Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2531
TBI GROUP โพธิรัตนังกูร เสียวเหลือเกิน             
 


   
search resources

ทีบีไอกรุ๊ป
สุกรี โพธิรัตนังกูร
Garment, Textile and Fashion




สี่สิบกว่าปีที่สุกรี โพธิรัตนังกูร ผาดโผนอยู่ในยุทธจักรสิ่งทอกับโบนัสความเป็น "ราชาสิ่งทอของโลก" ที่เขาได้รับความสมบูรณ์แบบ กลายเป็นเครื่องหมายคำถามลองดีความอยู่รอดของอาณาจักรหลายหมื่นล้าน "ทีบีไอกรุ๊ป" ที่สุกรีสร้างขึ้นมาด้วยกลอุบายอันแยบยลและความยากลำบากที่ไม่มีตำราเรียนเอ็มบีเอเล่มใดจะเทียบเท่ารุ่นที่ 2 ของ "โพธิรัตนังกูร" จะรักษามันไว้ได้หรือไม่...

พลาดไปเพียงครั้งเดียวไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางความเป็น "เจ้าพ่อ" ของสุกรี โพธิรัตนังกูร

สุกรี โพธิรัตนังกูร - อัจฉริยบุคคลผู้ค้ำจุนธุรกิจหลายหมื่นล้านด้วยความไม่รู้หนังสือหนังหา ใด ๆ เลยสักตัว อัตชีวประวัติของเขามีค่ายิ่งกว่าตำราเอ็มบีเอ เขากลายเป็นแบบอย่างการต่อสู้ทางธุรกิจ ที่ใคร่กระหายความยิ่งใหญ่ทุกเสี้ยวนาที !!??

สุกรีอาจไม่ต้องรอซื้อเวลาความเกรียงไกรจนถึงวันนี้หากครั้งที่บริษัทอุตสาหกรรมไทยเกรียงฟอกย้อม ประสบปัญหาครั้งนั้น (ปี 2520) เป็นที่รู้กันว่าสุกรีเร่าร้อนยิ่งนักกับการได้สิทธิ์เข้าไปแก้ปัญหาไทยเกรียงฯ มันไม่เป็นเพียงแค่การสร้างเกียรติประวัติหากยังเป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจที่ดี

เสียดายที่ ชิน โสภณพนิช ไม่ยอมตอบรับสุกรีและทีบีไอ.กรุ๊ปของเขา กลับไปมีไมตรีจิตอันดีกับกลุ่มสหยูเนี่ยนของดำหริ ดารกานนท์ แต่ก็นั้นแหละสำหรับสุกรีคนที่มีชีวิตเริ่มต้นก่อนรุ่งอรุณทุก ๆ วันย่อมไม่ใช่เป็นการพ่ายแพ้อย่างหมดอาลัยตายอยาก

มีบางคนบอกว่าสุกรีนั้นเหมือนเฒ่านักตกปลา ในนิยายชื่อดังของเฮมมิงเวย์ที่ว่า "เขาเป็นคนที่ยอมให้ถูกทำลายได้ แต่จะทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะสุกรีไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้แพ้"

"ผมโตมาจากการขายผ้า จะให้ผมไปทำอะไรล่ะ ผมมันเก่งเรื่องสิ่งทอ ผมมุ่งหวังที่จะเป็นจ้าวสิ่งทอของโลกให้จงได้" สุกรีเคยบอกเล่าความใฝ่ฝันของเขากับ "ผู้จัดการ"

มาจนถึงวันนี้ความใฝ่ฝันของสุกรีที่จะให้ทุกโรงงานมีแกนปั่นด้ายรวมกันไม่น้อยกว่า 1,000,000 แกนกำลังจะเป็นจริงขึ้นมาในไม่ช้า เมื่อผนวกกับการแตกแขนงการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สุกรีมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ส่งออก

เชื่อเถอะว่า สุกรี โพธิรัตนังกูร กับ ทีบีไอ.กรุ๊ปของเขา คือสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของโลกอุตสาหกรรมสิ่งทอขนานแท้จริง ๆ !!!

ความสำเร็จของทีบีไอ.กรุ๊ป เป็นเรื่องที่ว่ากันด้วยลำหักลำโค่นของคน ๆ เดียวอย่างสุกรีเป็นสำคัญ การรู้จักฉกฉวยโอกาสจากการร่วมทุนกับต่างชาติชนิดไม่ยอมเป็นเบี้ยตัวรองทำให้ธุรกิจของ "โพธิรัตนังกูร" สง่าผ่าเผยขึ้นมาอย่างน่าใคร่ครวญ และยิ่งมีคำกล่าวกันมากว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นแทบไม่จำเป็นต้องใช้ "มืออาชีพ" มากนักซึ่งในเมื่อสุกรีเองก็ปรารภอยู่บ่อย ๆว่า "เขาอยากให้สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นของโพธิรัตนังกูรตลอดไป" มันก็เลยน่าดูอยู่ไม่น้อยว่า

ส้มหล่นที่ลูกหลาน "โพธิรัตนังกูร" รับมาจากบรรพชนที่เก่งฉกาจนั้นพวกเขาจะสืบทอดมันให้อยู่ต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับของเดิมหรือไม่ ??

"ผมใหญ่ขึ้นมาได้เพราะทหาร" สุกรีเคยบอกเล่าความเป็นมาของเขาอย่างไม่ปิดบัง เป็นการชี้ ให้เห็นว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจนถึงช่วงเวลาของการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นพร้อม ๆ กับการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 นั้นความสำเร็จของพ่อค้าจีนจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายก็ต่อเมื่อ "รู้จักนายทหารและหยิบยืมบารมีมาใช้ให้เป็นในการทำธุรกิจ"

สุกรีเป็นคนที่รู้จักกาลเทศะเป็นอย่างดีว่าเวลาไหน คราไหน ที่เขาจะอำพรางสีของตัวเองให้เข้ากับกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร ???

ชีวิตที่เริ่มต้นของสุกรีนั้นเขาต้องผูกพันกับกลุ่มนายทหารต่างกรรมต่างวาระที่เป็น "ศัตรู" กันในทางการเมืองถึง 2 กลุ่ม โดยในปี 2492 ที่สุกรีมีร้านขายผ้า "กิมย่งง้วน" เป็นของตัวเองเขาสามารถทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้เนื้อเชื่อใจถึงกับให้สิทธิ์ร้านกิมย่งง้วนเป็นรายเดียวผูกขาดขายผ้าให้กับอจส.

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลป.พิบูลสงคราม ในปี 2500 และเป็นช่วงที่การลงทุนอุตสาหกรรมกำลังตื่นตัวแทนที่สุกรีจะม่อยกระรอกตามนายเก่าเขากลับทำให้หลายคนประหลาดใจเมื่อสามารถต่อเส้นสายเข้าหาจอมพลสฤษดิ์ได้โดยผ่าน พล.ท.วิชัย พงษ์อนันต์ เจ้ากรมยุทธการ ทส.ของสฤษดิ์ ผลจากการกระทำครั้งนี้ทำให้สุกรีได้รับช่วงต่อของโรงงานทอปั่นด้ายของกรมทหารที่วัดสร้อยทองซึ่งมีแกนปั่นด้ายถึง 20,000 แกนมาทำแทนโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ไทยคอตตอนมิลค์" พร้อมเพิ่มแกนปั่นด้ายเป็น 30,000 แกนนับเป็นการสร้างฐานรากที่แยบยลเสียนี่กระไร !?

สายสัมพันธ์กับฐานอำนาจทางการเมืองการทหารของสุกรีเห็นได้อย่างแจ่มชัดอีกครั้งก็ในปี 2527-30 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีเสียงร่ำลือหนาหูว่า บริษัทไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ของสุกรีมีการขยายแกนปั่นด้ายอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในปี 2527 เพิ่มแกนปั่นด้ายถึง 40,000 แกนซึ่งในระยะนี้เกิดภาวะวิกฤติเส้นด้ายภายในราคาสูงขึ้นกว่า 50% ทำให้ทุกคนมองกันว่า ราคานี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง แต่เป็นการจงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อบีบให้ราชการยอมรับเงื่อนไขการขยายกำลังผลิต

ไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ในฐานะยักษ์ใหญ่ที่กุมตลาดเอาไว้มากกว่า 70% ย่อมหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเป้าครหา การต่อสู้ในเรื่องนี้รุนแรงมากถึงกับที่บีโอไอ.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความถูกต้องของการขอรับการส่งเสริมขยายแกนปั่นด้าย ขณะเดียวกับที่คู่แข่งรายใหญ่อย่าง "อุตสาหกรรมทอผ้าไทย" ของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ก็ร่วมออกแรงคัดค้านสุดเหวี่ยง

การหักหาญกันในเรื่องนี้หากดูความสมเหตุสมผลของหลาย ๆ ฝ่ายแล้วหลายคนเชื่อว่าสุกรีกับ ทีบีไอ.กรุ๊ป ของเขาจะต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอนแต่แล้วด้วยการโชว์ศักยภาพการส่งออกที่ทีบีไอ. กรุ๊ป บอกว่าจะส่งออกในปี 2530ได้สูงถึง 2,500 ล้านบาทสูงจากปี 2529 ที่ส่งได้เพียง 1,600 ล้านบาท ภายหลังที่ประมวล สภาวสุ รมว. อุตสาหกรรมประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งทอแห่งชาติได้ไปตรวจเยี่ยมโรงงานของสุกรีที่รังสิตเมื่อ 17 ธันวาคม 2529 ชัยชนะในเรื่องการขยายแกนปั่นด้ายก็ตกเป็นของสุกรี

ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่า ทำไม รมว.อุตสาหกรรมอย่างประมวล จึงเปลี่ยนแปลงมติอย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น 7 วันยังมีทีท่าว่าจะไม่ให้โรงงานของสุกรีขยายแกนปั่นด้าย กล่าวกันว่าเบื้องหลังความสำเร็จแท้จริงนั้นเกิดขึ้นจาก "นายทหาร" คนหนึ่งเป็นคีย์สำคัญ นายทหารคนที่ว่านี้ก็คือ พ.อ. (พิเศษ) เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม ลูกเขยของสุกรีนั่นเอง

เสธฯเจริญศักดิ์นั้นเคยทำงานอยู่ฝ่ายกิจการพลเรือนพิเศษ กอ.รมน. เป็นผู้ปฎิบัติการจิตวิทยาที่ พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลเปรม 5 เชื่อมืออย่างมาก และยังเป็นทีมงานที่ปรึกษาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ.อีกด้วย จะเห็นได้ชัดเลยว่า สะพานเชื่อมโยงกับฐานอำนาจของสุกรีโดยผ่านลูกเขยของเขานั้นไม่เบาเลย!!!

แบบแผนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างน่าประหลาดใจเป็นเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจนักหนา แต่จิตวิทยาและปรัชญาการทำการค้าเยี่ยงสุกรี โพธิรัตนังกูร ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องจดจำบทเรียนอันเจ็บปวดไปอีกยาวนาน!?

สุกรีหยิบยืมการร่วมทุนกับต่างชาติขยายตัวและค้ำความยิ่งยงของธุรกิจครอบครัวของเขาเอาไว้ได้อย่างไร!? "ประสบการณ์ของขิงแก่อย่างสุกรีที่ให้บทเรียนกับญี่ปุ่นนั้น ผมว่าหากมองในแง่ดีแล้วเป็นเรื่องที่นักธุรกิจไทยควรศึกษากันไม่น้อย" นักธุรกิจคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2502 ที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสิ่งทอก็เป็นปีที่สุกรีคิดที่จะขยายฐานของตนเช่นเดียวกัน เขาร่วมมือกับกลุ่มซิกิโบและโนมูระ ยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของญี่ปุ่นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทยขึ้นมาด้วยทุนไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทแบ่งสัดส่วนหุ้นเป็นไทย/ญี่ปุ่นร้อยละ 51/49

กิจการทอผ้าห่มไทย (ทีบีไอ.) รุ่งเรืองมากในปี 2505 พร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของซิกิโบที่เรียกร้องให้สุกรีแบ่งเงินปันผล แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการสนองตอบจากสุกรีมากมายนัก เนื่องจากปรัชญาการทำงานของสุกรียึดหลักที่ว่า "ต้องขยายไม่หยุดหย่อน เขานำเอาผลกำไรไปขยายการลงทุนทุก ๆ ปี"

ความที่ถูกบ่ายเบี่ยงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซิกิโบ -โนมูระ เป็นเดือดเป็นแค้นอย่างมากที่ถูกหักหน้าแบบให้ได้อายเลยยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและยื่นหนังสือฟ้องร้องบังคับหนี้ซึ่งสุกรีก็ยินยอมทันที "ผมเซ็นให้แม่งเลย" เขาเคยกล่าวด้วยความยิ้มย่องในชัยชนะ

สิ่งที่สุกรีได้รับจากการกระทำอย่างนี้ของเขาก็คือว่า ในที่สุดสัดส่วนหุ้นของซิกิโบ-โนมูระก็ ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป จนแทบจะไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วในปัจจุบัน นับเป็นการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ "โพธิรัตนังกูร" อย่างที่ไม่ต้องเปลืองตัวอะไรมากนัก หนำซ้ำยังได้เทคโนโลยีมาใช้แบบฟรี ๆ ด้วย

หรืออย่างคราวที่เขาต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกับ ชาตรี โสภณพนิช ในเรื่องของโรงงานไทย- เมล่อนโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่สุกรีขยายให้ครบวงจรโดยร่วมทุนกับกลุ่มโรปูแลงท์ของฝรั่งเศส และแบงก์กรุงเทพในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 49.6/40/10 ตามลำดับ

ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ที่เป็น "หัวใจ" ของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบในช่วงแรก ๆ นั้นประสบกับภาวะขาดทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทเล่นเอาโรปูแลงถึงกับถอดใจไม่สู้ต่อ การตัดสินใจยอมแพ้ของโรปูแลงท์สร้างความหนักใจให้กับสุกรีมาก เพราะ หนึ่ง-เขาเองยังไม่มีความชำนาญในเรื่องเส้นใยสังเคราะห์ สอง- ความต้องการที่จะรุกคืบเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของชาตรีกับแบงก์กรุงเทพ เนื่องจากชาตรีเองก็มองออกว่า หากอดทนอีกสักนิดในอนาคตไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์แทบจะเป็นผู้ผูกขาดที่สดใส

ชาตรีต้องการได้หุ้นในส่วนของโรปูแลงท์มาไว้ทั้งหมด และในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ก็อยากให้สุกรีเทหุ้นอีก 29% มาให้อีกด้วย การนัดเจรจาตกลงกันเรื่องนี้ที่โรงแรมดุสิตธานีเป็นความอ่อนหวานที่ชาตรีไม่อาจลืมเลือนได้เลยในชีวิต เพราะขณะที่สุกรีกล่าวว่า "ผมยินดีด้วยในความต้องการที่เป็นผลสำเร็จของคุณ" ชาตรีและทุกคนที่อยู่ในที่นั้นใครเลยจะคิดว่า ณ อีกมุมหนึ่งสุกรีได้ส่งตัวแทนของเขาไปเจรจากับผู้มีอำนาจเต็มของโรปูแลงท์ให้ขายหุ้นทั้งหมดแก่ตัวสุกรีเสียเถอะ โดยตกลงจ่ายค่าหุ้นให้ครึ่งหนึ่งก่อนแล้วที่เหลือผ่อนชำระในอีก 3 ปี

ข้อเสนอดี ๆ อย่างนี้มีหรือโรปูแลงท์จะไม่เอาที่สุดหุ้นใหญ่ทั้งหมดเลยมาอยู่ในหน้าตักของสุกรีแทนที่จะไปอยู่กับชาตรี นอกจากนี้โรปูแลงท์ยังให้การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีเหมือนเดิม จนปัจจุบันนี้ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดให้ ทีบีไอ. กรุ๊ป ไปเสียแล้ว!!!

คนจีนมีหลักทำการค้าอยู่อย่างหนึ่งว่า "เมื่อได้ต้องได้ เมื่อเสียอย่าเสียดาย" พูดอย่างคนไทยก็ว่า "ถึงลูกถึงคน" หลักยึดนี้ดูเหมือนสุกรีจะมีอยู่อย่างครบเครื่อง ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งเดียวกับการหักหน้าชาตรีในเรื่องไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ ยังมีอีกมากที่แสดงถึงความกล้าของคน ๆ นี้

ไทยอเมริกันเทกซ์ไทล์ผู้ผลิตเส้นด้ายรายใหญ่ที่มีแกนปั่นด้ายมากถึง 72,556 แกนเป็นบทพิสูจน์ที่ดี โรงงานนี้เดิมทีมีนักลงทุนอเมริกันมาร่วมด้วยแต่สถานการณ์ที่ตกต่ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2513 ทำให้นักลงทุนอเมริกันขลาดกลัวและเมื่อมาเจอการสต็อกฝ้ายที่สุกรีไม่ต้องการให้สต็อกไว้นาน ๆ ขอให้มีการผลิตออกมาเร็ว ๆ เพื่อทุ่มตลาดซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นทางอเมริกันไม่เห็นด้วยเลยก่อให้เกิดปัญหา จนที่สุดได้มีการถอนหุ้นกลับคืนเรื่องนี้ทำให้สุกรียัวะมากเขาเลยเร่งผลิตด้ายทุ่มตลาดเป็นการใหญ่ เพื่อระบายการส่งออกให้เกิดมากขึ้น ทั้งนี้จะได้ลดสต็อกภายในลง ซึ่งเมื่อใดที่ความต้องการภายในสูงขึ้นก็ง่ายกับการที่จะตั้งราคาตามความชอบใจ

โชคบวกกับฝีมือที่สุกรีเก็งสถานการณ์ได้ถูกการสุ่มเสี่ยงของเขาครั้งนั้นกลับเป็นผลดีใน 4-5 ปีหลังถัดมา ความต้องการในที่ยั้งไม่หยุดเลยส่งผลให้ไทยอเมริกันฯ แฮปปี้อย่างหาใดเหมือน

แต่ที่เด็ดขาดมากที่สุดของเขาเห็นจะเป็นครั้งที่แก้ปัญหาขาดทุนของไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ในปี 2526-27 ซึ่งปีนั้นไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ตัวเลขขาดทุนสูงถึง 700 ล้านบาท ผู้ผลิตทั่วโลกหวาดกลัวไม่กล้าส่งสินค้าออกเพราะราคาเส้นด้ายในตลาดโลกขณะนั้นเหลือเพียงปอนด์ละ 28-29 บาท เรื่องอย่างนี้สำหรับสุกรีเขาไม่ระย่นย่อกลับเพิ่มการส่งออกถึงเดือนละ 1,000,000 ปอนด์

สุกรีกล้าที่จะ "เสีย" ในระยะสั้นทั้งนี้เพื่อแลกกับความอยู่รอดในระยะยาว เพราะสิ่งที่เขากระทำลงไปเท่ากับเป็นการจงใจปั่นตลาดเส้นด้ายภายในให้ระส่ำระสาย เพราะ 30-40% ของโรงงานทอผ้าภายในใช้เส้นด้ายจากโรงงานในเครือทีบีไอ. กรุ๊ป ดังนั้นเมื่อเส้นด้ายขาดแคลนราคาภายในก็สูงขึ้น และสุกรียังใช้ข้ออ้างในการขยายแกนปั่นด้ายอย่างชอบธรรมของตัวเองได้อีก

ก็จริงอย่างที่คนในวงการนี้บอกว่า "สำหรับสุกรีแล้วนั้นเขาเป็นได้ทั้งพระเจ้าและฆาตกร" !!

ภายในสมองกลม ๆ มน ๆ คล้ายลูกแตงโมของคนไม่รู้หนังสืออย่างสุกรีนั้นถูกบรรจุไว้ด้วยกลศึกอันแยบยลต่อเนื่องตลอดเวลา สุกรีปลุกตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอกับการวางแผนงานในเรื่องของการลงทุนนั้นแต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่สุกรีต้อง "วิ่ง" ให้ได้มาเพื่อบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งตอนแรก ๆ สมัยที่ตั้งโรงงานใหม่ ๆ เวลาไปติดต่อเจ้าหน้าที่บีโอไอเขามักมีผ้าเนื้อดี ๆ ติดตัวไปกำนัลอยู่เสมอ ๆ ครั้นมาระยะหลัง ๆ ที่กิจการขยายใหญ่มากขึ้นถึงกับมีเสียงลือว่า "สุกรีนั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบีโอไอคนหนึ่งเป็นตัวแทนที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทีบีไอ. กรุ๊ป คล้าย ๆ กับเป็นพนักงานประจำคนหนึ่งของทีบีไอ. กรุ๊ปเลยทีเดียว"


ทีบีไอ. กรุ๊ป ของสุกรีนั้นยิ่งใหญ่คับฟ้าเสียจริง ๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ไม่ยอมขยายตัวออกไปยังธุรกิจแขนงอื่นการขยายตัวของ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นการขยายตัวตามแนวตั้งที่พยายามครอบคลุมให้ครบวงจรการผลิตทั้งระบบ ทั้งปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ส่งออก สุกรีมีโรงงานปั่นด้ายใหญ่ ๆ คือ ไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ ไทยอเมริกันเทกซ์ไทล์ ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ ส่วนทอผ้าก็มีอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทย ฟอกย้อมก็มีไทยทริคอตไทยพรินติ้ง ไทยลีพรินติ้ง ไทยกรีพรินติ้ง และสำหรับตัดเย็บ-ส่งออก ก็มีไทยเอโร่กับไทยเอโร่การ์เมนท์เป็นหัวหอก

มองแล้วแทบจะไม่มีช่องว่างของอุตสาหกรรมนี้อีกแล้วที่คนอย่างสุกรียังไม่ได้ทำ เขาสรุปความเป็นหนึ่งของเขาอย่างแข็งกร้าวมากว่า "เพราะผมเก่ง" เหตุที่สุกรีไม่คะนองที่จะเล่นธุรกิจอื่นก็เป็นเพราะ "เขาไม่ลึกซึ้งทะลุปรุโปร่งเหมือนเรื่องสิ่งทอ"

และทางเดินล่าสุดของ ทีบีไอ. กรุ๊ป ก็ยังเป็นที่ยืนยันได้ว่าสุกรียังคิดที่จะใหญ่ในวงการนี้ต่อไปไม่หยุดหย่อน การเคลื่อนไหวซื้อที่ดินขนาดใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างโรงงานปั่นด้ายทอผ้าขนาดใหญ่อย่างน้อย ๆ อีก 2 โรงย่อมเป็นเรื่องยืนยันได้อย่างดี

การบริหารงาน ทีบีไอ. กรุ๊ป ของสุกรีนั้นเขาเป็นคน ๆ เดียวที่มีอำนาจสูงสุด ทั้งนี้เพราะสุกรีเชื่อมั่นตัวเองมากกว่า "ยังไม่มีใครแหลมคมพอที่จะขึ้นมาทดแทนเขาได้ในเวลานี้" และอีกอย่างหนึ่งการทำธุรกิจนี้ก็ไม่ยอกย้อนอะไรมากนักเพียงรู้จักขยับขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น เพราะตลาดภายใน ทีบีไอ. กรุ๊ป แทบจะชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ได้อยู่แล้ว

ถึงกระนั้นก็ต้องมองเหมือนกันว่า คนอย่างสุกรีที่ว่าแน่ ๆ ก็ยังต้องยอมรับความเป็น "มืออาชีพ" อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกิจการของไทยเอโร่กับไทยเอโร่การ์เมนท์ ซึ่งยุ่งเกี่ยวกับการส่งออกเขาปล่อยงานด้านนี้ให้กับผู้ร่วมหุ้นกับญี่ปุ่น วิโรจน์ อมตกุลชัย นักบริการอาชีพคนเดียวของ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นคนดูแล

ความจำเป็นในการยอมรับมืออาชีพของสุกรีอาจเป็นเพราะว่า หนึ่ง - บริษัทไทยเอโร่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สุกรีไม่ต้องการที่จะให้ทุกคนมองว่าบริษัทนี้เป็นของโพธิรัตนังกูร สอง - เขาเลือกใช้วิโรจน์ที่เป็นคนเข้าผู้ใหญ่เก่ง มีหลักการเจรจาคมคายเฉียบแหลง เป็นหัวขบวนในการสรรหาโควต้าซึ่งวิโรจน์ก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี และยังเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทในทางอ้อมด้วย

"ก็คงหวังได้แค่บริษัทไทยเอโร่เท่านั้นที่คนอย่างสุกรีจะยอมรับมืออาชีพและเปิดกว้างให้คนอื่นเข้าไปแสวงหาความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ได้บ้าง" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ทีบีไอ. กรุ๊ป แม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด และยังมีโอกาสที่จะผยองได้อีกยาวไกลนั้น หากหวนกลับมามองจุดยืนในการบรรลุเป้าหมายของกลุ่มนี้แล้วจะพบความเป็นจริงว่า "ได้ก่อให้เกิดโครงการอุตสาหกรรมที่เสียรูปไปมากในเรื่องความล้าหลังด้านเทคโนโลยี"

ทีบีไอ. กรุ๊ปที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสู่การพัฒนาไม่หยุดยั้งจนสามารถควบคุมการผลิตได้ครบวงจร ลักษณะอย่างนี้อาจพูดได้ว่าไม่ได้พบเห็นได้จากประเทศอื่นเลย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่มีการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ทีบีไอ.กรุ๊ปหาได้มีการพัฒนาเครื่องจักรเป็นของตัวเองซึ่งความอ่อนด้อยนี้ทำให้ขีดการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอบ้านเรายังอยู่ในวงจำกัด

ความแตกต่างนี้เปรียบกับญี่ปุ่นอย่างซิบิโก-โนมูระที่สุกรีดึงเข้ามาร่วมหุ้นนั้นเห็นได้ชัดว่ารากเหง้าของผู้ประกอบการมีฐานกำเนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซิกิโบ-โนมูระ มาจากคนที่สนใจงานเทคนิคเครื่องจักรสิ่งทอ ส่วนสุกรีก้าวมาจากการเป็นพ่อค้าผ้า ดังนั้นสุกรีจึงให้ความสนใจเรื่อง "ตลาด" มากกว่า

ความไม่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีนี้อาจมีผลในระยะยาว และเมื่อนั้นไม่รู้ว่า ทีบีไอ. กรุ๊ปจะคิดได้เมื่อสายเกินไปแล้วหรือเปล่า !!!

ทุก ๆ เช้าที่สุกรีต้องพาสังขารวัย 75 ปีของเขาเดินตรวจตราทุก ๆ จุดของโรงงานภายในเนื้อที่หลายพันไร่นั้น เขาจะฉุกคิดหรือไม่ว่า "40 กว่าปีแล้วนะที่ตัวเองต้องจมปลักอยู่กับการทำงานจนสายตัวแทบจะขาด" ซึ่งถ้าเขายังคิดอยากที่จะทำงานต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย โดยไม่ใส่ใจกับการฝึกปรือวิทยายุทธ์ให้กับทายาทให้เก่งสักครึ่งหนึ่งที่เขามีอยู่ มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า อาณาจักรหมื่นล้านที่เขาสู้เหนื่อยยากปลุกปั้นขึ้นมานั้นจะมีสภาพอย่างใดเมื่อเขาต้องจากไป????

เขาเคยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมก็หนักใจเหมือนกันเกี่ยวกับอนาคตของ ทีบีไอ. กรุ๊ป อายุปูนนี้แล้วผมพลาดอีกไม่ได้ ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกแล้ว"

ใช่แล้วคนอย่างสุกรีจะพลาดอีกไม่ได้ และเวลาที่เหลืออยู่จะเพียงพอกับเขาหรือไม่ สำหรับการเหลียวหลังกลับมาสร้างโครงสร้างใหม่ในรุ่นลูกให้แข็งแกร่งอย่างแท้จริง !!! เพราะสิ่งที่เขาไม่อยากเห็นเลยก็คือ "ทีบีไอ. กรุ๊ป เปลี่ยนมือไปจากคนในตระกูลโพธิรัตนังกูร"!!!

สุกรี-สุภา โพธิรัตนังกูร มีลูกชาย-ลูกสาวที่เขาบอกว่า "ลูกของผมไม่ทะเลาะกันแน่เรื่องแย่งสมบัติ" ด้วยกัน 6 คนคือ

ชาญวุฒิ โพธิรัตนังกูร - ลูกชายคนโตที่ดูเงียบเหงาและสมถะ ไม่ร้อนแรงมากนักกับการทำธุรกิจ สุกรีมอบหมายให้เขาดูแล "ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์"

ศุภวรรณ โพธิรัตนังกูร - "หนู" จบการเงินจากอังกฤษ ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสุกรีมาตั้งแต่เริ่มตั้งอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทย เป็นลูกที่สุกรีรักมากและละเอียดรอบคอบในเรื่องการเงิน-บัญชีแต่น่าเสียดายที่สุกรีไม่อาจใช้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกสาวคนนี้ได้มากนัก เนื่องจาก "หนู" ต้องติดตามไปดูแลสามีที่อังกฤษ

อรวรรณ โพธิรัตนังกูร (เที่ยงธรรม) - "แป๊ว" ภรรยาของเสธฯ เจริญศักดิ์ เป็นคนที่ถอดแบบสุกรีมาในเรื่องความเด็ดขาดและไม่ยอมใคร จบการบริหารมาจากอังกฤษ เธอกับสามีเป็นคนที่มีบทบาทสูงในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของทีบีไอ. กรุ๊ป

ชุติภัทร โพธิรัตนังกูร - "แดง" ลูกชายคนเล็กที่เป็นดั่งเงาทาบลงไปบนตัวสุกรี ซึ่งเขาเองยังยอมรับว่า เรื่องการซื้อขายแล้วนั้นลูกชายคนนี้ของเขาไม่เป็นรองใคร เขาเป็นคนสำคัญที่จะต้องแบกรับภาระของโพธิรัตนังกูรในรุ่นที่ 2 แดงแต่งงานกับลูกสาวคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ จึงทำให้สายสัมพันธ์ของเขากว้างขวางมากขึ้น

จุฑาทิพย์ โพธิรัตนังกูร - ลูกสาวที่ชอบอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยสนใจธุรกิจของตระกูลมากนัก "ต้อง" มีลักษณะคล้ายกับชาญวุฒิ ปัจจุบันแต่งงานอยู่กินกับ เพิ่มพูน ไกรฤกษ์ นายแบงก์อนาคตไกลของแบงก์ไทยพาณิชย์ ผู้เป็นทายาทของพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์

กรรณิการ์ โพธิรัตนังกูร - ลูกสาวคนสุดท้องที่สุกรีบอกว่าเหมือนเขามากที่สุด "จุ๋ม" จบมาจากอเมริกา ปัจจุบันเรียนรู้การขึ้นมาเป็นใหญ่ในทีบีไอ. กรุ๊ป อยู่ที่อุตสาหกรรมผ้าห่มไทย แต่งงานกับวินัย วิโรจน์วัธน์ ลูกเขยที่มีส่วนช่วยเหลือสุกรีมากในเรื่องการค้า วินัยคุมงานโรงงานฟอกย้อม

อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นจริงอยู่ที่ว่า ถ้าพื้นฐานมาดีแล้วให้คนในครอบครัวสืบทอดต่อก็พอที่จะกล้อมแกล้มไปได้ แต่สุกรีก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าลูกหลานของเขานั้นจะต้องเก่งพอ ๆ กับเขาไม่เช่นนั้นแล้วอย่าว่าแต่คู่แข่งจะรอวันเทียบทานรัศมีเลย บทสุดท้ายของ ทีบีไอ. กรุ๊ป นึกก็เสียวได้ไม่น้อย !!!

เส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนั้นอยู่ที่ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นตัวชี้ขาด ดังนั้นหมากกระดานนี้ของอาณาจักรแห่งนี้จึงจำเป็นต้องเดินด้วยความสุขุม ระมัดระวังเป็นพิเศษ!!!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us