Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2531
หมายเหตุ "ธุรกิจครอบครัว"             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
โฮมเพจ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์

   
search resources

ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, บมจ.
บุญรอดบริวเวอรี่, บจก.
สุกรี โพธิรัตนังกูร
Commercial and business




ทำไมฉบับครบรอบปีที่ 5 และการย่างก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6 ของ "ผู้จัดการ" จึงได้เขียนถึงธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์, ภิรมย์ภักดีเจ้าของเบียร์สิงห์, โอสถานุเคราะห์แห่งโอสถสภา (เต็กเฮงหยู), กลุ่มศรีไทยฯและอีกหลายครอบครัว ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่น่าจะต้องรวมอยู่ด้วย

ก็เห็นจะต้องเรียนชี้แจงว่าเรามีเหตุผลของเราอยู่

ประการแรกสุด เราตั้งใจละเลยที่จะไม่เขียนถึงครอบครัวเจ้าของแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นโสภณพนิช, เตชะไพบูลย์, รัตนรักษ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นครอบครัวระดับมหากาฬมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยธุรกิจที่ไม่ได้จำกัดตัวเฉพาะภาคการเงินการธนาคารเท่านั้น หากแต่ยังผูกพันเข้าไปอยู่แทบทุกขุมขนของวงการธุรกิจก็ว่าได้

เรามีเหตุผลของการไม่เขียนถึงครอบครัว "ทุนการเงิน" เหล่านี้หลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือทุก ๆ ครอบครัวนั้นได้มีการเขียนถึงไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ "ผู้จัดการ" หรือหนังสือฉบับอื่น ๆ

อีกประการหนึ่ง เรามีเจตนาที่อยากชี้ให้เห็นพัฒนาการของกลุ่มทุนพาณิชย์ที่พยายามขยายตัวเข้าสู่การผลิต โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นทุกขณะ

หรือถ้าจะบอกว่าเราเขียนถึงเฉพาะครอบครัวธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมล้วน ๆ ก็คงจะบอกได้

การเลือกหยิบยกเฉพาะบางครอบครัวในภาคอุตสาหกรรมก็คงจะเป็นอีกคำถามหนึ่งอย่างแน่นอนที่สุด

ก็ขออนุญาตชี้แจงเจตนาของเราดังนี้

แน่นอน จำนวนหน้ากระดาษของเราก็ไม่เพียงพออยู่แล้วที่จะกล่าวถึงครอบครัวธุรกิจ ๆ ครอบครัว แต่นั้นก็คงไม่ใช่สาเหตุสำคัญเสียทีเดียว

สำคัญกว่านั้นก็คือ ข้อจำกัดในแง่ที่พัฒนาการของแต่ละครอบครัวนั้นมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและเห็นได้ไม่ชัดแม้ว่าจะมีจุดกำเนิดในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหรือหลังสงครามโลกไม่กี่ปีก็ตาม

เราเลือกเขียนถึงธุรกิจครอบครัวที่ก่อสร้างตัวสามารถพัฒนา และยืนยงอยู่ได้ในปัจจุบันภายใต้สถานภาพที่ต่าง ๆ กัน

บางแห่งมีแนวโน้มที่ดูสดใสในอนาคต บางแห่งดูแล้วหวาดเสียวและอีกบางแห่งกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงอยู่สืบไป

จากจุดกำเนิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่พัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบตามสไตล์ของผู้นำของแต่ละครอบครัวผสมผสานกับเงื่อนไขภายนอกนั้น ทำให้การเขียนถึงธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะในปัจจุบันของแต่ละแห่งเป็นปฐม

ซึ่งก็ได้สรุปภายหลังเปิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่กองบรรณาธิการและกลุ่ม นักวิชาการตลอดจนบุคคลในวงการธุรกิจหลายคน เป็นลักษณะเฉพาะ 5 ลักษณะ

ลักษณะแรก เป็นธุรกิจครอบครัวที่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังบริหารโดยใช้คนของครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลง

ลักษณะนี้ เราหยิบยกกรณีบุญรอดบริวเวอรี่ของตระกูลภิรมย์ภักดี และกรณีตระกูลจงสถิตย์วัฒนา ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

ลักษณะที่สอง เป็นธุรกิจครอบครัวที่ความเป็นเจ้าของยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังใช้สมาชิกในครอบครัวเหมือนเดิมหากแต่โครงสร้างการบริหารเปลี่ยนแปลงเป็นระบบสมัยใหม่แล้ว

ลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่ออกจะใช้กันแพร่หลายที่สุดเพราะจริง ๆ แล้วธุรกิจครอบครัวบ้านเราก็เพิ่งจะอยู่ในช่วงข้อต่อระหว่างรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 เป็นส่วนใหญ่มีจำนวนไม่มากที่เริ่มรุ่นที่ 3 การส่งมอบจากพ่อสู่ลูกซึ่งเป็นรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาสูงได้เคยสัมผัสรับรู้การทำงานของรุ่นพ่อ และได้รับการเรียนรู้งานก่อนขึ้นสู่ความเป็นผู้บริหารระดับสูงมาระยะหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวมีลักษณะเช่นนี้

เป็นลักษณะที่แพร่หลายที่สุด จำนวนธุรกิจครอบครัวในลักษณะนี้จึงมีหลายเรื่องที่เราเขียน อย่างเช่น จิราธิวัฒน์, กลุ่มเต็กเฮงหยู, ตระกูลธนาพรชัย และกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นต้น

ซึ่งในความเฉพาะที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่คล้ายคลึงกัน แล้วก็ยังมีลักษณะเฉพาะในความเฉพาะอีกด้วย

ลักษณะที่สาม เป็นธุรกิจที่ความเป็นเจ้าของโดยครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลง หากแต่ผู้บริหารกลับเป็นมืออาชีพไม่ใช่คนของครอบครัวและจำเพาะไปกว่านั้นก็คือมืออาชีพที่บริหารนั้นมีความโดดเด่นเป็นวันแมนโชว์อย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะเช่นนี้เราเลือกที่จะเขียนถึงกลุ่มศรีไทยซูเปอร์แวร์ ซึ่งบทบาทของมืออาชีพอย่าง สนั่น อังอุบลกุล โดดเด่นดูเหมือนจะยิ่งกว่าเจ้าของอย่าง สุมิตร เลิศสุมิตรกุล เสียอีก เช่นเดียวกันกรณีปูนซิเมนต์นครหลวงของตระกูลรัตนรักษ์ แต่มีสมเกียรติ ลิมทรง บริหารก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่

ลักษณะที่สี่ เป็นธุรกิจครอบครัวที่เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นธุรกิจสมัยใหม่ทั้งในด้านความเป็นเจ้าของที่ครอบครัวลดบทบาทลง ขณะเดียวกันมืออาชีพก็เพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ

ลักษณะนี้ เราหยิบยกเรื่องของกลุ่มสหยูเนี่ยนและกลุ่มซีพีขึ้นมาเขียนถึง

และลักษณะที่ห้า เป็นธุรกิจครอบครัวที่สัดส่วนของความเป็นเจ้าของเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากครอบครัวเป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่การบริหารก็ยังอยู่ในมือของคนหน้าเดิมจากครอบครัวผู้ก่อตั้งกิจการ

สำหรับลักษณะนี้เราเขียนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมทอผ้าของสุกรี โพธิรัตนังกูร และกลุ่มตระกูล บุลสุข เจ้าของและผู้บริหารการผลิต

สรุปแล้วเราก็มีเหตุผลของการเขียนถึงธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ ดังที่ลงตีพิมพ์ในฉบับสิงหาคมและกันยายนนี้ด้วยสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น

การเขียนถึงธุรกิจครอบครัวของเรานั้น นอกจากหยิบยกตัวอย่าง

โดยแยกแยะตามลักษณะพิเศษที่ได้รับการพัฒนาขยับขยาย

จากอดีตถึงปัจจุบันแล้ว ส่วนแรกที่สุดเรายังได้ปูพื้นให้เห็นถึงจุดกำเนิดของธุรกิจครอบครัว โดยภาพด้านกว้างไว้อีกด้วย

การให้ภาพด้านกว้างนั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพที่สำคัญ 2 ระยะที่ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อธุรกิจครอบครัวทั้งระบบ

ภาพแรกเป็นภาพของสภาพการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ส่วนภาพที่สองเป็นช่วงที่โลกทั้งโลกเกิดวิกฤตการณ์พลังงานเพราะการรวมตัวของกลุ่มโอเปคและมีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นไปเป็นเท่า ๆ ตัว ส่งผลกระทบทั้งในระดับกว้างทั่วโลกและลงลึกไปถึงผลประกอบการของหน่วยธุรกิจทุก ๆ หน่วยทั้งระบบ

ภาพแรกซึ่งเป็นสภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นภาพของการกำเนิดขึ้นของธุรกิจครอบครัวจากหน่อเล็ก ๆ ที่เกือบร้อยทั้งร้อยเริ่มต้นจากการพาณิชย์ โดยอาศัยช่องว่างที่กิจการของชาติมหาอำนาจจากยุโรปประสบภัยสงครามต้องถอยร่นออกจากประเทศไทย โลกทั้งโลกยังอยู่ในช่วงของการขาดแคลนสินค้า

เหล่าผู้ให้กำเนิดธุรกิจครอบครัว ซึ่งต่อมากลายเป็นเจ้าของอาณาจักรยิ่งใหญ่ในปัจจุบันนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายด้านโดยเฉพาะการเป็นผู้มีสายตายาวไกล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการ รู้จักใช้สายสัมพันธ์โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสายสัมพันธ์ตรงหรืออ้อมก็ตาม

นอกเหนือสิ่งอื่นใด ก็เห็นจะเป็นสายสัมพันธ์ในแง่ที่มากต่อมากแล้วเป็นโอเวอร์ซี-ไชนีส

การเกิดช่องว่างจากการถอยร่นของชาติมหาอำนาจที่เคยยึดกุมธุรกิจประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามสงบหมาด ๆ นั้น ถ้าเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่นำพาให้เกิดการอุบัติขึ้นของธุรกิจครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว

การเกิดวิกฤตการณ์พลังงานในช่วงปี 2514 เป็นต้นมาหลายปีติดต่อกัน ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นระยะของการทดสอบความแข็งแกร่งครั้งใหญ่ของธุรกิจครอบครัว

การปรับองค์กรครั้งสำคัญของธุรกิจครอบครัวจำนวนมากเริ่มขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์นี้

เนื่องจากบทเรียนที่ได้รับนั้นสอนว่า มีแต่องค์กรที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็งกอปรด้วยผู้ บริหารที่สามารถเท่านั้น ที่จะคงอยู่และเติบโตได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์ ที่ส่งเสริมหรือสถานการณ์ที่วิกฤตก็ตาม

และช่วงนี้ก็ยังอยู่ในช่วงที่กระแสการปรับตัวเปลี่ยนแปลงยังไม่หมดสิ้นไป แม้วิกฤตการณ์ด้านพลังงานจะผ่านพ้นไปแล้วโดยพื้นฐาน

การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวนั้น กล่าวโดยแนวโน้มของส่วนใหญ่แล้วเป็นกระแสที่ก้าวหน้าคือเป็นการปรับโครงสร้างของธุรกิจให้เป็นธุรกิจสมัยใหม่ขึ้น

แต่ก็เป็นการปรับตัวที่ต้องใช้เวลาและมีลักษณะลักหลั่นกัน

อย่างน้อยในอีกหนึ่งทศวรรษการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความลงตัวอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างจากรากฐานเดิมก็น่าจะยังดำรงอยู่ นอกเหนือเสียแต่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใหญ่จริง ๆ ขึ้นมาเสียก่อนนั้นแหละ

โดยเฉพาะสถานการณ์ใหญ่ของการกีดกันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

มองออกไปข้างหน้าอย่างน้อยในอีกหนึ่งทศวรรษแล้วการเกิดสงครามใหญ่ซึ่งนำพาความสูญเสียพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือระดับน้อง ๆ ก็คือสงครามอินโดจีนที่ครั้งนั้นปริวิตกกันมากว่าประเทศไทยจะกลายเป็นโดมิโนอีกตัวหนึ่งต่อจากเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งทำเอานักลงทุนต่างถอยร่นกันพักใหญ่นั้น

ก็คงจะเป็นเรื่องที่พอวางใจได้ว่าคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ง่าย ๆ นัก

อย่างน้อยท่าทีที่พยายามผ่อนคลายความตึงเครียดของชาติมหาอำนาจสหรัฐฯและโซเวียตก็คงจะเป็นหลักประกันได้อย่างดีประการหนึ่ง

สหรัฐฯนั้นลำพังแต่พยายามประคับประคองตัวในปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่มีเวลาแล้ว

ส่วนโซเวียตแนวทางใหม่ที่เรียกว่า "เปเรสตอยกา" ซี่งเป็นแนวทางฟื้นฟูความเป็นเลิศทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกสังคมนิยมทั้งมวลก็คงจะทำให้ไม่มีความสนใจในเรื่องอื่นด้วยเช่นกัน

และทางด้านปัญหาพลังงานของโลก ก็คงเป็นเรื่องที่พอจะคลายใจได้แล้ว พร้อม ๆ กับความแตกแยกที่ยากต่อการรวมกันติดของกลุ่มประเทศที่เรียกว่า โอเปค

การกีดกันทางการค้าซึ่งมีประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่เป็นตัวละครเอก เล่นบทประกบกับดาราหน้าเดิมอย่างสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประชาคมยุโรป (ที่ยิ่งวันยิ่งเป็นปึกแผ่นตามลำดับจนมีอำนาจต่อรองสูงมาก) ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์เพียงประการเดียวที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ว่ากันว่ากำลังเป็น "นิค" อีกประเทศหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงตามระดับความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ชาวโลกเขาเล่นกัน

ทิศทางของธุรกิจครอบครัวไทยที่แข็งแกร่งในปัจจุบันยิ่งเผอิญเป็นทิศทางที่มุ่งผลิตเพื่อการส่งออกอีกด้วย

กลุ่มที่จะโดนผลกระทบอย่างหนักหน่วงจึงเป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัวเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารของธุรกิจครอบครัวก็คงจะเกิดอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม

ไม่แน่นักบางทีสภาพของธุรกิจครอบครัวอาจจะถึงคราวต้องสลายตัวโดยสิ้นเชิงทั้งในด้านความเป็นเจ้าของและการบริหารก็เป็นได้ !?!?

หรือร้ายแรงกว่านั้นก็คือล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง เฉกเช่นกับที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวในอดีต

ธุรกิจครอบครัวบ้านเรานั้น โดยภาพรวมแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และด้วยเงื่อนไขของการยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี่เองที่ทำให้สามารถพัฒนาและเติบโตมาได้กระทั่งปัจจุบัน

ยกเว้นก็แต่บางธุรกิจของบางครอบครัวเท่านั้นที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็สามารถพัฒนาและเติบโตได้ด้วยเงื่อนไขพิเศษอย่างเช่น ธุรกิจเบียร์ของตระกูลภิรมย์ภักดีเป็นต้น (รายละเอียดอ่านจากเรื่องเบียร์สิงห์)

ดังได้กล่าวแล้วว่าธุรกิจครอบครัวภาคอุตสาหกรรมที่ "ผู้จัดการ" เขียนถึงนั้น เริ่มต้นจากการประกอบพาณิชยกรรมเป็นส่วนใหญ่จากนั้นค่อยขยายตัวเข้าสู่การผลิตทดแทนการนำเข้าและขยายอีกขั้นเป็นผลิตเพื่อส่งออกด้วย

สุกรี โพธิรัตนังกูร เริ่มต้นจากธุรกิจค้าผ้าแล้วขยับขยายมาทำโรงงานทอผ้า จุดที่ก้าวกระโดดก็คือการร่วมทุนกับต่างชาติขยายกิจการ

เพียงแต่จุดเด่นของเขาก็คือการเล่นเกมที่พยายามมีอำนาจเหนือหุ้นส่วนชาวต่างชาติเท่านั้น

เป็นกลยุทธ์ของการหยิบยืมทุนจากข้างนอกที่เข้ามาพร้อม ๆ กับโนว์ฮาว จากนั้นก็เข้าควบคุม ทั้งสองส่วนกลายเป็นกลุ่มทุนที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

กลุ่มสหยูเนี่ยนก็เริ่มจาก อดีตหลงจู๊ที่ช่ำชองการค้าที่ต่อมาก็จับมือกับญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตซิปแล้วขยายตัวตามลำดับ

จากนั้นก็นำกิจการหลายแห่งเข้าตลาดหลักทรัพย์

กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้งจับมือกับญี่ปุ่น

กลุ่มซีพีจับหลายกลุ่ม ฯลฯ

ส่วนถ้าไม่ร่วมทุนกับต่างชาติก็พัฒนาถึงขั้นสร้างฐานการเงินของตัวเองขึ้นมาสนับสนุน

จากจุดกำเนิดที่ครอบครัวเป็นเจ้าของล้วน ๆ การเปลี่ยนแปลงในแง่ที่เปลี่ยนจากความเป็นเจ้าของกลายสภาพมา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นมาในระยะใกล้ ๆ นี้ และก็คงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อย ๆ ตามปริมาณของการขยายตัวซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาทุนรอนเพิ่มขึ้นถึงระดับที่ครอบครัวไม่มีศักยภาพเพียงพอแล้ว

ซึ่งถ้าจะให้พยากรณ์ทิศทางที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ก็เห็นจะต้องบอกว่าการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนซึ่งมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะเป็นทางออกที่สำคัญอีกทางหนึ่งในอนาคต

อีกปัญหาหนึ่งของธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่พูดกันมากก็คือปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ

การสืบทอดอำนาจเป็นหัวข้อที่หยิบยกมาพูดกันมากสำหรับธุรกิจครอบครัว ที่ร่วมกันบริหารระหว่างคนในครอบครัวกับมืออาชีพจากข้างนอก

แต่ไม่ค่อยพูดถึงถ้าธุรกิจนั้นคนในครอบครัวบริหารกันมาโดยตลอด อย่างเช่นกรณีบุญรอด บริวเวอรี่หรือกรณีกลุ่มทอผ้าของสุกรี

ถ้าจะพูดก็พูดในทำนองว่าอนาคตจะเป็นเช่นไรเท่านั้น

กล่าวโดยแนวโน้มแล้วนั้น ธุรกิจครอบครัวของไทย โดยส่วนใหญ่ถ้าจะมองในแง่ของการสืบทอดอำนาจแล้ว ก็ยังเป็นการส่งทอดในหมู่ของสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้โดยนัยยะที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ธุรกิจครอบครัวจริง ๆ แล้วก็ยังไม่หมดรุ่นที่หนึ่งเสียโดยสิ้นเชิง อายุการก่อตั้งที่อยู่ระหว่างช่วงหลังสงครามซึ่งกินเวลาเพียงราว ๆ 30-40 ปี ยังเป็นช่วงที่อายุขัยของรุ่นที่หนึ่งยังไม่หมดหรือถ้าหมดอย่างมากก็เป็นรุ่นที่ 2

สุกรี โพธิรัตนังกูร เป็นผู้ให้กำเนิดธุรกิจครอบครัวและปัจจุบันยังเป็นวันแมนโชว์อยู่เหมือนเดิม

ดำหริ ดารกานนท์ ผู้ให้กำเนิดสหยูเนี่ยนอายุเพิ่ง 56 ปี

นายห้างเทียม โชควัฒนาแห่งกลุ่มสหพัฒน์ยังอยู่

เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ก็ยังทำงานไหว

และอีกมากที่ทำงานไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนทายาท

วิวัฒนาการของธุรกิจครอบครัวนั้น ถ้านับรุ่นที่ 1 เป็นรุ่นของการบุกเบิก รุ่นที่ 2 ก็คงจะเป็นรุ่นที่สร้างความมั่นคงให้กับกิจการ

พิจารณาในแง่นี้แล้วระดับความเข้มข้นของสายเลือดจากรุ่น 1 สืบทอดถึงรุ่น 2 ซึ่งส่วนใหญ่ซึมซับถึงความยากลำบากมากพอ ๆ กับรุ่นพ่อ ความทะเยอทะยานหรือไฟในตัวก็ยังถือเป็นรุ่นที่สามารถรับการสืบทอดได้สบาย ๆ ยกเว้นแต่จะมีปัญหาจำเพาะที่กลายเป็นเงื่อนไขทำลายการสืบทอดลักษณะนี้เท่านั้น การสืบทอดจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปอื่น ซึ่งมากต่อมากแล้วก็คือปัญหาความเปลาะบางของครอบครัวนั่นเอง

ประการที่สอง ผู้ทำหน้าที่สืบทอดถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นคนที่ผ่านการศึกษาและการบ่มเพาะให้เป็นคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ไม่ใช่คนที่ "เตี่ย" ไม่ยอมให้ห่างตัว เรียนรู้แต่เฉพาะวงการแคบ ๆ ของ "เตี่ย" หลายคนมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามืออาชีพ และการก้าวขึ้นมานั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างตายตัวไปแล้ว ว่าจะต้องเริ่มจากพนักงานระดับทั่ว ๆ ไปก่อน เรียนรู้งานระยะหนึ่งแล้วจึงขึ้นไป

การพิจารณาอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์หรือมืดมนเป็นการมองที่จะต้องแยกแยะปัญหาทายาทหรือมืออาชีพออกจากปัญหาอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ

ธุรกิจครอบครัวใดก็ตามที่มีโครงสร้างของทุนที่เปิดกว้าง

มีการวางระบบการบริหารเป็นแบบสมัยใหม่ด้วยการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และการกระจายอำนาจ แทนที่การรวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเจ้าของ

ปัญหาการสืบทอดอำนาจในแง่ที่จะตกอยู่กับมืออาชีพ คนนอกหรือลูกหลานที่เป็นคนของครอบครัวผู้เริ่มต้นกิจการดูเหมือนจะเป็นปัญหารอง ซึ่งการประเมินค่าคงต้องมุ่งลงไปที่รายละเอียด

ก็อย่างที่มีคนกล่าวไว้นั่นแหละ

ได้ลูกหลานดีมีความสามารถเป็นสิ่งประเสริฐ แต่ถ้าได้ลูกหลานไม่เอาไหนมิล่มจมคราวนี้แล้วจะล่มจมเมื่อใด

ธุรกิจครอบครัวในบางเงื่อนไขของสถานการณ์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายโดยเฉพาะในระยะที่เป็นช่วงของการบุกเบิกกิจการ

การสืบทอดอำนาจภายในหมู่คนในครอบครัวเดียวกันก็ไม่ใช่ข้อสรุป ที่จะเรียกเป็นความเสียหาย หากทายาทเป็นคนมีความสามารถถึง

ธุรกิจครอบครัวของไทยนั้น โดยแนวโน้มแล้วการดำรงอยู่พร้อม ๆ กับเจริญเติบโตต่อไปได้ก็คือการปรับตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งรูปแบบจะเป็นเช่นไรนั้น บางทีอาจจะต้องค้นหาลักษณะเฉพาะกันเอาเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us