|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2534
|
|
กลางดึกคืนหนึ่งในเดือนมีนาคม มีการบุกจับตัวนักหนังสือพิมพ์และนายธนาคารจำนวนมากที่บ้านพักของแต่ละคน และนำตัวบุคคลเหล่านี้ไปคุมขังโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ของคนเหล่านี้
มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คนที่ถูกจับตัวไปนั้นล้วนเป็นผู้นิยมแนวการปกครองแบบสาธารณรัฐในยามที่มีผู้ปกครองชื่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และลัทธินาซีได้แผ่ซ่านไปทั่วเยอรมนี
ท่านบารอน ฟอน นอยราห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเวลานั้นกล่าวกับซิกมันด์ วอร์เบิร์กที่ปรึกษาทางการเงินระหว่างประเทศถึงเหตุการณ์นี้ว่า "มันเป็นราคาค่างวดที่เราจำเป็นต้องจ่ายเพื่อการปฏิวัติประเทศชาติ ผมไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะผมอยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยทางการเมืองด้วยคนหนึ่ง"
คำพูดนี้ทำให้ซิกมันด์ตัดสินใจอพยพครอบครัวออกจากเยอรมนี ถิ่นฐานซึ่ง ตระกูลวอร์เบิร์กปักหลักสร้างธุรกิจการเงินได้มั่นคงแข็งแรงมาเป็นเวลานาน ซิกมันด์มองเห็นอนาคตแห่งความล่มสลายของชาติเยอรมนีอันแข็งแกร่งภายใต้อุ้งมือของฮิตเลอร์ได้ชัดเจนดี เขากล่าวกับแม็กซ์ วอร์เบิร์ก ลุงของเขาซึ่งดูแลแบงก์วอร์เบิร์กที่ฮัมบูรก์ว่า "เยอรมนีกำลังจะล่มสลายภายใน 3 ปี ฮิตเลอร์จะนำทัพเยอรมนีทำสงครามกับอังกฤษ พวกเขาจะฆ่าล้างชาติยิว เราต้องอพยพออกจากเยอรมนี !"
กาลเวลาที่ผ่านไปได้พิสูจน์คำพูดของซิกมันด์ชัดเจน!!
ซิกมันด์ วอร์เบิร์กเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2445 ในครอบครัวนายธนาคารยิวตระกูลเก่าแก่แห่งเบอร์ลิน เขาดำเนินแนวชีวิตเหมือนบรรพบุรุษคือเป็นนักการธนาคารควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่รัฐบาล
เมื่อเกิดกรณีการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์นั้น เขาอพยพออกจากเบอร์ลินมาปักหลักที่ลอนดอน อาศัยเพียงชื่อเสียงของตระกูลเป็นทุนรอนในการสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ด้วยการเปิดบริษัทการเงินเล็ก ๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยหาทางสนับสนุนการเงินแก่ฝ่ายพันธมิตร ขวางทางแหล่งการเงินที่จะจุนเจือแก่เยอรมนี และธนาคารของตระกูล วอร์เบิร์กในเยอรมนีที่ใช้เวลาสร้างมากว่า 2 ทศวรรษก็ถูกฮิตเลอร์ทำลายล้างไม่เหลือชิ้นดี
ซิกมันด์ใช้เวลา 20 ปีในลอนดอนก่อตั้งธนาคารเอส.จี.วอร์เบิร์ก แอนด์ โก ขึ้นใหม่และสร้างให้เป็นธนาคารชั้นนำในซิตี้ออฟลอนดอนเขาคิดค้นเทคนิคการเงินหลัก ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ หรือการใช้สกุลเงินยูโรดอลลาร์
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซิกมันด์มองเห็นว่าหลังสงครามสงบ จะมีเงินกู้จากบริษัทต่างชาติไหลทะลักจากอเมริกาผ่านลอนดอนไปที่ประเทศยุโรปอื่น ๆ การพัฒนาทุนนิยมหลังสงครามจะเกิดขึ้นโดยฝีมือของบริษัทข้ามชาติรายใหญ่จำนวนมาก ซิกมันด์มองเห็นช่องทางธุรกิจ ที่น่าสนใจคือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดหาเงินกู้และการให้บริการต่าง ๆของธนาคารพาณิชย์
งานสำคัญชิ้นแรกของซิกมันด์หลังสงครามสงบคือการขายหุ้นส่วนข้างมากของตระกูล KOHN- SPEYER ในบริษัท BRANDEIS-GOLDSCHMIDT ให้แก่ RIO TINTO ซึ่งถือหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ในบริษัทนี้มานานแล้ว ครั้นปีถัดมา RIO TINTO ก็พิสูจน์ตัวเองว่าไม่สามารถบริหารงานในบริษัทฯ ได้ ซิกมันด์จึงทยอยซื้อหุ้นในส่วนของ KOHN-SPEYER คืนกลับมานอกจากนี้ RIO-TINTO ยังขายหุ้น 51% ในส่วนของเหมืองแร่คืนให้ด้วย
งานนี้ซิกมันด์สามารถทำรายได้จากการให้คำปรึกษาและการทำรายการสินเชื่อต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก !
วี่แววความเป็นมืออาชีพของคนวอร์เบิร์กเริ่มสำแดงฝีมือให้คนในวงการเงินเห็นกันชัด ๆ แล้ว !!
ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งให้ประโยชน์ระยะยาวแก่ซิกมันด์คือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายก่อตั้งรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ ในเวลานั้นพรรคแรงงานได้รับเลือกเป็นรัฐบาล การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก ขณะที่ยังไม่มีใครตั้งตัวทันและยังมีการถกเถียงขัดแย้งกันอยู่ ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ ซิกมันด์รวบรวมผู้ถือหุ้นของบริษัท ต่าง ๆ จัดตั้งเป็น "ซินดิเคท" บรรดาเอกชนเจ้าของกิจการทั้งหลายยินยอมให้ซิกมันด์เป็นตัวแทนดำเนินการเจรจากับฝ่ายรัฐบาล เมื่อการรวมกิจการถ่านหิน 800 กว่าแห่งบรรลุผลสำเร็จ ปรากฏว่าซิกมันด์และ เพื่อน ๆ กลายเป็น ผู้ครอบครองสัดส่วนหุ้นข้างมากของกิจการเหล่านี้ก่อนหน้านั้นแล้ว
ซิกมันด์ได้รับผลกำไรจากนโยบายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจอย่างมโหฬารไม่เฉพาะกิจการถ่านหิน แต่ ยังมีกิจการไฟฟ้า เหล็กกล้า ก๊าซ การขนส่งและกิจการเกี่ยวกับเทศบาลนครอีกเป็นจำนวนมาก
รายได้จากการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ถูกนำไปลงทุนซ้ำในการขยายกิจการและการว่าจ้างคนหนุ่มรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาร่วมงานด้วยซิกมันด์ทำการจัดหาเงินกู้ให้บริษัทอุตสาหกรรมขนาดกลางของอังกฤษหลายแห่งซึ่งไม่ได้รับบริการจากธนาคาร นี่เป็นช่องทางนำพาให้เขาทำการจัดหาเงินกู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ผ่านทางโตเกียวและซิดนีย์
ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในระยะก่อร่างสร้างตัวใหม่นอกเยอรมนีของซิกมันด์คือการเจรจาเพื่อซื้อคืนบรรดากิจการของอังกฤษ ที่ถูกขายให้ชาวต่างชาติในช่วงก่อนและระหว่างสงคราม รวมทั้งการดึงเงินทุนทั้งหลายที่เคยนำไปสนับสนุนการสงครามกลับคืนสู่มาตุภูมิอังกฤษ
รายการสำคัญอันหนึ่งคือการนำธนาคารในยุโรปเข้ามาซื้อหุ้น 20% ของอีริคสันจากไอทีทีซึ่งไม่สามารถถือหุ้นนี้ได้เพราะขัดกับกฎหมายอเมริกัน รายการนี้ไม่ง่ายนักเพราะเวลานั้นชื่อของวอร์เบิร์กยังไม่เป็นที่รู้จัก
สตาฟฟ์คนหนึ่งของซิกมันด์เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อยื่นข้อเสนอให้กับแบงก์เดอปารีส เขาถึงกับถูกขอให้สะกดชื่อวอร์เบิร์ก แต่รายการนี้สำเร็จลงได้ในที่สุด แบงก์เดอปารีสซื้อหุ้นอีริคสันไว้ส่วนหนึ่ง ผู้ซื้อรายถัดมาคือดอยช์แบงก์และเครดิตสวิส
ความสำเร็จของซิกมันด์ขั้นต่อมาคือการได้เข้ามาทำธุรกิจการเงินที่นิวยอร์ค โดยผ่านทาง KUHN LOEBK กิจการด้านการเงินเก่าแก่ที่ถูกซื้อโดยกลุ่ม LEHMAN BROTHERS ด้วยราคา 18 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาต่อมา
ซิกมันด์เป็นนายธนาคารยุโรปเพียงคนเดียวที่ได้เข้ามาทำธุรกิจการเงินในนิวยอร์กเขาทำรายการจัดหาเงินกู้จำนวนมาก จนในที่สุดซิกมันด์สามารถผลักดันกิจการ ขึ้นมาเป็นวาณิชธนกิจ เทียบเคียงกับ DILLON READ และ MORGAN STANLEY ทีเดียว
ปัจจุบันกลุ่มเอส.จี.วอร์เบิร์กขยายกิจการการเงินไปยังตลาดสำคัญในโลก ในแถบตะวันออกมีบริษัทเอส.จี.วอร์เบิร์ก (ฟาร์อีสต์) เป็นหัวหอกสำคัญดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ มาเลเซียทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในฮ่องกง และธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในไต้หวัน และเกาหลี
กลุ่มเอส.จี.วอร์เบิร์กมีผลกำไรก่อนหักภาษีและหลังจากที่โอนเข้ากองทุนสำรองในธนาคาร ต่าง ๆ ของกลุ่มเมื่อสิ้นงบประมาณประจำปี 2533 (ณ 31 มีนาคม) จำนวน 187.5 ล้านปอนด์สเตอริง (7,500 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40% ทั้งนี้กิจการที่มีผลกำไรดีเยี่ยมคือวาณิชธนกิจและการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นธุรกิจเกี่ยวกับการเข้าถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ การให้บริการทางการเงิน การจำหน่ายพันธบัตรและการจัดการด้านสินทรัพย์ ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคทางการเงินที่ซิกมันด์บุกเบิกมาในสมัยก่อร่างสร้างตัวที่ลอนดอนทั้งสิ้น
รากฐานความเติบโตของกลุ่มวอร์เบิร์กในปัจจุบันซึ่งบรรดาผู้บริหารไม่ใช่คนในตระกูลวอร์เบิร์กอีกแล้วนั้น เป็นฝีมือของซิกมันด์ วอร์เบิร์กโดยแท้ หากเขาไม่ใช่ผู้มีสายตายาวไกลคาดหมายอนาคตและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจการเมืองต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมากหากไม่มีวันที่เขาตัดใจละทิ้งเบอร์ลิน วันนี้วอร์เบิร์กไม่อาจโดดเด่นขึ้นมาอยู่แถวหน้าของถนนการเงินได้
|
|
|
|
|