|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2531
|
|
หลังวันที่ 1 เมษายนวันที่ประเทศไทยและคนไทยทั้งมวลรู้สึกภาคภูมิใจลึก ๆ กับการมี "สายการบินแห่งชาติ" เพียงหนึ่งเดียว ที่เกิดจากการรวมกิจการของ "เดินอากาศไทย" และ "การบินไทย" เข้าด้วยกัน
ในทางตรงกันข้ามกับใครหลาย ๆ คนที่ "บดท." นั่นอาจเป็นความเจ็บปวดร้าวลึกอยู่ในใจที่ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงาน และก็คงจะ "เสียความรู้สึก" ไม่น้อยอย่างที่คนภายนอกคงยากที่จะเข้าใจ ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า น่าจะถูกทดแทนได้จาก "ผลตอบแทน" และ "สวัสดิการ" ที่ได้รับเพิ่มขึ้น
แต่ก็มีคนบางคนอีกเหมือนกันที่ "การบินไทย" ที่อาจเจ็บปวดมากกว่าเมื่อ "เก้าอี้" ที่ตนเองนั่งมาเป็นเวลานานในตำแหน่งสำคัญนั้นต้องหลุดลอยไป
มิหนำซ้ำคนที่มานั่งแทนกลับไม่ใช่ "ลูกหม้อ" ที่สนับสนุนมากับมือ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะยังพออุ่นใจได้ว่าถึงแม้จะไม่ได้สวมหัวโขนนี้อยู่ แต่ก็อาจยังแผ่อำนาจบารมีไปจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ได้อยู่เหมือนเดิม
คนที่ "ผู้จัดการ" กล่าวถึงจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก "ฉัตรชัย บุญยอนันต์" รองผู้อำนวยการใหญ่ที่นั่งทับตำแหน่ง "รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด" มาเป็นเวลาสามปีด้วยเหตุผลที่ว่าหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยังไม่ได้
ส่วนคนที่เดินยืดอก เชิดหน้าเข้ามารับตำแหน่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ก็คือ "นเรศ หอวัฒนกุล" หลังจากรอมาเป็นเวลาหลายปีกว่าที่ตนเองจะได้แสดงฝีมือว่าอย่างน้อยฝ่ายการตลาดของการบินไทยก็ยังมีคนอื่น ที่มีฝีมือไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าฉัตรชัยเหมือนกัน
นเรศ หอวัฒนกุล ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดบริษัทการบินไทยจำกัด เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2483 เข้าร่วมงานกับฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นตั้งแต่ปี 2506 ย้ายเข้ามาทำงานกับฝ่ายบินและทำงานด้านการตลาดในปี 2511 ซึ่งนับได้ว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการตลาดที่สำคัญคนหนึ่ง
สามปีต่อมานเรศได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปตามลำดับคือเป็นผู้จัดการฝ่ายขายสำนักงานกรุงเทพ เมื่อปี 2518 เป็นผู้จัดการประจำกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2524
ในปี 2524 นี้เอง ด้วยประสบการณ์และความสามารถอย่างหาตัวจับยากของเขา นเรศได้รับตำแหน่งสำคัญอีกครั้งเป็นผู้อำนวยการของการบินไทยประจำสำนักงานที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา และในปี 2526 เขาก็ได้เป็นผู้อำนวยการดูแลตลาดของภาคพื้นเอเชียตะวันออกกลางพร้อมกันไปด้วย
แต่กว่านเรศจะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับ "การบินไทย" ได้ไม่ยากเย็นในวันนี้ ว่ากันว่าความยากลำบากนั้นไม่ผิดกับการฝ่าด่าน "สิบแปดอรหันต์" ก่อนลงเขาของศิษย์วัดเส้าหลินเลยสักนิด
"มีสองคนที่มีความสามารถประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คู่คี่สูสีจนคณะกรรมการบริหารของบริษัทกว่าจะตัดสินใจได้ก็ต้อง "ชั่งใจ" กันอยู่นานทีเดียว" แหล่งข่าวบอก
นอกจากนเรศแล้ว คู่แข่งอีกคนก็คือ "ประเสริฐ ลิมปิวัฒนา" ผู้จัดการฝ่ายขายประเทศญี่ปุ่นเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้รับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการบินมาเป็นอย่างดีจากบริติชแอร์เวย์ สถาบันเดียวกันกับฉัตรชัยซึ่งสืบทอดวิทยายุทธ์กล้าแข็งจนยากที่จะมีใครมาหาญทาบ
แน่นอน...ตามที่ทราบกันว่าคนที่ได้รับความไว้วางในจากบอร์ดใหญ่ของการบินไทยคือนเรศ แต่ในระดับหนึ่งแล้วทั้งสองคนที่ "คั่ว" ตำแหน่งนี้ขาดคุณสมบัติบางอย่างที่จะทำให้คณะกรรมการพิจารณาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมของการบินไทยยอมรับมาตั้งแต่ต้น
"ปัญหาของนเรศก็คือพื้นฐานการศึกษาของท่านไม่สูงนัก เมื่อมองจากองค์กรอื่น ๆ ผู้บริหารระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่สำคัญ ๆ อย่างนี้ ส่วนใหญ่จบปริญญาโท ปริญญาเอกจากเมืองนอกเมืองนาด้วยแล้ว บอร์ดใหญ่ก็ออกจะหนักใจไม่น้อยว่าจะทำให้ภาพพจน์องค์กรเสียไปหรือไม่ ทางฉัตรชัยที่หนุนประเสริฐเต็มที่ก็เลยคัดค้านที่จุดนี้ แต่ประเสริฐคงมีคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด นเรศก็เลยได้เป็น" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอก
แต่กับ "ผู้จัดการ" แล้วนเรศ หอวัฒนกุล ไม่มีอะไรที่เขาควรละอายใจ เพราะความสามารถของเขามีมากน้อยแค่ไหนคนของการบินไทยเองย่อมรู้อยู่แก่ใจดี
นอกจากนี้กับตำแหน่งที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ที่พูดกันแต่ละครั้งหมายถึงผลประโยชน์ หรือความเสียหายของชาตินับพันล้านหมื่นล้านบาทนั้น ถ้านเรศไม่มีฝีมือจริง ๆ ไหนเลยบอร์ดใหญ่ของการบินไทยจะยอมให้เขาเข้ารับผิดชอบได้
ยิ่งเมื่อมองกลับไปยังคนหนุ่มรุ่นใหม่หลายคนในองค์กรใหญ่ ๆ ที่ชอบอ้างตัวว่าจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศแต่ทำงานไม่เอาอ่าวมากมายในธุรกิจไทย ที่ผู้บริหารหลายองค์กรคงมี "ประดับ" สำนักงานอยู่บ้างสักคนสองคนแล้ว คนอย่างนเรศมีค่ามากกว่าพวกนั้นหลายเท่านัก
"ตอนนี้คุณนเรศแกก็พยายามแสดงฝีมืออย่างเต็มที่จากการที่ไปเปิดเพรสคอนเฟอเรนซ์ที่ไต้หวันหลังจากมีข่าวว่านักท่องเที่ยวไต้หวันลดลง เพราะทัวร์ของไทยไม่มีมาตรฐานนั้น นับเป็นแผนการตลาดเชิงรุกที่น้อยครั้งจะมีของการบินไทยทีเดียว ห้าเดือนที่ผ่านมาแกก็แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปมาก จะมีก็ตรงขาดความคล่องตัวอยู่บ้างในบางเรื่องที่คุณฉัตรชัยแกยังไม่ให้อำนาจการตัดสินใจอย่างเต็มที่แต่ก็เชื่อกันว่าภายในครึ่งปีหลังนี้ทุกอย่างคงจะเข้ารูปเข้ารอยขึ้น" แหล่งข่าวรายเดิมบอก
นเรศเองก็คงรอให้วันที่เขาสามารถแสดงความสามารถในตำแหน่งนี้อย่างเต็มตัวมาถึงเร็ว ๆ ซึ่งได้แต่หวังว่าฉัตรชัยคงไม่ทำตัวเหมือนคนรูปหล่อคอเอียงบางคนที่เราท่านรู้จักกันดีจนอาจทำให้ต้องบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่านอกจากมีรัฐบาล "เปรม 1" ถึง "เปรม 5" แล้ว
ที่การบินไทยก็ยังมียุค "ฉัตรชัย 1" ตามด้วย "ฉัตรชัย 2...3..." ด้วยเหมือนกัน
กว่าจะมานั่งแทนที่ฉัตรชัยคนอย่างนเรศต้องฟันฝ่าด่าน "สิบแปดอรหันต์" มาแล้ว
ไฉนคนอย่างเขาจะต้องมาสู้รบกับ "เงา" ของคนเก่าให้เหนื่อยแรงอีกทำไม??
|
|
|
|
|