Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2531
BOI แดนสนธยา...แดนผลประโยชน์             
โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
 

   
related stories

BOI (BOARD OF INVESTMENT) ปีศาจร้ายที่สิงอยู่ในศาลพระภูมิ
ใครเป็นใครใน BOI? ดอกไม้และพวงหรีดรอมอบให้คุณ!
BOI ทุบทิ้งเสียดีไหม!?

   
www resources

โฮมเพจ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - บีโอไอ

   
search resources

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - บีโอไอ
Investment




"ในตำแหน่งนี้ ผมตั้งเป้าไว้ 100 ล้านบาท" ข้าราชการระดับซี 8 พูดเปรยๆ ตอนเมื่อก่อนขึ้นมาในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ซึ่งว่ากันว่าขณะนี้น่าจะทะลุเป้าแล้ว แต่ยังไม่พอ พยายามหาประโยชน์เพิ่มเติม โดยเริ่มเบนมาหาผู้ใหญ่ระดับรองลงมา เผื่อคนปัจจุบันเกษียณจะได้ยึดเป็นหลักต่อไปได้

ข้าราชการคนนี้เพิ่งปลูกบ้านหลังใหญ่ มีเรือนคนใช้ต่างหาก ราคานับสิบล้านขึ้นไป อยู่แถวๆ ซอยสุทธิสาร มีรถเบนซ์ 3 คัน ร่ำรวยผิดปกติออกอย่างนี้ เงินเดือนไม่ถึงหมื่น คงเนรมิตทรัพย์ศฤงคารไม่ได้มากขนาดนี้ และถ้าจะบอกว่าเป็นสมบัติของตระกูล เท่าที่ "ผู้จัดการ" ทราบ ทรัพย์สมบัติของตระกูลนี้ ยังไม่มีการแบ่งแต่อย่างใด

นี่เป็นเพียงตัวอย่างข้าราชการคนหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" สืบทราบมา ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานอย่าง BOI นั้นมีลักษณะให้คุณให้โทษกับธุรกิจอย่างชัดเจน เพราะการอนุมัติส่งเสริมหรือไม่ มันหมายถึงอนาคตของกลุ่มทุน โครงการส่วนใหญ่ที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมมีเงินลงทุนมหาศาล บางคนตั้งข้อสังเกตว่าช่องทางการหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ BOI รุนแรงยิ่งกว่ากรมศุลกากรมากนัก เพราะเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ จะเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชาได้ก็ต่อเมื่อทำผิดระเบียบ ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินไม่มากนัก แต่ที่นี่โครงการที่เข้ามามีขนาดเป็นร้อยล้านพันล้าน สมมติว่าได้รับการยกเว้นภาษีสัก 50 ล้าน การจ่ายให้เจ้าหน้าที่สัก 5-10 ล้าน เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

ช่องทางที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ได้นั้นมีมากมายหลายจุด ตั้งแต่เริ่มเข้ามาติดต่อจนกระทั่งเปิดดำเนินการ ซึ่ง "ผู้จัดการ" สรุปให้เห็นกันชัดๆ 7 จุด

จุดที่ 1 การเดินเรื่องเกี่ยวกับการยื่นแบบฟอร์มและโครงการ ที่สำนักงานเลขานุการกรม ตรงนี้เองที่เจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายหน้าจะมาติดต่อให้คำแนะนำเรื่องการยื่นแบบและวิธีเขียนโครงการ ว่าทำอย่างไรจึงจะเร็วและถูกต้อง บางกรณีก็จะรับจ้างเขียนให้เลย บางคนก็จบแค่นี้ แต่บางคนรับที่จะติดตามในจุดอื่นๆ ให้ด้วย

จุดที่ 2 ถ้าโครงการต่ำกว่า 20 ล้าน จะถูกส่งไปที่หน่วยเฉพาะกิจวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งในทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม การร่วมทุน การเงิน การตลาด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสร็จแล้วเสนอให้เลขาธิการอนุมัติได้เลย โดยไม่ต้องผ่านคณะอนุกรรมการ ซึ่งว่ากันว่าการพิจารณาโครงการเล็กขนาดนี้ไม่ค่อยมีปัญหา และถ้าจะหากินก็ง่ายกว่าโครงการใหญ่เพราะเป็นนักลงทุนกลุ่มเล็กที่ไม่มีพาวเวอร์หรือเส้นสายทางการเมือง

โครงการ 20-100 ล้านบาท และเกิน 100 ล้านบาท ที่ส่งออกไปน้อยกว่าร้อยละ 80 จะถูกส่งเข้ากองวิเคราะห์โครงการ แล้วผ่านมาที่รองเลขาธิการที่ได้รับการมอบหมาย (รองฯ สถาพร) แล้วส่งเข้าพิจารณาอนุมัติโดยคณะอนุกรรมการฯ (บอร์ดเล็ก)

โครงการ 100 ล้านบาทขึ้นไป ที่จำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ หลังจากผ่านกองวิเคราะห์โครงการและรองฯ สถาพรแล้ว ส่งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดใหญ่)

จุดที่ 3 เมื่อผ่านการอนุมัติ และผู้ลงทุนยืนยันตอบรับการส่งเสริม สำนักงานจะเป็นผู้ออกบัตรส่งเสริม ซึ่งตรงนี้ถ้าเจ้าหน้าที่จะดึงเรื่องไว้ให้ช้าเพื่อรอให้นักลงทุนมาติดต่อจ่ายเงินใต้โต๊ะย่อมทำได้

จุดที่ 4 เมื่อนักลงทุนเริ่มดำเนินงาน มีการสั่งนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็น กองสิทธิและประโยชน์ จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการพิจารณารายละเอียดของการใช้สิทธิและประโยชน์ของผู้ได้รับการส่งเสริม ตามรายละเอียดในสิทธิบัตรส่งเสริม

จุดที่ 5 คณะอนุกรรมการสิทธิและประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น เมื่อสิ่งของต่างๆ เข้าที่ท่าเรือแล้ว นักลงทุนจะนำเอกสารมายื่นที่กองสิทธิแล้วส่งต่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดเพื่ออนุมัติและออกหนังสือให้นักลงทุนไปออกของที่ท่าเรือ ซึ่งนับว่าเป็นงานหนักมากในการที่จะต้องดูรายละเอียดสิ่งของแทบทุกชิ้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งงานในส่วนนี้ดูเหมือนจะล้นมือคณะอนุกรรมการ เพราะมันเป็นเรื่องรายละเอียดที่จุกจิกมากๆ นักลงทุนบางรายบ่นกับผู้จัดการว่า กว่าจะออกของได้เขาเสียเวลา 2-3 สัปดาห์ บางรายเป็นเดือนด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลเสียหายต่อธุรกิจเขามาก

กล่าวกันว่าอนุกรรมการนี้เป็นแหล่งให้คุณให้โทษมหาศาลอีกแหล่งหนึ่ง เพราะมีโอกาสช่วยเหลือกันไว้มาก เพราะจริงๆ แล้ว คณะอนุกรรมการก็ไม่ได้รู้จักเครื่องจักรเครื่องมือทุกชนิด เพียงแค่จะดูว่าวัสดุชิ้นนี้มีผลิตในเมืองไทยหรือไม่ก็ยากพอแล้ว เพราะระบบข้อมูลของเมืองเราอ่อนด้อยมาก ทะเบียนเทคโนโลยีก็ยังไม่มีใครทำ ดังนั้นโอกาสที่จะมีการสอดไส้ มีการล็อบบี้กรรมการด้วยกันเพื่อให้ลงมติให้ผ่านไปได้อย่างสะดวก เพราะถ้าช้าหมายถึงการเสียเวลาและผลประโยชน์มหาศาล

จุดที่ 6 ศูนย์บริการลงทุน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในการขออนุญาตต่างๆ ที่สำคัญคือผู้อำนวยการศูนย์นี้สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ 10 ประเภท และสามารถออกใบอนุญาตตั้ง ขยายและประกอบกิจการโรงงาน ที่ได้รับการส่งเสริมได้เลย โดยไม่ต้องไปขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรม

จุดที่ 7 กองตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบการดำเนินกิจการของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามเงื่อนไขและตามสิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด กองนี้ในความเป็นจริงซึ่งมีกำลังคนประมาณ 26 คน ไม่มีทางที่จะตรวจได้ทุกแห่ง สิ่งที่ทำได้คือ สุ่มตัวอย่าง ถ้าโรงงานไหนโดนแจ็คพ็อทก็คือว่าซวยไป เพราะโอกาสที่โรงงานจะผิดระเบียบนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องน้ำเสีย ไปจนถึงเรื่องที่ว่าส่งออกไปน้อยกว่าร้อยละ 80 จริงหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ตรวจยากมาก จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จะซูเอี๊ยกับผู้ประกอบการได้

ลักษณะการหาผลประโยชน์มีหลายรูป มีทั้งแบบ "ศิลปินเดี่ยว" คือหากินเงียบๆ คนเดียว โดยติดต่อกับนักลงทุนโดยตรง กับทำกันเป็นทีม โดยมีผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งเป็นแบ็ค แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน การกินส่วนใหญ่เป็นแบบ "กินตามน้ำ" คือจากช้าเป็นเร็ว เช่นบางทีเรื่องมันเสร็จแล้วแต่เมื่อนักลงทุนมาติดต่อก็บอกว่ายังไม่เสร็จ เก็บใส่ลิ้นชักไว้ ถ้าเขาต้องการเร็วก็จะถามว่ามีทางช่วยไหม ซึ่งก็หมายถึงเงินที่ผันเข้าสู่กระเป๋าเจ้าหน้าที่อย่างไม่ยากเย็นเลย

บางกรณีเรื่องมันตลกมากที่งานมันไปติดอยู่ที่ลูกจ้างประจำเพียงคนเดียว ที่มีหน้าที่รับ-ส่งเอกสารให้ผู้ใหญ่เซ็นอนุมัติมติต่างๆ

"สิ่งที่เขาทำคือดึงเรื่องหรือเลือกเรื่องที่เขาพอใจหรือที่เขาได้รับเงินมาก่อนให้ผู้ใหญ่เซ็นก่อน และเป็นผู้เอาไปให้ระดับเลขาหรือรองเลขาเซ็น แล้วก็เป็นผู้นำแฟ้มต่างๆ เก็บลงมา ทีนี้ระหว่างทางเขาสามารถดึงเรื่องเพื่อเอาไปแสวงหาประโยชน์ได้ เขาทำจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ถ้าบริษัทหนึ่งต้องจ่ายให้เขา แล้วบริษัทอื่นมีเหตุผลอะไรที่จะไม่จ่าย ที่เขาทำได้เพราะมีผู้ใหญ่แบ็ค เข้าทำนองเป็นผู้จัดหาและจัดสรรผลประโยชน์ให้ผู้ใหญ่อีกที ช่วงหลังได้ข่าวว่า เขาทำของเขาเองหนักมือขึ้น ระยะหลังมีการขายข่าวให้บางบริษัททราบก่อน เพราะความที่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มากจึงรู้เรื่องนโยบายใหม่ดีมากๆ แต่ผู้ใหญ่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะต่างคนต่างก็ร่วมกันทำผิด เข้าทำนองไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ คนๆ นี้เจ้าหน้าที่กลัวมาก เพราะสามารถเสนอย้ายเจ้าหน้าที่ประจำบางคนมาแล้ว เป็นเพียงลูกจ้างประจำ แต่คุณไปดูบ้านเขาติดแอร์ทั้งหลัง และไปตีกอล์ฟทุกอาทิตย์" แหล่งข่าว BOI ที่เอือมระอาพฤติกรรมขี้ฉ้อของลูกจ้างประจำผู้นี้เล่ากับ "ผู้จัดการ"

การที่ "ผู้จัดการ" กล่าวถึง 7 จุดหลักๆ ที่เป็นแหล่งเงินแหล่งทองของคน BOI แต่กองอื่นก็ใช่ว่าจะหากินไม่ได้ หากรู้จักจับผู้ใหญ่และทำงานร่วมกับคนที่อยู่ที่หาประโยชน์ "มีอยู่คนหนึ่ง เคยเป็นเจ้าหน้าที่กองวิเคราะห์มาตลอดแต่กินมากไปหน่อย และเกิดขัดผลประโยชน์บางคนในกองนั้นถูกย้ายมาอยู่กองพัฒนาโครงการ ซึ่งกองนี้โดยลักษณะงานแล้วหากินไม่ได้ แต่เขาสามารถจับผู้ใหญ่คนหนึ่งอยู่ และก็ทำการรับปากกับบริษัทโน้นนี้เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีอย่างเต็มที่ แล้วตัวเองชักเป็นเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ คนนี้เก่ง ลูกเล่นแพรวพราวมาก รู้ข่าวสารดี และแม่นในกฎระเบียบ มาที่นี่ตัวเปล่า เดี๋ยวนี้มีทุกอย่างทั้งบ้านและรถ นอกจากนี้เขายังเล่นหุ้นจำนวนเงินมากพอสมควร ชอบแว๊บไปตลาดหุ้นบ่อยๆ" แหล่งข่าวระดับสูงใน BOI เล่ากับ "ผู้จัดการ"

นั่นคือตัวอย่างเจ้าหน้าที่ BOI เพียง 3 คน ที่ร่ำรวยผิดปกติ ยังมีอีกหลายคนที่อาศัยช่องว่างของอำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากนักลงทุน ซึ่งสำหรับนักลงทุนแล้ว เขาไม่โวยวายหรอก อย่างมากเขาก็คิดเป็นต้นทุนสินค้าไปเท่านั้นเอง และพวกพ่อค้ามักถือคติว่าจะไม่เป็นความกับข้าราชการเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ก็อาจจะโดนแบ็คลิสต์ และครั้งต่อไปจะติดต่อลำบาก ที่สำคัญมันก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่ค่อยเกิดกรณีฉาวโฉ่ และคำถามง่ายๆ ว่าเมื่อนักลงทุนซึ่งมาติดต่อได้ประโยชน์จาก BOI มากมาย แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ของ BOI ซึ่งเป็นคนคุมกลไกนั้นจะได้ประโยชน์ไม่ได้บ้างเลยเชียวหรือ

ลักษณะการหาผลประโยชน์เช่นนี้ คนเก่าแก่ของ BOI กล่าวว่ามันมีมาตั้งแต่เริ่มตั้งแล้ว จะมีมากน้อยต่างกันที่เลขาธิการในแต่ละยุคว่าเขาเป็นคนเช่นไร ช่วงหลังจากออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 เป็น พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจ BOI มากเหลือเกินในการที่จะเลือกให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประเภทไหน ให้กับใคร และสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง BOI กำหนดทั้งสิ้น ก็เท่ากับว่า BOI สามารถชี้ต้นตายปลายเป็นแก่ธุรกิจ เพราะถ้ากิจการของคู่แข่งได้รับการส่งเสริมแต่ของคุณไม่ได้ ผลลัพธ์มันแตกต่างกันมหาศาล

ปัจจุบันถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่เป็นมวย คุณก็ต้องศึกษากลไกของ BOI และดูว่าใครเป็นใคร เพื่อจะล็อบบี้ให้โครงการของคุณได้รับการส่งเสริมและได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ ซึ่งปัจจุบันพวกนักลงทุนทั้งหลายเขารู้เรื่องเหล่านี้ดีมาก เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะเมื่อก่อนกลุ่มทุนมีจำนวนไม่มากนัก แต่ปัจจุบันความต้องการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมีมาก การวิ่งเต้นล็อบบี้เจ้าหน้าที่ BOI จึงหนักหน่วงขึ้นมาก กรณีปิโตรเคมี 2 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความพยายามของกลุ่มทุนต่างๆ ในการเข้าล็อบบี้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงสูงสุดเลยทีเดียว

แต่เจ้าหน้าที่ BOI ก็ใช่ว่าจะหากินทุกกรณี พวกเขาเลือกร่วมมือกับพ่อค้าเชื้อสายจีนในเมืองไทย กับพวกนักลงทุนจากไต้หวัน สองพวกนี้ชอบทำการค้าแบบจ่ายเงินใต้โต๊ะตลอดไม่อั้นด้วย ส่วนพวกญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมเท่าไหร่ แต่ก็มีบางคนที่ยอม ส่วนฝรั่งนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเพราะพวกนี้ทุกอย่างต้องมีใบเสร็จ แล้วเจ้าหน้าที่พวกนี้จะหาใบเสร็จที่ไหนให้ฝรั่ง นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่อัตราส่วนการมาขอส่งเสริมลงทุนของฝรั่งลดลงเมื่อเทียบกับไต้หวันและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ "ผู้จัดการ" ยังได้ข่าวมาว่าถ้าหากโครงการไหนที่ทำท่าว่าจะมีอนาคตไปได้ดี เจ้าหน้าที่ BOI บางคนก็จะขอเป็นหุ้นส่วน (Partner) ทำธุรกิจนั้นด้วย บริษัทนั้นย่อมได้สิทธิพิเศษเหนือบริษัทอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ลงมาร่วมดำเนินการด้วย ตรงนี้เป็นจุดที่อันตรายมาก!!

หรืออาจจะขโมยไอเดีย ถ้าเห็นโปรเจคไหนดี อาจจะเอาไปทำเอง ไปให้เพื่อนหรือญาติ หรือขายให้บริษัทคู่แข่ง เหมือนที่สมัยหนึ่งแบงก์พาณิชย์ขโมยไอเดียลูกค้าที่มาขอกู้ไปดำเนินการซะเอง โอกาสมันเป็นไปได้ทั้งนั้น

ตำนานเรื่องพ่อค้าเลวกับข้าราชการโกง คงจะเป็นสูตรสำเร็จให้เล่าขานต่อไปไม่รู้จบ ตราบใดที่ระบบที่เป็นอยู่ยังเอื้ออำนวยและความโลภของมนุษย์ยังมีไม่สิ้นสุด!!

ปปป. น่าลองไปตรวจสอบทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ BOI ที่ร่ำรวยผิดปกติดูบ้าง บางคนภายนอกทำตัวสมถะแต่จริงๆ ร่ำรวยมหาศาล คนพวกนี้น่าเอาผิดทางวินัยให้ดูเป็นตัวอย่าง อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนเพลามือลงไปบ้าง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us