Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2531
4 ทศวรรษธุรกิจครอบครัว การบุกเบิก การสืบทอด และการเปลี่ยนแปลง             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ เครือเจริญโภคภัณฑ์
โฮมเพจ เซ็นทรัลกรุ๊ป

   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์
สหพัฒนพิบูล, บมจ.
เซ็นทรัลกรุ๊ป
ธานินทร์
สุกรี โพธิรัตนังกูร
ถาวร พรประภา
Commercial and business




จากหน่ออ่อนที่มากต่อมาก จำกัดวงอยู่ในหมู่คนจีนโพ้นทะเลยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำหลายครอบครัวได้ให้กำเนิดธุรกิจของพวกเขาขึ้น ความเป็นนักบุกเบิกผู้ชาญฉลาดทำให้เขาประสบความสำเร็จสามารถก่อรูปเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ และก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องพังทลายไป

แต่นักบุกเบิกผู้เดินทางไกลมาอย่างน้อยสี่ทศวรรษก็คงไม่สามารถอยู่เป็นนิรันดร์ ปัญหาการสืบทอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้นซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคต

สงครามโลกครั้งที่สองทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โลกทุนนิยมภายใต้การชี้นิ้วสั่งการของสหรัฐอเมริกาฮึกเหิมลำพองขึ้นอย่างมาก อิทธิพลของสหรัฐอเมริการุกรานเข้าครอบงำการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง

และด้วยการอนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างดีจากอเมริกาที่มีต่องานรัฐประหารปี 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ทำให้ระบบทุนนิยมในประเทศไทยขยายตัวออกไปอีกก้าวหนึ่ง รูปแบบการผลิตสมัยใหม่ มิใช่เป็นเพียงหน่ออยู่ในครรภ์สังคมศักดินาเหมือนอย่างเก่าอีกต่อไป

พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ถึงจะไม่มีผลทางการปฏิบัติมากนัก ระดับการพัฒนาและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมอาจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ขนาดของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นของเอกชนยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม รัฐฯ ยังต้องเป็นตัวนำร่องในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กระนั้นยังนับได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีส่วนปลุกเร้าความเป็น "นายทุนใหม่" ขึ้นมาในสังคมไทย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนโยบายชาตินิยม "ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น" ทำให้ขุมอำนาจเศรษฐกิจที่ก่อนหน้าปี 2497 เคยอยู่ในกำมือคนต่างชาติต้องถูกย่อยสลายลงเป็นอันมาก อุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ อย่างการส่งออกข้าว โรงสีข้าว ธนาคารพาณิชย์ กิจการเดินเรือ ประกันภัยถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซงด้วยกลวิธีต่าง ๆ ผลจากการกระทำนี้ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่สามารถเดินตามก้นรัฐบาลได้เป็นดิบเป็นดีร่ำรวยขึ้นมาอย่างมากมาย

กลุ่มพ่อค้าคนจีนที่มีบทบาทสูงมากในช่วงนั้น ต้องมีการปรับตัวกันจ้าละหวั่น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวพวกเขาต้องยินยอมหวานอมขมกลืนอยู่ใต้อำนาจราชศักดิ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็รู้จักฉกฉวยหยิบยืมบารมีของคนเหล่านั้นมาแผ่ขยายปริมณฑลธุรกิจได้อย่าง แยบยลเช่นกัน

ในที่สุดเลยกลายเป็นว่านโยบายกีดกันคนจีนให้พ้นไปจากวงจรธุรกิจ กลับแปรรูปเป็นนโยบาย "คุ้มครองธุรกิจคนจีน" ให้โตวันโตคืนอย่างหน้าชื่นตาบาน กลุ่มทุนธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มผูกขาดเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันล้วนเติบโตขึ้นมาในยุคนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช ธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ สหธนาคารของตระกูลชลวิจารณ์

จอห์นี่ มา หรือ วัลลภ ธารวณิชกุล "อาชญากรเศรษฐกิจ" ชื่อดังที่ยังถูกล่าตัว เดิมทีเขาเป็นพ่อค้าคนจีนฮ่องกงเข้ามาร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เอเชียทรัสต์ ร่วมกับ ชิน โสภณพนิช เอเชียทรัสต์ได้รับความเชื่อถือจากพ่อค้าเป็นอันมากมีฐานะเสมือนแบงก์ ๆ หนึ่ง เบื้องหลังการเติบโตอย่างราบรื่นของเอเชียทรัสต์เป็นเพราะว่า ยอมที่จะให้ พล.อ. เผ่า ศรียานนท์ 1 ในขุนศึกกลุ่มซอยราชครูของจอมพลผินเข้ามาเป็นประธานบริษัท ลักษณะการเขียนเสือให้วัวกลัวซึ่งเป็นการลงทุนครั้งเดียวของจอห์นนี่ มา คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะเอเชียทรัสต์ไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่คอยหาเรื่องเล่นงานให้เสียค่าปรับโดยไม่จำเป็น

ธนาคารกรุงเทพ หลังการก่อตั้งในปี 2487 เพียงห้วงเวลาหนึ่งทศวรรษธุรกิจนี้กลับเติบโตอย่างพรวดพราด ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะ ชิน โสภณพนิช "จับเส้นถูก" จริงอยู่ที่ว่านโยบายรัฐบาลช่วงนั้นได้บีบบังคับให้แบงก์กรุงเทพโอนหุ้นร้อยละ 60 ให้แก่กระทรวงเศรษฐการพร้อมกับจัดส่ง พล.ต. ศิริ สิริโยธิน 1 ในขุนศึกกลุ่มซอยราชครูเข้าไปเป็นประธานกรรมการ สภาพการณ์นี้ไม่ทำให้ชินท้อถอยเขากลับช่วงชิงเวลานี้สร้างความเจริญเติบโตให้กับแบงก์กรุงเทพอย่างยากจะยั้งหยุด ทั้งนี้โดยอิงเข้ากับอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มซอยราชครู

รูปธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและกันระหว่างกลุ่มพ่อค้ากับกลุ่มอำนาจทางการเมือง การทหาร ที่สำแดงพลังหนุนเนื่องให้หลายธุรกิจยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้นั้น ได้ชักลากให้ธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ ให้เข้าไปสวามิภักดิ์กับกลุ่มอำนาจการเมือง-การทหารที่ผลัดเปลี่ยนยุคสมัยกันมาจนถึงปัจจุบัน

ธุรกิจครอบครัวที่บานสะพรั่งอย่างมากในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากกิจการธนาคารพาณิชย์แล้วนั้นก็ยังมีอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกตัวหนึ่ง มิเพียงแค่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย (อนท.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาผูกขาดในปี 2495 ส่วนภาคเอกชนเองในปี 2496 กลุ่มอัษฎาธรกับกลุ่มชินธรรมมิตร ก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมากุมกลไกตลาดน้ำตาลในปี 2496

กลุ่มไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมของตระกูลอัษฎาธร ที่มีสุรีย์ อัษฎาธร หรือ "เถ้าแก่หลิ่น" เป็นแม่ทัพนั้นตั้งโรงงานน้ำตาลทรายศรีราชา ซึ่งเป็นโรงงานเอกชนแห่งแรกในปี 2496 โรงงานแห่งนี้จะผลิตน้ำตาลทรายแดงขายส่งให้กับยี่ปั๊วต่าง ๆ ซึ่งปริมาณความต้องการน้ำตาลในขณะนั้นสูงมาก จึงทำให้กลุ่มไทยรุ่งเรืองสามารถหยั่งรากลึกในสนามธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มชินธรรมมิตรหรือกลุ่มกว้างสุ้นหลี ครอบครัวนี้ก็ทำธุรกิจมาช้านาน เดิมทีเป็นเพียงยี่ปั๊วที่รับซื้อน้ำตาลจากกลุ่มไทยรุ่งเรืองมาขายต่อให้กับพ่อค้าเล็ก ๆ แต่ด้วยสายตายาวไกลของผู้นำตระกูลอย่าง ชวน ชินธรรมมิตร ที่มองเห็นความเป็น "เสือนอนกิน" ได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานขึ้นมาแข่งกับเถ้าแก่หลิ่นของไทยรุ่งเรือง

ทั้งไทยรุ่งเรืองและชินธรรมมิตรมาเติบใหญ่สุดขีดอีกครั้งก็ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมาเถลิงอำนาจ โดยที่เถ้าแก่หลิ่นหรือ สุรีย์ อัษฎาธร เดินสายการเมืองด้วยการผ่านโอสถ โกสิน และบรรเจิด ชลวิจารณ์ ซึ่งเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์

ความสัมพันธ์ของธุรกิจครอบครัวกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง-การทหาร นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจึงไม่อาจแยกขาดจากกันได้!?

หัวเลี้ยวหัวต่อของการพลิกโฉมหน้าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาถึงจุดสวิงครั้งใหญ่จริง ๆ ก็ในปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ทำการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้ได้แง้มทวารการเข้ามาลงทุนของต่างชาติอย่าง เต็มที่

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ล่อใจนักลงทุนด้วยการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขึ้นมาในปี 2503 และกว้านเอานักวิชาการหนุ่มมือดี อย่างดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดร. อำนวย วีรวรรณ เข้ามาร่วมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งสาระสำคัญของแผนพัฒนาฉบับนี้ เน้นหนักการพัฒนาประเทศด้วยการลงทุนภาคอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องจารึกนามจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้ตราบชั่วฟ้าดินสลายเลยทีเดียว นับจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง INFRA STRUCTURE เช่น ถนน เขื่อน ประปา ขึ้นมาให้พร้อมเสียก่อนเพื่อรองรับโครงการใหญ่ ซึ่งก็ด้วยความจำเป็นดังกล่าวนี้เอง ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง "ตกทอง" ได้ก่อนอื่น ๆ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับความเป็น "บิดาการก่อสร้างไทย" จึงไม่เกินเลยความจริง !!! กลุ่ม อิตัลไทย ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างไทยเป็นกลุ่มที่โดดเด่นมากในยุคนั้น กลุ่มนี้เป็นการร่วมทุนกันของหมอชัยยุทธ กรรณสูต กับบีจีโอ แบร์ลิงเจียรี่ ชาวอิตาลี เริ่มต้นในนามบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมเมื่อ ปี 2489

ปี 2501 บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ (ไอทีดี.) ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็เกิดขึ้นในช่วงเวลา... ยิ่งนัก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ทุ่มโถมการพัฒนาด้าน INFRA STRUCTURE ขนาดใหญ่และบริษัทที่ประมูลงานก่อสร้างพื้นฐานทั้งหมดก็คือ ไอทีดี.

ความสำเร็จของไอทีดี. มีผลอย่างมากกับการที่หมอชัยยุทธนั้นมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับจอมพลสฤษดิ์ ทั้งนี้โดยผ่านจอมพลประภาส จารุเสถียร ทหารมือขวาของจอมพลสฤษดิ์ที่เกี่ยวดองเป็นคนสนิทของตระกูลกรรณสูตมาช้านาน หมอชัยยุทธถึงกับเขียนสุนทรพจน์เยินยอจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ชุบชีวิตธุรกิจก่อสร้างไทย

ภายหลังที่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 คลอดออกมา ทำให้อัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 10.2 การไหลเข้ามาของทุนจากต่างประเทศในระยะปี 2503-13 มีหลากหลายกระแส โดยเฉพาะจากอเมริกานั้นสูงถึง 72% อุตสาหกรรมลงหลักปักฐานอย่างมากก็เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ทดแทนการนำเข้า

ผลต่อเนื่องของการใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2503 เป็นตัวรุกยังทำให้กลุ่มทุนหลักในไทยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวเองอีกด้วย พ่อค้าคนจีนที่แต่ก่อนเคยเป็นเพียงผู้นำเข้า ก็หันมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง มีการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีการร่วมทุนกับต่างชาติ ญี่ปุ่นเป็นชาติ ที่มาร่วมลงทุนด้านสิ่งทอมากที่สุดถึง 52.2%

ความคึกคักของครอบครัวธุรกิจต่าง ๆ ที่ขยายตัวเข้าไปสู่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2503-2516 นั้น แม้จะเกิดขึ้นอย่างหนาตา หากพิจารณาความเป็นจริงเบื้องลึกจะพบข้อที่น่าสังเกตมากกว่า การลงทุนเหล่านั้นยังมิได้ทำให้องคาพยพของอุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็มาจากเหตุผลที่ว่า

การลงทุนส่วนมากมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าบริโภคขั้นสุดท้ายให้ความสนใจกับ "ตลาด" มากกว่าที่สนใจงานด้านพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักร อย่างเช่นกลุ่มโพธิรัตนังกูรที่ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พฤติกรรมของกลุ่มนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพัฒนาเครื่องจักรเป็นของตัวเองเลยสักที ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพก็มีพอเพียง รูปการณ์ที่เป็นอย่างนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ หนึ่ง- กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยเกิดขึ้นมาจากพ่อค้านำเข้าคนจีนที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเหมือนอย่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สอง- โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่ผูกขาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนมีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างโสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ คอยกำกับบทบาทอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงนั้นไม่ได้สนใจเรื่องเทคโนโลยีนัก และที่สำคัญอย่างมากอีกประการหนึ่งก็คือกลุ่มทุนต่าง ๆ ในประเทศไทยคงความเป็นนายหน้าให้กับต่างชาติเสียมากกว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรประภาที่เป็นตัวแทนขายรถยนต์นิส-สัน กลุ่มสหยูเนี่ยนที่เป็นตัวแทนให้กับวายเคเค. เป็นต้น

การเติบโตของธุรกิจครอบครัวในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ หลังจากช่วงปี 2503-2516 ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน 2 ข้อก็คือ หนึ่ง- ยังคงอิงอยู่กับอิทธิพลทางการเมือง สอง- อาศัยพื้นฐานจากต่างชาติเป็นหลัก

กลุ่มทุนนายหน้าที่รุ่งโรจน์ก็เช่นกลุ่มโพธิรัตนังกูรของ สุกรี โพธิรัตนังกูร กลุ่มพรประภาของถาวร พรประภา กลุ่มโชควัฒนา ของเทียม โชควัฒนา กลุ่มสหยูเนี่ยน ของดำหริ ดารกานนท์ หรือแม้แต่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของเจียรวนนท์ กลุ่มศรีไทยปศุสัตว์ ของสงวน จันทรานุกูล

กลุ่มโพธิรัตนังกูร - สุกรี โพธิรัตนังกูร กว่าที่จะมาเป็น "ราชาสิ่งทอโลก" ได้นั้น เขายอมรับว่าใหญ่ขึ้นมาได้เพราะรู้จักสร้างความสัมพันธ์กับนายทหารที่ครองอำนาจในช่วงปี 2500 อย่างสฤษดิ์ มุมที่หักเหชีวิตของเขาก็เมื่อรับช่วงโรงงานทอผ้าปั่นด้ายของกรมทหารที่วัดสร้อยทองมาทำได้เป็นผลสำเร็จ พฤติกรรมการลงทุนและขยายตัวของกลุ่มนี้ในช่วงปี 2500-16 ก็เป็นเพียงการปูพื้นฐานการผลิตขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่มีสายงานการผลิตครบวงจรอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นเน้นเพียงโรงงานปั่นด้าย

กลุ่มพรประภา - กลุ่มนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจเบื้องต้นของอุตสาหกรรม รถยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้แทนจำหน่ายนอกประเทศรายแรกของนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่น กลุ่มพรประภาสร้างสยามกลการบุกเบิกธุรกิจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ๆ

"สยามกลการได้เป็นตัว แทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันก็เพราะ ถาวร พรประภา ชนผู้บุกเบิกของกลุ่มรู้จักกันกับนายพลนาคามูระ อดีตแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผ่านตัวแทนจากกลุ่มซอยราชครู (พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร) ซึ่งนำพาเขาไปเป็นเอเยนต์ดังกล่าว"

การดำเนินธุรกิจของพรประภานั้นมีลักษณะพิเศษที่น่าศึกษามากก็คือ การสร้างฐานอันแข็งแกร่งของถาวร พรประภา โดยเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มอำนาจอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากที่ตีสนิทกับกลุ่มซอยราชครูช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนได้เป็นเอเยนต์รถยนต์นิสสัน ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจถาวรก็ใช้ธุรกิจเหมืองแร่ที่ตนมีอยู่สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์ แล้วมาถึงยุคถนอม-ประภาส-ณรงค์ ถาวรก็ยังเข้ากันได้ดีกับจอมพลประภาส จารุเสถียร โดยผ่านชิน โสภณพนิช เป็นคนเชื่อมโยง การที่ปรับตัวเองได้ทุกยุคสมัยนี้เองทำให้กลุ่มพรประภาดำรงความยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายครั้งจะประสบภาวะวิกฤติต่าง ๆ ก็ตามที

กลุ่มสหพัฒนพิบูลของตระกูลโชควัฒนา - กลุ่มนี้เป็นตัวแทนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการที่เป็นคนจีนในเมืองไทย

กลุ่มสหพัฒนพิบูลมีรากฐานมาจากความกล้าหาญชาญชัยของคน ๆ หนึ่งที่ชื่อ เทียม โชควัฒนา หรือ "เฮงเทียม" ซึ่งไม่ยี่หระที่จะต่อกรกับการรุกรานของกองทัพธุรกิจต่างชาติที่ดาหน้าถาโถมเข้ามามากมายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย

เทียม โชควัฒนา เป็นลูกชายพ่อค้าจีนร้าน "เปียวฮะ" ซึ่งเมื่อ 60 ปีก่อนอยู่แถว ๆ ตรอกอาเนียเก็ง ย่านทรงวาด ความสำเร็จของเทียมมีพื้นฐานมาจากความคับแค้นที่เห็นร้านเปียวฮะของพ่อต้องตกไปเป็นของอาและตัวเขาเองแทนที่จะได้เรียนสูง ต้องทำงานหนักเยี่ยงจับกัง

เทียมเริ่มทำตัวเป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุได้ 12-13 ขวบด้วยการไปรับยาเส้นมาขาย จนถึงอายุ 20 ปี เขาจึงมีร้านเป็นของตัวเองชื่อว่า "เฮียบฮะ" ความที่เขาเป็นคนหัวก้าวหน้ามองเห็นว่าการขายของเบ็ดเตล็ดอย่างเดิมคงไปไม่ไกลแน่ จึงได้เปลี่ยนแนวมาทำร้านส่งเสื้อยืดชื่อ "เฮียบเซ่งเซียง" เมื่อปี 2485

บริษัทสหพัฒนพิบูล เกิดขึ้นมาแทนร้านเฮียบเซ่งเซียง เมื่อปี 2495 และเทียมก็ทำให้หลายคนแปลกใจในแนวทางการบริหารธุรกิจที่มองอนาคตเป็นสำคัญเมื่อเขามอบหมายหน้าที่ "หลงจู๊" ให้กับเด็กหนุ่มหน้ามนคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการ "เสี่ยง" อย่างมาก ทว่าหลงจู๊คนนั้น "ดำหริ ดารกานนท์" ที่วันนี้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ "กลุ่มสหยูเนี่ยน" ไปแล้วนั้นย่อมเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเทียมได้เป็นอย่างดี

ปี 2502-2509 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหพัฒนพิบูล เมื่อเทียมเห็นว่าระบบการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศนั้น หลายครั้งมีปัญหาจุกจิกกวนใจ และไม่ได้เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างแท้จริง

เทียมตัดสินใจยกระดับสหพัฒนฯ ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเสียเอง โดยดัดแปลงวิธีการของญี่ปุ่นมาใช้ ซึ่งก็ต้องเรียนถูกเรียนผิดกันหลายครั้ง จนกระทั่งแก้ไขได้ถูกจุดกิจการของสหพัฒนฯ จึงเริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาในปี 2505 และเป็นปีแรกที่สหพัฒนฯ ร่วมทุนผลิตซิปกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นการร่วมทุนครั้งแรกของบริษัท

โรงงานไลอ้อน (กรุงเทพฯ) ที่เทียมตั้งขึ้นในปี 2506 เป็นรากฐานสำคัญของกิจการสหพัฒนฯ เพราะโรงงานนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีพัน ผงซักฟอก พลาสติก เพื่อป้อนให้กับบริษัทสหพัฒนฯ ก่อนถึงปี 2510 ยังคงเน้นที่การผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า

ปี 2511-2515 กลุ่มสหพัฒนฯ เริ่มรุกคืบเข้าสู่การผลิตสินค้าอุปโภค -บริโภคอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากตั้งบริษัทไทยวาโก้ และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอทรารี่ เพื่อผลิตชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง พอถึงปี 2515 จึงตั้งบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตอาหารสำเร็จรูปอย่างบะหมี่จนเป็นที่โด่งดัง

กลุ่มสหพัฒนฯ ในยุคปี 2489-2515 จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เตี่ยอย่าง เฮงเทียม ได้ปูพื้นฐานให้กับลูกหลานอย่างหนักแน่นและมั่นคง

กลุ่มจิราธิวัฒน์ - กลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการห้างสรรพสินค้าโดยเริ่มลงรากด้วยแนวความคิดของ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนโตของ นี่เตียง แซ่เจ็ง ซึ่งตั้งร้าน "เซ็นทรัล" ขึ้นมาเมื่อปี 2490 เป็นห้องแถวอยู่ที่ ถ. เจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช เพื่อขายนิตยสารต่างประเทศและขายของเบ็ดเตล็ด

สัมฤทธิ์เป็นคนที่สนใจและชอบธุรกิจขายส่ง เพราะเป็นทางเดียวที่สามารถขยายกิจการออกไปได้ จากตัวแทนขายนิตยสารเก่าเริ่มขยับมาเป็นตัวแทนขายพ็อกเกตบุ๊คและขยายร้านเป็นห้องแถว 3 คูหา ใกล้ ๆ ปากตรอกโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งร้านนี้ยังเป็นตัวแทนขายเสื้อยืดทันสมัยจากอเมริกาด้วย

ปี 2499 จิราธิวัฒน์ จึงได้ฤกษ์ลั่นห้างสรรพสินค้าขึ้นมาเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่วังบูรพาใช้ชื่อ "ห้างเซ็นทรัล" นับเป็นการพัฒนาธุรกิจขั้นที่ 1 ของจิราธิวัฒน์จากร้านห้องแถวมาเป็นห้างใหญ่ที่ทันสมัย และยังยกเลิกระบบต่อรองสินค้าอย่างที่เคยทำกันมา สินค้าที่วางขายในห้างเซ็นทรัลนั้น แม้ว่าบางตัวอาจเหมือนกับที่วางขายตามร้านทั่ว ๆ ไป ทว่าในแง่ภาพพจน์แล้วดูมีเครติดดีกว่า

ปี 2511 ได้ขยายสาขาเพิ่มอีกแห่งที่สีลม สาขานี้ตกแต่งอย่างหรูหราจนทำให้คนซื้อไม่กล้าเข้าไปซื้อเพราะกลัวของแพง สัมฤทธิ์ต้องหาทางแก้ไขด้วยการนำสินค้าที่คนอื่นไม่มีเข้ามาขาย ซึ่งในขณะนั้นเขาสามารถทำได้ง่ายแล้ว เพราะมีบริษัทเซ็นทรัลเทรดดิ้งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้รวมถึงการทุ่มโฆษณาอย่างหนักทำให้สีลมเอาตัวรอดมาได้ จนแตกหน่อเพิ่มได้อีกแห่งที่ชิดลม

การดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มจิราธิวัฒน์ในช่วงก่อนปี 2516 นั้น แม้ว่าจะนำเอาแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสมัยใหม่เข้ามาใช้ในเมืองไทย แต่สินค้าที่วางขายส่วนมากยังเป็นสินค้าที่สั่งนำเข้า การผลิตสินค้าเป็นของตัวเองยังไม่ปรากฎเด่นชัดเหมือนอย่างในปัจจุบันที่เซ็นทรัลเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย

กลุ่มเจียรวนนท์ - กลุ่มนี้ดำเนินการผลิตอาหารสัตว์มาตั้งแต่ปี 2497 ในนามบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีเจียเอ็กซอเป็นหัวขบวน การก่อกำเนิดธุรกิจของเจียรวนนท์มีเป้าหมายที่วางไว้แน่นอนมานานแล้วว่าจะต้องก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบครบวงจร

ปี 2503 - 2512 เป็นช่วงเวลาที่เจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ทุ่มเทเข้าสู่ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์อย่างรุนแรง ซีพีเป็นผู้ที่สานแนวคิดฟาร์มทุนนิยมให้เป็นจริง เมื่อมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่และบริษัทประกันราคารับซื้อ แนวคิดนี้ทำให้ซีพีสามารถกุมระบบการผลิตไว้ได้เกือบทั้งหมดเมื่อมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกยิ่งฉายภาพความเป็นผู้ผูกขาดอย่างเด่นชัด

ซีพีมาถึงจุดปรับวิถีโค้งที่ทำให้กิจการก้าวกระโดดอย่างน่าทึ่งในยุคที่ ธานินทร์ เจียรวนนท์ ขึ้นมามีอำนาจ ธานินทร์ได้นำซีพีเข้าร่วมทุนกับบริษัทอาร์เบอร์เอเคอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจปศุสัตว์ของโลก จากจุดนี้เองที่ทำให้ซีพีอหังการจนยากจะคลอนแคลน

ระยะผ่านของธุรกิจครอบครัวในห้วงเวลานับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง- ปี2516 ยังถือว่าเป็นช่วงของการเพิ่งหัดเดินเท่านั้น รากแก้วของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างประเทศที่รุดหน้าไปไกลแล้วเช่นญี่ปุ่นนั้นยังไม่ปรากฎเงาร่างของกลุ่มทุนไหนจะสำแดงออกมาให้เห็นเลย!?

กระทั่งถึงระยะผ่านที่สำคัญหลังเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในปี 2516 โฉมหน้าของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยจึงปรับโฉมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน!!!

ช่วงปลายปี 2516 ถึง 2517 ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยตกอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อผลสะท้อนอย่างมากมายต่อระบบการเมืองและสังคมไทย กลุ่มข้าราชการประจำที่ถืออาวุธได้สูญเสียสถานภาพในอำนาจการปกครอบที่เคยรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานลงระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันกับที่ กลุ่มเอกชนภายนอกระบบราชการ เช่นพ่อค้า นักธุรกิจ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และกำหนดค่านิยม ตลอดจนทิศทางทางสังคมมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางสังคมที่ว่านี้ แม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ยังคงทำหน้าที่ลงหลักปักฐานอยู่อย่างแน่นหนา

ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มโลกอาหรับ ได้รวมตัวกันประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบอย่างห้าวหาญ ระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ปั่นป่วนกันไปหมด

แม้แต่เศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตร ก็หลีกหนีไม่พ้น!

ภาวะราคาเฟ้อมากกว่า 10% การเติบโตทางการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะชะงักงัน และบางแห่งชะลอตัวลงมีสภาพที่ระบาดไปทั่ว เพราะอำนาจซื้อของคนในประเทศเสื่อมทรุดลง

ผู้ประกอบการธุรกิจ ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบริษัทกันสุดตัว ด้วยสาเหตุเพราะ

หนึ่ง- แกนขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ที่คนในครอบครัว ที่มีภาระต้องรับผิดชอบในชะตากรรมของลูกหลาน เหตุนี้ความอยู่รอดของธุรกิจจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความอยู่รอดของลูกหลานในครอบครัวด้วย

สอง- ธุรกิจไทยในเวลานั้น อยู่ในยุคของการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเสียมากกว่าการส่งออก เมื่ออำนาจซื้อของคนในประเทศถูกแรงกดดันจากภาวะราคาเฟ้อสูง จึงต้องปรับตัวธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่วิกฤติ

หนทางการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคนี้ ธุรกิจไทยมุ่งไปที่การปรับตัวด้านการบริหารองค์การและบริหารทุนกันยกใหญ่!

การปรับตัวด้านการบริหารองค์การ

ก่อนเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์น้ำมันแพงและการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ธุรกิจไทยซึ่งว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว หมายถึงธุรกิจกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทยอยู่ในยุคการบริหาร "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ของเถ้าแก่ผู้ก่อตั้ง

"มันเป็นช่วงการสร้างหลักปักฐานด้วยความอดทน ขยันหมั่นเพียร กล้าได้กล้าเสียโดยอาศัยวิจารณญาณ" แหล่งข่าวผู้ติดตามธุรกิจไทยมาเป็นเวลานานผู้หนึ่งกล่าวให้ฟัง

บุคลิกภาพในการสร้างหลักปักฐานตามนัยนี้ที่เด่นชัด เห็นทีจะไม่มีใครเกินกว่า นายห้างเทียม โชควัฒนา แห่งกลุ่มสหพัฒน์ ที่ปัจจุบันมรดกความมีมานะ อดทนของนายห้างส่งผลความยิ่งใหญ่ในสาขาอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับกลุ่มลีเวอร์ฯ และคอลเกตฯ ได้ ไม่อาย

นายห้างเทียม แม้มีพื้นฐานการศึกษาไม่สูง แต่ดูเหมือนว่ามีจิตสำนึกยอมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เต็มเปี่ยม กล่าวกันว่า ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ ร้านเฮียบเซ่งเชียง ซึ่งต่อมาขยายเป็นบริษัทสหพัฒนพิบูล ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับเถ้าแก่ร้านค้าในสำเพ็งเอามาก ๆ โดยการเอาหลงจู๊หนุ่มคือ ดำหริ ดารกานนท์ น้องเขย ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มสหยูเนี่ยนขึ้นมา เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในสมัยนั้น เถ้าแก่ในย่านสำเพ็ง มีความเชื่อกันว่า การเอาหลงจู๊หนุ่มที่อ่อนเยาว์ต่อประสบการณ์ เป็นการเสี่ยงเกินไปต่อความอยู่รอดของกิจการ

แต่ด้วยการยอมรับการเปลี่ยนแปลง และสันทัดในการมองคนของนายห้างเทียม ปรากฏว่าหลงจู๊หนุ่ม-ดำหริ กลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่มีส่วนสร้างธุรกิจซื้อมาขายไปของสหพัฒน์ในยุคก่อตั้งให้เติบใหญ่จนทุกวันนี้

การทำธุรกิจในยุคบุกเบิกของชนรุ่นที่ 1 ในหลายเหตุการณ์ เถ้าแก่ต้องใช้การตัดสินใจที่กล้าได้ กล้าเสียจากวิจารณญาณของตนเองเพียงลำพัง ซึ่งถ้าพลาดก็หมายถึงการล้มหายตายจากไป แต่เถ้าแก่อย่างนายห้างเทียม ดูออกจะโชคดีอย่างยิ่ง ที่บุคลิกกล้าได้กล้าเสียของนายห้างกลับมีส่วนเสริมสร้างให้ธุรกิจของสหพัฒน์เติบใหญ่มาจนวันนี้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติใหม่ ๆ การค้าย่านสำเพ็ง โดยปกติจะซื้อขายกันเป็นเงินสด แต่นายห้างเทียมกล้าแหวกประเพณีทางการค้า โดยสั่งขายสินค้าในร้านด้วยวิธีเงินเชื่อ 2 อาทิตย์บ้าง หรือ 1 เดือนบ้าง โดยไม่หวั่นต่อคำวิจารณ์จากบรรดาเถ้าแก่ด้วยกันว่าคงต้องเจ๊งอย่างไม่มีปัญหา แต่นายห้างไม่สนใจ เพราะใช้วิจารณญาณดูแล้วเห็นว่า...

"สินค้าที่ขายออกไปได้กำไร 10-20% ค่าใช้จ่ายในการขายให้กับยี่ปั๊วก็มีน้อยเพียง 3-4% เปิดบัญชีให้กับร้านค้า 1 เดือน เรายังได้กำไรอีกกว่า 10% หมุนเพียง 6-7 เดือน เราก็ได้ทุนคืนแล้ว จะมามัวกลัวหนี้สูญอยู่ทำไม หนี้สูญนั้นสิ้นปีก็ค่อยคิดกันที อย่างมากก็ไม่เกิน 0.25-0.50% ของยอดขาย" นายห้างเทียม เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อ 3 ปีก่อน

กล่าวกันว่า วิธีการค้าโดยเปิดบัญชีให้ลูกค้าหรืออีกนัยหนึ่งขายแบบเงินเชื่อเช่นว่านี้ ของนายห้างเป็นครั้งแรกที่บุกเบิกในย่านสำเพ็ง ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้วนายห้างเทียมยอมรับว่าศึกษามาจากห้างฝรั่ง

แต่ด้วยความกล้าได้กล้าเสียอย่างมีเหตุผลของนายห้าง ผลก็ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากสหพัฒน์ครั้งละมาก ๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งประการหนึ่งของสหพัฒน์ในยุคชนผู้ก่อตั้งอย่าง นายห้างเทียม ที่มีส่วนทำให้สหพัฒน์เติบโตได้ถึงทุกวันนี้...ซึ่งมีลูกค้าที่ซื่อสัตย์ของสหพัฒน์อยู่ทั่วประเทศนับพันนับหมื่นแห่ง

ชนรุ่นบุกเบิกอย่างเจ็งนี่เตียง แห่งเซ็นทรัลกรุ๊ป ก็เช่นกัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวในบ้านเรา ที่มีคุณูปการต่อชนรุ่นลูกหลานในตระกูล จิราธิวัฒน์ ไม่แตกต่างจากนายห้างเทียม ที่ได้สร้างคุณูปการแก่ชนรุ่นลูกหลานในตระกูลโชควัฒนา

จริงอยู่แม้เจ็งนี่เตียง ในยุคปลายของเขาก่อนจะลาโลกไป ได้ทิ้งหนี้สินหมุนเวียนแก่ชนรุ่นลูกที่นำโดยสัมฤทธิ์ไว้จำนวนหนึ่งก็ตาม แต่การสร้างหลักปักฐานอย่างขยันอดทน การกระเหม็ดกระแหม่ที่เริ่มจากการเปิดร้านค้าปลีกของเบ็ดเตล็ดแถวสี่พระยา และการสร้างหลักปักฐานที่วังบูรพาในนามห้างเซ็นทรัล โดยมีชนรุ่นลูกอย่างสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร จิราธิวัฒน์ คอยช่วยเหลือติดต่อสั่งสินค้าจากต่างประเทศ เพราะมีความรู้ภาษาอังกฤษจากอัสสัมชัญบางรัก ก็ต้องนับว่าได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการปูรากฐานทางธุรกิจ (ด้านทรัพย์สิน) แก่ชนรุ่นหลานต่อมา

จากการลำดับเวลาของกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่ฟันฝ่าธุรกิจเติบใหญ่มาได้จนทุกวันนี้ ยืนยันได้ค่อนข้างแน่ชัดว่า กลุ่มเซ็นทรัล ในชนรุ่นลูก (GENERATION II) มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการสร้างหลักปักฐานให้กับครอบครัวมาพร้อมกับชนรุ่นบุกเบิก ขณะที่ในช่วงลำดับเวลาดังกล่าว (หลังสงครามถึงก่อนวิกฤตน้ำมันแพง 2517) กลุ่มธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ ชนรุ่นลูกในรุ่น 2 ส่วนใหญ่ยังศึกษาอยู่ต่างประเทศ

การเกิดวิกฤติน้ำมันแพงปี 2517 และการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจครอบครัวของคนจีนโพ้นทะเลจำต้องปรับกลยุทธ์หันมาพึ่งตนเองด้านการผลิตอย่างจริงจัง และมองตลาดออกไปภายนอกประเทศ

การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไป เริ่ม ปรากฏของชนรุ่นลูกรุ่นที่ II ในการเข้ามาแบกรับภารกิจในการบริหารธุรกิจของครอบครัวทดแทนชนรุ่นบุกเบิก ปรากฏชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจดังตัวอย่างกรณีกลุ่มบริษัทสหพัฒน์...

จากการศึกษา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่านายห้างเทียม เริ่มปล่อยมือการบริหารวันต่อวันเพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูก โดยในช่วงก่อนวิกฤติน้ำมันเพียงปีเดียว มีการตั้งบริษัทสหพัฒนฯ อินเวสต์เม้นท์ โฮลดิ้ง ขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2515 ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชัดว่านายห้างเทียมกำลังจะเปลี่ยนมือการบริหารแบบวันแมนโชว์ เพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูก ๆ ขณะที่ตัวเองขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการกลุ่ม คอยเป็นสัญลักษณ์ด้านขวัญและกำลังใจแก่ชนรุ่นลูกและลูกน้องอีกหลายพันคน

นายห้างเทียม ดูจะเป็นคนโชคดีที่มีลูกอยู่หลายคนที่มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจที่แตกแขนงไปสู่ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้านอุปโภค-บริโภคถึง 20 บริษัท และธุรกิจการค้าบริการอีกเกือบ 20 บริษัท

- บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แม้จะเป็นคนมีพื้นฐานความรู้จากระบบโรงเรียนน้อยมาก ๆ แต่เป็นลูกชายคนโตของนายห้างเทียมที่ศึกษาการทำธุรกิจกับนายห้างมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต วงการธุรกิจยอมรับเป็นคนที่มีความสามารถและเป็นเสาหลักคนหนึ่งของครอบครัว เขาเป็นคนที่ขึ้นมารับช่วงบริหารวันต่อวันในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของกลุ่มสหพัฒน์แทนนายห้างได้อย่างลงตัว

- บุญชัย โชควัฒนา น้องบุณยสิทธิ์ แฝดผู้พี่ของบุญเกียรติ เขาจบจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ขณะที่แฝดผู้น้อง บุญเกียรติจบจากสถาบันโพลีเทคนิค วอร์เชสเตอร์ สหรัฐฯ ลูกทั้ง 2 ของนายห้างเทียมคู่นี้ มีการศึกษาดี ขยันในการทำงานในธุรกิจของครอบครัวมาก บุญชัยรับผิดชอบเป็นกรรมการผู้อำนวยการสหพัฒนพิบูล ดูแลด้านบริหารวันต่อวันในกลุ่มสายงานด้านบริการตลาดและการจัดจำหน่าย พร้อมเป็นประธานบริษัทฟาร์อีสต์โฆษณาในเครือของกลุ่มด้วย ขณะที่บุญเกียรติผู้น้องดูแลบริษัทอินเตอร์เน-ชั่นแนล คอสเมติคส์ (ICC) ซึ่งเป็นธุรกิจอีกแห่งหนึ่งที่เป็นหัวหอกในการทำรายได้เข้าสู่กลุ่มได้ไม่น้อย

- ณรงค์ โชควัฒนา ลูกนายห้างเทียมคนนี้ดูจะ LOW PROFILE เอามาก ๆ เขาได้รับมอบหมายจากนายห้างให้ดูแลสายงานธุรกิจกลุ่มรองเท้า ที่กลุ่มสหพัฒน์เริ่มทำอย่างจริงจัง หลังปี 2520 เป็นต้นมา

- พิจารณาจากความมั่นคงและเติบใหญ่ของกลุ่มสหพัฒน์ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า หนึ่ง-นายห้างเทียม ชนรุ่นบุกเบิกของธุรกิจครอบครัว "โชควัฒนา" ไม่เพียงแต่สันทัดในการมองคนเท่านั้น ยังมีปฏิภาณที่สูงพอที่จะรู้จักวางรากฐานในการสร้างคนรุ่นลูกขึ้นมารองรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของตนเองที่พ้นไปแล้ว ได้อย่างเหมาะสม

"สหพัฒน์ มีสินค้าและธุรกิจอยู่มากมาย มีการแบ่งประเภทและหน้าที่ของธุรกิจแต่ละอย่างออกมาอย่างชัดเจน แล้วให้ลูก ๆ ที่มีความสามารถขึ้นมาดูแล อย่างบุณยสิทธิ์ ลูกคนโตดูแลด้านการผลิตของกลุ่มสินค้าทุกประเภทในเครือ ขณะเดียวกันก็ดูแลด้านนโยบายการลงทุนของกลุ่มด้วย บุญชัยดูแลสายงานด้านตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค บุญเกียรติ ดูแลสายงานกลุ่มสินค้าในเครือ ICC และณรงค์ดูแลด้านกลุ่มสินค้ารองเท้า" นักการตลาดชื่อดังเล่าให้ฟัง

การที่ลูก ๆ ของนายห้างเทียมขึ้นมาแบกรับภารกิจสืบต่อจากนายห้างได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันภายในองค์กร นับว่าเป็นความโชคดีอีกประการหนึ่งของนายห้าง เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวในสังคมตะวันออกอย่างเมืองไทย มักจะมีความโน้มเอียงนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันในเชิงผลประโยชน์กันระหว่างลูก ๆ ได้ง่าย เมื่อธุรกิจของครอบครัวพัฒนามาถึงจุด ๆ หนึ่ง ซึ่งความโน้มเอียงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ ดร. ทนง ลำใย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแบงก์ทหารไทยได้ตั้งข้อสังเกตให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "เป็นเพราะธุรกิจครอบครัวในสังคมไทย มักทำครอบครัวให้เป็นบริษัท"

ความโชคดีของนายห้างเทียมในลักษณะนี้กล่าวสำหรับในแวดวงธุรกิจครอบครัวที่มีการสืบเนื่องธุรกิจสู่ชนรุ่นลูก ๆ แล้ว ก็มีอยู่หลายครอบครัวทีเดียวที่โชคดีเหมือนนายห้างเทียมเช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล...

สัมฤทธิ์ ลูกชายคนโตของเจ็งนี่เตียง กล่าวกันว่า เขามีความสามารถสูงในการบริหารธุรกิจภายในครอบครัวให้อยู่ในสภาพที่พี่-น้อง ต่างให้ความเคารพเชื่อถือ สามารถทำงานให้ครอบครัวได้อย่างปกติสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง สัมฤทธิ์ เป็นชนรุ่นลูกรุ่นสอง ที่สืบทอดหน้าที่ทางธุรกิจต่อจากบิดาได้อย่างลงตัว และยังสามารถเป็นเสาหลักให้กับน้อง ๆ และลูกหลาน ในชนรุ่นสามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธุรกิจของเซ็นทรัล มีหัวใจอยู่ที่การค้าปลีก ซึ่งเป็นรากฐานของครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม้ว่าต่อมาในช่วงหลังวิกฤติน้ำมันแพงและการเปลี่ยนแปลงสังคมเมื่อปี 2516 เป็นต้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้ เซ็นทรัลจะขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตบางสาขาเช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและอาหารแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจส่วนนี้ก็อาศัยตลาดภายในที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายโดยอาศัยเครือข่ายห้างสรรพสินค้า 6 แห่งของตัวเองอยู่แล้ว จะมีส่งออกบ้างในปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์เซ็นทรัล หลังยุคเจ็งนี่เตียง กลุ่มชนรุ่นที่สองที่รับภารกิจดำเนินธุรกิจต่อ เคยประสบมรสุมอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังเจ็งนี่เตียงเสียชีวิตไปใหม่ ๆ และทิ้งหนี้สินหมุนเวียนจำนวนหนึ่ง สัมฤทธิ์ สุทธิพร และวันชัย สามารถเจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการผ่อนปรนการชำระหนี้และอัดฉีดเงินเข้ามาจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือกันว่า การแก้วิกฤติการณ์ทางการเงินด้วยเงื่อนไขที่ดีเยี่ยมนี้ เป็นการพิสูจน์ความสามารถของชนรุ่นลูกที่สองได้เป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงการขยายกิจการที่ลาดพร้าว ลาดหญ้า และวังบูรพา ท่ามกลางวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่ชะงักงัน ดอกเบี้ยแพง และการลดค่าเงินบาท ปี 2524 และ 2528 ช่วงเวลานั้น เซ็นทรัลกำลังขยายธุรกิจสู่โครงการศูนย์การค้าใหญ่ที่ลาดพร้าว ขยายห้างสรรพสินค้าที่ลาดหญ้าและวังบูรพา (2)

แต่สัมฤทธิ์และน้องชายก็สามารถต้านวิกฤติได้ โดยโครงการไม่ชะงักงัน เหตุผลเพราะ หนึ่ง - หัวใจของธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล อยู่ที่การค้าปลีกที่มีการหมุนเวียนของเงินสดปริมาณมากและรวดเร็ว จึงสามารถประคับประคองความสามารถในการคืนหนี้สิน สอง-มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลอยตัวตามตลาดโดยหันมาใช้ระบบ MULTI CURRENCY ในพอร์ตเงินกู้ได้ทันเวลา จุดนี้กล่าวกันว่า เป็นการพิสูจน์ความสามารถของชนรุ่นลูกที่สองอย่างสุทธิชัยได้อย่างดีว่า เขามีความรู้ความสามารถในการบริหารเงินให้กับครอบครัว จากหนักให้เป็นเบาได้

ในชนรุ่นลูกที่สองของครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ในการสืบทอดภารกิจทางธุรกิจ มีการแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน -สัมฤทธิ์ พี่ใหญ่ คุมด้านนโยบายของกลุ่ม กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของธุรกิจ วันชัยพี่รองสันทัดในการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับคนภายนอก เป็นผู้มีหน้าที่คุมด้านบริหาร หรืออีกนัยหนึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มเซ็นทรัล สุทธิพร "พี่สาม" สุขภาพไม่ค่อยดีนัก บทบาทน้อยกว่าพี่ชาย 2 คนแรก เขาดูแลสาขาลาดหญ้า สุทธิชัยจบวิศวกรรมจากอังกฤษ เขาเป็นผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังงานด้านเทคนิคบริหารทุนให้ครอบครัวมาตลอด ความรู้พื้นฐานของสุทธิชัยก็เหมือนกับสุทธิเกียรติ แต่สุทธิเกียรติเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์สูง เขาได้รับหน้าที่เป็น EXTERNAL AFFAIR MANAGER ให้กับธุรกิจของครอบครัวมาตลอด พร้อม ๆ กับงานด้านวางแผนตลาด

วงการธุรกิจครอบครัวยอมรับว่า กลุ่มเซ็นทรัลเป็นตัวแบบของธุรกิจครอบครัวที่มีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกับธุรกิจที่มีการบริหารแบบองค์กรมืออาชีพ

ส่วนความเป็นครอบครัว ก็คือ คีย์แมนผู้บริหารทุกจุดในบริษัทเป็นคนเดียวกับผู้ถือหุ้น และ ผู้บริหารทุกคน แม้จะ MATURE แต่ก็มีความรู้สึกเกรงอกเกรงใจสูงต่อผู้นำครอบครัวที่เป็นพี่ชาย - สัมฤทธิ์ นอกจากนี้ในส่วนผู้บริหารระดับกลางลงมาก็นำญาติพี่น้องเข้ามาดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ตระกูล "จิราธิวัฒน์" แล้วทุกคนต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอันเดียวกัน คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการยอมรับในระบบอาวุโส มองในแง่นี้สอดคล้องกับความเห็นของพิษณุ จงสถิตย์วัฒนา กรรมการ ผู้จัดการบริษัท AA FOOTWEAR ที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "อาจเป็นเพราะกลุ่มเซ็นทรัลมีลูกหลานอยู่จำนวนมาก 40-50 คน ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวใหญ่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยกรอบทางวัฒนธรรมของครอบครัว จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การรับช่วงด้านธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น"

ขณะเดียวกันความเป็นมืออาชีพของคนใน "จิราธิวัฒน์" ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกก็สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนในการบริหารงานตลาดและการเงินในช่วงการต้านวิกฤติการเงินปี 2524 และ 2528 ทั้ง ๆ ที่ในช่วงวิกฤติเวลานั้น กล่าวกันว่าในวงการธุรกิจค้าปลีกไม่มีธุรกิจรายใดกล้าขยายงานและลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มเซ็นทรัลขยายงานไม่หยุด

ซึ่งผลของมันประการหนึ่งทำให้ OUTLET OF DISTRIBUTION สินค้าของห้างเซ็นทรัลมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกด้วยกัน และทำให้มีอำนาจต่อรองด้านเครดิตในการจัดซื้อสินค้าจาก SUPPLIER สูงกว่าคู่แข่งขัน

"เซ็นทรัลเป็นจุดขายที่ดีที่สุด ที่ SUPPLIER ไม่ว่าเล็กใหญ่ยังต้องพึ่งพาอาศัยอยู่" SUPPLIER สินค้าอุปโภค - บริโภครายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารงานตลาดของคนใน "จิราธิวัฒน์" มีประสิทธิภาพสูง

อีกประการหนึ่งคนใน "จิราธิวัฒน์" อยู่ในธุรกิจค้าปลีกมานานและก่อนคนอื่น ความชำนาญบวกกับความเป็นคนกล้าเสี่ยงอย่างมีหลักการของชนรุ่น II อย่างสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิชัย ทำให้ระบบการจัดการที่แม้จะเต็มไปด้วยคนในตระกูลยึดครองอยู่มากกว่าคนภายนอกก็ตามก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ

"ชนรุ่นลูก ๆ ของคุณสัมฤทธิ์และน้องชาย แต่ละคนเรียนมาสูง ๆ ทั้งนั้น พวกนี้ถือเป็น GENERATION ที่ III ที่มีวิจารณญาณสูงและสามารถผสมกลมกลืนสไตล์การทำงานเข้ากับรุ่น II ได้เหมาะบวกกับพวกนี้ถูกหล่อหลอมอย่างเข้มข้นในวัฒนธรรมของครอบครัวที่เน้นความเป็นปึกแผ่นและระบบอาวุโส ปัญหาการแตกร้าวในสไตล์การทำงาน และผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน จึงไม่ปรากฏให้เห็นเหมือนธุรกิจครอบครัวบางแห่ง" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว

ตัวอย่างการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากชนรุ่นพ่อสู่ลูกหลานใน GENERATION II และ III ของกลุ่มสหพัฒน์และเซ็นทรัลที่หยิบยกขึ้นมานี้ นับว่าเป็นความโชคดีเอามาก ๆ ของนายห้างเทียมและเจ็ง นี่เตียง ที่สายสัมพันธ์ทางธุรกิจในครอบครัวของบุคคลทั้ง 2 สามารถยืนยาวให้ลูกหลานรับทอดต่อกันได้อย่างมั่นคงและเติบใหญ่มาทุกวันนี้

ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวไทยจะมีน้อยรายเหลือเกินที่ยืนยาวอยู่ได้ทุกวันนี้ เหมือนดังที่ ดร. สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ์ แห่ง NIDA เคยทำวิจัยธุรกิจครอบครัวไทยและได้เปิดเผยว่า

"90% ของธุรกิจครอบครัวที่สร้างหลักปักฐานของชนรุ่นบุกเบิกส่วนใหญ่ล้มหายตายจากไปก่อน จะมีเหลือเพียง 10% เท่านั้น ที่ยังดำรงอยู่สู่ชนรุ่นลูก และในจำนวนนี้จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่ยังสามารถเติบใหญ่ได้ต่อไป"

ซึ่งว่ากันตามข้อมูลนี้ ความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ในระบบธุรกิจไทยทุกวันนี้ก็มีธุรกิจของนายห้างเทียมและเจ็งนี่เตียงรวมอยู่ด้วย!

นอกจากนี้แล้วยังมีธุรกิจของอีกหลายครอบครัวที่เติบใหญ่และยืนยงคงกระพันมาได้เหมือนนายห้างเทียมและเจ็งนี่เตียง อาทิ ศรีเฟื่องฟุ้ง จงสถิตย์วัฒนา เจียรวนนท์ บุลสุข ภิรมย์ภักดี เลี่ยวไพรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และพรประภา เป็นต้น

แต่ธุรกิจครอบครัวที่โชคร้ายล้มหายตายจากไปก็มีให้เห็นอยู่ดาดดื่นในวงการธุรกิจไทย กรณีตระกูล "วังพัฒนมงคล" ผู้ผลิตซอสพริกยี่ห้อโรซ่าที่เก่าแก่ เป็นตัวอย่างธุรกิจครอบครัวร่วมสมัยที่ต้องล้มหายตายจากไปที่เด่นชัดที่สุด

ว่ากันไปแล้วซอสพริกและมะเขือเทศโรซ่าของตระกูล "วังพัฒนมงคล" เป็นผู้มาก่อนยี่ห้อในตลาด และประสบความสำเร็จในการดำเนินการตลาดที่ดีเยี่ยม ชนรุ่นพ่อของตระกูลอย่างเป็งเอี่ยง แซ่เฮง กับ ตางิ้ม แซ่ตั้ง สองคนตายายร่วมกันบุกเบิกผลิตและขายจากธุรกิจขนาดเล็กในครัวเรือน เมื่อตัวเองแก่เฒ่าลง ชนรุ่นลูกอย่างประพันธ์ วังพัฒนมงคล ลูกชายคนโต ประมิตร และสุวรรณีก็เข้ามาแบกรับธุรกิจต่อจากพ่อและแม่ ในช่วงปี 2516 เป็นต้นมา

ลูกทั้ง 3 คนของเป็งเอี้ยงสร้างซอสมะเขือเทศ และซอสพริกโรซ่าในนามบริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์ อาหาร (ไทย) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2516 ดังระเบิดไปทั่วตลาด จนเป็นที่อิจฉาแก่ผู้ผลิตรายอื่นที่เป็นคู่แข่งขัน

ประพันธ์ พี่ชายใหญ่ คุมด้านการเงิน ขณะที่ประมิตรและสุวรรณีคุมด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย ตลอดจนถึงบริหารภายใน 3 คนพี่น้องเป็นแกนกลางในการผลักดันให้ธุรกิจของครอบครัวที่ ชนรุ่นพ่อสร้างมากับมืออย่างห้าวหาญ

แต่แล้วในที่สุด ในเพียงแค่ชนรุ่น II นี้เองธุรกิจครอบครัวของ "วังพัฒนมงคล" แห่งนี้ก็จบสิ้น ลงอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

"ตัวธุรกิจมันดี มีอนาคต พี่น้องไม่น่าจะต้องมาทะเลาะกันเลย เรื่องปัญหาในการบริหารน่าจะ พูดคุยกันเองได้" ประกิต ประทีปะเสน คนโต แบงก์ไทยพาณิชย์ เจ้าหนี้รายใหญ่ของโรซ่าเคยคุยกับ "ผู้จัดการ"

ก็อย่างว่า เรื่องภายในครอบครัวดูกันผิวเผินปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ลงรอยกัน น่าจะแก้ไขกันได้ด้วยการนั่งพูดคุยกันแบบเกรงอกเกรงใจกัน เรื่องก็คงจะเรียบร้อย

แต่อาจเป็นเพราะคนอย่างประพันธ์ที่เป็นพี่ชายคนโตเป็นคนดื้อรั้น เข้าทำนอง "มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่ยอมตายเพราะความเชื่อของตน" ก็ได้ จึงไม่ยอมฟังความเห็นของใคร และสิ่งนี้ก็นำไป สู่ความขัดแย้งกับน้อง ๆ อยู่เสมอ

กล่าวกันว่า สาเหตุที่ธุรกิจครอบครัวของ "วังพัฒนมงคล" ต้องล้มลงในชนรุ่น II นี้ก็มาจากประพันธ์พี่ใหญ่ที่คุมการเงินบริหารงานผิดพลาด

"มีการใช้จ่ายเงินด้านโฆษณาส่งเสริมการขายกันมากมาย และรั่วไหล ซึ่งแสดงว่าประพันธ์บริหารการเงินหละหลวม" แหล่งข่าวในวงการคอนซูเมอร์รายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ประกิต ประทีปะเสน เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า หนี้สินของธุรกิจครอบครัวรายนี้ที่มีต่อแบงก์ไทยพาณิชย์ประมาณ 100 กว่าล้านบาท แต่ประพันธ์ก็ไม่สามารถเคลียร์ได้อย่างสมัยก่อน

ในที่สุด ธุรกิจของครอบครัวนี้ก็ต้องหลุดลอยไปเมื่อประกิต (เจ้าหนี้) จัดการโอนขายทรัพย์สินทั้งหมดไปให้กลุ่มโอสถานุเคราะห์ดำเนินการแทน

ความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว กรณี "วังพัฒนมงคล" เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวไทยที่เป็นเหตุผลเชิงตรรกะอันหนึ่งที่บอกว่า ระบบธุรกิจครอบครัวนั้น ถ้าลูก ๆ ไม่สามารถปรองดองกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น ย่อมทำให้การบริหารงานเละเทะ และธุรกิจย่อมถึงกาลแตกดับอย่างรวดเร็ว

กรณีนี้ก็คล้ายคลึงกับกรณีธานินทร์อุตสาหกรรมของตระกูล "วิทยะสิรินันท์" เช่นกัน

20-30 ปีก่อนชื่อเสียงของธานินทร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโด่งดังขนาดไหนทุกคนทราบดี

อุดม เอนก และอนันต์ วิทยะสิรินันท์ พี่น้อง 3 คน เป็น 3 แรงแข็งขันที่ช่วยกันสร้างธานินทร์ อุตสาหกรรมจากร้านขายวิทยุเล็ก ๆ "นภาวิทยุ" เมื่อหลังสงครามโลกยุติได้เพียงปีเดียว

ด้วยความเป็นคนช่างคิดชอบทดลองเรื่องวิทยุของอุดม ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเล่าเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน "เขาจบแค่อัสสัมชัญพาณิชย์เท่านั้น" แหล่งข่าวใกล้ชิดเล่าให้ฟัง แต่ด้วยความขวนขวายบวกกับใจรักด้านวิทยุ อุดมศึกษาด้วยตนเองจากตำรับตำรา แล้วในที่สุดอุดมก็ประกอบวิทยุ เองได้

ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เป็นยี่ห้อแรกที่อุดมและน้อง ๆ ร่วมกันทำกันอย่างจริงจัง ปรากฏว่าขายระเบิดไปเลย ด้วยความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ ช่วงต้นปี 2505 พี่น้องตระกูล "วิทยะสิรินันท์" ก็ร่วมกันจัดตั้งบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรมขึ้นด้วยทุนกันเอง 3 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายวิทยุที่ผลิตจากฝีมือคนไทย ยี่ห้อ "ธานินทร์" เพราะต้องการโชว์ให้คนไทยได้ทราบว่า บัดนี้คนไทยทำวิทยุเองได้)

ในสมัยนั้นวิทยุที่ใช้กันในบ้านเราเป็นวิทยุหลอดที่มีรูปร่างเทอะทะใหญ่โตและมีราคาแพง ทั้งหมดต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ และกล่าวกันว่า คนในเมืองที่มีฐานะดีเท่านั้นจะหาซื้อมาได้ ขณะที่ คนบ้านนอกคอกนาไม่มีเงินพอที่จะหาซื้อได้เลย

อุดมและน้อง ๆ จับจุดช่องว่างตลาดตรงนี้ได้ถูกต้อง พวกเขาทำวิทยุหลอดขนาดเล็กกะทัดรัดโดยเร่งความถี่ในการรับคลื่น A.M. ให้สูง ทำให้วิทยุ "ธานินทร์" รับคลื่น A.M. ได้ชัดเจน แม้จะอยู่พื้นที่ห่างไกลในชนบท

แน่นอนจุดแข็งสินค้าของธานินทร์สมัยนั้นอยู่ตรงนี้ แถมผลิตเองจึงมีราคาต่ำกว่าวิทยุของนอก คนบ้านนอกคอกนาจึงมีปัญญาหาซื้อกันได้

อนันต์ น้องชายเป็นนักการตลาดชั้นดี เขาใช้กลยุทธ์บุกถึงตัวลูกค้าบ้านนอก โดยการใช้หน่วยรถออกตระเวนไปทั่วประเทศ พร้อมเปิดการขายระบบเงินผ่อนด้วย

การสร้างหลักปักฐานธุรกิจครอบครัวจากการประกอบและจำหน่ายวิทยุของตระกูล "วิทยะสิรินันท์" ในเวลานั้นเป็นที่อิจฉาแก่บรรดาเอเยนต์วิทยุของต่างประเทศกันเป็นแถว

แต่ทำไงได้เมื่อโชคชะตาของอุดมและน้อง ๆ ได้ก้าวไปไกลเกินกว่าจะฉุดรั้งได้เสียแล้ว ธุรกิจครอบครัวของอุดมและน้อง ๆ ขยายฐานออกไปไม่หยุดยั้งจากวิทยุไปสู่ทีวี พัดลม ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว ทุกชนิดที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจะมีธานินทร์อุตสาหกรรมของอุดมและน้อง ๆ ประกอบและขายเองหมดและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้อย่างน่าพิศวง

แต่แล้วในที่สุดเมื่อธุรกิจครอบครัวเติบโตถึงจุด ๆ หนึ่ง ความแตกร้าวในวิธีการบริหารของคนในตระกูลก็เริ่มปรากฎและนำไปสู่ความทรุดโทรมของธุรกิจในเวลาต่อมา เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมภายนอกได้โหมกระหน่ำลงมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจครอบครัวโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีความยืดหยุ่นพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน อุดมและน้อง ๆ ก็เช่นกัน พวกเขาได้ลงทุนลงแรงกันมาหลายปี ผลกำไรที่ได้แต่ละครั้งถูกจัดสรรแก่คนในตระกูลเกือบหมดสร้างความร่ำรวยแก่สมาชิกในครอบครัวไปตาม ๆ กัน

และเมื่อน้อง ๆ แต่ละคนมีอาณาจักรครอบครัวขึ้นต่างก็แสวงหาทางออกไปเป็นใหญ่ในธุรกิจของตนเอง เอนกแฝดผู้น้องอุดมซึ่งรับผิดชอบบริหารโรงงานธานินทร์ฯ แตกตัวไปสร้างบริษัทไมโครเทคและให้ลูกสาววารุณี วิทยะสิรินันท์ ดูแล บริษัทของเอนกแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อหวังผลิต FERRITE DEVICES และ MICROWAVE COMPONENTS

นอกจากนี้ยังได้สร้างบริษัท BP-THAI SOLAR CORP, LTD. เพื่อผลิตแผงเซลแสงอาทิตย์และบริษัท MMP PACKAGING GROUP. LTD. เพื่อผลิตฟิล์มถนอมอาหาร โดยให้คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ ภรรยาเป็นผู้ดูแล ซึ่งคุณหญิงวรรณีนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลฝ่ายตลาดต่างประเทศของธานินทร์

วิกฤติการณ์ของธานินทร์ฯ เริ่มปรากฏชัดในปี 2524-25 เมื่อสต็อกทีวีขาว-ดำ ที่คุณหญิงวรรณี บุกทำตลาดต่างประเทศใน EEC และจีนมาได้อย่างรุ่งโรจน์ก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปีต้องล้นเกิน เนื่องจากตลาด EEC ของธานินทร์ถูกเกาหลีและไต้หวัน DUMPING ทีวีขาว-ดำ อย่างรุนแรง พร้อม ๆ กับ EEC ใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตในเอเซีย

ในจีนก็เช่นกัน หลังจากทีวีขาว-ดำ ธานินทร์ ที่คุณหญิงวรรณีบุกเบิกไปก่อนอย่างครึกโครม ปรากฏว่าหลังจากนั้นฮิตาชิจากญี่ปุ่นได้เข้าไปตั้งโรงงานในจีน โดยใช้ LOCAL CONTENT 80% เหตุการณ์ที่ผันแปรเช่นนี้ ทำให้สินค้าทีวีขาวดำของธานินทร์ต้องล่าถอยออกจากตลาดนี้อย่างสิ้นเชิง

กล่าวกันว่าทั้ง 2 ตลาดนี้ทำให้ธานินทร์เหลือสต็อกสินค้าทีวีขาวดำบานเบอะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดการวางแผนประสานงานตลาดกับฝ่ายผลิตที่ดีเพียงพอ

ทั้ง ๆ ที่ผู้รับผิดชอบฝ่ายผลิตคือ เอนก สามีของคุณหญิงวรรณีผู้รับผิดชอบตลาดต่างประเทศนั่นเอง!

เมื่อมีสต็อกเหลือมาก หนี้สินจากดอกเบี้ยที่กลุ่มธานินทร์ไปกู้หนี้ยืมสินจากแบงก์ในการขยายกิจการก็เริ่มมีปัญหา

สาเหตุเพราะ หนึ่ง- ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ใช้ฐานเงินทุนจากการกู้ยืมมากกว่าทุนส่วนตัวในการบริหารกิจการ ซึ่งนับว่าเสี่ยงอันตรายมาก สอง- การวางแผนการผลิตไม่ประสานกับการขายได้ดีเพียงพอ ซึ่งสะท้อนว่าการบริหารของคนในตระกูลไม่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอต่อความยืดหยุ่นของตลาดที่ผันแปรอย่างฉับพลัน และสาม- ตลาดภายในประเทศทรุดต่ำลงอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2529 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจซื้อของคนในชนบทซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มธานินทร์ รายได้ พืชผลเกษตร มีราคาตกต่ำลงมาก อันเป็นสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก

ปัจจัยวิกฤตการณ์ทั้งที่เกิดจากการบริหารภายในองค์กรและการโหมกระหน่ำของภาวะตลาดตกต่ำ จึงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ที่ชนรุ่นหนึ่งอย่างอุดมและน้อง ๆ สร้างหลักปักฐานมาเกือบ 30 ปี ต้องแตกดับลงในท้ายที่สุด

ซึ่งบัดนี้ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ได้ถูก TAKE OVER (ชั่วคราว) ทั้งด้านทุนและการบริหารจากเจ้าหนี้แบงก์เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว "วังพัฒนมงคล" และ "วิทยะสิรินันท์" นี้เป็นประจักษ์พยานที่ดีของระบบธุรกิจครอบครัวในบ้านเรา ที่อยู่ภายใต้การใช้ความเป็นปึกแผ่นและความหย่อนยาน ในประสิทธิภาพการบริหารของบรรดาญาติ -พี่น้องในครอบครัวว่าในท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องล่มสลายไปท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว

การปรับตัว ความเป็นเจ้าของทุน

ระบบธุรกิจครอบครัวไทยมักแยกไม่ออกความเป็นเจ้าของทุนกับอำนาจการบริหาร เนื่องจากการกระจุกตัวของทุนในการสร้างหลักปักฐานธุรกิจในชนรุ่นบุกเบิกจะอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องและคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่

ในชนรุ่นบุกเบิก (GENERATION I) ความเป็นเจ้าของทุนแทบจะไม่กระจายสู่คนภายนอกเลย ซึ่งลักษณะเช่นนั้นเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของการเริ่มต้นทางธุรกิจทุกครอบครัวทั่วโลก

การปรับเปลี่ยนในประเด็นนี้จะเริ่มขึ้นในชนรุ่น II ที่คนภายนอกเริ่มเข้ามามีบทบาทร่วมทุนมากขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก เหตุเพราะหนึ่ง -ตลาดทุน (หลักทรัพย์) เริ่มปรากฏขึ้นและเริ่มเป็นช่องทางให้ชนรุ่น II ที่บริหารธุรกิจอยู่รู้จักใช้เป็นฐานในการระดมเงินทุนในการลงหลักปักฐานธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น

ในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างธุรกิจครอบครัวของ "ศรีเฟื่องฟุ้ง" ที่ทำธุรกิจผลิตกระจกในนามบริษัทกระจกไทย - อาซาฮี ได้นำหุ้นของบริษัทบางส่วนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือในกรณีธุรกิจของกลุ่มสหพัฒน์ที่นำบริษัทในเครือหลายบริษัทเข้าตลาดฯ เช่น บ. นิวซิตี้ บ. อินเตอร์เนชั่นแนลคอสเมติกส์ บ. สหพัฒน์ บ. สหพัฒนพิบูล บ. สหพัฒนา อินเตอร์ โฮลดิ้ง บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสวิศวการ บ. บางกอกรับเบอร์ และบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การกระจายหุ้นสู่คนภายนอกของธุรกิจครอบครัวโดยอาศัยกลไกตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มญาติพี่น้องเหมือนที่ชนรุ่นบุกเบิกกระทำมาก่อน ดังดูได้จากตัวอย่างกลุ่มโอสถานุเคราะห์ จิราธิวัฒน์ เลี่ยวไพรัตน์ พรประภา ภิรมย์ภักดี เป็นต้น

อีกประการหนึ่งธุรกิจที่ชนรุ่นบุกเบิกได้สร้างหลักปักฐานเริ่มขยายตัวในบางกรณีที่ครอบครัวมีสมาชิกไม่มาก ขนาดครอบครัวเล็ก ชนรุ่น II ที่รับภาระธุรกิจต่อต้องกระจายหุ้นบางส่วนแก่คนภายนอกด้านหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยงและอีกด้านหนึ่งเพื่อใช้เป็น INCENTIVE แก่คนภายนอกที่มีฝีมือได้เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มเวลา ในแง่นี้มีตัวอย่างในธุรกิจกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์และสหยูเนี่ยน

จุดการปรับตัวในการกระจายทุนสู่คนภายนอกมากขึ้นของชนรุ่น II ของระบบธุรกิจครอบครัวไทยนี้ นับว่าเป็นความใจกว้าง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะมากความรู้สึกนึกคิดในการบริหารธุรกิจแบบตะวันตกที่ไปเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ และชนรุ่น II อยู่ในยุคสมัยของสังคมเปิดมากกว่าชนรุ่น I

แต่การกระจายทุนสู่มหาชนอย่างแท้จริง (แม้จะมีตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม) นั้นยังอยู่อีกไกล เพราะข้อจำกัดทางวัฒนธรรมของสังคมในบ้านเรายังเห็นคนในครอบครัวดีกว่าคนข้างนอกเสมอ เนื่องจาก

"ธุรกิจครอบครัวไทยเน้นความสำคัญด้านความซื่อสัตย์มากกว่าความสามารถในการทำงาน" แหล่งข่าวระดับสูงในบริษัทที่ปรึกษาการจัดการรายหนึ่งสรุปให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของธุรกิจครอบครัวในระบบธุรกิจไทยว่าไปแล้วมีอยู่สูงมาก สอดคล้องกับ ดร. สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ์ จาก NIDA กล่าวว่า "ระบบธุรกิจไทยประมาณ 95% เป็นธุรกิจครอบครัว" นอกจากนี้จากการอนุมานกลุ่มธุรกิจครอบครัวประมาณ 22 กลุ่ม (ดูตารางประกอบ) ที่คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาทางบัญชีปี 2521-2522 ปรากฏว่ามีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณเกือบ 60,000 ล้านบาท

ทุกวันนี้มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากตามการขยายตัวของธุรกิจ ! แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ของระบบธุรกิจทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าไหร่? จึงไม่อาจเปรียบเทียบได้ว่าธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อระบบธุรกิจที่วัดจากมูลค่าสินทรัพย์แค่ไหน? แล้วธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วงชนรุ่น I และ II ผสมผสานกันอยู่เวลานี้จะมีทิศทางไปทางไหนในอนาคต? และจะดำรงอยู่ต่อไปได้ในรูปแบบใด?

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามร่วมสมัยของธุรกิจไทย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us