Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2531
ธานินทร์อุตสาหกรรม ฤาจะพ้นพงหนาม             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวนิช
 


   
search resources

ธานินทร์
อุดม วิริยะสิรินันท์
Electric




หลังจากทำท่าว่าจะต้องกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย เพราะปัญหาทั้งภายนอกและภายในที่รุมเร้ากันเข้ามา วันนี้ ธานินทร์ได้รับการเยียวยาจนลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหนึ่ง ดูกันอย่างเผิน ๆ ความยุ่งยากทั้งปวงได้ผ่านพ้นไปเหมือฟ้าใสหลังฝนซา แต่พินิจกันให้ถ่องแท้แล้ว หนทางข้างหน้านับจากนี้ไปยังเป็นข้อกังขาอยู่ว่าจะราบรื่นเพียงใด

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการของธนาคารกสิกรไทย เคยพูดถึงธานินทร์เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมานี้ว่า เป็นลูกหนี้ที่ดีมากเพราะคุยกันรู้เรื่อง

"เขาแสดงให้เห็นว่าไม่ตั้งใจจะโกงธนาคารเลย และมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาร่วมกับเจ้าหนี้ โดยยินยอมแม้กระทั่งขายทรัพย์สินที่เจ้าหนี้เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน" เป็นเหตุผลสองประการที่นำไปสู่ข้อสรุปข้างต้นของหม่อมอุ๋ย

แม้ว่าการลงนามในข้อตกลงยืดอายุและปรับโครงสร้างหนี้ของธานินทร์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ระหว่างกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้กับประธานกรรมการของธานินทร์คือ อุดม วิทยะสิรินันท์ พี่ใหญ่แห่งตระกูล ซึ่งผลคือตำแหน่งกรรมการของบริษัทจะยังคงมีอุดมนั่งเป็นประธานอยู่ และมีอนันต์ ผู้น้องกับอุษา ภรรยาของอนันต์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่กรรมการอีกห้าคนนั้น เป็นคนที่ทางเจ้าหนี้ส่งมาเพื่อดูแลการบริหารงาน

นอกจากนั้น มือบริหารที่จะนั่งทำงานวันต่อวันก็เป็นคนที่กลุ่มเจ้าหนี้ เป็นผู้เลือกสรรเอง คือ ดร. ชวลิต ทิสยากร ดุษฎีบัณฑิตทางวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส A&M อดีตผู้จัดการโรงงานของบริษัทปัญจพลไฟเบอร์ ผู้ผันตัวเองมานั่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของเครือธานินทร์

ดู ๆ ไปก็เหมือนกับว่า ธานินทร์ที่เคยเป็นสมบัติของตระกูลวิทยะสิรินันท์แต่เพียงผู้เดียว ต้องหลุดไปอยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคนภายนอก

คงจะเป็นความเจ็บปวดไม่น้อยของสมาชิกแห่ง "วิทยะสิรินันท์" ที่ต้องถูกกันออกไปจากกิจการของตระกูลอันสืบทอดมานานเกือบสี่สิบปี แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งและยังหวังว่าจะกลับมาอยู่ในอ้อมอกของตนอีกครั้งก็ตาม

แต่ก็ยังดีกว่าที่จะให้ธานินทร์ต้องล้มหายตายจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีกต่อไป

ถึงวันนี้ ธานินทร์ที่เคยทำท่าว่าจะต้องล้มคะมำลงไปอย่างหมดท่า ก็ได้รับการประคบประหงมฟื้นคืนขึ้นมาอยู่ในระยะตั้งไข่อีกครั้งหนึ่ง และพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้ง

ปัญหาอยู่ที่ว่า จะแข็งแรงพอที่จะเดินไปได้ไกลและตลอดรอดฝั่งแค่ไหน บนเส้นทางที่ต้องเจอกับแรงกระแทกกระทั้นเบียดเสียดจากเพื่อนร่วมงานอีกมากหน้าหลายตา??

ธานินทร์ถือกำเนิดและเติบใหญ่ขึ้นมาตามลำดับจนกลายเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างที่เป็นของคนไทยล้วน ๆ เพียงหนึ่งเดียวในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ด้วยความอุตสาหะทุ่มเทใจกายปลุกปั้นกิจการของอุดม วิทยะสิรินันท์ พี่ใหญ่ของตระกูล

"คุณอุดมเก่งมากในเรื่องวิทยุ ทั้งที่ไม่เคยร่ำเรียนมาทางนี้ แกจบจากอัสสัมชัญพาณิชย์ อาศัยความเอาจริง ศึกษาเองจากหนังสือภาษาอังกฤษ แล้วลองทำดู" คนใกล้ชิดอุดมเล่าให้ฟัง

จุดเริ่มต้นของธานินทร์คือ "นภาวิทยุ" ซึ่งเป็นร้านขายวิทยุร้านเล็ก ตั้งอยู่บริเวณสามแยกเอส. เอ.บี ที่อุดมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2489 ถัดจากนั้นสามปีให้หลังก็ย้ายมาอยู่ตรงข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ในชื่อใหม่ว่า "ธานินทร์วิทยุ" ด้วยพนักงานเริ่มแรกเพียงเจ็ดคนบวกกับความตั้งใจแน่วแน่ ร้านขายวิทยุเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ได้เจริญก้าวหน้าจนขยับขยายกิจการขึ้นไปเป็นผู้ประกอบวิทยุออกจำหน่ายเสียเอง ภายใต้ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เมื่อปี 2499 ซึ่งก็ขายดิบขายดีจนต้องเปลี่ยนยี่ห้อใหม่มาเป็น "ธานินทร์" เพื่อหนีการลอกเลียนแบบ

ปี 2505 ธานินทร์ก้าวกระโดดครั้งใหญ่เมื่ออุดมและน้อง ๆ คือ อรรณพ อนันต์ และอเนก ระดมทุนแปรสภาพกิจการเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ "ธานินทร์อุตสาหกรรม" ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก สามล้านบาท พร้อมกับซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานขึ้นที่ซอยอุดมสุข บางนา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทจนถึงปัจจุบันนี้ การประกาศตัวว่าเป็นสินค้า "เมดอินไทยแลนด์" ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าไทย เป็นวิธีการที่ได้ผลทำให้วิทยุทรานซิสเตอร์ของธานินทร์ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน วิทยุเริ่มกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในฐานะสื่อที่จะรับรู้ความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองและความบันเทิง

ในตอนนั้นวิทยุที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราเป็นวิทยุหลอดที่มีรูปร่างเทอะทะใหญ่โตและมีราคาแพง เพราะต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบลาวฟุ้งท์ เทเลฟุงเก้น กรุนดิก หรือ ยี.อี. ล้วนแต่เป็นวิทยุที่จะพบเห็นได้เฉพาะในเมืองกรุงเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่เกินฐานะกว่าที่ชาวชนบทจะซื้อหามาใช้ได้

ธานินทร์อาศัยความได้เปรียบทางด้านราคาที่ถูกกว่า เพราะผลิตได้เองในประเทศ มาเป็นจุดแข็งของคนในการขยายตลาด และใช้ความเหนือกว่าทางด้านคุณภาพมาเป็นสิ่งสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ในวิทยุทรานซิสเตอร์

"วิทยุที่ IMPORT เข้ามาช่วงนั้นมีข้อเสียตรงที่เวลารับคลื่น เอเอ็มแล้ว ไม่ค่อยชัด ธานินทร์แก้ปัญหาตรงนี้ได้ รับเอเอ็มได้ชัดแจ๋ว สมัยก่อนก็เป็นคลื่นเอเอ็มทั้งนั้น ธานินทร์ก็เลยเหนือกว่าคนอื่น" นักเล่นวิทยุรุ่นเก่ารายหนึ่งเล่าให้ฟัง

นอกเหนือจากราคาที่ถูกกว่า รับฟังได้ชัดเจนกว่าแล้ว ไม้เด็ดอีกอันหนึ่งของธานินทร์คือ การบุกเข้าไปถึงตัวลูกค้า โดยการบรรทุกวิทยุใส่รถตระเวนไปขายตามงานวัดในต่างจังหวัด "คุณอนันต์เป็นเจ้าของไอเดียนี้ แกตระเวนไปกับรถ เดินสายไปทั่วประเทศ เอาวิทยุไปเปิดให้ฟังถึงที่ เป็นการแนะนำธานินทร์ไปในตัว คนไหนอยากจะซื้อแต่เงินไม่พอจะซื้อเงินผ่อนก็ยังได้" แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผย

ปัจจุบัน ธานินทร์ยังใช้วิธีขายแบบนี้อยู่ แต่ทำกันเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น โดยมีรถอยู่ 4 คัน เป็นโชว์รูมและหน่วยขายเคลื่อนที่ไปในตัว มีลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วกรุง แน่นอนว่า ต้องเป็นการขายในระบบเงินผ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการทดสอบตลาดไปพร้อมกันด้วย

ความเติบใหญ่ของธานินทร์ดูได้จากการขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวาง ขอบข่ายของการผลิตจากที่ผลิตเพียงแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ธรรมดาก็เพิ่ม ทีวีขาวดำ ทีวีสี พัดลม หม้อหุงข้าง ฯลฯ จนมี สินค้าเกือบครบวงจร มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้นอีกสี่แห่งคือ ธานินทร์อิเล็กโทรนิคส์ที่เชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 ด้วยทุนจดทะเบียนห้าล้านบาท ทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนลที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อทำการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก มีทุนจดทะเบียนห้าล้านบาทเช่นเดียวกัน อีกสองบริษัทเกิดขึ้นในปี 2523 ด้วยทุนยี่สิบล้านบาทเท่ากันคือ ธานินทร์คอนเดนเซอร์และธานินทร์การไฟฟ้า

ธานินทร์อุตสาหกรรมซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแม่เองก็ได้มีการเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ จากทุนสามล้านบาทในตอนแรกเพิ่มเป็นยี่สิบล้านบาทในปี 2517 และเป็นสี่สิบล้านบาทในปี 2527

ปี 2526 นับเป็นปีสุดท้ายแห่งความรุ่งเรืองของธานินทร์ก่อนที่จะต้องซวนเซ เพราะถูกรุมกระหน่ำทั้งจากปัญหาภายในและภายนอก ในปีนั้นยอดขายของธานินทร์สูงถึง 800 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสามของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

ปัญหาของธานินทร์ที่เกิดเป็นข่าวคราวให้ได้รับรู้เมื่อปลายปี 2530 นั้น เป็นผลมาจากการจัดการ การบริหารภายในที่สั่งสมกันมาในช่วงหนึ่ง ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมภายนอกก็ยังไม่แปรปรวนมากเกินไป จนเกิดเป็นแรงกดดันต่อความอยู่รอดของกิจการ วิธีการหรือระบบที่เคยใช้กันมาแต่แรกเริ่มอาจจะยังไม่แสดงผล ที่ส่อให้เห็นถึงข้ออ่อนในตัวของมันเองได้ชัดเจนนัก

ถ้ากิจการยังมีกำไร ของยังขายได้ภายในบริษัทจะทำงานกันอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครไปให้ความสนใจนัก

มาตรการจำกัดสินเชื่อไม่ให้ขยายตัวเกิน 18% ของแบงก์ชาติและการประกาศลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในปี 2517 ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2527-2528 สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กในบ้านเราอย่างรุนแรง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพ ความแข็งแกร่งของการบริหารในแต่ละกิจการว่าจะสามารถปรับตัว ประคับประคองกิจการให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้หรือไม่

ธานินทร์ ผ่านพ้นช่วงนี้มาด้วยอาการอ่อนระโหยโรยราแทบจะทรงตัวยืนอยู่ไม่ได้ จนกระทั่งต้องส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากภายนอก

"ผู้จัดการ" เคยพูดถึงเนื้อแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับธานินทร์อย่างละเอียดมาครั้งหนึ่งแล้วในฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางกลุ่มเจ้าหนี้และทางธานินทร์กำลังหาทางที่จะ จัดการกับปัญหาอยู่

หนี้สินทั้งหมดที่ธานินทร์มีอยู่คือ 630 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ประกอบไปด้วย ธนาคารแหลมทอง กสิกรไทย ศรีนคร ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และธนาคารเชสแมนฮัตตัน

ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้รายเล็กที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 10 ล้านบาท คือ ธนาคารกรุงเทพ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ทรัสต์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยาและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ

ความที่เป็นบริษัทของคนไทยที่ยืนหยัดในสโลแกนนิยมไทยมาโดยตลอด ทำให้ธานินทร์ และกลุ่มเจ้าหนี้คิดว่าทางการน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือไม่ให้กิจการของคนไทยเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องล้มหายตายจากไป ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ก็เลยทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ปล่อยเงินกู้แก่ธานินทร์ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวเงื่อนไขผ่อนปรน (SOFT LOAN) 472 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% เพื่อลดภาระหนี้ และอีก 50 ล้านบาทในอัตรา ดอกเบี้ย 7% เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน

"คิดว่าแบงก์ชาติคงให้ความช่วยเหลือเพราะเป็นบริษัทคนไทย และมีคนงานเกือบสองพันคน" ประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์เคยแสดงความคาดหวังที่จะเห็นทางการยื่นมือเข้ามาช่วย ซึ่งจะทำให้ทางเจ้าหนี้ได้เงินคืนไปเร็ว ๆ โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงมาก

แต่ถึงแม้จะถูกดักคอไว้ล่วงหน้าว่ากับโรงสี โรงน้ำตาลยังช่วยเหลือได้ ทำไมกับอุตสาหกรรมของคนไทยที่สร้างงานให้กับคนเป็นจำนวนมาก จะปล่อยให้ล้มลงไปได้เชียวหรือ แบงก์ชาติก็ยังปฏิเสธที่จะให้ SOFT LOAN 420 ล้านบาทตามคำขอ โดยอ้างว่าไม่มีระเบียบอนุญาตให้ทำได้

ธานินทร์ก็เลยได้ไปแค่ 100 ล้าน สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนผ่านทางธนาคารเจ้าหนี้ ทิ้งปัญหาหนี้ก้อนโตให้จัดการกันเอง

เดือนมีนาคม 2530 การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ในระดับหนึ่ง เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้จับมือทำสัญญากันว่าจะให้เวลากับธานินทร์อีกหกเดือนเพื่อดูผลการดำเนินงานของบริษัทว่าจะเป็นอย่างไร ในช่วงเวลาหกเดือนนี้จะไม่มีการฟ้องร้องเรียกหนี้คืนจากธานินทร์เป็นอันขาด แถมยังจะให้เงินช่วยเหลืออีกประมาณ ห้าสิบล้านบาท

"ทางแบงก์คงกลัวว่าจะมีใครแอบไปฟ้องเรียกหนี้เข้ากระเป๋าตัวเองเพียงคนเดียว เลยต้องทำสัญญากันท่ากันเอาไว้ก่อน" แหล่งข่าวในบริษัทธานินทร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ช่วงเวลาแห่งการดูใจกันผ่านพ้นไปด้วยดี ธานินทร์ยอมตามคำเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ทุกอย่าง มีการนำทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการออกขาย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ คือที่ดินสองผืนที่สมุทรปราการ การแปลงสภาพหนี้บางส่วนเป็นทุน รวมทั้งยินยอมให้เจ้าหนี้ส่งคนเข้ามาควบคุมดูแลทางด้านการเงิน

ครบหกเดือนยอดหนี้สินจากเดิม 630 ล้านบาทก็ลดลงเหลือเพียง 360 ล้านบาทเท่านั้น หนี้ที่ลดลงไป 270 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ได้มากจากการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ "ความจริงก็ทยอยขายมาเกือบปีแล้ว ก่อนที่จะเป็นข่าวออกมาว่าธานินทร์มีปัญหา เพราะเป็นความต้องการของทางแบงก์ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่คนในตระกูลวิทยะสิรินันท์ ซื้อเอาไว้หลายแห่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการขายเครื่องจักรและทรัพย์สินของบริษัทในเครือที่ปิดกิจการเช่นธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล ธานินทร์อิเล็คโทรนิคส์รวมทั้งบางส่วนของกำไรจากการดำเนินงานในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา" แหล่งข่าวที่เป็นผู้บริษัทระดับสูง ของธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้แห่งหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ที่จริงแล้วทางกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ต้องการแปลงหนี้สินส่วนหนึ่งร้อยล้านบาทให้เป็นทุน เพื่อตัดยอดหนี้ให้ลดลง แต่ความรู้สึกเป็นเจ้าของในกิจการที่ยืนยาวมาเกือบสามสิบปี ทำให้อุดมและอนันต์ไม่ต้องการให้คนนอกตระกูลเข้ามามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในธานินทร์ ทางออกก็เลยเป็นไปในรูปของการขายทรัพย์สินข้างต้น "ตัวเลขทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีเป็น 140 ล้านบาทและ 190 ล้านบาท ตามลำดับนั้น เป็นทั้งการเพิ่มทุนจริง ๆ และการปรับตัวเลขทางบัญชี เพราะที่ผ่านมาระบบบัญชีของธานินทร์เรียกได้ว่ามั่วมาก ผู้ถือหุ้นตอนนี้คือคุณอุดม คุณอนันต์ และคุณอุษา ทางแบงก์ไม่ได้เข้าไปด้วย " แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

แม้ว่าหุ้นทั้งหมดยังเป็นของวิทยะสิรินันท์ แต่ก็ต้องนำไปจำนองกับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน อำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ในมือเจ้าหนี้

แผนการฟื้นฟูฐานะของกิจการในระยะยาวถูกกำหนดขึ้นและมีการเซ็นสัญญากันไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 ตามแผนการนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด เครือบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้คือ ธานินทร์อุตสาหกรรม ธานินทร์การไฟฟ้าและอุดมชัยวิทยุ ซึ่งทำหน้าที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของธานินทร์ พร้อมทั้งปรับโครงสร้างใหม่เป็นห้าฝ่ายคือ ฝ่ายการเงิน การตลาด การผลิต การส่งออก และฝ่ายวิจัยและพัฒนา

ส่วนกรรมการของบริษัทนั้น นอกจากตัวแทนของกลุ่มเจ้าหนี้หกคนแล้ว คงเหลือคนของ "วิทยะสิรินันท์" เพียงสามคนเท่านั้นคือ อุดมที่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่ และอนันต์ กับอุษา ส่วนอเนกและคุณหญิงวรรณีนั้นได้ขายหุ้นของตนให้กับอุดมและอนันต์ แลกกับหุ้นใน ธานินทร์ คอนเดนเซอร์

เป็นการก้าวออกไปเป็นคนนอกไม่เกี่ยวข้องกับธานินทร์อีกต่อไป เพราะเห็นว่าต่อแต่นี้ไป ธานินทร์ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของตนจากธนาคารที่ให้ความสำคัญกับการหารายได้เพื่อชำระหนี้มากกว่า การปรับปรุงและขยายกิจการ

ตามแผนการฟื้นฟูนั้นมีกำหนดระยะเวลาห้าปี กลุ่มเจ้าหนี้จะไม่ฟ้องร้องเรียกหนี้คืนภายในห้าปีนี้ และจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 100 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เงิน 100 ล้านบาทนี้เป็นการลงขันของเจ้าหนี้รายใหญ่ที่มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท คือธนาคารแหลมทอง 27 ล้านบาท เชสแมนฮัตตัน 19 ล้านบาท ศรีนคร 13 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 18 ล้านบาท กสิกรไทย 17 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีก 6 ล้านบาท

ส่วนหนี้สินเดิม 360 ล้านบาทนั้น ตามสัญญาจะต้องมีการชำระคืนทุก ๆ งวดหกเดือน งวดละ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านบาทจะสูงกว่านี้ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผลการประกอบการในแต่ละงวด

ถ้าจะว่าไปแล้วกรณีของธานินทร์นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามร่วมมือร่วมใจกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อความอยู่รอดของกิจการ เพียงชั่วระยะเวลาปีเศษ ปัญหาทุกอย่างก็ได้รับการสะสางจนลงตัว ดูเหมือนว่าธานินทร์ในวันนี้ภายใต้การบริหารของมืออาชีพพร้อมที่จะเข้าสู่สนามประลองยุทธ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของผู้บุกเบิกแห่งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นคนไทยเจ้าถิ่น มีหลาย ๆ คนที่เชื่อกันอย่างนี้

ถึงแม้ว่าอาจจะเร็วเกินไปที่จะพูดถึงอนาคตของธานินทร์ แต่ก็มีแง่มุมบางประการที่พอจะทำให้มองเห็นภาพกว้าง ๆ ของวันเวลาที่จะมาถึงได้

การลงเอยด้วยดีของปัญหาธานินทร์ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของธนาคารเจ้าหนี้ที่สามารถทำให้ธานินทร์ยอมรับเงื่อนไขของตนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้ามาบังคับ เป็นการสร้างหลักประกันการชำระหนี้คืนที่ช่างง่ายดายเหลือเกิน

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสู้รบปรบมือกับบรรดาลูกหนี้ ของตนจนถึงขั้นต้องเป็นคดีความกันถึงศาล แม้กระนั้นปัญหาก็ยังยืดเยื้ออย่างไม่รู้ว่าจะได้หนี้คืนมา เมื่อไร กรณีของมาบุญครอง เสถียรภาพและไทยเสรีห้องเย็นเป็นตัวอย่างที่รับรู้กันอยู่ จนบัดนี้ก็ยังไม่ รู้ว่าเรื่องจะจบกันอย่างไร?

ธานินทร์เองคงจะรู้ตัวว่าตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะไปต่อรองกับทางธนาคารเจ้าหนี้ได้มากนัก เพราะต้องการเงินมาซื้อวัตถุดิบ เพื่อทำการผลิตหารายได้เลี้ยงตัวเองในเฉพาะหน้าก่อน จึงต้องโอนอ่อนผ่อนตามเจ้าหนี้ ทำให้ธนาคารเห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ยอมให้เงินช่วยเหลือ

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทางธนาคารมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือทางธานินทร์แค่ไหน เพียงแค่ขอให้ได้เงินในส่วนของตนคืนก็พอแล้ว หรือว่าจะให้ความช่วยเหลือจนธานินทร์สามารถพัฒนาตัวเองให้แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้???

เพราะแผนการฟื้นฟูกิจการธานินทร์ของกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้นั้น แม้จะทำให้ธานินทร์สามารถดำเนินงานต่อไปได้ แก่ก็เป็นไปเพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้คืนให้กับทางธนาคารเป็นสำคัญ กำไรจากการดำเนินงานในแต่ละงวดการประกอบการก็ตกเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ว่าจะแบ่งไปชำระหนี้หรือกันไว้ขยายงานของบริษัทมากน้อยแต่ไหนโดยผ่านทางตัวแทนที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในธานินทร์

ท่าทีของธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้มีส่วนกำหนดอนาคตของธานินทร์อย่างปฏิเสธไม่ได้

ตามสัญญาที่เซ็นกันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถ้าธานินทร์ชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดคืองวดละไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท เมื่อครบห้าปี หนี้สินทั้งหมดจะเหลือไม่ถึงสองร้อยล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย จัดอยู่ในประเภทลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหา

เงื่อนไขที่จะทำให้ธานินทร์มีเงินเหลืออย่างน้อยยี่สิบล้านบาททุก ๆ หกเดือน เพื่อใช้คืนเจ้าหนี้ก็คือ ต้องมียอดขายตกเดือนละประมาณ 50 ล้านบาท สินค้าของธานินทร์มี MARGIN ประมาณ 8% ถ้าเป้าการขายที่ตั้งเอาไว้เป็นจริง ในรอบหกเดือนธานินทร์จะมีกำไรราว 24 ล้านบาท ส่งคืนให้แบงก์ 20 ล้านบาทไปแล้ว ในปีหนึ่ง ๆ ธานินทร์จะมีกำไรเหลืออยู่เพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น

เงินแค่นี้คงจะเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงกิจการให้คงอยู่ไปชั่วระยะหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอแน่นอนสำหรับการขยายกิจการหรือลงทุนใหม่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่ล้วนแต่มีสายป่านยาวกว่าได้อย่างแน่นอน

"ช่วงห้าปีต่อจากนี้ เราคงทำอะไรไม่ได้มากกว่าการประคับประคองตัวหาเงินมาใช้หนี้แบงก์ให้หมดไปเสียก่อน เขาคงจะดูว่าการขยายงานใหม่ ๆ อาจจะกระทบกระเทือนถึงแผนชำระหนี้ ตอนนี้โทรทัศน์สีและขาวดำเราขายดีมาก เพราะเศรษฐกิจกำลังดี เราทำไม่ทันขาย แต่จะเพิ่มกำลังการผลิตก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ เงินหนึ่งร้อยล้านบาทที่ทางแบงก์ให้มาไม่พอหรอกครับ ถ้าเป็นอย่างนี้อีกไม่นานเราก็คงต้องเสียตลาดให้กับสินค้าญี่ปุ่นแน่" แหล่งข่าวในธานินทร์เปิดเผยถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของธานินทร์ในขณะนี้

แน่นอนว่าเป็นสิทธิและความจำเป็นของธนาคารพาณิชย์ในการเรียกหนี้คืน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของตนด้วย แต่ถ้าจะคำนึงถึงเรื่องนี้แต่เพียงอย่างเดียว โดยละเลยต่อความแข็งแกร่งใน วันข้างหน้าของธานินทร์แล้วก็ดูจะเป็นการไร้น้ำใจไปสักหน่อย และเป็นการสวนทางกับสำนึกของความเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมความเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมไทยอย่างที่มักจะกล่าวอ้างกันอยู่เสมอมา

สำหรับ "วิทยะสิรินันท์" แล้ว ในวันนี้จำต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงที่บทบาทของตระกูลในธานินทร์ยุคใหม่ต้องสะดุดหยุดลงเป็นการชั่วคราว แม้จะยังคงเป็นหุ้นส่วนใหญ่และมีอุดม อนันต์ และอุษา เป็นกรรมการอยู่ แต่อำนาจในการบริหารนั้น ตกอยู่ในมือของคนที่เจ้าหนี้เป็นผู้เลือกสรรเข้ามา การตัดสินใจใด ๆ ในระดับนโยบายก็จำต้องโอนอ่อนตามความต้องการของกรรมการที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ แต่นั่นก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อความคงอยู่ของกิจการที่ปั้นมากับมือ

ก็แค่ห้าปีเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว ธานินทร์ก็จะกลับมาเป็นสมบัติของตระกูลอีกครั้งหนึ่ง ถึงตอนนั้นแล้ว บรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ใน "วิทยะสิรินันท์" จะรับช่วงต่อไปได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับข้อสรุปของบทเรียนแห่งความผิดพลาดและปรับเปลี่ยนได้มากน้อยเพียงใด และจะซึมซับ ถ่ายทอดเอาประสบการณ์ของการบริหารแบบมืออาชีพ ในช่วงที่ธานินทร์ยังอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหนี้ได้มากที่สุดหรือไม่

ที่สำคัญที่สุด ธานินทร์ในอีกห้าปีข้างหน้าที่ปราศจากการประคบประหงมจากกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้แล้ว จะอยู่ในสภาพเช่นไรในท่ามกลางวงล้อมของคู่แข่งระดับยักษ์จากค่ายญี่ปุ่น

ตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรานั้นมิพักต้องพูดถึงในอนาคต แม้ทุกวันนี้การแข่งขันก็อยู่ ในขั้นที่เรียกว่าดุเดือดเข้มข้นด้วยกลยุทธ์ที่แต่ละค่ายงัดกันออกมาใช้เพื่อครอบครองส่วนแบ่งการตลาดกันให้ได้มากที่สุด นอกจากกลุ่มห้าเสือจากค่ายญี่ปุ่นคือเนชั่นแนล มิตซูบิชิ โตชิบา ซันโยและฮิตาชิ ที่ยึดครองตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยอยู่โดยตรงแล้ว ยังมีสามยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ คือโกลด์สตาร์, ซัมซุง และแดวู ที่ขอเข้ามามีส่วนด้วย แต่ละค่ายพรั่งพร้อมด้วยสินค้าที่ทันสมัยทั้งประสิทธิภาพและรูปแบบ กลยุทธ์การตลาดและเงินทุน นอกเหนือจากการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ในสายตาของเอเยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายแล้ว ธานินทร์ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่งเหล่านี้ได้เลย

"อย่าไปพูดถึงว่าจะขยายตลาดไปได้มากแค่ไหนเลย ธานินทร์จะรักษาตลาดของตัวเองเอาไว้ได้หรือไม่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่" เอเยนต์รายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

เปรียบเทียบกันในด้านคุณภาพแล้ว สินค้าของธานินทร์ไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ทั้งขาวดำและสี แต่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว การแข่งขันกันทางด้านเทคโนโลยีว่าใครจะล้ำหน้ากว่าใครเป็นจุดที่เชือดเฉือนกันอยู่ไม่เบา

ธานินทร์ตั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนาสินค้าขึ้นมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ในการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังหาผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบไม่ได้ "เราอยากได้คนที่จบปริญญาโททางด้านอิเล็กทรอนิกส์และสามารถทำวิจัยได้ด้วย แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถจ้างคนเก่า ๆ ได้เพราะเงินเดือนแพงกว่าที่เราจะสู้ไหว" แหล่งข่าวในธานินทร์เปิดเผยเพียงแค่เงินที่จะจ้างคนมาทำงานด้านนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับธานินทร์ แล้วการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ธานินทร์จะทำได้ในขอบเขตแค่ไหนกัน??

งานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นงานลงทุนในระยะยาวที่ต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถเปรียบเทียบกับสินค้าจากญี่ปุ่นแล้ว เห็นกันชัด ๆ ว่าธานินทร์แทบไม่มีอะไรจะไปสู้เขาได้ เพราะญี่ปุ่นมีตลาดอยู่ทั่วโลก ปริมาณทางการค้ามีจำนวนมากมายมหาศาลเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายทางด้านนี้ได้อย่างสบาย สินค้าภายใต้ยี่ห้อของญี่ปุ่น หรือเกาหลีได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ ในขณะที่ธานินทร์ต้องพึ่งตัวเองมาตลอด

นี่คือข้อเสียเปรียบประการที่หนึ่ง

ในด้านต้นทุนการผลิตแล้ว ถึงแม้จะเป็นสินค้า "เมดอินไทยแลนด์" แต่ธานินทร์ก็ไม่ได้มีราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่น ส่วนประกอบส่วนใหญ่ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับประกอบวิทยุธานินทร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 35% ชิ้นส่วนสำหรับโทรทัศน์ขาวดำนำเข้า 50% และ 80% สำหรับโทรทัศน์สี ถ้ามองในแง่วิธีการผลิตแล้ว ธานินทร์ยังล้าหลังอยู่มากเพราะยังคงใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ และขนาดการผลิตยังเล็กมากทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ข้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธานินทร์ต้องพ่ายแพ้ในตลาดต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่โทรทัศน์ขาวดำของธานินทร์เคยขายดีมากในประเทศอังกฤษและยุโรป ในช่วงปี 2520-2524 แต่พอเกาหลีใต้และไต้หวันส่งสินค้าของตนเข้าแข่งขันด้วย ธานินทร์ก็ต้องถอยกลับมา เพราะไม่สามารถสู้ในเรื่องราคาได้ เนื่องจากทั้งสองประเทศใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน สามารถผลิตได้ในขนาดใหญ่ครั้งละเป็นแสน ๆ เครื่องในขณะที่ธานินทร์ยังผลิตได้เพียงระดับแค่พันเครื่องเท่านั้น ต้นทุนในการผลิตจึงต่างกันอย่างลิบลับ

ความเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต สำหรับการแข่งขันภายในประเทศจะเป็นปัญหาใหม่ของธานินทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะขณะนี้สินค้าที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเนชั่นแนล ฮิตาชิ ซันโย มิตซูบิชิและอีกหลาย ๆ ยี่ห้อกำลังขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยในด้านการผลิตชิ้นส่วนและประกอบสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกเมื่อโครงการเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยขนาดของการผลิตที่ใหญ่โตและวิธีการผลิตที่ทันสมัย จะทำให้สินค้าพวกนี้มีต้นทุนที่ถูกกว่าสินค้าของธานินทร์อย่างแน่นอน

เรื่องราคาจึงเป็นข้อเสียเปรียบประการที่สองเมื่อบวกกับปัญหาด้านเทคโนโลยีแล้วเป็นเรื่องน่าคิดว่าธานินทร์จะแหวกวงล้อมอันแน่นหนาของคู่ต่อสู้ออกไปได้อย่างไร??

"เราเชื่อว่า ระหว่างสองขาที่ยืนจังก้าอยู่ของยักษ์ใหญ่ ยังมีที่ว่างที่บริษัทเล็ก ๆ จะยืนอยู่ได้" เป็นความเชื่อที่ธานินทร์คิดว่าจะทำให้ตัวเองยืนอยู่ได้ในท่ามกลางสงครามการตลาดที่รุนแรง โดยการแทรกตัวหาช่องว่างทางตลาดที่คิดว่าจะพอมีอยู่

จุดเด่นอันหนึ่งที่ทำให้ธานินทร์เติบใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาคือ ความเป็นนักฉกฉวยโอกาสที่ดี ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ หันไปผลิตสเตอริโอหรือโทรทัศน์สีกันแล้ว ธานินทร์ยังคงเล่นอยู่กับวิทยุทรานซิสเตอร์และโทรทัศน์ขาวดำโดยมีตลาดหลักอยู่ในต่างจังหวัดที่คู่แข่งยังบุกไปไม่ถึง ธานินทร์เชื่อว่าวิธีนี้ยังคงได้ผลอยู่

"โทรทัศน์ขาวดำของเราขายดีมากในตอนนี้ ขายดีมาก พอออกจากโรงงานก็ขนขึ้นรถส่งไปให้ลูกค้าเลย" แหล่งข่าวกล่าว ธานินทร์มองว่า โทรทัศน์ขาวดำยังคงขายได้อยู่ด้วยเหตุผลว่า "ไฟฟ้าเมืองไทยเวลาจ่ายออกไปตามบ้านนอกมีกำลังไฟฟ้าจำกัด ในครัวเรือนที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง ถ้าใช้ทีวีสี กำลังไฟจะไม่พอ ความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีวีขาวดำจึงยังคงมีอยู่ อีกอย่างหนึ่งทีวีขาวดำเวลาเสีย ซ่อมง่ายและถูกกว่า ทีวีสี" และสำหรับวิทยุทรานซิสเตอร์ของธานินทร์จุดขายอยู่ที่ประสิทธิภาพในการรับฟัง "ธานินทร์เป็นสินค้าที่เหมาะกับเมืองไทยมากกว่าสินค้าญี่ปุ่นที่ทำขายไปทั่วโลก เราส่งคนไปตามจุดอับต่าง ๆ เพื่อทดสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องรับอยู่ตลอดเวลา ตอนเกิดเหตุการณ์หนึ่งเมษายน วิทยุในกรุงเทพฯ ไม่สามารถรับฟังการกระจายเสียของฝ่ายรัฐบาลจากโคราชได้ มีเพียงวิทยุธานินทร์เท่านั้นที่รับได้" จุดนี้ทำให้ธานินทร์เชื่อว่าตัวเองจะสู้กับสินค้าญี่ปุ่นได้

คำถามก็คือ เหตุผลนี้จะยังคงเป็นจริงอยู่ต่อไปหรือไม่ในอนาคตข้างหน้า เมื่อความก้าวหน้าของการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้นมากทุกวัน จะทำให้ปัญหาเรื่องกำลังไฟฟ้าตกไป และประสิทธิภาพในการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ จะทำให้ความสามารถในการรับฟังของวิทยุแต่ละยี่ห้อไม่แตกต่างกันเลย

นอกจากนี้แล้ว บรรดาสินค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนทำการผลิตในไทยคงจะไม่นิ่งเฉย ปล่อยให้ธานินทร์เพียงผู้เดียวออกไปหากินในตลาดต่างจังหวัด เพราะเมื่อลงทุนกันขนาดใหญ่แล้ว ก็ต้องขายให้ได้มากที่สุด ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดทุกรูปแบบที่จะทำให้เหตุผลทางด้านเทคนิคไม่มีน้ำหนักต่อการ ตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอีกต่อไป

นโยบายนิยมไทยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธานินทร์คิดว่าจะนำมาใช้ในการแข่งขันกับสินค้าจากญี่ปุ่น โดยใช้การเป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยมาเป็นจุดขาย แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมาก็คงจะเห็นกันอยู่แล้วว่า วิธีการนี้ไม่ได้ผล เพราะนับวันความเป็นชาตินิยมในโลกธุรกิจมีแต่จะหมดความหมายลงไปเรื่อย ๆ การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับความพอใจในรูปแบบ คุณภาพและราคาของสินค้ามากกว่าจะคำนึงว่าสินค้านั้นทำโดยคนไทยหรือญี่ปุ่น ถ้าธานินทร์ยังยึดติดอยู่ในเรื่องนี้ก็ไม่พ้นที่จะต้องพบกับความผิดหวังเป็นซ้ำสอง

ทางออกที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับอนาคตของธานินทร์คือ การร่วมทุนกับต่างชาติ เพื่ออาศัยเทคโนโลยีเงินทุนและเครือข่ายทางการตลาดที่กว้างขวางซึ่งมีอยู่มาเป็นประโยชน์กับตน แต่ทางออกที่ดูจะเป็นไปได้มากนี้กลับไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะแม้ขณะนี้จะมีนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี หลายรายแสดงความสนใจที่จะลงทุนร่วม แต่ธานินทร์ก็ไม่อาจจะตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเอง ต้องฟังเจ้าหนี้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดกันได้เลยว่า เจ้าหนี้จะไม่เอาด้วย เพราะจะต้องหาเงินมาเพิ่มและทำให้แผนการชำระหนี้ของธานินทร์ต้องยืดยาวออกไปอีก

ก็คงจะต้องรอไปจนกว่าธานินทร์จะเป็นไทแก่ตัวเอง แต่ถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปเพราะอีกห้าปีข้างหน้า การแข่งขันกันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องดุเดือดแหลมคมขึ้นกว่าตอนนี้อย่างมากมาย กระทั่งก็คงส่งผลให้ผู้ที่จะมาลงทุนร่วมต้องลังเลใจ

อนาคตของธานินทร์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันให้ยาวไกลไปกว่าความพออกพอใจกับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะมาถึงในวันข้างหน้า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us