สำนักงานประกันภัยและแบงก์ชาติ ต่างเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่เหมือนกัน คือควบคุมดูแลให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงและยุติธรรมต่อประชาชน ธุรกิจประกันภัยเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งเหมือนแบงก์และบริษัทเงินทุน แต่ในการควบคุมของสำนักงานประกันภัยความไม่ชอบมาพากล ในการลงทุนของบริษัทประกันภัยบางแห่ง ที่ผ่านการตรวจสอบควบคุมดูแลของคนในสำนักงานประกันภัย ได้สร้างคำถามเกิดขึ้นว่า ความหละหลวมที่เกิดขึ้นนี้เป็นเจตนาหรือความหย่อนยานในประสิทธิภาพและคุณภาพของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันภัยกันหรืออย่างไร ? และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สมควรหรือยังที่สำนักงานประกันภัยจะถูกประเมินสถานภาพเสียใหม่!!
สำนักงานประกันภัย ความจริงว่าไปแล้วก็ออกจะเป็นหน่วยงานที่ลึกลับเอามาก ๆ สำหรับผู้คนโดยทั่ว ๆ ไป อย่างน้อยที่สุดสำหรับผู้คนที่ใช้บริการในธุรกิจประกันภัยจะมีแค่ไหนที่รู้ว่ากรณีความขัดแย้งในค่าสินไหมที่มีขึ้นกับบริษัทประกันภัยซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันภัยเป็นท้าวมาลีวราชหรือคนกลางที่คอย "เกี้ยะเซี้ย" ให้
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าบทบาทสำนักงานประกันภัยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศชาติไม่แตกต่างอะไรกับฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารชาติ
และคงจะมีผู้คนไม่มากนักที่พอจะรู้ว่าทุกวันนี้ สำนักงานประกันภัยซึ่งมีหน้าที่หลักอยู่ 2 ประการใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง-กำกับและตรวจสอบให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจอยู่ในกรอบของกฎหมายประกันภัย พ.ศ.2510 และสอง-ส่งเสริมและพัฒนาให้ธุรกิจประกันภัยเป็นที่รู้จักและนิยมใช้บริการจากประชาชนทั่วไปนั้น....เป็นหน่วยงานระดับ "กรม" ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์หาใช่หน่วยงานอิสระที่มีฐานะทางกฎหมายเฉพาะตัวเหมือนกับแบงก์ชาติแต่อย่างใดไม่
ความ "ลึกลับ" ในสถานภาพและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานแห่งนี้ ประกอบกับข่าวคราวที่หน่วยงานแห่งนี้เปิดเผยกับสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ พิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้วก็อาจจะระบุ ได้ว่ายังไม่เพียงพอต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจในองค์กรแก่ประชาชนระดับกว้างได้
ยิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้รายงานข่าวว่าสำนักงานประกันภัยกำลังตระเตรียมกำลังคน เพื่อส่งเข้าไปประจำสำนักงานประกันภัยระดับเขตที่อยู่ต่างจังหวัดซึ่งจะเริ่มเขตแรกจากจำนวน 12 เขต ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้โดยมีพื้นที่รับผิดชอบสามจังหวัด คือ อุบลราชธานี เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ส่วนเขตอื่น ๆ ที่เหลือจะทยอยเปิดในปีถัดไป
เหตุผลนัยว่า เพื่อให้สำนักงานประกันภัยระดับเขตเหล่านี้ทำหน้าที่แทนสำนักงานประกันภัยกรุงเทพฯ ในการควบคุมกำกับให้บริษัทประกันภัยที่มีสาขาอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ดำเนินธุรกิจไปตาม ตัวบทกฎหมายและสัญญาที่มีกับประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลและกลั่นกรอง งานจากสำนักงานประกันภัยในกรุงเทพฯ อีกทอดหนึ่ง
ดู ๆ ไปก็คล้าย ๆ กับสำนักงานแบงก์ชาติที่ตั้งสาขาระดับภาคไว้คอยกำกับควบคุมดูแลสาขาสถาบันการเงินในต่างจังหวัดอย่างไรอย่างนั้น
แนวความคิดการจัดตั้งสาขาสำนักงานประกันภัยระดับเขตตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่ว่านี้ความจริงมาจากเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยคนก่อนคือ โพธิ์ จรรย์โกมล ที่เสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ต้นสังกัด และเพิ่งจะออกดอกก่อรูปขึ้นในสมัยชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และชลอ เฟื่องอารมย์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯนี้เอง
ว่ากันตามหลักการแนวคิดและวิธีการจัดตั้งสาขาสำนักงานประกันภัยเป็นสิ่งที่ไม่ผิดในความพยายามของผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย ในอันที่จะบริหารงานการกำกับดูแลบริษัทประกันภัย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ
ปัญหามีอยู่เพียงว่าตัวสำนักงานประกันภัยเอง ในความเป็นจริงคุณภาพของเจ้าหน้าที่และระบบโครงสร้างมีความพร้อมเพียงไรต่อบทบาทภาระหน้าที่ที่ขยายตัวออกไปเช่นนี้ และโดยปฏิบัติที่แท้จริงบริษัทประกันภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันชีวิต (LIFE INSURANCE) การดำเนินธุรกิจเป็นไปในลักษณะกระจายอำนาจลงสู่สาขาอย่างแท้จริงเหมือนกับสถาบันการเงินอื่น ๆ หรือไม่?
ทั้ง ๆ ที่ในวงการผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยเองก็ยอมรับว่าอำนาจของสาขามีอยู่จำกัดมาก การออกกรมธรรม์ก็ดี การจ่ายสินไหมก็ดี หรือแม้แต่การกระจายเงินลงทุนก็ดี ทั้งหมดรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
สาขาโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นเพียงหน่วยขายและลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำวันเท่านั้น ซึ่งว่าไปแล้วบทบาทของสาขาเพียงแค่นี้ ไม่จำเป็นอะไรเลยที่สำนักงานประกันภัยต้องลงทุนตั้งหน่วยงานระดับเขตเพื่อดูแลสาขาบริษัทประกันภัยดังว่าให้สิ้นเปลืองงบประมาณของหลวงเลย
จริงอยู่แม้ว่าบริษัทประกันภัยรายใหญ่ ๆ บางบริษัท เช่น ไทยสมุทร หรือไทยประกัน มีการกระจายอำนาจให้สาขาดำเนินการออกกรมธรรม์ได้และจ่ายค่าสินไหมได้แต่ก็อยู่ในขอบเขตจำกัดมากเหลือเกิน กระนั้นก็ดีบทบาทแท้จริงของสาขาของบริษัทประกันภัยใหญ่ ๆ ที่ว่านี้ก็เป็นเพียงหน่วยขาย เท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจประกันภัยท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ลักษณะธุรกิจประกันภัยไม่ว่าจะเป็น NON-LIFE หรือ LIFE INSURANCE ก็คล้าย ๆ กับ ธุรกิจบริษัทเงินทุนและแบงก์ คือมีการหา FUNDING เข้ามา และนำ FUNDING ไปลงทุนในแหล่งลงทุนธุรกิจต่าง ๆ เพื่อหารายได้
พูดง่าย ๆ บริษัทประกันภัยทำธุรกิจเหมือนเป็นคนกลางเอาเงินของชาวบ้านมาหาผลประโยชน์
อย่างไรก็ดี ในเทคนิควิธีปฏิบัติการดำเนินธุรกิจประกันภัยก็มีความแตกต่าง จากธุรกิจเงินทุนและแบงก์อยู่ 4 ประการเป็นอย่างน้อย...คือ
หนึ่ง-แหล่งที่มาของเงินทุน (SOURCE OF FUNDS) ของบริษัทประกันภัยเกิดจากการขายในกรมธรรม์ชนิดต่าง ๆ โดยมีผลตอบแทนต่อผู้เอาประกันในรูปของการให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ ดังนั้นมองในแง่นี้ผู้เอาประกันก็คือผู้ฝากเงินเหมือนธุรกิจหาเงินฝากของบริษัทเงินทุนหรือแบงก์นั่นเอง โดยบริษัทเงินทุนออกตั๋ว P/N เพื่อกู้ยืมจากผู้ซื้อ P/N โดยบริษัทเงินทุนให้ผลตอบแทนในรูปดอบเบี้ย
สอง-เงื่อนเวลาการระดมเงินทุนจากประชาชนในรูปการขายกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิต มีผลระยะยาวมากกว่า 3 ปี เว้นแต่กรมธรรม์ประกันภัย NON-LIFE ซึ่งมีช่วงเอาประกันที่มีผลต่อการ คุ้มครองสั้นกว่ามากสูงสุดภายใน 1 ปี เงื่อนเวลานี้ต่างจากบริษัทเงินทุนที่ระดมทุนจากผู้ฝากเงินได้ในเวลาไม่เกิน 3 ปี
สาม- การใช้เงินทุนที่ระดมเข้ามาเพื่อการหาผลประโยชน์ พฤติกรรมการลงทุนของบริษัทประกันภัยก็เหมือนกับบริษัทเงินทุนและแบงก์ คือลงทุนไปในแหล่งธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงและ มั่นคง เช่น ตราสารทางการเงินทั้งระยะยาวหรือสั้น ให้กู้ยืมแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการค้าต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเฉพาะที่หน่วยงานควบคุมกำกับกำหนดให้
จุดต่างในประเด็นนี้อยู่ที่ขนาดและเงื่อนไขของการลงทุนของบริษัทประกันค่อนข้างจะจำกัดอยู่มากเมื่อเทียบกับบริษัทเงินทุนหรือแบงก์ (ดูตาราง 1 ประกอบ) เหตุผลสำคัญก็น่าจะอยู่ที่ ลักษณะการระดมทุนของบริษัทประกันภัยมีเงื่อนไขเวลาระยะยาวต่อผู้เอาประกัน การหาผลประโยชน์จากเงินทุนส่วนนี้จึงมุ่งความมั่นคงมากกว่าความสามารถในการทำกำไร
และประการสุดท้าย บริษัทประกันภัยโดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตมีจุดการบริหารที่สำคัญอยู่ที่ การรักษาระดับเงินสำรองจากเงินทุนที่ระดมมาจากประชาชนอย่างเข้มงวดตามกฎเกณฑ์คณิตศาสตร์ประกันภัย ขณะที่บริษัทเงินทุนหรือแบงก์อยู่ที่เงินกองทุนซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวแต่ยืดหยุ่นตามปริมาณการให้สินเชื่อ
ดังนั้น ว่ากันตามหลักการกว้าง ๆ แล้วธุรกิจประกันภัยกับบริษัทเงินทุนหรือแบงก์ก็จะคล้ายคลึงกันมากในแง่ลักษณะจุดมุ่งหมายของธุรกิจคือเป็นคนกลางรับบริหารเงินกองทุนของประชาชนให้มีผลตอบแทนและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
ด้วยเหตุนี้ บทบาทของหน่วยงานที่คอยควบคุมและกำกับให้ธุรกิจการเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความมั่นคงจึงมีความสำคัญมาก ๆ
ฐานะและระบบโครงสร้างของหน่วยงานอย่างแบงก์ชาติในการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างแบงก์หรือบริษัทเงินทุน คงไม่กระไรนักในแง่ของคุณภาพของเจ้าหน้าที่ซึ่งดูเหมือน CALIBER ของ เจ้าหน้าที่จะเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถ
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานประกันภัยให้ความเห็นว่า ฐานะและระบบโครงสร้างของแบงก์ชาติมีความเป็นอิสระในการบริหารงานกำกับและตรวจสอบธุรกิจการเงิน มากกว่าสำนักงานประกันภัยซึ่งฐานะและระบบโครงสร้างเป็นแบบหน่วยงานราชการ แม้แต่...
"การคัดเลือกบุคลากรและการจ่ายผลตอบแทน แบงก์ชาติกระทำได้ด้วยตนเองเพราะไม่ได้พึ่ง งบประมาณจากรัฐ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลและการฝึกอบรม พัฒนาความรู้ และความสามารถของบุคลากรในงานกำกับและตรวจสอบจึงกระทำได้คล่องตัวกว่า" แหล่งข่าวกล่าว
ความเห็นนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ในแบงก์ชาติได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการฝึก อบรมในความรู้งานด้านตรวจสอบสถาบันการเงิน เฉลี่ยปีละ 5-6 ครั้ง เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคนิคการบริหารธุรกิจการเงิน
เมื่อหันหน้ามามองฐานะและระบบโครงสร้างของสำนักงานประกันภัย โดยเปรียบเทียบกับแบงก์ชาติแล้ว ก็ให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจมาก ทั้ง ๆ ที่บทบาทและความสำคัญของหน่วยงานนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแบงก์ชาติเลย
แต่ก็เป็นที่พอจะรู้กันว่า ทุกวันนี้สำนักงานประกันภัยมีฐานะเป็น "กรม" ของกระทรวงพาณิชย์ระบบโครงสร้างการบริหารงานทุกส่วนเป็นแบบราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีฐานะเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์
ถ้าหากยอมรับกันว่า ระบบราชการไทยไม่มีความคล่องตัวในการริเริ่มพัฒนาระบบการปฏิบัติหน้าที่ ในเชิงเหตุและผลของสำนักงานประกันภัย ก็อยู่ในสภาพเดียวกันกับหน่วยงานราชการอื่นทั่วไปเหมือนกัน
ตรงนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล เอากันแค่งานพัฒนาบุคคลอย่างเดียวก็พอ !
เจ้าหน้าที่ทุกคนในสำนักงานฯ การบรรจุ การรับสมัคร การเลื่อนขั้นเงินเดือน สำนักงานประกันภัยไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเองโดยอิสระเหมือนแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องของก.พ.
เจ้าหน้าที่จำนวน 200 คนเศษ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ประมาณ 25% มีพื้นฐานความรู้ทางบัญชี (FINANCIAL AUDIT) สังกัดอยู่กับกองกำกับและตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ส่วนนี้เป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปกำกับและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยทั้ง NON-LIFE และ LIFE INSURANCE ประมาณ 75 แห่ง
แน่นอนว่าสัดส่วนกำลังเจ้าหน้าที่กับจำนวนบริษัทประกันภัยที่จะตรวจสอบยังไม่สมดุลกัน ทางออกจึงใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างเอา แหล่งข่าวในสำนักงานประกันฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "บริษัท ประกันภัยที่มีขนาดใหญ่และผลการดำเนินงานมั่นคงบางปีไม่ได้ไปตรวจเลยก็ได้ เพียงแต่ให้ส่งรายงานตาม AUDIT PROGRAME ที่สำนักงานกำหนดก็พอ"
ตามหลักการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินโดยทั่วไปแล้วมี 2 วิธีคือ หนึ่ง -การวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงาน และสอง -การออกตรวจสอบในภาคสนาม
แหล่งข่าวในแบงก์ชาติให้ความเห็นยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าการบรรลุเป้าหมายการกำกับและการตรวจสอบที่ให้ผลรัดกุมที่สุดต้องใช้ 2 วิธีพร้อมกันไป เพราะวิธีแต่ละอย่างมีจุดอ่อนในตัวของมันเอง จึงต้องประสานกัน
ยกตัวอย่างเวลาตรวจสอบบริษัทการเงิน จะเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานสภาพคล่องตามแบบรายงานประจำสัปดาห์และฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ตลอดจนงบดุลตามแบบรายงานประจำเดือนและรายไตรมาส
ในแง่ของการดำเนินงาน การตรวจสอบจากแบบรายงาน จะมุ่งวิเคราะห์อย่างละเอียดในข้อมูลการปล่อยสินเชื่อ และคุณภาพของลูกหนี้เป็นสำคัญ
แต่ปัญหามีเพียงว่า ข้อมูลที่ได้มานั้น ทำให้ผลการวิเคราะห์สอดคล้องกับฐานะการดำเนินงานที่แท้จริงหรือไม่ ?
จุดนี้เองที่การตรวจสอบจากสายงานด้านตรวจสอบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 คน ในฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงินของแบงก์ชาติ จะต้องลงไปตรวจในภาคสนามเพื่อให้เห็นของจริง !!
เจ้าหน้าที่ที่ออกไปตรวจสอบจะแบ่งออกเป็นทีม ทีมละ 5 คน พร้อมหัวหน้าทีมตรวจสอบดู หลักฐานกันตั้งแต่ หลักฐานการระดมทุนด้วยวิธีการออกตั๋ว P/N มีการออกซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ? จนกระทั่งถึงคุณภาพลูกหนี้แต่ละรายที่บริษัทปล่อยสินเชื่อไปว่าดีมากน้อยเพียงใด?
"ถ้าเราเห็นผิดสังเกต ก็จะสั่งการให้ผู้บริหารบริษัทตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญทันที" แหล่งข่าวเล่า ให้ฟัง
มีการยืนยันจากแหล่งข่าวในประเด็นนี้ว่า คุณภาพเจ้าหน้าที่ที่มีพื้นฐานความรู้ทางบัญชีอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อความสามารถในการตรวจสอบ เพราะธุรกิจเงินทุนมีความซับซ้อนในการบริหาร ผู้ตรวจสอบต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวธุรกิจเงินทุนด้วยจึงจะสามารถตรวจสอบได้มีประสิทธิผล
"เช่น การดูคุณภาพลูกหนี้ มีเทคนิคการดูอย่างไร จึงจะรู้ว่าคุณภาพลูกหนี้แต่ละรายดีหรือไม่ดีอย่างไร ? แหล่งข่าวยกตัวอย่างให้ฟัง
ตรงนี้เองคือเหตุผลที่หน่วยงานด้านตรวจสอบของแบงก์ชาติ มักมีการฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา เฉลี่ยปีละ 6 ครั้งเป็นอย่างน้อย
เมื่อหันกลับมาพิจารณาระบบการกำกับและตรวจสอบของสำนักงานประกันภัยจะเห็นความแตกต่างในศักยภาพได้พอชัดเจน (ดูตาราง II ประกอบ)
แหล่งข่าวในวงการประกันชีวิต เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ในสมัยโพธิ์ จรรย์โกมล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย การเข้ามาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มีไม่บ่อยนักอาจเป็นเพราะสำนักงานประกันภัยในสมัยนั้น ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบโดยวิธีวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานมากกว่าการตรวจสอบจากภาคสนามก็เป็นได้
เมื่อ "ผู้จัดการ"ได้สอบถามกลับไปยังโพธิ์ จรรย์โกมล ก็เป็นจริงเช่นนั้น โดยมีความเชื่อใน เหตุผลว่า "กรรมการของบริษัทประกันทุกคนต่างก็รักและปรารถนาให้บริษัทของตัวเจริญก้าวหน้า และมั่นคง คงไม่มีใครอาศัยช่องว่างนี้ซิกแซกเอาผลประโยชน์จากบริษัทมาเข้ากระเป๋าตัวเองด้วย วิธีการกระทำการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลเสียต่อฐานะของบริษัท"
แต่ข้อเท็จจริง ความเชื่อเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดมากสำหรับสำนักงานประกันภัยในสมัยนั้น เพราะปรากฏว่ามีบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่จำนวนหนึ่ง อาศัยการผ่อนปรนวิธีการตรวจสอบนี้ ซิกแซกเบียดบังเงินทุนจำนวนหนึ่งจากการปล่อยกู้เข้ากระเป๋า กรรมการบางคน โดยวิธีการตีราคาหลักทรัพย์ที่ดินสูงกว่าราคาประเมินเอามาก ๆ (ดูตาราง III ประกอบ)
ทั้ง ๆ ที่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (2522) ออกตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2510 มาตรา 22 ข้อ 9 (3) ได้ระบุไว้ชัดว่า
"การให้กู้ยืมโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องไม่ติดจำนองและจำนวนเงิน ให้กู้ยืมแต่ละรายต้องไม่เกิน 70% ของราคารอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประกันตามราคาประเมินของกฎหมายที่ดิน หรือไม่เกินราคาที่นายทะเบียนประกันชีวิตให้ความเห็นชอบแล้วแต่กรณี"
เผอิญนายทะเบียนประกันชีวิตที่ว่านี้คือผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยนั่นเองไม่ใช่ใครอื่น!
แล้วข้อเท็จจริงที่ "ผู้จัดการ" เอามาแฉให้เห็นในตาราง มันผ่านสายตาการตรวจสอบจากสำนักงานประกันภัยได้อย่างไร ??
ถ้ามองในแง่ดี เหตุผลมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ หนึ่ง-เป็นความเชื่อของผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยยุคตั้งแต่โพธิ์ จรรย์โกมลเรื่อยมาถึงปัจจุบันในสมัยของชลอ เฟื่องอารมย์ว่า การควบคุมดูแลให้บริษัทประกันฯ มีความมั่นคงแล้ว ต้องมุ่งเน้นความสำคัญในการตรวจสอบฐานะเงินสำรองของบริษัทมากกว่าลักษณะหรือพฤติกรรมการลงทุนของบริษัท
ทั้ง ๆ ที่ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยแต่ละท่าน ก็รู้อยู่เต็มอกว่าในประวัติศาสตร์ช่วงปี 2506 และ 2512 เคยมีบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง คือนครหลวงประกันภัย และบูรพาประกันชีวิต ต้องล้มทั้งยืนมาแล้วจากสาเหตุผู้บริหารนำเงินของประชาชนจากการซื้อใบกรมธรรม์มาใช้จ่ายลงทุนอย่างไม่ถูกหลักเกณฑ์
ยกตัวอย่างกรณีบริษัทบูรพาประกันชีวิต-พิศิษฐ์ สุขะวนิช อดีตกรรมการบริหารบริษัท ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า บริษัท บูรพาประกันชีวิต ถูกสำนักงานประกันภัย สั่งปิดกิจการเมื่อปี 2512 เนื่องจากไม่สามารถระดมเงินสำรองมาได้ครบตามกฎหมาย เหตุก็เนื่องมาจากผู้บริหารคือ นายวิกูล เอี่ยมสุรีย์ กรรมการผู้อำนวยการเอาเงินของประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์ของบริษัทไปลงทุน หนุนงานก่อสร้างขุดเจาะน้ำมันที่ อ.ฝาง และหนุนช่วยเหลือพวกนักการเมือง
เมื่อปี 2510 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันชีวิต เป็นครั้งแรก และกำหนดให้บริษัทประกันต้องดำรงเงินสำรองในสัดส่วนตามกรมธรรม์ที่ยังมีความผูกพันอยู่
"เวลานั้น บริษัทบูรพาฯมีผลการดำเนินงานดีมาก การขายกรมธรรม์ได้รับความนิยมจากประชาชนจึงมีเบี้ยรับจากกรมธรรม์เข้ามามาก" พิศิษฐ์เล่า
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การที่บริษัทมีเบี้ยรับจากกรมธรรม์เข้ามามาก ต้องมีภาระในการกันเงินสำรองในช่วงปีแรก ๆ ไว้สูง
"เช่น กรมธรรม์อายุ 10 ปี ทุนประกัน 100,000 บาท ช่วง 5 ปีแรก ต้องตั้งเงินสำรองไว้เลยไม่น้อยกว่า 60% หรือ 60,000 บาท หลัง 5 ปีแรกไปแล้ว สัดส่วนตั้งเงินสำรองจากกรมธรรม์นี้ก็จะค่อย ๆ ลดลงไป"
ทีนี้เมื่อบริษัท บูรพาฯมีเงินประกันเข้ามามาก ประกอบกับมีการนำเงินไปลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อดอกออกผล บริษัทจึงต้องมีภาระหาเงินสำรองมาตั้งไว้ตามเกณฑ์
เมื่อหามาไม่ทัน นายวิกูล ก็รู้แน่ชัดว่าบริษัทไปไม่รอดแน่ จึงนำสมุดเช็คบริษัทบินหนีไปฮ่องกง สำนักงานประกันภัยสมัยนั้นก็ไม่กล้าเข้าควบคุมบริษัทเพราะไม่รู้ว่าจะมีเจ้าหนี้ผู้เอาประกันอีกกี่รายกันแน่ที่จะมาขอเงินประกันคืนในภายหลัง ทั้ง ๆ ที่สถานะของบริษัทขณะนั้น สามารถคืนเงินเอาประกันให้เจ้าหนี้หรือผู้ถือกรมธรรม์ได้กรมธรรม์ละไม่เกิน 70% ของมูลค่าปัจจุบัน ณ เวลานั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนักงานประกันภัยจึงสั่งให้บริษัท บูรพาฯ หยุดดำเนินการปี 2510 และอีก 2 ปีต่อมาก็ถูกสั่งถอนใบอนุญาตปิดกิจการไป
ส่วนกรณีบริษัท นครหลวงประกันภัยก็เช่นกัน ผู้บริหารบริษัทนำเงินจากการเอาประกันของประชาชนไปลงทุนซื้อที่ดินเก็งกำไรในอินโดนีเซีย และลงทุนซื้อรถยนต์จี๊ปให้แผนกขายใช้ทำงานกันอย่างฟุ่มเฟือย
บริษัทนครหลวงประกันภัยแห่งนี้ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2492 โดยเถ้าแก่เป็นพ่อค้าคนจีนขายเศษเหล็กที่เซียงกง ชื่อนายกำธร (จำนามสกุลไม่ได้) ต่อมาขายกิจการให้กลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในช่วงต้นปี 2500 กลุ่มจอมพลสฤษดิ์ มีแบงก์เอเชียเป็นฐานธุรกิจอยู่อีกกิจการหนึ่ง โดยให้น้องชายต่างแม่ดูแลอยู่ชื่อ ทองดุลย์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีฐานะเป็นกรรมการแบงก์คนหนึ่ง
ความเกี่ยวดองระหว่างบริษัทนครหลวงประกันภัยกับแบงก์เอเชียขณะนั้นจึงแน่นแฟ้นมาก มีการดึงเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายธุรกิจซึ่งกันและกันเสมอ
เมื่อบริษัทนครหลวงประกันภัยขาดสภาพคล่อง เนื่องจากมีรายจ่ายดำเนินงานสูงกว่ารายรับจากเบี้ยประกัน ก็กู้ยืมเงินเอาจากแบงก์เอเชีย โดยเอาหลักทรัพย์พวกอาคารสำนักงานของบริษัทไปค้ำไว้ ว่ากันว่าด้านหนึ่งเพื่อช่วยแบงก์เอเชียผลัดบัญชีให้ฐานะดูแข็งแรงขึ้น เนื่องจากขณะนั้นแบงก์เอเชียเองก็กำลังประสบมรสุมซวดเซอยู่เหมือนกัน
ในที่สุดเพื่อความอยู่รอด แบงก์เอเชียก็เลยยึดทรัพย์สินอาคารสำนักงานของบริษัทนครหลวงประกันภัย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นปี 2506 ก่อนหน้ามีกฎหมายประกันภัย 4 ปี!
บริษัท นครหลวงประกันภัยก็ปิดฉากตนเอง นับตั้งแต่นั้นด้วยต้นเหตุเหมือนกับบริษัท บูรพาประกันชีวิตนั่นแหละ
สอง-ผู้บริหารสำนักงานประกันภัยล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงพาณิชย์มาตลอดความสำนึก หรือ MENTALITY จึงยึดติดกับการมองธุรกิจประกันเป็นเรื่องของการค้าขายมากกว่าธุรกิจการเงินที่นำเงินของประชาชนมาหาผลประโยชน์เหมือนบริษัทเงินทุนหรือแบงก์
ด้วยสำนึกเช่นนี้ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในการให้ความควบคุมดูแลบริษัทประกันมีความมั่นคงเหมือนอย่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือแบงก์ชาติ ควบคุมดูแลบริษัทเงินทุนและแบงก์จึงมีผลต่อแง่มุมปฏิบัติที่แทบจะเทียบกันไม่ได้
ผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ในประเด็นนี้ว่าอาจเป็นเพราะ ผู้บริหารสำนักงานประกันภัยวันหนึ่ง ๆ ต้องมานั่งแก้ปัญหาการเป็นคนกลางในการตัดสินการจ่ายค่า- สินไหมระหว่างผู้เอาประกันกับบริษัทประกัน หรือไม่ก็ต้องมานั่งพิจารณาดูความถูกต้องของข้อความ ในกรมธรรม์ที่บริษัทประกันขายให้ประชาชนว่าเอารัดเอาเปรียบผู้เอาประกันหรือไม่ ?
เลยไม่มีเวลามาคิดถึงเรื่องที่สำคัญด้านการควบคุมการลงทุน
ซึ่งลักษณะการบริหารงานแบบนี้ว่าไปแล้ว มันเป็นเรื่องของการควบคุมให้การทำธุรกิจค้าขายของบริษัทประกันอยู่ในกรอบของกฎหมายมากกว่าการมุ่งตรวจสอบควบคุมดูแลความถูกต้องในการประกอบธุรกิจเพื่อความมั่นคงของบริษัทประกันเอง เหมือนอย่างที่แบงก์ชาติกระทำต่อบริษัทเงินทุนและแบงก์พาณิชย์
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่อดีตผู้จัดการฝ่ายบัญชีบริษัทประกันชีวิตชื่อดังท่านหนึ่ง ได้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "พวกทีมตรวจสอบของสำนักงานประกันภัยเวลาออกมาตรวจสอบในบริษัท จะเน้นหนักมุ่งดูความถูกต้องในหลักฐานด้านการขายกรมธรรม์ ( POLICY AUDIT)มากกว่าจะมาดูว่าหลักฐานการลงทุนของบริษัทถูกต้องตามที่รายงานไปหรือเปล่า และอีกประการหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการระดับล่าง"
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานประกันภัยยอมรับว่า การตรวจสอบโดยส่งพวกข้าราชการระดับล่าง ซึ่งเป็นชั้นผู้น้อยลงไปตรวจนั้นเป็นไปได้ว่า ความหละหลวมอาจเกิดขึ้นได้เพราะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยมีรายได้จากเงินเดือนไม่มากนัก เมื่อถูกยื่นผลประโยชน์เล็กน้อยจากบริษัทประกันภัยบางแห่งก็อาจทำให้การตรวจสอบเป็นไปในลักษณะ "หลับตาข้างเดียว" ได้ และเงื่อนเวลาตรวจสอบมีจำกัดเพียงสัปดาห์เดียว สำหรับแต่ละบริษัทที่ไปตรวจ ประกอบกับความรู้ความเข้าใจในเทคนิคธุรกิจประกันยังไม่แน่นพอเนื่องจากขาดการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะตรวจดูเอกสารหลักฐานได้ครบถ้วน
และเนื่องจากสำนักงานประกันภัยมีฐานะเป็นหน่วยงานระดับ "กรม" ของกระทรวงพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญเหมือนกับผู้ว่าแบงก์ชาติ แต่กลับไม่มีความมั่นคงเพียงพอในหน้าที่ มีการสับเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยกันบ่อยมากอีกด้วย
ตั้งแต่สำนักงานประกันภัยได้เปลี่ยนฐานะจากกองมาเป็นสำนักงาน ฐานะเทียบเท่า "กรม" ตั้งแต่ปี 2510 เป็นเวลา 20 ปี ถึงทุกวันนี้ มีผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยแล้ว 6 คน ในจำนวนนี้ มีเพียงคนเดียว คือโพธิ์ จรรย์โกมล ที่อยู่ในตำแหน่งนานถึง 8 ปี นอกนั้นเฉลี่ยคนละ 2 ปีเท่านั้น
ทั้ง ๆ ที่งานควบคุมธุรกิจประกันภัยเป็นเรื่องสลับซับซ้อนที่ไม่ง่ายต่อการเข้าใจขนาดรู้ เล่ห์เหลี่ยมของผู้ประกอบการธุรกิจนี้ได้
แต่ว่ากันตามความจริงแล้ว ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยแต่ละคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็ไม่ใช่ลูกหม้อของสายงานนี้ ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานการค้าอื่น ๆ ในกระทรวงพาณิชย์มาก่อนทั้งนั้น
"ตัวผู้อำนวยการฯเองผมว่ามีความรู้กว้าง ๆ ในธุรกิจนี้เท่านั้น ด้านรายละเอียดกล้าพูดได้ว่ายังตามไม่ทันพวกนักธุรกิจประกันหรอก" อดีตผู้บริหารประกันชีวิตชื่อดังท่านหนึ่งประเมินศักยภาพของ ตัวผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยให้ "ผู้จัดการ" ฟัง (ดูตาราง IV ประกอบ)
ดังนั้น ยิ่งระบบราชการมีการสับเปลี่ยนหน้าที่ข้าราชการระดับอธิบดีกันบ่อยด้วยแล้วก็ยิ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และทำงานในหน้าที่นั้นได้อย่างต่อเนื่อง
และสิ่งนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานกำกับและตรวจสอบธุรกิจประกันภัยของสำนักงานประกันภัยไม่รัดกุมเพียงพอ
จนเกิดเหตุการณ์ให้บริษัทประกันภัยบางแห่งใช้ช่องโหว่อันนี้ ดำเนินการซิกแซกเอาเงินประกันของประชาชนมาหาประโยชน์ให้กับกรรมการบริษัทบางคน
ใคร ๆ ก็รู้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ตำแหน่งหน้าที่ระดับอธิบดีในกรมของระบบราชการไทย มันมีผลประโยชน์ไม่มากก็น้อยทั้งนั้นจากการแทรกตัวเข้ามาของผู้มีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจ
สำนักงานประกันภัยที่หลุดไม่พ้นจากการแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลนี้เช่นกัน !
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานประกันภัยก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าปัญหาการพิจารณาตัดสินการจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหายจากการเอาประกันตัวผู้อำนวยการสำนักงานฯ มักจะถูกแทรกแซงขอร้องกันดื้อ ๆ จากผู้เสียหายที่มีอิทธิพลอยู่บ่อยครั้ง
กรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย เมื่อ 3 ปีก่อนนี้เป็นตัวอย่าง ผู้เสียหายเอาประกันเพื่อผลคุ้มครองโรงงานผลิตถุงเท้า ปรากฏว่าวันหนึ่งเพลิงไหม้เผาทรัพย์สินเสียหาย หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นอุบัติเหตุ ทางบริษัท อาคเนย์ฯประเมินความเสียหายจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไม่เกิน 8 ล้านบาทแต่ทางผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกร้องสูงถึง 20 ล้านบาท ก็มีการวิ่งเต้นไปยังผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย เพื่อขอให้บริษัท อาคเนย์ฯจ่ายค่าเสียหายให้ตามที่เรียกร้อง
เรื่องอย่างนี้ว่ากันว่า ในที่สุดบริษัทอาคเนย์ฯ ก็ต้องยอมจ่ายไปเท่าไรไม่แน่ชัด!
แต่มากกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประเมินไว้ก็แล้วกัน
เหตุผลสำคัญ นัยว่าไม่ใช่เพราะบริษัทอาคเนย์ฯจำนนต่อหลักฐาน แต่เป็นเพราะไม่อยากเสียเวลาทำมาหากิน ด้วยต้องไปเผชิญหน้าเอากับผู้มีอิทธิพล และตัวผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยให้หมองใจกันเปล่า ๆ
ที่กล่าวถึงการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลภายนอกต่อตัวผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย ไม่เพียงเกิดขึ้นในปัญหา CLAIMS ADJUSTMENT เท่านั้น
ในเรื่องการใช้เงินสำรองมาสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของบริษัท ประกันชีวิตบางรายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เช่นกัน ที่แสดงให้เห็นว่าบางกรณีตัวผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยเองก็ผิดพลาดเอามาก ๆ
แหล่งข่าวในสำนักงานประกันภัยรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าในสมัยโพธิ์ จรรย์โกมล เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานฯ มีบริษัทประกันชีวิตเอไอเอ มาขออนุญาตโพธ์เอาเงินสำรองของบริษัทจำนวน 300 ล้านบาท มาลงทุนสร้างอาคารหลังใหม่ AIA TOWER ที่ถนนสุรวงศ์ ทั้ง ๆ ที่ตามกฎเกณฑ์แล้วการกระทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องนำเงินจากผลกำไรไปลงทุนสร้างไม่ใช่จากเงินสำรอง
แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด โพธิ์ จรรย์โกมล ไปอนุมัติตามที่บริษัท เอไอเอขอมา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ไม่ถูกต้อง
"ผลปรากฏว่าในปีนั้น เอไอเอนำเงินจากผลกำไร (SURPLUS ) ประมาณ 100 กว่าล้านบาทออกนอกประเทศกลับไปยังบริษัทแม่" แหล่งข่าวกล่าวพร้อมกับยืนยันว่าเหตุนี้เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยขณะนั้น
ปัญหาการถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในกรณี CLAIMS ADJUSTMENT ก็ดี การวิ่งเต้นของบริษัทประกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในกรณีการลงทุนให้กู้ยืมโดยมีหลักทรัพย์พวกอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวค้ำประกันก็ดี หรือแม้แต่การใช้เงินสำรองมาลงทุนสร้างสินทรัพย์ถาวรก็ดี
ความไม่ถูกต้องเหล่านี้ ว่ากันแล้วเป็นจุดสำคัญที่สำนักงานประกันภัยต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดตรงไปตรงมาให้รัดกุม
เพราะเงินบริษัทประกันชีวิตต้องรับผิดชอบเงินเอาประกันของประชาชน ปีหนึ่ง ๆ 6,000-7,000 ล้านบาท (ดูตาราง V )
เงินเอาประกันของประชาชน 7,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินฝากของประชาชนในแบงก์พาณิชย์ที่มีอยู่ประมาณ 550,000 ล้านบาท อาจจะมีสัดส่วนน้อยนิดประมาณ 2%
แต่เมื่อเทียบกับเงินฝากของประชาชนในธุรกิจเงินทุนที่มีอยู่ประมาณเกือบ 80,000 ล้านบาท สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 9%
อันนี้แสดงว่า โดยความสำคัญ หรือศักยภาพในการระดมทุนของธุรกิจประกันเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ แล้ว ยังมีบทบาทน้อยอยู่
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า โดยเนื้อแท้ของธุรกิจประกันจะไม่มีศักยภาพที่สูงเพียงพอต่อการระดมทุนที่มีบทบาทเทียบกับธุรกิจเงินทุนอื่น ๆ เลยก็หาไม่ เพราะ หนึ่ง-ตัวสินค้า หรือกรมธรรม์ของธุรกิจประกันบางชนิดเป็นกรมธรรม์สะสมทรัพย์ สามารถให้ผลตอบแทนในรูปของเงินคืน หรือดอกเบี้ยแก่ผู้เอาประกันในอัตราที่สูงไม่น้อยกว่าแก่ผู้ฝากเงินไว้กับบริษัทเงินทุนเลย ยกตัวอย่างกรมธรรม์สะสมทรัพย์ของบริษัทเอไอเอที่มีทุนประกัน 250,000 บาท อายุการซื้อกรมธรรม์ 20 ปี การจ่ายเบี้ยประกันประมาณ 2,000 บาท หรือปีละ 24,000 ทุก 3 ปีกรมธรรม์ชนิดนี้จะจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกัน 10% ของทุนประกันหรือ 25,000 บาท
"ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนเมื่อเทียบกับเงินชำระค่าเบี้ย 72,000 บาทที่ผู้เอาประกันส่งแก่บริษัท 3 ปี เป็น 34% หรือปีละ 11.3% และเมื่อลองเอาผลตอบแทนอัตรานี้เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก P/N 3 ปี ของบริษัทเงินทุนที่ได้ 9.5% ต่อปีแล้ว จะเห็นว่าดอกเบี้ยจากเงินประกันสูงกว่า" ตัวแทนขายประกัน เอไอเอเล่าให้ฟัง
สอง-ตัวกรมธรรม์มีผลการคุ้มครองแก่ผู้ซื้อกรมธรรม์ในด้านสุขภาพอนามัยอีกหลายประการ ในขณะที่ธุรกิจเงินทุนอื่นไม่มีผลการคุ้มครองนี้แต่อย่างใด
และสาม-ค่าเบี้ยประกันที่ส่งไปแล้วสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้จำนวน 7,000 บาท/ปี ขณะที่ดอกเบี้ยจากเงินฝากกับธุรกิจเงินทุนและแบงก์ รายได้ที่ได้จากดอกเบี้ยของผู้ฝากต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของรายได้จากส่วนนี้ในลักษณะ PROGRESSIVE TAX
ผลประโยชน์ 3 ประการนี้บ่งชี้ว่าโดยธุรกิจเนื้อแท้แล้วธุรกิจประกันฯ มีความสามารถในการระดมเงินออมของประชาชนได้ดีกว่าธุรกิจการเงินประเภทอื่น ๆ ทั้งสิ้น
แต่ที่มันไม่เป็นเช่นนั้นในบ้านเรา ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักประกันที่ทดแทนสวัสดิการสังคมที่รัฐไม่สามารถจัดหาให้ประชาชนในประเทศได้ ไม่ใช่เพราะตัวธุรกิจมันไม่ดี แต่เป็นเพราะธุรกิจประกันมีอุปสรรคหลายประการที่ประสบอยู่คือ
หนึ่ง-จำนวนประชากรผู้อยู่ในข่ายสมควรทำประกันส่วนใหญ่มีค่านิยมที่ไม่ดีต่อการทำประกันชีวิตด้วยเห็นว่า "การทำประกันชีวิตเป็นการแช่งตัวเองให้ตายก่อนวัยอันสมควร" ประเด็นนี้เป็นค่านิยมที่มีรากเหง้าจากพื้นฐานการศึกษาของประชากรยังไม่ดีพอเนื่องจากระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่พัฒนาความรู้ความเข้าใจในธุรกิจประกันได้ดีพอที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนได้ สอง-บริษัทประกันฯเอง ยังขาดจิตสำนึกที่ก้าวหน้าในการจัดระบบ และกลไกต่าง ๆ ในองค์กรเพื่อผลิตตัวแทน หรือนายหน้าขายประกันที่มีความรู้ความเข้าใจและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพขายประกัน ทำให้เกิดปัญหาตัวแทนหลอกลวงประชาชนผู้เอาประกันอยู่เนือง ๆ
สิ่งนี้ส่งผลกระทบกลับคืนไปยังบริษัทเองในรูปการค้างชำระเบี้ยของประชาชนผู้เอาประกัน ทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินงานในกรมธรรม์บางประเภท เช่น กรมธรรม์กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป้าหมายตลาดคือ ผู้เอาประกันส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย ตัวแทนขายก็หวังจะสร้างรายได้จากการขายโดยยึดปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยวัดจากสุขภาพของผู้เอาประกันและความสามารถในการชำระเบี้ย ซึ่งผลการดำเนินธุรกิจในกลุ่มเป้าหมายนี้ เป็นที่รู้กันในแวดวงผู้บริหารธุรกิจประกันภัยว่า ส่วนใหญ่บริษัทที่ทุ่มการโปรโมทในกรมธรรม์นี้จะขาดทุนกันทั้งนั้น
ตรงนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย
นายหน้าขายประกันคือนายโสภณ เสวกวัชรี ได้ทำสัญญาขายกรมธรรม์เพิ่มพูนทรัพย์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประเภทอุตสาหกรรมให้แก่นายมนตรี สิทวรกุล รวม 2 ฉบับ ฉบับแรก ทุนประกัน 50,600 บาท อายุ 20 ปี ชำระเบี้ยเป็นรายเดือน ๆ ละ 300 บาท ฉบับที่สอง ทุนประกัน 33,748 บาท อายุ 20 ปี ชำระเบี้ยประกันเป็นรายเดือน ๆ ละ 200 บาท
กรมธรรม์สองฉบับเริ่ม 20 พ.ค. 2528 และ 18 ส.ค. 2529 ต่อมานายมนตรีได้เสียชีวิตลงด้วย โรคเส้นโลหิตแตกในสมองเมื่อ ก.ย. 2530 หรือหลังจากทำประกันไปได้เพียง 13 เดือน ซึ่งบริษัทประกันต้องจ่ายสินไหมทดแทน 147,600 บาท
แต่บริษัทฯไม่ยอมจ่าย โดยให้เหตุผลว่าผู้เอาประกันไม่แจ้งข้อเท็จจริงเรื่องโรคหืดของตัวเองที่เคยเจ็บป่วยมาก่อนทำประกันเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นในข้อเท็จจริงคือ นายมนตรี ผู้เอาประกันเคยเข้าโรงพยาบาลลานนา รักษาโรคหืดมาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อปี 2520, 2522 และ 2523
แต่ที่ไม่แจ้งให้บริษัททราบเพราะ นายหน้าขายประกันของบริษัทที่อยู่สาขาลำพูนเป็นผู้กรอกสัญญาเอาประกันให้นายมนตรีเอง โดยมิได้มีการสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพหรือตรวจสุขภาพจากแพทย์ก่อนแต่อย่างใด
"นายมนตรีเพียงแต่เซ็นชื่อ และจ่ายค่าเบี้ยตามสัญญาในแบบฟอร์มเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
"ผู้จัดการ" ทราบว่าเรื่องบริษัท ฯไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมกรณีนี้ ผู้รับประโยชน์จากการประกันคือ นางวรรณี ภรรยาของนายมนตรี ได้ร้องเรียนมาที่ ชลอ เฟื่องอารมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยแล้ว
แม้ว่าผู้จัดการสาขาลำพูน ของบริษัทไทยสมุทร คือนายประพันธ์ บุญมาลัย จะขอ "เกียะเซี้ย" กับนางวรรณีจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าสินไหมก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้
สาม-แม้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 จะเน้นความสำคัญในธุรกิจประกันในฐานะเป็นแหล่งการระดมเงินออมที่สำคัญเทียบกับสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ก็ตาม ในภาคปฏิบัติแล้วมาตรการทางการคลัง เช่น ภาษี ที่รัฐให้สิทธิเป็นค่าลดหย่อนได้ 7,000 บาท จริง ๆ แล้วไม่มากพอที่จะดึงดูดผู้อยู่ในข่ายเอาประกันได้
แม้แต่สิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้จากการประกันแก่นายหน้า ซี่งเป็นหัวใจสำคัญในการขยายธุรกิจประกันแก่ประชาชนก็ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
"พวกนายหน้าเมื่อขายประกันได้จำนวนหนึ่งที่พอจะคุ้มค่าเหนื่อย หลังจากหักภาษีแล้วก็จะ หยุดขาย หรือไม่ก็หาทางหลบเลี่ยงโดยวิธีตั้งตัวแทนผีขึ้นมา การทำแบบนี้ทำให้ธุรกิจประกันมัน บิดเบี้ยว" ผู้เชี่ยวชาญประกันอธิบายให้ฟัง
และสุดท้าย-เป็นเรื่องของอุปสรรคด้านโครงสร้างรายได้ของประชากรในบ้านเราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อุปสรรคนี้ทำให้ฐานของชนชั้นกลางที่มีความสามารถในการออมเพื่อการประกันภัยดูแคบลง และสิ่งนี้เองก็เป็นปรากฎการณ์อันหนึ่งที่บ่งชี้ถึงปริมาณการเอาประกันของประชาชน ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่เจริญแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวกันตามความจริงแล้ว อุปสรรคข้อนี้ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับ 3 ข้อข้างต้น เพราะถ้าหากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในความสำคัญของธุรกิจประกันภัย และรัฐให้ความส่งเสริมอย่างจริงจังด้านภาษีแก่ประชาชนผู้เอาประกันและนายหน้าขายประกันแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าเงินออมที่มีอยู่กับสถาบันการเงินประเภทอื่นจะไหลเข้ามาในระบบธุรกิจประกันภัยได้มากพอสมควร
และจุดนี้ ก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ชัดเจนถึงความสำคัญของธุรกิจประกัน ที่จะเป็นแหล่งระดมเงินออมได้ไม่แพ้บริษัทเงินทุนและแบงก์เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯและญี่ปุ่น
"ซึ่งที่นั่นธุรกิจประกันใหญ่กว่า และสำคัญกว่าแบงก์มากมายหลายเท่านัก" ผู้รู้กล่าวให้ฟัง
เหตุผลการเติบโตของธุรกิจประกันในประเทศดังกล่าวมี 2 ประการ คือ หนึ่ง-ประชาชนที่นั่นมีจิตสำนึกต่อการทำประกันชีวิตว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แม้ว่าสังคมของทั้งสองประเทศจะมี สวัสดิการจากรัฐอยู่แล้วก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะระบบการศึกษาได้สร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจนี้แก่ประชาชนมาเป็นเวลานาน
และสอง-รายได้ของประชากรมีสูงเพียงพอที่จะนำมาลงทุนในธุรกิจประกันในรูปการจ่ายค่าเบี้ยประกัน โดยไม่เดือดร้อนต่อมาตรฐานการครองชีพ
ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐบาลไม่ได้เข้ามาแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวใด ๆ เลยในธุรกิจนี้
ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของบริษัทประกันกับผู้เอาประกันตกลงกันเองทั้งสิ้น ภายใต้กฎหมายประกันที่รัฐวางแนวเป็นกติกาไว้กว้าง ๆ
พูดง่าย ๆ ธุรกิจนี้ เขาปล่อยให้เป็นไปตาม FREE MARKET จริง ๆ
ไม่เหมือนบ้านเรา ซึ่งรัฐคือสำนักงานประกันภัย มีบทบาทเข้ามาแทรกแซงโดยการควบคุม เข้มงวดกว่ามาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการออกกรมธรรม์ การจ่ายค่าสินไหม และการรักษาฐานะเงินสำรอง ซึ่งการควบคุมในสิ่งเหล่านี้กฎหมายประกันปี 2510 เขียนไว้ละเอียดและพูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว กฎหมายประกันที่เขียนไว้อย่างรัดกุมเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของบริษัทประกันและผู้เอาประกันเอง ซึ่งที่จริงแล้วเพิ่งจะอยู่ในขั้น "เริ่มตั้งไข่" เท่านั้น
แต่ความหละหลวมของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันภัยที่เคยเกิดขึ้นอยู่เสมอมาเป็นอันตรายยิ่ง ต่อตัวธุรกิจประกัน ที่อาจจะสั่นคลอนลงได้จนมีผลต่อภาพพจน์ของธุรกิจในสายตาประชาชน
ปัญหาความไม่ถูกต้องที่แสดงถึงความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และ MENTALITY ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานประกันภัยนี้ ในประวัติศาสตร์...
...เมื่อ 17 ปีก่อน คณะกรรมการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่มีบุญชนะ อัตถากร เป็นประธาน เคยหยิบเรื่องปรับปรุงสถานภาพและอำนาจหน้าที่สำนักงานประกันภัยมาพิจารณากัน
นัยว่าเป้าประสงค์ต้องการพิจารณาแยกเอาธุรกิจประกันชีวิต-ที่เกี่ยวข้องกับการออมของประชาชนที่สำนักงานประกันภัยควบคุมดูแล มาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ควบคุมดูแลแทน เนื่องจากเห็นว่าความพร้อมในงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือและคุณภาพของเจ้าหน้าที่มีมากกว่า
โดยปล่อยให้สำนักงานประกันภัยดูแลเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างเดียวเพราะไม่เกี่ยวข้องกับเงินออมของประชาชน
แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็จบลงดื้อ ๆ พร้อม ๆ กับการปฏิวัติตัวเองของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรสมัยนั้น โดยไม่มีมติอันใดในเรื่องนี้
ว่ากันว่า เหตุที่ไม่มีมติออกมานั้นก็เป็นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับคลังสมัยนั้น คือบุญชนะ กับ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล สามารถตกลงกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการแย่งอำนาจกัน
ความจริง เรื่องราวการแยกธุรกิจประกันชีวิตให้ขึ้นต่อกระทรวงการคลังก่อนหน้านั้น เคยมีการเสนอมาแล้วเมื่อปลายปี 2500
ในสมัยนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดสั่งให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการร่างกฎหมายประกันภัย
ตัวร่างกฎหมายฯเขียนไว้ชัดว่า ให้ธุรกิจประกันชีวิตอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง
แต่น่าเสียดายที่ต้นร่างกฎหมายประกันฉบับนี้แท้งไปก่อนเข้าสภา เหตุผลเพราะ
หนึ่ง-ในขณะนั้นบรรดารัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลหน้าฉากของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนใหญ่เป็นกรรมการในบริษัทประกันภัยกันทั้งนั้น จึงหวาดกลัวว่าถ้าเห็นด้วยกับต้นร่างกฎหมายนี้ จะทำให้ตนเองต้องได้รับผลกระทบกระเทือนด้านผลประโยชน์ไปด้วย
เหตุผลสำคัญก็เพราะต้นร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่มาตราหนึ่งที่เขียนไว้ชัดว่า "ในกรณีที่บริษัทประกันฯ กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้บริษัทมีความเสียหาย หรือผิดหลักผิดเกณฑ์ ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัททุกคนจะต้องรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย" พิศิษฐ์ สุขะวนิช เล่าให้ฟัง
ด้วยเหตุนี้ บรรดารัฐมนตรีทั้งหลายจึงต้องคัดค้านร่างกฎหมายประกันนี้
และสอง-มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ เปลี่ยนคณะรัฐบาล ทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะนำ ร่างกฎหมายนี้เข้าสภาต้องยุติลง
ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว- - ต้นร่างกฎหมายนี้ - - จอมพลสฤษดิ์ได้เห็นชอบด้วย และผ่านกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว
แต่ก็ต้องแท้งไปก่อนจนได้ !
จนเมื่อปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็ให้มีการรื้อฟื้นกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยในขณะนั้นให้นายบุญชนะ อัตถากร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการ เป็นผู้ควบคุมดูแลการร่างกฎหมายนี้ ซึ่งนายบุญชนะได้ให้นายชูเกียรติ ประมูลผลหัวหน้ากองประกันภัย กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้ร่างกฎหมายนี้ใหม่
เผอิญขณะนั้น นายบุญชนะ อัตถากร นอกเหนือจากเป็นรัฐมนตรีพัฒนาการแล้วยังเป็นกรรมการอยู่ที่ไทยเศรษฐกิจประกันภัยอยู่ด้วย และนายชูเกียรติ ประมูลผลเองก็เป็นข้าราชการคนเดียวในกระทรวงพาณิชย์ที่มีความรู้เรื่องธุรกิจประกันภัยดีที่สุด
เพราะเคยได้รับทุนก.พ.ไปศึกษาปริญญาโท MBA สาขาธุรกิจประกันภัยที่มหาวิทยาลัย เพนซิลวาเนียมาก่อน
การร่างกฎหมายฉบับนี้มาเสร็จเอาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2510 ผลคือต้นร่างกฎหมายประกันภัยฉบับนี้ยังคงสภาพเดิมตาม พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ ปี 2472 ที่ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการประกันภัยด้วย นอกเหนือจากธุรกิจการพาณิชย์
ว่ากันว่าเหตุผลที่เป็นฉากบังหน้าในการร่างกฎหมายนี้ให้ขัดแย้งกับฉบับที่ ดร.ป๋วย ร่างก็เพราะบรรดากรรมการที่ร่างกฎหมายเห็นว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นเรื่องการให้บริการไม่ใช่ธุรกิจการเงิน จึงเข้าข่ายในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า และตัวรัฐมนตรีเองหลายคนเป็นกรรมการบริษัทประกันภัยกันทั้งนั้น แม้แต่จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีคู่บารมีจอมพลถนอมก็ยังเป็นประธานกรรมการบริษัทนครหลวงประกันภัยอยู่เลย
ก็แล้วอย่างนี้พวกกรรมการที่ร่างกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำจะมีหน้าไหนที่กล้าไปร่างกฎหมายให้ขัดกับผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับ "มาเฟีย" เหล่านั้นได้!
หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ต้องแคร์ว่าหน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์จะมี CALIBER เพียงพอหรือไม่ต่อการควบคุมธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ
เรื่องอย่างนี้ว่าไปแล้วก็เหมือนกับการร่างกฎหมายแบบหลับตาข้างเดียว เพราะรู้กันอยู่ว่าธุรกิจประกันภัย จุดหัวใจในการทำรายได้มันอยู่ที่การเอาเงินของประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์แลกกับการคุ้มครองมาลงทุน
และเมื่อกระทรวงพาณิชย์เอง โดยวัฒนธรรมในองค์กรของหน่วยงานนี้ไม่ว่าจะเป็นกรมกองไหน ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาต้อง DEAL กับพ่อค้านักธุรกิจอยู่ทุกวันอยู่แล้วดังนั้นลักษณะการควบคุมดูแลจึงเป็นแบบอะลุ้มอล่วยกับพ่อค้านักธุรกิจมาโดยตลอด
ว่ากันว่าผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ พวกผู้บริหารและบรรดาเถ้าแก่บริษัทประกันจะคอยอำนวยความสะดวกให้?
ประเด็นนี้ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยทุกคนตั้งแต่ชูเกียรติ ประมูลผล ถึงชลอ เฟื่องอารมย์ คงให้คำตอบได้ ว่าจริงหรือไม่?
แหล่งข่าวในวงการประกันภัยให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่า จริง ๆ แล้วการควบคุมธุรกิจประกันของสำนักงานประกันภัยจะมุ่งดูที่การจ่ายค่าสินไหมของบริษัทแก่ผู้เอาประกัน กับเรื่องการขายกรมธรรม์ว่าเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่
เหตุผลเพราะ หนึ่ง-การมุ่งควบคุมด้านจ่ายค่าสินไหม มันเป็นกลวิธีทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่า สำนักงานประกันภัยดำเนินงานอย่างจริงจังในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันอย่าง แท้จริง
"เมื่อประชาชนผู้เอาประกันรู้ว่า สำนักงานประกันภัยเอาจริงเรื่องการจ่ายค่าสินไหมกับบริษัทประกันก็แห่กันมาร้องทุกข์ งานของสำนักงานประกันภัยก็จะมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ปัญหาประจำวันของสำนักงานที่จะต้องสะสางส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเหล่านี้เกือบทั้งนั้น" แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานประกันภัยกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
และสิ่งนี้เองก็คือเหตุผลหนึ่งที่สำนักงานประกันภัยอ้างกับผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ ในการ ขออนุมัติโครงการขยายสาขาระดับเขตของสำนักงานไปยังต่างจังหวัด
และสอง-การมุ่งควบคุมการขายกรมธรรม์ มันเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ของบริษัทประกันมากนักเมื่อเทียบกับการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจของผู้ทำธุรกิจประกันภัย ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เหมือนกับที่โพธิ์ จรรย์โกมล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาให้ความสำคัญในการควบคุมดูแลตรงนี้มาก เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
ซึ่งว่าไปแล้วประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฎิบัติของหน่วยงานทุกแห่ง ในกระทรวงพาณิชย์ ที่มี MENTALITY หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการค้าขายมากกว่าสิ่งอื่น
ทั้ง ๆ ที่การควบคุมธุรกิจประกันภัย ที่มีฐานะเป็นสถาบันการเงินเหมือนกับแบงก์ และบริษัท-เงินทุนที่กระทรวงการคลังดูแลอยู่มันควรมุ่งไปที่การควบคุมอย่างใกล้ชิดในเรื่องการลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับบริษัทมากกว่า
แต่ในเมื่อวัฒนธรรมและประเพณีปฏิบัติของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องที่ว่านี้ มันไม่เป็นเช่นนั้น
เรื่องก็มาอยู่ว่า ก็แล้วทำไม ไม่ให้กระทรวงการคลัง ซึ่งมีแบงก์ชาติอยู่ในมือเป็นผู้ดูแลแทนเสียล่ะ?
|