Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2534
ชัยภัทร กำจัดดัสกร นักกฎหมายการเงิน             
 


   
search resources

Financing
Law
ชัยภัทร กำจัดดัสกร




ธุรกิจการเงินระหว่างประเทศพัฒนามากขึ้นเท่าใด ความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น สำหรับเมืองไทย มีนักกฎหมายที่พอจะเรียกว่าเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะนั้นน้อยมาก ในจำนวนนั้นน่าจะนับเอา ชัยภัทร กำจัดดัสกร เข้าไปด้วยคนหนึ่งแม้ขณะนี้เขาเพิ่งจะมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้นเองก็ตาม

"จะเรียกว่าผมเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการเงินนั้นคงยังไม่ได้หรอกครับ เพราะยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็พยายามจะศึกษาและทำงานทางด้านนี้ให้มาก ซึ่งทางสำนักงานเห็นว่าผมสนใจงานทางด้านนี้มากก็ให้งานที่มันเกี่ยวข้องมาทำมากกว่าด้านอื่น ๆ ที่ผมสนใจก็เพราะว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและก็มีอะไรใหม่ ๆ ออกมาเสมอ และอีกอย่างตราบใดที่คนยังต้องการใช้เงิน แบงก์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ยังต้องรับฝากและปล่อยเงินกู้ นักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตราบนั้น" ชัยภัทร กำจัดดัสกรทนายความประจำสำนักงานกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็ค เค็นซี่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับให้เหตุผลถึงการก้าวเข้ามาให้ความสนใจกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเป็นพิเศษ

ชัยภัทรเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานกับธนาคาร ถวัลย์ กำจัดดัสกร ผู้เป็นพ่อทำงานกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจนเกษียณอายุ ส่วนแม่คือสมใจ กำจัดดัสกร ทำงานอยู่กับธนาคารแสตนดาร์ดชาเตอร์ด สาขาประเทศไทย แต่ตัวเองไม่ต้องการทำงานแบงก์หรือรับราชการ จึงเลือกเรียนกฎหมายเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและทุกคนจะต้องรู้จะต้องใช้อยู่ทุกวัน แต่ไม่ชอบที่จะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจหรือทนายความที่ว่าคดีตามศาล เพราะตลอดทั้งวันจะต้องพบแต่ความขัดแย้งความเศร้าสลดใจ คงไม่สนุกนัก !

ชัยภัทรเลือกเป็นทนายความที่ให้คำปรึกษาด้านการเงิน เพราะเป็นงานที่ทุกคนก็ได้เงิน ช่วยเหลือคนในการทำมาค้าขายมีแต่ความสบายใจ ธนาคารก็ได้ปล่อยกู้หากำไร คนกู้ก็ได้เงินไปลงทุนหากำไร

ปีนี้ชัยภัทรอายุเพียง 30 ปีด้วยคความที่เป็นคนเรียนจบเร็วและก็กระโดดเข้าทำงานด้านทนายความตั้งแต่วันแรกที่จบก็เลยผ่านงานมามากพอสมควร ทั้งที่เป็นลูกน้องในสำนักงานอื่น ออกมาตั้งสำนักงานเองกับพรรคพวกอันเป็นบทเรียนที่มีค่าพอสมควรก่อนที่จะกระโดดเข้ามาอยู่กับเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่จนถึงปัจจุบัน

ชัยภัทรเรียนจบชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักก่อนที่จะสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เวลาเรียน 4 ปีจบออกมาพร้อมกับเกียรตินิยม ใช้เวลาอีกเพียง 1 ปีเรียนเนติ-บัณฑิตไทย ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนปริญญาโททางกฎหมายอีกหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นก็กลับเข้ามาทำงานกับบริษัทกฎหมายสากลเป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งก็เหมือนกับคนหนุ่มทั่ว ๆ ไปที่ต้องการมีอะไรเป็นของตัวเองไม่ว่ากิจการจะกำไรหรือขาดทุนก็ยังมีความรู้สึกรับผิดชอบ หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงได้ลาออกมาร่วมกับพรรคพวกเปิดสำนักงานกฎหมายเป็นของตัวเอง

สำนักงานเดชอุดม วิชาและชัยภัทร คือชื่อสำนักงานที่พวกเขาร่วมกันตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2528 แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวชัยภัทรเป็นฝ่ายขอแยกตัวออกมาก่อนด้วยเหตุผลที่บอกว่าแนวความคิดในการบริหารและการจัดการไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่นัก

ปัจจุบันสำนักกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ไม่มีชื่อชัยภัทรร่วมอยู่ด้วยเท่านั้นเอง

อีกบทเรียนหนึ่งที่ชัยภัทรบอกกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมาก็คือว่าการอยู่ในสำนักงานขนาดเล็ก แม้จะมีอิสระ มีงานทำมีเงินใช้อย่างสม่ำเสมอแต่ไม่มีงานใหญ่ ๆ ให้ทำ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว คิดว่าขนาดของงานที่จะทำมีความหมายอย่างมากต่ออนาคตของเขา เพราะยังเป็นคนหนุ่มถ้าไม่เคย ทำงานเกี่ยวกับโครงการใหญ่ ๆ ก็จะเสียโอกาสไปเปล่า ๆ

การเข้ามาอยู่เบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวังเพราะเป็นสำนักกฎหมายขนาดใหญ่ มีสำนักงานสาขาอยู่ทั่วโลกซึ่งได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนจากต่างประเทศมายาวนาน นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงมักจะเลือกใช้บริการเบเกอร์เสียส่วนใหญ่ และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินทางสำนักงานก็มักจะมอบหมายให้ชัยภัทรเป็นคนเข้าไปดำเนินการ

"ที่มาอยู่เบเกอร์เพราะที่นี่มีงานใหญ่ ๆ ให้ทำมาก ทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอซึ่งความจริงแล้วการเป็นทนายความนั้นจะต้องทำให้ได้ทุก ๆ อย่าง รอบด้านในขณะเดียวกันก็ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย ที่นี่ก็พยายามให้จับทางด้านกฎหมายการเงิน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ๆ เริ่มตั้งแต่โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ โครงการทางด่วนระยะที่ 2 ก็ทำมาเรื่อย ๆ" ชัยภัทรพูดถึงงานที่ผ่านมาซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยอยู่กับสำนักงานขนาดเล็กสองแห่งไม่ค่อยจะได้มีโอกาสทำนัก

ความท้าทายสำหรับนักกฎหมายด้านการเงินในประเทศไทยก็คือกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังพัฒนาไปไม่ทันกับธุรกิจธนาคาร ไม่ว่าจะในด้านการระดมเงินหรือการปล่อยเงินกู้ ทั้งนี้ก็ต้องว่ากันตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวช้องกับตั๋วสัญญาใช้เงิน กฎหมายค้ำประกัน จำนอง จำนำ ไปจนถึงกฎหมายล้มละลาย

"เช่นด้านการระดมเงิน ซึ่งจะต้องใช้ตั๋วเงินหรือจะต้องใช้อะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือรองรับรูปแบบและวิธีการอาจไม่ยากเพราะสามารถดัดแปลงมาจากต่างประเทศได้ แต่ด้านกฎหมายที่จะรองรับมันไม่มี ความเชื่อมั่นหรือความคล่องตัวของรูปแบบการระดมทุนนั้น ๆ ก็ไม่มี หรือทางด้านเงินกู้ ถ้ากู้โดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างทั่ว ๆ ไปก็ไม่มีปัญหา แต่บางโครงการมันไม่อาจหาที่ดินมาค้ำได้จนครบถ้วนอาจด้วยเหตุผลว่าโครงการมันต้องใช้เงินลงทุนมากมีที่ดินเท่าไหร่ก็ไม่พอ หรือถึงแม้จะมีที่ดินแต่ตัวโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับที่ดินเลย โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่เอกชนไปลงทุนให้กับรัฐบาล" ชัยภัทรกล่าวถึงอุปสรรคตัวกฎหมาย

ฉะนั้นความท้าทายของนักกฎหมายก็คือว่าจะทำอย่างไรให้ลูกความซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคาร ผู้ปล่อยกู้มีหลักประกันที่หนาแน่นมากขึ้นตามสภาพของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ชัยภัทรบอกว่างานของเขาส่วนใหญ่ทำให้กับแบงก์หรือสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ให้แก่โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเนื้อหาสำคัญก็คือทำสัญญาในแต่ละระดับให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้ผู้ปล่อยกู้ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ค่อยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในขณะที่กฎหมายไทยรับรองเอาที่ดินเป็นหลักทรัพย์ที่ดีที่สุด

เขากล่าวว่าโครงการลงทุนใหญ่ ๆ ความสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นในการทำสัญญาให้การสนับสนุนทางการเงินจะต้องเป็นสัญญาที่เปิดช่องให้แบงก์เจ้าหนี้สามารถเข้าไปดำเนินการควบคุมหรือแก้ไขได้ในทันทีเมื่อมีปัญหา เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้จนกว่าจะสำเร็จมีรายได้กลับเข้ามาชำระหนี้แบงก์

ความจริงแล้วธุรกิจการเงินในประเทศจะคล่องตัวมากขึ้นถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาที่ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลถึงการลงทุนในการพัฒนาประเทศอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการรับช่วงสิทธิหรือสวมสิทธิต่าง ๆ ของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้รวมไปถึงการรับรองและคุ้มครองธนาคารเจ้าหนี้ที่จะเข้าไปแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ต้องประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านทนายความก็เช่นเดียวกัน การมีกฎหมายรองรับชัดเจนจะทำให้ทนายความทำงานง่ายขึ้น เพราะว่ากฎหมายเปรียบเสมือนเครื่องมือของทนายความนั่นเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us