Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2534
ทางออกที่ตีบตันของสหธนาคาร             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 


   
search resources

ธนาคารสหธนาคาร
ปิยะบุตร ชลวิจารณ์
บรรเจิด ชลวิจารณ์
Banking




ปิยะบุตรและบรรเจิด ชลวิจารณ์ 2 พ่อลูกกำลังปวดหัวอยู่กับการหาทางออกให้แบงก์สามารถ เพิ่มทุนอีก 8 ล้านหุ้น แต่ฝ่ายพันธมิตรเอบีซีซึ่งถือหุ้นอยู่ 41% คัดค้าน เนื่องจาก "ชลวิจารณ์" ทั้งสองยังไม่สามารถเจรจาตกลงยุติปัญหาหุ้นจำนวน 500,000 หุ้น ของเอบีซีที่ถูกอายัดและฟ้องร้องกันในศาลได้ สงครามเทคโอเวอร์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นยังดำเนินต่อไปโดยมีสถานการณ์ของธุรกิจธนาคารเป็นฉาก

27 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นวันที่บรรเจิดและปิยะบุตร ชลวิจารณ์ 2 พ่อลูกที่กุมบังเหียนสหธนาคารต้องผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อความพยายามให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นออกเสียงสนับสนุนผ่านมติวาระการเพิ่มทุน ต้องล้มเหลวลงแม้ว่าจะครองเสียงข้างมากก็ตาม

การเพิ่มทุนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำเงินทุนไปใช้หนึ่ง-รีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศที่กู้มาในอัตราดอกเบี้ย 9% จำนวน 200 ล้านบาท สอง-ลงทุนสินทรัพย์ถาวรของสาขาที่เปิดใหม่จำนวน 5 แห่งประมาณ 150 ล้าน และสาม-นำไปปล่อยสินเชื่อปกติ

บรรเจิดและพันธมิตร ปัจจุบันถือครองหุ้นส่วนข้างมากของสหธนาคารสูงถึง 51% ขณะที่ฝ่าย คัดค้านเขาคืออาหรับแบงก์กิ้งคอร์ปหรือเอบีซีและพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยเศรณี เพ็ญชาติและกรพจน์ อัศวินวิจิตรที่มีสัดส่วนถือครองหุ้นอยู่ประมาณ 41% (ไม่รวมอีก 5% ที่อยู่ในระหว่างการถูกอายัดเป็นคดีฟ้องร้องทางแพ่งว่ามีสิทธิถือครองหุ้นส่วนนี้หรือไม่) ส่วนที่เหลือเป็นสัดส่วนถือครองของกระทรวงการคลัง 7% และบุคคลภายนอกรายย่อยอีกประมาณเกือบ 1%

เมื่อฝ่ายเอบีซีและพันธมิตรคัดค้านออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มทุน ฝ่ายบรรเจิดก็ไม่สามารถจะเพิ่มทุนได้ เพราะตามกฎหมายแพ่งพาณิชย์กำหนดไว้ต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงผู้ถือหุ้น

ความล้มเหลวในการเพิ่มทุนครั้งนี้ มันเหมือนบูมเบอแรงที่ย้อนกลับมาเล่นงานฝ่ายบรรเจิด เพราะเมื่อกลางปี 2532 เขาได้คัดค้านการถือสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของฝ่ายเอบีซีจำนวน 500,000 หุ้นหรือประมาณ 25% ของจำนวนหุ้นที่เพิ่มทั้งหมด 2 ล้านหุ้น

ฝ่ายเอบีซีที่ถือครองหุ้นสหธนาคารอยู่ในรูปบุคคลธรรมดา 6 นาย และนิติบุคคล 5 บริษัท (ดู ตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีประกอบ) ในเวลานั้นถือครองหุ้นอยู่ประมาณ 25% พวกเขาได้ยกมือสนับสนุนการเพิ่มทุนของธนาคารจาก 600 ล้านเป็น 800 ล้านบาท ตามที่ฝ่ายบรรเจิดเสนอความเห็นชอบต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อมีนาคม 2532

นั่นหมายความว่าพวกเขาเชื่อว่ามีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ตามสัดส่วนจำนวน 500,000 หุ้น

แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งในประเด็นวาระการเลือกตั้งกรรมการธนาคารที่หมดตามวาระซึ่งฝ่ายบรรเจิดมีอยู่ 3 นายคือตัวเขา ปิยะบุตรลูกชาย และประธาน ดวงรัตน์ ต้องการเสียงสนับสนุนของผู้ถือหุ้นให้พวกเขากลับเข้ามาใหม่ก็พลิกล็อค เมื่อผู้ถือหุ้นฝ่ายเอบีซีและพันธมิตร ซึ่งเวลานั้นถือหุ้นส่วนข้างมากอยู่ 47% วิ่งเต้นให้วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ตัวแทนกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 6% ขับฝ่ายบรรเจิดออกจากการเป็นกรรมการ

"ทางฝ่ายเรากับฝ่ายเอบีซีในที่ประชุมกรรมการธนาคารก็ได้ตกลงกันก่อนแล้วจะออกเสียงโหวตให้คนทั้งสามกลับเข้ามาใหม่ เดชะบุญที่หลักฐานหนังสือมอบฉันทะของฝ่ายคลัง ที่ให้แก่วิโรจน์ไม่เรียบร้อย เพราะไม่มีลายเซ็นต์กำกับถูกต้องทางฝ่ายเราซึ่งเวลานั้นถืออยู่ประมาณ 46% ก็เลยรอดตัว" ประธาน ดวงรัตน์ พันธมิตรของบรรเจิด ที่เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารนานเกือบ 15 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างแค้นเคืองในสายตาที่เขาเห็นว่าฝ่ายพันธมิตรเอบีซีหักหลังพวกเขา

เหตุการณ์ตรงประเด็นนี้คือสาเหตุที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจของคนอย่างบรรเจิด ที่มองว่าการหักหลังกันเช่นนี้ เป็นความพยายามของฝ่ายเอบีซีและพันธมิตร ที่ต้องการกำจัดเขาและพันธมิตรออกไปจากอำนาจการจัดการธนาคาร ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและสร้างมากับมือ

กลวิธีการตอบโต้ "สงครามเทคโอเวอร์" ที่ร้อนแรงที่สุดกรณีหนึ่งในสังคมธุรกิจแบงก์พาณิชย์ไทยระลอกที่สอง ต่อจากธนาคารแหลมทองระหว่างสุระ จันทร์ศรีชวาลา กับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ก็เกิดขึ้น

ฝ่ายบรรเจิดและพันธมิตรเร่งซื้อหุ้นจากรายย่อยในตลาดเป็นการใหญ่เพื่อหมายจะถือสัดส่วนหุ้นข้างมากให้ได้

"ราคาหุ้นสหธนาคารในตลาดจากระดับ 2-300 บาง พุ่งแรงไปเรื่อย ๆ ถึง 1,000 บาท" ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นเล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2532 ให้ฟัง

หุ้นเพิ่มทุน 2 ล้านหุ้นที่เข้ามาใหม่เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าทองคำทันที เมื่อทั้งฝ่ายบรรเจิดและพันธมิตรของเอบีซีคือกรพจน์ และเศรณีต่างแย่งชิงกันซื้อหุ้นสหธนาคารจากนักลงทุนในตลาดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

"เราถึงเป้าหมายสัดส่วน 47% เมื่อไรเราก็จะหยุดตรงนั้น" เศรณี เพ็ญชาติพูดถึงเป้าหมายการแย่งชิงถือครองสัดส่วนหุ้นของฝ่ายเขาและพันธมิตร

หลังจากนั้นก็ได้ทำข้อตกลงผูกมัดที่จะเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนกันอย่างเหนียวแน่นที่มีผลทางกฎหมาย เพื่อปิดช่องการเข้าแยกสลายของฝ่ายบรรเจิด เนื่องจากทางฝ่ายเศรณีและกรพจน์ทราบบทเรียนกรณีศึกษานี้ดีจากศึกแย่งชิงหุ้นในแบงก์แหลมทองระหว่างสุระกับสมบูรณ์

ที่ท้ายที่สุดสมบูรณ์ต้องพ่ายแพ้ออกไปเมื่อพันธมิตรกลุ่มปาล์มโก้แห่ง มาเลเซียที่สมบูรณ์ชวนเข้ามาลงทุน ถือชิงหุ้นในแหลมทอง ตัดสินใจขายหุ้นส่วนที่ถือครองอยู่ให้ฝ่ายสุระ จนเป็นเหตุให้ตัวเองกลายเป็นผู้ถือหุ้นน้อยกว่าสุระและต้องออกจากแบงก์ไป

แต่บรรเจิดเป็นคนที่มีบารมี เขารู้ดีว่าเทคนิคการปกป้องตัวเองจากความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่จะสั่นคลอน เลื่อยขาเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร อย่างเปิดเผยต้องใช้วิธีการทุกรูปแบบ ที่เป็นไปได้ตามกฎหมาย

ปิยะบุตรในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ยื่นร้องต่อตลาดหลักทรัพย์ในฐานะนายทะเบียน หุ้นให้ระงับสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 500,000 หุ้นของฝ่ายเอบีซี ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่เพิ่มทุนทั้งหมด 2 ล้านหุ้น โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคืออมรชัย กสิยพงศ์ได้ทักท้วงสิทธิการ ซื้อหุ้นจำนวนนี้ของเอบีซี เนื่องจากสงสัยว่าจะถือหุ้นเกิน 5% สำหรับนิติบุคคลแต่ละราย "เราตรวจสอบจากเอกสารรายงานประจำปีของเอบีซีปี 2531 ที่ระบุว่ามีบริษัทอะไรบ้างที่เป็นบริษัทลูก ของเขาที่เข้ามาลงทุนในสหธนาคาร" ประธาน ดวงรัตน์พูดถึงแหล่งที่มาของหลักฐานส่วนหนึ่งที่อมรชัยทราบและขึ้นมาทักท้วง

อมรชัย เป็นทนายความคนหนึ่ง ที่เคยสังกัดอยู่กับสำนักงานประธานมานานหลายปี แม้เวลานี้ เขาจะออกมาทำธุรกิจว่าความส่วนตัว แต่ก็ยังเป็นทนายความที่มีธุรกิจว่าความให้ลูกค้าของประธานอยู่

เมื่อปิยะบุตรร้องให้ระงับสิทธิซื้อหุ้นของเอบีซี ความขัดแย้งในประเด็นข้อกฎหมายก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อฝ่ายบรรเจิดและพันธมิตรได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งว่า เอบีซี ไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนนี้ ศาลจึงสั่งให้อายัดหุ้น 500,000 หุ้น ของเอบีซีไว้ก่อนเพื่อพิจารณาตัดสินว่าเอบีซีมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนนี้หรือไม่

การเล่นเกมแรงนี้ของบรรเจิด เท่ากับสาดน้ำมันเข้ากองไฟให้กับฝ่ายเอบีซีและพันธมิตร

ดังนั้น เมื่อฝ่ายบรรเจิดและพันธมิตรซึ่งเป็นผู้บริหารส่วนข้างมากในแบงก์ต้องการเพิ่มทุนด้วยเหตุผลความจำเป็นของธุรกิจธนาคารเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านพ้นมา จึงถูกฝ่ายเอบีซีและพันธมิตร ขัดขวาง

"เรารู้ดีว่าฝ่ายเขากำลังใช้เทคนิคเพิ่มทุนเพื่อกวาดเราออกไปให้พ้น เพราะถ้าเขาเพิ่มทุนสำเร็จ สัดส่วนหุ้นของฝ่ายเราก็ลดน้อยลงไป เพราะทางฝ่ายเอบีซีสิทธิการซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนของเขาไม่สามารถทำได้ มันยังอยู่ที่ศาล" เศรณีกล่าวถึงไต๋ของฝ่ายบรรเจิด ในการเพิ่มทุน

เป้าหมายการเพิ่มทุนใน 2 ปีข้างหน้า มีทั้งหมด 8 ล้านหุ้น ในปีนี้ปิยะบุตรวางแผนที่จะเพิ่มทุน 2 ครั้ง ครั้งแรก 2 ล้านหุ้น ครั้งสองอีก 3 ล้านหุ้นรวมเป็น 5 ล้านหุ้น

นั่นหมายความว่า ถ้าทางฝ่ายบรรเจิดสามารถเพิ่มทุน 5 ล้านหุ้น ได้สำเร็จในสิ้นปีนี้ ฝ่ายเอบีซีและพันธมิตรจะเหลือสัดส่วนถือครองหุ้นเพียงประมาณ 26% เท่านั้น

การมองไต๋ของเศรณีเช่นนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ปิยะบุตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงสถานการณ์ถือครองหุ้นของฝ่ายเขาว่า "เวลานี้ทางฝ่ายเอบีซีและพันธมิตรถือครองสัดส่วนหุ้นอยู่ 41% ทางฝ่ายผมถือ 51%

หุ้นของฝ่ายเอบีซีและพันธมิตร 41% ที่ปิยะบุตร กล่าวถึงยังไม่รวมหุ้นส่วนที่ถูกอายัดที่ศาล กว่าจะรู้คำพิพากษาของศาลก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี

"เรารอได้เสมอ และจะขัดขวางการเพิ่มทุนของฝ่ายเขาตลอดไปจนกว่าเขาจะยอมรับเงื่อนไข ของเรา นั่นคือต้องยกเลิกคดีที่ฟ้องเรา และขอหุ้น 500,000 หุ้นของเอบีซีคืนมา" เศรณีกล่าวยืนยันถึง จุดยืนของฝ่ายเอบีซีและพันธมิตรต่อประเด็นการเจรจาประนีประนอมนอกศาลของฝ่ายบรรเจิด

การเจรจานอกศาลได้ดำเนินมาตลอดนับตั้งแต่หลังกลางปีที่แล้วเป็นต้นมา เมื่อประภาส จักกะพาก เข้ามาแทนบรรเจิดในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารตามการร้องขอของประมวล สภาวสุรัฐมนตรีคลังในขณะนั้น

ประภาสเสนอให้ฝ่ายบรรเจิดดำเนินการเจรจาเพื่อประนีประนอมกันนอกศาล แต่ดูเหมือนข้อเสนอในการเจรจาอยู่บนกรอบของประเด็นที่ต่างกัน

ปิยะบุตร ซึ่งเป็นคนดำเนินการด้วยตนเองกล่าวยอมรับว่า ประเด็นข้อเสนอของเขาอยู่ที่การเปิดช่องทางให้มีการเพิ่มทุน ส่วนเรื่องคดีและหุ้นที่อายัดไม่ควรนำมาเจรจากันเพราะพ้นอำนาจหน้าที่ของแบงก์ไปแล้ว ประเด็นเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล

ในขณะที่ทางฝ่ายเอบีซีและพันธมิตรต้องการฝ่ายบรรเจิดยกเลิกคดีที่ศาลและขอหุ้นที่อายัดคืนก่อน แล้วค่อยมาเจรจากันในประเด็นการเพิ่มทุน

แม้จะความแตกต่างในประเด็นการเจรจากัน ปิยะบุตรก็ไม่ลดละที่จะเปิดช่องทางด้วยข้อเสนอเพื่อให้มีการเพิ่มทุนให้ได้ "ผมคิดทุกวันเพื่อหาทางออกตรงนี้ให้ได้" ปิยะบุตรกล่าว

ปิยะบุตรเปิดข้อเสนอผ่านกรพจน์ ซึ่งปัจจุบันเขายังคงดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการรองผู้จัดการของแบงก์ดูแลสายงานธุรการ วางแผนและงบประมาณ "กรพจน์ต่อตรงถึง เอบีซีได้อยู่แล้ว เขาสามารถนำข้อเสนอของเราไปแจ้งให้เอบีซีทราบ" ปิยะบุตรเล่าถึงวิธีการสื่อสารของเขากับเอบีซี

ปิยะบุตรเปิดช่องด้วยข้อเสนอให้เอบีซีสามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ตามสิทธิแต่หุ้นที่ซื้อต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน จนกว่าศาลจะพิพากษาคดีออกมา

ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบสนองที่เย็นชาจากฝ่ายเอบีซี "ไม่มีประโยชน์อะไร เขาจะเสนอมากี่ข้อก็ไม่มีความหมาย ตราบใดข้อเสนอประเด็นยกเลิกคดีและขอหุ้นคืนของฝ่ายเรายังไม่ได้รับการตอบสนองด้วยดีจากเขา" เศรณีกล่าวถึงเหตุผลที่ฝ่ายเอบีซีเย็นชาต่อข้อเสนอของฝ่ายบรรเจิด ทางออกของความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้นสองฝ่ายในแบงก์แห่งนี้ ดูจะมองไม่เห็นเงาของความสำเร็จในการประนีประนอมเลย

"ผมเชื่อว่าการประนีประนอมจะจบลงด้วยหนทางเดียว คือการเปิดสงครามราคาเพื่อซื้อหุ้นคืนซึ่งกันและกัน" ประธาน ดวงรัตน์พันธมิตรของบรรเจิดแสดงความเชื่อมั่นในหนทางออกนี้

ความเชื่อมั่นนี้ สอดคล้องกับปิยะบุตรที่กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าการเสนอซื้อหุ้นจาก ฝ่ายเอบีซีเป็นทางออกสุดท้าย ที่ทางฝ่ายเขาจำเป็นต้องทำเพื่อยุติประเด็นปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด

"ผมรายงานให้แบงก์ชาติทราบแล้วว่าเราต้องการแก้ปัญหากันเอง และจะรีบทำให้เสร็จในกลางปีนี้" ปิยะบุตรพูดถึงเงื่อนเวลาของการเกิดสงครามประมูลราคา แย่งชิงหุ้นสหธนาคารของทั้งสองฝ่าย

เหตุที่ปิยะบุตรต้องการแก้ปัญหาให้เสร็จภายในกลางปีนี้นั้น เพราะแบงก์ได้ซื้อเวลาของ การทำผิดกฎหมายธนาคารพาณิชย์มานานเพียงพอแล้ว

ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสหธนาคารอยู่ในภาวะที่ลดลงอย่างน่ากังวลยิ่ง นับตั้งแต่กันยาปีที่แล้วเป็นต้นมา กล่าวคือเริ่มลดลงจาก 8.08% ในเดือน มิถุนายนเหลือ 7.42% ในเดือนกันยายนและตอนสิ้นปีลดลงเหลือเพียง 6.66% "เราคาดว่าสิ้นมิถุนาปีนี้สัดส่วนจะลดลงเหลือ 5.5% เท่านั้น" ปิยะบุตรกล่าวถึงเสถียรภาพ เงินกองทุนของธนาคารตามกฎหมายแบงก์พาณิชย์มาตรา 15 ระบุว่าแบงก์ต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่น้อยกว่า 8%

หมายความว่าเวลานี้แบงก์กำลังทำผิดกฎหมายอยู่ทางเลือกมีอยู่ 2 ทางที่แบงก์ชาติมีอำนาจดำเนินการได้ หนึ่ง-ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับดำเนินการปรับธนาคารตามเหตุกรณี หรือสอง-แบงก์ชาติสั่งงดจ่ายเงินปันผลจนกว่าธนาคารจะสามารถเพิ่มทุนได้

ปัญหาอยู่ที่แบงก์จะยอมถูกแบงก์ชาติดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่

ถ้าไม่ ทางออกก็มีอยู่ 2 ทางคือหนึ่ง-งดจ่ายเงินปันผลหุ้น เอากำไรที่จะจ่ายปันผลเข้าไปไว้ในเงินกองทุนหรือไม่ก็สอง-เปิดศึกราคาแย่งชิงหุ้นของกันและกัน

การงดจ่ายเงินปันผลเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายบรรเจิดไม่กล้าพอที่จะทำ "หุ้นของเขาที่อยู่ในแบงก์เป็นแหล่งที่มารายได้สำคัญที่สุดของเขา ดังนั้นผมเชื่อว่าเขาไม่กล้างดจ่ายปันผลแน่ แต่ทางฝ่ายผมสบายมาก เงินปันผลหุ้นละ 12 บาทมันเล็กน้อยมาก เรามีธุรกิจส่วนตัวของเรากันเองมากมาย ทางฝ่ายเอบีซีไม่ต้องพูดถึง เงินปันผลแค่นี้ไม่มีความหมาย" เศรณีพูดถึงทางออกที่ฝ่ายบรรเจิดไม่กล้าทำซึ่งตรงกับท่าทีของปิยะบุตรที่กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาเห็นว่าวิธีการนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเดือดร้อนมาก

"ผมว่าจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย สหธนาคารจริง ๆ มีน้อยมาก ๆ จนไม่มีความหมายอะไรเพราะถูกกว้านซื้อไปหมดตอนกลางปี 2532" นักวิเคราะห์หุ้นแบงก์ของบริษัทวิจัยชื่อดังเล่าให้ฟัง

เศรณีมีธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง เขาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ยูเอ็มไอ ผู้ผลิตและค้ากระเบื้องเซรามิกรายใหญ่ เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการโครงการชำนาญ บิสสิเนทเซนเตอร์ในนามบริษัท ยูเอ็มไอ พร้อพเพอตี้ และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเงินทุนชาติไพบูลย์

กรพจน์ อัศวินวิจิตรก็เช่นกัน เขามีธุรกิจของครอบครัวนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ค้าข้าวในนามกลุ่มแสงทองค้าข้าว ประกันชีวิตในนามบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพลเป็นต้น

ขณะที่บรรเจิดไม่มีธุรกิจสำคัญอะไร เลยนอกจากแบงก์อย่างเดียว

แล้วการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ 76 เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา ปิยะบุตรก็ได้แถลงว่าทางแบงก์ชาติอาศัยอำนาจตามกฎหมายแบงก์พาณิชย์มาตรา 15 ทวิสั่งให้งดจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจนกว่า แบงก์จะเพิ่มทุนได้ตามปกติ

เงินที่จะจ่ายปันผลจำนวน 45 ล้านจึงถูกกันเข้าไปในเงินกองทุนธนาคารไป

มองในแง่นี้ก็มีหนทางเดียวที่เหลืออยู่เพื่อให้มีการเพิ่มทุนคือการเปิดศึกราคาแย่งชิงหุ้นของกันแหละกัน

ใครจะใจถึงและเงินถึงกว่ากัน "เราเคยท้าให้เขาเขียนราคาใส่ซองประมูลแข่งกันกับเราเลย ใครราคาสูงกว่าเอาหุ้นทั้งหมดไป แต่ทางเขาก็ไม่กล้า" เศรณีพูดถึงความใจถึงและความพร้อมของฝ่ายเขา

ฝ่ายบรรเจิดในฐานะผู้รับผิดชอบความเป็นไปของแบงก์ได้มาถึงทางตันในการประนีประนอมแล้ว เขากำลังตกอยู่ในที่นั่งที่จะต้องตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป เพื่อคลี่คลายแรงกดดันที่พุ่งเข้าหา 2 ประการด้วยกันคือหนึ่ง-การหมิ่นเหม่ต่อการถูกปรับทำให้เสียภาพพจน์ และสอง-ธุรกิจของธนาคารที่ถดถอยลงท่ามกลางฐานะเงินกองทุนที่อ่อนแอลงทุกวัน

แรงกดดันนี้เป็นสิ่งที่ เขาในฐานะประธานกรรมการและปิยะบุตรลูกชาย พร้อมลูกเขย (รังสิน) ลูกสาว (ลาลีวรรณ) ที่ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงตระหนักดีถึงความรับผิดชอบที่จะต้องมีต่อลูกค้าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้น

แผนงานระยะยาว 5 ปี ของธนาคารได้ถูกวางไว้แล้วอย่างสวยหรูบนสมมติฐานความมีสันติภาพในกลุ่มกรรมการธนาคาร "เราจะไปให้ถึงสินทรัพย์ 100,000 ล้านใน 5 ปีข้างหน้า จากเวลานี้เราอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้าน" สุทธาลักษณ์ ปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและงบประมาณของแบงก์เล่าให้ฟังถึงเป้าหมายการเจริญเติบโตของแบงก์ในแผนเฉพาะปี 2534 แบงก์วางเป้าหมายการขยายตัวสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นสินเชื่อประมาณ 25% เหตุผลมี 2 ประการ คือหนึ่ง-เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากแบงก์ที่มีสินทรัพย์ขนาดกลาง ถ้าสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเพียง 0.1% โอกาสที่จะดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมายากลำบากมาก เพราะมีข้อเสียเปรียบคู่แข่งขันที่ใหญ่กว่าหลายอย่าง สอง-เนื่องจากต้นทุนดำเนินงานของแบงก์สหธนาคารสูงมาก ขณะที่ส่วนเหลื่อมกำไรของดอกเบี้ยแคบลงเหลือประมาณ 2-2.5% ถ้าไม่เอาปริมาณสินเชื่อเข้ามาช่วยก็จะทำให้แบงก์ขาดทุนอย่างแน่นอน

สหธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 30-40% ของยอดรวมพอร์ตโฟริโอสินเชื่อ ลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้ ธนาคารสามารถคิดออกเบี้ยในอัตราลูกค้าชั้นดีที่ให้ผลตอบแทนกำไรน้อยมาก

ยิ่งการเพิ่มทุนไม่ได้ของแบงก์ ทำให้แบงก์หมดโอกาสที่จะได้ทุนที่ไม่มีต้นทุนมาหมุนปล่อยสินเชื่อ ตรงข้ามเท่ากับกดดันให้แบงก์ต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินฝากจากตลาดที่มีต้นทุนสูงมาปล่อยสินเชื่อแทน

ภาวการณ์เช่นนี้ คือเหตุผลทางการบริหารที่เป็นที่มาของการวางเป้าหมายธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตมากกว่าประสิทธิผลของการทำกำไร

การเดินไปบนหนทางธุรกิจสินเชื่อของสหธนาคาร ท่ามกลางข้อจำกัดด้านทุนช่วยจากนี้ไป มีทางเลือกไม่มากนัก

หนทางที่เป็นไปได้มี 2 ทางคือ หนึ่ง-ลดเป้าหมายการขยายตัวสินทรัพย์ลง ซึ่งวิธีการนี้อาจต้องแลกกับความสูญเสียด้านผลการประกอบการ ที่จะต้องพบกับการขาดทุน เนื่องจากมีข้อเสียเปรียบต้นทุนดำเนินการที่สูง

หรือสอง-หันทิศทางการปล่อยสินเชื่อไปที่ธุรกิจนำเข้า ส่งออกหรือเทรดไฟแนนซ์มากขึ้น เพราะผลดีมีหลายอย่าง เช่นธุรกิจสินเชื่อประเภทนี้เป็นระยะสั้น และลูกค้าสามารถใช้วงเงินหลายรอบ นอกจากนี้ธนาคารยังจะสามารถนำผลพวงจากการปล่อยสินเชื่อมาสร้างรายได้จากทำปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

ที่สำคัญผลจากการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ สามารถช่วยให้ธนาคารมีช่องทางนำเงินกู้จากต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยในประเทศต่อได้อีก โดยเอาตั๋วส่งออกของลูกค้า เทรดไฟแนนซ์มาโคเวอร์โพซิชั่น เงินตราต่างประเทศ ที่แบงก์ชาติกำหนดให้แบงก์พาณิชย์ สามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกิน 20% ของเงินกองทุน

สหธนาคารมีเงินกองทุนประมาณ 1,400 ล้าน จึงสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้ 280 ล้านบาท "เวลานี้เรากู้เข้ามาถึง 400 ล้าน โดยไม่ติดเพดานเพราะเราใช้ตั๋วส่งออกของลูกค้าโคเวอร์อยู่" สุทธาลักษณ์เล่าถึงเทคนิคบริหารทุนภายใต้ภาวะการณ์ที่แบงก์ไม่สามารถเพิ่มทุนได้

เวลานี้สหธนาคารปล่อยสินเชื่อธุรกิจเทรดไฟแนนซ์สัดส่วนประมาณ 10% ของยอดรวมพอร์ตโฟริโอบาล้านซิ่ง

แม้แบงก์จะตกอยู่ในภาวะเพิ่มทุนไม่ได้ เนื่องจากปัญหารากฐานความขัดแย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้นธนาคารยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ตาม แต่การปรับตัวด้านทิศทางการบริหารของปิยะบุตรก็ชี้ให้เห็นว่า เขาได้พยายามบริหารสินทรัพย์และทุนของธนาคารที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดการเงินในทศวรรษนี้

นั่นคือเขากำลังนำธนาคารมุ่งไปในที่ ธุรกิจที่อยู่ในรายการนอกงบดุลหรือออฟ บาล้านชีท โดยใช้ฐานธุรกิจการธนาคารต่างประเทศที่เขาซุ่มสร้างมากว่า 6 เดือนแล้ว เป็นหัวหอก

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจการธนาคารต่างประเทศอยู่ในการดูแลของดอลล์ เดลคนของเอบีซี แต่เนื่องจากเจอปัญหาถูกกีดกันจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายบรรเจิด จึงไม่มีงานอะไรทำมากหน่วยงานแห่งนี้จึงไม่ได้สร้างผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เมื่อเดล คนของเอบีซีออกไป ปิยะบุตรได้ดึงริชาร์ด ลอร์ ผู้ชำนาญการด้านการบริหารเงินและ ค้าเงินตราต่างประเทศจากสิงคโปร์มาเป็นที่ปรึกษากรรมการบริหารรับผิดชอบสายงานกิจการธนาคารต่างประเทศและค้าเงินตรา

ก่อนหน้าที่จะมาอยู่ที่สหธนาคารในฐานะที่ปรึกษา ริชาร์ด ลอร์ เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารฝ่ายบริหารเงิน และค้าเงินของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ สาขาสิงคโปร์ หลังจากนั้นเขาก็ย้ายมาอยู่ที่ธนาคารมอร์แกน เกรนเฟล สาขาสิงคโปร์

นอกจากนี้ปิยะบุตร ได้ดึงอัจฉรา ปุสเสด็จจากแบงก์กรุงไทยมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ดึงมนัส เตียไพบูลย์ ดีลเลอร์ของแบงก์กรุงไทยมาเป็นหัวหน้าดีลเลอร์ค้าเงินและเอกชัย โสภัณสาธิตมาเป็นดีลเลอร์คู่กับมนัส

"แต่ก่อนแบงก์ไม่เคยค้าเงินเพราะไม่มีคนที่ชำนาญด้านนี้ แต่เวลานี้เรามั่นใจเพราะมีผู้เชี่ยวชาญอย่างริชาร์ด ลอร์มาเป็นที่ปรึกษา" ปิยะบุตรเล่าให้ฟังถึงส่วนหนึ่งของการปรับตัว

การค้าเงินอยู่ภายใต้นโยบาย 3 ประการคือ หนึ่งค้าเงินอย่างมีข้อจำกัด สอง-กำหนดฐานะเงินในพอร์ตสิ้นวันทำงานแต่ละวันโดยมียอดสุทธิเหลือที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง และสาม-กำหนดให้ค้าเงินตราสกุลแข็งได้ 4 สกุล คือ ดอลลาร์ มาร์ค ปอนด์ และเยน

แม้วัดด้วยมาตรฐานของธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใกล้เคียงกันทั่วไป การปรับตัวในลักษณะเช่นนี้ของสหธนาคารดูเป็นสิ่งธรรมดา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแปลกใหม่ แต่สำหรับวัฒนธรรมองค์กรของสหธนาคารที่ผูกยึดกับการบริหารที่ล้าหลังมานานนับสิบ ๆ ปี การปรับตัว เช่นนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่เหมาะสมกับสภาพของปัญหาเรื่องทุนที่ธนาคารเผชิญอยู่ และโอกาสของตลาดที่กำลังเปิดกว้างอย่างเต็มที่ จากผลของนโยบายผ่อนคลายการปริวรรตเงินตรา 2 ระลอกของแบงก์ชาติ

"แม้แบงก์จะถูกสะดุดด้วยปัญหาผู้ถือหุ้น แต่การดำเนินธุรกิจของธนาคารยังคงต้องดำเนินต่อไป" ปิยะบุตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างมีความเชื่อมั่นในสถานภาพของตัวเขาและทีมงาน

ยังไม่มีใครรู้ว่าฝ่ายบรรเจิดที่ยึดครองอำนาจบริหารแบงก์อยู่ในเวลานี้ อยู่ในสภาพที่ซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ หรือไม่ เพราะทางออกในปัญหาการแย่งครองความเป็นใหญ่ในการถือครองหุ้นส่วนธนาคารที่อยู่ในการพิจารณาคดีในศาลยังเร็วเกินไปที่จะมองไปเช่นนั้น

แต่ที่แน่นอน ทางออกในการเจรจาประนีประนอม นอกศาลได้ถูกปิดเรียบร้อยแล้ว และสันติภาพในบอร์ดรูมก็ยังไม่เกิดขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us