|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2531
|
|
วัฒนาพานิชนั้น ต้นตระกูลรากฐานเดิมมาจาก "โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง" ประวัติยาวนานไม่แพ้ ไทยวัฒนาพานิช แต่เลี่ยงเชียงร่ำรวยมาจากพิมพ์และขายหนังสือพระ หนังสือนักธรรมบาลี เลี่ยงเซียง ถึงกับกล้าคุยว่าในอดีต "ตั้งแต่พระราชาคณะลงมาจนถึง พระเถระในพระนครยันเชียงใหม่ องค์ใดที่ไม่ รู้จักเลี่ยงเซียงเป็นไม่มี"
พี่น้องในตระกูลเลี่ยงเชียงแตกหน่อกลายเป็นเจ้าของกิจการ โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายแห่งเช่น โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น โรงพิมพ์ธรรมบรรณคาร สำนักพิมพ์อุดมศึกษา สำนักพิมพ์รุ่งเรืองสาส์น เซ็นทรัลเอ็กเพรสการพิมพ์ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช ส่วนใหญ่มีทำเลอยู่แถวสำราญราษฎร์ เสาชิงช้า
บริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด ของเสี่ยเริงชัย จงพิพัฒนสุข ดูจะใหญ่โตที่สุดในกิจการแถบสำราญราษฎร์ และมาเล่นธุรกิจแบบเรียนที่มีมูลค่าเป็นพันล้านในแต่ละปี วัฒนาพานิช เลยยิ่งอู้ฟู่ ไปกันใหญ่
จะจงใจหรือไม่จงใจก็ตามแต่ เสี่ยเริงชัยก็ตั้งชื่อสำนักพิมพ์แห่งนี้ใกล้เคียงกับไทยวัฒนาพานิช ของคุณนายบุญพริ้งเอามาก ๆ เหมือนจงใจจะประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับ ทวพ. อย่างเต็มที่ หรือจะอาศัยกิน บุญเก่าของทวพ. ก็สุดจะคาดเดา แต่เมื่อทวพ. เริ่มตก วพ. ติดตลาด เสี่ยเริงชัยก็ต่อท้ายคำว่า "สำราญราษฎร์" เข้าไปข้างท้าย กลายเป็น "วัฒนาพานิช สำราญราษฎร์" ตัวเบ้อเริ่มอยู่หน้าร้านและในหนังสือทุกเล่ม เพื่อแยกแยะได้ง่ายและกันตัวเองออกมาจากไทยวัฒนาพานิช
ในสงครามหนังสือแบบเรียน ดูเหมือนว่าวัฒนาพานิช จะมีทีเด็ดอยู่เรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ที่ปรึกษาระดับหัวกะทิ ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาลหอย ดร. ภิญโญ สาธร เรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในปี 2521 ดร. ภิญโญ ย่อมต้องรู้เรื่องดีคนหนึ่ง เพราะคาบเกี่ยวกับสมัยของท่านอดีตรมว. ผู้นี้ เดี๋ยวนี้ดร. ภิญโญยังเขียนตำรา สร้างสรรค์ ผลงานวิชาการให้กับวพ. จัดพิมพ์เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กนับสิบ ๆ รายการ
ถ้าพลิกหนังสือพิมพ์ย้อนไปที่ปี 2521 วันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงใกล้เปิดเทอมมีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งพาดหัวว่า "ตบตากรมวิชาการ พิมพ์ตำราเถื่อนขาย" เนื้อข่าวคือว่า แบบเรียนหน้าที่พลเมืองชั้น ม. 2 ที่สำนักพิมพ์วัฒนาพานิชขออนุญาตจัดพิมพ์จำหน่ายไว้ 5,000 เล่มและทุกเล่มต้องมาประทับตรากรมวิชาการเพื่อเสียค่าตีตราปกหรือ "ค่าต๋ง" แก่กรมวิชาการนั้น เผอิญกรมวิชาการไปเจอจำนวนหนังสือจริง ๆ เข้า มันปาเข้าไป 68,000 เล่ม เรื่องของเรื่องก็เลขต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หนังสือพิมพ์เล่นข่าวนี้อยู่หลายวัน แต่ประเด็นไปอยู่ที่การร่วมมือทุจริต ของคนในกรมวิชาการเพราะจำนวนหนังสือที่มากขนาดนั้น คนในต้องรู้เห็นเป็นใจแน่ ๆ แต่ไม่นานนักเรื่องก็เงียบ วัฒนาพานิชเลยรอดตัว
เรื่องเก่า ๆ อย่างนี้ โกวิทย์ วรพิพัฒน์ คนที่เคยเป็นรองอธิบดีสมัยนั้น แต่เป็นอธิบดีกรมวิชาการสมัยนี้น่าจะรู้เรื่องดี
เหตุการณ์ครั้งนั้นคนที่เดือดร้อนกลับกลายเป็นไทยวัฒนาพานิช เพราะเพียง 3 วันหลัง มีข่าว ทวพ. ก็จองหนังสือพิมพ์ครึ่งหน้าประกาศว่าตัวเองไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชื่อของสำนักพิมพ์มันคล้าย ๆ กันเท่านั้นเอง
ครั้งหนึ่งวัฒนาพานิช เคยใจป้ำบริจาคหนังสือแบบเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจกจ่ายแก่โรงเรียนทั่วประเทศ แถมใจดีจัดหีบห่อออกค่าขนส่งให้เสียอีก ขอเพียงแค่บันทึกปะหน้าจากกระทรวงศึกษาธิการติดไปกับหนังสือเท่านั้น คนรับที่เป็นครูตามต่างจังหวัด รับหนังสือพร้อมเปิดบันทึกของกระทรวงฉบับนั้นอ่าน กลับไพล่คิดไปว่า นี่คือหนังสือแบบเรียนตัวอย่างที่กระทรวงส่งมาเพื่อให้ครูแนะให้เด็กซื้อเสียฉิบ
เรื่องการบริจาคก็เช่นกัน คุณนายบุญพริ้งแห่งไทยวัฒนาพานิช มักชอบบริจาคอยู่เนือง ๆ แต่ก็บริจาคไปเรื่อย ใครขอมาก็ให้ ขณะที่วัฒนาพานิชชอบบริจาคเหมือนกัน แต่ถนัดเลือกคนรับและเลือกจังหวะในการให้ คนไหนหรือกรมไหนในกระทรวงศึกษาธิการน่าจะได้รับบริจาคบ้าง "ผู้จัดการ" ไม่อยากคาดเดา!
ส่วนเรื่อง "เปอร์เซ็นต์ลด" แก่ลูกค้านั้นเป็นที่รู้กันว่า ในสถานการณ์สู้รบ การแข่งขันในเรื่องนี้ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา เพียงแต่วพ. ที่เป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ บริหารโดยเสี่ยเริงชัยคนเดียวย่อมคล่องตัวในการตัดสินใจมากกว่าก็เท่านั้น
วพ. มีหนังสือใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ หนังสือสรุปเนื้อหาบ้าง หนังสือแบบฝึกหัดบ้าง หนังสือแบบทดสอบบ้าง หรือหนังสือที่ยำทั้งสามอย่างอยู่ในเล่มเดียวกันก็มี อาณาจักรหนังสือแบบเรียนระดับประถมจึงแผ่กว้างไม่สิ้นสุด วพ. เลยแฮปปี้มาก ๆ ในวงการหนังสือแบบเรียนนี้
วพ. ออกจะเติบโตเร็วมาก ๆ ในช่วงสิบปีมานี้ ก็คล้าย ๆ ยุคของทวพ. สมัยก่อน และเผอิญเสี่ยเริงชัยเป็นพี่ชายคนโต มีน้องที่เป็นน้องสาวเป็นพรวน "ผู้จัดการ" ได้ยินข่าวแว่ว ๆมาว่าน้อง ๆ ของเสี่ยเริงชัยก็ออกจะไม่พอใจและอยากจะแบ่งสมบัติในวพ. ของเสี่ยเริงชัยอยู่ครามครัน
ธุรกิจสิ่งพิมพ์นี่ อะไร ๆ มันก็ซ้ำรอยได้บ้างเหมือนกันนะ...
|
|
|
|
|