|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2531
|
|
ถึงแม้จะมีอายุย่างปีที่สี่เข้าไปแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจติดตามกันจริง ๆ คงน้อยคนนักที่จะรู้ว่า TDRI แท้จริงคืออะไรและทำงานอะไรกันบ้าง ยิ่งเอ่ยชื่อในภาษาไทยที่เรียกกันอย่างเต็มยศว่า มูลนิธิสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยด้วยแล้วถ้าไม่นึกถึงการเรี่ยไรและรับบริจาคที่มักจะมาพร้อมกับคำว่ามูลนิธิ ก็อาจจะคิดไปว่าเป็นหน่วยราชการธรรมดา ๆ ที่ไม่ค่อยจะมีงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมาเสียด้วยซ้ำ
คงจะเป็นเพราะงานที่ TDRI ทำมักจะหนักไปในทางวิชาการอันมากไปด้วยข้อมูลตัวเลข และศัพท์แสงยาก ๆ ที่คนทั่ว ๆ ไปฟังไม่ค่อยจะเข้าหูนัก ก็เลยทำให้สถาบันแห่งนี้ออกจะห่างเหินไปจากความรับรู้ของสาธารณชนอย่างไม่น่าจะเป็น
TDRI ในชื่อเต็ม ๆ ว่า THAILAND DEVELOPMENT RESEARCH INSTITUTE ตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 โดยการริเริ่มของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทำงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ และนำผลวิจัยไปใช้วางนโยบายระยะยาวทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน
เพราะแม้ว่าจะมีสภาพัฒน์ฯ คอยทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาช้านาน แต่ดูเหมือนประสิทธิภาพของแผนที่ผ่านมาออกจะไม่สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์แวดล้อม
"งานของสภาพัฒนฯค่อนข้างจะเป็นงาน ROUTINE มากกว่า คอยเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ถึงเวลา ทำแผนที่ก็เอาแผนเก่ามาปรับข้อมูลให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น สภาพัฒน์ฯ ไม่มีคนทำงานวิจัยพื้นฐานซึ่งสำคัญมากต่อการกำหนดนโยบาย" นักเศรษฐศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยพูดไว้กับ "ผู้จัดการ"
TDRI จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้เป็นประการสำคัญ โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล เงินทุนในการก่อตั้งและดำเนินการในห้าปีแรกนั้นมาจากการช่วยเหลือของ CIDA (CANADIAN INTERNATIONAL DEVELOPMENT AGENCY ) ประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท
งานวิจัยของ TDRI นั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดฝ่ายคือ การเกษตรและพัฒนาชนบท นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพลังงาน วิสาหกิจพื้นฐานและการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและการค้ารวมทั้งฝ่ายวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมเป็นฝ่ายสุดท้ายกับอีกหนึ่งโครงการคือ โครงการการบริหารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แรกเริ่มก็ดูท่าว่าจะดีเป็นที่ฮือฮากันพอสมควรว่า TDRI จะเป็นมันสมองของชาติที่คอยกำกับ ทิศทางของสังคมไม่ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราวของผู้นำในแต่ละยุคแต่เอาเข้าจริง ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ภาพพจน์ของ TDRI ในสายตาคนภายนอกกลับดูเลือน ๆ และค่อนข้างจะเป็นที่ สับสนว่าจะเดินไปในทางไหนกันแน่
"คนในนี้เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าบทบาทและหน้าที่ของเราอยู่ที่ตรงไหน" เจ้าหน้าที่ระดับบริหารผู้หนึ่งของ TDRI เปิดเผย
ภาพพจน์ของ TDRI ในสายตาของคนภายนอกก็คือเป็นมือปืนรับจ้างในการทำวิจัยเราดี ๆ นี่เอง เพียงแต่เป็นมือฉมังระดับชาติด้วยคุณภาพของนักวิจัยระดับหัวกะทิที่อยู่ในสังกัด ปัญหาก็คือว่า งานวิจัยที่ผ่านมาของ TDRI นั้นมุ่งสนองตอบต่อความสนใจเฉพาะตัวของคนทำวิจัยเองหรือความต้องการของแหล่งเงินสนับสนุนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดแคลนงานวิจัยเชิงนโยบายที่จะให้ภาพรวมและชี้ทิศทางใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเป็นพื้นฐานของการวางนโยบายพัฒนาในระยะยาว อันเป็นจุดมุ่งหมายหรือภาระหน้าที่หลักของ TDRI
"ก็เลยมีข้อสงสัยกันว่าแล้ว TDRI จะมีอะไรแตกต่างไปจากบริษัทที่ปรึกษาหรือรับทำวิจัยทางธุรกิจแค่ไหน ??
"ปัญหาของเราก็คือต้องพึ่งตัวเองทางด้านการเงิน ที่ CIDA ให้มาร้อยล้านเป็นทุนก่อตั้ง ค่าอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ ค่าจ้างเงินเดือนและการดำเนินงานในระยะห้าปีแรกเท่านั้น ถ้าจะให้ยืนอยู่ได้ต่อไปและทำงานออกมาได้ ก็ต้องหาเงินเอง ก็โดยการขายสินค้าที่เราถนัดคืองานวิจัยนี่แหละ ทีนี้จะขายได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ว่างานที่เราทำหรือเสนอไป คนที่เขาจะให้เงินสนับสนุนสนใจหรือเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาหรือเปล่า" แหล่งข่าวใน TDRI เปิดเผยถึงข้อจำกัดของตัวเองให้ฟัง
เงินค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยของแต่ละโครงการรวม ๆ กันแล้ว มีจำนวน 21 และ 31 ล้านบาทในปี 2529 และ 2530 ตามลำดับ (งวดบัญชีสิ้นสุดในเดือนมีนาคมของแต่ละปี) ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ยูเสค กลุ่มอีอีซี ธนาคารโลกและบางหน่วยงานของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นรวมทั้งสหประชาชาติด้วย ส่วนแหล่งเงินทุนหลักในประเทศได้แก่ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมทบด้วยภาคเอกชนรายใหญ่อย่างเครือซีพี บริษัทเชลล์ สมาคมธนาคารไทยและหอการค้าไทย เป็นอาทิ
ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือสภาพภายในที่ดูเหมือนจะแบ่งเป็นอาณาจักรย่อย ๆ ต่างฝ่ายต่างก็เดินไปคนละทางตามแนวความคิดของผู้อำนวยการแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ
วิธีคิดที่แตกต่างกันพอจะแบ่งได้เป็นสองแนวทางคือ แนวทางแรกเห็นว่า TDRI ควรจะมีบทบาทเป็นแหล่งความคิดและความรู้ให้แก่สังคมไทย งานที่ทำออกมาไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นและความต้องการของรัฐบาล แต่จะเป็นข้อคิดเห็นในหลาย ๆ ด้านทั้งบวกและลบเท่าที่ผลงานวิจัยจะบ่งบอก อีกแนวทางหนึ่งมองว่า TDRI มีหน้าที่ตอบโจทก์ที่รัฐบาลต้องการรู้เท่านั้น โดยไม่สนใจว่าโจทก์หรือสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะทำนั้นมีความถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่
ผลที่ออกมาก็เลยกลายเป็นว่า ต่างคนต่างเดิน ทำให้TDRI ไม่มีทิศทางรวมของตัวเองที่ชัดเจน
ไพจิตร เอื้อทวีกุล เข้ามารับตำแหน่งประธานต่อจาก อาณัติ อาภาภิรมย์ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ที่แล้ว พร้อมกับความตั้งใจที่จะทำให้ TDRI มีบทบาทที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
"TDRI ควรจะเป็นเสมือน THINK TANK ของสังคม ทำงานวิจัยในเชิงนโยบาย ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายระยะยาวเลยเราต้องผลักดันตรงนี้ให้มีการสร้างนโยบายที่จะมองไปในอนาคตสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า" ไพจิตร กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงแนวความคิดของเขาต่อบทบาทของ TDRI
เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้ก็คือสัญญาช่วยเหลือด้านการเงินจาก CIDA จะสิ้นสุดลงในปี 2532 ถึงตอนนั้น TDRI จะต้องมีแหล่งเงินทุนใหม่ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งตนเองทางการเงินในระยะยาวได้โดย ไม่ต้องไปวิ่งหาเงินสนับสนุนอยู่เรื่อย ๆ
"เรากำลังทำ FUND RAISING CAMPAIGN เพื่อหาเงินมาตั้งเป็นกองทุนสำหรับนำไปหาดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน เราต้องการราว ๆ 180 ล้านบาท แต่ในขึ้นแรกนี้ขอสัก 150 ล้านก่อน 50 ล้านบาทจะระดมจากภาคเอกชนในประเทศที่เหลือมาจากต่างประเทศ" ไพจิตรกล่าว
ภาคเอกชนที่เป็นเป้าหมายของการระดมทุนได้มีการคุยกันไปบ้างแล้ว เป็นบริษัทระดับนำที่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านนี้ ถึงแม้ไพจิตรจะไม่เปิดเผยว่ามีบริษัทใดบ้าง แต่คงไม่ยากที่จะคาดเดาว่าเขามองไปที่ไหนบ้าง
การดึงเอา ณรงค์ชัย อัครเศรณี มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและการค้าถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งกองทุนนี้ด้วย เพราะณรงค์ชัยมีความสัมพันธ์กับภาคเอกชนใหญ่ ๆ หลาย ๆ แห่งมาพอที่จะดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมได้
ภาระหน้าที่เรื่องต่อมาของไพจิตรก็คือ สร้างความเป็นเอกภาพภายใน TDRI ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยการให้แต่ละฝ่ายมานั่งคุยกันว่า กำลังทำอะไรกันอยู่ และช่วยกันหาทิศทางที่ชัดเจนสำหรับอนาคต
"ที่จะมาคุยกันว่าต้องทำงานประสานกัน มีทิศทางร่วมกันนั้น ทุกคนก็รู้ ๆ กันอยู่ แต่ถ้ามัวแต่นั่งคุยกันเฉย ๆ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราต้องหาสิ่งที่แต่ละฝ่ายจะทำร่วมกันได้ด้วย" สิ่งที่จะทำด้วยกันได้อย่างที่ไพจิตรพูดนั้น เรื่องแรกก็คือ การประชุมประจำปี ซึ่งมีขึ้นทุกเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นจะกำหนดหัวข้อ แล้วแต่ละฝ่ายก็แยกกันไปทำงานของตน ถึงเวลาประชุมต่างคนต่างก็เสนอรายงานของตน
"ปีนี้ เราทำใหม่ แทนที่จะเริ่มจาก THEME ของการประชุม ก็มาดูว่า งานที่แต่ละฝ่ายกำลังทำกันอยู่มีส่วนในที่จะเอามากำหนดร่วมกัน มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกันพอที่จะมากำหนดเป็น THEME ของการประชุมในปีนี้ได้หรือไม่ เราพบว่าเรื่องการกำหนดรายได้หรือ INCOME DETERMINATION ทุกฝ่ายทำร่วมกันได้ก็เลยใช้เรื่องนี้เป็นหัวข้อของการประชุมซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันก่อนที่การประชุมจะมาถึง" ไพจิตรเปิดเผย
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งถ้าทำสำเร็จก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก และครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการวิชาการที่มีการระดมมันสมองจากทุก ๆ ฝ่ายมาศึกษาหนทางอีกยี่สิบปีข้างหน้าของเมืองไทย คือการศึกษาเรื่อง เมืองไทยในทศวรรษ 2010 "เป็นการศึกษาในทุก ๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอีกยี่สิบปีข้างหน้า เราจะได้รู้ว่า ควรจะยืนอยู่ตรงไหน จะเดินไปอย่างไร จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างและจะแก้ไขกันอย่างไร งานนี้จะทำร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการทุก ๆ สาขา โดยมี TDRI สภาพัฒน์และแบงก์ชาติเป็นหลักตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ในขั้นต้น"
พร้อม ๆ กับโครงการใหญ่ข้างต้น TDRI ก็จะทำการศึกษาวิจัยในสองเรื่องใหญ่คือเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพของคน โดยเน้นที่ระบบการศึกษาว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหนพร้อมที่จะ รับสถานการณ์ในศตวรรษใหม่หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งสองเรื่องนี้ไพจิตรบอกว่า "เป็นเรื่องที่ต้องแก้ให้ได้ไม่เช่นนั้นการพัฒนาประเทศต้องหยุดชะงัก เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญมาก"
นี่เป็นสิ่งที่ TDRI จะทำในระยะห้าปีข้างหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานวิจัยแบบที่เคยทำกันมาจะหยุดชะงักลง เพราะดร.ไพจิตรก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเรื่องธรรมดา "มันเป็นธรรมชาติของนักวิชาการที่เราจะต้องมี ROOM ให้เขาเล่นหรือทำในสิ่งที่ต้องการ เพียงแต่ว่ามีงานร่วมที่เขาจะต้องเข้ามาทุ่มเทให้ด้วย
ก็หวังกันว่านับแต่นี้ไป TDRI จะลดสีสันของการเป็นมือปืนรับจ้างพร้อมกับเพิ่มดีกรีในการเป็นผู้ชี้นำและผลักดันนโยบายของประเทศมากขึ้น แต่ยังไง ๆ ก็อย่างไปเล่นบทเป็นที่ปรึกษา นายกฯให้มากเกินไปเสียละ เดี๋ยวใคร ๆ เขาก็จะยกให้เป็นลูกป๋าไปอีกคน
|
|
|
|
|