|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2534
|
|
ทันทีที่ศุภชัยเข้าสวมตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทย เขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในแบงก์แห่งนี้มากมายกว่ายุคใด ๆ เขามีเป้าหมายชัดเจน ที่จะนำแบงก์นี้สู่การเติบโตอย่างระมัดระวัง มีเงินกองทุนที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกัน ก็จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เป้าหมายนี้ท้าทายฝีมือการบริหารของเขามากว่าจะทำอย่างไร ภายใต้ธรรมชาติที่แบงก์นี้เป็นกึ่งราชการทหารกึ่งเอกชน
กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พลเอกสุจินดา คราประยูร กรรมการแบงก์ทหารไทย ได้เสนอบอร์ดให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่สืบต่อ อนุตร์ อัศวนนท์ ที่เกษียณและในที่ประชุมบอร์ดที่มีพลเอกประยุทธ จารุมณี นั่งเป็นประธาน ก็เลือกศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการที่ปรึกษาผู้บริหารแบงก์ทหารไทย ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนอนุตร์ ซึ่งทำงานกับแบงก์นี้มานานถึง 31 ปี เป็นที่ปรึกษากรรมการบริหาร แม้ว่าในส่วนลึกความต้องการของอนุตร์ จะต้องการเป็นกรรมการบริหารก็ตาม เนื่องจากตำแหน่งที่ปรึกษาไม่มีบทบาทอะไรสำคัญมากไปกว่าให้คำปรึกษาช่วยเหลือตามที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ร้องขอเท่านั้น ซึ่งเวลานี้ข้อเท็จจริง อนุตร์ก็ไม่ได้มาที่แบงก์แต่อย่างใด
การที่บอร์ดแต่งตั้งศุภชัยจากกรรมการที่ปรึกษาผู้บริหาร มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารงานธุรกิจของแบงก์ทุกด้านนั้น มีเหตุผลที่มาอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการแบงก์มีข้อผูกมัดกับศุภชัยตอนชวนให้เข้ามาทำงานเป็นกรรมการที่ปรึกษากรรมการบริหารแบงก์ว่า หลังอนุตร์ เกษียณจะโปรโมทให้เขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สอง-ศุภชัยเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและกำกับธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติ มาเป็นเวลา 3 ปี บวกกับเป็นกรรมการที่ปรึกษากรรมการบริหารแบงก์อีก 2 ปี เขาจึงเป็นคนที่รู้เรื่องฐานะและสภาพการดำเนินงานของแบงก์ทหารไทยดีที่สุด
แบงก์นี้ขาดผู้บริหารระดับสูงที่มีความรู้ความสามารถในการมองทิศทางก้าวไปข้างหน้า ของแบงก์เคียงคู่กับภาพรวมเศรษฐกิจมานานแล้ว ทั้งที่สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำแบงก์สมัยใหม่ที่มีการแข่งขันสูง
"ผมมองตัวผมเองในฐานะนักวางยุทธศาสตร์ของแบงก์" ศุภชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" สมัยเมื่อเขาเป็นกรรมการที่ปรึกษาผู้บริหาร
แบงก์ทหารไทยมีผู้บริหารระดับสูงที่เติบโตมาคู่กันอยู่หลายคน เช่นอนุชาต ชัยประภา วิทยา สุพันธุวนิช เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ทำงานอยู่กับแบงก์มานานนับ 3 ทศวรรษ อนุชาตนั้นโดยส่วนตัวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทส่วนบุคคลของแบงก์นี้ด้วยไม่เพียงแต่เป็นผู้บริหารระดับสูง
อนุชาต เป็นนักบัญชีที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านปฏิบัติการธนาคาร ภาพพจน์ของอนุชาตในวงการนักบัญชีด้วยกันเป็นที่ยอมรับกันในระดับสูง" สมัยผมอยู่แบงก์ชาติ ผมยอมรับในความรู้ความสามารถด้านการทำบัญชีของคุณอนุชาตมาก" ศุภชัยพูดถึงอนุชาต สมัยที่เขาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่แบงก์ชาติ
สมัยอนุตร์ อัศวานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ อนุชาตกินตำแหน่งเป็นรอง ขณะที่ศุภชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาที่มานั่งทำงานประจำที่แบงก์ทุกวัน ห้วงเวลานั้น ในหมู่ลูกค้าของธนาคารทหารไทยหลายรายมีความเห็นที่เชื่อมั่นอยู่แล้วว่า ศุภชัยจะก้าวขึ้นไปเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อจากอนุตร์ เพราะเหตุว่าเป็นคนของพลเอกชวลิต ที่ถูกชวนมาทำงานที่แบงก์และเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูง แม้จะไม่เคยทำแบงก์มาก่อนแต่การที่มานั่งเป็นที่ปรึกษาทุกวัน และให้คุมสายงานธนาคารต่างประเทศ วางแผนตรวจสอบคอมพิวเตอร์และพัฒนาบุคคล เป็นการบ่งบอกถึงอนาคตอยู่แล้ว นอกจากนี้ การที่เคยนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลเปรม และผ่านการเป็น ส.ส มาแล้ว ย่อมเป็นคนที่มีบารมีพอสมควรในหมู่พ่อค้านักธนาคารนักการเงิน
การคาดหวังของพ่อค้าที่มีต่อตำแหน่งในแบงก์ทหารไทยของศุภชัยในเวลานี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ก็ดูจะสงสัยอยู่บ้างเมื่อบอร์ดใหญ่ของธนาคารได้แต่ตั้งอนุชาต ชัยประภา เป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปด้วย" มันแปลกที่มีกรรมการผู้จัดการ 2 คน ลูกค้าแบงก์รายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ" ด้วยท่าทีสงสัยเมื่อทราบข่าว
ความสงสัยนี้ได้ถูกโยงเข้ากับความพยายามที่จะวิเคราะห์เหตุผลของบอร์ดแบงก์ว่าที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อประนีประนอมหน้าตาและกำลังใจให้อนุชาต ก็ด้านหนึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นลูกจ้างที่รับใช้แบงก์มานานนับสิบ ๆ ปี จนรู้จักแบงก์นี้ดีที่สุดกว่าใคร ๆ
ว่ากันจริงแล้ว ตามหลักการทั่วไปขององค์กรหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด ๆ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารนั้นมีได้เพียงคนเดียวเพราะต้องรับผิดชอบต่อข้อผูกพันในผลการดำเนินงานบริษัทที่มีต่อผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัทที่ตนเองได้สัญญาไว้
ที่แบงก์ทหารไทยก็เช่นกัน แม้ทั้งศุภชัยและอนุชาตจะมีตำแหน่งที่ถูกเรียกชื่อว่ากรรมการผู้จัดการเหมือนกัน แต่โดยแท้จริงแล้วศุภชัยก็คือหัวหน้าคณะผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในผลการดำเนินงานต่อผู้ถือหุ้น และกรรมการธนาคารสูงที่สุดทั้งในแง่รับผิดและรับชอบ
มองจากแง่นี้ การที่เมื่อวันที่ 3 เดือนมกราคม ที่พลเอกประยุทธ จารุฒรี ประธานกรรมการอนุมัติโครงสร้างอำนาจหน้าที่การบริหารตามที่ศุภชัยเสนอความเห็นชอบจึงเป็นเพียงการกระจายแบ่งสายงานควบคุมการบริหารเท่านั้น อำนาจและความรับผิดชอบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสายงานสนับสนุนและหารายได้ ที่อนุชาต วิทยา และวีรศักดิ์ ดูแลบริหารอยู่ต้องรับนโยบายและรายงานการปฏิบัติงานให้ศุภชัยทราบทุกระยะที่เขาต้องการ
ศุภชัย ได้วางเป้าหมายในผลการดำเนินงานของแบงก์อยู่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง จะต้องทำกำไรให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นให้มากขึ้นทุกปี และสอง-สร้างเงินกองทุนให้แข็งแรงขึ้น เพื่อลดภาระการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นในอนาคต
เป้าหมาย 2 ข้อนี้ คือสาระสำคัญที่เขามีข้อผูกพันต้องทำให้สำเร็จตามนโยบายของกรรมการธนาคาร
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของเป้าหมายบริหารแบงก์ ก็มีอยู่ 2 ข้อ ที่เขาได้บอกกล่าวถึงคณะกรรมการบริหารไว้ชัดเจนคือ หนึ่ง- เขาต้องการสร้างความชำนาญเฉพาะสาขาและผู้บริหารให้เกิดขึ้น สอง-เขาต้องการให้ระบบสาขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ทั้งในแง่ธุรกิจและการกำกับตรวจสอบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบสาขาต้องสามารถหาเงินฝาก ปล่อยสินเชื่อรับผิดชอบต้นทุนสูงกำไรด้วยตัวเอง
เป้าหมายที่เขาต้องรับผิดชอบในความสำเร็จ และล้มเหลวตลอดห่วงอยู่ 4 ปี จากนี้ไป นโยบายของศุภชัยอย่างมากๆ เพราะเขาต้องทำการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างทั้งในแง่ระบบและวัฒนธรรมการทำงานของแบงก์นี้ โดยที่ไม่สร้างความแตกแยกหรือขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่ผู้บริหารที่แต่ละคนทำงานอยู่กับแบงก์มานาน
ศุภชัยยอมรับว่าเป้าหมายการดำเนินการที่เขามีผลต่อพลเอกประยุทธ ประธานกรรมการแบงก์นั้น เป็นเรื่องที่หนักใจมาก ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อมั่นในทีมงาน และทรัพยากรของแบงก์ที่มีอยู่ แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติขององค์กร นี้ที่มีลักษณะกึ่งราชการกึ่งเอกชน เหมือนธนาคารทหารไทย
แบงก์ทหารไทยมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่กว่า 30% เป็นสถาบันทหารทั้งสามเหล่าทัพ กรรมการแบงก์ส่วนใหญ่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพทั้งสิ้น ธุรกิจให้บริการทางการเงินของแบงก์นี้ผูกพันกับความต้องการของกองทัพมายาวนาน ตลอดตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อกว่า 30 ปีก่อน "ความต้องการสินเชื่อของกองทัพไม่ว่าจะเป็นอะไร เราปฏิเสธไม่ได้ แม้จะทราบดีว่ากำไรแทบไม่มีก็ตาม" อดีตแบงก์ระดับสูงแบงก์ทหารไทย เล่าให้ฟังถึงความผูกพันที่แบงก์นี้มีต่อกองทัพ
ในอดีตยุค สุขุม นวพันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ความผูกพันในเชิงธุรกิจกับกองทัพเป็นจุดแข็งให้แก่แบงก์มากกว่าจะเป็นจุดอ่อน เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากจากค่าโอเวอร์เฮด ไม่สูงเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากแหล่งเงินฝากจากทหารสามเหล่าทัพ และงบราชการกลับมีมากพอต่อการบริหารสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อที่ส่วนใหญ่ จำกัดวงอยู่กับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและการจัดซื้ออาวุธอุปกรร์ของกองทัพ "ลำพังแบงก์กินค่าธรรมเนียมจากการเปิดแอลซี ซื้ออาวุธของกองทัพก็คุ้มแล้ว" คนเก่าของแบงก์กล่าวถึงที่มาของรายได้ ที่ทำกำไรดีพอที่จะชดเชยครอบคลุมส่วนกำไรจากดอกเบี้ยที่หดหายไปจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อสวัสดิการของกองทัพ
แต่หลังยุคสุขุมพ้นไปแล้ว ตลาดการเงินของแบงก์เริ่มเปลี่ยนไปสิ้นเชิง แบงก์เริ่มทำธุรกิจกับลูกค้าเอกชนหลากหลายประเภทมากขึ้น เป็นการฉีกแนวที่จำกัดวงอยู่กับการก่อสร้างเหมือนในอดีตออกไป การเติบโตที่เกิดขึ้นเป็นการอาศัยฐานเงินฝากจากพ่อค้าประชาชนทั่วไป แล้วมาปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้านักธุรกิจต่าง ๆ สินทรัพย์ของแบงก์เริ่มใหญ่ขึ้นจากประมาณ 26,000 ล้าน เมื่อปี 2526 มาเป็น 89,000 ล้าน ในปี 2532 และทะลุเกิน 100,000 ล้าน เมื่อสิ้นกันยายนปีที่แล้ว พร้อม ๆ กับส่วนเหลื่อมกำไรจากดอกเบี้ยเริ่มลดลงจาก 3.1 ใน ปี 2530 เหลือ 3.08 % ในปี 2522
ยิ่งเมื่อนำส่วนที่เหลือกำไร จากดอกเบี้ยไปเทียบกับระบบแล้ว แบงก์ทหารไทย ก็ยิ่งมีความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่า เช่นปี 2522 ระบบทำกำไร ได้ 3.10% ขณะที่ธนาคารทหารไทย ทำได้ 3.08 % และปี 2533 คาดว่าระบบจะทำกำไรได้ 3.70 ขณะที่ทหารไทยจะทำได้เพียง 3.3 % เท่านั้น
ผลการดำเนินงานในเรื่องความสามารถทำกำไร ตรงนี้ศุภชัยยอมรับข้อเท็จจริง โดยเขาชี้ให้เห็นว่า มันเป็นผลที่โยงมาจากสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ หนึ่งคือ -แบงก์ต้องจัดสรรเงินสินเชื่อจำนวนมาก ปี ๆ หนึ่ง ไม่น้อยกว่า 20 % ของพอร์ตโฟลิโอ ไปยังโครงการสวัสดิการทหาร ตำรวจและครู ที่แบงก์ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามหลักกลไกราคา และต้นทุนทำให้สินเชื่อเหล่านี้สะท้อนกลับมาเป็นภาระของแบงก์มากกว่า สอง-โครงสร้างพอร์ตโฟลิโอ สินเชื่อของแบงก์มีการใช้วงเงินของลูกค้ารายใหญ่มากเกินไป ขณะที่ดอกเบี้ยถูกคิดในอัตราสูงกว่า เอ็มแอลอาร์ เล็กน้อยเท่านั้น และสาม-ช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา แบงก์มีการลงทุนขยายสาขาเปิดใหม่จำนวนมาก คิดเทียบกับจำนวนสาขาที่มีอยู่ 182 สาขา เกือบ 50% ของจำนวนสาขาทั้งหมด ที่มีอยู่ในขณะนี้ มาจากการเปิดใหม่ช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น ซึ่งสาขาที่เปิดใหม่เหล่านี้ ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี จึงจะคุ้มทุน
สาเหตุ 3 ประการนี้ กล่าวสำหรับข้อสอง และสามแล้ว เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ในระดับนโยบายและอำนาจหน้าที่ของศุภชัย แต่ที่หนักใจอยู่ที่ข้อแรก "การให้ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำไปกับราชการ ขณะที่ผู้ถือหุ้นต้องการเงินปันผลสูง มันเป็นความขัดแย้งกันที่ผมต้องหาทางสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น"
ศุภชัยอาศัยเงื่อนไขที่พลเอกประยุทธประธานกรรมการมานั่งทำงานที่แบงก์ทุกวัน เป็นช่องทางสอดแทรกความคิดเชิงนโยบายในการกำหนดทิศทางของแบงก์ เรื่องการปล่อยให้ผู้บริหารเดินหน้าทำกำไรเพื่อสร้างเงินปันผลสูงแก่ผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่ และลดวงเงินสินเชื่อเพื่อช่วยสวัสดิการข้าราชการลง หรือไม่ก็คิดดอกเบี้ยสูงขึ้น
นอกจากนี้ในประเด็นเป้าหมายการสร้างสมเงินกองทุนให้แข็งแรงเพื่อลดภาระการเพิ่มทุนใหม่แก่ผู้ถือหุ้น ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ความต้องการของผู้ถือหุ้น กับความต้องการของศุภชัยยังชัดเจนกันอยู่ในส่วนลึก
เขามีความเชื่ออย่างที่แบงก์ชาติเชื่อในเรื่องการสร้างความมั่นคงให้กับเงินกองทุนโดยวิธีการตั้งสำรองสูง ๆ เอาไว้ เพราะว่าแบงก์ที่มีเงินกองทุนสะสมสูงมาก ๆ แบงก์จะได้กำไรดี และมีความมั่นคงระยะยาว" แต่สิ่งนี้มักสวนทางกับความต้องการของผู้ถือหุ้น ที่มักหวังผลในระยะสั้นจากปันผลที่สูง"
สิ้นกันยายน ปี 2523 แบงก์ทหารไทย มีฐานะ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์ อยู่ในสัดส่วน 5.07% เท่านั้น หนทางที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้ โดยไม่ต้องเพิ่มทุนมีหนทางเดียวเท่านั้น คือการตั้งกำไรสำรองทั่วไปเพิ่มขึ้น ซึ่งหนทางที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้ได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุนมีหนทางเดียวเท่านั้น คือการตั้งกำไรสำรองทั่วไปเพิ่มขึ้น ซึ่งหนทางนี้ จะไปกดการจ่ายเงินปันผล ซึ่ง 4 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2529 แบงก์จ่ายปันผล หุ้นละ 20 บาท มาตลอด และปี 2533 ก็คาดว่า เงินปันผลจะเพิ่มเป็นหุ้นละ 21 บาท แน่นอน
การสวนทางกันในประเด็นความต้องการนี้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โยงเข้ากับความยากลำบากของศุภชัย ที่จะต้องหาทางสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในห้วง เวลาที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่แบงก์แห่งนี้
การคาดหวังในการเลี้ยงตัวเองของสาขา ที่มีความหมายลึกไปถึงการพยายามให้สาขาทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินที่สมบรูณ์แบบทั้งการระดมเงินฝาก การปล่อยสินเชื่อและการบริหารต้นทุนกำไรกันเองทั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบและวัฒนธรรมของการบริหารแบงก์นี้อย่างมากมาย นับตั้งแต่ก่อตั้งมา ทัศนภาพ (vision) ของผมต่อประเด็นนี้คือ การพยายามลดบทบาทอำนาจและอิทธิพลของสำนักงานใหญ่ที่มีต่อสาขาลง เพื่อเป็นการกระจายอำนาจการทำธุรกิจแก่สาขามากเพิ่มขึ้น ศุภชัยกล่าวถึงที่มาจากแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการบริหาร
ในปัจจุบันสาขาเขตกลางคือนครหลวงและปริมนฑล มีความสามารถในการระดมเงินออมได้สูงถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท แต่มีการปล่อยสินเชื่อออกไปไม่ถึง 50% บทบาทสาขาที่สังกัดเขตนครหลวง จึงทำหน้าที่เพียงแค่เป็นกลไกหาเงินฝากเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นดังนี้ เนื่องจากกลไกการปล่อยสินเชื่อถูกโยงอำนาจและการพิจารณาบริหารสินเชื่อไปที่สำนักงานใหญ่
สำนักงานใหญ่ในยุคสมัยประยูรและอนุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ จะทำหน้าที่เข้ามาควบคุมการปฏิบัติสินเชื่อโดยผ่านทนง ลำใย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารระดับฝ่ายเพียง 2-3 คน เช่นปรียานุช สิทธิไชย เนื้อนวล สวัสดิกุล ณ อยุธยา และปฏิภาร กาฐจนวิโรจน์
แม้หลักปฏิบัติ จะมีคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อตามขนาดวงเงินก็ตาม แต่ทางเดินของสินเชื่อก่อนเข้าบอร์ด ก็มากระจุกตัวที่ผู้บริหารในสำนักงานใหญ่เพียงไม่กี่คน ถ้าสินเชื่อมีปริมาณมาก ก็จะทำให้การพิจารณาล่าช้า และถ้าต้องการเร็วก็อาจทำให้วิธีการบริหารสินเชื่ออาจหย่อนยานลง ทางด้านลูกค้าก็ไม่ได้รับความสะดวกในระดับสาขา ต้องตามเรื่องที่มาจากสำนักงานใหญ่
ความจริงแล้ว วัฒนธรรม การบริหารสาขาของระบบธนาคารพาณิชย์ ของไทยถูกำหนดอำนาจหน้าที่ เป็นกลไกในการระดมเงินออมเพื่อเป็นแหล่งเงินมาให้สำนักงานใหญ่ปล่อยสินเชื่อมานานแล้ว ยกตัวอย่าง สาขาของแบงก์ทุกแบงก์ที่อยู่ย่านเยาวราชมักเป็นสาขาที่ทำหน้าที่หาเงินฝาก พวกพ่อค้าย่านนั้น ถ้าต้องการใช้วงเงินจะติดต่อโดยตรงกับผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์อำนาจหน้าที่เช่นนี้ ผู้บริหารสาขาแต่ละแห่งส่วนใหญ่ จึงมักมีทัศนะคติที่มองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสาขาที่นั่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่เป็นคนมีบารมีสูง แบงก์ศรีนคร ยุคไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมสาขาเป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดถึงกรณีที่ว่านี้ ถึงขนาดเวลาที่เขาลาออกจาก แบงก์ศรีนครด้วยสาเหตุความขัดแย้งกันในบอร์ดบริหาร บรรดาผู้จัดการสาขาทุกคนต่างมาร่วมให้กำลังใจอำลาอาลัยกับเขา และอีกด้านหนึ่งเพื่อแสดงให้แบงก์เห็นถึงพลังความจงรักภักดีที่มีต่อนาย
ดังนั้น การดึงอำนาจกลับมาให้ที่สาขา จึงเป็นการตัดเงื่อนไขการสร้างอำนาจ และบารมีของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในสำนักงานใหญ่ลง สำนักงานใหญ่จะทำหน้าที่เพียงกำหนดเป้าหมาย จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และอาจเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อกับสาขาในกรณีวงเงินนั้นสูงเกินกว่าอำนาจสาขา อีกด้านหนึ่งเป็นการปูพื้นฐานให้สาขาเป็นศูนย์ทำกำไรให้แบงก์ เนื่องจากเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง-ตลาดความต้องการใช้สินเชื่อที่ระดับสาขาจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามทิศทางการลงทุนที่กระจายตัวออกจากรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดเนื่องจากในระยะยาวแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจจะหวังพึ่งการส่งออกเป็นด้านหลักคงไม่ได้ เพราะตลาดจะถูกปิดกั้นจากกลไกและนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของประเทศผู้นำเข้า
ดังนั้นการกระจายการลงทุนและการค้าในประเทศตามภูมิภาคต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต "ยกตัวอย่างทางอีสานตอนล่าง การเกิดธุรกิจการซ่อมรถ ต่อตัวถังรถมันจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับนิคมอุตสาหกรรม เพราะมันจะโยงเข้ากับโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ต้องการการขนถ่ายสินค้าที่ขึ้นจากเรือมาทางบก ทางเหนือธุรกิจบริการทางด้านโรงพยาบาลจะเกิดขึ้นมากเนื่องจากอยู่ในชัยภูมิที่มีอากาศดี ไลฟ์สไตล์ของคนมีเงินที่จะใช้บริการทางการแพทย์จะเปลี่ยนไปโดยมีการคำนึงถึงปัจจัยทางภูมิอากาศด้วย" ศุภชัยวิเคราะห์ภาพรวมทิศทางการเคลื่อนตัวของตลาดสินเชื่อในต่างจังหวัดในอนาคต สอง- พฤติกรรมความต้องการใช้บริการทางการเงินของลูกค้าระดับปานกลางและเล็กจากนี้ไป จะเริ่มต้นและจบลงที่สาขาทันที "มันเหมือนการเก็บภาพของกรมสรรพากรสมัยก่อน ที่รวมศูนย์การจัดเก็บที่สำนักงานใหญ่ ทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีไม่ได้รับความสะดวก แต่ปัจจุบันนี้ การเสียภาษีสามารถเสียได้ที่เขตที่สังกัด เพราะกรมสรรพากร กระจายอำนาจการจัดเก็บไปยังสาขาที่อยู่ในเขตที่ทำการอำเภอท้องที่ต่าง ๆ" ศุภชัยยกตัวอย่างการกระจายอำนาจการเก็บภาษีของกรมสรรพากรเปรียบเทียบ
การกระจายอำนาจการบริหารธุรกิจการเงินให้สาขา ว่าไปแล้ว เป็นสิ่งใหม่สำหรับแบงก์ไทยหลายแบงก์ ผู้จัดการสาขาบางรายอาจไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากต้องมีความรับผิดชอบสูงมากขึ้น โอกาสที่จะผิดพลาดในการปล่อยสินเชื่อและขาดทุนจากการบริหารสินเชื่อไม่ได้เป้า ความจริงจุดนี้เกี่ยวโยงกับนโยบายบริหารของผู้บริหารแบงก์ที่สำนักงานใหญ่ด้วย ที่มักจะเคยชินกับการวัดผลงานสาขาที่เน้นการเติบโต ไม่ได้วัดกันที่คุณภาพของผลงานที่อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไรเฉกเช่นเหมือนสาขาของแบงก์ต่างประเทศที่นิยมกัน
นอกจากนี้ การกำกับตรวจสอบสาขาที่สำนักงานใหญ่ต่างควบคุมดูแลก็ไม่สามารถทำได้ทั่วถึงดีพอ เนื่องจากจำนวนสาขามีเพิ่มขึ้นมาก และต้องเสียเวลาตรวจสอบมากตามปริมาณธุรกิจที่เติบโตขึ้น
มองในแง่นี้ การพัฒนาทัศนคติความรู้ในการจัดการธุรกิจการเงินแก่ผู้จัดการสาขาและการกระจายอำนาจการกำกับตรวจสอบสู่ระดับภูมิภาค หรือเขตที่สาขานั้นสังกัดอยู่ จึงเป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญในการควบคุมและกำกับการทำธุรกิจของสาขา "แนวคิดนี้ผมประยุกต์มาจากสมัยที่ผมอยู่ฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์แบงก์ชาติ" ศุภชัยเล่าให้ฟังที่มาการกระจายอำนาจสู่สาขา ด้วยวิธีให้สำนักงานสาขาภูมิภาคมีส่วนกำกับตรวจสอบประจำพื้นที่่ขึ้น เหมือนโครงสร้างสาขาแบงก์ชาติที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ
"เราไม่ต้องการใหญ่บนฐานของสินทรัพย์ เพราะสิ่งนี้ มันเร่งให้เรากระโจนเข้าแข่งขันด้านการหาเงินฝาก" ศุภชัยพูดถึงนโยบายการทำธุรกิจช่วงจากนี้ไปของแบงก์
แบงก์ทหารไทยเติบโตอย่างมากในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา ในยุคสมัยของ ประยูร จินดาประดิษฐ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเติบโตในช่วงเวลานั้น เน้นที่การขยายตัวด้านสินทรัพย์โดยวิธีการปล่อยสินเชื่อขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ๆ ที่ใช้วงเงินกว่า 500 ล้านขึ้นไป มีมากหลายสิบราย เช่น กลุ่มนครไทย สตีลเวอร์ค กลุ่มก่อสร้าง ช. การช่าง สี่แสงการโยธา กลุ่มน้ำตาลวังขยาย กลุ่มวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง กลุ่มพรหมวิวัฒน์ก่อสร้าง กลุ่มไทยเสรีห้องเย็น กลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผลเป็นต้น จากปี 2526 สินทรัพย์มีขนาด 21,000 ล้าน เพียง 7 ปี จากนั้นสินทรัพย์ ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100,000 ล้าน หรือเฉลี่ยโตปีละ 54% การเร่งเติบโตสินทรัพย์ กดดันให้แบงก์ต้องหาเงินฝากอย่างหนัก เพื่อมาปล่อยสินเชื่อที่กำลังมีความต้องการสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากภาวะการตกต่ำ
"ผมเห็นด้วยว่า ถ้าต้องการโตเร็วก็ต้องพึ่งฐานลูกค้ารายใหญ่เป็นสำคัญ" ศุภชัยกล่าวถึงการเติบโตของแบงก์ในยุคนั้น
แต่ช่วงจากนี้ไป ตลาดเงินฝากจะมีดอกเบี้ยแพงขึ้นทำให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อแพง ขณะที่ดอกเบี้ยที่คิดเอากับลูกค้ารายใหญ่แทบจะไม่มีกำไร" พอร์ตเงินฝากของแบงก์ทหารไทย ประมาณ 68% เป็นเงินฝากประจำ" บริษัทวิจัยแบริ่งสาขากรุงเทพ ระบุไว้ในรายงานของบริษัทประจำเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ปี 2534 ศุภชัยกำหนดเป้าหมายสภาพคล่องที่ 96% และสินเชื่อโตเพียง 20% ลดลงมาจาก 25% ของปีที่แล้ว นโยบายการปล่อยสินเชื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างน้อย 3 ประการ คือ หนึ่ง-จะเข้มงวดการพิจารณาใช้วงเงินของลูกค้ารายเก่ารายใหญ่ การอนุมัติวงเงินจะดูเป็นโครงการโครงการไป" ถ้าโครงการเก่ายังไม่เสร็จ จะไม่มีการให้โครงการใหม่อีกเหมือนในอดีต ที่มักขาดวินัยทางการเงินจุดนี้ไป" สอง- จะมีการกระจายประเภทของลูกค้าออกไปสู่รายกลางและรายย่อยมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง "ความจริง" ลูกค้าประเภทนี้เป็นลูกค้าชั้นดี กำไรก็คุ้ม" ศุภชัยให้เหตุผลถึงการกระจายสินเชื่อสู่รายย่อย และสาม-การเติบโตสินเชื่อของแบงก์จะมีทิศทางมากขึ้นว่าจะมุ่งไปที่ตลาดธุรกิจไหน เช่นจากนี้ไป การปล่อยสินเชื่อในธุรกิจเรียลเอสเตท จะควบคุมไม่เกิน 7% ของพอร์ตสินเชื่อรวมแต่ละปี ขณะเดียวกันธุรกิจที่แบงก์กำลังสนใจอยู่ที่เทเลคอมมิวนิเคชั่น เคมีภัณท์ โรงแรม และอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นทิศทางของประเทศในอนาคต
ศุภชัยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับมหภาคที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ประสบการณ์หลายปีที่เขาอยู่แบงก์ชาติผ่านงานทั้งสายวิชาการ การควบคุมการปริวรรต และกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ยังไม่รวมถึงผลงานทางวิชาการด้านนโยบาย การเงินการธนาคารอีกมากมาย เป็นสินทรัพย์ที่มีความหมายอย่างมากในการนำมาใช้ในการวางแผนกำหนดนโยบายสินเชื่อของแบงก์ที่มีตรรกะ
แต่นโยบายของเขาจะก้าวไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ อยู่ที่ความเข้าใจและความสามารถของผู้บริหารระดับปฏิบัติการว่าจะสามารถเข้าถึงนโยบาย และวิชั่นของเขาลึกซึ้งแค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้เกี่ยวโยงกับการจัดระบบองค์กร ที่เขากล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสุดในประวัติศาสตร์แบงก์นี้
"แบงก์ในสมัยใหม่ ฝ่ายการตลาดแยกออกมาโดด ๆ มันไม่ถูกต้อง เราต้องให้ทุกหน่วยงานที่ทำรายได้ทำการตลาดกันให้หมด ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงมา กล่าวอีกอย่าง ผมกำลังทำแบงก์ทหารไทยเป็นฝ่ายการตลาดกันทั้งแบงก์" ศุภชัยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารองค์กรภายในสิ่งหนึ่งในหลายสิ่ง
ธุรกิจการธนาคารในโลกปัจจุบัน มีการทำงานที่ผ่านกระบวนการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการสร้างความชำนาญเฉพาะอย่างเกิดขึ้นในสายงาน พัฒนาการเหล่านี้ทำให้สายงานแต่ละสาย มีความต้องการโปรโมทคุณค่างานของตนเองต่อลูกค้า เช่นสายงานเทรดไฟแนนซ์และบริหารเงิน คนที่ทำงานในสายนี้ ย่อมทราบดีว่า ผลิตภัณฑ์และบริการชนิดใดเหมาะกับลูกค้า ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สินเชื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างก็ย่อมรู้ตัวดีกว่าเจ้าหน้าที่สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ และบริหารเงินว่าผลิตภัณฑ์และบริการใดเหมาะสมกับลูกค้าสินเชื่อก่อสร้างเป็นต้น
มันเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของแบงก์ส่วนใหญ่ มีประสบการณ์ในการทำงาน ที่เคยชินกับงานปฏิบัติการมาโดยตลอดนับเป็นสิบ ๆ ปี จะสามารถทำการตลาดได้ในชั่วคืน แม้ข้อเท็จจริงในโลกการบริหารธุรกิจการธนาคารสมัยใหม่ จะยอมรับถึงความสำคัญของการตลาดในฐานะเป็นจุดขายบริการอยู่มากก็ตาม
"ผมเชื่อว่าแบงก์ที่ดี ควรเป็นแบงก์ที่มีโอกาสเลือกลูกค้าได้ ไม่ใช่ให้ลูกค้ามาเลือกเรา" ศุภชัยพูดถึงแบงก์ที่ดีในอุดมคติของเขา
ศุภชัยได้วางกำลังผู้บริหารระดับสูงระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 คน ที่อยู่ในสายงานหารายได้ที่ขึ้นตรงต่อ วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่เขาดึงตัวมาจากรองผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานลูกค้ารายใหญ่ ที่ทำหน้าที่คุมภาระวงเงินของแบงก์ ดูแลภาวะทางธุรกิจของลูกค้า รวมถึงการเจรจาต่อรองกับลูกค้า
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 คนที่ว่า ประกอบด้วย สมชาติ อินทรฑูต ดูแลสายงานสินเชื่อบุคคลและสาขาภูมิภาค สุทัย อุนนานท์ ดูแลสายงานธุรกิจการธนาคารต่างประเทศและบริหารเงิน อรรคเดช พืชผล ดูแลสายงานสินเชื่ออุตสาหกรรมและพาณิชย์ ปฏิภาน กาญจนวิโรจน์ ดูแลสายงานสินเชื่อโครงการใหญ่
สมชาติ อินทรฑูต เป็นนักบัญชี โดยพื้นฐาน ผ่านการเรียนบัญชีมาจากจุฬา เริ่มเข้าทำงานที่แบงก์ทหารไทยปลายยุคสุขุมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สมชาติไต่เต้ามาจากงานสมุห์บัญชีสาขา คุมสินเชื่อสาขา และงานด้านฝ่ายการพนักงาน การที่มีประสบการณ์ด้านสาขามาก่อน ศุภชัยจึงจับมาดูแลสายงานสินเชื่อบุคคลและสาขาภูมิภาค
สุทัย อุนนานนท์ จบรัฐศาสตร์การเงินที่จุฬา ผ่านการฝึกอบรมด้านการธนาคารสมัยใหม่ ในต่างประเทศหลายแห่ง ก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานที่แบงก์ทหารไทย ในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ด้านการธนาคารต่างประเทศ เมื่อต้นปี 2529 ยุคปลายสมัยประยูร จินดาประดิษฐ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สุทัย เป็นเจ้าหน้าที่วีพี ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน ตัวแทนธนาคารแบงก์เกอร์ทรัสต์ ประจำกรุงเทพฯ มาก่อน ดังนั้นเขาจึงมีสายสัมพันธ์และประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้านการธนาคารต่างประเทศมาก
อรรคเดช พืชผล ก่อนหน้าที่ศุภชัย จะดึงขึ้นมาเป็นผู้ช่วยฯ อรรคเดช เป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยมาก่อน พื้นฐานของอรรคเดช เป็นนักบัญชีที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรม สังกัดบริษัทกระสอบอิสาน จึงมีความรู้ในธุรกิจอุตสาหกรรมพอสมควร อรรคเดช เข้ามาร่วมงานที่แบงก์ทหารไทย ตั้งแต่สมัยยุคสุขุมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ปฏิกาน กาญตนโรจน์ ผ่านงานในแบงก์มาหลายฝ่าย ทั้งการตลาด สินเชื่อภูมิภาค และพัฒนาธุรกิจ เป็นคนที่มีความสามารถในการเจรจาต่อรองมากเหมือนบุคลิกนักการฑูต ด้วยความที่ผ่านมาหลายฝ่ายในแบงก์โดยเฉพาะสายด้านหารายได้ เขาจึงมีความคล่องตัวสูงและรู้เรื่องนโยบายของแบงก์ที่ดี การคุมสายงานสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ศุภชัย เชื่อว่าเขาจะสามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่น
การที่ขุนพล ที่มากด้วยประสบการณ์ ระดับผู้ช่วย 4 คน เป็นฐานรองรับในการปฏิบัติ ระดับนโยบายด้านการหารายได้ สามารถช่วยให้ศุภชัยมองภาพผลงานของแต่ละด้านได้ชัดเจนมากขึ้น
แต่เขาจะไม่ลงลึกติดตามงานระดับผู้ช่วยด้วยตนเอง จุดนี้เองทำให้เขาต้องการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่สามารถรับรู้ถึงวิชั่น และนโยบายเขาได้เร็ว และคุณสมบัติอย่างวีรศักดิ์ คือคนที่เขาต้องการ
"วีรศักดิ์เป็นคนที่รู้เรื่องการพัฒนาระบบการธนาคารต่างประเทศได้ดี รู้เรื่องการเชื่อมโยงการใช้คอมพิวเตอร์มาสู่งานของระบบการเงินดี" ศุภชัยพูดถึงเหตุผลที่เขาดึงวีรศักดิ์ มาเป็นรองฯ ที่แบงก์
"ผมคงต้องใช้เวลากว่า 80% คุยปรึกษาหารือกับคุณวีรศักดิ์มาก เพราะเป็นสายงานสำคัญ ขณะที่สายงานอื่น ๆ ผมสามารถปล่อยให้คุณอนุชาติ ดูแลได้หมด" ศุภชัยพูดถึงวิธีการบริหารนโยบายของเขา
มองในแง่นี้ ก็หมายความว่าจากนี้ไป การบริหารระดับสูง จะแบ่งออกเป็นคู่ ศุภชัยจับคู่กับวีรศักดิ์ ขณะที่อนุชาติจะจับคู่กับวิทยา โดยใช้สายงานเป็นเส้นแบ่ง
"คุณศุภชัยต้องสร้างระบบการทำงานที่สามารถสอดรับกันเป็นทีมให้ได้ สิ่งนี้จะไม่เหมือนยุคสมัยอนุตร์ และประยูร์ ที่ผู้บริหารระดับสูงบริหารทำงานกันตามสไตล์ถนัดของแต่ละคน อนุตร์ก็เก่งด้านการตลาด มีสายสัมพันธ์ ที่ดีกับลูกค้า เวลาพิจารณาสินเชื่อก็ใช้ความรู้และประสบการณ์เป็นตัวตัดสิน ส่วนอนุชาติก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนแม่บ้าน ดูแลความเรียบร้อย หลังบ้านหรือแบ็คออฟฟิค ส่วนศุภชัยและประยูรก็ดูแลด้านนโยบาย ภาพรวมทิศทางของแบงก์ การแบ่งงานกันตามถนัด แบบนี้ทำให้การบริหารระดับสูงในแบงก์ มีองค์ประกอบที่ลงตัวดีมาก" ลูกค้าเก่ารายใหญ่ของแบงก์ย้อนอดีตสไตล์การบริหารของแบงก์ให้ฟัง
มุมมองนี้ ศุภชัยมีความเชื่อว่าในยุคสมัยของเขาไม่จำเป็นต้องย้อนรอยกลับสู่รูปแบบนั้นอีก แม้แบงก์จะไม่มีคนที่มีความสามารถพิเศษในการทำงานเหมือนอย่างอนุตร์ แต่การที่โครงสร้างบริหารได้ถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างมีระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน ลงลึกถึงลักษณะของงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ องค์ประกอบที่ลงตัวก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
"เราจะเรียนรู้ข้อมูลลูกค้าจากเครดิตไฟล์ที่เราทำอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน เราก็กำลังพัฒนาสำนักงานวิจัยขึ้นมาให้ทำหน้าที่กรองข้อมูลที่ผ่านมาจากสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นก่อนที่จะผ่านเข้ามาสู่กระบวนการวิเคราะห์อย่างมีหลักวิชา เพื่อให้เราได้รู้จักลูกค้าของเรามากที่สุด" ศุภชัยพูดถึงสไตล์การเข้าถึงลูกค้าของเขาที่ต่างจากอนุตร์
ปรียานุช สิทธิไชย และปราการ ทวิสุวรรณ ผู้บริหารระดับฝ่าย คือตัวจักรสำคัญที่จะทำหน้าที่ตรงนี้
สิ่งนี้เป็นความคาดหวังที่ศุกชัยกล่าวว่า มันเป็นการสร้างระบบข้อมูลลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดั้งเดิมเหมือนในอดีต
สไตล์การบริหารที่ใช้หลักการอย่างมีแบบแผนของศุภชัย เป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมการเงินไทย เพราะเขาเห็นว่า การบริหารงานประจำวันที่แท้จริงของหัวหน้าคณะผู้บริหารแบงก์ ควรอยู่ที่การมีบทบาทในฐานะ นักวางแผนยุทธศาสตร์ และติดตามผลการทำงาน มากกว่าที่จะลงไปในรายละเอียดในเนื้องาน
เวลานี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ระบบการบริหารที่เขาสร้างขึ้นมานี้ จะสามารถสนับสนุนให้เป้าหมายทางนโยบายของแบงก์ที่เขาสร้างขึ้นจะสำเร็จลงหรือไม่ในยุคของเขา เพราะยังเร็วเกินไปที่จะหาคำตอบ
แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารและความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมในการวางนโยบายสินเชื่อและทิศทางการทำธุรกิจของแบงก์ รวมถึงสโตล์การทำงานของเขา ก็นับว่าเป็นสิ่งท้าทายความสำเร็จอยู่มากในเวทีธุรกิจการเงินการธนาคารเมืองไทย
กระดานหมากนี้ ไม่ง่ายหรอกที่จะชนะ!!
|
|
|
|
|