เบลแลบ ภายหลังต้องเผชิญกับการแยกตัวของเอทีแอนด์ทีมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง ? ปรากฏ ว่าสามารถทำได้ดีอย่างน่าพิศวง งานวิจัยเบื้องต้นกำลังเฟื่องฟู ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้รับการวิจัยเพื่อการประยุกต์และพัฒนาออกมามากมาย
เมื่อเอทีแอนด์ทีถูกแบ่งแยกออกจากกัน (อันเป็นผลจากการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ทำให้ผู้ที่ชื่นชมต่อการที่เอทีแอนด์ที ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับการวิจัย อดสงสัยชะตากรรมของ เบลแลบอราทอรี่ส์ หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของเอทีแอนด์ที ไม่ได้
เบลแล็บ ได้ค้นพบทรานซิสเตอร์เลเซอร์ โซลาร์เซล และดาวเทียมสื่อสารดวงแรก ตลอดจน ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ศาสตร์แห่งดาราศาสตร์วิทยุ อันเป็นรากฐานของทฤษฎีที่ว่า การระเบิดขนาดใหญ่ทำให้เกิดสุริยจักรวาล หากปราศจากเงินรายได้ก้อนมหาศาลที่จัดหาโดยบริษัท เอทีแอนด์ที เบลแล็บซึ่งเป็นแหล่งวิจัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกามาเกือบ 62 ปี จะกลายเป็นโรงงานธรรมดา ๆ ใน ด้านการวิจัยและพัฒนาหรือไม่ ?
ความวิตกดังกล่าวมิได้ลดน้อยลงเลยดังเช่น เอ็ดเวิร์ด อี เดวิด จูเนียร์ วัย 63 ผู้ผ่านการทำงานกับเบลแล็บ และเป็นที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ให้แก่ประธานาธิบดีนิกสัน ยังคงตั้งคำถามว่า จะมีบริษัทใดบ้างไหมที่ยังคงสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานต่อไปได้หากมีอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้เบลแล็บ ก็ยังคงมีการวิจัยอย่างแข็งขันอยู่ที่ เมอเรย์ ฮิล และ โฮล์มเดล นิวเจอร์ซี การสนับสนุนของบริษัทแก่บุคลากรที่มีมันสมองเลอเลิศนั้น ไม่เคยลดลงเลย ขณะเดียวกันมีการให้ทุนเพิ่มขึ้น 18% (จนถึง 2.2 พันล้านเหรียญในปีที่แล้ว) และการว่าจ้างรวมก็มีมากขึ้นเช่นกัน (จนถึง 21,000 คน ในปี 2530 เมื่อเทียบกับ 26,000 คน ในปี 2526 ซึ่งลดลงเป็น 18,000 คน หลังจากที่เอทีแอนด์ทีถูกแยกบริษัทเมื่อปี 2527)
การวิจัยได้กระจายออกไปโดยไม่มีผลกระทบกระเทือน เบลแล็บ กำลังขยายออกสู่วงการพาณิชยกรรม โดยจัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาในด้านโทรคมนาคม การบินและขนส่ง
ในอดีต การวิจัยเบื้องต้นมีบุคลากรและค่าใช้จ่ายเพียง 10% ของเบลแล็บสัดส่วนเช่นนี้คงที่และ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่เคยทำงานด้านประยุกต์ ซึ่งมิใช่การวิจัยพื้นฐาน นอกจากห้องแล็บที่นิวเจอร์ซี่ วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญซอฟท์แวร์ของเบลแล็บ ไม่น้อยกว่า 2,700 คนที่อินเดียน ฮิล อิลลินอยส์ ใกล้ชิคาโก กำลังพัฒนาสวิทซ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง
ในแอลเลนเทาน์ ซีคาร์เครสท์ และเรดดิ้ง เพนซิลวาเนีย นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ออกแบบ เซมิคอนดัคเตอร์ชิป และเลเซอร์ไมโครสโคปิค ที่ควบคุมการหมุนเวียนของสัญญาณแสงผ่านเส้นใยแสง (OPTIC FIBERS)
ที่โคลัมบัส โอไฮโอ พวกเขามีหน้าที่ตรวจสอบการติดต่อโทรศัพท์ทางไกลและระบบข้อมูลพิเศษเฉพาะด้าน
ที่นอร์ท แอนโดเวอร์ แมสซาซูเซทวิศวกรทำงานเกี่ยวกับเทอร์มินัลและระบบขนส่ง ซึ่งคล้ายกับสถานีรถไฟและเส้นทางรถไฟ
การวิจัยพื้นฐานที่เบลแล็บทำให้คนสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีผลในด้านการค้นคว้าที่ยิ่งใหญ่ การประดิษฐ์ในปี 2490 ด้านทรานซิสเตอร์ ทำให้เกิดการปฏิวัติทางไมโครอีเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์นักวิทยาศาสตร์ของเบลแล็บ 7 คน ได้รับรางวัลโนเบล นับว่ามากกว่าสถาบันอุตสาหกรรมใด ๆ ในโลก เกียรติคุณนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แม้หลังมีการแยกตัวของบริษัทในปี 2528 ประธานาธิบดีเรแกน ได้มอบเหรียญเกียรติคุณสาขาเทคโนโลยีแก่เบลแล็บซึ่งเป็นห้องแล็บเดียวในสหรัฐฯที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นในเบลแล็บ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งแก่อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เพราะคุณภาพในการวิจัย มีอยู่สูง และเบลแล็บก็ยังนำหน้าในการวิจัยที่สหรัฐฯประสบปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องแปรผลการวิจัย ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ โรเบิร์ต เอ็ม. ไวท์ รองประธานสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติกล่าวว่า "ปัญหาของประเทศนี้ไม่ใช่การขาดการวิจัยพื้นฐานแต่ปัญหาอยู่ที่ขาดการแปรการค้นพบ ให้มีผลเชิงพาณิชย์ และเบลแล็บก็ทำงานด้านนี้ได้ดีเลิศทีเดียว"
การเผชิญกับการแยกตัวของบริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้ เบลแล็บมีการสนับสนุนที่มั่นคงเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณจากภาษีโทรศัพท์ทุกเครื่องในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 50 เซนต์ต่อเครื่อง ในปี 2526 งบประมาณส่วนที่เหลือมาจากโรงงานผลิตของเอทีแอนด์ทีชื่อ เวสเทิร์น อิเลคทริค เนื่องจากเอทีแอนด์ที ก้าวสู่การแข่งขันที่ตนไม่เคยประสบมาก่อน คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ กลัวว่า การวิจัยพื้นฐานจะประสบความล้มเหลว แต่สิ่งนั้นก็มิได้เกิดขึ้น แม้แหล่งที่มาของเงินทุนจะเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ งบของเอทีแอนด์ทีใช้ในการวิจัย (ประมาณ 200 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว) ขณะที่การพัฒนา (อีก 2 พันล้านเหรียญ) จัดหาทุนมาโดยธุรกิจสาขาต่าง ๆ ของบริษัท
ผู้บริหารเอทีแอนด์ทีดูมั่นใจอย่างยิ่งต่ออนาคตข้างหน้า ประธาน โรเบิร์ท อี.แอลเลน กล่าวว่า "เราให้ทุนการวิจัยที่เอทีแอนด์ที โดยมีทัศนะยาวไกล ไม่ใช่แต่สนใจกับงานเพียงระยะไตรมาสต่อไป ผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าต้องการ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหนือกว่า เบลแล็บรวมทั้งหน่วยวิจัยนับเป็นแหล่งสำคัญสำหรับอนาคตของเอทีแอนด์ที เงิน 10% ที่ใช้วิจัยไม่ใช่ส่วนที่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์"
เบลแล็บ พยายามช่วยธุรกิจของเอทีแอนด์ที โดยทำให้งานวิจัยใกล้เคียงกับความต้องการของบริษัท ทั้งนี้ต้องมิใช่การทำแบบเหวี่ยงแห ผู้บริหารเบลแล็บจะตรวจดูการวิจัยว่า ช่วยธุรกิจของบริษัทหรือไม่ และเรียกว่า "การบริหารและการเคลื่อนไหวของข้อมูล" ฝ่ายเศรษฐกิจและจิตวิทยาได้รับการ ตัดงบลงมา ขณะที่ฝ่ายหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็มีผลต่อนักวิทยาศาสตร์เพียง 40 คน จาก 200 คน ที่ค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแบบบริสุทธิ์
รองประธาน อาร์โน เอ. เพนเซียส์ วัย 54 นักวิทยาศาสตร์ที่แบลแล็บ กล่าวว่า "คนภายนอกคง คิดว่า เราเน้นเทคโนโลยีแต่เนื้อหาด้านปัญญาของงานก็ยังเหมือนเดิม" เพนเซียส์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ได้สร้างผลงานที่ดีเด่นทันทีที่มาทำงานกับแล็บนี้ในปี 2504 เขาได้รับเชิญเข้าร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อาวุโส เพื่อหาวิธีคำนวณเกี่ยวกับที่ตั้งของดาวเทียมสื่อสารในลักษณะสามเหลี่ยม นักวิทยาศาสตร์คิดกันที่จะตั้งเสาอากาศสูงราคาแพง ขณะที่เพนเซียส์เสนอใช้เสาอากาศทางธรรมชาติคือ ดาวเทียมที่แผ่คลื่น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะจากจุดที่คงที่ในท้องฟ้า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มความคิดของ เพนเซียส์ได้รับการยอมรับ และมีการยกเลิกคณะกรรมการทันที
ต่อมา เพนเซียส์ และ โรเบิร์ท วิลสัน เพื่อนร่วมงานได้สร้างเครื่องวัดความแม่นยำสำหรับจานรับคลื่อนวิทยุจากอวกาศ ที่ครอฟอร์ด ฮิลส์ นิวเจอร์ซี่ โดยเป็นความพยายามที่จะค้นหาแหล่งคลื่นสถิตย์ที่รบกวนคลื่นวิทยุจากทางช้างเผือก เสียงที่ค้นพบปรากฎว่าเป็นสิ่งที่ค้างมาจากแสงกัมมันตภาพรังสีของการระเบิดใหญ่ ที่ทำให้เกิดจักรวาล (BIG BANG) จากการค้นพบ ทั้งสองได้ร่วมรับรางวัลโนเบลในปี 2521
ก่อนจะมีการแยกตัวของบริษัท เพนเซียส์ได้พยากรณ์ว่า หากปราศจากบริษัทที่ดำเนินการเป็นฐานแล้ว เบลแล็บ จะเป็น "เรือที่ล่ม" ทุกวันนี้ เขารู้สึกสบายใจขึ้นเขากล่าวเกี่ยวกับทิศทางของเบลแล็บว่า "สิ่งที่เราทำนั้น ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่ความเกี่ยวเนื่องนั้นยากที่ใครทั่วไปจะสังเกตเห็นได้เราได้ทุ่มเทเพิ่มให้แก่การวิจัย ในส่วนที่ความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจนั้นชัดเจน"
เนื่องจากเอทีแอนด์ทีเห็นว่า วิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นเครื่องมือในการแข่งขันขอบเขตการวิจัย ที่เบลแล็บ จึงกว้างกว่าที่โรงงานหรือมหาวิทยาลัยอื่นใด คณะทำงานมีปริญญาเอก 3,430 คน มากกว่า คู่แข่งที่ใกล้เคียงคือ ไอบีเอ็ม นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เชี่ยวชาญในสาขาฟิสิกส์เคมี คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาอื่น ๆ วิธีการของเบลแล็บคือ สรรหาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกัน ตึกต่าง ๆ ที่เมอร์เรย์ ฮิล เหมือนกับรังผึ้ง มีนักวิจัยนักพัฒนา และคณะผู้ทำงานสนับสนุน 3,049 คน ในที่ทำงานยาวหนึ่งในสี่ไมล์ โดยมีห้องแล็บเล็ก ๆ น้อย ๆ นับร้อย ๆ เต็มไปด้วยเครื่องมือ ยุคใหม่ล่าสุด
แผนกวิจัยฟิสิกส์มีคนทำงาน 250 คน นับว่าใหญ่กว่า กว้างขวางกว่าแผนกฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยใด ๆ การสำรวจค้นคว้ามีตั้งแต่การศึกษาพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะของวัสดุ รวมทั้งทฤษฎีฟิสิกส์ เช่น ความเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงเซมิคอนดัคเตอร์ระบบเซรามิคและหน่วยงานที่ทำซิลิคอน ซึ่งเลียนแบบการทำงานอย่างกว้าง ๆ ของสมองสัตว์ อิเล็กทรอนิกส์และออฟติคส์ เป็นขอบเขตสาขาที่มีการเน้นเช่นกัน งานล่าสุดที่มีการพัฒนาแอมพริไฟเออร์ ออฟติค ที่เสริมความหนาแน่นของอนุภาคแสงหรือโฟตอน เพื่อส่งเสียงและข้อมูลผ่านออฟติคไฟเบอร์ โดยไม่ต้องแปลงเป็นอิเลคตรอนและเปลี่ยนกลับเป็นโฟตอนอย่างที่เป็นอยู่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอทีแอนด์ที เริ่มติดตั้งระบบสื่อสารออฟติคไฟเบอร์ที่ทันสมัยที่สุด พัฒนา ขึ้นที่เบลแล็บโดยสามารถรับโทรศัพท์ 24,000 ครั้ง ได้พร้อมกันโดยผ่านไฟเบอร์เพียงสองเส้น แต่ละเส้นหนาเป็นสองเท่าของเส้นผมมนุษย์ นับว่ามีความสามารถมากกว่าระบบโทรศัพท์เชิงพาณิชย์ใด ๆ ที่มีอยู่ถึง 40%
งานวิจัยพื้นฐานที่เบลแล็บ ส่วนใหญ่มีทางที่จะนำมารวมกันเพื่อการพัฒนาต่อไปแต่งานวิจัย บางชิ้นก็ไม่มีผลได้ที่ชัดเจนนักมีรายงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานของมดในป่าบราซิลอีกอันหนึ่งเป็นการสำรวจดูแกแลกซี่ที่ปลายจักรวาล โดยดูจากหอดูดาวที่ชิลีและฮาวาย โธมัส กราเดล วัย 49 ผู้ศึกษามด ได้ทำงานกับนักวิทยาศาสตร์จากคอร์แนลรายงานว่า เหตุสำคัญของฝนกรดในอเมซอนเป็นกรดฟอร์มิค สารซึ่งไม่มีสีมีกลิ่นฉุนเกิดจากร่างที่ผุสลายของมด การสำรวจของเขา ทำให้มีจดหมายจากผู้ถือหุ้นของ เอทีแอนด์ที ว่าทำไมไม่ใช้เงินให้ดีกว่านี้ แต่ความสนใจของกราเดลต่อมดจากอเมซอนนับว่ามีผลทางปฏิบัติ เขาเป็นนักเคมีสาขาความสึกกร่อน งานส่วนหนึ่งของเขาคือการค้นหาว่า ทำไมอุปกรณ์โทรศัพท์จึงไม่ทำงานในหลาย ๆ สภาพ
เจ แอนโธนี่ ไทสัน วัย 47 นักดูดาวและนักดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ ก็ทำงานในระดับที่ไม่เกินเหตุเช่นกัน เขาพยายามปรับปรุงการค้นพบอีกชนิดหนึ่งของเบลแล็บ นั่นคือตัวชิปที่มองเห็นได้เหมือนตาของ คนเรา งานนี้เป็นการปฎิวัติดาราศาสตร์ เพราะชิปดังกล่าวสามารถรวบรวมแสงมากกว่าฟิล์มถึงพันเท่า ซึ่งสามารถทำเป็นตาให้แก่หุ่นยนต์และช่วยในการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ให้แม่นยำ ไทสันเป็นนักวิทยา-ศาสตร์จำนวนไม่มากนักของเบลแล็บที่ช่วย "เชื่อมเราเข้ากับจักรวาลแห่งวิทยาศาสตร์" ดังที่เพนเซียส์กล่าวว่า "นั่นเป็นส่วนสำคัญ แม้ไม่มากนักในยุทธศาสตร์ธุรกิจของเรา ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงงานของเบลแล็บกับมหาวิทยาลัยและชุมชนอื่น ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่อาจทำงานเช่นนี้ได้" นอกจากนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์หนุ่ม ๆ สนใจทำงานกับเบลแล็บ การจัดหาคนไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนเลยนับแต่การแยกตัวของบริษัท 80% ของนักศึกษาที่เบลแล็บเสนองานให้เข้าร่วมงานด้วย เบลแล็บจ่ายเงินเดือนในอัตราค่อนข้างสูงกว่าแล็บที่อื่นใด เช่น ไอบีเอ็มและดูปองท์ (ปริญญาเอกทางฟิสิกส์ จบใหม่ ๆ ได้ 45,000 เหรียญต่อปี) แม้เพนเซียส์จะกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนได้มากกว่า 100,000 เหรียญต่อปี เงินก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้นสนใจ เสรีภาพ อุปกรณ์และเพื่อนร่วมงานในระดับยอด มีความสำคัญยิ่งกว่าเงินเสียอีก
การเก็บเกี่ยวผลพวงของการวิจัยนั้นเอทีแอนด์ทีทำได้เร็วกว่าในยุคก่อน ๆ เอียน เอ็มโรส ประธานวัน 60 ของเบลแล็บ จบปริญญาเอกจากอังกฤษ ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าได้ค้นพบสิ่งสำคัญหลายอย่างด้าน เซมิคอนดัคเตอร์ เขายกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ของเอทีแอนด์ทีอย่างรวดเร็วว่า ช่วยแก้ปัญหาเซลส์แมน ซึ่งต้องเดินทางไปขายของหลาย ๆ จุด โดยใช้สูตรคณิตศาสตร์กำหนดแผนการเดินทาง นาเรนทร์ ดาร์มาร์ดาร์ นักคณิตศาสตร์เชื้อชาติอินเดีย วัย 31 ได้อธิบายความคิดที่ลึกซึ้งนี้ในปี 2527 ในขณะที่โปรแกรมเมอร์และนักวิทยาศาสตร์เคยใช้เวลาเป็นวัน ๆ ในการแก้ปัญหา โดยมีตัวแปรนับเป็นพัน ๆ ตัว วิธีการคิดคำนวณแบบดาร์มาดาร์ ทำให้ทำงานเสร็จภายในไม่กี่นาที เอทีแอนด์ทีได้ใช้วิธีการคิดคำนวณนี้ในงานโทรศัพท์ที่กว้างขวางใน 20 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีตัวแปรกว่า 60,000 ตัวทั้งยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก เบลแล็บกำลังนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจสายการบินและการขนส่ง
คำยินยอมที่เอทีแอนด์ทีต้องลงนามกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในปี 2499 เพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งแยกบริษัท ห้ามมิให้เอทีแอนด์ที และเบลแล็บ ทำงานใด ๆ นอกเหนือจากกิจการโทรคมนาคม ยิ่งกว่านั้นเบลแล็บ ยังต้องเปิดเผยการค้นพบใหม่ ๆ แก่โลกภายนอกด้วย ภายหลังจากที่บริษัทถูกแบ่งแยก เบลแล็บไม่ต้องมอบการค้นพบให้ผู้อื่น โดยรับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย เช่นกรณีทรานซิสเตอร์ โซนี่ ได้รับสิทธิในปี 2493 โดยจ่ายเงินดาวน์ค่าสิทธิเพียง 25,000 เหรียญ และช่วยจุดประกายการปฏิวัติทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านวิทยุทรานซิสเตอร์ นับได้ว่าเป็นการค้นพบที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ธุรกิจมหาศาลที่สุด แต่ถ้าเบลแล็บค้นพบทรานซิสเตอร์ ในทุกวันนี้ บริษัทก็จะมีสิทธิที่จะผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ออกขายถ้าหากมีผลในเชิงการค้า
การแบ่งแยกเอทีแอนด์ที ได้เปิดประตูให้แก่เบลแล็บเข้าแข่งขันในตลาดพิคเซลมาชีนส์ 1 ใน 11 บริษัทที่เริ่มโดยเบลแล็บภายใต้การควบคุมของเอทีแอนด์ที ได้จัดทำเทอร์มินัลที่มีความสามารถพิเศษ ในการแสดงรูปภาพคมชัดที่สุดในเชิงพาณิชย์ บริษัทยังใหม่อยู่ และตั้งอยู่ในตึกของเบลแล็บที่โฮล์มเดล แม้คนของเบลแล็บที่ทำงานให้บริษัทใหม่ จะไม่อาจกลายเป็นเศรษฐีเพราะเอทีแอนด์ทีไม่ให้หุ้น แต่ก็มีสิทธิรับโบนัสจากผลงานดีเด่น และในขณะเดียวกันก็ได้รับความพึงพอใจจากการค้นพบของเขา
คาธารีน เอ็ม. ซัลลิแวน ประธานของบริษัท พิคเซล มาชีนส์ วัย 45 อดีตผู้บริหารการตลาดของ เอทีแอนด์ที ซึ่งควบคุมดูแลนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการตลาด 30 คนกล่าวว่า "ดิฉันคิดว่ามันดีทั้ง 2 ด้านเรามีทรัพยากรบุคคลอย่างจากเอทีแอนด์ทีและยังมีเสรีภาพในการทำอะไร ๆ เช่นที่บริษัทเล็ก ๆ ทำได้" ในขั้นต้น กิจการได้รับความอุปถัมภ์สนับสนุนโดยเอทีแอนด์ทีจากการจ่ายเงินเดือน หากกิจการประสบผลดี ก็สามารถตั้งตนเป็นธุรกิจได้ โดยผูกพันกับเอทีแอนด์ที หรืออาจรวมกับหน่วยงานสายใหญ่ของเอทีแอนด์ที หรือแยกออกต่างหาก
การแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศต่าง ๆ สอนนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเบลแล็บให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการผลิตในอดีต เบลแล็บถือการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันกลับหันมาเน้นความต้องการของลูกค้า เป็นสำคัญ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่เน้นเทคโนโลยีก็คือ โทรศัพท์แบบติดจอภาพซึ่งได้รับการพัฒนา เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าทำงานได้ดี แต่การวิจัยตลาดปรากฏว่าไม่มีตลาดที่แน่ชัด
ทุกวันนี้ เบลแล็บ จะให้ตลาดตัดสินว่าควรพัฒนาโทรศัพท์พร้อมจอภาพนี้หรือไม่ผู้เชี่ยวชาญจากเบลแล็บ ต้องติดตามฝ่ายการตลาดของเอทีแอนด์ทีออกเยี่ยมลูกค้าความกดดันที่ต้องการเห็นผลตอบแทนจากการวิจัย ทำให้เบลแล็บต้องเปลี่ยนนโยบายแทนที่จะต้องรอคอยถึง 20 ปี เพื่อได้รับผลตอบแทน เดวิด เอ. เมสเคล จูเนียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายห้องอุปกรณ์โทรคมนาคม วัย 52 ประจำที่โรงงานออฟติคส์ไฟเบอร์ ที่แอตแลนตา ได้กล่าวว่า "มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เขาเคยถามเราเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากที่เคยถามว่า มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นบ้าง มาเป็นคำถามที่ว่า การวิจัยของคุณจะช่วยธุรกิจของเราได้อย่างไร" ผู้อำนวยการเบลแล็บ ได้บอกกับนักวิจัยให้สนใจกับอนาคตในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือนานกว่านั้น
นักพัฒนาของเบลแล็บ ซึ่งก้าวสู่โลกแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ กำลังแนะนำผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่ง เช่น ระบบชุมสายคอมพิวเตอร์ อีเล็กทรอนิกส์ 5ESS ราคาหลายล้านเหรียญซึ่งสามารถบริการโทรศัพท์ได้ 300,000 ครั้งต่อชั่วโมง ระบบ 5 ESS ทำให้ลูกค้าส่งเสียงและข้อมูลโดยตรงในรูปของปุ่มกดสัญญาณ ซึ่งกะทัดรัดและแม่นยำกว่าแบบอนาล็อคระบบกดปุ่มปรับปรุงสัญญาณได้ดีจนกระทั่งขณะนี้เอทีแอนด์ทีสามารถใช้ระบบส่ง 3 ช่องสาย แทนการใช้สายเดียว
เมื่อลูกค้ารับบริการนี้ ผู้จัดการในเขตต่าง ๆ สามารถพูดถึงกันและกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารพร้อม ๆ กัน ได้มากกว่า 2 ช่องสาย ส่วนช่องสายที่ 3 ช่วยควบคุมการส่งและแสดงตัวเลขของโทรศัพท์ของลูกค้าเมื่อลูกค้าโทรเรียกตัวแทนประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าจะแสดงภาพใน หน่วยความจำในจอคอมพิวเตอร์ คุณสมบัติเช่นนี้สามารถใช้แสดงภาพหรือค้นหาโทรศัพท์ที่เข้ามาได้
บริการใหม่ ๆ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายบริการแบบประสานงาน (INTEGRATED SERVICES DIGITAL NETWORK SYSTEMS) หรือ ISDN ซึ่งเบลแล็บกำลังนำหน้าในเรื่องนี้ ไอเอสดีเอ็น สามารถเชื่อมสถานีต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกล เช่น ช่วยเชื่อมระบบของร้านแมคโดนัลด์ 7,500 แห่ง เข้ากับสำนักงานบริหารบริษัท เมื่อมีการใช้ออฟติคไฟเบอร์มาก ไอเอสดีเอ็น จึงช่วยเพิ่มจำนวนข้อมูลที่สามารถส่งถึงบ้าน หรือที่ทำงานได้ โดยผ่านเครื่องแฟกซ์จอภาพและอาจช่วยทำให้โทรศัพท์ภาพกลับมาใช้ในลักษณะที่ไม่แพงได้
ในกิจการเหล่านี้ คนทำงานในเบลแล็บคิดว่า มีข้อได้เปรียบเพราะการวิจัยได้ประสานเข้ากับบริษัทแม่ได้ดีกว่าห้องแล็บที่อื่น ๆ นับแต่เริ่มต้น เบลแล็บได้ยกระดับ "การทำงานร่วมสถานที่" โดยมีการทำให้คนที่อยู่ต่างสถานที่ต่างโรงงาน กลายเป็นศาสตร์ทางศิลปะชั้นสูง นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ที่อยู่ในโรงงานต่าง ๆ ของเอทีแอนด์ทีในรัฐทั้งหมด สามารถเชื่อมโดยตรงจากการวิจัยไปสู่การพัฒนา-การผลิต
ลักษณะการทำงานเชื่อมกัน ทั่วไปก็คือการทำงานของมาร์ค เมลเลีย สมิธ วัย 42 กรรมการฝ่ายบริหารของหน่วยอีเล็กทรอนิกส์และโฟโตนิค (โฟโตนิค เกี่ยวกับเครื่องมือด้านแสง เช่น เลเซอร์เซมิคอนดัคเตอร์ ที่ทำให้ขับเคลื่อนโฟตอน ผ่านออฟติคไฟเบอร์) เมลเลีย สมิธ มีสำนักงานอยู่ที่เบลแล็บ ในเมอร์เรย์ ฮิล และห้องแลบเซมิคอนดัคเตอร์ที่อัลเลนเทาน์ และ เรดดิ้ง เขากล่าวว่า "ตรงนี้ช่วยให้มี ปฏิสัมพันธ์อย่างยิ่ง นักวิจัยจะสามารถค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเราและเราก็ให้วัตถุดิบแก่เขา เรา เรียกกระบวนการนี้ว่า การสร้างผลิตภัณฑ์โดยไม่มีรอยต่อมาขวางกั้น" เมลเลีย สมิธ ผู้รับปริญญาเอกในทางฟิสิกส์เคมี ได้ทำงานกับเอทีแอนด์ทีมาแล้ว 17 ปี ในด้านการวิจัยและพัฒนา และในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม ที่แคนซัส ซิตี้ มิสซูรี ในโรงงานชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์
นักวิทยาศาสตร์ของ เบลแล็บ ได้เน้นว่า การแข่งขันไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก อาร์โน เพนเซียส์ กล่าวว่า เบลแล็บเป็นสถานที่ "ที่ทำให้อนาคตบังเกิดขึ้น ดุจเดียวกับที่ได้เปิดโลกใหม่ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยการค้นพบทรานซิสเตอร์ เบลแล็บ กำลังพยายามสร้างสิ่งซึ่งเข้ามาแทนที่ในรูปของโฟตอน เพื่อประโยชน์ด้านข้อมูลและการจัดการสิ่งประดิษฐ์ ต่าง ๆ ที่ชวนพิศวงของเบลแล็บนั้น รวมถึงออฟติคัลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเหนือกว่าแบบอิเล็กทรอนิกส์ความก้าวหน้าในการทดลอง ได้พัฒนาไปรวดเร็วมาก ออฟติคัลคอมพิวเตอร์ ใช้แสงเลเซอร์แทนการเชื่อมต่อโดยอิเลคตริค ทำให้สามารถทำงานได้เร็วกว่านับพัน ๆ เท่า จึงเป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์อย่างนึกไม่ถึงมาก่อนแก่ทุกคน นับจากนักทฤษฎีฟิสิกส์ไปจนถึงนักพยากรณ์อากาศ
|