|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2534
|
|
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2533 มูลค่า 10,000 กว่าล้านบาท ซึ่งมีการจัดเซ็นสัญญาอย่างใหญ่โตพิสดาร มีสถาบันการเงินที่ร่วมปล่อยกู้เป็นจำนวนมากกว่า 20 แห่ง ทั้งภายในและต่างประเทศคือ อรดี รุ่งเรืองโรจน์ กรรมการผู้จัดการแห่งวอร์ดลีประเทศไทย
ชื่อของกลุ่มวอร์ดลีนั้นรู้กันอยู่ในวงการว่าเป็นกลุ่มสถาบันการเงินสำคัญในเครือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ซึ่งเพิ่งจะมีข่าวโด่งดังเรื่อง การย้ายทรัพย์สินออกจากเกาะฮ่องกงไปไว้ที่เกาะอังกฤษเพื่อความมั่นใจของผู้ถือหุ้น
บริษัทแรกที่เป็นหัวหอกของวอร์ดลีเข้ามาเปิดดำเนินการคือวอร์ดลีประเทศไทย เมื่อปี 2514 มีการประกอบกิจการด้านเงินทุนครบทุกประเภทแต่ด้านหลักทรัพย์นั้นทำได้เพียงการลงทุนในพอร์ตฯ ของบริษัทฯ ไม่ได้เป็นนายหน้าและไม่ได้ทำจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น
ปีต่อมาวอร์ดลีซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ก็เข้ามาเปิดตัวบ้าง โดยมีบริการหลายอย่าง ซึ่งว่าไปแล้วล้วนเป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นที่นิยมสนใจในธุรกิจการเงินของไทยสักเท่าไหร่
อย่างเรื่องการบริหารเงินในลักษณะที่เรียกว่า PRIVATEBANKING คือรับฝากเงินและบริหารเงินให้ลูกค้าในสกุลเงินประเภทต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกการทำ TREASURY หรือ TRADING คือหน่วยบริหารและค้าเงินตรา
ลักษณะการดำเนินธุรกิจเช่นนี้มีแพร่หลายในต่างประเทศมานานแต่กว่าจะเป็นที่รู้จักในวงการเงินไทยนั้นก็เพิ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจประเภทนี้
ธุรกิจในไทยของวอร์ดลีเริ่มเบ่งบานมากขึ้นในช่วงที่วงการเงินไทยเริ่มพัฒนาซับซ้อนกว่าเดิม วอร์ดลีแนะนำและพัฒนา 3 หน่วยงานหลักเข้ามาในประเทศไทยคือวอร์ดลีทอมสัน เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ค้าทอง เงินและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ในตลาด SPOT และ OPTION ในประเทศไทยนั้นมีการทำสัญญาร่วมบริหารกับบงล.คาเธ่ย์ทรัสต์ ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2533 โดยวอร์ดลี ทอมสันเป็นผู้ให้คำแนะนำระบบค้าหลักทรัพย์ การจัดระบบข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ส่งคนของคาเธ่ย์ฯ ไปฝึกอบรมและดูงานที่ตลาดฮ่องกง
นอกจากนี้ยังมีวอร์ดลี คอปอเรท ไฟแนนซ์ ซึ่งร่วมให้คำแนะนำทางด้านการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น หรือนัยหนึ่งคือให้คำแนะนำในกิจกรรมทางด้านตลาดทุน รวมทั้งเรื่องการออกหุ้น หุ้นกู้และอื่น ๆ ในจังหวะที่ประเทศไทยมีโครงการใหญ่ ๆ จำนวนมากคือบริษัทวอร์ดลีแคปิตอล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและจัดหาเงินกู้แก่โครงการต่าง ๆ กิจกรรมหลักของบริษัทฯ นี้ อยู่ในตลาด DEBTFINANCING ซึ่งปรากฏว่ามีผลงานสำเร็จไปหลายโครงการแล้ว
เช่นการจัดหาแหล่งเงินเพื่อซื้อเครื่องบินแอร์บัส 300-600ให้การบินไทยมูลค่า 62.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เทคนิค LEVERAGE LEASING ในประเทศฝรั่งเศส
อรดีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การกู้เงินประเภทนี้จะเป็นการใช้สิทธิทางภาษีจากประเทศผู้ลงทุนในกรณีนี้ คือฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ได้รับประโยชน์จากวิธีนี้มากกว่าวิธีธรรมดา 8-10% ของจำนวนที่ให้กู้ เรามีทีมงาน AVIATION FINANCE ที่ใหญ่มาก อย่างเมื่อปี 2531 มูลค่าการหาแหล่งเงินกู้ด้านนี้มีถึง 580 ล้านเหรียญสหรัฐ"
ทั้งนี้ AVIATION FINANCE TEAM ของวอร์ดลี แคปิตอลได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ชำนาญงาน LEVERAGE LEASING ซึ่งมีผู้ครองตลาดอยู่เพียง 3-4 รายเท่านั้น
อีก 3 โครงการสำคัญซึ่งนำชื่อเสียงมาให้วอร์ดลี แคปิตอลคือโครงการผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ของบริษัทเพอรอกซีไทย มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ และโครงการสร้าง FLATTED FACTORY ของบริษัทบางกอกแอร์พอร์ตอินดัสตรี ในเครือเมืองทองธานี
อรดีกล่าวว่า "สองโครงการแรกเป็นการกู้แบบ LIMITED RECOURSE FINANCING หรือ PROJECT FINANCE คือดูความเป็นไปได้ของตัวโครงการ โดยที่ไม่ต้องมีการค้ำประกันจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด วิธีกู้แบบนี้เป็นวิธีที่ดีและเหมาะกับโครงการใหญ่ ๆ ของไทยเวลานี้"
ก่อนที่จะมาร่วมงานกับวอร์ดลีและรับผิดชอบงานโปรเจกต์ ไฟแนนซ์สำคัญ ๆ อรดีเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตลาดหนี้และทุนมามากกว่า 15 ปี
อรดีเริ่มต้นงานที่ฝ่ายหนี้สินและหลักทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทยแล้วย้ายมาอยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลังกลับจากลาไปเรียนเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย รับผิดชอบการบริหารสินเชื่อของธนาคาร ฯ และการวิเคราะห์เครดิตลูกค้า
ต่อมาย้ายไปทำงานด้านสินเชื่อที่วอร์ดลีประเทศไทย แล้วลาออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ กับบริษัทพัฒนาทางการเงินหรือ DEVELOPMENTAL FINANCIAL INSTITUTION ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง บางครั้งมีการร่วมลงทุนด้วย บริษัทนี้ชื่อ PRIVATE INVESTMENT COMPANY FOR ASIA หรือ PICA มีสำนักงานใหญ่ที่ สิงคโปร์ มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติและธนาคารต่างประเทศกว่า 200 แห่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อ PICA ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่ม ELDERS FINANCE แห่งออสเตรเลียแล้วกลายเป็น ELDERS PICA GROUP และในที่สุดเป็น ELDERS FINANCE LTD. ต่อมาอรดีก็กลับมาทำงานที่วอร์ดลีอีกครั้งในปี 2530 คราวนี้ ในตำแหน่งสูงถึงกรรมการผู้จัดการทีเดียว
อรดีเล่าว่า "มันเป็นจังหวะที่เมืองไทยมีโครงการใหญ่ ๆ ทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายอย่างวอร์ดลีก็เสนอตัวเข้าไปให้คำปรึกษาแทบจะทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ทางด่วนยกระดับ ขนส่งมวลชน ปิโตรเคมี"
โครงการ ที่วอร์ดลีกำลังดูอยู่ในเวลานี้คือโครงการเคเบิลใต้น้ำและโครงการใน NPC // COMPLEX
อรดีเผยเคล็ดความสำเร็จในการทำโปรเจกต์ ไฟแนนซ์ ของเธอว่า "ข้อได้เปรียบอยู่ที่บุคลากรที่ดี มีความสามารถ และเรื่องเครือข่ายความชำนาญในทั่วโลก เราสามารถจัดโครงสร้างให้โครงการหนึ่ง ๆ เป็น REAL PROJECT FINANCING ที่เป็นแบบ STAND ALONE คือไม่ต้องดูผู้ถือหุ้นแต่ดูที่ความเป็นไปได้ของตัวโครงการเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนมากนั้นลูกค้าจะพึงพอใจผลงานในด้านนี้ของเรามาก"
ความสำเร็จอย่างเงียบ ๆ ในการทำโปรเจกต์ ไฟแนนซ์ ของวอร์ดลีส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงที่คล่องแคล่วคนนี้ เธอค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากที่ทำแค่เรื่องวิเคราะห์สินเชื่อ บริหารพอร์ตโฟลิโอด้านสินเชื่อแบงก์ มาสู่การจัดหาแหล่งเงินกู้ ทำ LOAN SYNDICATION และ PROJECT FINANCE ในที่สุด
อรดีเชื่อมั่นว่า "ตลาดด้านนี้ยังพัฒนาไปได้อีกไกล"
|
|
|
|
|