Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2531
พลิกแผ่นดินเมื่อปีที่ 81 แม้จะช้าแต่ก็ไม่สายสำหรับ "มิตร สยามวาลา"             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด

   
search resources

ดี เอช เอ สยามวาลา, บจก.
Stationery
มิตร สยามวาลา




ปีนี้ "มิตร สยามวาลา" อายุครบ 60 ปีพอดิบพอดี

ขณะเดียวกันตระกูล "สยามวาลา" ที่มิตรเป็นพี่ใหญ่ก็ทำมาค้าขายในเมืองไทยมาถึงปีที่ 81 แล้ว

81 ปีที่ผ่านมา ตระกูลสยามวาลาหรือที่รู้จักโดยทั่วไปคือ "บริษัท ดี.เอช.เอ. สยามวาลา จำกัด" ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเขียนและอุปกรณ์ในสำนักงานรายใหญ่รายหนึ่งรวมไปถึงการเป็นผู้นำและเจ้าตลาดสินค้าประเภทนี้ ซึ่งยากนักที่ใครจะหาญมาทาบท้า

แต่ในห้วงสิบปีหลังมานี้ดี.เอช.เอ. สยามวาลาพลิกผันตัวเองมาสร้างโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตนเอง แห่งแรกที่นวนครซี่งขยายกำลังการผลิตและขยายพื้นที่โรงงานจนเต็มเหยียดก็ยังไม่พอสนองความต้องการ มาปีนี้โรงงานแห่งที่สองมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทกำลังลงมือก่อสร้างอย่างรีบเร่งเพื่อให้เสร็จทันเดือนตุลาคม

ปีที่ 81 ของ "สยามวาลา" ซึ่งอยู่ในรุ่นที่ 3 จึงเป็นก้าวย่างที่ผิดแผกแตกแขนงอาณาจักรจนปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องจับตามอง

ปู่ของมิตร สยามวาลาเดินทางจากอินเดียสู่กรุงสยามในราวปี 2450 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาเดินทางมาเพื่อทำการค้าที่กลายเป็นรากฐานของรุ่นลูกรุ่นหลานจนปัจจุบัน คือสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย แต่ปู่ของมิตรเป็นพ่อค้าแบบ "กล้าบุกเบิกและแหวกกฎเกณฑ์" เพราะเขาสั่งสินค้าโดยตรงจากอังกฤษและยุโรปแทนที่จะสั่งผ่านอินเดียซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

สินค้าที่สั่งเข้ามาขายยุคนั้นมีสารพัดชนิด ทั้งหนังสัตว์, ผ้า และอื่น ๆ จิปาถะ เพียงสิบปีเท่านั้น ปู่ของมิตรก็ตั้งตัวได้ซึ่งนับว่าเร็วมาก แต่เขากลับโชคร้ายเมื่อมาสิ้นชีวิตขณะอายุเพียง 46 ปีเท่านั้น

พ่อของมิตรรวมทั้งลุงและอาเข้าบริหารงานแทน การสั่งสินค้ายังเป็นสารพัดชนิดเช่นเดิมแต่ที่สั่งเข้ามากเป็นพิเศษคือกระดาษซึ่งทำให้ ดี.เอช.เอ. สยามวาลายุคนั้นเป็นผู้นำเข้ากระดาษรายใหญ่รายหนึ่ง

ช่วงนี้เองที่พ่อของมิตรแปรชื่อตัวเองมาเป็นชื่อห้างนั่นคือ "ดีลาเวอร์ ฮูเซ็น อับดุล อาลี" ส่วน "สยามวาลา" นั้น "วาลา" แปลว่า "มาจาก" หรือ "คนของ" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าในการติดต่อระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

ปี 2496 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงมิตรและเอก สยามวาลา สองคนพี่น้องเข้าบริหารงานในบริษัทเต็มตัว เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตและบรรดาญาติถอนทุนออกไปหมด

มิตรและเอก ในวัยประมาณ 25 ปี เข้ามาบริหารงานขณะที่บริษัทมีหนี้สินนับสิบล้านบาทเนื่องจากเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจช่วงนั้นแย่มากอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2

"ผมต้องเดินไปหาเจ้าหนี้บอกว่าขอเถอะครับ ขอจ่ายเงินต้นก่อน ส่วนดอกเบี้ยจะจ่ายให้ทีหลัง" มิตรฟื้นความหลังช่วงลำบากให้ฟัง

เวลานั้นรัฐบาลประสบภาวะขาดดุลการค้ามหาศาลส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการจำกัดการนำเข้า แต่กลายเป็นผลดีเพราะเมื่อสินค้าจากต่างประเทศมีน้อย ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น สินค้ามีเท่าไรก็ขายหมดแทบไม่เหลือในสต็อก

ในช่วงนี้เองที่ดี.เอช.เอ. สยามวาลาตัดสินใจนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องเขียนเพียงอย่างเดียว อันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดการนำเข้าประการหนึ่งและความเชื่อมั่นที่จะเอาดีเป็นด้าน ๆ อีกประการหนึ่ง

นับจากนั้นเกือบ 40 ปี ดี.เอช.เอ. สยามวาลากลายเป็นผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเขียนและสินค้าอุปกรณ์ในสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดมีสินค้าในมือกว่า 40 ตัว แบ่งเป็น 4 หมวด คือ หมวดสินค้าของขวัญ ธุรกิจ, เครื่องใช้และวัสดุสำนักงาน, สินค้าช่างและวัสดุช่าง และสินค้าเบ็ดเตล็ด

ในแต่ละหมวดมีสินค้านับสิบรายการและแต่ละรายการก็มีรุ่น มีแบบอีกเป็นสิบ ยี่ห้อสินค้าหลาย ๆ ตัวก็กลายเป็น GENERIC NAME ไปแล้ว เช่นปากกาเขียนแบบ "รอตตริง" (ROTRING) น้ำยาลบคำผิด "ลิควิดเปเปอร์" (LIQUID PAPER) หรือสินค้าอื่น ๆ เช่นปากกาครอส, แฟ้มตราช้าง, อักษรลอกแมคคานอร์มา, สีวินเซอร์, ปากกามาร์วี่, สีโปสเตอร์ตราอูฐ, ดินสอมิตซูบิชิ ฯลฯ

เอ่ยชื่อแค่นี้ อาณาจักร "สยามวาลา" คงแจ่มชัดขึ้นเป็นกอง !

ทุกวันนี้ มิตร สยามวาลา พี่ใหญ่ดูแลด้านการตลาด เอกน้องคนที่สองดูแลการจัดการและการเงิน ส่วนน้องชายคนเล็กกลับไปได้ดิบได้ดีในแวดวงวิชาการ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับคือ ดร.อัมมาร สยามวาลา ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยการเกษตรและพัฒนาชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้วิพากษ์วิจารณ์บีโอไออย่างเผ็ดร้อนใน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมิถุนายน

มิตรเกิดในเมืองไทย ร่ำเรียนศึกษาจบอัสสัมชัญ ไม่ได้จบเมืองนอกเมืองนา แต่มีโอกาสเดินทางไปเกือบทุกมุมโลกเพื่อเรียนรู้และสะสมประสบการณ์

"ผมได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ได้เห็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ใหม่ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่มันทำให้ผมต้องปรับความคิดตลอดเวลา"

ประจักษ์พยานข้อนี้คือ ดี.เอช.เอ. สยามวาลา ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ก่อนกึ่งพุทธกาลแล้ว!

ที่น่าสนใจมาก ๆ คือมิตรสะสมบทเรียนความผิดพลาดของคนอื่น แล้วหันย้อนมองตัวเอง

"บริษัทที่บริหารด้วยธุรกิจครอบครัวที่ไหนก็มีปัญหาทั้งนั้นคนในครอบครัวเอาเข้ามาแล้วถ้ามีปัญหาเอาออกยาก บริษัทของเรามีพนักงาน 300 คน มีสยามวาลาแค่สามคนคือผม น้องชายและลูกชายของผม เรามีพนักงานระดับผู้จัดการที่เราสนับสนุนเขามาจากคนเก่าคนแก่มีราว 15 คน สยามวาลาต้องอาศัย PROFESSIONAL มากทีเดียว"

ลูกชายของมิตรที่ว่านี้คือยิ่งศักดิ์ สยามวาลา อายุ 37 ปี ยิ่งศักดิ์เป็นลูกชายคนโตจากจำนวน 5 คนของมิตร ส่วนเอกนั้นไม่มีทายาท

ช่วงสิบปีมานี้ มิตรยอมรับความจริงอยู่ข้อหนึ่งก็คือแม้เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่รายหนึ่งด้านการนำเข้า เขาก็อาจจะเจ็บปวดกับมันได้เสมอ

นั่นคือเขาไม่สามารถควบคุมต้นทุนของสินค้าได้ตราบใดที่เศรษฐกิจของโลกผันผวนตลอดเวลาและฤทธิ์เดชของการลดค่าเงินบาทที่มีให้ได้เห็นให้ได้ยินกันอยู่เสมอทำเอาเขาแสบในหัวใจมิใช่น้อย

ดี.เอช.เอ. สยามวาลาตัดสินใจสร้างโรงงานเพื่อผลิตแฟ้มเอกสารที่นวนคร เมื่อปี 2518

เดี๋ยวนี้มิตรก็ยังงงไม่หายกับการขยายตัวที่สุดคาดคะเนจนต้องทุ่มเงินอีก 50 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่สอง

แถมยังซื้อเนื้อที่เผื่อไว้มาก ๆ สำหรับการขยายตัวในอนาคตเสียอีกด้วย !

โรงงานแห่งที่สองนี้มีพื้นที่ 70,000 ตารางเมตร มีพื้นที่สำหรับการขยายตัวในอีก 5 ปีข้างหน้าอีก 20,000 ตารางเมตร โรงงานนี้จะผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปกระดานแฟ้มเอกสาร กระดาษไขอัดสำเนา หมึกอัดสำเนา สี กระดาษไวท์บอร์ด และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้เป็นเครื่องใช้สำนักงาน

"อนาคตของเราอยู่ที่การผลิต ไม่ใช่การนำเข้า" มิตร สยามวาลา กล่าวอย่างไร้ข้อข้องใจ

สินค้าที่จะนำเข้าอาจจะเหลือเพียงสินค้าที่ผลิตไม่ได้ในประเทศ เช่น ปากกาเขียนแบบ

"ถ้าอยู่กันสบาย ๆ ไม่มีใครอยากปรับตัวหรอกครับแต่เราต้องทำเพื่อความอยู่รอด" มิตรกล่าวอย่างมองการณ์ไกลเพราะทุกวันนี้ดี.เอช.เอ. สยามวาลามียอดขายปีหนึ่ง ๆ ตก 400 ล้านบาท และหาคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงได้ยากจริง ๆ โดยมากคู่แข่งมักจะแข่งแบบสินค้าเป็นตัว ๆ ตีเป็นยี่ห้อ ๆ เท่านั้น

ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ มิตรยอมรับว่าจะเป็นช่วงขยายตัวด้านการผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับการขยายตัวด้านความต้องการอุปกรณ์ในสำนักงานที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากในระยะนี้ ประกอบกับความเชื่อมั่นในเรื่องระบบการตลาดที่มิตรได้ปูพื้นฐานไว้อย่างมั่นคงและเป็นที่เชื่อถือยอมรับของบรรดาลูกค้า ย่อมทำให้สินค้าของบริษัทสามารถรักษาสถานภาพในระดับ TOP อย่างสบาย

กับวัย 60 ปีของมิตรและประสบการณ์ 81 ปีของ "สยามวาลา" ช้าหรือไม่ สำหรับการเริ่มต้นที่เกือบจะพลิกโฉมหน้าธุรกิจของตระกูลที่ฝังรากลึกในสังคมไทย?

"ช้า" มิตรตอบชัดถ้อยชัดคำ

แต่แน่นอน แม้จะช้าแต่ก็ยังไม่สาย

มิตร สยามวาลา เชื่อเช่นนั้น !   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us