หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จับมือจุฬาฯ และสสว. จัดการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ (Moot Biz) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชิงชนะเลิศรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมลุ้นแผนธุรกิจและชุมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ 8-9 เม.ย. นี้ ณ ศูนย์สิริกิติ์
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ โครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ หรือ Moot Biz เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้พิจารณาแผนธุรกิจรอบคัดเลือก 16 ทีมสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว และได้มีการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 4 สาย โดยมีคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน 10 ท่าน ร่วมเป็นสักขีพยาน และจะมีการแข่งขันรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศในวันที่ 8-9 เมษายน 2548 เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับโครงการประกวดแผนธุรกิจแห่งชาติ หรือ Moot Biz จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยความร่วมมือระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
"Moot Biz จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีการจัดในที่ใดมาก่อน เพราะเป็นการประกวดแผนธุรกิจภาคภาษาไทยและกำหนดให้มีเงินลงทุนเพียง 5 ล้านบาท ทีมที่ส่งผลงานมาจากนักศึกษาปริญญาโทหลายสาขาวิชา ทำให้แผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมแปลกใหม่มีโอกาสที่จะถูกนำไปสู่การลงทุนประกอบการได้จริง" ดร.พิสิฐ กล่าว
โดยภายในงานยังมีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และทักษะการเป็นเจ้าของธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs นักลงทุนและประชาชนทั่วไป ได้แก่ การเสวนา "แผนธุรกิจที่ดีเขียนอย่างไร" โดยเจ้าของธุรกิจบ้านไร่กาแฟ และ Mrs.Flowers ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย เงินทุน ระบบบัญชีและบรรจุภัณฑ์ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับแผนธุรกิจ 16 ทีมสุดท้าย ได้แก่ 1.ทีมโปรเฟสชั่นแนลเอ็นเนอร์ยี่ เสนอแผนโรงงานผลิตถ่านอัดแท่ง 2.ทีมอินโนบอร์ด เสนอแผนผลิตและจำหน่ายแผ่นชิ้นฟางข้าวอัด 3.ทีมเอ็นเทค เสนอแผนเชื้อเพลิงสกัดจากยางรถยนต์เก่า 4.ทีมกุ้งคอนโด เสนอแผนการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ 5.ทีมมาสเตอร์มายด์ เสนอแผนยาฆ่าเชื้อและรักษาแผลสดจากเปลือกมังคุด 6.ทีมน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ เสนอแผนน้ำดื่มเพื่อสุขภาพผสมวิตามิน 7.ทีมโอเบงโตะ เสนอแผนอาหารชุดสำเร็จรูปสำหรับเด็ก 8.ทีมสมอลแล็บคิต เสนอแผนชุดอุปกรณ์การศึกษาวิทยาศาสตร์
9.ทีมดีเซฟเอนเนอร์จี เสนอแผนผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เสริมเครื่องยนต์ดีเซลช่วยลดควันดำ 10.ทีมไบโอดีเซล เสนอแผน Supply&demand Chain bio-diesel 11.ทีมยัง 101 เสนอแผนเครื่องสำอางและสปาสำหรับผู้ชาย 12.ทีมเอสเอ็นโซลูชั่น เสนอแผนพัฒนาและออกแบบโปรแกรมด้าน Logistics 13.ทีมซีซีเอฟที เสนอแผนหลอดไฟประหยัดพลังงาน 14.ทีมเอสเอ็มอีอินโฟ เสนอแผนเทคโนโลยีประยุกต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ SMEs 15.ทีมเจนท์ เสนอแผนผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย 16.ทีมนูทรีแคร์คูลซีน เสนอแผนร้านอาหารเพื่อสุขภาพ
สำหรับการแข่งขันนั้น แผนธุรกิจที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ 16 ทีม จะแข่งขันกันเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 4 ทีม ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระชานทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทุนการศึกษาจำนวน 100,000 บาท พร้อมเงินสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการ 100,000 บาท สำหรับสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิส ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ,รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ,รองชนะเลิศอันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชยได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
พร้อมกันนี้ ทีมชนะเลิศการแข่งขันจะได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) เพื่อให้สามารถเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ได้จริง และทีมที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ดีเด่นจะได้รางวัล DTAC AWARD พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท
|