Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2531
การต่อสู้ของยักษ์ที่ยังไม่หลบ KODAK             
 


   
www resources

Eastman Kodak Company Homepage

   
search resources

Kodak
Kodak
Camera and Photos




ปี 1988 สำหรับ "ยักษ์เหลือง" (Great Yellow Father) อย่างโกดักแล้ว มีเหตุที่ทำให้ต้องเฉลิมฉลองแสดงความยินดีให้กับตัวเองถึงสองประการ ประการแรก - นับย้อนหลังจากนี้ไปหนึ่งร้อยปีพอดิบพอดี กล้องโกดักขนาดมือถือกล้องแรกได้ออกมาอวดโฉมต่อชาวโลกด้วยฝีมือของ จอร์จ อิสต์แมน ประการที่สอง - โกดักสยบคู่แข่งอย่าง ฟูจิ ช่วงชิงสิทธิการเป็นสปอนเซอร์ฟิล์มถ่ายรูปในกีฬาโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซลมาไว้ในมือได้สำเร็จ เรื่องราวของโกดัก ที่ทำให้การถ่ายรูปเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ใครๆ ก็ทำได้ และการก้าวข้ามไปในอุตสาหกรรมยาซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่า โกดักกำลังอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการหลุดจากสิ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับตนเอง ปรากฏอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว

ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่เกาหลีใต้เดือนกันยายนปีนี้ ผู้เฝ้าชมจากทั่วโลกก็คงจะได้เห็นสัญลักษณ์สีสดใสของโกดักลอยเด่นอยู่เหนือสนามกีฬา ซึ่งนอกเหลือจากเป็นสิ่งแสดงว่าโกดักคือสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของกีฬาครั้งนี้แล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าในสงครามการต่อสู้ที่ดุเดือดกับ "ฟูจิ" ของญี่ปุ่น อันเป็นบริษัทคู่แข่งที่สำคัญนั้น โกดักสามารถฟาดฟันจนกลับขึ้นมายืนอยู่อันดับหนึ่งได้อีกครั้ง หลังจากต้องเผชิญกับความยุ่งยากนานัปการภายในบริษัทมาช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้

เมื่อปี 2527 บริษัทฟูจิเป็นฝ่ายชนะได้รับสัมปทานให้เป็นผู้จำหน่ายฟิล์มถ่ายรูปเพียงผู้เดียวในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิส ซึ่งทำให้โกดักรู้สึกเสียหน้าและไม่พอใจมาก เนื่องจากการได้ครอบครองสัมปทานในกีฬาโอลิมปิกหมายถึงโอกาสพิเศษในการสนับสนุนด้านการตลาดทั่วโลก และยังเป็นวาระพิเศษที่จะทำให้ชาวโลกได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นสิ่งคลาสสิคที่คงอยู่คู่โลก ราคาในการช่วงชิงให้ได้สัมปทานนี้มาจึงค่อนข้างสูง

ประมาณว่ามูลค่าสิทธิการเป็นผู้จำหน่ายฟิล์มอย่างเป็นทางการและการได้แสดงสัญลักษณ์ของสินค้าควบคู่ไปกับการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้เท่ากับ 8 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังต้องให้เงินช่วยเหลือในการสนับสนุนต่างหากอีก 8 ล้านดอลลาร์


การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน

ถือได้ว่าชัยชนะของโกดักที่มีเหนือฟูจิดังกล่าว เป็นผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่นภายในโกดัก ในระยะสามปีที่ผ่านมา โกดักเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าปฏิวัติองค์กรซึ่งดำรงระบบเก่าแก่มาถึง 100 ปี บางคนเปรียบเทียบว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโกดักต้องเสียทั้งเลือดเนื้อและน้ำตามากมาย ในบรรดาคนงาน 121,000 คนทั่วโลก เกือบ 15,000 คน กลายเป็นแรงงานส่วนเกินจากการเปลี่ยนโฉมหน้าองค์กรครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการคนหนึ่งในจำนวนทุกสี่คนต้องสูญเสียตำแหน่ง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้โกดักต้องใช้เงินก้อนใหญ่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์

ย้อนหลังไปประมาณต้นทศวรรษ 1980 หรือช่วงปี 2523 ยอดขายของโกดักทั่วโลกอยู่ในระดับที่คงตัวแต่ผลกำไรตกต่ำอย่างน่าวิตก ในปีที่ย่ำแย่ที่สุดคือปี 2526 ผลกำไรของโกดักตกลงมาจากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 565 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 10.2 พันล้าน ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารระดับสูงที่สำนักงานใหญ่ในโรเชสเตอร์ นิวยอร์ก ต้องสั่นสะเทือนและหันมาพิจารณาข้อบกพร่องในบริษัทของตนขนานใหญ่ อย่างไรก็ตามผลของความพยายามเพิ่งปรากฏชัดเจนเมื่อเร็วๆ นี้เอง คือยอดขายของปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 15% เป็น 13.3 พันล้าน โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 21.5% เท่ากับ 1.18 พันล้านดอลลาร์

นับเป็นเวลา 100 ปีพอดี ที่ จอร์จ อีสต์แมนผู้ก่อตั้งโกดักได้ออกวางตลาดกล้องโกดักรุ่นแรก โดยใช้คำขวัญว่า "คุณเพียงแต่กดปุ่ม ที่เหลือเราทำเอง" ชื่อของโกดักนั่นเป็นผลจากความพยายามคิดค้นหาชื่อที่สั้นกะทัดรัด ทีลักษณะเฉพาะ และง่ายต่อการออกเสียงในทุกภาษา ตัวอีสต์แมน นักประดิษฐ์คิดค้นและนักการค้าที่ยิ่งใหญ่ ทว่าเขาก็เป็นคนของยุคสมัยที่ผ่านมา ในขณะที่โกดักและผู้บริหารระดับสูงในโรเชสเตอร์ยังคงยึดติดกับภาพพจน์ของบริษัทในสมัยก่อนก่อน เช่น ยังคงเห็นว่าบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกจ้างและเมืองที่บริษัทตั้งอยู่ ได้แก่ ให้การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ วงออร์เครสตร้า หรือแม้แต่โรงโบว์ลิ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ ภายหลังการปฏิวัติอย่างถึงแก่น ปรากฏว่าแม้แต่สหภาพแรงงานก็ไม่มีอยู่ในโกดัก

สำหรับบริษัทใหญ่ที่มีรากฐานยาวนานอย่างโกดัก คำว่า "แรงงานส่วนเกิน" เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีการกล่าวขวัญถึงมาก่อน ลูกจ้างส่วนมากมองว่าตนคือ "ชาวโกดัก" และเชื่อมั่นว่าจะถูกจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งครั้งหนึ่งความมั่นคงทางอาชีพถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพพจน์ที่ดีของบริษัท ดังนั้นเมื่อสารที่ส่งตรงจากผู้บริหารระดับสูงปรากฏแก่สายตาของลูกจ้างในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527 จึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ในรูปแบบที่เรียกได้ว่า ตื่นตระหนกจากเหล่าชาวโกดักทั้งหลาย

หลักการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ ทำอย่างไรบริษัทใหญ่อย่างโกดักจะสามารถสร้างระบบในการดำเนินงานที่คล่องตัวเช่นบริษัทเล็กๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามทั้งหมดอยู่ที่ การละทิ้งระบบแบบเก่าที่เคยใช้ ทั้งในด้านการตลาด การผลิต การค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนำระบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัวใช้แทน

บิลล์เพรซซาโน หัวหน้าฝ่ายอุปกรณ์การถ่ายภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ กล่าวว่า "แรงผลักดันเบื้องหลังความคิดทั้งหมดของโกดักที่มีมานมนานก็คือ ความเชื่อมั่นอย่างฝังรากลึกที่ว่าการตัดสินใจในสิ่งสำคัญๆ จะต้องมาจากเบื้องบนเป็นลำดับไป" ในอดีตกล่าวได้ว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในโกดักที่ดำเนินไปโดยปราศจากการชี้นำของผู้บริหารระดับสูง เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ระบบเช่นว่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่มีลักษณะอุ้ยอ้ายและเป็นระบบราชการมากขึ้นทุกที ความคิดริเริ่มใหม่ๆ จะต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการถึงหกคณะ จนกระทั่ง ปีเตอร์ ฟิทซ์เจอรัลด์ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคของโกดักในเฮเมล แฮมป์สเตด ประเทศอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่า "ผมเคยใช้เวลาเพื่อประชุมกับเจ้าหน้าที่ของโกดักมากกว่าการพูดคุยกับลูกค้าเสียอีก"

หากจะมองถึงการเปลี่ยนแปลงในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของโกดักก็จะพบว่า ผู้บริหารรุ่นใหม่มีลักษณะใช้การสื่อสารสั่งงานด้วยเส้นทางการสื่อสารที่สั้นกระชับไม่เสียเวลามาก ตัวอย่างเช่น ฟิทซ์เจอรัลด์ จะควบคุมทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด ถึงแม้ว่าในการตัดสินใจระดับสำคัญๆ ฟิทซ์เจอรัลด์จะต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริหารระดับสูงที่โรเชสเตอร์ก่อน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เขาจะรายงานขึ้นตรงกับเจ้านายเพียงสองคนเท่านั้นคือ คนหนึ่งในยุโรปและอีกคนในสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่ารูปแบบการสื่อสารสั่งงานดังกล่าวนี้กำลังใช้อยู่ทั่วไปในบริษัทโกดัก

ด้วยการแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาแมคคินเซย์ โกดักแบ่งหน่วยงานที่มีอยู่ทั้งหมดออกเป็น 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายอุปกรณ์การถ่ายภาพ ฝ่ายเคมีภัณฑ์ ฝ่ายระบบข้อมูลและการค้า ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และฝ่ายเทคโนโลยีต่างๆ ในแต่ละฝ่ายจะเป็นหน่วยธุรกิจที่มีลักษณะแยกออกมา โดยมีผู้บังคับบัญชา เป้าหมาย และวัตถุประสงค์เป็นของตนเอง นอกจากนั้นยังแบ่งส่วนภายในฝ่ายออกเป็นส่วนๆ อีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่ามีทั้งหมด 14 ส่วน และแต่ละส่วนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองในแง่การตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจได้

โกดักในปัจจุบันมีผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่จะเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กรอยู่ 3 คน คือ โคลบี้ แชนด์เลอร์ - Chairman and Chief Executive, เคย์ วิทมอร์ - President และ ฟิลิป แซมเพอร์ - Vice Chairman นอกจากนั้นผู้บริหารระดับรองลงมาจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลและตัดสินใจในส่วนงานของตน ทั้งนี้เนื่องจากโกดักตระหนักว่าระบบรวบอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางที่เคยใช้มาในอดีต ไม่สามารถใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งธุรกิจมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางและมีความซับซ้อนมากขึ้น เพรซซาโนชี้ว่า "ระบบแบบเก่าทำให้โกดักสูญเสียการรับรู้ถึงความเป็นไปในตลาดที่เกิดขึ้นจริงๆ จุดสำคัญของการปรับปรุงองค์กรใหม่ก็คือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอิสระในการตัดสินใจและดำเนินการมากยิ่งขึ้น"


เหยื่อแห่งความสำเร็จของตนเอง

โกดักนั้นเป็นเหยื่อความสำเร็จและความเชื่อถือผิดๆ เกี่ยวกับตนเอง เมื่อ 10 ปีก่อน โกดักประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในธุรกิจผลิตและจำหน่ายฟิล์ม จนมีความเชื่อมั่นภาคภูมิในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตน โดยคิดว่าสินค้าของตนนั้นยอดเยี่ยมที่สุด นอกจากนั้นโกดักยังมีลักษณะที่แปลกกว่าบรรษัทข้ามชาติทั่วไป คือแทนที่จะใจกว้างกลับมีความคับแคบทางความคิด ผู้บริหารระดับสูงเดินทางน้อยมาก แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดฟิล์มใหญ่อันดับสองของโลกก็ยังได้รับการเยี่ยมเยียนนับครั้งได้

ปีเตอร์ แซมเวลล์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัท Hanimex ซึ่งเป็นบริษัทออสเตรเลียที่จัดจำหน่ายฟิล์มฟูจิในอังกฤษ ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน แซมเวลล์เคยทำงานให้โกดัก เขากล่าวว่า "สมัยนั้นโกดักไม่ได้ตระหนักเลยว่ามีคู่แข่งอยู่ สิ่งเดียวที่เจ้าหน้าที่ของโกดักได้รับคำสั่งก็คือ ให้ระมัดระวังยอดขายให้ดี และแม้แต่ผู้จัดการระดับอาวุโสหลายคนก็ไม่เคยได้รับการบอกเล่าถึงราคาต้นทุนการผลิต ซึ่งในสมัยนั้นสิ่งนี้ถือเป็นความลับที่รู้เฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่โรเชสเตอร์"

กล่าวกันว่าลักษณะการวิพากษ์ตนเองยังถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากสำหรับบริษัทอย่างโกดัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บางคนยอมรับว่าโกดักได้ดำเนินงานผิดพลาดไป ดังจะเห็นได้จากความล้มเหลวของบริษัทที่ไม่สามารถเอาชนะฟูจิได้ในญี่ปุ่น เนื่องมาจากขาดการจัดการในด้านการตลาดโดยตรง ไม่มีโรงงานในท้องถิ่น และขาดแคลนผู้จัดการที่เป็นชาวญี่ปุ่น โกดักปล่อยภาระการตลาดให้กับผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่น ถึงแม้ในปัจจุบันโกดักจะปรับปรุงตนเองแล้ว โดยเริ่มการควบคุมโดยตรงรวมถึงการจัดจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อปี 2528 ก็ยังปรากฏว่าโกดักฟื้นตัวได้บ้าง แต่ก็มีส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นเพียง 15% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ใช้การลงทุนลงแรงอย่างมาก

อีกประการหนึ่งที่เป็นความผิดพลาดของโกดักก็คือ ปล่อยให้บริษัทคู่แข่ง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นบุกรุกเข้ามาแข่งขันในตลาดสินค้าที่ครั้งหนึ่งถือว่าเป็นดินแดนของโกดัก สินค้าที่ว่านี้ก็คือ อุปกรณ์เครื่องถ่ายเอกสาร กล้องถ่ายวีดีโอ และห้องแลบบริการล้าง อัด รูปด่วน ปัญหาของโกดักก็คือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดว่าควรจะยึดติดอยู่เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่เคยผลิตมาตลอด หรือควรจะขยายออกไปสู่สิ่งอื่นๆ และถ้าหากเลือกอย่างหลังผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะไปได้ไกลแค่ไหน

ในสหรัฐอเมริกานั้น โกดักทำผิดพลาดที่ประเมินพลังของกล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ต่ำเกินไป จนต้องสูญเสียตลาดส่วนนี้ไป นอกจากนั้นสำหรับ Disc Camera ซึ่งออกวางตลาดในเดือนมีนาคม 2525 หลังจากค้นคว้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ถึง 7 ปี โดยโกดักคิดว่ากว่าที่คู่แข่งจะสามารถผลิตกล้องดังกล่าวได้ ก็ต้องกินเวลาถึง 1 ปี รวมถึงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อผลิตฟิล์มสำหรับกล้องนี้นั้น ปรากฏว่าฟูจิสามารถผลิตกล้องนี้ได้ในอีก 6 เดือนต่อมา ขณะนี้ Disc Camera ก็กำลังเสื่อมความนิยม เพราะคนหันไปหากล้อง 35 มม. อัตโนมัติแบบใหม่จากญี่ปุ่นแทน

สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ โกดักรู้ตัวช้าเกินไปว่าฟูจิกำลังโหมรุกเข้าสู่ธุรกิจฟิล์ม ทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป ถ้าหากจะเปรียบเทียบแล้ว ฟูจิถือเป็นมือใหม่มากในธุรกิจประเภทนี้ เมื่อปี 2520 คู่แข่งรายสำคัญของโกดักคือ อั๊กฟ่า แห่งเยอรมนี

แซมเวลล์ กล่าวว่า "เมื่อฟูจิเข้ามาเริ่มแรกนั้นมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่เพียงไม่มากกว่า 4% เท่านั้นในตลาดอังกฤษ เปรียบเทียบกับโกดักขณะนั้นมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 75.80% สิ่งเดียวที่ฟูจิจะทำได้ในระยะนั้นก็คือ แข่งขันในด้านราคา โดยการตัดราคาโกดักให้ได้มากที่สุด" และเนื่องจากการโหมโฆษณาอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้ฟูจิค่อยๆ ไต่ขึ้นมาอยู่ในดันดับตีเสมอกับโกดัก

อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลกระทบกระเทือนต่อโกดักก็คือ การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการถ่ายรูป เมื่อบริษัทอย่าง เจ. เซนส์ เบอร์รี่, เทสโก้ และบริษัทผู้จำหน่ายฟิล์มทางไปรษณีย์อื่นๆ ทำการผลิตและจำหน่ายฟิล์มสี 35 มม. ด้วยราคาที่ถูกกว่าฟิล์มของโกดักและฟูจิมาก จนก่อผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 40% ในตลาดฟิล์ม 35 มม. ของอังกฤษ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

และเมื่อโกดักเริ่มตระหนักว่าฟูจิเป็นคู่แข่งรายสำคัญ ก็ได้เริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ฟิล์ม 35 มม. คุณภาพสูงที่รู้จักกันในชื่อว่า VR แต่ปรากฏว่าก่อนวางตลาดไม่นาน ฟูจิได้วางตลาดฟิล์มถ่ายรูปประเภทเดียวกันก่อนหน้าโกดัก ที่หนักกว่านั้นก็คือ ฟูจิพยายามนำฟิล์มดังกล่าววางตามร้านก่อนหน้าโกดัก 6 เดือน ถึงแม้ว่าโกดักจะพยายามชี้ว่าฟิล์มของฟูจิมีสีสดจ้าเกินไป แต่ดูเหมือนสาธารณชนจะไม่เห็นด้วย ดังนั้นภายในระยะเวลาปีเดียว ส่วนแบ่งตลาดของฟูจิในอังกฤษจึงเพิ่มจาก 10% เป็น 14% และเมื่อรวมกับชัยชนะครั้งสำคัญคือสามารถแซงหน้าโกดักเป็นผู้ได้รับสัมปทานในกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2527 ก็ยิ่งทำให้โกดักรู้สึกเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น


การโหมรุกเพื่อชิงชัยกลับมา

เมื่อตระหนักถึงสถานการณ์ที่บีบคั้นเข้ามาเรื่อยๆ ผู้บริหารระดับสูงที่โรเชสเตอร์ก็เริ่มมองหาหนทางในการชิงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่กลับคืนมา โดยเลือกสินค้าฟิล์ม 35 มม. มาเป็นอาวุธ ซึ่งก็ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปี 2529

ถึงแม้การต่อสู้ชิงชัยกับฟูจิจะเป็นสิ่งสำคัญที่โกดักให้ความสนใจ แต่ผู้บริหารระดับสูงของโกดักเห็นว่านี่เป็นเพียงฉากการต่อสู้ระดับรองเท่านั้น การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญในองค์กรดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารเริ่มย้อนกลับไปคิดถึงปัญหาทิศทางการก้าวไปของบริษัท และสิ่งที่โกดักต้องการทำให้ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้

ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจฟิล์มเท่ากับ 6% ต่อปี ซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ไม่มีความเด่นเป็นพิเศษ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โกดักหันไปหาธุรกิจอื่นๆ

ดังนั้นขณะนี้โกดักจึงมีลักษณะเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนงานต่างๆ ที่หลากหลายมากมาย จนยากที่จะมองเห็นจุดยืนเด่นชัด กล่าวคือ โกดักกำลังนำตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการหลายอย่างในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งยากที่จะระบุว่าเป้าหมายหลักหรือความพยายามหลักนั้นมุ่งเน้นที่อะไรกันแน่ เช่นจะเห็นได้ว่ามีกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ ซึ่งวงเงินธุรกิจสูงถึง 2 พันล้าน และเป็นธุรกิจหลักอันหนึ่งของโกดักมานานแล้ว แต่โกดักก็ยังไม่พอใจแค่นั้น กลับหันไปลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ภายในประเทศ ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือ เอฟเวอเรดดี้ และ ดูราเซล เป็นเจ้าของตลาดอยู่ก่อนแล้ว

ดูเหมือนว่าแชนด์เลอร์, วิทมอร์ และแซมเพอร์ สามผู้บริหารระดับสูงของโกดักได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า จะไม่ยอมทำความผิดอย่างเดิมซ้ำสองอีก นั่นคือจะไม่ยอมพลาดโอกาสที่สำคัญดังเช่นที่เคยพลาดมาในอดีต บริษัทจะต้องมีลักษณะกระตือรือร้นสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งโกดักมีจุดได้เปรียบที่ทำให้สามารถพัฒนาตนเองได้ง่ายกว่าบริษัทอื่นๆ เพราะมีเงินทุนหมุนเวียนสูง สามารถนำเงินนี้ไปใช้ลงทุนได้โดยไม่ต้องหยิบยืมจากใครมากนัก นับแต่ปี 2527 เป็นต้นมา โกดักได้จ่ายเงินไปเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งใช้ในโครงการการลงทุน อีกครึ่งหนึ่งใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D)

เฉพาะปี 2529 ปีเดียว โกดักได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 100 ชนิด บางชนิดคือฟิล์มและกล้องถ่ายรูป ซึ่งเป็นส่วนที่เด่นอยู่แล้วในอุตสาหกรรมของโกดัก นอกจากนั้นก็เช่น Optical Disc ขนาด 14 นิ้ว ซึ่งถือเป็นการรุกครั้งใหม่เข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลข่าวสาร นอกจากนั้นการที่โกดักซื้อบริษัท Verbatim ในปี 2528 ก็ได้ทำให้โกดักกลายเป็นผู้ผลิต Floppy Disc ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ ยิ่งเมื่อโกดักได้เป็นเจ้าของบริษัท ATEX ก็มีผลให้โกดักเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์เกี่ยวกับ Word-Processing รายสำคัญที่ส่งสินค้าดังกล่าวให้กับหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ทั่วโลก

ขณะนี้โกดักกำลังกลายเป็นนายทุนอันดับแนวหน้า ซึ่งก้าวไปข้างหน้าด้วยการเชื่อมตนเองกับบริษัทเล็กๆ ที่มีอนาคตสดใส เป็นบริษัทระดับแนวหน้าในธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น เทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ดูเหมือนโกดักจะยึดทฤษฎีที่ว่า ยิ่งเข้าไปต่อสู้ให้ครอบคลุมพื้นที่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสชนะมากขึ้นเท่านั้น


หนทางการต่อสู้ข้างหน้ายังอีกยาวไกล

เมื่อเร็วๆ นี้ โกดักประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ตนตั้งใจจะเข้าแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังในธุรกิจเภสัชกรรมภายในต้นทศวรรษ 1990 หรือช่วงปี 2533 เป็นต้นไป การที่โกดักเข้าไปในธุรกิจดังกล่าว เท่ากับเป็นการสร้างความขัดแย้งโดยตรงกับบริษัทใหญ่อย่าง ICI, GLAXO และ CIBA GEIGY โกดักตั้งเป้าไว้ว่าจะทำยอดให้ได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริหารของโกดักมองลู่ทางตลาดยาไว้ว่า ธุรกิจนี้ส่วนแบ่งในตลาดมีลักษณะแตกกระจาย และมีการขยายตัวรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีคู่แข่งขันอยู่มาก แต่ก็ไม่มีใครมีส่วนแบ่งในตลาดเกินกว่า 4% จึงเป็นโอกาสดีที่น่าท้าทาย

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาของโกดักในขณะนี้ ก็เพิ่งมีอยู่ชนิดเดียวและกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ คือยาที่ชื่อ IMMUNEX ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการป้องกันตนเอง โดยสร้างสารแอนตี้บอดี้ขึ้นมา ดังนั้นจึงดูเหมือนว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลนักที่โกดักจะต้องก้าวไปเพื่อให้ถึงจุดมุ่งหมายของตน การที่โกดักลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นที่ฟิลาเดลเฟีย และโธมัส เป็นหลักฐานยืนยันที่ดีว่า ผลิตภัณฑ์ยากำลังจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวสำคัญของบริษัทนี้

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โกดักได้ซื้อบริษัท Sterling Drug แห่งนิวยอร์ก ด้วยราคา 5.1 พันล้านดอลลาร์ ในตอนเริ่มแรก โกดักมิได้ตั้งใจที่จะซื้อบริษัทระดับใหญ่ขนาดนี้ แต่เนื่องจากบริษัท Hoffmann Laroche แห่งสวิตเซอร์แลนด์ พยายามที่จะเข้ามาควบคุม Sterling โกดักจึงเห็นว่าไม่ควรจะพลาดโอกาสดีเช่นนี้

Sterling มียอดขายทั่วโลกประมาณ 1.26 พันล้านดอลลาร์ และเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ยา สินค้าประเภทเครื่องใช้ภายในบ้าน และผลิตภัณฑ์ยาประเภทที่ไม่ต้องมีใบสั่งยาประกอบ ซึ่งสินค้าบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่โกดักต้องการ ผู้บริหารของโกดักแถลงว่ายังไม่มีแผนการใดๆ ในปัจจุบัน ที่จะขายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับธุรกิจส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับยา สำหรับโกดักแล้ว Sterling เป็นจุดสนใจในแง่ที่ว่าสามารถสร้างเครือข่ายการตลาดและการจัดจำหน่ายเภสัชกรรมได้อย่างชนิดที่เรียกว่าสำเร็จรูปแล้ว ซึ่งกว่าโกดักจะสามารถสร้างเครือข่ายดังกล่าวได้ด้วยตนเองก็จะต้องอาศัยเวลาหลายปีทีเดียว

การที่โกดักสามารถทบทวนตนเอง ปรับปรุงแก้ไขจนกระทั่งกลับผงาดในอันดับแนวหน้าได้อีกครั้งหนึ่งนั้น สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ในวงการธุรกิจแม้แต่ยักษ์ใหญ่ที่สุดก็มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ ถ้าหากละเลยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และประมาทจนเกินไป เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การยอมรับถึงความผิดพลาดและหาหนทางแก้ไขนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าต่อบุคคลหรือองค์กร กรณีของโกดักเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากโกดักจะสามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้แล้ว ยังขยายตนเองอย่างเร่งรีบไปสู่ธุรกิจที่ไม่เคยดำเนินงานมาก่อน ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย การก้าวเดินในธุรกิจที่มีความหลากหลายมากมาย ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มี "เจ้าถิ่น" อยู่แล้วเช่นนี้ อาจทำให้โกดักต้องได้รับบทเรียนราคาแพงอีกเป็นครั้งที่สองก็ได้

แต่ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ องค์กรที่ผ่านประสบการณ์เชี่ยวกรำอย่างโกดักคงจะดำรงอยู่ได้อย่างไม่สูญเสียมากนักในศึกหลายด้านครั้งนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us