Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน1 เมษายน 2548
ยุ่นทิ้งเวทีFTAหันล็อบบี้ กลุ่มเหล็กโวยทนงปิดกั้น             
 


   
search resources

ทนง พิทยะ
International




เวทีเจรจาการค้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นป่วน คณะผู้แทนญี่ปุ่นขอปิดเจรจาเร็วขึ้นกว่ากำหนด หลัง “ทนง”แบไต๋จะยอมเปิดเสรีเหล็ก เผย ‘มิติ’สบช่องวิ่งล็อบบี้ฝ่ายการเมือง ความหวังเข้าครอบงำตลาดเหล็กไทยใกล้แค่เอื้อม ด้านผู้ประกอบการเหล็กโวย รัฐบาลปิดกั้นให้เอกชนชี้แจงความจริง ยันหากทำตามญี่ปุ่นไทยเสียเปรียบ ล่าสุดพยายามขอพบ “ทนง-สมคิด” แต่ถูกปัด เหน็บทีต่างชาติกลับยอมให้พบง่าย ท้ารัฐหากยุ่นยอมเปิดเสรีน้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าวให้ไทยโดยไม่มีโควต้าพร้อมเปิดเหล็กเช่นกัน

ภายหลังจากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หรือ การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น รอบที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมามาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงวานนี้(31มี.ค.) แม้จะสามารถตกลงกันได้ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายรายการตลอดจนความร่วมด้านเศรษฐกิจและบริการอื่นๆ ซึ่งกล่าวได้ว่า คืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว แต่ก็มีอุปสรรคในการเจรจาการเปิดเสรีเหล็กที่เป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย โดยไทยพยายามเรียกร้องขอให้ญี่ปุ่นเลิกกดดัน แต่จากการเปิดเผยท่าทีของนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยจะยอมเปิดเสรีเหล็กให้ญี่ปุ่นในบางรายการที่ผลิตเองไม่ได้ (ตามที่ผู้จัดการรายวันเสนอข่าว “ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อไทย เปิดตลาดเกษตรฉลุย-ทนงแบะท่าเปิดเสรีเหล็ก” ฉบับวันที่ 31 มี.ค.) นั้น ทำให้วานนี้ (31มี.ค.) ฝ่ายญี่ปุ่นมีความหวังมากขึ้น ตรงกันข้ามกับกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ที่ผิดหวังท่าทีของรมว.พาณิชย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ความคืบหน้าในการเจรจาขณะนี้ลุล่วงไปแล้วกว่า 90% โดยวันที่สองสามารถตกลงกันได้เพิ่มอีก 9 สาขานอกเหนือจากความตกลงพื้นฐานในเรื่องเกษตรที่คุยจบไปเมื่อวันแรกของการเจรจา รวมทั้งทั้งสองฝ่ายได้ถกเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและใกล้จะได้ข้อสรุปซึ่งฝ่ายไทยมั่นใจว่าจะดีกว่าที่ญี่ปุ่นให้สิงคโปร์แน่นอน แต่การเจรจาก็สะดุดลงเมื่อกระทรวงเศรษฐกิจฯ ญี่ปุ่น (METI) เดินหน้ารุกไทยอย่างหนักในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่คณะเจรจาไทยยืนยันไม่เสี่ยงแลกอุตสาหกรรมที่ละเอียดอ่อนของไทยเด็ดขาด ทำให้ที่สุดหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายญี่ปุ่นขอปิดการเจรจาเร็วขึ้นจากเดิมที่จะมีการเจรจากันต่ออีก 1 วันในวันนี้ (1เม.ย.) และ อาจทำให้ไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในสัปดาห์นี้ตามที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ

**METI ตัวปัญหา

รายงานข่าวระบุว่า จุดแตกหักของการรอบนี้อยู่ที่ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอสุดท้ายให้มิติพิจารณา โดยในเรื่องเหล็กแผ่นรีดร้อนว่า ไทยจะไม่ลดภาษีเป็น 0 ทันทีตามที่ญี่ปุ่นต้องการ แต่จะคงภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนในอัตราปัจจุบันไว้ 10 ปี และเริ่มลดภาษีในปีที่ 11 จนเหลือ 0 ในปีที่ 15 ซึ่งเป็นท่าทีที่เอกชนผู้ผลิตเหล็กไทยเสนอมา ซึ่งหากญี่ปุ่นรับข้อเสนอนี้ของไทยไม่ได้ ไทยก็จะจำเป็นต้องรุกเรื่องเปิดเสรีสินค้าเกษตรรวมทั้งสินค้าที่ละเอียดอ่อนมากของญี่ปุ่น เช่น น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง ต่อไป ซึ่ง มิติไม่สามารถตอบไทยในห้องเจรจาได้

รายงานข่าวแจ้งว่า มิติพยายามกดดันไทยทั้งในและนอกเจรจา โดยผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นพยายามล็อบบี้ฝ่ายการเมืองระดับสูงของไทยตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมาอย่างหนักหน่วง เพราะเห็นช่องทางจากการให้สัมภาษณ์ของนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงท่าทีจะยอมตามข้อเสนอของญี่ปุ่นเปิดเสรีเหล็กในบางรายการ โดยการปิดเจรจาเร็วขึ้น 1วัน ก็เพื่อจะขอเข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลัง เพื่ออธิบายความต้องการของญี่ปุ่นให้ฟังโดยตรงแต่ ล่าสุด นายสมคิดยังไม่ได้ตอบรับ

ด้าน นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะเจรจาไทยซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหลาย ๆ กระทรวงรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และคลัง ได้ย้ำกับฝ่ายญี่ปุ่นไปหลายรอบว่า จุดยืนของไทยในแต่ละเรื่องอยู่ที่ใด ไทยได้ยอมโอนอ่อนผ่อนตามญี่ปุ่นในส่วนที่สามารถทำได้เพราะตระหนักดีว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย

“ณ วันนี้ เรายืนอยู่บนท่าทีที่ได้จากการหารือกับผู้แทนในทุกๆ ภาค ทุกๆ สาขา สิ่งที่เรารับปากไว้ในการหารือกับประชาชนเราก็นำมาใช้ในการเจรจากับญี่ปุ่น หากวันนี้ ญี่ปุ่นต้องการเลิกคุยในห้องเจรจา และหันไปล็อบบี้ฝ่ายการเมืองไทย ผมก็คิดว่าเป็นสิทธิที่เขาสามารถจะทำได้และเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ไทยจะสามารถอธิบายท่าทีไทยได้โดยตรง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี”

นายพิศาล ยังกล่าวถึงข้อตกลงที่คุยกันแล้วเสร็จว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไม่เพียงในประเทศไทยและญี่ปุ่น แต่ไทยอยากโยงผลประโยชน์ให้ไปถึงประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสาขาความร่วมมือดังกล่าวโดยจะเริ่มดำเนินการตามแผนที่ได้ตกลงไว้ภายใน 9 เดือนแรก หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปีนี้

ขณะที่นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังจากหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กว่า ได้ชี้แจงถึงกรณีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ประเด็นการเปิดเสรีสินค้าเหล็กนั้นก็เพื่อจะให้เหล็กของญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายได้ง่ายขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ เพราะการเจรจายังไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลต้องฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

**กลุ่มเหล็กโวย "ทนง" ปัดให้พบ

นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนครไทยสตริปมิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSM เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเหล็กได้ชี้แจงถึงแนวทางการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นให้กับกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงต่างประเทศไปแล้ว ซึ่งการจะเปิดเสรีโดยไม่มีขอบเขตด้วยการให้ภาษีนำเข้าเป็น 0 % เท่ากับเป็นการฆ่าอุตสาหกรรมในประเทศของตนเองแม้ว่าบางรายการยังไม่มีผลิตในประเทศก็ตามเพราะท้ายสุดก็จะไม่ส่งผลให้ไทยมีโอกาสได้พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเป็นของตนเอง

"ผู้ประกอบการได้พยายามติดต่อขอพบเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งรวมถึงหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ทั้งนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อขอชี้แจงประเด็นทั้งหมดแต่ก็ไม่ให้เข้าพบ เราอยากชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กใดในโลกบ้างที่ไม่มีกำแพงภาษีนำเข้าเลย ประเทศใดบ้างที่ไม่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจเช่นเหล็กแล้วรัฐไม่เข้าไปส่งเสริม" นายสวัสดิ์กล่าว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการพร้อมที่จะให้กำแพงภาษีนำเข้าเป็น 0% หากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์สามารถชี้แจงอย่างละเอียดว่า ไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น วันนี้มีคำตอบมีแล้วหรือยัง และที่สำคัญญี่ปุ่นยอมให้ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง เข้าไปทำตลาดได้หรือไม่โดยไม่มีภาษีนำเข้าเลยและที่สำคัญไม่มีโควต้านำเข้าด้วย หากได้เช่นนี้อุตสาหกรรมเหล็กก็พร้อมจะเปิดให้เช่นกัน ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นต้องการอะไรเพราะภาษีนำเข้าเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ 5-9% ซึ่งไม่ได้หนักหนาหรือเป็นต้นทุนใดๆ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นแม้แต่เล็กน้อย แต่คงตีความว่าญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นของตนเองได้มากกว่า

นายพิบูลย์ศักดิ์ อรรถบวรพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเช่นกันว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเหล็กได้พยายามขอเข้าพบกับนายทนง เพื่อจะชี้ว่าญี่ปุ่นได้แอบอ้างพิกัดภาษีฯ เหล็กว่าไทยยังไม่มีผลิตเพื่อขอให้ภาษีนำเข้าเป็น 0% ซึ่งหากมีการยกเว้นภาษีจริงจะเป็นการยกไปหลายพิกัดที่พ่วงกันไปซึ่งเท่ากับจะเปิดฟรีเกือบทั้งหมด ดังนั้นราชการควรจะต้องฟังเสียงจากเอกชนไทยบ้าง

"พิกัดภาษีเหล็กของไทยจะระบุค่อนข้างกว้างบางพิกัดก็มีผลิต แต่บางพิกัดก็ไม่มีจริง แต่หากขอมาตามพิกัดกว้างๆ แล้วจะคลอบคลุมหมดต้องระวัง เพราะนี่เป็นชั้นเชิงการเจรจาและญี่ปุ่นที่ผ่านมาพยายามบีบไทยให้อยู่นอกกรอบในการเจรจาเพราะหากอยู่ในกรอบจะมีการลดภาษีเป็นขั้นบันไดไม่ใช่เว้นทันที ฝากรัฐด้วยคนของตนเองแท้ๆ ทำไมไม่เคยถามแต่ทีฝรั่ง ญี่ปุ่นขอเข้าพบทำไมมันง่ายจัง เรื่องนี้เรากำลังหารือว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป "นายพิบูลย์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้หากรัฐเปิดนำเข้าเหล็กโดยไม่เก็บภาษีเลยจะมีผลกระทบต่อการผลิตเหล็กของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตเหล็กในไทยมีการจ้างงานในระบบถึง 1 แสนคน

นายวิน วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กมีการเปิดเสรีอยู่แล้วเพียงแต่มีการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 1-10% ซึ่งหากจะมีการเลิกเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าเหล็กอยู่ประมาณ 3.4 แสนล้านบาทเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่นถึง 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% หากเลิกเก็บภาษีอัตรานำเข้าก็จะมีมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำมีการเก็บภาษี 20-30% จะต้องพิจารณา 2 ส่วนประกอบกัน

ขณะที่ นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะการนำประเด็นอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อที่จะแลกกับการเกษตรจะต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริงเพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทยค่อนข้างมากอยู่แล้ว และภาพรวมการเจรจา FTA ในฐานที่ส.อ.ท.เป็นกลางได้เคยเสนอรัฐบาลไปแล้วว่าจะต้องฟังเสียงจากเอกชนแล้วนำข้อมูลมาสร้างให้สมดุลกับการเจรจาให้ได้

แหล่งข่าวจากวงการเหล็กไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กรู้สึกเหมือนเป็นประชาชนชั้น 2 และผิดหวังต่อท่าทีของรมว.พาณิชย์ที่ยังไม่เปิดโอกาสให้เข้าพบ

"สิ่งที่กลัวตอนนี้ไม่ใช่การล็อบบี้จากญี่ปุ่น แต่เป็นการล็อบบี้จากผู้ใหญ่ที่เป็นคนไทยแต่ใจเป็นญี่ปุ่น หากรัฐยอมลดภาษีเหล็กให้ญี่ปุ่นโดยที่สินค้าเกษตรญี่ปุ่นกลับไม่ยอมลดภาษีให้ แล้วต่อไปจะเอาอะไรไปต่อรองญี่ปุ่นได้อีก "

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังคณะเจรจาเอฟทีของไทย โดยมีรายละเอียดอาทิ ไทยจะขาดดุลการค้าหากมีการลดภาษีเหล็กให้ญี่ปุ่น ซึ่งเหตุผลแท้จริงที่บริษัทเหล็กญี่ปุ่นต้องการมาขายเหล็กในไทย เพื่อต้องการป้อนให้บริษัทในกลุ่มตนเองที่ตั้งโรงงานในไทย โดยมีการโอนกำไรระหว่างกันแล้วนำกลับญี่ปุ่น โดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ และหากปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยล้มไปจะก่อให้เกิดปัญหา NPL กลับมาอีกครั้ง ฯลฯ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us