|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2534
|
|
เธอเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพลร่วม 15 ปี เหลืออีกปีเดียวเธอก็จะได้ยศ น.อ. แต่ชีวิตกลับหักเหสู่วงการธุรกิจเต็มตัวในปี 2528 โดยมารับผิดชอบการบริหารเงินทุนยูไนเต็ด จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ในช่วงซึ่งบริษัทประสบปัญหาการเงินอันเป็นผลพวงจากการทำงานที่ผ่านมา ประจวบกับผลกระทบจากการลดค่าเงินบาท ในปี 2527 และการจำกัดเพดานขยายสินเชื่อ 18%
"นาวาอากาศโท ลักษมี พุทธพงษ์ศิริพร" จึงต้องวางมือจากงานแพทย์ประจำวัน และลาออกจากโรงพยาบาล โดยมิพักที่จะมีเวลาการรอการตัดสินใจ แล้วมาทั่งทำงานเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายบริหารสำนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนงานที่สำคัญที่สุดของบริษัท
ทันทีที่ลักษมีเข้าทำงานในวันแรก ก็สร้างความสงสัยแก่คนของบริษัทกันอย่างมากว่าเธอคือใคร จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลงานอันเป็นหัวใจของบริษัทได้ ยิ่งกว่านั้น เธอไม่เคยบริหารธุรกิจมาก่อน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีคำถามและคำสบประมาทจากคนรอบข้างว่า "จะอยู่รอดได้กี่วัน"
อาศัยว่า ลักษมีเป็นคนที่ทางกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เจ้าของบริษัทส่งมา จึงสร้างความเกรงใจต่อไคร ๆ
นี่เป็นผลจากการเข้าไปปรับองค์กรค่อนข้างมาก เพื่อความอยู่รอดของบริษัท แต่แทบจะไม่มีใครรู้ว่าลักษมี คือ 1 ใน 7 พี่น้อง ว่องกุศลกิจ" ตระกูลธุรกิจน้ำตาลที่มีชื่อเสียงของไทย
"ตอนนั้นไม่มีใครช่วย" ลักษมีกล่าวถึงความจำเป็นของลักษณะธุรกิจครอบครัว ซึ่งอยากเห็นว่าทายาทของตนเข้ามาบริหารมากกว่าเป็นคนนอก โดยเฉพาะในยามที่บริษัทมีปัญหา "ช่วยหลวงมามากแล้ว มาช่วยที่บ้านบ้าง" นั่นเป็นคำพูดที่ให้ลักษมีตอบรับทันที แม้ว่าตนจะไม่เคยบริหารธุรกิจมาก่อน
แต่อาศัยว่ามีความผูกพันกับพี่น้องมาก เพราะพี่ชายคนที่ 2 คือกมล ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลมิตรผล เดิมเป็นคนส่งเสียให้เรียน และพี่คนอื่น ๆ ก็ให้ความอบอุ่นทุกอย่าง สำหรับกมลนั้น ลักษมี กล่าวว่า "เปรียบเหมือนพ่อ" เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อผู้เป็นพี่จะให้ช่วยอะไรก็ไม่ขัดข้อง อีกเหตุผลหนึ่งก็คิดว่า "พี่ ๆ คงไว้ใจและรู้จักดีว่า เป็นคนสมถะและมัธยัสถ์" จึงให้มาดูแลสินเชื่อและบริหารภายใน
ขณะนั้น กุศล ผู้ก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผล พี่ชายคนโต มาเสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจ กมลเป็นผู้จัดการโรงงาน สุนทร เป็นประธาน วิมล พี่สาวคนเดียว แต่งงานแล้วก็ออกเรือนไป วิทูรย์ ซึ่งแม้จะจบเภสัชมา แต่ก็มาช่วยงานแลป (LAB) ด้านน้ำตาลจนกลายมาเป็นแกนของกลุ่ม ขณะที่ชนินท์ น้องชาย ไปทำธุรกิจโรงแรม และพัฒนาที่ดิน เช่นโรงแรมเชียงอินทร์ อมรินทร์พลาซ่า หรือไฮแอทฯ จึงเหลือลักษมีเพียงคนเดียวที่ดูยังจะไม่มีภาระทางธุรกิจ
ฐานะบริษัทตอนนั้น ขาดทุนจากการลดค่าเงินบาท ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปี 2528 พอปิดงบขาดทุน 8 ล้านบาท "การขาดทุนไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเราที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ แต่เพราะรัฐลดค่าเงินบาทลงประมาณ 2 บาท" เธอให้เหตุผลการขาดทุน
จึงมีความคิดว่าน่าจะผ่อนผันให้ทยอยหักใน 5 ปี คือ 60 เดือน เพื่อให้งบดุลดูสวยขึ้น เพราะผลกระทบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลน่าจะรับผิดชอบ เมื่อเสนอไปยัง กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติในตอนนั้นก็ตอบโอเค ขณะที่หลายคนแย้งว่าทำไม่ได้ ลักษมีก็ยืนยันว่าน่าจะลองดูจนได้ผล
ขณะเดียวกัน เพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ เศรษฐกิจที่ล่อแหลม จนมีข่าวทรัสต์ล้ม บริษัทปิดกิจการไปหลายแห่งนั้น ลักษมีอาศัยความสนใจส่วนตัว ซึ่งรักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ความรู้ด้านธุรกิจ จากการเข้าร่วมประชุมกรรมการของกลุ่มมิตรผลแล้ว เรื่องไหนที่ไม่มีความรู้ก็เข้าคอร์สอบรม
ลักษมีเล่าว่า อีกส่วนหนึ่งที่ได้มาจากวิชาชีพหมอ คือ เรียนรู้ชีวิตของผู้คนทั้งทางด้านธุรกิจและสังคม เพราะคนไข้จะเข้ามาทีละคน จากการพูดคุยกันเรื่อย ๆ ทำให้รู้ว่า แต่ละอาชีพ แต่ละวงการ ในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ภาพพวกนี้ ถ้าเราสนใจ บวกความรู้ที่ได้จากพวกพี่ ๆ ก็ไม่ถึงกับทำให้เรารู้สึกว่าไม่รู้อะไรเอาเลย เหมือนกับที่คนทั่ว ๆ ไปมักจะมองว่าคนที่เป็นหมอคือคนที่ทำงานด้วยยากที่สุด เพราะยืดหยุ่นผ่อนปรนไม่เป็นและจุกจิก" ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจ และความสามารถเฉพาะตัวด้วย สำหรับเธอแล้วมีความคิดว่าทำให้ได้เปรียบด้วยซ้ำไป
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อลักษมีเข้าไปบริหารได้ปรับองค์กรใหม่ ลดกำลังคนส่วนเกินบางส่วนออกไป เข้มงวดค่าใช้จ่ายมากขึ้น งานสำคัญอีกอย่างคือ ตามหนี้เก่าซึ่งคั่งค้างมากเป็นหลักสิบล้านขึ้นไป
แทนที่จะตัดเป็นหนี้สูญเพราะขาดการติดตาม ลักษมีร่วมกับประเสริฐ จันทรโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และกฎหมาย เป็นกำลังสำคัญพร้อมคณะ ใช้วิธีทุกรูปแบบเพื่อทวงหนี้กลับคืนให้มากที่สุด ทั้งด้วยตัวเอง เพื่อนฝูง สายสืบ จนได้คืนมาไม้น้อยกว่า 80%
พร้อมกันนั้นได้ผลักดันให้พนักงานสตรีที่ฝีไม้ลายมือ มีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น โดยเสนอให้ตั้งเป็น ระดับฝ่ายตามความสามารถ
จากผลประกอบการปี 2528 ขาดทุน 8 ล้านบาท พอปี 2529 เริ่มมีกำไรล้านบาทเศษ ปี 2530 กำไร 2 ล้านกว่า ปี 2531 ตัวเลขกำไรเพิ่มเป็น 6 ล้านบาท และปี 2532 เป็น 12 ล้านบาท ส่วนปี 2533 ซึ่งลักษมี ถอนตัวออกมาแล้ว มีกำไร 18 ล้านบาท
อยู่ได้ 5 ปี พอเริ่มปีที่ 6 เมื่อบริษัทเริ่มอยู่ตัว "ถ้าตนอยู่ต่อไป กิจการก็ไม่โตหวือหวา เพราะมีความสามารถจำกัด" ลักษมี เล่าอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากวิญญาณของเธอนั้น ผูกพันอยู่กับวิชาชีพแพทย์ ซึ่งเรียนมาและถนัดมากกว่า
จะเห็นว่า แม้ในช่วงที่ลักษมีต้องไปรับผิดชอบบริษัท ก็ยังพอใจที่จะรักษาคนไข้อยู่ เธอมีคลีนิกเด็กอยู่ในซอยเสนาฯ ถนนพหลโยธิน บางเขน จะผลัดเวรกับเพื่อนไปประจำในช่วงเย็นเพียงวันละชั่วโมง
เมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ถึงปี 2533 เพื่อน ๆ อยากจะเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ จึงชัดชวนลักษมีให้มาช่วยบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งที่ขาดอยู่ และเห็นว่า เธอมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจการเงินมาแล้วในเฉพาะในช่วงวิกฤติ
ลักษมีจึงกลายเป็นเป้าหมายตำแหน่งผู้บริหารของโรงพยาบาลเซ็นทรัล เยนเนอรัล อยู่บริเวณสะพานใหม่ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าดอนเมือง หลังจาก ได้วิฑูรย์ และชนินทร์ พี่ชาย และคนอื่น ๆ มาร่วมร่วมทุนด้วย
ผู้ริเริ่มความคิดคือเพื่อนซึ่งทำงานในร.พ.ภูมิพล ด้วยกันมานาน ได้แก่ พ.ญ.บุปผา สมานชาติ น.พ.ศักดิ์ชัย สรรพวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งมีนายแพทย์พินิจ ทิพทัส ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา
เมื่อใจรักวิชาชีพ มากกว่าประกอบกับโอกาสเหมาะอย่างนี้ ลักษมีจึงไม่รีรอที่จะตอบตกลงหลังจากหารือกับพี่ชายแล้ว โดยมีลิขิต เขมะปานนท์ รับเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทเงินทุนยูไนเต็ด
แม้ลักษมีจะพ้นภาระจากงานเดิมแล้ว แต่ทุกคนก็ยังคุ้นเคยกับการเรียกเธอว่า "พี่หมอ" ซึ่งทำให้ลูกค้าหลายคนแปลกใจ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าหมอจะมาบริหารธุรกิจได้ดี
ยิ่งกว่านั้น ดูจะไม่เป็นที่รู้กันมากนักว่า ลักษมี คือหนึ่งในทายาทของ "ว่องกุศลกิจ" เพราะเธอไม่นิยมกล่าวอวดตัวเอง กระทั่งเมื่อเธอเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาล ความเป็นจริงก็เริ่มแพร่กระจายกันให้ทั่วว่า แท้ที่จริงเธอคือน้องสาวโรงงานมิตรผล หลังจากที่มีคำถามบ่อย ๆ ว่า ทำไมตระกูล "ว่องกุศลกิจ" จึงสนใจงานด้านโรงพยาบาล
โรงพยาบาลแห่งนี้บริหารโดยบริษัท แอดวานซ์ เมดิคอล เซนเตอร์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ถือได้ว่ามีการรวมตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคสาขาต่าง ๆ จากโรงพยาบาลภูมิพล เพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการรักษาให้ได้อย่างเพียงพอแก่ประชาชน ย่านสะพานใหม่ หลักสี่ รามอินทรา บางบัว รังสิต แจ้งวัฒนะ ลำลูกกา ด้วยบริการเพียบพร้อมครบถ้วนเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นหนึ่งของกรุงเทพ
ทั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระคนไข้จากโรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งไม่พอบริการประชาชนในย่านนี้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีเตียงผู้ป่วย 150 เตียง ในระยะแรก และเพิ่มเป็น 300 เตียงในระยะที่สอง จะบริการผู้ป่วยนอกได้วันละ 1,000 คน มีห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านอย่างพร้อมสรรพตลอด24 ชั่วโมง
จุดบริการรักษาที่จะเน้นเป็นพิเศษ คือด้านสูตินารีเวช ศัลยกรรม ซึ่งมีแพทย์เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนมาก และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากภูมิพล อีกด้านหนึ่ง คือเวชศาสตร์การกีฬา คือสภาพความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเล่นกีฬา ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ตามอัตราที่ประชาชนให้ความสนใจการออกกำลังกาย แต่มักจะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาจากการออกกำลัง กายไม่ถูกวิธี
โครงการนี้ ใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท และได้รับการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ เริ่มก่อสร้างไปแล้ว กำหนดเสร็จและเปิดบริการได้ในปลายปีนี้
ลักษมีจะนั่งทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของที่นี่ หลังจากที่ต้องกลายเป็นนักบริหารจำเป็นที่บริษัทเงินทุนยูไนเต็ดมาแล้ว ก็มาเป็นนักบริหารโรงพยาบาลด้วยใจรัก ซึ่งเธอหวังว่าจะทำได้ดียิ่งกว่าเก่า.!!
|
|
|
|
|