การที่หุ้นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ
จัดเข้าไปอยู่ในหมวดของบริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ มิได้มีความหมายว่าฐานะของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ไม่มั่นคง
ตรงกันข้าม ฐานะและผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
มียอดรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะระหว่างปี 2542 กับ 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะ
วิกฤติ แต่รายได้ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กลับเพิ่มขึ้นถึง 44.48%
1 ใน 3 หรือประมาณ 32% ของรายได้เหล่านี้ เป็นรายได้จากการให้การรักษาพยาบาลกับชาวต่างประเทศ
ธุรกิจของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทุกวันนี้ จึงไม่ใช่เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์แก่คนไทยเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นเสมือนผู้ส่งออกบริการทางการแพทย์ให้กับลูกค้าชาวต่างชาติถึงกว่า
2 แสนคน จาก 140 ประเทศทั่วโลก
และเป็นผู้ส่งออกรายแรก และรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
"ปัญหาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีเพียงอย่างเดียวคือ เงินกู้จำนวน 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่เรากู้มาตอนมีโครงการสร้างตึกใหม่ เพราะเมื่อตึกนี้เปิดมาได้ไม่ถึงปี
มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท วงเงินกู้ก้อนนี้ก็สูงขึ้นทันที 30-40%" ชัย
โสภณพนิช ประธานกรรมการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์บอก
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นธุรกิจของตระกูลโสภณพนิชอีกแห่งหนึ่ง ที่ชัยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลมาตั้งแต่ต้น
โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2523 ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในย่านถนนสุขุมวิท
ถือเป็นจุดเด่นสำคัญจุดแรกของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพราะเป็นโรงพยาบาล เอกชนเพียงไม่กี่แห่งที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านผู้อยู่อาศัยที่มีฐานรายได้สูง
ปีที่แล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีรายได้รวม 3,069.94 ล้านบาท อยู่ในอันดับ
115 ของบริษัทที่มีรายได้รวมสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผลประกอบการเริ่มกลับมามีกำไรติดต่อกันเป็นปีที่
2 หลังจากประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง ในปี 2540-2542
การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนั้น เกิดขึ้นจากการกู้เงินเข้ามาเพื่อสร้างตึก
ใหม่ ที่เริ่มขึ้นในปี 2539 ซึ่งเป็นโครงการที่ชัยยอมรับว่าเขา "เสียรู้"
โครงการสร้างตึกใหม่เป็นผลจากการร่วมทุนระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กับบริษัทรับบริหารโรงพยาบาลรายหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา
โดยการตั้งบริษัทบำรุงราษฎร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ขึ้นเป็นผู้ดำเนินการ
โดยส่วนตัวชัยเห็นว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี และเมื่อนำโครงการนี้ไปเสนอขอเงินกู้จาก
International Finance Corporation (IFC) ในเครือธนาคารโลก IFC ยังเห็นชอบ
และยอมปล่อยเงินกู้ให้ 54 ล้านดอลลาร์
"เราเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่เขาปล่อยเงินกู้ให้"
อาคารหลังใหม่สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม
2540 แต่หลังจากเปิดได้ไม่นาน ปรากฏว่า บริษัทผู้ร่วมทุนจากสหรัฐอเมริกา
เกิดเปลี่ยนนโยบาย โดยจะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทบำรุงราษฎร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์
ออกทั้งหมด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงจำเป็นต้องเข้าไปซื้อหุ้นล็อตดังกล่าวคืนมา
"เราใช้สิทธิ์ขอซื้อคืน และเราต้องไปกู้เป็นดอลลาร์ซื้อหุ้นกลับมา แต่ระหว่าง
ที่กำลังเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหม่อยู่ ก็มีการลดค่าเงิน"
ปี 2540 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีผลประกอบการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง
2,544.77 ล้านบาท และยังขาด ทุนต่อเนื่องมาจนถึงปี 2542
"ตอนนั้นเรายอมรับว่าเป็นเรื่องที่เราเสียรู้ เพราะถ้าเรารู้ก่อนว่าเขาจะลงทุน
กับเราไม่นาน โอกาสที่เราจะถอนตัวทันมันก็มี หรือเราอาจจะกำหนดเวลาไว้ในสัญญาร่วมทุนก่อนเลยว่าเขาจะต้องถือหุ้นไว้กี่ปี
ห้ามขาย"
ในปี 2543 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาปรับโครง สร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่
2 ราย คือ IFC และธนาคารกรุงเทพ โดยเจ้าหนี้ยอมยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และมีการแปลงหนี้
บางส่วนเป็นทุน ทำให้ปัจจุบัน IFC และธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งในโรงพยาบาลแห่งนี้
การลอยตัวเงินบาทในปี 2540 นอกจากมีผลทำให้โรงพยาบาลบำรุง ราษฎร์ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมากแล้ว
ในทางกลับกันยังเป็นผลให้โรงพยาบาลแห่งนี้ต้องปรับปรุงนโยบายรับคนไข้ และได้กลายมาเป็นผลดีอย่างยิ่งในภายหลัง
ก่อนปี 2540 โรงพยาบาลบำรุง ราษฎร์ มีคนไข้ที่เป็นชาวต่างประเทศอยู่บ้างแล้ว
แต่เป็นชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในย่านสุขุมวิท โดยสัดส่วนรายได้จากคนไข้ชาวต่างประเทศขณะนั้นอยู่ประมาณ
18% จากรายได้ทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงค่าเงินทำให้สัดส่วนคนไข้ที่เป็นคนไทยลดลง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนคนไข้ที่เป็นชาวต่างประเทศให้มากขึ้น
"ช่วงที่วิกฤติใหม่ๆ คนไข้คนไทยหลายคนไม่มาใช้บริการของเรา เพราะอาจจะเห็นว่าแพงไป
หรือบางคนประหยัด ไปหาโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกกว่า สัดส่วนคนไข้คนไทยของเราตอนนั้นลดลงไปประมาณ
20% ดังนั้นเราจึงไปเน้นคนต่างชาติ"
การขยายตลาดไปยังลูกค้าชาวต่างประเทศทำหลายวิธีการ วิธีการหนึ่งคือ การออกไปตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศที่เป็นเป้าหมาย
โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันตก เช่น บังกลาเทศ เนปาล และญี่ปุ่น โดยชูจุดขายด้านคุณภาพการให้การรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล
ช่วงเปิดตึกใหม่ๆ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ดึงตัวคนไทยซึ่งไปประกอบอาชีพแพทย์อยู่ในสหรัฐอเมริกา
ให้กลับเข้ามาทำงานด้วยถึง 12 คน แพทย์กลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกามานาน
จนรู้ว่ามาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลของที่นั่นเป็นอย่างไร
และแพทย์กลุ่มนี้ ก็ถือเป็นจุดขายสำคัญอีกจุดหนึ่ง
การขยายตลาดคนไข้ไปยังต่างประเทศของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือว่าเดินมาได้ถูกทาง
เพราะจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 18% ในปี 2540 เป็น 32% ในปี 2544
ในจำนวนคนไข้ 32% ที่เป็นชาวต่างประเทศนั้น 1 ใน 3 เป็นคนไข้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลโดยตรง
ส่วนที่เหลือเป็นชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
คนไข้ที่มาจากต่างประเทศโดยตรง มาจากหลายแห่ง ทั้งจากในเอเชีย ยุโรป สหรัฐ
อเมริกา แต่ที่มากที่สุดเป็นบังกลาเทศ เนปาล และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง
ลาว เขมร เวียดนาม และพม่า
โดยเฉพาะลูกค้าจากเนปาล ปรากฏว่าครอบครัวของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตทั้งครอบครัวเมื่อปี
2543 ก็เป็น 1 ในคนไข้ที่เดินทางเข้ามารักษากับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นประจำก่อนที่จะเสียชีวิต
ผลจากความสำเร็จในการขยายตลาดคนไข้ชาวต่างประเทศ ทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
จำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพการให้การรักษาพยาบาล และการบริการให้มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ
ความแตกต่างทางด้านกายภาพ บรรยากาศภายในห้องโถงรับแขกด้านล่าง ถูกจัดให้มีสภาพเหมือนโรงแรมมากกว่าโรงพยาบาล
รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร
ร้านหนังสือ และแฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเช่นร้านแมคโดนัลด์เข้ามาเช่า
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ กับญาติของคนไข้
ในด้านของมาตรฐานการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลได้นำระบบคอมพิว เตอร์เข้ามาใช้ในการเก็บประวัติคนไข้
รวมถึงการสั่งการรักษาพยาบาลของแพทย์ โดยแพทย์ทุกคนจะถูกบังคับให้บันทึกการรักษาพยาบาล
และการสั่งยาลงไปในคอม พิวเตอร์ แทนที่จะใช้วิธีเขียนลงในชาร์ต อย่างโรงพยาบาลอื่น
"เราต้องยอมรับว่าคนธรรมดา 9 ใน 10 คนจะอ่านลายมือของหมอไม่ออก"
ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลบำรุง ราษฎร์ มีประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้ เป็นแพทย์ที่ถูกดึงตัวกลับมาจากสหรัฐ
อเมริกา 16 คน
ระบบการแบ่งรายได้ระหว่างแพทย์ กับโรงพยาบาล คือแพทย์เกือบทั้งหมด ไม่มีเงินเดือนประจำ
แต่มีรายได้จากค่าแพทย์ เมื่อได้ออกตรวจคนไข้ ซึ่งในส่วนนี้โรงพยาบาลจะหักไว้เป็นรายได้ของโรงพยาบาล
ในสัดส่วน 15%
"หมอที่กินเงินเดือนประจำขณะนี้มีอยู่เพียง 2-3 คน ซึ่งพวกนี้เราจะจ่ายให้เขาในช่วงแรกเพียง
2 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเขาจะต้องมีรายได้เองจากค่าแพทย์เวลาออก ตรวจ"
ระบบนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้แพทย์ต้องทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แพทย์จำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพของการให้การรักษาพยาบาล
เพื่อดึงให้คนไข้มาใช้บริการเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
"หากคนไข้คนหนึ่งที่มาครั้งแรกพบกับหมอคนหนึ่ง แล้วเมื่อมาครั้งต่อไปขอเปลี่ยน
หมอ เขาก็ต้องกลับไปคิดดูแล้วว่าเกิดจากอะไร"
เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพิ่งจะได้รับใบรับรองคุณภาพ
จากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาลสากล (JCIA) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
(The Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO)
จากสหรัฐอเมริกา
องค์กรนี้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งมาแล้วเป็นเวลา 75 ปี
มีหน้าที่ตรวจสอบ และให้ใบรับรองมาตรฐานแก่สถานพยาบาลจำนวน 18,000 แห่งในสหรัฐ
อเมริกา และในอีก 40 ประเทศทั่วโลก
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียที่ได้ใบรับรองคุณภาพ
ฉบับนี้ ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการขยายตลาดคนไข้ในต่างประเทศในอนาคต
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลของไทย
ได้กล่าวในงานรับมอบใบรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ครั้งนี้ว่า แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับจากสากลในเรื่องของคุณภาพของการพัฒนาทางการแพทย์
และเป็นการแสดงความพร้อมที่ประเทศไทยจะให้บริการทางการแพทย์เป็นสินค้าออก
หากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
แล้ว รูปแบบการขยายตัวของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เน้นการขยายตัวโดยการสร้างเชน หรือขยายการลงทุนออกไปตั้งสาขายังต่างจังหวัด
ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างนาน แต่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เน้นการขยายคุณภาพงานในจุดที่ตั้งแต่ขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ
แนวทางการขยายตัวเช่นนี้ เชื่อว่าอีกไม่นาน โรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่งก็ต้องเดินตาม
เพราะรายได้ที่ได้รับคืนมา มีส่วนในการดึงเงินตราเข้าประเทศ ขณะที่ผล ตอบแทนจากการลงทุนใช้ระยะเวลาคืนทุนสั้นกว่า
แต่มีส่วนต่างของกำไรที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
การที่หุ้นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ถูกจัดอยู่ในหมวดบริษัท ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย