Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2545
กรุงเทพประกันภัย The Regional Insurance Company             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

ชัย โสภณพนิช "ผมยังรีไทร์ไม่ได้"
รพ.บำรุงราษฎร์ The 1st Medical Services Exporter

   
www resources

โฮมเพจ กรุงเทพประกันภัย

   
search resources

กรุงเทพประกันภัย, บมจ.
ชัย โสภณพนิช




กรุงเทพประกันภัย เป็นสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง ของตระกูลโสภณพนิช ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ชัย โสภณพนิช และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่าธนาคารกรุงเทพ

ชิน โสภณพนิช พ่อของชัยได้ตั้งบริษัทประกันภัยแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2490 โดยครั้งแรกใช้ชื่อว่า เอเซียพาณิชย์ประกันสรรพภัย และเปลี่ยนเป็นกรุงเทพประกันภัยในปี 2507 ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2521

ชัยเริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพประกันภัย ตั้งแต่ปี 2511 หลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา และได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในปี 2519 ก่อนที่จะควบทั้งตำแหน่งประธาน และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในอีก 2 ปีถัดมา

ในช่วงเวลา 34 ปี นับแต่ชัยเริ่มเข้ามาดูแล กล่าวได้ว่า ผลประกอบการของ กรุงเทพประกันภัยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันกรุงเทพประกันภัย เป็น 1 ใน 3 บริษัทประกันวินาศภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในตลาดเบี้ยประกันรับจากการรับประกันอัคคีภัย กรุงเทพ ประกันภัยครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

แม้กรุงเทพประกันภัยจะยังไม่เคยเข้ามาอยู่ใน "ผู้จัดการ 100" แต่จากยอดรายได้ รวมของบริษัทต่างๆ ที่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการในแต่ละปี รายได้ของกรุงเทพประกันภัยสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเกือบตลอด มีเพียง 2 ปี คือในปี 2539 ที่มีรายได้รวมน้อยกว่าสินมั่นคงประกันภัย และปี 2543 ที่น้อยกว่าประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี

และเมื่อจัดอันดับเปรียบเทียบกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมดแล้ว ยอดรายได้รวมของกรุงเทพประกันภัย จะอยู่เกินอันดับ 100 ออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ดูรายละเอียดในตารางอันดับของกรุงเทพประกันภัย)

ปีที่แล้ว กรุงเทพประกันภัยมียอดรายได้รวม 3,456.49 ล้านบาท อยู่ในอันดับ ที่ 109

"ในช่วงฟองสบู่ ปี 2535-2539 รายได้ของเราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% และมาลดลงในปี 2540-2543 หลังเกิดวิกฤติ แต่ปีที่แล้วรายได้เริ่มกลับมาใกล้เคียงกับปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่ peak ที่สุด" ชัยกล่าว

ปี 2539 เป็นปีที่กรุงเทพประกันภัย มีการขยายตัวครั้งสำคัญที่สุด โดยการ ขยายเครือข่ายออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทประกันวินาศภัยรายแรก ของไทย ที่ใช้กลยุทธ์การเจริญเติบโตในแนวทางนี้

"ตลาดของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย ค่อนข้างจะอิ่มตัว" ชัยให้เหตุผล

กรุงเทพประกันภัยขยายเครือข่ายออกไปยังต่างประเทศ โดยการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ 3 แห่ง คือ Asia Insurance จากฮ่องกง The Asia Insurance จากสิงคโปร์ และ Central Asia จากอินโดนีเซีย

The Asia Insurance ของสิงคโปร์ และ Asia Insurance จากฮ่องกงนั้น แม้จะชื่อคล้ายคลึงกัน แต่ก็เป็นคนละบริษัท มีผู้ถือหุ้นคนละกลุ่ม โดย Asia Insurance ในฮ่องกงนั้น กลุ่มโสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในปี 1954 ปัจจุบันมีระบิล โสภณพนิช หรือโรบิน ชาน พี่ชายคนโตสายเดียวกับชาตรี โสภณพนิช ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

พันธมิตรทั้ง 4 แห่ง ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท Asia International Insurance ขึ้น เพื่อใช้เป็นโฮลดิ้ง คัมปะนีในการขยายการลงทุนธุรกิจประกันภัยเข้าไปในประเทศย่าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศเป้าหมายคือ กัมพูชา เวียดนาม พม่า และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ของธุรกิจประกันภัย

"ประเทศเหล่านี้ กำลังอยู่ในช่วงเปิดประเทศ ธุรกิจหลายอย่างที่เคยถูกรัฐบาลผูกขาด เริ่มเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น จึงถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ"

บริษัทร่วมทุนแห่งแรกได้เปิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เมื่อประมาณปี 2540 ใช้ชื่อว่า บริษัท Asia Insurance (Cambodia) โดยร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น

"การขยายตัวในต่างประเทศเราใช้วิธี Joint Venture มากกว่าการไปเปิดเป็น สาขา เพราะการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น เราสามารถอาศัย connection ของเขาในการดึงลูกค้าซึ่งจะเน้นภาคธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม มากกว่าบุคคล"

การดำเนินงานของ Asia Insurance (Cambodia) ช่วง 5 ปี หลังจากก่อตั้ง จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้นในปีนี้กลุ่มพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง จึงมีแผนที่จะเปิดบริษัทร่วมทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นอีก

"ขั้นตอนการดำเนินงานขณะนี้ อยู่ในช่วงการเจรจากับผู้ร่วมทุน ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ที่รัฐบาลเวียดนามถือหุ้นใหญ่ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานก็จะได้ข้อสรุป"

ส่วนในพม่า และจีนนั้น ชัยบอกว่ายังอยู่ในขั้นตอน ของการหาผู้ร่วมทุน

ในการขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศเหล่านี้ กลุ่มพันธมิตรทั้ง 4 จะใช้วิธีให้บริษัทที่มีความใกล้ชิดกับแต่ละประเทศเป็นแกนหลักในการลงทุน ส่วนที่เหลือจะเข้ามาร่วมถือหุ้น โดยในประเทศกัมพูชาบริษัทแกนหลักได้แก่กรุงเทพประกันภัย

"ที่เขมรเราก็ส่งคนของเรา 2-3 คนเข้าไปดูแล"

ขณะที่ในเวียดนาม และพม่า แกนหลักจะเป็น The Asia Insurance ของสิงคโปร์ และในจีนเป็นของ Asia Insurance จากฮ่องกง

สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศ แม้วิกฤติทางการเงินที่เกิดในปี 2540 ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แต่สำหรับกรุงเทพประกันภัยกลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด นอกจากรายได้ที่ลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2541-2543 ตามรายได้ของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้า

"ช่วงวิกฤติเราไม่มีการลดพนักงาน ไม่มีการลดเงินเดือน และช่วงปลายปีก็ยังได้รับโบนัสเหมือนเดิม" พนักงานกรุงเทพประกันภัยคนหนึ่งบอก

ชัยให้เหตุผลว่า การที่กรุงเทพประกันภัยไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เนื่องจากไม่มีการกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน

"เรารับเบี้ยประกันมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกู้"

เบี้ยประกันรับของกรุงเทพประกันภัยส่วนใหญ่ประมาณ 60% มาจากการรับประกันอัคคีภัย ส่วนอีก 20% มาจากการรับประกันรถยนต์ ซึ่งกรมธรรม์ทั้ง 2 ประเภทนี้ กรมการประกันภัยมีพิกัดบังคับ กำหนดอัตราขั้นต่ำสุดไว้ ทำให้ไม่มีการแข่งขันในเรื่องการตัดราคาเบี้ยประกัน

นอกจากนี้กรมการประกันภัย ยังมีกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการนำเงินที่ได้รับจาก กรมธรรม์ไปลงทุนว่าจะต้องกระจาย และห้ามนำไปใช้ลงทุนในกิจการ ที่มีความเสี่ยงสูง

แม้กฎข้อบังคับเหล่านี้ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบ รวมถึงกรุงเทพประกันภัย ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นมาได้ แต่ก็มีนโยบายของทางการบางประการ ก็เป็นแรงบีบให้กรุงเทพประกันภัยจำเป็นต้องมีการปรับตัว

นโยบายสำคัญคือ การเปิดเสรีธุรกิจประกันภัย โดยมีการให้ใบอนุญาตเพิ่มอีก 12 บริษัทในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ทำให้ในธุรกิจมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

รวมทั้งการประกาศใช้โครงสร้างอัตรากรมธรรม์ใหม่ ซึ่งมีผลให้รายได้ของบริษัทลดลง

ในปี 2542 กรุงเทพประกันภัยได้ว่าจ้างให้บริษัทแมคเคนซี่ เข้ามาศึกษาเพื่อวางแผนปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่

"เราเห็นว่าการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้นเราต้องการดูว่าเรายังเป็นบริษัทนำในธุรกิจหรือไม่ และสิ่งที่เราทำมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะ อาจต้องมีการปรับวิธีการทำงานใหม่ เลยต้องให้คนเข้ามาศึกษาดูว่าจุดอ่อน ของเรามีอะไรบ้าง และความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างไร แล้วเราก็มาปรับโครงสร้างของเรา เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้เร็วขึ้น"

โครงสร้างเดิมของกรุงเทพประกันภัย มีการแบ่งแผนกตามประเภทของการประกันภัย ประกอบด้วยแผนกประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันภัยยานยนต์ และประกันภัยเบ็ดเตล็ด

แต่โครงสร้างใหม่ ได้เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งแผนกตามประเภทของลูกค้า และช่องทางการเข้ามาของลูกค้า ซึ่งประกอบด้วยลูกค้าสถาบันการเงิน บริษัทนายหน้าตัวแทนประกันวินาศภัย และลูกค้าตรง

ในโครงสร้างนี้ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแต่ละแผนก ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องสามารถตอบคำถามของลูกค้าได้ทุกประเภทของการประกันภัย และไม่ว่าลูกค้าต้องการจะทำประกันภัยประเภทใด ต้องสามารถให้บริการได้หมด

โครงสร้างใหม่นี้ได้เริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อกลางปี 2544

"ตอนนี้หลายสิ่งหลายอย่างอาจยังไม่คล่องตัว คิดว่าคงใช้เวลาประมาณ 2 ปีคงเข้ารูปเข้ารอย" ชัยสรุป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพประกันภัย หากเปรียบเทียบสถาบันการเงินของตระกูลโสภณพนิชแห่งอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ และบริษัทเงินทุนในเครือแล้ว ชัยจัดว่าโชคดีกว่าพี่น้องคนอื่นๆ มาก

เขาไม่ต้องกัดฟันเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการปิดสาขา ปรับลดพนักงาน หรือต้องตาม ไปแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ เหมือนที่ชาตรีพี่ชาย และชาติศิริผู้เป็นหลานกำลังขะมัก เขม้นอยู่อย่างหนัก

ตรงกันข้าม ระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ชัยยังได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง และมีเวลาในการวางแผนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขยายตัวให้กับกรุงเทพประกันภัย

เป็นแนวทางการเติบโตที่ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะในประเทศไทย

แต่หมายถึงการออกไปจับจองพื้นที่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียงนี้ทั้งหมด เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us