Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2531
คลื่นการเมืองก่อนการเลือกตั้งเมื่อพลเอกเปรม ถูกถวายฎีกา             
โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ
 

   
related stories

ฎีกา

   
search resources

เปรม ติณสูลานนท์
Political and Government




อะไรเกิดขึ้นในสถานการณ์การเมืองขณะนี้

ทำไมต้องทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัญหาการเมือง

และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในเบื้องหน้า

จะเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคม 2416 อีกหรือไม่?

หลากหลายคำถามถูกชูขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์ที่เสมือนสับสนในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเรื่องของการถวายฎีกานั้น แหล่งข่าวในกลุ่มกล่าวว่าเริ่มค้นคิดกันเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคำถามที่ว่าทำไมถึงเลือกวิธีการถวายฎีกานั้น รศ. ธงทอง จันทรางศุ รองคณะบดีฝ่ายปกครอง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในฎีกาดังกล่าวได้ ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า

"เราเรียนรู้จากประสบการณ์...ถ้าหากว่ามีใครไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ ร้องเรียน แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับแนวคิดที่ฝ่ายรัฐบาลดำเนินอยู่ ปฏิกิริยาตอบรับ อย่างเก่งก็ส่งผู้อำนวยการกองท่านหนึ่งออกมารับ รับแล้วไปไหน ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่งไปรษณีย์ไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันไปถึงตรงไหน เพราะฉะนั้น ทางเลือกตรงนี้เราเลือกไม่ได้"

ส่วนวัตถุประสงค์นั้น รศ. ธงทองชี้แจงว่า

"ในช่วงที่ผ่านมา...โดยเฉพาะใน 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ บางครั้งเรารู้สึกไม่สบายใจปรากฏการณ์ (ที่เกิดขึ้น) นี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเอง โดยความตั้งใจหรือโดยเจตนาของท่านผู้ใด ผมก็ไม่แน่ใจ มันแลดูเกิดภาพนี้ขึ้นก็คือว่า ดูเหมือนว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากสถาบันพระมหากษัตริย์และจากกองทัพแห่งชาติ และก็เป็นผลแปรไปโดยปริยายว่า ถ้าคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะไม่ได้รับความสนับสนุนอย่างนี้"

สำหรับผลที่หวังจากการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาครั้งนี้ รศ. ธงทองกล่าวว่า

"ก็ไม่ได้คิดว่าจะให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยิ่งใหญ่มหาศาล คือขนาดที่นายกรัฐมนตรีต้องลาออก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างบริหารหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราหวังแต่เพียงว่า โดยพระบรมเดชานุภาพนั้น จะยังให้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อพิจารณาและยึดครรลองประชาธิปไตยอันถูกต้อง"

แม้ว่า รศ. ธงทอง จะออกมาพูดเรื่องนี้ชัดเจนอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่กระนั้น ก็ได้รับการยืนยันจากหลายทางด้วยกันว่า รศ. ธงทองไม่ใช่แกนของกลุ่มถวายฎีกานี้ และว่ากันโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว-ไม่มีแกน แต่เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยแนวใหญ่ของฎีกา มาเข้าชื่อกันโดยไร้การรวมตัว โดยอาศัยแนวเนื้อหาของฎีกาเท่านั้นที่เป็นแกนให้เกาะกลุ่มกันได้

ซึ่งเมื่อนำฎีกาขึ้นทูลเก้าฯ ถวายไปแล้ว เชื่อกันว่านายกรัฐมนตรีน่าจะรับฟังด้วยสติพิจารณาและหาหนทางแก้ไขปรับปรุงให้รัฐบาลเป็น "รัฐบาลที่น่ารัก" แทนที่การเป็น "รัฐบาลที่แปลกแยก" จากประชาชน อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้...และดำเนินการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมและทำกรณีใดก็ตามที่จะไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขกดดันให้มีทางเลือกเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่ว่า มีแค่พลเอกเปรมเท่านั้นที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ความแปลกแยกเกิดจาก...ท่าทีของพลเอกเปรม-เทวดาเดินดิน

การทำตัวเป็น "เทวดาเดินดิน" ของพลเอกเปรมนั้น ยิ่งนานวันเข้านับว่าเป็นเรื่องเหลืออดเหลือทนแก่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองวงนอก ส่วนวงในโดยเฉพาะในส่วนที่ได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของพลเอกเปรมนั้น ยังคงแสดงการสนับสนุนและความจงรักภักดีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย แนวทางทั้งสองนี้มีลักษณะที่สวนทางกันและเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างสำคัญก็เมื่อมีการทูลเกล้าถวายฎีกาของกลุ่มนักวิชาการและประชาชนจำนวน 99 คน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2531

เมื่อมีการยื่นฎีกาดังกล่าวแล้ว เมื่อแรกนั้นทางฝ่ายที่ถวายฎีกาเชื่อว่า เรื่องจะจบลงเพราะเล็งไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีควรจะเปิดใจกว้างรับฟัง และสนองตอบอย่างสันติ แต่เมื่อมีการโต้กลับในลักษณะที่เสมือนเป็นการข่มขู่และมีการขยายจุดผิดพลาดในเรื่องการ ลงชื่อถวายฎีกาให้เป็นเรื่องเป็นราว เสมือนเป็นการลดความน่าเชื่อถือของฎีกาฉบับดังกล่าว ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ทำให้เกิดการเผชิญหน้า และขยายขอบเขตของปัญหาออกไป

หากมามองย้อนว่า ทำไมความแปลกแยกระหว่างพลเอกเปรมกับประชาชน โดยเฉพาะปัญญาชนนั้นมีมากขึ้นทุกขณะ เพราะเมื่อ 9 ปี ก่อนที่พลเอกเปรม เพิ่งมาจากกองทัพภาคที่ 2 มาเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารบก มาเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือกระทั่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 นั้น พลเอกเปรมยังได้รับความนิยมชมชอบอย่างยิ่ง ถูกเชิดชูในความดี ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ขาดสาย

แต่มาถึงวันนี้ เรื่องความดีความซื่อสัตย์เฉพาะตัวของพลเอกเปรมนั้น ยังไม่มีใครครหาให้ เอิกเกริกได้ แต่เรื่องความจงรักภักดีนั้น แม้ว่าพลเอกเปรมจะยังคงออกตัวด้วยวาจาว่าตนจงรักภักดีไม่ ขาดปาก กระนั้นหลายครั้งหลายคราก็ตั้งคำถามว่า ที่พลเอกเปรมอ้างถึงความจงรักภักดีอย่างต่อเนื่องนั้น เพียงเพื่ออาศัย "พระบารมี" คุ้มตน และสร้างภาพพจน์ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อนำไปสู่การตีความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยอมรับฐานะของพลเอกเปรมเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรอื่น ๆ ของสังคมไทยให้การยอมรับและให้การสนับสนุนต่อพลเอกเปรม ในฐานะนายกรัฐมนตรีสืบมาถึง 8 ปี และมีแนวโน้มว่าจะสืบต่อไปเบื้องหน้าอีกด้วย...พลเอกเปรมแบบอิงจริงหรือไม่ และการดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 8 ปีนั้น พลเอกเปรมได้ทำอะไรให้งอกเงยบังเกิดเป็นผลประโยชน์แก่ประชาชนหรือประเทศชาติบ้าง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ ของชาติ

หากพิจารณาในประเด็นที่ว่า พลเอกเปรมเป็น "คนกลาง" ทางการเมือง ไม่สังกัดพรรคการเมือง และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในขณะที่พรรคการเมืองไม่ใช่ตัวแทนอธิปไตยที่แท้จริงของปวงชน แล้วพลเอกเปรมเล่า พยายามที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนอธิปไตยของปวงชนอย่างเอาการเอางานหรือไม่ หรือเพียงทำหน้าที่เป็นตัวแทนอธิปไตยของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทั้งในประเทศและข้ามชาติ รวมทั้งเป็นตัวแทนอธิปไตยของกองทัพที่พลเอกเปรมพูดเสมอว่า ตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ด้วยการสนับสนุนของกองทัพ และกองทัพก็ยืนยันมากมายหลายครั้งทั้งโดยวาจาและการปฏิบัติที่เรียกขานกันว่า "การตบเท้า" ว่า พลเอกเปรมเป็นตัวแทนอธิปไตยของตน

นอกจากนั้น พลเอกเปรมยังเป็นตัวแทนอธิปไตยของระบบราชการ จนกระทั่งถึงระดับสามล้อถีบ สามล้อเครื่อง รถรับจ้าง หรือนักมวยหนุ่ม แต่ทั้งนี้ มิใช่ด้วยสปิริตประชาธิปไตยที่เกิดการยอมจำนนให้พลเอกเปรมเป็นตัวแทนอธิปไตยของตน แต่เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านั้นได้ประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของพลเอกเปรมต่างหาก

ด้วยปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดความสับสนสงสัยว่าการดันทุรังให้พลเอกเปรมอยู่ต่อไปนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังจะได้ประโยชน์สูงสุดอันใดหรือ

และเมื่อมีความสงสัยสับสน ก็ต้องมีการแสวงหาคำตอบ และวิธีการหนึ่งที่ทำกันล่าสุดนี้ก็คือการทูลเกล้าถวายฎีกาดังกล่าว เพราะเชื่อว่า ไม่ว่าจะแสดงออกด้วยวิธีไหนก็จะได้รับเพิกเฉยจากพลเอกเปรม หรือกระทั่งพลเอกเปรมไม่ได้รับรู้ว่ามีผู้คนเขาสับสนสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับตน เพราะบรรดาผู้ที่พิทักษ์จงรักต่อพลเอกเปรมนั้น ได้พยายามก่อกำแพงให้กับพลเอกเปรมหลายต่อหลายชั้นด้วยกัน จนทำให้พลเอกเปรมนั้นไม่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีแต่การบรรจงป้อนข้อมูลข่าวสารและทางออกที่คนของพลเอกเปรมเชื่อว่า ย้ำ!คนของพลเอกเปรมเชื่อเอาเองว่าจะเกิดผลสูงสุดต่อพลเอกเปรมและพวกตน โดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนข้างมากของประเทศนี้ ว่าเขาจะรู้สึกกันเช่นไร ย้ำ! (อีกครั้ง)ว่า บางเรื่องนั้น การสื่อสารอธิบายเรื่องราวแก่ทุกชนชั้นทุกชั้นชนในสังคมด้วยเหตุผลในทางลึกกันได้อย่างแจ่มแจ้งนั้นไม่อาจทำได้ เพราะบางครั้งความชัดเจนแจ่มแจ้งอาจจะก่อให้เกิดความร้าวฉานโดยไม่จำเป็น หรือเป็นการเร่งสถานการณ์ไปโดยไม่จำเป็นนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่ แต่การสื่อสารเพื่อความเข้าใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์สังคมร่วมกันนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทย-สังคมไทยนั้น มิได้ประกอบไปด้วย พลเอกเปรม กองทัพ ระบบราชการ นายทุนนักการเมือง สามล้อถีบ สามล้อเครื่อง แท็กซี่ และนักมวยหนุ่มหล่อเท่านั้น

การพยายามที่จะให้พลเอกเปรมกลายเป็นเทวดาทางการเมือง ไม่แยแสต่อพลังใดใดทั้งสิ้นนั้น เท่ากับเป็นการก่อให้เกิดความแปลกแยกระหว่างพลเอกเปรมกับผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้นตามลำดับเวลา และกลุ่มที่ไวต่อความรู้สึกนี้อย่างที่สุด ในขณะนี้ก็คือกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชน ที่ถือกันว่าเป็นพลังประชาธิปไตยที่กว้างขวาง และมีแต่สปิริตประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นอาวุธในการต่อสู้

สถานการณ์ปั่นป่วน เพราะทางใครก็ทางมัน

สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่มีความปั่นป่วนเกิดขึ้นนั้น ประการสำคัญเกิดขึ้นเนื่องจากมีการตั้งป้อมกันทางการเมือง ระหว่างฝ่ายพิทักษ์พลเอกเปรมกับฝ่ายที่ไม่ต้องการพลเอกเปรม แต่ดั้งเดิมนั้น ผู้ที่ออกมาทำหน้าที่เป็นทั้งกระจกส่อง เป็นทั้งผู้ที่ตั้งป้อมกับพลเอกเปรมอย่างสาหัสนั้น ก็มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ตามลำพัง เมื่อมีกลุ่มพลังประชาธิปไตยที่ถูกจุดกระแสในเรื่องถวายฎีกาชิ้นนี้ ก็มีทางด้านการข่าวที่พิทักษ์พลเอกเปรม มองไปว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวเหล่านี้

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการจับแพะชนแกะ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสถานการณ์อย่างยิ่ง โดยข้อเท็จจริงก็ไม่ต่างจากที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว นั่นก็คือท่านเห็นว่าเป็นสิทธิที่ราษฎรกระทำได้ ในการถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ทำ ซึ่งฝ่ายที่ทำฎีกาฉบับดังกล่าวนี้ขึ้นมานั้นก็ยืนยันเช่นกันว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ไม่ใช่ต้นคิด ไม่ได้มีส่วนในการร่างฎีกาฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ทางด้านการข่าวที่พิทักษ์พลเอกเปรมนั้น กลับมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างการเมืองอย่างมีเบื้องหลัง ทำให้สถานการณ์เกิดความซับซ้อนขึ้นเกินความจำเป็น

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวจากอีกบางด้าน ผูกข่าวว่ามีพวกปัญญาชนปีกซ้ายบางกลุ่มบางคน ผลักดันอยู่เบื้องหลังการถวายฎีกาครั้งนี้อีกด้วย ทำให้เรื่องกลายเป็นเรื่องเกิดเป็นหลืบมุมลึกลับ ควรแก่การตอบโต้ต่อต้านยิ่งขึ้นไปอีก...และนี่เป็นที่คาดว่าทำให้นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ให้ฉายาตัวเองว่าเป็น "กระพวนเท้า" ของพลเอกเปรมต้องออกมาเล่นบทพิทักษ์พลเอกเปรมอย่างสุดจิตสุดใจ นับตั้งแต่การขยายผลเรื่องความผิดพลาดในกรณีของการวงเล็บชื่อของรศ.ดร. ติน ปรัชญพฤทธิ์ รองอธิการบดี บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใต้ลายเซ็นของ ศ.ดร.เสริน ปุณณะหิตานนท์ แห่งคณะสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนาวาอากาศตรีประสงค์ได้ทำการนำเรื่องมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนถึง 2 ครั้ง รวมทั้งกล่าวว่ามีการปลอมลายเซ็นเป็นการหลู่พระเกียรติ ตลอดจนชี้แนะว่าอาจจะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอีกในหมู่ผู้ลงชื่อในฎีกา

สถานการณ์ยิ่งปั่นป่วนมากขึ้น เมื่อมีข่าวว่าจะมีการสอบทางวินัยแก่ข้าราชการที่ลงชื่อในฎีกานั้น รวมทั้งมีเสียงตามสายโทรศัพท์ไปยังผู้บริหารสถาบันต่าง ๆ เพื่อหาหนทางทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อ ผู้ที่ลงชื่อเหล่านั้น และบางสายก็ตรงไปยังผู้ลงชื่อให้มีปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของพลเอกเปรม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่ประการใด กลับทำให้การรวมตัวของนักวิชาการและปัญญาชนทั้ง 99 คนนั้นกระชับขึ้นอีกนิด และได้รับการสนับสนุนจากพลังประชาธิปไตยอื่น ๆ กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก

นอกเหนือจากนั้น ยังมีการให้สัมภาษณ์ที่มีลักษณะท้าทายของพลเอกเปรม เกี่ยวกับเรื่องที่นักวิชาการและปัญญาชน มีความเห็นว่าการที่ทหารตบเท้าเข้าบ้านสี่เสานั้น ไม่สมควรเพราะเป็นการสร้างกระแสกดดันทางการเมือง และสร้างความสับสนให้กับสถานการณ์อีกด้วย โดยพลเอกเปรมกล่าวว่า การที่ทหารตบเท้าเข้าพบตนนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาเยี่ยมเยียนกัน แสดงน้ำใจต่อกัน และต่อเนื่องกันนั้น ก็มีนายทหารหลายกลุ่มทยอยกันเข้าไปคารวะพลเอกเปรม ก็เกิด คำพูดกันปากต่อปากไปว่า กองทัพในขณะนี้นั้นเป็นรั้วของชาติหรือรั้วของบ้านสี่เสากันแน่

การท้าทายกันด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ ที่จากปัญหา หลักการใหญ่ บางส่วนถูกพัฒนากลายเป็นเรื่องของแม่ค้าปากตลาดสาดคำพูดเชือดเฉือนกันนั้น สมควรละหรือ โดยเฉพาะการที่นาวาอากาศตรีประสงค์ทำการจาบจ้วงต่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าคนหนึ่งของแผ่นดิน หลายเสียงตั้งข้อกังขาว่า นาวาอากาศตรีประสงค์นั้นมีอะไรเทียบเท่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์บ้าง โดยเฉพาะในแง่คุณประโยชน์ต่อแผ่นดินนี้ และแม้ว่านาวาอากาศตรีประสงค์จะตลาดใส่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เช่นนั้น แต่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองมีความเห็นว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์นั้นเป็นผู้รู้กาล รู้ประมาณมาโดยตลอด ถ้าการกระทำใดอาจจะก่อในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประเทศชาติ สาดโคลนฟาดฝีปากใส่กัน แล้วสถานการณ์ปั่นป่วนไปหนักหนาสาหัสกว่านี้ เกิดการฉวยโอกาสทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ประชาธิปไตยที่พัฒนามาครึ่งทางต้องถอยหลังกลับไปอีก ใครจะรับผิดชอบ? เพราะฉะนั้น สิ่งที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ทำก็คือ ให้เดินหน้า ให้มีการเลือกตั้ง

ในทางลึกนั้น ในช่วงที่สถานการณ์ยิ่งสับสนและมีความร้อนยิ่งขึ้นนั้น ได้มีความพยายามที่จะแสวงหาหนทางที่ประนีประนอมสร้างสันติกันอย่างเร่งรีบ โดยเฉพาะให้ไปสู่พื้นฐานที่ว่าทุกฝ่ายยุติ ทางเคลื่อนไหวที่ท้าทายพลังซึ่งกันและกัน ทหารก็ควรหยุดตบเท้า นาวาอากาศตรีประสงค์ก็หยุดสั่นกระพรวน และทางด้านพลังประชาธิปไตยก็หยุดการเคลื่อนไหว เผชิญหน้า ประคับประคองไปจนถึงเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม-นั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้

นั่นเป็นเรื่องของสถานการณ์เฉพาะหน้า ส่วนสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งค่อยมาว่ากันใหม่ เพราะสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งนั้น ประเมินกันไว้แล้วว่า จะยิ่งปั่นป่วน พรรคการเมืองจะได้กันมาเบี้ยหัวแตกหัวแหลก ถึงคาดกันว่าพรรคชาติประชาธิปไตยจะได้ที่นั่งมากที่สุด แต่ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะหลายเงื่อนไขด้วยกัน คาดหมายกันไปด้วยว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นเรื่องยากลำบาก การต่อสู้ระหว่างเอาเปรม-ไม่เอาเปรม นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง กับนายกรัฐมนตรีต้องเป็น "คนกลาง" ไม่สังกัดพรรค แต่ไม่ว่าจะยุ่งยากเพียงไร หากจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นที่คาดหมายกันอีกว่ารัฐบาลที่จะได้มานั้น จะเพียงขัดตาทัพ อยู่ได้ไม่นาน สถานการณ์จะยังล้มลุกคลุกคลานเป็นระยะผ่านเช่นนี้ต่อไปอีก

และเมื่อสภาเปิดสมัยแรกหลังการเลือกตั้งนั้น จะต้องการอาศัยสภาเป็นเวทีในการต่อสู้ตามแนวที่คนต้องการกันอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยวุฒิสภาเป็นฐานของฝ่ายทหาร และสภาล่างเป็นฐานของฝ่ายพรรคการเมือง แต่ก็จะมีการทะลวงเส้นในกันปั่นป่วนอีก จะมีการเร่งสถานการณ์กันเอิกเกริกจากทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งปัญหากฎหมายทั้งปัญหามวลชน สภาจะอยู่ได้นานแค่ไหนไม่มีใครกล้ารับประกัน สถานการณ์จะปั่นป่วนรุนแรงแค่ไหนไม่มีใครกล้าคาดหมาย แต่ต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องดูไม่ให้คลาดสายตา และเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ไม่ควรพลาด! ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มใดของสังคมก็ตาม เพราะสถานการณ์เบื้องหน้านี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อทุกกลุ่มคนในสังคม และมีผลตลอดแนวจากบน ลงล่าง จากซ้ายไปขวา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us