังมีคนให้ความเห็นว่า ดร. ปัญญา คงจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อีกนานพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของธนาคารที่หมักหมมมานานนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาหลักกฎหมาย หลักวิชาการเข้ามาทำได้ แต่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในเชิงธุรกิจในการแก้ปัญหา เจรจาต่อรองกับลูกหนี้ หรือย่างที่เริงชัยเคยเสนอไว้ แทนที่จะเป็นการ เร่งรัดหนี้สิน ก็ออกมาเป็นแนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างนี้เป็นต้น
แนวคิดดังกล่าวนั้น ยังหาไม่พบในตัวดร. ปัญญา และอรรณพ การแก้ไขปัญหาหนี้ขณะนี้จึงมีแต่แผนคิดแต่ว่าหลักทรัพย์คุ้มหนี้ เพราะขณะนี้ราคาที่ดินมันเพิ่มขึ้น ก็เลยรอว่าเมื่อไหร่ลูกหนี้จะขายที่ดินได้และนำเงินมาชำระหนี้
ฉะนั้น งานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของธนาคารกรุงไทยไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือรายเล็กคงจะต้องเป็นปัญหาที่ท้าทายศิรินทร์พอสมควร
และคนที่แต่งตั้งศิรินทร์เข้ามาก็คงตั้งความหวังในตัวเขาไม่น้อยทีเดียวที่จะคลี่คลายปัญหานี้ในเชิงของนักบริหารมืออาชีพ
เนื่องจากศิรินทร์เป็นนักบริหารการเงินที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงคนหนึ่งในวงการธุรกิจไทย เพราะฉะนั้นแนวคิดในการที่จะแก้ปัญหากรุงไทยก็คงจะออกมาในสไตล์ของนักธุรกิจการเงินมากกว่านักกฎหมายหรือนักวิชาการ
"ผมไม่รู้ ผมตอบไม่ได้หรอกว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าผมเพิ่งเข้ามานั่งทำงานได้เพียง 19 วัน ตอนนี้นั่งศึกษางานเพียงอย่างเดียว รู้แต่ว่ามีปัญหานี้อยู่ แต่ยังไม่คิดว่าจะทำอย่างไร" ศิรินทร์กล่าวความ ในใจกับ "ผู้จัดการ" หลังจากเข้ามานั่งทำงานได้ 19 วัน
แต่ถึงเขาจะไม่พูด ถ้าศึกษาจากแนวคิดและสไตล์การทำงานของศิรินทร์มาแต่อดีต ก็คงพอจะ มองออกว่าวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินของเขานั้นจะออกมาในรูปใด
คนใกล้ชิดศิรินทร์เล่าให้ฟังว่ามีรายการหนี้อยู่รายหนึ่งที่ศิรินทร์จำเป็นจะต้องเข้าไปแก้ไข ศิรินทร์เข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายเพื่อให้ยอมรับแผนการแก้ไขของเขา เมื่อเจ้าหนี้ทุกรายรับหลักการเรียบร้อย เขาก็ใช้ความเป็นคนมีสายสัมพันธ์อย่างกว้างเข้ามาระดมการช่วยเหลืองานนั้นก็จบลงด้วยดี
มันอาจมองไม่เห็นถึงความสามารถในการเจรจาได้อย่างชัดเจน แต่ในแง่ของการใช้ความเชื่อถือที่เขาได้รับจากสังคมธุรกิจอย่างกว้างขวางมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแล้ว จะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นทีเดียว
เมื่อสมัยที่เขาเป็นรองผู้ว่าการ ปตท. เคยประสบปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะว่า กู้เงินเยนเข้ามามาก ศิรินทร์วิเคราะห์สถานการณ์แล้วคงปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปไม่ได้ จึงต้องรีบทำแผนแก้ไขโดยทำรีไฟแนนซ์ กระจายเงินกู้ออกไปหลายสกุลมากขึ้น แต่เรื่องนี้จะต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง
การเจรจาระหว่างศิรินทร์กับกระทรวงการคลังเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะท่าทีของกระทรวงการคลังในตอนแรกจะไม่เอาด้วยกับแผนของเขา ศิรินทร์ต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้กระทรวงการคลังเห็นด้วย จนท้ายที่สุดเขาก็สำเร็จ เป็นเรื่องเล่ามาถึงปัจจุบันว่า ถ้าศิรินทร์ยอมถอยในวันนั้นก็คงจะต้อง บอบช้ำเหมือนอย่างที่บริษัทฯ ประสบอยู่เวลานี้
เรื่องนี้นอกจากจะทำให้มองเห็นถึงความเร็วต่อสถานการณ์ของศิรินทร์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเขา ในการเจรจาต่อรองและมีบารมีพอที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับ
แต่ถึงอย่างไรศิรินทร์ก็ได้เรียนรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กรุงไทยในสไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างเริงชัย ที่เคยเสนอไว้ และก็ควรจะได้ทราบถึงเหตุแห่งความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับเริงชัยด้วย
แนวทางในการพัฒนาหนี้สินของเริงชัยนั้น ออกมาในเชิงการพัฒนาหนี้มากกว่าการเร่งรัดหนี้สิน เขาเสนอแก้ไขปัญหาให้แก่กรุงไทยและก็ใช้กรุงไทยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเงินในส่วนที่มีปัญหาด้วยคือทรัสต์ 4 เมษา
คนในแบงก์ชาติเห็นว่าลำพังแบงก์ชาติเองนั้นคงไม่มีเครื่องมือพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ (การฟื้นฟูทรัสต์ 4 เมษาและธนาคารสยาม) จึงต้องใช้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ โดยแบงก์ชาติจะให้การสนับสนุนทั้งในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนผันเงื่อนไขต่าง ๆ ผ่านธนาคารกรุงไทยอีกต่อหนึ่ง เช่นการผ่อนผันให้ตัดค่าสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้น้อยกว่าที่ควรจะสำรองจริง
พวกเขามีความเชื่อว่าวิธีการนี้ นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่ระบบสถาบันการเงินและธนาคารกรุงไทยเองแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างฐานทางธุรกิจให้แก่กรุงไทยอีกด้วยทางหนึ่ง
เพราะถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ผลตอบแทนทั้งหลายในเชิงธุรกิจก็จะไหลเข้าสู่กรุงไทยในที่สุด
แบงก์ชาติให้กรุงไทยรับทรัสต์ 4 เมษา โดยการถือหุ้นใหญ่ ในด้านการระดมเงินฝากจากประชาชนก็ให้กรุงไทยเป็นผู้อาวัลตั๋วทุกใบ ซึ่งจะทำให้ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากขึ้น
นอกจากนั้นกรุงไทยเองก็ได้ส่งคนเข้าควบคุมและบริหารสถาบันการเงินเหล่านั้นเองอย่างใกล้ชิด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นคงไม่เกิดขึ้น ส่วนการดำเนินธุรกิจปล่อยกู้รายใหม่ก็อยู่ในทำนองเดียวกัน กรุงไทยจะเป็นคนจัดสรรวงเงินไว้ให้แก่บริษัทเพื่อให้หารายได้
เฉพาะในด้านการแก้ปัญหาหนี้เริงชัยได้ตั้งบริษัทกรุงไทยแลนด์แอนด์เฮ้าส์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของกรุงไทยอีกต่อหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่เข้าไปพัฒนาที่ดินของลูกหนี้ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องบริหารโดยนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพ โดยธนาคารจะเป็นผู้อัดฉีดเงินกู้ก้อนใหม่ลงไปผ่านบริษัท เมื่อโครงการนั้น ๆ เสร็จธนาคารก็จะมีรายได้คืนมาทั้งต้น ทั้งดอกเบี้ย ทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่
"เมื่อการแก้ปัญหาแต่ละรายบรรลุผลหมด เงินจำนวนมหาศาลก็จะไหลคืนสู่แบงก์หมด ทั้งเงินต้น ทั้งดอกเบี้ย จะเดินบัญชีของมันไปเรื่อย เป็นหนี้ที่ดีขึ้นมา ไม่ต้องถูกสั่งให้สำรองอีกต่อไป" แหล่งข่าวที่เคยร่วมงานกับเริงชัยในแบงก์กรุงไทยพูดถึงผลที่จะได้รับจากแผนการแก้ปัญหาหนี้ของเริงชัย
แต่บัดนี้ปัญหาเหล่านั้นได้ตกมาอยู่กับศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่น่าจะมีความแตกต่างกับ ดร. ปัญญากับอรรณพมากโขทีเดียว
นอกจากปัญหาหนี้สินที่แก้กันไม่สำเร็จมายาวนานแล้ว ยังมีเรื่องรายได้และกำไรซึ่งยังไม่สมดุลย์ กับความใหญ่ของธนาคาร ที่ศิรินทร์จะต้องเข้าเร่งขยายฐานธุรกิจออกไปให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข่าวในวงการธนาคารคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ธนาคารกรุงไทยยังคงหากินอยู่กับการรับ ฝากเงินมาแล้ว ปล่อยกู้เพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่มีธุรกิจที่ธนาคารสามารถทำได้อีกตั้งมากมาย ลักษณะอย่างนี้คนในวงการธนาคารเรียกมันว่า "โรงรับจำนำ" กล่าวคือตกดอกไปวัน ๆ มีเงินมากก็ตกดอกได้มาก
แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวว่า ตัวเลขในงบกำไรขาดทุนมันฟ้องตัวมันเองอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ในยอดรายได้ 27,000 ล้านบาทนั้น เป็นรายได้จากดอกเบี้ยถึง 25,000 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง ในจำนวนนั้นได้มาจากการแลกเปลี่ยนเงินตราตามบูทแลกเปลี่ยนเสีย 1,000 ล้านบาท ฉะนั้นจึงเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมจริงเพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง น้อยกว่าบริษัทการเงินบางแห่งซึ่งมีทุนไม่กี่ล้านบาท
"ว่ากันที่จริงกำไรจากการปล่อยกู้ก็ควรจะได้มากกว่านี้ ถ้าทำกันจริง ๆ คุณดูตัวเลขสินเชื่อต่อเงินฝากสิ 94% เท่านั้นเอง ทั้งที่น่าจะทำได้ถึง 98-99% เสียด้วยซ้ำ หรือรายได้ต่อเงินกองทุนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก นั่นแสดงว่าความสามารถในการหากำไรยังมือไม่ถึง" แหล่งข่าวคนเดียวกันให้ความเห็นต่องบกำไรขาดทุนของแบงก์กรุงไทย
อย่างไรก็ตาม เธียรชัย ศรีวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ พูดถึงกรณีเดียวกันนี้ว่าสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก 90% ก็เป็นตัวเลขที่น่าพอใจแล้วสำหรับเขา เพราะที่ผ่านมาธนาคารมีบทเรียนที่ควรจดจำอย่างยิ่งในด้านคุณภาพของสินเชื่อต่ำ ฉะนั้น การปล่อยสินเชื่อใหม่จะต้องระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมมีน้อยนั้น เธียรชัยให้ความเห็นว่าเป็นเพราะธนาคารไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการเลย นับตั้งแต่เช็คทุกใบ โอนเงินทุกรายการทำให้ฟรีหมด อย่างไรก็ตามขณะนี้ธนาคารได้เริ่มคิดค่าบริการบัตรเอทีเอ็มแล้วรายละ 25 บาท และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ได้ออกบริการบัตรเครดิตซึ่งจะทำให้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ในปีต่อไปเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่แหล่งข่าวที่ติดตามการดำเนินกิจการของกรุงไทยมาตลอดบอกว่า สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับเงินฝากนั้น ไม่ใช่จะเอาเหตุผลว่าต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพสินเชื่อมาก เพราะแต่ละแบงก์ต่างก็ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้กันทุกแห่ง แต่มันแสดงถึงการไม่มีความสามารถในการขยายฐานสินเชื่อ ซึ่งเกิดจากการวางแผนไม่เป็น มองทิศทางธุรกิจไม่ออก และก็ความล่าช้าในการพัฒนาระบบการให้สินเชื่อแต่ละประเภทต้องผ่านขั้นตอนมากมาย
"ผมทราบมาว่ายอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 27,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นสินเชื่อธนวัฎที่หากินกับเงินเดือนข้าราชการ 10,000 กว่าล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระด้วย ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้ผมก็ไม่ทราบว่ามีคุณภาพแค่ไหน เพราะฉะนั้นมันก็เหลือยอดสินเชื่อในเชิงธุรกิจจริง ๆ เพียง 15,000 ล้านบาทเป็นอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการหาลูกค้าสินเชื่อในระดับรายละพันล้านบาทอย่างแบงก์อื่นเขาหรอก 15,000 ล้านบาท ปล่อยให้ไม่กี่รายก็หมดแล้ว ผมยกตัวอย่างเอาแค่สินเชื่อสำหรับซื้อบ้านซึ่งมันบูมมากในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ใคร ๆ เขาก็โกยกำไรไปคนละมาก ๆ เพราะเขามองทิศทางธุรกิจออกจึงวางแผนรับมือไว้พร้อม
แต่สำหรับกรุงไทยซึ่งใช้ชื่อสินเชื่อประเภทนี้ว่า "สินเชื่อวายุภักษ์" อยากจะรู้เหมือนกันว่าทำกันได้เท่าไหร่ ก็เพียงแค่ชื่อก็มีปัญหาแล้ว
ผมว่าหลายคนไม่รู้ว่าชื่ออย่างนี้นี่เป็นสินเชื่อสำหรับกู้ซื้อบ้าน นี่ไม่ต้องพูดถึงการเตรียมแผนไว้รอรับมือกับการบูมของธุรกิจประเภทนี้ แล้วการขอสินเชื่อซื้อบ้านที่แบงก์กรุงไทยเดือนหนึ่งยังไม่รู้ผลเลยว่าจะให้กู้หรือเปล่า ในขณะที่เดินเข้าไปยื่นเรื่อง ๆ ไว้ที่บริษัท ไทยสมุทรประกันภัย 7 วันก็รู้เรื่องแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมาแข่งกับแบงก์ด้วยกันได้อย่างไร" แหล่งข่าวคนเดียวกันวิเคราะห์และยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเผ็ดมัน
เพราะฉะนั้นเรื่องในเชิงธุรกิจของกรุงไทยคงจะต้องปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะสินเชื่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะตามมาด้วยสินเชื่อธุรกิจนำเข้าส่งออก หรือเทรดไฟแนนซ์และการปริวรรตในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่คนตั้งศิรินทร์เข้ามาคาดหวังในตัวเขาอย่างมาก
สิ้นปี 2535 เขาต้องบริหารแบงก์ไปให้ถึงยอดกำไรสุทธิ 1,754 ล้านบาท
ทิศทางธุรกิจของกรุงไทยช่วงจากนี้ไป แบงก์ชาติคาดหวัง และพยายามที่จะให้ผู้บริหารกรุงไทยดำเนินการต่อมานั้นคือการเข้าไปมีบทบาทเป็นผู้นำการจัดการด้านการเงินในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด่วนไฟฟ้า โทรศัพท์ การบิน ปิโตรเคมี และอีกมากมาย ซึ่งกำลังถูกเร่งพัฒนาอย่างมากในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตก็ยังจะมีเกิดขึ้นอีกมากในฐานะที่กรุงไทยเป็นแบงก์พาณิชย์ของรัฐก็ควรจะได้งาน เหล่านี้เข้ามาเพราะเป็นทั้งรายได้ให้แก่ธนาคาร ทั้งในรูปค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมาแทบจะเรียกได้ว่าธนาคารกรุงไทยไม่เคยมีบทบาทเป็นผู้นำในเรื่องเหล่านี้เลย
แม้แต่เรื่องดอกเบี้ยในตลาดการเงิน กรุงไทยก็ยังไม่สามารถเป็นผู้นำตลาดได้ทั้งที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่พอ
ยิ่งเวลานี้แบงก์ชาติกำลังดำเนินนโยบายผ่อนคลายการควบคุมด้านการปริวรรตและการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ กรุงไทยสามารถเป็นพาหนะในการสนองนโยบายการเงินของรัฐได้ในเรื่องนี้เช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
"เราทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีคน แต่ก็ได้เข้าไปร่วมกับเขาอยู่หลายโครงการ เช่นโครงการทางด่วนระยะที่ 2 โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์" ผู้ใหญ่ในกรุงไทยเองเปิดเผยข้อจำกัดที่มีอยู่ให้ฟัง
แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวว่าฝ่ายวาณิชธนกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับเหล่านี้ได้ ขาดคนที่มีประสบการณ์และบารมีพอที่จะดึงงานเหล่านี้เข้ามาได้
"อย่าไปโทษฐานะรัตน์เลย ผมต่อให้คุณเธียรชัยก็ไม่มีปัญญาพอที่จะดึงงานเหล่านี้มาให้แบงก์ เพราะท่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ท่านไม่ออกสังคม ท่านบอกว่าท่านไม่คบกับพ่อค้านักธุรกิจเพราะพวกนี้เอาเปรียบคน ทุกวันนี้ก็เลยได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะมีแบงก์อื่นโทรมาชวนให้ปล่อยกู้ร่วมบ้างเท่านั้นเอง" ผู้ใหญ่คนเดียวกันพูดถึงฝ่ายวาณิชธนกิจ
ฝ่ายวาณิชธนกิจเป็นงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อสมัยปรับปรุงโครงสร้างเมื่อปี 2531 ในปีต่อมาก็ได้ ฐานะรัตน์ ภูมิพาณิชย์พงษ์ เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่าย
ฐานะรัตน์ อายุ 34 ปี เป็นคนสงขลา เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดรุณพิทยา จบปริญญาตรีทางด้านการเงินจาก UNIVERSITY OF SANFRANCISCO และ MBA จาก GOLDENGATE UNVERSITY เคยทำงานเป็น BRANCH OPERATIONWS MANAGER ที่ CROCKER NATIONA BANK และ ASSITANT VICE PRESIDENT ฝ่าย CORPORATE BANKING ของ SUMITOMO BANK OF CALIFORNIA
เธอเป็นคนที่มีความตั้งใจจริงในการทำงานและเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นสูง ถ้าเธอไปอยู่แบงก์อื่น ที่มีพี่เลี้ยงดี ๆ อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพ หรือกสิกรไทย เธออาจเรียนรู้อะไรได้มากมาย และมีสายสัมพันธ์กับวงการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีตำแหน่งไม่สูงเท่าผู้จัดการฝ่ายที่แบงก์กรุงไทย
แต่ในทางกลับกัน ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งผ่านงานทางด้านนี้มามาก ไม่ว่าจะเป็นที่โนมูระซีเคียวริตี้ FIRST NATIONAL CITY DEVELOPMENT FINANCE COMPANY (ในปัจจุบันคือซิตี้แบงก์) หรือธนาคารเอเซีย และที่สำคัญเคยบริหารเงินให้ ปตท เป็นหมื่น ๆ ล้านมาแล้วถึง 10 ปี ฐานะรัตน์คงจะมีโอกาสทำงานหนักมากขึ้น เพราะทำงานกับคนที่รู้งานกว่า หากเธอยังอยู่แบงก์กรุงไทยต่อไป
คนในวงการเชื่อกันว่าศิรินทร์จะเป็นคนเปิดบทบาทกรุงไทยเข้าไปสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจวาณิช-ธนกิจได้อย่างจริงจัง
เครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ศิรินทร์มีอยู่ในวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นวงการธนาคาร สถาบันการเงิน กลุ่มผู้ลงทุนขนาดใหญ่ และที่สำคัญอย่างยิ่งเขาเป็นนักบริหารการเงินที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในวงการรัฐวิสาหกิจและรัฐบาล
ศิรินทร์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงแต่ว่าความเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐจะ มีความได้เปรียบกว่าแบงก์อื่นพอสมควร
อย่างไรก็ตามนอกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจของแบงก์ แนวคิดและวิธีการทำงานของผู้บริหารระดับสูงของแบงก์จะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมหรืออุปสรรคโดยตรงต่อการนำธุรกิจให้เจริญรุดหน้าอย่าง ที่ควรจะเป็นแล้ว
สิ่งที่จะศิรินทร์จะต้องทำการบ้านอย่างหนักนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรภายในธนาคาร การจัดระบบการทำงานให้ทันสมัยและมีความคล่องตัวมากขึ้น และการพัฒนาบุคลากรให้เป็นคนที่มีศักยภาพสูงขึ้นในระดับที่พร้อมจะรองรับการขยายตัวของธุรกิจของแบงก์ได้
วัฒนธรรมองค์กรของกรุงไทยก็คงไม่แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ กล่าวคือจะทำงานอะไรได้ก็ต้องมีคำสั่ง มีกฎมีระเบียบ อ้างอิงจึงจะทำได้เช่นกับราชการทั้ง ๆ ที่การแยกตัวรัฐวิสาหกิจแยกตัวออกมาจากราชการนั้น ก็เพราะมีความประสงค์ที่อยากจะให้ทำงานกันแบบเอกชน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้เพราะว่าในตอนเริ่มต้นนั้น คนที่ส่วนใหญ่ในองค์กรตั้งแต่ระดับบริหารลงมาถึงพนักงานต่างก็เป็นคนที่โอนมาจากระบบราชการเดิมนั้นเอง
ส่วนวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปในเวลาต่อมาก็เกิดจากอิทธิพลในบุคลิกภาพของผู้นำสูงสุดที่ ถูกดึงเข้ามาบริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าการ ผู้อำนวยการ หรือกรรมการผู้จัดการใหญ่
"คุณเคยสังเกตไหมว่าบุคลิกของผู้นำองค์กร จะมีอิทธิพลต่อคนในองค์กรอย่างมาก คนในกสิกรไทย ก็จะเหมือบัญชา ล่ำซำ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดการจา การคิดและการทำงาน คนในไทยพาณิชย์ก็จะเหมือธารินทร์ นิมานเหมินท์ คนในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็จะเหมือนกับเกษม จาติกวณิช" นักพฤติกรรมศาสตร์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตขึ้นมา
ในระยะเวลา 15 ปีของแบงก์กรุงไทยที่ผ่านมาและแบ่งพฤติกรรมของคนภายในออกเป็นสองกลุ่ม สองลักษณะ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้คนในลักษณะที่สามอยู่ในแบงก์ไม่ได้ต้องลาออกไปหางานใหม่ทำมามากต่อมากแล้ว
10 ปีแรกเป็นช่วงที่ตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถ้าไม่เป็นการชื่นชมกันมากจนเกินไปจะว่าไปแล้วตามใจเป็นคนเก่งเอามาก ๆ ทีเดียว สมกับที่เขาสอบได้ที่หนึ่งของประเทศ เขาเป็นคนที่คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และทำงานเร็ว แต่เป็นลักษณะเก่งคนเดียว
"ตามใจเก่งจนคนในแบงก์กลายเป็นคนโง่ไปหมด" แหล่งข่าวที่เคยทำงานใกล้ชิดตามใจกล่าว
พูดกันว่าเมื่อตามใจเข้ามาใหม่ ๆ ก็พยายามเรียกใช้คนทุกคน แต่พอใครตามเขาไม่ทันก็จะถูกต่อว่าและไม่เรียกใช้อีกเลย เพราะฉะนั้นในยุคของตามใจนั้นจะมีคนทำงานอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
เรียกว่าคนในแบงก์อีกนับหมื่นคนจะไม่มีใครรู้เลยว่าตามใจคิดอะไรกำลังจะทำอะไร งานจะถูกจ่ายลงมาตามสายงานเรื่อย ๆ พอทำเสร็จก็จะถูกส่งขึ้นไปตามสายงานขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นกัน เช้าขึ้นมาก็มาทำงานอันเก่า เป็นอย่างนี้ติดต่อกันนานนับ 10 ปี โดยไม่มีโอกาสได้รู้เรื่องของคนอื่นเลยว่าเขาพัฒนาไปถึงขั้นไหนกันแล้ว
10 ปี ในยุคของตามใจทำให้คนเหล่านั้นเกิดลักษณะไม่ยุ่งกับใคร ไม่สนใจว่างานจะลงมาจากไหนและจะถูกส่งขึ้นไปอย่างไรจบลงตรงไหน รู้แต่ว่าตนเองทำอะไรแล้วก็ทำตามหน้าที่ก็เพียงพอ
และสุดท้ายก็จะเป็นคนแคระแกรนทางปัญญา เฉื่อยชา ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะหาความรู้ ประสบการณ์ใส่ตัว ไม่มีเส้น ไม่มีสายไม่มีพรรคไม่มีพวก 10 ปีของตามใจในด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคลของธนาคารถือว่าเป็นการหยุดชะงักสิ้นเชิง
หลังจากตามใจพ้นจากเก้าอี้ไป สภาพที่ถูกกดดันก็ได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น เริ่มมีการรวมกลุ่ม รวมพรรคพวก เรียกร้องวิ่งเต้นกันอย่างจ้าระหวั่น เพราะพวกเขาถือว่าเธียรชัยที่ขึ้นมาแทนนั้นเป็นลูกหม้อกรุงไทย ย่อมพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน
แต่เธียรชัยก็อ่อนหลักการมากเกินไปไม่มีอะไรที่ขอเธียรชัยแล้วไม่ได้ ในยุคเริ่มต้นของเขา ความหละหลวมและได้แต่ฟังคนนั้นมาฟ้องคนนี้มาขออยู่ทุกวันยิ่งทำให้เขาหละหลวมมากขึ้น แล้วสุดท้ายก็เกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า คนที่ใกล้ชิดเธียรชัยก็ได้กันทุกคน คนที่ไม่ยอมเข้าไปหาก็หมดโอกาสไป
แต่สิ่งที่เหลือกันก็คือลักษณะของพฤติกรรมของคนในองค์กรทั้งสองลักษณะนั้นทำให้คนดี ๆ ไม่อาจจะอยู่กับแบงก์ได้ต่อไป สุดท้ายก็ลาอกไปหางานใหม่ทำดีกว่า
แต่ก็ยังดีเมื่อ ดร. ปัญญา เข้ามารับผิดชอบสายงานสนับสนุนยังได้มีการจัดหลักสูตร MINI MBA ขึ้นมาปลุกให้คนตื่นจากการหลับใหลไปได้ระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่อาจแก้ปัญหาและรองรับงานที่จะขยายออกไปในระยะยาวได้ เพราะสิ่งที่ปัญญาทำนั้นเป็นแต่เพียงรูปแบบเท่านั้นเอง ส่วนจะเกิดผลต่อการพัฒนาได้แค่ไหนยังไม่มีใครประเมินในเรื่องนี้
จุดอ่อนของกรุงไทยในรอบ 15 ปี ในเรื่องของคนถ้าจะให้มองเห็นชัดต้องนำมาเปรียบเทียบกับการพัฒนาคนในไทยพาณิชย์ในช่วงเวลาเดียวกันช่วงที่ตามใจเข้ามาแบงก์กรุงไทยกับช่วงที่ประจิต ยศ-สุนทร ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และดึงเอาธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คนรุ่นใหม่ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายการธนาคารในแบงก์ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์มีแผนในการพัฒนาคนอย่างมีขั้นมีตอน มีความต่อเนื่อง มีการวัดผลและติดตามผลที่ได้รับจากการฝึกอบรมอยู่ตลอดเวลา เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การรับสมัครพนักงาน จากเดิมจะ มีคนที่จบมาจากจุฬาเต็มแบงก์ ก็กระจายรับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาบ้างเพื่อให้เกิดความ หลากหลายทางความคิด และเบ้าหลอมทางบุคลิกภาพ
เปลี่ยนจากการคัดเลือกคนโดยดูคะแนนเป็นสำคัญ มาเน้นการสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบถึงทัศนคติ ต่อเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติในเชิงธุรกิจ
ในช่วงต่อมาเขาจะอบรมมุ่งไปที่การให้ความรู้ในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิค ค่อย ๆ ยกระดับการอบรมสูงขึ้นเรื่อย จนถึงการขั้นอบรมคนให้เป็นวิทยากรให้เป็นพี่เลี้ยงในระบบงาน อบรมการสร้างสรรค์ความคิดทางธุรกิจและสังคมธุรกิจ อบรมเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้นำแล้วก็อบรมเป็นผู้นำ
จนปัจจุบันพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ทุกคนจะซึมซับได้ดีว่าเขาจะต้องมีอะไรบ้างจึงจะได้นั่งในตำแหน่งนั้น ๆ ที่เขาหมายปอง เพราะฉะนั้นคนที่ยังไม่ได้รับการโปรโมทก็จะเกิดการยอมรับ คนที่ได้โดยดุษฎีทั้ง ๆ ผู้บังคับบัญชาบางคนจะอายุน้อยกว่า นอกจากนี้ไทยพาณิชย์ยังเตรียมคนไว้พร้อมที่จะเรียกออกมาใช้งานได้ทันเป็น 3 เท่าของหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะที่กรุงไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแม้กระทั่งแนวคิดวิธีรับคน !!
ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่ายประมาณ 30 กว่าคน ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ความรู้ระดับปริญญาตรี แต่ละคนทำงานกับธนาคารมากกว่าคนละ 10 ปีขึ้นไป ทุกคนเคยผ่านการอบรมหลักสูตร MINI MBA ที่แบงก์ร่วมกันจัดขึ้นกับธรรมศาสตร์ มีน้อยคนที่มีวุฒิปริญญาโท หรือผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษอื่น ๆ
มีรองผู้จัดการฝ่ายประมาณ 150 คน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย หัวหน้าส่วนและผู้จัดการสาขาประมาณ 800 คน พื้นฐานประสบการณ์และความรู้ไม่ต่างกับกลุ่มแรกที่ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่าย คนเหล่านี้อยู่ไปนาน ๆ เมื่อคนแก่เกษียณก็มีความแน่นอนว่าตนเองจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ตัวนั้นแทนโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขมากไปกว่าความอาวุโส
ข้อมูลอย่างนี้มันก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่าทำไมความสามารถในการสร้างผลตอบแทนของแบงก์กรุงไทยจึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นๆ
ฉะนั้น การจัดระบบและการพัฒนาคนของแบงก์กรุงไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายศิรินทร์ไม่น้อยไปกว่าเรื่องการหารายได้และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
พูดถึงระบบการทำงานในแบงก์กรุงไทยนั้นว่ากันว่าพูดกันขึ้นมาเมื่อไหร่ก็มีเรื่องจะต้องฮากันเมื่อนั้น
"ผมต้องนั่งทำงานถึงสองทุ่มสามทุ่มเพื่อเซ็นงานให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จนี่ก็ต้องหอบกลับไปเซ็นต่อที่บ้าน" เธียรชัยพูดถึงความยุ่งในภาระหน้าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเขาให้คนที่ไปพบฟังอยู่เสมอ ๆ
แต่ถ้านำเรื่องนี้ไปเล่าให้หมู่นักบริหารมืออาชีพฟัง ต้องหัวเราะกันท้องขดท้องแข็งทีเดียว เพราะศิวะพร ทรรทรานนท์ กรรมการอำนวยการทิสโก้ ซึ่งกำไรปีหนึ่งนับ 1,000 ล้านบาท เขาอยู่ที่ทำงานถึง บ่ายแก่ ๆ ก็สามารถปลีกตัวไปทำอย่างอื่นได้
บางคนก็พลอยจะไม่เชื่อคนเล่าว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคนในแบงก์กรุงไทยก็มีออกตั้งมากมาย แล้วทำไมไม่ช่วยกันทำงานบ้าง
ทั้งนี้ก็เพราะว่าปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากความพิการของระบบการบริหารงานภายในแบงก์
"ผมนี่บางทีก็ต้องหอบกลับไปทำที่บ้านเหมือนกัน เพราะอยากให้มันเสร็จเร็ว ๆ คนที่รอใช้เงินกู้อยู่ก็จะได้ใช้" อิสระ คล้ายมาก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กรุงไทย ซึ่งดูแลสายงานด้านสินเชื่อหลายสายบอกกับ "ผู้จัดการ"
ต่างกันก็ตรงที่อิสระนั้นพูดในมุมของคนเบื่อหน่ายตัวเอง ที่ต้องมาทำงานอย่างนี้ เพราะระบบงานในแบงก์กรุงไทย ไม่เคยได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจังสักที เมื่อ 25 ปีที่แล้วเป็นอย่าง ไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น อาจจะเปลี่ยนจากเครื่องพิมพ์ดีด มาเป็นเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น
มีเรื่องที่ไม่น่าเชื่อที่อิสระเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเอกสารคำขอสินเชื่อที่ส่งมาถึงเขานั้นแต่ละชุดมี ลายเซ็นมาแล้วถึง 60 ลายเซ็น นั่นหมายความว่าเอกสารชุดดังกล่าวนั้นได้ผ่านมือคนมาแล้วถึง 60 มือ และแต่ละคนก็เซ็นไม่ได้แตกต่างกัน วนเวียนอยู่คำว่า "เสนอเพื่อพิจารณาอนุมัติ" หรือไม่ก็ "เห็นควรอนุมัติตามที่เสนอ" อยู่อย่างนี้เต็มไปหมดจนไม่มีที่จะให้เขาเซ็นอีกแล้ว
แม้คนอื่นจะขำท้องขดท้องแข็ง แต่สำหรับศิรินทร์ จนถึงวันนี้แล้วก็คงจะขำไม่ออกเหมือนกัน
ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ตามประวัติแล้วเรียกว่าเป็นนักจัดระบบตัวยงคนหนึ่งทีเดียวในวงการธุรกิจไทย นอกจาองค์กรต่างประเทศที่เขาไปทำแล้ว ล้วนแต่เป็นงานที่บุกเบิกธุรกิจทั้งสิ้น
อย่างที่ธนาคารเอเซียก็ถือได้ว่าศิรินทร์เข้าไปบุกเบิกมาตั้งแต่การฟื้นฟูธนาคารในยุคแรก ๆ เขาเป็นคนที่เข้าจัดระบบงานเกี่ยวกับสินเชื่อและด้านการธนาคารต่างประเทศไว้มากทีเดียว ในขณะตอนนั้นเขาเพิ่งจะอายุเริ่มต้น 30 ปีเท่านั้นเอง
สำหรับที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท. นั้น ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการคนแรกดึงเขาเข้าไปร่วมงานตั้งแต่ยุคบุกเบิกเช่นกัน
ปตท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยให้รวมเอารัฐวิสาหกิจเดิมที่มีอยู่ 2 แห่งเข้ามาอยู่ด้วยกัน คือองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหม กับองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสังกัดกระทรวงอุตสหกรรมเข้ามาอยู่ด้วยกันในชื่อใหม่ที่ตั้งขึ้นมา มีพนักงานที่มาจากสองหน่วยงานรวมกันแล้วประมาณ 2,000 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีวัฒนธรรมที่ไม่แตกต่างจากราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ แต่ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างก็มีสังกัดเดิมของตนเองมาก่อน จึงได้เกิดความรู้สึกที่แปลกแยกแทรกซ้อนขึ้นมาอีก ยิ่งทำให้วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วกลับแย่หนักขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิดหรือวิธีการทำงานหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีเลย
ฉะนั้น คนหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ อย่างศิรินทร์ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่จากทองฉัตรนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการเข้าไปแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำมัน สภาพคล่องทางการเงินและการติดตามเร่งหนี้สินเก่า ๆ ที่ติดตามมาจากสององค์กรเก่ามากมายแล้ว เขายังเป็นคนเริ่มต้นวางระบบการเงิน บัญชี การตรวจสอบควบคุมและยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานทางด้านการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยการบริหารงานทั่วไป การจัดหาและการพัสดุ กฎหมาย และการบริหารงานบุคคล
ศิรินทร์เป็นรองผู้ว่าการดูแลงานด้านบัญชีและการเงินกับด้านบริหารเป็นเวลาติดต่อกันถึง 7 ปีเต็ม
"ปตท. เพิ่งจะมีอายุ 10 ปี เพิ่งผ่านยุคบุกเบิกก่อร่างสร้างตัว แก้ไขปัญหาน้ำมัน วางแผนด้านการซื้อและการขายน้ำมันสำหรับอนาคต จัดสร้างองค์กรภายในให้เข็มแข็ง จัดระบบงานให้เกิดความคล่องตัว ปรับปรุงแก้ไขภาพพจน์ขององค์กร จนปัจจุบัน ปตท. ได้กลายเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือเป็นอย่างดีทั้งในวงการผู้ค้าน้ำมันระหว่างประเทศ วงการธนาคารและวงการธุรกิจอื่น ๆ สามารถแข่งขันในตลาดการค้าน้ำมันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี" ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่า ปตท. เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความสำเร็จของ ปตท. บนภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้บุกเบิกสร้างสรรค์องค์กรนี้ขึ้นมาได้สำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจในเวลาเพียง 10 ปี
ซึ่งในผลงานอันน่าภาคภูมิใจของเขานั้น ได้มีศิรินทร์เป็นตัวจักรสำคัญอยู่ด้วยคนหนึ่ง และ ก็เป็นคนที่ทองฉัตรมักจะพูดถึงด้วยความชื่นชม
จนปัจจุบัน ปตท. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีเครดิตเรทติ้งอยู่ในระดับที่ว่าจะระดมเงินที่ไหน เท่าไหร่ ก็มีคนพร้อมที่จะให้เสมอ มีขนาดของสินทรัพย์รวมกันประมาณ 40,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ต่อปีประมาณ 2,000 ล้านบาท
แต่แน่นอนจะนำ ปตท. ไปเปรียบกับกรุงไทยทุกอย่างคงไม่ได้ เพราะกรุงไทยก็ย่อมมีปัญหาเฉพาะตัวของมันที่แตกต่างออกไปบ้าง อย่างน้อยกรุงไทยก็ทำธุรกิจด้านค้าเงินไม่ใช่ค้าน้ำมัน มีสินทรัพย์มากกว่าหลายเท่าตัว มีพนักงานนับหมื่นคนมีคู่แข่งในตลาดมากกว่า นอกจากทำเนียบรัฐบาลแล้วคนอื่นจะเข้ามาแตะต้องได้ลำบาก
ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขั้นมาโดยมีพระราชบัญญัติรองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งทำให้มีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง ในขณะที่กรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจโดยผลของกฎหมาย ที่กำหนดให้องค์กรที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปถือหุ้นให้อยู่ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับ
หรืออย่างกรณีเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้บริหารกองทุน ประกัน-สังคมซึ่งในอนาคตจะเป็นกองทุนที่ใหญ่มหึมาทีเดียว
"เรื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังคับผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ไหนก็มี อยู่ที่ตัวเราด้วยว่าจะทำให้เกิดความคล่องตัวที่สุดภายใต้กติกานั้นอย่างไร" ศิรินทร์ให้ความเห็นถึงกฎระเบียบที่ครอบกรุงไทย
ส่วนปัญหาคณะกรรมการนั้นศิรินทร์ไม่ออกความเห็น แต่จากการเปิดเผยของศิรินทร์ที่ว่าคนที่ชวนเขาเข้ามาในกรุงไทยนั้นคือปลัดพนัส สิมะเสถียร น่าจะเป็น "นัย" ที่พอบอกได้ว่าเขาไม่คิดว่าจะมีปัญหามากในการบริหารคณะกรรมการบริหารธนาคาร
แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จากที่กระทรวงการคลังเคยถือหุ้นใหญ่ถึง 90% แต่ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปเสียแล้ว
อันเนื่องมากจากหนี้ที่ปัญหาต้องสำรองหนี้สงสัยจะสูญมาก ทำให้กองทุนของธนาคารมีปัญหา แบงก์ชาติผ่อนผันให้สำรองได้ แต่กรุงไทยต้องแก้ปัญหาหนี้ให้ได้และจะต้องเพิ่มทุน แต่เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่มีเงินที่จะซื้อหุ้นใหม่
ท้ายที่สุดแบงก์ชาติก็จัดการให้เพิ่มทุนสำเร็จจนได้ โดยเอากองทุนฟื้นฟูเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย 38% ในส่วนที่กระทรวงการคลังอาจซื้อได้ไป เมื่อกระทรวงการคลังไม่มีเงินซื้อสัดส่วนที่เคยถืออยู่ถึง 90% ก็ลดลงเหลือเพียง 43% และก็ให้ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ กับศิริ การเจริญดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารได้สำเร็จ และก็ได้ร่วมกันผลักดันนำธนาคารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2532
มีการเพิ่มทุนอีกครั้งก่อนที่จะนำเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในตลาดในขณะที่กระทรวงการคลังไม่มีเงินที่จะซื้อหุ้นในส่วนของตัวเอง จึงทำให้สัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลดลงเหลือเพียง 30%
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เพิ่มสัดส่วนของตัวเองขึ้นอีกเป็น 39% และได้เพิ่มขึ้นเป็น 43% จากการเพิ่มทุนครั้งสุดท้าย
ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 6,945 ล้านบาท นอกจากกองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลังสำนักงานทรัพย์ฯ เป็นผู้ถือใหญ่รวมกันกว่า 80% แล้วอีก 20% เป็นของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมทั้งผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติรวมกันกว่า 18,000 ราย
เมื่อแบงก์ชาติเข้ามาถือหุ้นอยู่ด้วยถึง 43% และก็ส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยถึงสองคน เพราะฉะนั้นในเชิงนโยบายก็คงจะต้องเปลี่ยนไปอย่างมากทีเดียว ตามแนวความคิดของฝ่ายคนหนุ่มจากแบงก์ชาติ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเกิดความเห็นไม่ลงลอยกันอย่างมากระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง
ยกตัวอย่างนับแต่สมัยที่เริงชัย มะระกานนท์ ถูกส่งเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่พร้อมกับนโยบายมากมายที่รับมาปฏิบัติ แต่ปรากฏว่าระยะเวลาสองปีที่เริงชัยนั่งในตำแหน่งดังกล่าว แทนจะเรียก ได้ว่าทำอะไรไม่ได้เลย ข่าวออกมาทำนองว่าเริงชัยถูกตีกันจากเธียรชัยและคณะกรรมการธนาคารกับแนวคิดของเริงชัย
การนำทรัสต์ในโครงการ 4 เมษา ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกที่เกี่ยวพันกันมานานของแบงก์ชาติ เข้าไปให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแลและการรวมเอาธนาคารสยาม ซึ่งเป็นปัญหาทำนองเดียวกันของแบงก์ชาติ ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่คนกระทรวงการคลังเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านภายในธนาคารอย่างสูงอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และกระแสข่าวจากแหล่งข่าวในแบงก์ชาติจึงออกมาว่า จะมีการล้างบางแบงก์กรุงไทยปลดกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยจะส่งคนจากข้างนอกเข้ามาตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็น เอกกมล คีรีวัฒน์ บันเทิง ตันติวิทย์, ทนง ลำไย และแม้แต่ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์
ความจริงก็มีการเสนอชื่อบุคคลตามที่มีข่าวนั้นต่อพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการฯ จริง แต่พนัสไม่เอาด้วยเรื่องก็เลยเงียบไป รอการปะทุขึ้นมาใหม่อยู่อย่างนี้ตั้งแต่ปี 2531 เรื่อยมา
"ผู้จัดการ" เพิ่งจะทราบในตอนหลังนี่เองว่า สำหรับศิรินทร์นั้น ปลัดพนัสเป็นคนทาบทามและก็แต่งตั้งไปเรียบร้อย
นักบริหารมืออาชีพอย่าง ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ จึงต้องตกร่องปล่องชิ้นที่กรุงไทยเผชิญหน้ากับงานที่ "หิน" ที่สุดในชีวิตของเขาในฐานะคนที่จะต้องเข้ามาแบกรับภาระกิจต่อจากเธียรชัยที่ต้องเกษียณในปลายปีนี้
|