|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2534
|
|
ธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์ กำลังเป็นแนวโน้มที่นักบริหารระดับมืออาชีพ ที่มีประวัติประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานมาก่อน กระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมชายคาด้วย ซึ่งแตกต่างจากสมัย 5 ปีก่อนที่ตลาดหุ้นไม่เติบโตมากเหมือนปัจจุบัน ที่เวลานั้นธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์มีช่องทางหากินในวงแคบ ๆ และภาพพจน์ทางธุรกิจไม่ดีนัก
เมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัว ธุรกิจนี้ก็กลายเป็นขนมหวานที่หลายคนอยากเข้ามาจับจองที่นั่งด้วย ณรงค์ ปัทมะเสวี จากซิตี้แบงก์ดี ๆ ก้าวพรวดมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทรหรือจักรวาลทรัสต์ มานพ นาคทัตอยู่สยามประกันชีวิตของกลุ่มไทยสมุทรเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ดี ๆ กระโดดมาร่วมชายคากลุ่มโอสถานุเคราะห์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พรีเมียร์
ชาญชัย ตุลยะเสถียร จากไทยออยล์ก็เช่นกัน นั่งเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี อยู่เฉย ๆ และมีงานประจำอยู่ที่ฝ่ายบริหารเงินของไทยออยล์อยู่ดี ๆ ก็ได้รับข้อเสนอจากบางกอก เชาว์ขวัญยืน ประธานเอ็มซีซีและกรรมการไทยออยล์ให้มานั่งทำงานประจำเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็มซีซีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
"ผมมาโดยไม่มีข้อเสนอหรือเงื่อนไขอะไรทั้งนั้น เพียงผมบอกกับกรรมการบอร์ดและคุณ บางกอก ว่าผมขอธีรพงศ์และสุวิทย์ มาช่วยผมอีก 2 คน" ชาญชัยเล่าถึงที่มาของทีมงานบริหารชุดใหม่ของเอ็มซีซี
ธีรพงศ์ มณเทียรวิเชียรฉาย ก่อนมาอยู่ที่เอ็มซีซีในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เขาเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินและค้าเงินของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสาขาประเทศไทย ระหว่างที่ทำงานอยู่แบงก์เขามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจด้านตลาดเงินกับชาญชัย ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินอยู่ไทยออยล์ จึงรู้เห็นฝีไม้ลายมือกันอยู่ "คือความเชี่ยวชาญด้านการค้าเงิน มันสามารถประยุกต์ใช้กับค้าหลักทรัพย์" ชาญชัยพูดถึงเหตุผลหนึ่ง ที่เขาดึงธีรพงศ์เข้ามาดูแลธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดเงินในเอ็มซีซี รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจด้วย
สุวิทย์ อุดมทรัพย์ เคยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงด้านสินเชื่อสถาบันธุรกิจต่างประเทศของแบงก์ไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์ในตลาดการเงินที่นิวยอร์กและลอสแองเจลิส ในฐานะเป็นผู้จัดการสาขาไทยพาณิชย์ที่นั่นมาก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยสำนักงานใหญ่ ชาญชัยชวนมาทำงานเอ็มซีซี ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปดูแลธุรกิจสินเชื่อและเช่าซื้อ รวมถึงกลุ่มปฏิบัติการบริหาร
เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ข้างตัวเช่นนี้ ชาญชัยถือว่ามันเป็นความจำเป็นเบื้องแรกในการสร้างระบบบริหารที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินและตลาดทุน "เราต้องการกระจายการเติบโตของธุรกิจไปในทุก ๆ ประเภทที่มีศักยภาพที่ดี ผมไม่คิดว่าการยืนอยู่บนฐานธุรกิจที่ดีเพียงประเภทหนึ่งประเภทใดเป็นเรื่องที่เหมาะสมในตลาดขณะนี้ ดังนั้นการเติบโตอย่างสมดุลในธุรกิจหลายประเภทที่เราทำได้จึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม" ชาญชัย พูดถึงทัศนภาพหรือวิชั่นในการบริหารนโยบายธุรกิจของเอ็มซีซีในยุคสมัยของเขา
ชาญชัยลงทุนระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบริการด้านธุรกิจค้าหลักทรัพย์กว่า 30 ล้านบาทด้วยเหตุผลเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในธุรกิจหลักทรัพย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเขาก็มองว่าเป็นธุรกิจในระยะยาวที่สามารถทำกำไรได้ดีและปริมาณการค้าและลงทุนหลักทรัพย์ของนักลงทุนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นซึ่งสามารถหารายได้จากค่าธรรมเนียมในการบริการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ "เราวางเป้าหมายการเติบโตที่การมีส่วนแบ่งตลาดของระบบไม่น้อยกว่า 3% หรือมากกว่านั้น" ชาญชัยพูดถึงเป้าหมายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ของเอ็มซีซีจากนี้ไป
ปีที่แล้วธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมจากการให้การปรึกษาการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น สามารถทำรายได้สูงถึง 214 ล้านหรือประมาณ 40% ของรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล 736 ล้าน
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสมัย นพพร พงษ์เวช เป็นกรรมการผู้จัดการรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ มี 124 ล้านหรือประมาณ 20% ของรายได้จากดอกเบี้ย 515 ล้าน
สัดส่วนรายได้ 40% เทียบกับ 20% ของรายได้จากดอกเบี้ยมันต่างกันถึง 100% แสดงว่าธุรกิจหลักทรัพย์มีศักยภาพการเติบโตในการสร้างรายได้เอามาก ๆ
ผลประกอบการเช่นนี้ ชาญชัยมองเห็นชัดเจนถึงโอกาสในธุรกิจหลักทรัพย์ และเหตุผลนี้คือที่มาของการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทหลักทรัพย์สมิทนิวคอร์ท ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของอังกฤษ เพื่อพัฒนางานวิจัยหลักทรัพย์และผ่านลูกค้าต่างประเทศมาให้เอ็มซีซี
นอกจากนี้ ชาญชัยยังมองไกลออกไปถึงการเติบโตของตลาดวาณิชธนกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจการเงินและตลาดธุรกิจการค้าและการลงทุนของไทยได้ผนึกเข้ากับส่วนหนึ่งของตลาดโลกและนับวันมีบทบาทมากขึ้น
ลูกค้าสถาบันรายใหญ่ ๆ กำลังต้องการทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก ปัญหาคือจะหาทุนมาได้อย่างไรในราคาที่ต่ำและมีความเสี่ยงน้อย
ชาญชัยผ่านงานนี้มาแล้วอย่างโชกโชนสมัยอยู่ไทยออยล์ในฐานะมือบริหารเงินและจัดหาเงินมาใช้ในโครงการธุรกิจของไทยออยล์
เขารู้ดีว่างานคอเปอเรทไฟแนนซ์ในตลาดการเงินมีผู้เชี่ยวชาญไม่มากนัก และนี่คือที่มาของการดึง ศักรพันธ์ เอี่ยมเอกดุลย์ จากเชสแมนฮัตตันแบงก์มาร่วมงานที่เอ็มซีซี ในฐานะศักรพันธ์มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินด้านคอเปอเรทไฟแนนซ์มาโชกโชน
ธุรกิจวาณิชธนกิจมีมากมายหลายประเภท ไม่ใช่การอันเดอร์ไรติ้งนำหุ้นเข้าตลาดอย่างที่บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำนิยมทำกันอยู่เวลานี้เพียงอย่างเดียว แล้วเครมว่าเป็นอินเวสเม้นแบงกิ้งแล้ว
"ที่เอ็มซีซี เราแบ่งธุรกิจอินเวสเม้นแบงกิ้งเป็น 3 หน่วย แต่ละหน่วยจะมีผู้จัดการที่สามารถให้บริการทุกประเภทในขอบข่ายของอินเวสเม้นท์แบงกิ้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันขึ้นกับลูกค้าว่าต้องการอะไร" ศักรพันธ์ซึ่งดูแลสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่พูดถึงบริการอินเวสเม้นท์แบงกิ้งของเอ็มซีซี
เวลานี้ยังไม่มีผลงานออกมาสู่สาธารณะว่าอินเวสเม้นท์แบงกิ้งของเอ็มซีซี มีสถานะทางธุรกิจอย่างไรบ้าง คงต้องจับตาดูต่อไปหลังจากชาญชัยวางระบบบริหารตามแนวนโยบายธุรกิจเรียบร้อยระยะหนึ่ง
เอ็มซีซีในยุคชาญชัยกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดธุรกิจการเงินและตลาดทุน เขาคาดหวังอย่างยิ่งว่าการเติบโตในรายได้ในธุรกิจหลักทรัพย์ และสินเชื่อเช่าซื้อจะเกิดขึ้นอย่างสมดุล ไม่อยู่ที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเหมือนในอดีตที่สินเชื่อเช่าซื้อเป็นเสาหลักของเอ็มซีซี
"สินเชื่อเช่าซื้อเมื่อมาถึงจุดสูงสุดของการเติบโต มันจะเริ่มโตในอัตราที่ลดลงเพราะมันต้องใช้ทุนเป็นตัวเร่ง ผมว่าเรากำลังมาถึงในจุดนี้แล้ว แม้ว่ามันจะทำกำไรได้ดีและคุณภาพสินเชื่อก็ดีมากก็ตามสิ่งนี้คือเหตุผลที่เราต้องเพิ่มบทบาทธุรกิจไปที่ประเภทอื่นบ้าง" ชาญชัย เล่าให้ฟังถึงเหตุผลภายในที่ต้องขยายธุรกิจออกไปจากเช่าซื้อ
เอ็มซีซีกำลังก้าวมาอีกจุดหนึ่งแล้ว มันไม่ง่ายต่อผลการคาดหวังในยามที่ทุกคนในตลาดต่างก็มองหนทางธุรกิจใหม่ ๆ ออกเหมือนกันชัยชนะคงชี้ขาดอยู่ที่คุณภาพ คนและการขายความชำนาญที่ตลาดกำลังต้องการ
|
|
|
|
|