เมษายนนี้ เป็นกำหนดชี้ชะตาของปิโตรเคมี 2 โครงการที่มีอันต้องชะงัก เนื่องจากผลพวงของวิกฤติอ่าวเปอร์เซีย โดยทีมปฏิบัติงานได้สรุปเลื่อนโครงการออกไป และยังไม่รู้จะต้องเลื่อนไปอีกนานเท่าไหร่ ในเมื่อยังตกลงราคาวัตดุดิบขั้นต้นไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตและบริษัทผู้ซื้อวัตถุดิบต่างรอดูท่าทีกันว่าใครจะเริ่มก่อน "กร ทัพพะรังสี" ในฐานะประธานอนุกรรมการปิโตรเคมีตั้งแต่แรก ควรจะเข้ามาประสานการเจรจาก่อนที่โครงการจะมีอันเป็นไป......!!
"ถ้ามีใครไม่สร้างสักโรง ก็จะพังทั้งหมด" เป็นคำพูดแสดงถึงปัญหาหลักในการผลักดันโครงการปิโตรเคมี-2 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้จะต่างจากการสร้างโรงงานทั่วไป โดยประกอบด้วยเครือข่ายอุตสาหกรรมที่จะต้องรับวัตถุดิบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จากอัพสตีมสู่มิดสตีม และดาวน์สตีม เพราะฉะนั้น โรงงานในโครงการปิโตรเคมีจึงต้องเกิดพร้อมกันตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่าง
เร่งรัด
แต่แล้วสิ่งที่หวั่นเกรงกัน ก็เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เชีย กรณีอิรัก เข้ายึดคูเวต เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533...!
ชื่อผลิตภัณฑ์ในปิโตรเคมี-2 ล้วนแต่ดูจะแปลกหูสำหรับคนนอกวงการ แต่ผลิตภัณฑ์หลากหลายเหล่านี้ได้กลายเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ตามพัฒนาการของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อผลิตได้เองก็ทดแทนการนำเข้าทั้งหมด
ที่เกี่ยวข้องในปิโตรเคมี-2 มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือโรงงานโอเลฟินส์จะผลิตก๊าซเอทธิลีน 350,000 ตันต่อปี ก๊าซโพรไพลีน 170,000 ตันต่อปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดต่าง ๆ ต่อไป เช่นเดียวกับโรงโอเลฟินส์ แห่งแรกของไทย ที่ดำเนินการโดยบริษัท ปิโตรเคมี แห่งชาติ จำกัด( ปคช)
โรงโอเลฟินส์ แห่งที่ 2 นี้ดำเนินการโดยบริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด ( ทีโอซี) มี พละ สุขเวช รองผู้ว่า ปตท.รักษาการกรรมการผู้จัดการ จะต่างจากโรงแรก
โรงแรกนั้น จะใช้วัตถุดิบคือก๊าซโพรเพน และอีเธนจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ระยองเพียงสายเดียว แต่ทีโอซี จะใช้วัตถุดิบ 2 สาย จากก๊าซธรรมชาติส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือแนปธ่าจากโรงกลั่น
ทีโอซี จะมีไพน์แก๊ส ซึ่งเป็นน้ำมันที่เกิดจากการสลายตัวป้อนเข้าโรงอะโรเมติกส์ และจะมีแรฟฟิเนต ที่เหลือจากการสกัดในโรงอะโรเมติกส์ ป้อนเข้ามาเป็นวัตดุดิบอีกทางหนึ่ง
ความต่างตรงนี้ จะทำบริหารทีโอซี ได้ยากกว่าปคช. เนื่องด้วยทีโอซี จะต้องไปเกี่ยวโยงกับโรงอะโรเมติกส์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อะโรเมติกส์ ( ประเทศไทย)ทีเอซี ขณะที่ทีเอซี จะมีขบวนการผลิตต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ 3 ขั้นด้วยกัน และจะมีผู้ผลิตเกี่ยวข้องมากนับสิบ ๆ ราย
ด้วยความที่ทีโอซี และทีเอซีเกี่ยวเนื่องกันเป็นตาข่ายนี้เอง หากมีปัญหาเพียงจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะทำให้กระทบหมดทั้งระบบ
จะเห็นว่า ทีเอซี จะมีโรงงานอะโรเมติกส์ เป็นผู้ผลิตตัวหลักของปิโตรเคมี ที่เรียกว่า ฺBTX เป็นปิโตรเคมีขั้นต้นหรืออัพสตรีม
เริ่มจาก B หรือ เบนซินจะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบในปิโตรเคมี ขั้นที่สอง หรือมิดสตรีม เพื่อผลิตสไตรีน แล้วผลิตเป็นวัตถุดิบพีเอสในปิโตรเคมี ขั้นปลาย หรือดาวน์สตรีม จากนั้น ก็เอาไปผลิตเป็นพลาสติกชิ้นส่วน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หมวกกันน็อค เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เปลือกแบตตารี อันเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขั้นสุดท้ายฺ
นอกจากนี้ ยังใช้เบนซินผลิตเป็นแอลเอบี ซึ่งใช้ทำเป็นดีเทอเจน และจะนำไปเป็นวัตถุดิบผงซักฟอก และน้ำยาซักฟอกอีกทอดหนึ่ง
ส่วน " T" หมายถึง โทลูอีน ใช้ผลิตเป็น โซลเว้นท์ วัตถุดิบซึ่งเป็นตัวทำละลายในการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสี หมึกพิมพ์ ยาฆ่าแมลง ยาง
สำหรับ "X" หรือ ไซลีน แยกเป็นวัตถุดิบสำคัญคือ
-พาราไซลีน ใช้ผลิตพีทีเอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของเส้นใยสังเคราะห์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างสูง รวมไปถึงขวดชนิดใส เทปบันทึกเสียง
-โอไซลีน ใช้ผลิตพีเอ เป็นวัตถุดิบของพลาสติกไซเซอร์ และจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตัวเชื่อมประสานพลาสติก
-มิซ์ไซลีน ใช้ทำโซลเว้นท์ ตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสี หมึกพิมพ์
ในแต่ละขั้นตอนจะมีผู้สนใจการผลิต ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
การผลิตแบบลูกโซ่อย่างนี้ พอจุดไหนมีปัญหาก็กระทบเป็นโดมิโน แหล่งข่าวจากทีเอซี กล่าวว่า กร ทัพพะรังสี ประธานอนุกรรมการนโยบายปิโตรเคมี จึงย้ำประเด็นนี้มาก ในช่วงเริ่มต้นโครงการ
แต่ตอนนี้ " เหมือนรถไฟมีแต่หัวรถจักร ไม่มีขบวน ทั้งปัญหาล่าช้า และเรื่องราคาที่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีคนของรัฐบาลออกแรงประสานงาน แม้แต่ละโรงงานเอกชนจะเป็นคนดำเนินการ แต่ปิโตรเคมีเป็นเรื่องระดับนโยบาย ถ้าให้ตกลงกันเอง ทุกคนก็มีแต่จะรักษาผลประโยชน์ เฉพาะองค์กรของตนเอง" แหล่งข่าวระดับสูงของไทยออยล์ ผู้ถือหุ้นของทีเอซี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ " รัฐบาลต้องมาดูแล้ว มิใช่ปล่อยตามสถานการณ์ แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว ขณะที่ เกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการไทยออยล์ และกรรมการของทีเอซี ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลายครั้งว่า " น่าห่วง"
ปัญหาแรก เกิดในส่วนของทีโอซี เปิดซองประมูลงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533 ราคาที่เสนอสูงกว่าราคากลาง คือ 500 ล้านเหรียญกว่า 20%
มีผู้เสนอเข้ามา 3 ราย คือ โตโยเอ็นจิเนียริ่ง 594.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สโตนแอนด์แวบส์ เบอร์ 633 ล้านเหรียญสหรัฐ และฟอสเตอร์วีลเวอร์ 660.49 ล้านเหรียญสหรัฐ
พละ รักษาการกรรมการผู้จัดการทีโอซี กล่าว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะปรับเงินทุนและขนาดโรงงานอย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด
ล่าสุดสรุปเมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมาว่า จะเปิดให้ผู้เสนอเดิมเสนอ เข้ามาใหม่ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยจะตัดขอบข่ายของงานในส่วนโรงไฟฟ้าออกไป และลดขนาดคลังเก็บสินค้าเหลวให้เล็กลง เพื่อลดต้นทุนให้ใกล้เคียงกับราคากลางมากที่สุด โดยจะไปใช้โรงไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเอกชน เสนอสร้างพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะเป็นไปได้และต้องหรือใช้เวลานานเท่าใด เนื่องจาก ข้อสรุปเรื่องให้เอกชนเป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้า ยังหาคนลงทุนไม่ได้ เพราะยังไม่มีรายละเอียด
ยังไม่รวมถึงปัญหาแหล่งเงินกู้ในฐานะที่ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40%
ส่วนที่เหลือจะถือหุ้นโดยโรงงานที่จะรับซื้อวัตถุดิบ ได้แก่ บางกอกโพลิเอททิลีน ( แบงก์กรุงเทพฯ) 11.71% บีเอ็มทีไกคอล (กลุ่มมิตซุย) 66.46% สยามสตรีน ( กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ) 3.82 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย 6.86 % ไทยโพพีลีน 6.86 % วินีไทย( เครือซีพีร่วมทุนกับโซลเวล์) 5.29 % แบงก์กรุงเทพ ซึ่งจะตั้งบริษัทรับสาร C-4 ซึ่งเป็นผลพลอย ได้จากทีโอซี 8%
ทีโอซีมีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท จะเรียกเก็บเมื่อเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง
ด้านทีเอซี ซึ่งมีอนุจินต์ สุพล ผู้จัดการใหญ่ ก็เจอปัญหาราคาประมูลสูงกว่าราคาประเมินไว้แต่เดิมคือ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ...!
การเปิดซองประมูลก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2533 จำนวน 3 ราย คือกลุ่มชิโยดะเสนอมา 422.49 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทเจจีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 488.60 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัท เอ็ม ดับบลิว เค็ลล็อก 460 ล้านเหรียญสหรัฐ
กลุ่มชิโยดะ เป็นรายที่ค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากเคยประมูลได้งานของไทยออยล์มาก่อน ทำให้เสนอราคาได้ต่ำกว่ารายอื่น
ตามกำหนดเดิม เดือนเมษายน นี้จะเซ็นสัญญากับผู้ชนะประมูลและตกลงราคาวัตถุดิบระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ เพื่อนำไปเป็นหลักประกันการกู้เงิน
"ถ้าตกลงราคากันไม่ได้ ก็ทำให้วาง แผนเงินกู้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวเลขชัดเจน และไม่มีหลักประกันว่าผลิตแล้วจะมีลูกค้ารายใดเป็นคนซื้อ" แหล่งข่าวผู้เกี่ยวข้องโดยตรงสะท้อน ปัญหาอันเกิดจากวิกฤติอ่าวเปอร์เซียจนทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ทำให้ราคาประมูลเพิ่มกว่าเก่าอย่างมาก
ขณะที่วิเทศ วิสนุวิมล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจทีเอชที ให้ความเห็นว่า จากภาวะเงินตึงทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐปล่อยกู้แก่ประเทศลาตินอเมริกา จนขาดทุนมาก สวนทางด้านยุโรป จะรวมเป็นตลาดเดียวในปีหน้า เขาคงปล่อยกู้แก่นักลงทุนในตลาดยุโรปเพื่อพัฒนาและขยายโครงการต่าง ๆ ทีเอซี จึงมีแนวโน้มจะกู้จากญี่ปุ่นเป็นหลัก"
ทีเอซี มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 125 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 1,250 ล้านบาท ก่อนเซ็นสัญญาสร้างโรงงานมีไทยออยล์ถือหุ้นใหญ่ 40% ปตท 25% และบริษัทเอ็กซอน เคมีคอล อีสเทอร์น จำกัด 35%
ตามโครงการทีเอซี จะผลิตเบนซิน 230,000 ตันต่อปี โทลูอีน 52,000 ตันต่อปี และไซลีน 355,000 ตันต่อปี โดยจะรับวัตถุดิบจากไทยออยล์ คือ แพลทฟอร์เมท 753,000 ตันต่อปี และไพแก๊สจากทีโอซี 220,000 ตันต่อปี
" BTX ที่ผลิตได้ ทีเอซี จะมีลูกค้ารับซื้อ โดยบริษัทไทพีทีเอ จำกัด จะรับพาราไซลีน 240,000 ตันต่อปี เพื่อเอาไปผลิตจเป็นพีทีเอ 350,000 ตันต่อปี
บริษัท สยามสไตรีน โมโนเมอร์ ให้เป็นพีเอส ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ในการทำชิ้นส่วนพลาสติก ในรถยนต์ รถจักรยานยนต์
ดังนั้น พอโรงงานอะโรเมติกส์ เกิด บริษัทเหล่านี้ ก็ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน มิฉะนั้น พอโรงงานผลิตออกมาแล้วบริษัทผู้ซื้อวัตถุดิบยังไม่เกิด ก็มีปัญหาว่าทีเอซี ผลิตแล้วไม่มีตลาดรองรับ ถ้าจะส่งออกในช่วงแรก คงลำบาก เพราะเป็นโรงงานใหม่ ขณะที่รายอื่นสร้างมาแล้วสี่สิบยี่สิบปี ต้นทุนจะถูกกว่า แต่ถ้าบริษัท ผู้ซื้อวัตถุดิบเกิดก่อนโรงงานอะโรเมติกส์ เขายังหาซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศไทย ไม่เป็นปัญหาเท่ากรณีแรก แต่ควรจะเกิดพร้อมกันดีที่สุด วิเทศอธิบาย ถึงผลที่จะเกิดขึ้น
แต่ผลสงครามอ่าวเปอร์เชีย ทำให้เอาแน่ด้านสถานการณ์ ยังไม่ได้ ที่ประชุมทีเอซี จึงสรุปกันว่าจากที่กำหนดจะคัดเลือกผู้ประมูลก่อสร้างโรงงานและเซ็นสัญญาในเดือนเมษายน ก็ต้องเลื่อนความเหมาะสมของโครงการ ( validity) ของทีเอซี ออกไปอีกเดือนหนึ่ง ยังไงโครงการนี้ก็ต้องเกิด เพียงแต่จะล่าช้าไปนานแค่ไหนเท่านั้น
" ต้องรอดูให้ project cash flow ดีหน่อย เพราะตอนนี้ถูกกระทบทั่วโลก เหมือนกันหมด และต้องพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันไป" จุลจิตต์ บุณยเกตุ จากไทยออยล์
์ กำลังสำคัญในการประสานงานการจัดตั้งทีเอซี กล่าว
นอกจากนี้ " ถ้าตกลงราคาซื้อขายวัตถุดิบให้ได้ก่อน จะเดินหน้าโครงการ ก็จะให้ราบรื่นและเป็น commercial กว่า แต่ยังสรุปอะไรไๆม่ได้ เพราะต่างฝ่ายก็มุ่งกำไร ผู้ผลิตอย่างทีเอซี ก็อยากขายแพง คนซื้อก็อยากซื้อของถูกซึ่งเป็นหลักธรรมดาในการค้าขายที่นี้ จะมาพบกันตรงไหน ต่างฝ่ายก็ถือว่า ยังมีเวลาแหล่งข่าว จากทีเอซี ชี้แนวโน้มประเด็นปัญหา
ประการสำคัญ ขณะที่กำลังทบทวนโครงการว่า จะต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอย่างไร เพื่อมิให้ผลผลิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ถ้าตกลงหลักการเรื่องราคาได้ก่อน สร้างโรงงาน ก็จะเป็นข้อมูลในการเลือกสเปกและวงเงินลงทุนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันทั้ง 2 ฝ่าย คือทีเอซี ผู้ผลิตเองก็รู้ราคาที่ตน จะขายได้นั้นอยู่ระดับไหน ควรจะบริหารการเงินอย่างไร ผู้ซื้อก็เหมือนกันถ้าเป็นราคาที่ตกลงกันไว้ก็จะเป็นหลักประกันในการสร้างโรงงานของผู้ซื้อแต่ละรายซึ่งถ้าหากยังไม่รู้ราคา โรงงานผู้ซื้อก็ไม่มั่นใจในการลงทุน
ประเด็นเรื่องราคาคงไม่ใช่จะตกลงกันได้ง่าย เพราะเกี่ยวข้องระหว่างโรงงานโอเลฟินส์ของปคช. ทีเอซี ทีโอซี-ทีเอซี แ ละทีเอซี ด้วยกันเอง คือ ผู้ผลิตและผู้ซื้อที่ซื้อไปผลิตสินค้าต่อเนื่องเป็นลูกโซ่...!
ราคาเอทธิลีน และโพรไพลีน จาก โรงโอเลฟินส์ โรงแรกที่ปคช. ดำเนินการอยู่นั้น จะเป็นราคาที่เรียกว่า cost plus คือเพิ่มจากต้นทุน 15% เนื่องจากรัฐบาลต้องการจูงใจให้เอกชนลงมาลงทุนและถือหุ้นในปคช. ซึ่งไม่ใช่ราคาที่ควรจะเป็น
ขณะที่เอทธิลีน และโพรไพลีน จากโรงโอเลฟินส์ แห่งที่สองหรือทีเอซี นั้น
กำหนดหลักการว่าจะให้เป็นตามกลไกตลาดเพื่อให้แข่งขันกับตลาดโลกได้
พอราคาวัตถุดิบในตลาดโลกสูงผู้ซื้อของปคช. จะได้เปรียบ และเสียเปรียบเมื่อราคาตลาดโลกต่ำ ขณะที่ผู้ซื้อจากไทยโอเลฟินล์ จะได้เปรียบ เสียเปรียบ
ตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก ซึ่งจะได้เปรียบกันคนละช่วง อย่างไรก็ตามผู้ซื้อของปคช. จะมาซื้อจากทีเอซี เมื่อราคาตลาดโลกต่ำไม่ได้ เนื่องจากมีสัญญาว่าบริษัทดาวน์สตีม จะต้องซื้อวัตถุดิบจาก ปคช. และผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นผู้ซื้อของทีโอซี ด้วยคงไม่ยอมเพราะทั้งสองโครงการได้กำหนดซัพพลายไว้พอดี กับดีมานด์
ความไม่เท่าเทียมกับราคาเอทธิลีน และโพรไพลีน จากปคช และทีโอซี " เป็นปัญหาหนึ่งที่จะพิจารณากันว่า จะมีทางออกได้อย่างไร แม้สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการใหญ่ ปคช. เห็นว่าต่อไป ราคาของทั้งสองแห่งจะเท่ากันก็ตาม" แหล่งข่าว ผู้เกี่ยวข้องจากปตท. วิพากษ์
" แต่ถ้าดูตาม product circle แล้วต้องใช้เวลาถึง 15 ปี" ส่วนทีโอซี นั้นมีแนวโน้ม ว่าจะผลิตวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกกว่า ปคช. เพราะแม้ว่า จะเจอต้นทุนก่อสร้างสูง แต่มีเรื่องระบบบริหารโรงงานที่จะลดต้นทุนได้ รวมถึงต้นทุนจากสาธารณูปโภค จะทำให้ทีโอซี ขายในราคาที่ถูกว่า ปคช. ไม่น้อยกว่า 10 เหรียญต่อตันขึ้นไป
ปัญหาต่อมา คือ ราคาไพแก๊ส วัตถุดิบที่ทีโอซี ส่งให้ ทีเอซี และแรฟฟิเนต ที่ทีเอซี ส่งไปยัง ทีโอซี จะประนีประนอม เพื่อให้อยู่ได้ทั้งสองฝ่ายอย่างไร
นอกจากนี้ ราคา BTX ที่ทีเอซี จะขายให้ผู้ซื้อผลิตผลิตภัณฑ์ในขั้นมิดสตีม และดาวน์สตีม นั้น " ควรจะเป็นไปตามตลาดโลก จะได้ไม่มีปัญหา กีดกันการค้า ทางแบงก์โลก ก็เห็นอย่างนั้น และที่ประชุมก็ได้ย้ำเรื่องนี้มาก" แหล่งข่าวจากทีเอซี ให้ความเห็น ถึงทิศทางที่ควรเป็น
" กำลังทบทวนรายละเอียดของโครงการ สิ่งจำเป็นคือเรา จะต้องมีตลาด และมีขนาดใหญ่พอที่จะคุ้มเงินพาณิชย์ เวลานี้ อยู่ระหว่างพิจารณาว่า โรงงานควรจะมีขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก จะประหยัดค่าขนส่งได้ประมาณ 45 เหรียฐ สหรัฐ ต่อตัน จะได้เปรียบในจุดนี้ เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ" วิเทศ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจทีเอซี เล่าถึง ความเป็นไปของโครงการ
ดังนั้น กำลังการผลิตของแต่ละโปรดักส์ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามความเหมาะสม
แต่ถ้าเราผลิตได้แล้วขายโดยไม่สนใจราคาต่างประเทศ ก็จะทำให้นำเข้ามาแข่งขัน ซึ่งกระทบโครงการ ผู้บริโภคจะต้องรับภาระ ผู้ซื้อวัตถุดิบในขั้นดาวน์สตีม ก็จะแข่งกับตลาดโลกไม่ได้
ตัวอย่าง จะผลิตพีทีเอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยสงเคราะห์ ซึ่งจะนำไปทอแล้วตัดเป็นเสื้อผ้าเพื่อส่งออกนั้น ก็ต้องดูถึงสถานการณ์และภาวะการแข่งขัน ของแต่ละช่วง มิฉะนั้น จะมีปัญหาตามมา คือผลิตแล้วขายไม่ได้ โครงการมีสิทธิ์ล้ม เพราะจะกระเทือน เป็นลุกโซ่ ดังที่กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกเพื่อให้โครงการอยู่ เพราะต้นทุนโรงงาน ใหม่ จะแพงกว่าโรงงานซึ่งสร้างมานาน ราคาจึงอาจจะแพงกว่าตลาดโลก ในระดับที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ไม่ควรจะสูงกว่ามาก
ปัญหาคือ ราคาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้นั้น อยู่ระดับที่เท่าไหร่..!
ตอนนี้ ได้หลักการขั้นต้นแล้วว่าจะฐานราคาตลาดโลก แต่จะยืดหยุ่น ให้บวกลบ ได้ในอัตราเท่าไหร่ ยังสรุปไม่ได้ แต่ยังอยู่ระหว่าวงการเจรจา ราคากับผู้ซื้อหลัก คือ ไทยพีทีเอ กับสยามสไตรีนโมโนเมอร์
ที่น่าห่วง คือ ถ้าให้ตกลงกันเอง ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต่างจะปกป้องประโยชน์ของตน จึงเห็นว่า น่าที่จะมีคนกลางมาประสานการเจรจา...
แม้ว่าทีเอซี จะมีตัวแทน ปตท. อยู่ด้วย ก็ในฐานะผู้ถือหุ้น การเจรจา ไปในทิศทางใดย่อมจะต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจาก ปิโตรเคมี -2 เป็นโครงการหลักของประเทศชาติ ตามที่ประกาศออกมาเมื่อเริ่มแล้ว ก็น่าจะติดตามประเมินผลว่ามีแนวโน้ม ว่าจะมีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
อันที่จริง ทีเอซี มีอาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าปตท. เป็นประธาน หลายคนวิจารณ์กันว่า อาณัติน่าที่จะนำประเด็นปัญหาเสนอต่อกรในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม
ปิโตรเคมี แต่ไม่มีใครกล้าเสนอแนะ
ขณะที่ไทยออยล์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ดูจะเป็นห่วงโครงการจนเห็นได้ชัด จาการที่เกษมให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่าครั้งจะออกโรงเองก็ดูจะเกรงอาณัติซึ่งเป็น
ประธาน
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นอยู่ระหว่างเตรียมเสนอนำงานด้านปิโตรเคมี มาอยู่ในความรับผิดชอบของตน กว่าจะเป็นตัวเป็นตนก็คงอีกนาน และเมื่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วก็ยังจัดสรรบุคลากร ให้เหมาะสมต่อไป
ก่อนจะถึองค์กลางที่จะควบคุมดูแลอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ตอนนี้มีปัญหา เฉพาะที่ต้องการรัฐบาลมาเป็นคนกลางในการหารือ และสรุปแนวนโยบายเรื่องราคาว่าควรจะเป็นอย่างไร
เวลานี้ ไม่มีใคร กร คงต้องลงมือเอง
ในฐานะผู้ผลักดันริเริ่มและผู้รับผิดชอบในปัจจุบัน " น่าจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดมาพูดคุย ทั้งทีโอซี ทีเอซี ปตท. บีโอไอ มาจับเข่าคุยกัน ว่าจะสรุปข้อตกลง เรื่องราคาอย่างไร" แหล่งข่าว ระดับสูง จากวงการปิโตรเคมี กล่าวถึงทางออก
ยิ่งเป็นแน่ชัดว่า ยังไงโครงการคืองานทุกส่วนจะช้าออกไปประมาณหนึ่งปี ด้านบริษัทผู้ซื้อแล้วส่วนใหญ่ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะตางก็รอดูท่าที " มัวแต่ดูกันดูกันมา แทนที่จะเสียเวลาน้อยที่สุด ก็อาจจะยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น ทั้งที่เมือผลิตได้แล้ว ปีหนึ่งจะทดแทนการนำเข้าได้ไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาท ขณะที่ ตัวเลขการขยายตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี อย่างต่ำ จะอยู่ระดับ 8% ไม่รวมถึงบางผลิตภัณฑ์ที่จะโต 15- 20% กรรมการทีเอซี รายหนึ่งกล่าวกับ " ผู้จัดการ"
"ยังไงก็ไม่ล้ม แต่จะช้าเท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ ถ้าเป็นคนก็เหมือนชะตาขาด จริงหรือไม่ ก็ควรประเมินแนวโน้มปัญหา แล้วแก้ไขหรือป้องกันไว้ก่อน ปัญหาที่ซีเรียส ก็จะเบาลง ปัญหาเล็กก็จะหมดไป" กรรมการที่ทีเอซี รายเดิมกล่าว
" กรต้องลงมือเองแล้ว" หลายคนในวงการเรียกร้องอย่างนั้น...!
|