|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2531
|
|
จากศูนย์กลางนครมิวนิคเมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรียเยอรมนีตะวันตก ไปทางด้านทิศเหนือไม่ไกลนักก็จะเห็นหอสูงโดดเด่นของสนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2515 และใกล้ ๆ กันนั้นเอง อาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับบลิวตั้งตระหง่านอยู่โดดเด่นไม่แพ้กัน
สนามกีฬาโอลิมปิกมิวนิคในทุกวันนี้ นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของนคร มิวนิค นักท่องเที่ยวหลายชาติหลายภาษาหรือแม้แต่คนเยอรมันด้วยกันเอง เมื่อมาถึงมิวนิคแล้ว โปรแกรมเข้าชมสนามกีฬาโอลิมปิกเป็นสิ่งที่จะพลาดไม่ได้ทีเดียว
เช่นเดียวกัน ที่บีเอ็มดับบลิวก็มีคนจำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 คนในแต่ละปีที่จะต้องแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม
เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของผู้บริหารบีเอ็มดับบลิวที่เมื่อคิดสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งนี้ขึ้นในช่วงปี 2514 ก็ไม่ละเลยที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่ด้านหน้าของอาคารสำนักงานใหญ่ด้วย
เพราะก็ตัวพิพิธภัณฑ์ของบีเอ็มดับบลิวนี่เองที่ดึงคนกว่า 400,000 คนในแต่ละปีเข้าไปเปิดหู เปิดตา
มิวนิคนั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง สถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายยุคมีปรากฎให้เห็นมากมายรวมทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง
DEUTSCHES MUSEUM ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติทางด้านพัฒนาการเทคโนโลยีของมนุษยชาติถือกันว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด รองลงมาก็คือ NEUEPINAKOTHEK ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลป์
ส่วนที่ได้รับความสนใจรองจากพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งข้างต้นก็ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน
พิพิธภัณฑ์ของบีเอ็มดับบลิวนี่เอง
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวนั้นรูปทรงดูจากภายนอกคล้ายถ้วยกาแฟ เป็นผลงานการออกแบบของศาสตราจารย์ KARL SCHWANZER สถาปนิกชื่อดังแห่งเวียนนา เริ่มลงมือก่อสร้างพร้อม ๆ กับอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับบลิวเมื่อปี 2514 แล้วเสร็จเมื่อปี 2516 นัยหนึ่งสร้างก่อนหน้ากีฬาโอลิมปิกมิวนิคหนึ่งปีและเสร็จสมบูรณ์ภายหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมิวนิคจบไปแล้วหนึ่งปีนั่นเอง
ด้วยความสูง 19 เมตรเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 เมตร ภายในของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้มีทางเดินวนโค้งขึ้นไป ซึ่งเมื่อเดินถึงยอดสุดต้องการลงชั้นล่างโดยไม่ต้องใช้เส้นทางเก่า บันไดเลื่อนที่ทอดตรงจากชั้นบนสุดบริเวณส่วนกลางของอาคารทรงถ้วยกาแฟก็จะพาลงมาที่ชั้นล่างได้อย่างสะดวกสบาย
นอกจากนี้ก็ยังมีห้องชมภาพยนตร์ที่ชั้นบนสุดด้วย
สองข้างทางเดินภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งวนโค้งขึ้นไปนั้นผลงานต่างยุคของบีเอ็มดับบลิวถูกจัดวางไว้อย่างมีศิลปะ มีการใช้แสงเข้าช่วย และมีวิดีโอชนิดกดปุ่มให้ชมเป็นระยะ ๆ ใครอยากชมตรงไหนก็เลือกกดปุ่มเอาตรงนั้น คำบรรยายมีให้เลือกได้ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และภาษาสเปน
ซึ่งถ้าจะชมกันอย่างละเอียดทั้งผลงานที่ตั้งแสดงตลอดจนวิดีโอทุก ๆ เรื่องแล้ว กว่าจะจบครบถ้วนก็คงต้องใช้เวลาชม 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ ทั้งนี้ก็คงเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจซ้ำซาก เพราะเป้าหมายนั้นก็คงไม่ใช่เพื่อเป็นการแสดงผลงานกันแบบทื่อ ๆ หากแต่ต้องการแฝงความหมายบางประการเอาไว้ด้วย
มันเป็นส่วนผสมของผลงานทางด้านวิศวกรรม ศิลปะและจินตนาการอันบรรเจิดของมนุษย์ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยใช้ยานที่ขับเคลื่อนได้เป็นสื่อชี้ให้เห็นพัฒนาการแต่ละขั้นตอน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงชุดที่เรียกว่า TIME MOTION
ควบคุมการออกแบบและการจัดแสดงโดย ROLF ZEHETBAUER นักออกแบบชาวเยอรมันเจ้าของรางวัลออสการ์ ซึ่งหัวใจของการจัดแสดงนั้นเป็นการบอกให้ทราบว่า ผลงานทางด้านวิศวกรรมเริ่มต้นจากจินตนาการของอดีตและมนุษย์ในทุกวันนี้ก็มีจินตนาการไปถึงอนาคตแล้ว
จากชั้นล่างที่เป็นการจัดแสดงผลงานเก่า ๆ ในแต่ละยุคของบีเอ็มดับบลิว ณ ที่ชั้นบนสุดจึงเป็นการแสดงถึงรถในอนาคตซึ่งนอกจากจะมีการนำรถต้นแบบมาตั้งโชว์จริง ๆ แล้ว ก็มีวิดีโอให้ชมอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้อรรถรสหลายด้าน แต่อย่างน้อยประการหนึ่งที่ผู้ชมทุกคนจะต้องซึมซับ ก็เห็นจะเป็นการทราบว่ารถยนต์ตลอดจนเครื่องยนต์นั้นมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาเป็นขั้น ๆ ตามลำดับ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้เราผ่านมาแล้วหลายอย่าง และเรากำลังก้าวเดินไปบนหนทางที่จะรุ่งโรจน์ต่อไปในอนาคตตามจินตนาการที่วาดไว้
แน่นอน...บนเส้นทางที่ทอดมายาวไกลนี้ บีเอ็มดับบลิวเป็นผู้ร่วมทางมาโดยตลอด
และก็จะร่วมทางต่อไปในอนาคต
ความหมายที่แฝงไว้ลึก ๆ คงอยู่ตรงนี้นี่แหละ
|
|
|
|
|